ถอดรหัสการทำงานของยอด ชินสุภัคกุล CEO บริษัท LINE MAN Wongnai

เมื่อปี 2018 ผมเขียนบทความ “ถอดรหัสการทำงานของยอด Wongnai” ของคุณยอด ชินสุภัคกุลเอาไว้

เมื่อเดือนกันยายนปี 2020 LINE MAN กับ Wongnai มีการควบรวมกัน ยอดยังได้เป็น CEO เหมือนเดิม เพิ่มเติมคือเรือลำใหญ่ขึ้น

เนื่องในโอกาส LMWN ครบรอบ 2 ปี และเพิ่งระดมทุนรอบใหม่จนขึ้นเป็น Tech Startup ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ผมจึงขอนำบทความนี้มา rewrite อีกครั้ง โดยเพิ่ม “กระบวนท่า” ที่ได้เรียนรู้เพิ่มเติมจากยอดในช่วงสองปีที่ผ่านมาด้วยครับ

—–

เป็นเวลา 17 ปีแล้วที่ผมรู้จักกับยอด ชินสุภัคกุล ซึ่งเป็น CEO และ co-founder ของ Wongnai และ LINE MAN Wongnai

ผมแก่กว่าและเข้า Thomson Reuters มาก่อนยอด เราได้รู้จักกันตอนที่ผมย้ายตำแหน่งจาก software engineer มาเป็น support consultant ซึ่งมียอดเป็นหัวหน้าทีมอยู่ (ด้วยอายุเพียง 22 ปี ยอดเป็นหัวหน้าทีมที่เด็กที่สุดใน Thomson Reuters ประเทศไทย ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น LSEG)

พอปี 2007 ยอดได้ขึ้นเป็นผู้จัดการทีม (ที่เด็กที่สุดอีกเช่นกัน) และผมขึ้นมาเป็นหัวหน้าทีมแทนยอด พอปี 2008 ยอดลาออกเพื่อไปเรียนต่อ MBA ที่ UCLA Anderson School of Management

ปี 2010 ยอดกลับมาเมืองไทยและมีเป้าหมายที่จะทำ startup เพื่อตอบโจทย์ว่าวันนี้กินอะไรดี ยอดชวนเพื่อนวิศวะคอมจุฬาอีก 3 คนมาร่วมกันทำ และชวนเพื่อนในวัยเด็กอีกคนรวมถึงผมมาเป็นผู้ถือหุ้นด้วย เปิดบริษัทชื่อวงใน มีเดีย จำกัด เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2010

ช่วง 2-3 ปีแรก Wongnai ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่าไหร่ แต่ในช่วง 7 ปีต่อมา Wongnai ก็เจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด ก่อนจะมาควบรวมกับ LINE MAN ในปี 2020 และเพิ่งได้รับสถานะ unicorn หรือสตาร์ตอัปที่มีมูลค่าสูงกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

มีสื่อมากมายที่มาขอสัมภาษณ์ยอดเพื่อเข้าใจวิธีคิดวิธีทำงานของยอด แต่การสัมภาษณ์ทั้งหมดเป็นคำถามจากคนนอกที่มองเข้ามา และคำตอบทั้งหมดก็มาจากปากของยอดเองในมุมของบุคคลที่หนึ่ง

ผมจึงคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ถ้ามี “คนวงใน” ที่เป็น “บุคคลที่สาม” อย่างผมมาเล่าให้ฟังว่า ยอดมีแนวทางการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างไรบ้าง

มาเริ่มกันเลยครับ

เทคนิคการทำงาน

ทำงานเร็ว (#speed)

ทุกครั้งที่มีคนถามว่าจุดแข็งของยอดคืออะไร ยอดจะตอบเสมอว่าเขาเป็นคนทำงานเร็ว

“I’m not smarter than most of you, I’m just faster.”

ยอดบอกว่านี่ไม่ใช่ยุคของปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่เป็นยุคของปลาเร็วกินปลาช้า

เร็วในที่นี้เป็นความเร็วในหลายมิติด้วย หนึ่งคือเร็วที่จะลงมือทำ (คิดแล้วทำเลย) สองคือพอเริ่มลงมือทำแล้วก็ทำจนเสร็จอย่างรวดเร็ว สามคือพอเสร็จแล้วก็มีการวัดผลและเรียนรู้อย่างรวดเร็ว มันคือ build-measure-learn in fast cycle ตามหลักของ Lean Startup และ #InnovateFaster ก็เป็นหนึ่งใน core values ของ LINE MAN Wongnai

To Do List ของยอด

ยอดไม่ได้ใช้ app อะไรที่หวือหวาเลย

To do list หลักๆ ของยอดจะมีแค่สามอย่าง คืออีเมล, แอป Notes ในไอโฟน (ซึ่งซิงค์กับเครื่อง MacBook ที่ยอดใช้ทำงาน) และแอป Reminder

ที่ LMWN เราจะใช้ Google Workspace ดังนั้นอีเมลจึงเป็นระบบแบบเดียวกับ Gmail เวลามีเมลอะไรเข้ามาที่ต้อง take action ในภายหลัง ยอดจะ “ติดดาว” (star) เอาไว้

แอป Notes ยอดเอาไว้จดงานที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน (Q2) ที่น่าสนใจคืองานยากๆ จะอยู่บรรทัดแรกๆ ส่วนงานง่ายๆ จะอยู่บรรทัดล่างๆ แล้วยอดจะไล่ทำจากล่างขึ้นบน

ส่วนแอป Reminder เอาไว้จดงานที่ไม่สำคัญแต่เร่งด่วน (งาน Q3) เพื่อจะได้ไม่ลืมที่จะทำให้เสร็จภายในเวลานั้น-เวลานี้

เรื่องหนึ่งที่ผมประทับใจมากคือ ยอดเคยทำงานจน To do list กลายเป็น 0 เป็นสิบครั้งแล้ว ในขณะที่ผมยังไม่เคยทำอย่างนั้นได้เลยซักครั้งตลอดชีวิตการทำงาน

ลืมไม่ใช่ข้ออ้าง

ยอดไม่ใช้สมุดในการจดงาน เพราะมองว่ามีโอกาสตกหล่นสูง และขี้ลืมไม่ใช่เรื่องของนิสัยแต่เป็นเรื่องของความใส่ใจและวิธีการทำงาน

เวลาพูดคุยกันในที่ประชุม หรือคุยโทรศัพท์ หรือคุยกันทางแชท ยอดจะคิดทุกอย่างเป็น action แล้วใส่มันลงใน to do list ทันที

ออกจากการประชุมปุ๊ป ยอดจะ take action ปั๊ป เช่นส่งเมลสรุปหรือเดินไปสั่งงานปากเปล่า รวมถึงมีการจัดลำดับงานใหม่ (reprioritize) เพื่อให้แน่ใจว่างานทุกชิ้นจะยังส่งได้ตรงเวลา  

Inbox Zero เสมอ

ยอดพยายามไม่อ่านเมลซ้ำ (touch email only once) โดยเมลแบ่งออกเป็น 4 ประเภทคือ

  • อ่านจนกระทั่งรู้ว่าไม่ต้องอ่านก็ได้
  • อ่านแล้ว take action ทันที
  • อ่านแล้ว take action ทีหลัง
  • อ่านทีหลัง

ยอดจะตอบเมลทุกฉบับภายใน 1 วัน ตอบสั้นๆ และขึ้นต้นด้วยใจความสำคัญที่สุดเสมอ

เวลาสั่งงานยอดก็มักสั่งผ่านเมลเพื่อจะได้ไม่ตกหล่นและติดตามผลได้ง่าย หรือบางครั้งก็ใช้การส่งเมลเพื่อย้ำการตัดสินใจหลังจากที่ได้พูดคุยตกลงกันไปแล้ว และหลายครั้งยอดใช้วิธีส่งเมลคุยกันมากกว่านัดประชุมเพราะเร็วกว่ารอให้ทุกคนว่างตรงกัน

และแต่ละวันยอดจะจัดการอีเมลจนเป็น Inbox Zero เสมอ

การใช้ Calendar

  • ใช้ calendar ทุกครั้ง สำหรับ appointments
  • ใช้ calendar สำหรับ deadline สำคัญๆที่พลาดไม่ได้
  • ใช้ calendar สำหรับ block เวลาไว้สำหรับ Q2 task (งานสำคัญแต่ไม่เร่งด่วน)
  • ดู calendar ของวันพรุ่งนี้ ล่วงหน้า 1 วัน ทุกวัน
  • ดู calendar ของทั้งสัปดาห์ ตอนต้นสัปดาห์

ไม่ใช้คอมในห้องประชุม

หากมีการประชุมหรือ training ยอดจะขอ (จริงๆ คือสั่ง) ไม่ให้คนใช้คอมเพื่อจะได้มีสมาธิกับการประชุม ถ้าใครมีงานด่วนและสำคัญมากจริงๆ  ยอดจะบอกว่าให้ออกไปนั่งทำงานข้างนอกให้เสร็จก่อนแล้วค่อยกลับเข้ามา

เวลายอดเข้าประชุมที่ตัวเองไม่ต้องเป็นคนนำการประชุม ยอดก็จะไม่ใช้คอมเช่นกัน จะหยิบมือถือขึ้นมาจดเฉพาะตอนที่มี action ที่ต้องเอาไปทำต่อเท่านั้น (แน่นอนว่าช่วง WFH ก็ต้องใช้คอมในการเข้า video call แต่ถ้าเป็นการประชุมที่ออฟฟิศยอดแทบจะไม่เคยพกคอมไปด้วยเลย)


หลักการในการทำงาน

Done is better than perfect

ยอดมักจะยกคำพูดนี้ของ Sheryl Sandberg มาเตือนพนักงานเป็นประจำ

งานหลายๆ อย่างไม่จำเป็นต้องทำให้เรียบร้อยไร้ที่ติ ทำได้ซัก 80-90% ก็โอเคแล้ว โดยเราควรเข้าใจ the law of diminishing returns นั่นคือ เมื่อเลยจุดๆ หนึ่งไปแล้ว คุณภาพของงานที่ได้เพิ่มขึ้นมามันจะไม่คุ้มกับแรงที่ลงไปอีกแล้ว

ยกตัวอย่างเช่นการทำสไลด์ให้ดูดีประมาณ 80% อาจใช้เวลา 2 ชั่วโมง แต่ถ้าจะทำให้เพอร์เฟ็คต้องใช้เวลาเพิ่มอีก 2 ชั่วโมง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ควรทำหากสไลด์นั้นถูกใช้เพื่อการพูดคุยกันภายในบริษัทแค่ครั้งเดียว

แม้จะไม่ได้คาดหวังว่ามันต้อง 100% แต่ถ้าคุณทำมาต่ำกว่า 50% ก็จะโดนยอดไล่ให้กลับไปทำมาใหม่เช่นกัน มาตรฐานของเราควรอยู่ที่ประมาณ 70-80% เสมอ

Sometimes perfect is the only option

แต่สำหรับงานที่ต้องออกไปข้างนอก เช่นงานพรีเซนต์ลูกค้าหรือ Press Release ยอดจะซีเรียสมาก เคยมีครั้งหนึ่งที่น้องทีม Corporate Communication ทำ Press Release ออกมาแล้วมีจุดสะกดผิด ยอดบอกกับน้องเลยว่า Press Release นี้ห้ามผิดเด็ดขาด จุดเดียวก็ไม่ได้

มอบหมายงานให้เป็น

ยอดมองว่าการมอบหมายงานคือการให้โอกาสลูกทีม แต่คนที่มอบหมายงานก็ต้องบอกให้ครบด้วยว่าเราต้องการอะไร ส่งภายในเมื่อไหร่ เพราะว่าอะไร

ความยากของงานก็ควรเหมาะสมกับความสามารถของคนคนนั้น หรือเกินความสามารถของเขาไปหนึ่งขั้น เมื่อมอบหมายแล้ว ก็ต้องคอยตรวจงานและให้ฟีดแบ็คอย่างสม่ำเสมอ แม้กระทั่งคำสั้นๆ อย่าง “Well done” ก็สำคัญและมีความหมายต่อลูกทีมมาก

Customize การพูดคุยกับแต่ละทีม

ฝรั่งมีคำพังเพยที่ว่า “If all you have is a hammer, everything looks like a nail.” คือถ้าเรามีแต่ค้อน เราเห็นอะไรก็จะอยากทุบไปหมด เปรียบเหมือนผู้นำที่จัดการทุกคนด้วยสไตล์เดียวกันหมด

นับตั้งแต่ LINE MAN รวมกับ Wongnai ยอดไม่ได้มีแค่ค้อน แต่น่าจะมีเครื่องมือช่างเกือบครบชุด เพราะยอดจะ manage คนแต่ละคนและทีมแต่ละทีมด้วยวิธีแตกต่างกัน

ในช่วงปีแรก ยอดใจดีกับทีมงานที่มาจาก LINE MAN มากกว่าทีมที่มาจาก Wongnai เพราะว่าสำหรับทีมไลน์แมน ยอดถือเป็นผู้บริหารคนใหม่ จึงต้องใช้เวลาในการสร้างความเชื่อใจกันพอสมควร

ยอดมักใจดีกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย (น้องผู้หญิงบางคนอาจถามว่า “นี่ถือว่าใจดีแล้วเหรอ?” คำตอบคือใช่ครับ นี่คือใจดีแล้ว) ผมเคยอ่านบทความที่ยอดเคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาเคยเรียนโรงเรียนชายล้วนซึ่งปลูกฝังว่าผู้ชายต้องให้เกียรติผู้หญิง 

อีกอย่างคือยอดค่อนข้างเกรงใจคนที่ทำงานเก่ง แทบไม่เคยดุเลย เพราะคนเก่งนั้นหากทำพลาดก็จะรู้ตัวดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องไปตอกย้ำซ้ำเติมอะไร ถ้าไปดุด่าเขาแบบไม่ให้เกียรติกันก็อาจได้ผลลัพธ์ที่แย่ลงด้วยซ้ำ

Strong Opinions, Loosely Held

เวลาประชุม ยอดมักมีความเห็นที่ชัดเจนเสมอ ชอบก็บอกว่าชอบ ไม่ชอบก็บอกเลยว่าไม่ชอบ

ยอดเคยบอกผมว่าเขาไม่ใช่คนเอาแต่ใจนะ เขาแค่เป็นคน “มีความเห็น” (opinionated) เท่านั้นเอง

An opinionated person is certain about their beliefs and expresses their ideas strongly and often.

พอเป็นคนที่มีความคิดเห็นที่ชัดเจน แถมตัวเองก็เป็น CEO ด้วย บางทีก็ทำให้น้องๆ ไม่ค่อยกล้าเห็นต่างเท่าไหร่

แม้ความคิดเห็นจะแรงกล้า แต่ถ้าได้ข้อมูลใหม่มายอดก็พร้อมเปลี่ยนใจได้เสมอ

ฟังดูเหมือนคนโลเล แต่อาจเป็นเพราะยอดทำสตาร์ตอัพที่อยู่กับความไม่แน่นอนมาโดยตลอด จึงกลายเป็นคนที่พร้อมจะเปลี่ยนความคิดเมื่อได้ข้อมูลชุดใหม่ที่ลบล้างหรือท้าทายความเชื่อชุดเดิม

“When the facts change, I change my mind. What do you do, sir?”

Johan Maynard Keynes

ไม่กลัวที่จะเป็นตัวร้าย

คำหนึ่งที่เหมาะกับยอดมากคือ “Disagreeable Giver” 

และคำหนึ่งที่ยอดไม่เป็นเลยก็คือ “People Pleaser”

Adam Grant ที่เขียนหนังสือ Think Again บอกว่า การเป็นคน disagreeable ในที่ทำงานนั้นมีประโยชน์ เพราะคนแบบนี้จะเป็นคนที่คิดอะไรด้วยตัวเอง (independent thinker) และมองเห็นปัญหาก่อนคนอื่น เขาพร้อมที่จะทำสิ่งที่คิดว่าถูกต้องแม้ว่ามันจะทำให้มีคนไม่พอใจก็ตาม

ยอดมักตั้งคำถามที่ทำให้คนทั้งห้องประชุมต้องนิ่งเงียบ และหากมีลูกน้องทำงานมาไม่ได้มาตรฐานยอดก็ไม่ลังเลที่จะวิพากษ์วิจารณ์ตรงๆ

คนฟังเจ็บแน่นอน แต่อย่างน้อยก็รู้แล้วว่าออกจากห้องประชุมไปแล้วต้องทำอะไรบ้าง

แต่บางครั้งก็ร้ายเกินไปหน่อย

มีอย่างน้อยสองเหตุการณ์ที่ยอดดุน้องแรงเกินไปจนเป็นปัจจัยให้น้องตัดสินใจลาออก

ซึ่งยอดก็บ่นให้ผมฟังว่าเรื่องนี้เขาผิดเองเต็มๆ ไม่ได้ตั้งใจให้ผลออกมาแบบนี้ แต่ “กะพลังผิดไปหน่อย” จนน้องบาดเจ็บทางใจและกู้อะไรไม่ทันแล้ว 

อย่าทำให้คนส่วนใหญ่เสียเวลา

เนื่องจากเรามีพนักงานร่วมพันคนแล้ว เวลาที่เราจะสื่อสารออกไปให้พนักงานทำอะไร  ยอดจะย้ำเสมอว่างานที่เราขอให้พนักงานทำนั้นต้องเสียเวลาน้อยที่สุด

ทีม People เราเคยส่งแบบฟอร์มให้พนักงานกรอกข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องประกันกลุ่มแล้วอัปโหลดขึ้นระบบ แต่แบบฟอร์มนั้นเป็น PDF ที่ edit ไม่ได้ หากพนักงานจะกรอกก็ต้องปริ๊นท์ออกมาแล้วกรอกมือ จากนั้นก็สแกนเป็นไฟล์เพื่อเอาขึ้นระบบอีกรอบ สมมติว่ากระบวนการนี้ใช้เวลา 15 นาที พนักงาน 1000 คนก็ต้องใช้เวลา 15,000 นาทีหรือ 250 ชั่วโมง

แต่ถ้าเราทำแบบฟอร์มให้กรอกออนไลน์ได้ตั้งแต่แรก ก็จะประหยัดเวลาของส่วนรวมไปได้มากมายมหาศาล

ถ้ามีงานบางอย่างต้องใช้เวลา 100 ชั่วโมง เราควรจะให้ทีมงาน 10 คนเสียเวลา 10 ชั่วโมงมากกว่าให้พนักงาน 1000 คนเสียเวลาคนละ 0.1 ชั่วโมง

ยุ่งแค่ไหนก็ว่างสำหรับพนักงาน

ธรรมดายอดจะนั่งทำงานในห้องส่วนตัว แต่ก็ใช้ open door policy คือใครก็สามารถเดินมาเคาะกระจกหน้าห้องแล้วเข้าไปคุยกับยอดเรื่องอะไรก็ได้ หากยอดไม่ได้ติดประชุมอยู่ ก็จะพยักหน้าเชื้อเชิญให้เข้ามาคุยงานได้เสมอ

ห้องส่วนตัวคือห้องส่วนรวม

แม้จะเป็นห้องส่วนตัว แต่เวลาที่ยอดไม่อยู่ออฟฟิศ พนักงานคนไหนก็เข้ามาใช้งานได้ เช่นเอาไว้ประชุม สัมภาษณ์ หรือคุย one-on-one ถ้าระหว่างที่คุยอยู่ยอดกลับมาพอดี ยอดก็จะนั่งทำงานรออยู่ข้องนอกจนกว่าพวกเราจะใช้ห้องเสร็จ


The Human Side

เสพติดชัยชนะ

น่าจะไม่ใช่เรื่องเกินเลยที่จะบอกว่ายอดโปรดปรานการแข่งขันและชอบการเป็นที่ 1 เวลาทำธุรกิจก็เลยมุ่งมั่นมาก และทำให้คนอื่นๆ ติดเชื้อนี้ไปด้วย

ความต้องการเป็นที่ 1 ยังลามไปนอกเวลางาน เช่นตอนไป Outing ต่างจังหวัดแล้วมีการแบ่งทีมเก็บคะแนน ยอดจะบอกกับน้องในทีมว่า “คงรู้นะครับว่าผมคาดหวังอันดับที่เท่าไหร่” จนน้องๆ อดตัวเกร็งไม่ได้

แต่เมื่อแพ้ ก็ยอมรับว่าต้องการความช่วยเหลือ

สมัยที่บริษัทยังเล็กกว่านี้ เรามี townhall ทุกสามเดือน โดยมีตัวแทนแต่ละทีมขึ้นมานำเสนอผลงานและพูดถึงสิ่งที่จะทำต่อจากนี้

พอจบการประชุม เราก็จะส่งแบบสอบถามเพื่อหาจุดผิดพลาด และสำรวจด้วยว่าพนักงานชอบการพูดของใครมากที่สุด ซึ่งยอดได้คะแนนเป็นที่ 1 ทุกครั้ง โดยยอดก็รู้ตัวดีว่าคะแนนกว่าครึ่งนั้นได้มาเพราะเขาเป็น CEO

หลังจากครองแชมป์มานาน ยอดก็ตกบัลลังก์เป็นครั้งแรกในการประชุม Q1 2018 แล้วก็มาบ่นกับผมว่าเขาประมาทไม่ได้แล้ว อยู่เฉยๆ คงโดนแซงแน่ (ยอดมีเขียนประสบการณ์นี้เอาไว้อย่างละเอียดในบทความ Insider’s Day (วันของคนวงใน) คืออะไร จัดทำไม

อีกเรื่องหนึ่งที่อยากแปะไว้ตรงนี้ คือยอดเคยมาขอให้ผมช่วยเป็นโค้ชโครงการ WeFit ซึ่งมีเป้าหมายช่วยพนักงานลดน้ำหนัก โดยยอดเปรยกับผมว่า “ผมว่าผมเป็น CEO ที่อ้วนที่สุดในวงการแล้วพี่”

ก่อนหน้านั้นยอดเคยพยายามลดน้ำหนักเองมาหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ แต่โครงการ WeFit ที่มีน้องๆ เข้าร่วมด้วยหลายคน ด้วยศักดิ์ศรีของ CEO ทำให้ยอดลดน้ำหนักจาก 92.5 เหลือ 80 กิโลกรัมภายในเวลา 3 เดือน (อ่านต่อได้ที่บทความ เมื่อ CEO Wongnai ตัดสินใจลดน้ำหนัก)

Work-Life Integration

ประโยค work-life balance ที่เราคุ้นเคยกันทำให้เราคิดว่า งาน กับ ชีวิต เป็นสองสิ่งที่แยกกันอยู่คนละฝั่งของตาชั่ง

แต่ยอดเคยบอกว่าสำหรับตัวเอง งานกับเรื่องส่วนตัวมันกลายเป็นเนื้อเดียวกันไปเรียบร้อยแล้ว จึงไม่แปลกที่จะเห็นยอดยังทำงานและคุยแชทตอนสี่ห้าทุ่ม แต่ก็จะคุยกับกับเฉพาะ C-Level หรือ Co-Founders ด้วยกันเท่านั้น ผมยังไม่เคยเห็นยอดสั่งงานน้องตอนดึกๆ ดื่นๆ เลย

Relax!

ทำงานที่ LINE MAN Wongnai นั้นเหนื่อยเพราะการแข่งขันมันโหดมาก น้องบางคนถึงกับเครียด มาบ่นกับผมว่าวันเสาร์อาทิตย์ก็ยังต้องทำงานเพราะตัวเองแบกรับภาระเอาไว้มากมาย

ผมจะบอกกับน้องที่มาปรึกษาเสมอว่ายอดแบกมากกว่าเราเป็นสิบเป็นร้อยเท่า แต่ยอดก็ยังยิ้มได้ ยังมีเวลาพาลูกไปเที่ยว ดูบอลสดเชียร์ลิเวอร์พูลทีมโปรด และเล่น Fantasy Premier League จนได้อันดับต้นๆ ในออฟฟิศ

งานหนักจึงไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือพนักงานบางคนยังไม่รู้จักวิธีผ่อนหนักผ่อนเบามากกว่า ซึ่งมันเป็นทักษะสำคัญที่ควรจะเรียนรู้ว่าเอาแต่เนิ่นๆ ก่อนที่ภาระหน้าที่ของเราจะมากไปกว่านี้

คุณชายเก็บขวด

ยอดมาจากครอบครัวที่มีฐานะ ใช้ของแบรนด์เนม รสนิยมดี จนบางทีก็ถูกพนักงานกล่าวถึงโดยใช้สรรพนามว่า “คุณชาย”

สมัยผมเข้ามาทำงานทีม People ใหม่ๆ เราได้ไปออกบู๊ธงาน job fair ที่จุฬา โดยรายการสุดท้ายของวันนั้นเป็นการเชิญยอดมาสัมภาษณ์บนเวที เมื่องานจบผมกับทีมงานก็เริ่มเก็บบู๊ธ พอยอดลงมาจากเวที ยอดก็มาช่วยพวกผมเก็บบู๊ธด้วยทั้งๆ ที่เขากลับไปเลยก็ไม่มีใครว่าอะไร

อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดในงาน townhall เมื่อหลายปีที่แล้ว วันนั้นหลังจบงานยอดยืนคุยกับทีม C-Level เพื่อประเมินว่างานเป็นอย่างไรบ้าง หันไปอีกทีเห็นว่าคนกลับไปหมดแล้ว ยอดเห็นขวดน้ำดื่มวางอยู่เกลื่อนกลาดในห้อง auditorium คนหนึ่งในกลุ่มเลยเดินไปยกถังขยะใบใหญ่จากข้างนอกมา แล้วยอดก็ไล่ตระเวนเดินหยิบขวดน้ำที่วางอยู่ตามเก้าอี้ โดยมีพวกเราอีกสามสี่คนช่วยกัน

จะมีซักกี่บริษัทที่ CEO ลงมาช่วยเก็บกวาดขวดน้ำที่พนักงานทิ้งเอาไว้

ชอบนัดกินข้าว

ช่วงสองปีที่ผ่านมา LMWN ทำงานที่บ้านเกือบจะ 100% ขณะเดียวกันก็รับคนเข้ามาหลายร้อยคน เมื่อไม่ได้เจอหน้ากันที่ออฟฟิศ ความสนิทใจหรือความสัมพันธ์ย่อมมีช่องว่าง

ยอดพยายามลดช่องว่างตรงนี้ด้วยการนัดกินข้าวกับทีมต่างๆ คราวละ 10-15 คน เพื่อจะได้เจอคนใหม่ๆ และเพื่อจะได้คุยกันในบริบทที่ไม่ใช่เรื่องงาน

ผมว่ายอดน่าจะดินเนอร์กับทีมงาน LMWN ไปแล้วไม่ต่ำกว่า 20 ดินเนอร์

เมื่อทีมงานได้เห็นยอดในมุมสบายๆ ตลกๆ เวลาต้องเจอกันในห้องประชุมก็จะได้ไม่เกร็งเท่าแต่ก่อน (แต่ก็ยังเกร็งอยู่ดี)

ยืนหนึ่งเรื่องปาร์ตี้

สมัยเป็น Wongnai และการแข่งขันไม่ดุเดือดเท่าตอนนี้ เราจะปาร์ตี้กันค่อนข้างบ่อย อย่างน้อยๆ ต้องมีปาร์ตี้ปีใหม่ ปาร์ตี้ครบรอบวันเกิด Wongnai และปาร์ตี้ตอน Outing

ซึ่งในการปาร์ตี้ทุกครั้ง ยอดจะเป็นคนแรกๆ ที่ไปเต้นอยู่กลางฟลอร์ ในมือถือขวดเหล้าเพื่อรินเหล้าให้คนนั้นคนนี้ และยอดจะทำแบบนี้ไปตลอดทั้งงาน

กว่าปาร์ตี้จะจบก็มักเลยไปถึงตีสองตีสาม เมื่อมีการถ่ายรูปหมู่ของ “ผู้รอดชีวิต” ยอดมักอยู่ในรูปนั้นเสมอ

การที่ยอดไปยืนเต้นกลางฟลอร์และชวนคนนั้นคนนี้ดื่มเหล้า ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะความชอบส่วนตัว แต่อีกส่วนหนึ่งผมว่ายอดทำไปเพราะ “หน้าที่” ใช้ความเป็น CEO ของตัวเองดึงคนออกมาจาก comfort zone และ break the ice เพื่อจะมีช่วงเวลาดีๆ ร่วมกัน

แต่พออายุมากเข้า จะให้ปาร์ตี้เยอะเท่าแต่ก่อนก็คงไม่ไหว ก็เลยต้องมีปฏิเสธบ้าง เช่นงานเลี้ยงฉลองความสำเร็จโครงการคนละครึ่งเฟส 5 เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ทีมงานอยากเชิญยอดมาร่วมด้วย ยอดตอบกลับมาเป็นกลอนเปล่าดังนี้

อันพี่นั้น เดี๋ยวนี้ เหนื่อยง่าย

สัปดาห์นี้ สี่มื้อแล้ว ที่กินนอก

ถ้าพี่ไป พี่ต้องเต็มที่ เดี๋ยวเสียชื่อ

เพราะฉะนั้น กูไม่ไป ดีกว่าเอย

5555555

ทักษะที่สำคัญที่สุด

แต่ก่อนถ้าใครถามว่าจุดแข็งของยอดคืออะไร เขาจะบอกว่าเขาเป็นคนทำงานเร็ว (speed) และไม่ยอมแพ้ (never give up)

แต่จาก townhall ครั้งล่าสุดที่จัดไปเมื่อวันอังคารที่ 27 กันยายน 2022 ในช่วง Ask Me Anything กับ C-Level เมื่อยอดเจอคำถามว่า อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขามาถึงจุดนี้ได้

ยอดตอบว่า – “I surround myself with great people.”

ยอดเองเขียนโค้ดก็ไม่เป็น เรื่องการเงินก็ไม่รู้ ดังนั้นเขาเลยใช้วิธีหาคนที่เก่งเรื่องนั้นๆ มาช่วยทำงาน

“That’s all I do, really.” ยอดกล่าวทิ้งท้าย

คำพูดของยอดทำให้ผมนึกถึงประโยคที่ลูฟี่พูดกับมนุษย์เงือกอารอนในการ์ตูน One Piece

“ฉันใช้ดาบเป็นที่ไหนล่ะเจ้าโง่ เทคนิคเดินเรือก็ไม่มี ทำอาหารก็ไม่เป็น โกหกก็ไม่เคย ฉันมั่นใจเลยว่าถ้าไม่มีคนช่วย ฉันไปไม่รอดแน่”

บทสรุป

ยอดเป็นคนทำงานเร็ว มาตรฐานสูงทั้งกับตัวเองและผู้อื่น เน้นผลลัพธ์และเป็น Disagreeable Giver ที่มีเครื่องมือและลูกเล่นแพรวพราวเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และทีมงานที่แตกต่างกันไป

แม้เป็นคนมุ่งมั่นและเด็ดขาด แต่ยอดก็ยังมีมุมน่ารักอยู่ กระทั่งภรรยาของผมที่ได้เจอยอดเพียงไม่กี่ครั้งก็ยังสังเกตเห็น และบอกว่ายอดเป็นเหมือนก้อนหินที่ผูกโบว์เอาไว้

หวังว่าข้อเขียนนี้จะมีประโยชน์ และผู้อ่านจะได้ข้อคิดอะไรบางอย่างไปปรับใช้ในการทำงานและในการใช้ชีวิตนะครับ

30 ประโยคสุดจี๊ดจากพี่อ้อย Club Friday

เมื่อวานนี้ทาง LINE MAN Wongnai ได้เชิญพี่อ้อย Club Friday มา WeShare เนื่องในเดือนแห่งความรัก

เราเคยเชิญพี่อ้อยมา WeShare แล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี 2018 มารอบนี้พี่อ้อยก็ยังท็อปฟอร์มเหมือนเดิม พูดสดๆ 1.5 ชั่วโมงโดยไม่ต้องมีสไลด์ ไม่ต้องมีโน๊ต ประโยคต่างๆ พรั่งพรูออกมา ทั้งให้ข้อคิด ทั้งแทงใจดำ ผมกับน้องๆ ทีม People จดตามแทบไม่ทัน

นี่คือ 30 ประโยคที่ผมชอบเป็นพิเศษครับ

คนอกหัก / คนโสด

  1. บางคนงานก็หนัก รักก็แย่
  2. รับรู้ไม่ได้แปลว่ารับรักเสมอไป
  3. ทำดีได้ดี แต่ไม่ได้หัวใจนะคะลูก
  4. บางทีเราไม่ได้ต้องการคำตอบ แค่ต้องการคำปลอบเฉยๆ
  5. วันที่เราอ่อนแออย่าเพิ่งรีบเข้มแข็ง เดี๋ยวแผลจะใหญ่กว่าเดิม
  6. จะรักใครมากแค่ไหน รักตัวเองให้ได้ครึ่งนึงที่รักเขาเราก็รอดแล้ว
  7. เวลาเขาตอบว่า “เลือกไม่ได้” แปลว่าเขาเลือกแล้ว นั่นคือเขาไม่ได้เลือกเรา คำตอบมีมาตั้งแต่ต้น เขาไม่ได้ให้ความหวัง แต่เรายังพร้อมที่จะหลอกตัวเองต่อไป
  8. เราไม่ได้มีความสุขกับความโสดหรอก เพียงแต่คนที่เข้ามาไม่ได้ทำให้เราชอบเขามากพอที่จะสละความสุขจากความโสด

คนมีคู่

  1. เรามักจะงี่เง่ากับคนที่เราให้ความสำคัญ
  2. เรามักจะแสดงความคิดเห็น แม้ยังไม่เห็นด้วยซ้ำ
  3. รักกันไม่ใช่แค่ต้องเชื่อใจกัน รักกันต้องทำตัวให้น่าเชื่อใจด้วย
  4. ความเชื่อใจ สร้างไม่ง่าย ทำลายไม่ยาก แถมลำบากจะเรียกคืน
  5. อะไรก็ตามมองอยู่ไกลๆ ยังไงก็สวย แต่อยู่ด้วยอาจเป็นอีกเรื่องหนึ่ง
  6. ความไม่สมบูรณ์แบบคือสิ่งปกติ ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ – แม้แต่ตัวเราเอง
  7. รักทางไกลวันนี้ง่ายกว่าเดิมเยอะ กดปุ่มนึงก็เจอกันแล้ว
  8. ความไกลไม่ได้ทำให้ใจห่าง แต่ทำให้คนที่ไม่ได้รักกันเท่าไหร่แสดงออกกันมากขึ้น
  9. อย่ามัวแต่มองจอจนไม่รอเจอหน้ากัน
  10. มีอะไรคุยกัน ไม่สำคัญเท่ามีอะไรฟังกันหรือเปล่า
  11. อย่ามัวแต่มองข้างหน้าจนลืมมองคนข้างๆ วันหนึ่งความสำเร็จจะอ้างว้างถ้าไม่มีคนข้างๆ ฉลองด้วย

คนมีอดีต

  1. อย่าเอาอดีตมากรีดปัจจุบัน
  2. ความระแวงจะเป็นแรงผลักให้คนอื่นดูน่ารักมากกว่าเรา
  3. ตื่นมาอีกวัน เราก็ห่างอดีตไปอีกวัน ไม่อยากมีปัจจุบันดีดี เลยไปจบอยู่กับอดีตแย่ๆ

คนอื่น

  1. แฟนเก่ากลับมาทัก ไม่ได้แปลว่าเขากลับมารักซะหน่อย
  2. ตอนเป็นแฟนกันยังคาดหวังไม่ได้ เป็นแฟนเก่าจะไปหวังให้เค้าขอโทษเหรอ
  3. ปากอยู่ที่เขา ใจอยู่ที่เรา อย่าให้ปากใครสูงค่าจนทำร้ายหัวใจเราได้
  4. คนที่เราไม่ชอบมักจะอยู่ที่หางตาของเราเสมอ
  5. อย่าทำตัวเองเป็นกล้องวงจรปิดตามติดชีวิตคนที่เราไม่ชอบ ถ้าไม่ชอบก็แค่แยกย้าย

คนไม่ยอมแพ้

  1. ยิ้มของเราต่อชีวิตคนอื่นได้
  2. เราต้องมีความสุขให้ได้ตามเงื่อนไขที่มี
  3. สู้ทีละวัน รอดทีละวัน เดี๋ยวก็รอดทุกวัน


ติดตาม Anontawong’s Musings ตามช่องทางที่สะดวก >> https://linktr.ee/anontawong

สามปีของนิกที่ Wongnai กับผู้ชายที่ชื่อ “ยอด ชินสุภัคกุล”

20200809

สัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนอาจทราบข่าวที่ LINE MAN กับ Wongnai จะควบรวมกัน โดย “ยอด” ยอด ชินสุภัคกุล ที่เป็น CEO และ Co-Founder ของ Wongnai จะขึ้นเป็น CEO ของบริษัทใหม่ในเดือนกันยายนนี้

สิ้นเดือนสิงหาคมจึงจะเป็นวันสุดท้ายของบริษัท วงใน มีเดีย จำกัด

และวันที่ 1 กันยายน 63 จะเป็น “วันแรก” ของ LINE MAN Wongnai

วันพฤหัสฯ ที่ผ่านมา ยอดโพสต์ความรู้สึกที่มีต่อโอกาสครั้งใหม่นี้ลงเฟซบุ๊ค

และ “บอย” ซึ่งเป็น CTO และ co-founder ก็โพสต์เล่าความหลังให้ฟังด้วยเช่นกัน

เมื่อวานนี้ ผมไปอ่านเจออีกโพสต์หนึ่งของ “นิก” ที่ตอนนี้เป็น Marketing & Operations Director ของ Wongnai คิดว่ามีประโยชน์สำหรับการทำงานและการใช้ชีวิต เลยขออนุญาตนิกมาลงในบล็อกนี้ครับ

—–

“วันแรกที่พบกัน”

– นัดสัมฯ บ่ายสองที่ปานจิตต์ ไปถึงเลท 15 นาที คิดในใจสงสัยไม่รอดแน่ รอซักพัก คนสัมฯ เดินมาเรียกเองที่หน้าประตู คำแรกที่พูดกับเราคือ “นิก เชิญ” น้ำเสียงห้วน ๆ โหด ๆ หน่อย

– สัมฯ อยู่นานพอควร ตำแหน่ง BD โดนบอกตอนนั้นเลยว่า “คุณไม่ใช่ BD”

– สัมฯ เสร็จออกมาถาม feedback พี่หลุยส์ ได้คำตอบว่า “ยอดบอกแค่ว่านิกดูเป็นคนดีนะ” คิดในใจ คงไม่ได้ทำงานที่นี่ละ

– สรุปวันถัดมา ยังไม่เกิน 24 ชั่วโมงหลังจากสัมฯ พี่เมโทรมา “บริษัทรับเข้าทำงานตำแหน่ง Offline Marketing & PR Manager นะคะ” ทั้งที่เราไม่มีประสบการณ์ด้านนี้เลยแม้แต่น้อย

– งงมาก แต่ก็ใช้เวลาตัดสินใจรับ offer ภายในเวลาไม่ถึงสิบนาที เงินเดือนมากกว่าที่เก่าไม่เท่าไหร่ แต่การตัดสินใจครั้งนี้คือเปลี่ยนชีวิตไปตลอดกาล และตั้งแต่นั้นเราก็ไม่เคย say no กับสิ่งที่พี่ยอดพี่หลุยส์ offer ให้แม้แต่ครั้งเดียว

>> พี่ยอด ผู้ที่มองถึง potential มากกว่าสิ่งที่เห็นหรือเป็นอยู่ตรงหน้า เป็นเหตุผลที่ทำให้เราก้าวมาถึงจุดนี้ที่ Wongnai ในทุกวันนี้ ซึ่งต่างจากวันแรกที่เข้ามามาก ๆ มาไกลแบบที่เรายังไม่เชื่อในตัวเองด้วยซ้ำว่าเราจะมาอยู่ตรงนี้ได้ แต่พี่ยอดเชื่อไปก่อนหน้านั้นแล้ว และทำให้เราบอกตัวเองเสมอว่าจะไม่ทำให้พี่ยอดผิดหวัง

“บทเรียนจากการทำงานกับพี่ยอด”

– Speed is king “เดี๋ยวนี้ปลาเร็วกินปลาช้ากันทั้งนั้น”

– Don’t be perfectionism “อย่าไปหวังว่าทุกอย่างจะสมบูรณ์แบบ
ตั้งเป้าไว้สาม ทำได้หนึ่งก็ถือว่าทำได้บ้างแล้ว อย่าใจร้ายกับตัวเอง”

– Impact matters “ทำแล้วได้อะไรมั้ย ถ้าทำแล้วไม่ได้ให้เลิกทำ ระบบ ระเบียบ วิธีการ เปลี่ยนได้ทั้งนั้น ถ้ามันไม่เวิค”

– No silo “Make the company great ไม่ใช่ make your team great เอา goal ของบริษัทเป็นที่ตั้งเสมอ”

– The way you type reflects yourself “พิมพ์ให้ถูก สะกดให้ถูก แสดงให้เห็นถึงความใส่ใจ ตั้งใจ และเป็นมืออาชีพ”

– Stop being bureaucratic “อย่าให้คำว่าระบบมาตีกรอบ ระบบทำให้ทุกอย่างช้า ถ้าสอนให้ทีมเข้าใจเป้าหมายและสิ่งที่เค้าควรทำ ระบบก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป”

– Done is better than perfect “คุณคิดเยอะคิดนานไปก็เท่านั้น คิดไปทำไปแก้ไป ถึงจะทันคนอื่นเค้า”

– Saying yes with some conditions is much better than saying no “อย่าตีกรอบตัวเองด้วยคำว่าทำไม่ได้ ทำได้แต่ compromise บางอย่าง อย่างน้อยมันก็ยังได้ทำ”

– Emailing is an art “เขียนอีเมลหรือบทความให้คิดถึงคนอ่าน มันเป็นศาสตร์ของคนเป็น leader”

– Negative feedback grow you, not positive “อย่าหลงดีใจไปกับคำชม คำติต่างหากที่ทำให้เราเติบโต”

– Always lead by example “วิธี lead ทีมที่ดีที่สุดคือการทำให้ดู”

>> พี่ยอด ผู้เป็นเสมือนครู สามปีที่ได้เรียนกับครูคนนี้เราเดินทางมาไกลมาก และเดินไปในทิศทางที่มั่นใจว่าถูกต้อง เคยโกรธ เคยน้อยใจพี่ยอดเวลาโดนดุโดนว่า แต่สุดท้ายทุกครั้งที่ตั้งสติได้และพยายามทำความเข้าใจ นำสิ่งนั้นมาปฏิบัติทีไร กลายเป็นเราที่ได้พัฒนาปรับปรุงตัวเองไปทีละนิด มาถึงวันนี้วิธีคิดหลายอย่างเปลี่ยนไปมากมายจริง ๆ ถึงเราอาจจะยังไม่ดีที่สุด แต่เราดีขึ้นกว่าวันแรกแน่ ๆ

“คำสอนนอกห้องเรียน”

– วันยกน้ำชาตอนแต่งงาน พี่ยอดให้พรว่า “อย่าเอาความ perfectionist มาใช้กับชีวิตคู่นะ” คำนี้ทำให้มีสติในการใช้ชีวิตคู่อยู่ตลอดจริง ๆ

– หลังแต่งงานพี่ยอดบอกว่า “คนเราต้องมีลูกนะ ถ้าเราเชื่อมั่นว่าเราเป็นประชากรที่ดี เราต้องส่งต่อประชากรที่ดีให้กับโลกใบนี้ต่อไป” คำนี้ทำให้คนที่เคยไม่อยากมีลูกอย่างเราเริ่มเปลี่ยนความคิด

– หลังจากเริ่มคิดที่จะมีลูก พี่ยอดบอกว่า “บริษัทสนับสนุนเต็มที่ ไม่ต้องกังวลนะ something is more important than work” คำนี้ทำให้เราพยายามใส่ใจครอบครัวมากขึ้น

>> พี่ยอด ผู้ที่เข้าใจและให้ความสำคัญกับชีวิตด้านอื่น ๆ ของพนักงาน พี่ยอดนอกเวลางานคือคนที่คุยเล่นกับพนักงาน ถามไถ่หลายสิ่งอย่าง และใส่ใจจำมันได้มากกว่าที่เราคิด พี่ยอดคือคนที่มีอิทธิพลกับชีวิตเราในหลาย ๆ ด้าน

เผลอแป๊บเดียวเวลาก็ผ่านไปสามปีกว่าแล้ว

สามปีที่ Wongnai ผ่านไป ปีแรกของ LMWN กำลังจะเริ่มขึ้น ขอบคุณพี่ยอดที่ทำให้พวกเราได้มีโอกาสสัมผัส once-in-a-lifetime experience ในครั้งนี้

So proud to be a part of this legend. I commit myself to make your mission come true. We’re gonna bring pride to Thai startup.

***ทุกปาร์ตี้ที่บริษัทเรามักจะขอให้วงดนตรีเล่นเพลง “เรือเล็กควรออกจากฝั่ง” ให้พี่ยอดในตอนจบเสมอ เพราะท่อนฮุคของเพลงนี้มันบอกแทนสิ่งที่พี่ยอดกำลังทำอยู่จริง ๆ ฟังเพลงนี้เวอชันไหน ก็ไม่ขนลุกเท่าเวลาพี่ยอดตะโกนใส่ไมค์และมีพนักงานกอดคอกระโดดกันร้องตามอย่างบ้าคลั่ง (วงไหนจะมาเล่นในงานที่บริษัทเรา ต้องแกะเพลงนี้มานะ)

“เราจะออกไปแตะขอบฟ้าด้วยกัน”
#LMWN #dayone


ขอบคุณเนื้อหาจาก

นิก บันทึกไว้เตือนความทรงจำ…สามปีของนิกที่ Wongnai กับผู้ชายที่ชื่อ “ยอด ชินสุภัคกุล” 

ถ้ายังอินอยู่ ตามไปอ่านโพสต์ของยอด ของบอย และบล็อกของผมได้ครับ

ยอด: https://www.facebook.com/yod.chinsupakul/posts/10223503012863396

บอย: https://www.facebook.com/pattrawoots/posts/10158463473478043

ผมเขียนถึงยอดในปี 2018 : ถอดรหัสการทำงานของ ยอด Wongnai

และถ้าอ่านมาจนถึงตรงนี้ ก็ขอ tie-in เบาๆ ว่าเรากำลังเปิดรับคนกว่า 100 ตำแหน่งครับ >> careers.lmwn.com

ถอดรหัสการทำงานของ ยอด Wongnai

20180508_yod

ผมรู้จักกับยอด ชินสุภัคกุล ซึ่งเป็น CEO และ co-founder ของ Wongnai มาตั้งแต่ปี 2005

ผมแก่กว่าและเข้า Thomson Reuters มาก่อนยอด เราได้รู้จักกันตอนที่ผมย้ายตำแหน่งจาก software engineer มาเป็น support consultant ซึ่งมียอดเป็นหัวหน้าทีมอยู่ (ด้วยอายุเพียง 22 ปี ยอดเป็นหัวหน้าทีมที่เด็กที่สุดใน Thomson Reuters ประเทศไทย)

พอปี 2007 ยอดก็ได้ขึ้นเป็นผู้จัดการทีม (ที่เด็กที่สุดอีกแล้ว) และผมขึ้นมาเป็นหัวหน้าทีมแทนยอด พอปี 2008 ยอดก็ลาออกเพื่อไปเรียนต่อ MBA ที่ UCLA Anderson School of Management

ปี 2010 ยอดกลับมาเมืองไทยและมีเป้าหมายที่จะทำ startup เพื่อตอบโจทย์ว่าวันนี้กินอะไรดี ยอดชวนเพื่อนวิศวะคอมจุฬาอีก 3 คนมาร่วมกันทำ รวมถึงชวนผมและเพื่อนในวัยเด็กอีกคนมาเป็นผู้ถือหุ้นด้วย

ช่วง 2-3 ปีแรก Wongnai ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักเท่าไหร่ แต่ในช่วง 5 ปีหลังสุด Wongnai ก็เจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดดจนตอนนี้มีพนักงาน 200 กว่าคนและมีรายได้ 150 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้จะยังไม่อาจเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ แต่ก็ต้องถือว่า Wongnai เป็น startup ที่โดดเด่นเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ

ผมเองได้แต่คอยช่วย Wongnai อยู่ห่างๆ มาตลอด จนเมื่อต้นปี 2017 จึงเข้ามาทำที่ Wongnai เต็มตัวในฐานะ Head of People (ที่ Wongnai เราจะเรียกทีม HR ว่าทีม People)

มีสื่อมากมายที่มาขอสัมภาษณ์ยอดรวมถึงเชิญยอดไปพูดในที่ต่างๆ เพื่อเล่าเรื่องราวของ Wongnai และเล่าวิธีคิดวิธีทำงานของยอด แต่การสัมภาษณ์ทั้งหมดก็เป็นคำถามจากคนที่มองจากข้างนอกเข้ามา และคำตอบทั้งหมดก็มาจากปากของยอด ผมจึงคิดว่าน่าจะมีประโยชน์ถ้า “คนวงใน” ที่เป็น “บุคคลที่สาม” อย่างผมมาเขียนเล่าให้ฟังว่า ยอดทำงานอย่างไรบ้าง

มาเริ่มกันเลยครับ

ทำงานเร็ว (#speed)

ทุกครั้งที่มีคนถามว่าจุดแข็งของยอดคืออะไร ยอดจะตอบเสมอว่าเขาเป็นคนทำงานเร็ว

“I’m not smarter than most of you, I’m just faster.”

ยอดบอกว่านี่ไม่ใช่ยุคของปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่เป็นยุคของปลาเร็วกินปลาช้า

เร็วในที่นี้เป็นความเร็วในหลายมิติด้วย หนึ่งคือเร็วที่จะลงมือทำ (คิดแล้วทำเลย) สองคือพอเริ่มลงมือทำแล้วก็ทำจนเสร็จอย่างรวดเร็ว สามคือพอเสร็จแล้วก็มีการวัดผลและเรียนรู้อย่างรวดเร็ว มันคือ build-measure-learn in fast cycle ตามหลักของ Lean Startup และ #speed ก็เป็นหนึ่งใน core values ของ Wongnai

นอกจากเร็วเรื่องงาน เรื่องส่วนตัวยอดก็เร็วด้วย ค่ำวันหนึ่งก่อนกลับบ้าน ผมบอกยอดว่าอยากจะให้ช่วยเขียนคำนิยมให้หนังสือ Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ โดยเล่าให้ฟังว่าหลายเรื่องดึงมาจากในบล็อก Anontawong’s Musings เดี๋ยวจะเอาต้นฉบับมาให้อ่าน ปรากฎว่าคืนนั้นยอดก็ส่งคำนิยมมาให้ทั้งๆ ที่ผมยังไม่ได้ปริ๊นท์ต้นฉบับด้วยซ้ำ! เพียงแต่คำนิยมของยอดจะเขียนไปในเชิงความเห็นต่อตัวผมและข้อเขียนของผมในบล็อกแทนความเห็นในตัวหนังสือ

ต้นเดือนสิงหาคม 2017 หนังสือ Thank God It’s Mondayฯ ก็ตีพิมพ์เสร็จ ผมวิ่งไปเอาหนังสือมาจากสำนักพิมพ์คืนวันพฤหัส บ่ายวันศุกร์เอามาให้ยอด 1 เล่มเป็นการขอบคุณที่ช่วยเขียนคำนิยมให้ พอเช้าวันเสาร์ยอดก็อัพโหลดรูปหนังสือและรีวิวให้เสร็จสรรพ ยอดจึงเป็นคนแรกในประเทศไทยและคนแรกในโลกที่อ่าน Thank God It’s Mondayฯ จบเล่ม

To Do List ของยอด

ยอดไม่ได้ใช้ App อะไรที่หวือหวาเลย

To Do List หลักๆ ของยอดจะมีแค่สามอย่าง คืออีเมล, แอป Notes ในไอโฟน (ซึ่งซิงค์กับเครื่องแม็คบุ๊คที่ยอดใช้ทำงาน) และแอป Reminder

ที่ Wongnai เราจะใช้ G Suite ของ Google ดังนั้นอีเมลจึงเป็นระบบของ Gmail เวลามีเมลอะไรเข้ามาที่ต้อง take action ในภายหลัง ยอดก็จะ “ติดดาว” (star) เอาไว้

แอป Notes ยอดจะเอาไว้จดงานที่สำคัญแต่ไม่เร่งด่วน (Q2) ที่น่าสนใจคืองานยากๆ จะอยู่บรรทัดแรกๆ ส่วนงานง่ายๆ จะอยู่บรรทัดล่างๆ แล้วยอดจะไล่ทำจากล่างขึ้นบน

ส่วนแอป Reminder เอาไว้จดงานที่ไม่สำคัญแต่เร่งด่วน (งาน Q3) เพื่อจะได้ไม่ลืมที่จะทำให้เสร็จภายในเวลานั้น-เวลานี้

เรื่องหนึ่งที่ผมประทับใจมากคือ ตั้งแต่ผมทำงานที่ Wongnai มาปีกว่าๆ ยอดเคยทำงานจน To do list กลายเป็น 0 ไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งแล้ว ในขณะที่ผมยังไม่เคยทำอย่างนั้นได้เลยซักครั้งตลอดชีวิตการทำงาน

ลืมไม่ใช่ข้ออ้าง

ยอดไม่ใช้สมุดในการจดงาน เพราะมองว่ามีโอกาสตกหล่นสูง และขี้ลืมไม่ใช่เรื่องของนิสัยแต่เป็นเรื่องของความใส่ใจและวิธีการทำงาน

เวลาพูดคุยกันในที่ประชุม หรือคุยโทรศัพท์ หรือคุยกันทางแชท ยอดจะคิดทุกอย่างเป็น action แล้วใส่มันลงใน To do list ทันที

ออกจากการประชุมปุ๊ป ยอดจะ take action ปั๊ป เช่นส่งเมลสรุปหรือเดินไปสั่งงานปากเปล่า รวมถึงมีการจัดลำดับงานใหม่ (reprioritize) เพื่อให้แน่ใจว่างานทุกชิ้นจะยังส่งได้ตรงเวลา  

Inbox Zero เสมอ

ยอดจะพยายามไม่อ่านเมลซ้ำ (touch email only once) โดยเมลแบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทคือ

  • อ่านจนกระทั่งรู้ว่าไม่ต้องอ่านก็ได้
  • อ่านแล้ว take action ทันที
  • อ่านแล้ว take action ทีหลัง
  • อ่านทีหลัง

ยอดจะตอบเมลทุกฉบับภายใน 1 วัน ตอบสั้นๆ และขึ้นต้นด้วยใจความสำคัญที่สุดเสมอ

เวลาสั่งงานยอดก็มักจะสั่งผ่านเมลเพื่อจะได้ไม่ตกหล่นและติดตามผลได้ง่าย หรือบางครั้งก็ใช้การส่งเมลเพื่อย้ำการตัดสินใจหลังจากที่ได้พูดคุยตกลงกันไปแล้ว และหลายครั้งยอดจะใช้วิธีส่งเมลคุยกันมากกว่านัดประชุมเพราะเร็วกว่าจะมารอให้ทุกคนว่างตรงกัน

และแต่ละวันยอดจะจัดการอีเมลจนเป็น Inbox Zero เสมอ

การใช้ Calendar

  • ใช้ calendar ทุกครั้ง สำหรับ appointments
  • ใช้ calendar สำหรับ deadline สำคัญๆที่พลาดไม่ได้
  • ใช้ calendar สำหรับ block เวลาไว้สำหรับ Q2 task (งานสำคัญแต่ไม่เร่งด่วน)
  • ดู calendar ของวันพรุ่งนี้ ล่วงหน้า 1 วัน ทุกวัน
  • ดู calendar ของทั้งสัปดาห์ ตอนต้นสัปดาห์

Done is better than perfect

ยอดมักจะยกคำพูดนี้ของ Sheryl Sandberg มาเตือนพนักงานเสมอ

งานหลายๆ อย่างไม่จำเป็นต้องทำให้เรียบร้อยไร้ที่ติ ทำได้ซัก 80-90% ก็โอเคแล้ว โดยเราควรเข้าใจ the law of diminishing returns นั่นคือ เมื่อเลยจุดๆ หนึ่งไปแล้ว คุณภาพของงานที่ได้เพิ่มขึ้นมามันจะไม่คุ้มกับแรงที่ลงไปอีกแล้ว

ยกตัวอย่างเช่นการทำสไลด์ให้ดูดีประมาณ 80% อาจใช้เวลา 2 ชั่วโมง แต่ถ้าจะทำให้เพอร์เฟ็คต้องใช้เวลาเพิ่มอีก 2 ชั่วโมง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ควรทำหากสไลด์นั้นถูกใช้เพื่อการพูดคุยกันภายในบริษัทแค่ครั้งเดียว

แม้จะไม่ได้คาดหวังว่ามันต้อง 100% แต่ถ้าคุณทำมาต่ำกว่า 50% ก็จะโดนยอดไล่ให้กลับไปทำมาใหม่เช่นกัน มาตรฐานของเราควรอยู่ที่ประมาณ 70-80% เสมอ

Sometimes perfect is the only option

แต่สำหรับงานที่ต้องออกไปข้างนอก เช่นงานพรีเซนต์ลูกค้าหรือ Press Release ยอดจะซีเรียสมาก เคยมีครั้งหนึ่งที่น้องทีม PR ทำ Press Release ออกมาแล้วมีจุดสะกดผิดอยู่หลายจุด ยอดบอกกับน้องเลยว่า Press Release นี้จุดเดียวก็ห้ามผิด

เลื่อนเข้า

ถ้ามีงานชนกัน คนทั่วไปจะเลื่อนงานหนึ่งออกไป แต่ยอดจะให้เลื่อนงานเข้ามา

ธรรมดายอดจะกันเวลาเช้าวันศุกร์ไว้สัมภาษณ์ candidate ที่มาสมัครงานที่วงใน แต่ถ้าวันศุกร์ไหนยอดติดงานด่วนกะทันหัน แทนที่จะเลื่อนนัดสัมภาษณ์ออกไป ยอดจะขอให้เลื่อนสัมภาษณ์เข้ามาเป็นวันพุธหรือพฤหัสแทน

ห้ามใช้คอมในห้องประชุม

หากมีการประชุมหรือ training ยอดจะขอ (จริงๆ คือสั่ง) ไม่ให้คนใช้คอมเพื่อจะได้มีสมาธิกับการประชุม ถ้าใครมีงานด่วนและสำคัญมากจริงๆ  ยอดจะบอกว่าให้ออกไปนั่งทำงานข้างนอกให้เสร็จแล้วค่อยกลับเข้ามา

ตัวยอดเองเวลาเข้าประชุมที่ยอดไม่ต้องนำ ยอดก็จะไม่ใช้คอมเช่นกัน จะหยิบมือถือขึ้นมาจดเฉพาะตอนที่มี action ที่ยอดต้องเอาไปทำต่อเท่านั้น

มอบหมายงานให้เป็น

ยอดมองว่าการมอบหมายงานคือการให้โอกาสลูกทีม แต่คนที่มอบหมายงานก็ต้องบอกให้ครบด้วยว่าเราต้องการอะไร ส่งภายในเมื่อไหร่ เพราะว่าอะไร

ความยากของงานก็ควรจะเหมาะสมกับความสามารถของคนๆ นั้น หรือเลยความสามารถของเขาไปหนึ่งขั้น เมื่อมอบหมายแล้ว ก็ต้องคอยตรวจงานและให้ฟีดแบ็คอย่างสม่ำเสมอ แม้กระทั่งคำสั้นๆ อย่าง “Well done” ก็สำคัญและมีความหมายต่อลูกทีมมาก

ยุ่งแค่ไหนก็ว่างสำหรับพนักงาน

ธรรมดายอดจะนั่งทำงานในห้องส่วนตัว แต่ก็ใช้ open door policy คือใครก็สามารถเดินมาเคาะกระจกหน้าห้องแล้วเข้าไปคุยกับยอดเรื่องอะไรก็ได้ ซึ่งไม่ว่ายอดจะทำงานอะไรอยู่ ยอดก็จะพยักหน้าเชื้อเชิญให้เข้ามาคุยงานได้เสมอ

ห้องส่วนตัวคือห้องส่วนรวม

แม้จะเป็นห้องส่วนตัว แต่เวลาที่ยอดไม่อยู่ออฟฟิศ พนักงานคนไหนก็เข้ามาใช้งานได้ เช่นเอาไว้ประชุม สัมภาษณ์ หรือคุย one-on-one ถ้าระหว่างที่คุยอยู่ยอดกลับมาพอดี ยอดก็จะไปนั่งทำงานรออยู่ที่อื่นจนกว่าพวกเราจะใช้ห้องเสร็จ

เดินไปทั่ว

ยอดมักจะเดินทักทายคนนั้น แซวคนนี้ บางทีก็เดินลงไปชั้นอื่นๆ (ออฟฟิศ Wongnai ตอนนี้มี 5 ชั้น) เพื่อไปคุยกับคนหลายๆ แผนกและใช้โอกาสนี้ในการตรวจสอบความเป็นระเบียบเรียบร้อยของออฟฟิศด้วย (ยอดมักจะเป็นคนแรกๆ ที่เดินมาบอกว่า ป้ายโลโก้ตรงนั้นหลุดแล้ว หรือต้องเรียกช่างมาซ่อมพื้นแล้ว)

Tough Love

ยอดจะคาดหวังสูงกับคนที่ทำงานด้วย และถ้าทำสิ่งที่เราทำไม่ดีพอ ยอดก็ไม่ลังเลที่จะบอกตรงๆ ซึ่งบางทีก็ตรงจนน่าตกใจ แต่นี่คือความปรารถนาดี เพราะหากน้องที่โดนตำหนิมีทัศนคติที่ถูกต้อง เขาก็จะเร่งพัฒนาตัวเองขึ้นมาเพื่อทำให้ได้ตามมาตรฐานในใจยอด

ระเบิดลง (บางทีก็โดยตั้งใจ)

บางครั้ง ถ้างานมันไม่เดินจริงๆ ยอดก็จะ “ระเบิดลง” ซึ่งหลายหนก็ตั้งใจทำอย่างนั้นเพื่อกระตุกและกระตุ้นให้คนทำงานกระตือรือร้นกว่านี้ รวมถึงเป็นการทดสอบด้วยว่าคนๆ นั้นแกร่งแค่ไหน โดนทุบแล้วหนีหน้าไปเลยหรือยังสู้อยู่

มีบ้างที่น้องบางคนโดนยอดดุจนหน้าเสียหรือร้องไห้ แต่ยอดจะหลังไมค์มาหาผมหรือหัวหน้าของน้องให้เข้าไปดูแลหน่อย เพราะยอดเล่นบท bad cop ไปแล้ว จำเป็นต้องมี good cop เพื่อรักษากำลังใจน้องเอาไว้

ไม่หนีปัญหา

เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Wongnai ลองจัด Food Tour เป็นครั้งแรก พาคนไทย 30 ชีวิตบินไปโตเกียวเพื่อทานอาหารมิชลิน 1 ดาวถึงสามมื้อ

จบ Food Tour แล้ว เราขอให้ลูกทัวร์ตอบแบบสำรวจความพึงพอใจ เราได้คะแนนเฉลี่ย 7.8

น้องทีมงานที่จัดทัวร์บอกว่าคราวหน้าอยากจะลองพาไปซัปโปโร แต่ยอดไม่อนุญาต บอกว่าต้องกลับไปแก้มือที่โตเกียวให้ได้ 8.5 หรือ 9 คะแนนเสียก่อน ถึงจะย้ายไปทำทัวร์ที่อื่น

เสพติดชัยชนะ

น่าจะไม่ใช่เรื่องเกินเลยที่จะบอกว่ายอดโปรดปรานการแข่งขันและชอบการเป็นที่ 1 เวลาทำธุรกิจก็เลยมุ่งมั่นมาก และทำให้คนอื่นๆ ติดเชื้อนี้ไปด้วย

ความต้องการเป็นที่ 1 ยังลามไปนอกเวลางาน เช่นตอนไป Outing ต่างจังหวัดแล้วมีการแบ่งทีมเก็บคะแนน ยอดจะบอกกับน้องในทีมว่า “คงรู้นะครับว่าผมคาดหวังอันดับที่เท่าไหร่” จนน้องๆ อดจะตัวเกร็งไม่ได้ โชคดีที่การไป outing ครั้งล่าสุด ยอดถอยตัวเองออกมาอยู่ในทีมผู้จัดงาน ไม่ต้องไปแข่งขันกับใคร

แต่เมื่อแพ้ ก็ยอมรับว่าต้องการความช่วยเหลือ

ทุกๆ สามเดือน เราจะมีการประชุมใหญ่ของ Wongnai โดยตัวแทนแต่ละทีมจะขึ้นมานำเสนอผลงานและพูดถึงสิ่งที่จะทำต่อจากนี้

พอจบการประชุม เราก็จะส่งแบบสอบถามเพื่อหาจุดผิดพลาด และสำรวจด้วยว่าพนักงานชอบการพูดของใครมากที่สุด ซึ่งยอดก็จะได้คะแนนเป็นที่ 1 ทุกครั้ง (โดยตระหนักดีว่าคะแนนกว่าครึ่งอาจจะได้มาเพราะเขาเป็น CEO)

หลังจากครองแชมป์มานาน ยอดก็ตกบัลลังก์เป็นครั้งแรกในการประชุม Q1 2018 แล้วก็มาบ่นกับผมว่าเขาประมาทไม่ได้แล้ว อยู่เฉยๆ คงโดนแซงแน่ (ยอดมีเขียนประสบการณ์นี้เอาไว้อย่างละเอียดในบทความ Insider’s Day (วันของคนวงใน) คืออะไร จัดทำไม

ปลายเดือนที่แล้ว เรามีการประชุมประจำ Q2 2018 ยอดเตรียมตัวมาดีมาก ผมว่าน่าจะเป็นการพรีเซนต์ที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งของยอดที่ผมเคยฟังมาด้วยซ้ำ เพียงแต่เนื้อหาอาจจะไม่ได้ very happy ending เหมือนอย่างทุกๆ ครั้ง รอบนี้ยอดจึงชวดการเป็น top speaker อีกเป็นครั้งที่สองติดต่อกัน

ยอดจึงตัดสินใจว่า ในการประชุม Q3 ที่จะเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคม ยอดจำเป็นต้องมีโค้ชที่จะช่วยฟังยอดซ้อมและช่วยกันแก้ไขเพื่อให้การพรีเซนต์ออกมาดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

อีกเรื่องหนึ่งที่อยากแปะไว้ตรงนี้ คือตอนปี 2015 ยอดมาขอให้ผมช่วยเป็นโค้ชโครงการ Wongnai WeFit ซึ่งมีเป้าหมายช่วยให้พนักงาน Wongnai ลดน้ำหนัก โดยยอดเปรยกับผมว่า “ผมว่าผมเป็น CEO ที่อ้วนที่สุดในวงการแล้วพี่”

ก่อนหน้านั้นยอดเคยพยายามลดน้ำหนักเองมาหลายครั้งแต่ก็ไม่สำเร็จ แต่โครงการ WeFit ที่มีน้องๆ เข้าร่วมด้วยหลายคน ด้วยศักดิ์ศรีของ CEO ทำให้ยอดลดน้ำหนักจาก 92.5 เหลือ 80 กิโลกรัมภายในเวลา 3 เดือน (อ่านต่อได้ที่บทความ เมื่อ CEO Wongnai ตัดสินใจลดน้ำหนัก)

Work-Life Integration

ประโยค work-life balance ที่เราคุ้นเคยกันทำให้เราคิดว่า งาน กับ ชีวิต เป็นสองสิ่งที่แยกกันอยู่คนละฝั่งของตาชั่ง

แต่ยอดเคยบอกว่าสำหรับเขา งานกับเรื่องส่วนตัวมันกลายเป็นเนื้อเดียวกันไปเรียบร้อยแล้ว จึงไม่แปลกที่จะเห็นยอดยังทำงานและคุยแชทตอนห้าทุ่มหรือเที่ยงคืน (แต่ก็จะคุยกับกับเฉพาะเหล่า co-founders ด้วยกันเองเท่านั้นนะครับ ผมยังไม่เคยเห็นยอดสั่งงานน้องๆ ให้ทำอะไรตอนดึกๆ ดื่นๆ เลย)

Relax!

ทำงานที่ Wongnai นั้นเหนื่อยเพราะเราวัดผลกันจริงจัง น้องบางคนถึงกับเครียด มาบ่นกับผมว่าวันเสาร์อาทิตย์ก็ยังต้องทำงานเพราะรู้สึกว่าตัวเองแบกรับภาระเอาไว้มากมาย

ผมจะบอกกับน้องที่มาปรึกษาเสมอว่าภาระที่น้องแบกอยู่มันเป็นแค่หนึ่งในร้อยของที่ยอดแบกอยู่ แต่ยอดก็ยังยิ้มได้ ยังมีเวลาเล่นกับลูก พาแฟนไปกินข้าว ไปดูหนัง Avengers ได้ ดังนั้น งานหนักไม่ใช่ปัญหา ปัญหาคือน้องยังไม่รู้จักวิธีพักผ่อนหย่อนใจต่างหาก ซึ่งมันเป็นทักษะสำคัญที่ควรจะเรียนรู้ว่าเอาแต่เนิ่นๆ ก่อนที่ภาระหน้าที่ของเราจะมากกว่านี้

คุณชายเก็บขวด

ยอดมาจากครอบครัวที่มีฐานะ ใช้ของแบรนด์เนม รสนิยมดี จนบางทีก็ถูกพนักงานกล่าวถึงโดยใช้สรรพนามว่า “คุณชาย”

เมื่อตอนต้นปีที่แล้วสมัยผมเข้ามาทำงานทีม People ใหม่ๆ เราได้ไปออกบู๊ธงาน job fair ที่จุฬา แล้วรายการสุดท้ายของวันนั้นเขาก็เชิญยอดมาสัมภาษณ์บนเวที ตอนที่ยอดพูดคนเริ่มซา และบริษัทก็เริ่มเก็บบู๊ธกันแล้ว ผมเองก็ช่วยเก็บบู๊ธกับน้องอีกคนหนึ่งที่มาด้วยกัน พอยอดลงมาจากเวที ก็มาช่วยพวกผมเก็บบู๊ธด้วยทั้งๆ ที่เขาจะกลับไปเลยก็ไม่มีใครว่าอะไร

ในงานประชุมใหญ่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาก็เช่นกัน วันนั้นหลังจบงาน ผม ยอด หลุยส์ (COO) และแม็ก (CFO) ก็ยืนคุยกันว่างานวันนี้เป็นอย่างไร หันไปอีกทีก็เห็นว่าคนกลับไปหมดแล้ว ยอดเห็นขวดน้ำดื่มวางอยู่เกลื่อนกลาดในห้อง auditorium หลุยส์เลยเดินไปยกถังขยะใบใหญ่จากข้างนอกมา แล้วยอดก็ไล่ตระเวนเดินหยิบขวดน้ำที่วางอยู่ตามเก้าอี้ โดยมีพวกเราสามสี่คนช่วยกัน

จะมีซักกี่บริษัทที่ CEO ลงมาช่วยเก็บกวาดขวดน้ำที่พนักงานทิ้งเอาไว้

กล่าวโดยสรุป

ยอดเป็นคนทำงานเร็ว มาตรฐานสูงทั้งกับตัวเองและผู้อื่น เน้นผลลัพธ์และรักลูกน้องด้วย tough love แต่แม้จะเป็นคนมุ่งมั่นและเด็ดขาด ยอดก็ยังมีมุมน่ารักๆ อยู่ กระทั่งแฟนผมที่ได้เจอยอดเพียงไม่กี่ครั้งก็ยังสังเกตเห็น และบอกว่ายอดเป็นเหมือนก้อนหินผูกโบว์

หวังว่าข้อเขียนนี้จะมีประโยชน์ และคุณผู้อ่านจะได้ข้อคิดอะไรบางอย่างไปปรับใช้ในการทำงานและในการใช้ชีวิตนะครับ

ข้อคิดจากพี่ต่อ ฟีโนมีน่า

201708909_torphenomena

ถ้าลองนึกถึงชื่อโฆษณาไทยที่คุณโปรดปรานซัก 3 เรื่อง มีโอกาสสูงมากที่อย่างน้อยหนึ่งในนั้นจะเป็นฝีมือการกำกับของพี่ต่อ ฟีโนมีน่า

เช่นหนังโฆษณาซึ้งๆ ของไทยประกันชีวิต (ปู่ชิว, แม่ต้อย, Que Sera Sera)

หรือโฆษณา จน เครียด กินเหล้า!  ของสสส.

หรือโฆษณาเงินติดล้อ – เราไม่อยากให้คุณกลับมาหาเราอีก

งานของพี่ต่อกวาด Cannes Lion ซึ่งเปรียบเสมือนรางวัลออสการ์ของคนทำโฆษณามาแล้วหลายสิบรางวัล จนนิตยสาร a day ต้องเชิญพี่ต่อมาขึ้นปกแล้วพาดหัวว่าคนคนนี้คือผู้กำกับโฆษณาอันดับ 1 ของโลก

ผมจึงดีใจมากที่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาพี่ต่อได้เข้ามาพูดให้พนักงานที่บริษัทวงในร้อยกว่าคนฟัง (ทุกๆ สองศุกร์ เราจะมีกิจกรรม Wongnai WeShare ที่เราจะเชิญคนเจ๋งๆ มาร่วมพูดคุย)

พี่ต่อมาพูดโดยไม่มีสคริปต์ เน้นตอบคำถามเป็นหลัก และการตอบแต่ละข้อพี่ต่อจะหยุดคิดก่อนพูดเสมอ (เป็นการพูดคุยที่มี “ความเงียบ” แซมอยู่ตลอดทางมากที่สุด)

นี่คือข้อคิดที่ผมได้จากการฟังพี่ต่อในวันนั้นครับ

1. ใช้ชีวิตให้ตรงประเด็น เราถามพี่ต่อไปว่า อะไรคือปัจจัยหลักที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จ พี่ต่อตอบว่าเขาแค่เป็นคนจับประเด็นเก่ง และหลักการการทำงานของเขาก็คือเวลาทำงาน ก็ทำให้ดีที่สุด พองานเราดี จะแต่งตัวยังไงก็ไม่สำคัญ ขับรถอะไรก็ไม่เกี่ยว connection ก็ไม่จำเป็น เพราะงานเราดีซะอย่าง ยังไงเขาก็ต้องจ้างเรา พอเราใช้ชีวิตตรงประเด็น ชีวิตมันก็จะง่าย

2. ทำอะไรควรสร้างการผลิต สำหรับคนที่อยากรวย อยากมีอิสระทางการเงินเร็วๆ พี่ต่อแนะนำให้ลองสำรวจดูว่า กิจกรรมที่เราทำหรือเงินที่เราใช้ไปนั้นมันสร้างการผลิตรึเปล่า ถ้าไม่สร้างการผลิตก็พยายามอย่าไปทำ เช่นปลูกไม้ประดับไม่สร้างการผลิต ปลูกผักสวนครัวสร้างการผลิต นั่งคุยการเมืองไม่สร้างการผลิต ถ้าคุณเป็นห่วงบ้านเมืองก็ลุกขึ้นมาทำอะไรซักอย่างไปเลย

3. อ่านหนังสือให้เยอะๆ เราจะเข้าใจคนดู (ลูกค้า / Consumers) ได้ก็ต่อเมื่อเราเข้าใจว่าเขาเป็นใครมาจากไหน ธรรมชาติของเขาเป็นอย่างไร พี่ต่อจึงอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ไทยเยอะมาก รวมถึงอ่านหนังสือขึ้นหิ้งอย่างสามก๊ก ซุนวู มูซาชิด้วย ถามว่าพี่ต่อจะแนะนำหนังสืออะไรให้พนักงานวงในอ่าน พี่ต่อพูดถึงหนังสือ Good Luck ของนานมีบุ๊คส์ เป็นหนังสือที่บอกว่าโชคไม่มีอยู่จริง ความสำเร็จเป็นสิ่งที่เราสร้างเอง (เย็นวันนั้นมีน้องวิ่งไปซื้อมา 4 เล่มเลยนะครับ ผมเองก็ไปสอยมาแล้วหนึ่งเล่มเช่นกัน ไว้จะเล่าให้ฟังในโอกาสต่อไป)

4. อย่าพยายามทำปลาแซลม่อนให้เป็นปลาช่อน เวลาเลือกคนมาแสดงโฆษณา พี่ต่อจะเลือกคนที่ทำสิ่งๆ นั้นเป็นอยู่แล้ว เช่นถ้าตัวละครต้องขี่มอเตอร์ไซค์ เขาก็จะไม่เอาคนขับรถยนต์มาแสดง เพราะแค่แอคติ้งง่ายๆ อย่างการปิดเบาะมอเตอร์ไซค์ลง คนขี่มอเตอร์ไซค์จะทำได้สมจริงกว่าคนขับรถยนต์แน่ๆ ถ้าเราอยากได้ปลาช่อนก็อย่าไปเอาปลาแซลม่อนมาทำใหเป็นปลาช่อน สู้เอาเวลาไปเฟ้นหาปลาช่อนดีกว่า

5. ปัญหาเป็นเรื่องดี เพราะมันบอกให้รู้ว่ายังมีอะไรที่ไม่ดี เริ่มจากคำถามที่ว่ามีโฆษณาตัวไหนที่พี่ต่อไม่ชอบมั้ย พี่ต่อตอบว่ามีหลายตัวมากที่พอกลับไปดูแล้วเจอจุดที่มันควรจะดีกว่านี้ได้ เช่นแอคติ้งมากเกินไป ซาวด์ไม่โอเค ฯลฯ แต่กว่าจะรู้ตัวคือต้องผ่านไปซัก 1 ปีแล้วกลับมาดูใหม่ เพราะพอทำงานไปเยอะๆ รสนิยมของเราจะดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วเราจะมองเห็นข้อผิดพลาดของตัวเองได้ดีขึ้น พอเจองานที่เขาไม่ชอบแล้ว พี่ต่อจะจำแนกออกมาเป็นข้อๆ เลยว่ามีอะไรบ้างไม่ชอบเพราะอะไร แล้วพี่ต่อก็จะไม่ทำมันอีก

พี่ต่อบอกว่าข้อผิดพลาดโคตรมีประโยชน์ เพราะถ้าเราเรียนรู้จากมันและไม่ทำมันผิดซ้ำ กราฟชีวิตของเราจะพุ่ง อันนี้เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดในวันนั้นสำหรับผม เพราะผมรู้ตัวว่าไม่ค่อยกล้าสบตากับจุดอ่อนของตัวเองซักเท่าไหร่ เช่นไม่ค่อยกลับไปอ่านงานเขียนเก่าๆ และไม่กล้าอัดวีดีโอตัวเองตอนที่สอนหนังสือ แต่จากนี้ไปจะต้องลองดูซักหน่อยแล้วครับ

ขอบคุณพี่ต่ออีกครั้งที่สละเวลามาเล่าประสบการณ์และแนวทางการดำเนินชีวิตให้พวกเราฟัง และขอบคุณยุ้ย เพื่อน HR ที่เคยทำงานอยู่ฟีโนมีน่าและได้มารู้จักกันที่ทอมสันรอยเตอร์ ที่ช่วยประสานงานจนเชิญพี่ต่อสำเร็จนะครับ

—–

ป.ล. ปีแรกที่ผมเขียนบล็อก ผมมีเขียนถึงพี่ต่อในเรื่อง เงิน/ความสุข/คุณค่าด้วยนะครับ

ป.ล.2 “Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ” หนังสือเล่มแรกของผมวางแผงแล้ว หาซื้อได้ที่ซีเอ็ด นายอินทร์ B2S และศูนย์หนังสือจุฬาครับ

TGIM_HardCopies