ถ้า COVID-19 คือ COVID-89

ผมเคยอ่านใน Quora ว่าถ้าโรคอย่าง COVID-19 เกิดขึ้นเมื่อ 500 ปีที่แล้วจะเป็นอย่างไร

หนึ่งในคำตอบก็คือ มันคงไม่มีผลกระทบอะไร และไม่ได้กลายเป็นโรคระบาดไปทั่วโลก (pandemic)

เหตุผลหลักก็เพราะว่าคนสมัยนั้นยังไม่ได้เดินทางไปไหนต่อไหนมากนัก หรือถึงเดินทางก็ใช้เวลานานมากเพราะเครื่องบินยังไม่มี ดังนั้นมันก็คงเป็นได้แค่เชื้อประจำถิ่นในหมู่บ้านหนึ่งหรือเมืองหนึ่งเท่านั้น

แล้วผมก็คิดเล่นๆ ว่าถ้ามันไม่ใช่ COVID-19 แต่เป็น COVID-89 ที่อุบัติขึ้นในปี 1989 มันจะเป็นอย่างไร

เพราะการโดยสารเครื่องบินนั้นมีแล้ว คนเดินทางไปได้ทั่วโลกและมีโอกาสเกิด pandemic แต่เรายังไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้กันเลย

เราจะทำงานโดยไม่เข้าออฟฟิศได้ยังไง น่าจะต้องยกเครื่องพิมพ์ดีดมาไว้ที่บ้านรึเปล่า ทำงานเสร็จแล้วจะส่งหากันยังไง

บ้านคนรวยอาจจะมีคอมพิวเตอร์ใช้ แต่มันก็ยังไม่เชื่อมต่อกัน ไฟล์ยังเก็บลง floppy disk ที่จุได้แค่ 1.44 MB อยู่เลย

การประชุมผ่าน Zoom ไม่ต้องพูดถึง อย่างมากก็ใช้โทรศัพท์บ้านยกหูคุยได้ทีละคน

ถ้าถูกสั่งล็อกดาวน์ ร้านอาหารไม่ให้คนนั่ง เราจะหาของกินกันลำบากมาก เพราะไม่มีพี่ๆ ไรเดอร์คอยรับ-ส่งอาหารให้

ข่าวสารต่างๆ ต้องรอฟังจากรัฐบาล ฟรีทีวี โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ และหนังสือพิมพ์รายวัน

การคิดค้น ผลิต และจัดสรรวัคซีน น่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 5 ปี

คนตกงานระเนระนาด กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก รัฐบาลทำอะไรไม่ถูก

ตัดกลับมายังภาพปัจจุบัน ซึ่งสถานการณ์ยังคงวิกฤติ

แต่ในความโชคร้ายก็ยังมีความโชคดีที่โควิดมาเกิดในยุคที่เรายังพอมีทางหนีทีไล่

ถ้าโควิดเกิดเร็วกว่านี้เพียงไม่กี่สิบปี บ้านเมืองอาจจะมิคสัญญีไปแล้ว


ป.ล. เขียนบทความนี้จบก็ไปกดติดตาม Twitter ของสองท่านนี้ด้วยความขอบคุณ – @timberners_lee ผู้คิดค้น World Wide Web และ @vgcerf หนึ่งในบิดาของอินเทอร์เน็ตครับ

Work from home ยังไงไม่ให้ burnout ไปเสียก่อน

ช่วงนี้โควิดกลับมาระบาดอีกครั้ง ชวนให้นึกถึงช่วงเดียวกันนี้เมื่อปีที่แล้วที่ต้องทำงานจากที่บ้าน

จำได้ว่าช่วงนั้นค่อนข้างทรมาน ที่คิดว่ามีเวลามากขึ้น กลับเหมือนมีเวลาน้อยลง ที่คิดว่าจะสบายขึ้น กลับรู้สึกว่าเหนื่อยกว่าเดิม อะไรที่คิดว่าจะได้ทำก็ไม่ได้ทำ ส่วนตัวก็เลยรู้สึกขยาดการ work from home พอสมควร

รอบนี้เลยคิดว่าจะต้องมี game plan เสียใหม่เพื่อจะได้ไม่ซ้ำรอยเดิม

และนี่คือ 5 สิ่งที่ผมคิดว่าควรทำเพื่อให้การ WFH ไม่นำไปสู่การ burnout ครับ

  1. รักษา routine ตอนเช้า
    พอไม่ต้องเข้าออฟฟิศ เราก็มักจะตื่นสายกว่าเดิม อะไรที่เคยต้องรีบทำตอนเช้าเช่นออกกำลังกาย เราก็รู้สึกว่ามีเวลาให้ทำทั้งวัน สุดท้ายเลยมักไม่ค่อยได้ทำ ดังนั้นเราต้องรักษากิจวัตรยามเช้าที่ productive ของตัวเองเอาไว้เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับวันที่จะมาถึง
  2. เปลี่ยนเสื้อผ้า/อาบน้ำ
    การใส่ชุดนอนนี่มันมีผลต่อจิตใจเหมือนกัน มันเป็นสัญญาณบอกว่า “นี่คือวันหยุด” ทำให้เราไม่ค่อยกระตือรือร้นเท่าไหร่ มันจะเนือยๆ แฉะๆ ดังนั้นเราจึงควรอาบน้ำ หรืออย่างน้อยที่สุดควรจะเปลี่ยนเป็นชุดอะไรก็ได้ที่ไม่ใช่ชุดนอนเพื่อจะบอกสมองว่านี่ไม่ใช่วันหยุดนะจ๊ะ
  3. หาของกินที่มีประโยชน์มาไว้ใกล้มือ
    ของกินนั้นส่งผลอย่างมากต่อระดับพลังงานที่เรามีตลอดวัน ถ้าตู้เย็นและโต๊ะกินข้าวมีแต่ขนมขบเคี้ยว ก็รับรองเลยว่าเราจะหยิบสิ่งเหล่านั้นมากินก่อน และเมื่อกินแล้วจะส่งผลให้พลังงานเราตกลงไปเยอะมาก แต่ถ้าเรามีผลไม้ น้ำเปล่า หรือของกินที่มีประโยชน์อยู่ใกล้มือ ก็น่าจะช่วยให้เราไม่พลั้งปากมากเกินไป และช่วยให้เรารักษาหุ่นในช่วงทำงานจากบ้านได้
  4. ตั้งนาฬิกาปลุกให้ตัวเองลุกจากโต๊ะทุก 30 นาที
    ข้อนี้สำคัญที่สุดสำหรับการป้องกันการ burnout เพราะตอนอยู่ออฟฟิศ เราจะได้ละสายตาจากจอคอมเป็นครั้งคราวจากการที่มีเพื่อนร่วมงานมาทักทายอยู่แล้ว แต่พออยู่ที่บ้าน ทุกอย่างมันเกิดขึ้นในจอคอมทั้งหมด เราจึงแทบไม่ได้ลุกไปไหนเลย ผมสันนิษฐานว่านี่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผมรู้สึกหมดแรงจากการ WFH มากกว่าการทำงานที่ออฟฟิศ
  5. สร้าง routine ใหม่ๆ ระหว่างวันและช่วงเย็น
    ช่วงที่เราละจากจอคอม เราควรสร้าง routine ใหม่ๆ เช่นวิดพื้น 3 ครั้ง อ่านหนังสือ 3 ย่อหน้า จิบน้ำ 3 อึก ฯลฯ เพื่อเป็นการเติมพลังให้กับเรา ส่วนช่วงเย็นก็เป็น golden hours ที่เรามักจะไม่ค่อยมีตอนทำงานที่ออฟฟิศเพราะเคยแต่กลับบ้านค่ำตลอด แต่ในเมื่อเราทำงานที่บ้านแล้ว เราควรใช้โอกาสนี้ในการใช้เวลากับคนที่เรารัก อาจจะไปเดินเล่นและกินข้าวกันพร้อมหน้าพร้อมตาเพื่อเป็นการชาร์จแบตให้จิตใจ เสร็จจากตรงนั้นแล้วค่อยมาเคลียร์งานอีกนิดหน่อยก็ถือเป็นอันจบวัน

และนี่คือ 5 สิ่งที่เราทำได้สำหรับการ work from home รอบนี้ให้ดีกว่าเดิม ใครมีไอเดียอะไรอื่นๆ อีกมาแชร์ได้เลยนะครับ

ปี 2022 เราจะยังใส่หน้ากากกันอยู่ไหม

ปี 2022 เราจะยังใส่หน้ากากกันอยู่ไหม

เมื่อประมาณ 3 เดือนที่แล้ว ผมได้เจอเพื่อนเก่าที่มีแฟนเป็นหมอรักษาเด็ก

ผมถามเพื่อนว่าแฟนยังทำงานอยู่ที่เดิมใช่มั้ย เพื่อนผมตอบว่าใช่ แต่ช่วงนี้ไม่ค่อยดี

พอผมถามว่าไม่ดียังไง มันตอบว่าช่วงนี้เด็กไม่ค่อยป่วย เพราะทุกคนใส่หน้ากากกัน พอไม่ค่อยมีคนไข้ รายได้ค่าตรวจก็เลยน้อยลงไปด้วย

ถ้าตัดความรู้สึกที่ว่าหมอไม่ควรอยากให้คนไข้ป่วยออกไป สิ่งที่เพื่อนพูดก็มีเหตุผลและน่าเห็นใจหมออยู่เหมือนกันเพราะก็ได้รับผลกระทบจากโควิดเฉกเช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ


จำได้ว่าช่วงต้นปีที่มีการล็อคดาวน์ เรากลัวการไปโรงพยาบาลกันมาก เพราะเป็นสถานที่เสี่ยงลำดับต้นๆ เรื่องการติดเชื้อโควิด ถ้าเลี่ยงได้ก็อยากเลี่ยงให้มากที่สุด

แล้วผมก็ได้พบว่า ช่วงล็อกดาวน์นี่ผมไม่มีคนใกล้ตัวที่ป่วยเลยแม้แต่คนเดียว

ตอนนั้นไม่แน่ใจว่าไม่ป่วยเพราะไม่อยากไปโรงพยาบาล หรือไม่ป่วยเพราะไม่ป่วยจริงๆ

พอมองย้อนกลับไป ก็เมคเซ้นส์ที่คนจะไม่ป่วย เพราะเราแทบไม่ได้สุงสิงกับใครเลย อุปกรณ์ต่างๆ ก็เช็ดด้วยแอลกอฮอลเกือบตลอด ส่วนมือก็ล้างด้วยสบู่วันละหลายรอบ ลูกสาวสอนผมว่าตอนล้างก็ร้องเพลงช้าง ช้าง ช้าง น้องเคยเห็นช้างรึเปล่า ร้องจบก็ครบ 30 วินาทีพอดี


หลังจากที่คลายการล็อกดาวน์ไป คนไทยเริ่มกลับมาใช้ชีวิตกันตามปกติ คนกรุงเทพจะใส่หน้ากากเฉพาะในที่สาธารณะเท่านั้น พอถึงออฟฟิศก็ถอดหน้ากากราวกับออฟฟิศนั้นปลอดเชื้อ แอลกอฮอลที่เคยกดกันวันละหลายรอบเดี๋ยวนี้ก็ขายไม่ค่อยออก ส่วนการล้างมือด้วยสบู่ 30 วินาทีแทบไม่ต้องพูดถึง

คนเราจะใส่หน้ากากหรือไม่ จะใช้แอลกอฮอลรึเปล่า จึงดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องสุขภาพ แต่เป็นเรื่องของ social norms เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม คนอื่นใส่หน้ากากเราก็ใส่ คนอื่นไม่ใส่เราก็ไม่อยากเป็นตัวประหลาดที่ดูไม่คูล

ในอีก 2 ปีข้างหน้า ตอนนั้นวัคซีนโควิดน่าจะออกมาและได้ฉีดกันทุกคนแล้ว คนส่วนใหญ่อาจจะกลับไปสู่ old normal หน้ากากคงไม่ใส่ แอลกอฮอลคงไม่ใช้ และคงล้างมือน้อยลงไปเยอะ

แต่ผมกลับคิดว่า ถ้าเราบางคนยังรักษานิสัยใส่หน้ากากและล้างมือด้วยสบู่พร้อมร้องเพลงช้างเอาไว้ได้ตลอดชีวิต ก็น่าจะเป็นการดี

จะได้แข็งแรงไม่เจ็บไม่ป่วยเหมือนกับช่วงที่เราล็อกดาวน์กันครับ

ไม่ต้องกลัว New Normal หรอก กลัว Old Normal ดีกว่า

20200602

เพราะมนุษย์นั้นปรับตัวได้เก่งกว่าที่เราคิด หากมันมีอะไรที่บังคับให้เราต้องเปลี่ยน เราก็เปลี่ยนมันได้แทบจะชั่วข้ามคืน เหมือนที่อาจารย์มหาวิทยาลัยเปลี่ยนมาสอนออนไลน์ หรือผู้บริหารเปลี่ยนมาประชุมผ่าน Zoom จนมีคนแซวว่าโควิด-19 นี่เก่งกว่า CTO อีกเพราะทำให้ Digital Transformation เกิดขึ้นได้จริงๆ

สิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ล้วนเคยเป็น new normal ด้วยกันทั้งนั้น ที่เห็นชัดสุดคือการสื่อสารที่เปลี่ยนจากจดหมายมาเป็นอีเมล เปลี่ยนจากโทรศัพท์มาเป็นแชท

สมัยก่อนใครจะยอมให้เพื่อนอัพโหลดรูปของเราไปไว้ในเน็ตแถมให้คนไม่รู้จักมาเห็นหน้าเห็นชื่อเราได้ด้วย แต่ Facebook ก็ normalize มันไปเรียบร้อยแล้ว

สมัยก่อนใครจะยอมให้คนแปลกหน้าจากต่างแดนมานอนที่บ้านของตัวเอง แต่ Airbnb ก็ normalize พฤติกรรมนี้เรียบร้อยแล้ว (และต้องหาทาง normalize อีกรอบหลังโควิด)

สมัยก่อนดาราสวยๆ ที่ไหนจะมาเต้นตลกๆ ร้องเพลงลิปซิงค์ให้ฟรีๆ แต่ Tiktok ก็ normalize ให้เรียบร้อยแล้วเช่นกัน

ดังนั้น New Normal จึงไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เราคิด

สิ่งที่เราควรกลัวมากกว่าคือ Old Normal ต่างหาก

เมื่อเช้าฝนตกหนักเหมือนฟ้ารั่ว เพิ่งซาไปตอน 7 โมงนิดๆ โชคดีที่วันนี้ผมทำงานที่บ้าน ถ้าเป็นวันเดียวกันนี้เมื่อปีที่แล้วรถคงจะติดกันถล่มทลายเพราะทุกคนต้องไปทำงานแถมโรงเรียนยังเปิดเทอมแล้วด้วย

คำถามก็คือหลังจากจบโควิดแล้ว จะยังมีองค์กรไหนกลับไปใช้กฎกติกาที่ “การทำงาน” หมายถึงการ “มาถึงออฟฟิศแล้วตอกบัตรตอน 8 โมงเช้า” รึเปล่า เพราะถ้าผู้บริหารและ HR ยังทำอย่างนั้นก็นับเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากๆ

เทคโนโลยีเปลี่ยนไปตั้งมากมายในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่กฎอย่างการเข้างาน 8 โมงเช้านี่อยู่มา 40 ปีแล้วยังไม่ยอมเปลี่ยนกันอีก*

เมื่อโลกเปลี่ยน กติกาก็ควรจะเปลี่ยนตาม สมัยก่อนเดินออกจากออฟฟิศก็ถือว่าจบเวลาการทำงานแล้ว แต่สมัยนี้เทคโนโลยีเอื้อให้พนักงานทำงานจากที่ไหนและเมื่อไหร่ก็ได้ องค์กรจึงคาดหวังให้พนักงาน flexible พอที่จะตอบแชทแม้จะเป็นนอกเวลางาน แต่ถ้าองค์กรเองกลับไม่ flexible เรื่องเวลาและสถานที่ในการทำงานบ้างเลยก็คงดูเอาแต่ได้ไปหน่อย

ถ้าวันนี้ฝนตกหนัก การบังคับให้พนักงานต้องฝ่าฝนฝ่ารถติดเพื่อมาถึงออฟฟิศภายในเวลาเท่านั้นเท่านี้เพราะกฎเขียนบังคับเอาไว้ก็ต้องถือเป็นโศกนาฎกรรม

เวลาเข้างานนี่เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่ง ยังมีอีกหลายแง่มุมในองค์กรที่ “หมดเขต” ไปตั้งนานแล้วแต่เรายังทำเพียงเพราะความเคยชิน

เมื่อโควิดนำ New Normal มาให้ ก็ขอให้ใช้มันเป็นโอกาสในการลดละเลิก Old Normal ที่ไม่เมคเซ้นส์อีกต่อไป

ทำอย่างนี้ได้ก็น่าจะเป็นคุณกับทุกฝ่ายนะครับ

—–

* แน่นอนว่าในบางธุรกิจเช่นโรงงานหรืองานบริการ การมาถึงตรงเวลานั้นยังจำเป็นอยู่ แต่งานที่เป็น white collar หรืองานที่ไม่มีเวลาเลิกงานที่แน่นอนก็ควรยืดหยุ่นเวลาเริ่มงานด้วยเช่นกันครับ

ตามหาหนังสือ “ช้างกูอยู่ไหน” และ “Thank God It’s Monday” ได้ที่ whatisitpress.com และร้านหนังสือชั้นนำทั่วไปครับ

จะส่งต่อแสงสว่างหรือจะส่งต่อความมืดมน

20200409

ในช่วงที่สถานการณ์โควิดยังไม่มีทางออกที่ชัดเจน ผู้คนกำลังเดือดร้อน อ่อนไหวและอ่อนแอ เป็นเรื่องง่ายมากที่ dark side ของเราจะปรากฎ

เราอาจจะเลือกส่งต่อความมืดมนด้วยการไม่นำพา ด้วยการกักตุนอาหาร ด้วยการส่งข่าวปลอม ด้วยการก่นด่า ด้วยการล่าแม่มด ด้วยการจ้องจับผิดคนอื่น

หรือเราจะเลือกส่งต่อแสงสว่าง ด้วยการคิดถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตัว ด้วยการให้กำลังใจคุณหมอ ด้วยการแชร์ข้อมูลที่ถูกต้อง ด้วยการไม่เอาตัวรอดคนเดียว ด้วยการไม่ยอมทิ้งใครไว้ข้างหลัง

เราทุกคนต่างมีแสงสว่างในตัวเอง มากบ้างน้อยบ้างต่างกันไป เราเลือกที่จะเปล่งแสงสว่างด้วยตัวเองก็ได้ หรือเลือกที่จะเป็นกระจกที่สะท้อนแสงสว่างของคนอื่นก็ได้

มาเป็นแสงสว่างให้กันและกันนะครับ