วิวัฒนาการคือแรงขับเคลื่อนที่ทรงพลังที่สุดในโลก มันสามารถเปลี่ยนสิ่งมีชีวิตเซลล์เดียวให้กลายมาเป็นมนุษย์ยุคนี้ได้
แต่วิวัฒนาการไม่รู้หรอกว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ เพราะมันไม่มีคู่มือใดๆ ทั้งสิ้น บางทีมันไม่ค่อยเก่งเรื่องการคัดสรรคุณสมบัติที่เหมาะสมด้วยซ้ำ
พลังเพียงอย่างเดียวของมันคือมันทำการทดลองเป็นล้านล้านครั้ง และอันไหนไม่เวิร์คก็ฆ่าทิ้งเสีย ส่วนผู้ที่เหลือรอดก็จะได้อยู่ต่อไป
มีทฤษฎีหนึ่งที่ชื่อว่า Fisher’s Fundamental Theorem of Natual Selection ที่บอกว่าความหลากหลายคือความแข็งแกร่ง เพราะยิ่งประชากรมีความหลากหลายมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีคุณสมบัติให้คัดสรรมากเท่านั้น
ซึ่งก็อุปมาอุปไมยเหมือนกับการใช้เงิน
หลายคนไม่รู้ว่าการใช้เงินแบบไหนจะทำให้เรามีความสุข เราควรซื้ออะไรดี? ควรเดินทางไปไหนดี? ควรเก็บเงินเท่าไหร่ดี?
ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องเพราะเราแต่ละคนนั้นแตกต่าง คนส่วนใหญ่จึงมักเชื่อตามเสียงของสังคมที่บอกว่าของที่ราคาสูงที่สุดจะทำให้เรามีความสุขได้มากที่สุด
แต่ความจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้น เราต้องลองใช้เงินในหลากหลายรูปแบบเพื่อจะได้รู้ว่าแบบไหนที่เหมาะกับเรา บางคนชอบเดินทาง ส่วนบางคนนั้นติดบ้าน บางคนชอบกินร้านอาหารหรู แต่บางคนชอบฟาสต์ฟู้ดมากกว่า หลายคนมองว่าการนั่งเครื่องบินชั้นเฟิร์สคลาสเป็นเรื่องหลอกกินเงิน แต่สำหรับบางคนก็มองว่ามันคุ้มค่า
ยิ่งเราได้ลองใช้เงินในรูปแบบต่างกันมาเท่าไหร่ เรายิ่งมีโอกาสจะเจอของที่ใช่มากขึ้นเท่านั้น และการลองก็ไม่ต้องลงทุนอะไรเยอะ แค่ลองชิมอาหารจานใหม่ ลองใช้บริการใหม่ๆ ลองซื้อรองเท้าสวยๆ ฯลฯ
เหมือนที่ Ramit Sethi เคยนิยามไว้
“โดยเนื้อแท้แล้ว ‘ความมัธยัสถ์’ คือการหาให้เจอว่าเรารักสิ่งใดมากพอที่จะยอมใช้เงินอย่างอู้ฟู่ และพร้อมที่จะลดค่าใช้จ่ายกับทุกอย่างที่เหลือ”
“Frugality, quite simply, is about choosing the things you love enough to spend extravagantly on — and then cutting costs mercilessly on the things you don’t love.”
ไม่มีคู่มือที่จะบอกว่าอะไรจะทำให้เรามีความสุข เราแค่ต้องลองสิ่งละอันพันละอย่างเพื่อหาให้เจอว่าอะไรที่เหมาะกับเรา
ผมแปลข้อความข้างต้นมาจากส่วนหนึ่งของบทความ The Art and Science of Spending Money ของ Morgan Housel
ผมชอบคำพูดของ Ramit Sethi เป็นพิเศษ ตรงที่เขานิยามความประหยัดว่าไม่ใช่ความตระหนี่ถี่เหนียวและอยากจ่ายให้น้อยที่สุดในทุกเรื่อง แต่คือการเลือกให้ดีว่าจะตัดเรื่องอะไร และจะยอมอู้ฟู่กับเรื่องอะไร
ผมเป็นคนประหยัดกับข้าวของส่วนตัว ไม่เคยอินกับแคมเปญ 11.11 พร้อมจะใช้ของไม่มียี่ห้อถ้ามันตอบโจทย์ได้ 70%
ผมเคยบ่นกับน้องในทีมว่าหูฟังสายไฟมันเริ่มลอกแล้ว กลัวไฟช็อต น้องก็แนะนำหูฟังยี่ห้อหนึ่งราคาสามพันกว่าบาท ผมบอกว่าไม่กล้าซื้อ ปกติผมซื้อแต่หูฟังในเซเว่นอันละร้อยกว่าบาทเท่านั้น
แต่ถ้าผมกับแฟนไปดูคอนเสิร์ต ผมพร้อมควักเงินซื้อตั๋วที่นั่งใกล้เวทีราคาหลายพันได้แบบไม่เสียดาย เพราะคิดว่าไปคอนเสิร์ตทั้งทีแล้วก็อยากเห็นหน้าศิลปินคนโปรดชัดๆ
ความยากอย่างหนึ่งเรื่องการใช้เงินคือเราจะบาลานซ์อย่างไรระหว่างการจับจ่ายใช้สอยเพื่อความสุขในวันนี้ และการเก็บออมและลงทุนเพื่อความมั่นคงในวันหน้า
เพราะแม้ว่าความมั่นคงเป็นสิ่งสำคัญ แต่เราก็ไม่รู้ว่าเราจะอยู่ถึงวันนั้นรึเปล่า หรือเมื่อถึงวันนั้นแล้วเราจะยังแข็งแรงพอที่จะทำบางสิ่งบางอย่างหรือไม่ ดังนั้นถ้าเราไม่ใช้เงินเพื่อปัจจุบันบ้างเลยผมว่ามันก็เป็นการฝากความหวังไว้กับอนาคตมากไปหน่อย
ทดลองให้รู้ว่าเงินซื้อความสุขให้เราในเรื่องไหนได้บ้าง อู้ฟู่ไปกับมัน แล้วค่อยประหยัดกับเรื่องที่ไม่ได้สำคัญกับเราครับ