ก้าวเล็กๆ ที่เปลี่ยนโลก

20150831_BabySteps - Copy

แป๊บๆ ปี 2558 ก็หมดไปสองในสามแล้ว

คนที่เมื่อต้นปีตั้ง New Year’s Resolutions เอาไว้ ตอนนี้คืบหน้าไปถึงไหนแล้วครับ?

บางคนตั้งใจว่าอยากจะพักผ่อนให้มากขึ้น นั่งสมาธิทุกเช้า ออกกำลังกาย ลดน้ำหนัก หรือออกไล่ล่าความฝัน

แต่หลังจากทำไปได้สักพัก หลายคนก็กลับมาสู่วังวนเดิม แล้วเราก็มานั่งรู้สึกแย่กับตัวเองว่า เรานี่ช่างไม่มีวินัยเอาเสียเลย

ทำไมการสร้างนิสัยใหม่ๆ หรือการเลิกนิสัยเก่าๆ มันช่างยากเย็นเหลือเกิน

และเราจะพอมีทางแก้ปัญหานี้ได้มั้ย?

คงต้องเริ่มถกกันที่ประเด็นว่า เหตุใดเวลาเราตั้งใจจะเปลี่ยนแปลงอะไร บ่อยครั้งเรามักจะทำไม่สำเร็จ คือแม็คก็คิดนะว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ แต่ก็แพ้ใจตัวเองทุกที!

แน่นอนครับ ส่วนหนึ่งอยู่ที่ความมุ่งมั่นและวินัยของเรา แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากๆ และเรามักจะละเลยหรือไม่เคยนึกถึง คือกลไกสมองของเราครับ

เนื้อหาต่อไปนี้นำมาจากหนังสือที่ผมเคยอ่านเมื่อหลายปีมาแล้ว ชื่อว่า One Small Step can Change Your Life โดย Robert Maurer

มนุษย์เรามีสมองอยู่สามส่วน ส่วนที่เก่าแก่และอยู่ชั้นในสุดคือสมองส่วนสัตว์เลื้อยคลาน (reptilian brain) ซึ่งทำหน้าที่ขั้นพื้นฐาน เช่นสั่งหัวใจให้เต้น สั่งให้เราง่วงนอนตอนกลางคืน และตื่นในตอนเช้า

สมองส่วนที่สองซึ่งอยู่ตรงกลาง คือสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (limbic brain) สมองส่วนนี้ควบคุมอารมณ์และอุณหภูมิของร่างกาย ในสมองส่วนนี้ยังมีต่อมที่เรียกว่า อมิกดาลา (Amygdala) เรียกชื่อยากนิดนึง แต่จำเอาไว้ให้ดีๆ เพราะต่อมนี้เป็นตัวเอกของเราครับ

สมองส่วนสุดท้ายคือ นีโอ คอร์เท็กซ์ (neo-cortex) เป็นสมองส่วนที่แยกมนุษย์ออกจากสัตว์เดรัจฉาน เพราะคณิตศาสตร์ ดนตรี ภาษา และความคิดสร้างสรรค์ล้วนแต่ต้องใช้สมองส่วนนี้

สมองทั้งสามส่วนทำงานไปด้วยกัน แต่ไม่ได้ทำงานเท่าเทียมกันเสมอไป

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เวลาเราตกอยู่ในสถานการณ์อันตรายต่อมอมิกดาลาที่อยู่ในสมองของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจะทำงานเต็มกำลัง และปิดกั้นไม่ให้สมองส่วนนีโอคอร์เท็กซ์ทำงาน

การทำงานของสมองในรูปแบบนี้ จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเราในสมัยที่ยังเป็นมนุษย์ถ้ำ เช่นเมื่อเราออกไปหาอาหารแล้วเจอเสือ เราคงไม่ต้องการมาพิจารณาว่า เสือตัวนี้ลายสวยดี หรือคำนวณว่าเสือน้ำหนักเท่าไหร่ (ซึ่งเป็นงานที่สมองส่วนนีโอคอร์เท็กซ์โปรดปราน)

สิ่งที่จำเป็นที่สุด ณ ขณะนั้น คือการเอาชีวิตรอดให้ได้ ดังนั้น ต่อมอมิกดาลาจะตื่นตัวเต็มที่ และจะตัดสินใจในเสี้ยววินาทีนั้นว่า เราควรจะสู้หรือจะหนี (fight or flight)

มาปัจจุบัน เราไม่ต้องเผชิญหน้ากับเสือตัวเป็นๆ อีกต่อไป แต่เราก็ยังเจอ “เสือ” ในรูปแบบอื่น เช่น เจ้านายอารมณ์ร้อน แก๊งซิ่ง แผ่นดินไหว และสถานการณ์ “แปลกปลอม” อื่นๆ ที่ทำให้ต่อมอมิกดาลาได้รับการปลุกอยู่บ่อยๆ

ประเด็นก็คือ เวลาเราพยายามเปลี่ยนแปลงนิสัย สมองของเราก็จะตีความว่านิสัยใหม่ที่เราจะพยายามมีนั้นเป็นสถานการณ์ “แปลกปลอม” หรือเป็นเสืออีกตัวเช่นเดียวกัน ดังนั้นต่อมอมิกดาลาจึงทำงานอีกครั้ง โดยช่วงแรกเราจะสู้ยิบตา (fight) เช่นออกกำลังกายวันละหนึ่งชั่วโมงทุกวัน แต่พอทำไปได้ซักสองสามวัน ร่างกายชักเริ่มล้า งานชักเริ่มเยอะ และเริ่มรู้สึกไม่อยากออกกำลังกายแล้ว เราจึงหยุดออกกำลังกายไปดื้อๆ (flight – หนีการออกกำลังกาย) ทั้งๆ ที่สมองส่วนตรรกะ (นีโอ คอร์เท็กซ์) ของเราก็รู้ทั้งรู้ว่าเราควรจะออกกำลังกายตามเป้าหมายที่วางไว้ แต่เผอิญการทำงานของอมิกดาลามันไปบดบังการทำงานของสมองส่วนตรรกะของเรา ความคิดแบบมีเหตุมีผลก็เลยแพ้อารมณ์ไปโดยปริยาย และนี่คือสาเหตุที่เรามักจะไม่ประสบความสำเร็จกับการสร้างนิสัยใหม่ๆ

แล้วจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร?

เมื่อต่อมอมิกดาลาเป็นตัวป่วน วิธีที่ดีก็คืออย่าไปเร้าให้ต่อมนี้มันทำงานครับ

อมิกดาลาจะไม่ถูกปลุก ถ้ามันไม่รู้สึกว่าเจอ “เสือ” หรือสิ่งแปลกปลอม

ดังนั้น วิธีทีเดียวที่จะเปลี่ยนนิสัยโดยไม่ให้สมองคิดว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม คือเราต้องนิสัยทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งเป็นไปตามหลักการไคเซน (Kaizen) ของญี่ปุ่นหรือที่ฝรั่งเขาเรียกว่า continuous improvement นั่นเอง

เคยมีกรณีศึกษาของหญิงชาวอเมริกันคนหนึ่งที่เป็นแม่หม้ายลูกติด ทำงานสองกะเพื่อจะได้มีเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว เลิกงานมาเหนื่อยๆ ก็เลยกินพิซซ่าและดูทีวีเพื่อเป็นการให้รางวัลตัวเอง

ผลก็คือน้ำหนักเธอขึ้น สุขภาพของเธอก็แย่ลงเรื่อยๆ สุดท้ายเมื่อไปหาหมอ หมอบอกว่าเธอต้องเริ่มออกกำลังกายแล้ว ซึ่งเธอก็ตอบหมอไปว่า เธอเคยพยายามมาหลายครั้งแล้ว ซื้อลู่วิ่งมาไว้ที่บ้านด้วยซ้ำ แต่ด้วยภาระต่างๆ ที่เธอมี กว่าจะกลับถึงบ้านเธอก็ไม่มีแรงกายและแรงใจเหลือที่จะออกกำลังกายแล้ว

คุณหมอจึงบอกกับเธอว่า หมอไม่ขออะไรมาก แค่อยากให้ขึ้นไปยืนบนลู่วิ่งเฉยๆ แค่วันละหนึ่งนาที คุณจะทำให้หมอได้ไหม

คุณผู้หญิงก็อึ้งสิครับ ต่อให้จะยุ่งหรือเหนื่อยแค่ไหน ยังไงทุกคนต้องมีเวลาพอที่จะยืนบนลู่วิ่งแค่วันละหนึ่งนาทีอยู่แล้ว สุภาพสตรีท่านนี้ก็เลยรับปากไปแบบงงๆ

สุดท้ายพอผ่านไปได้สองสัปดาห์ คนไข้ก็กลับมารายงานตัวกับคุณหมอว่าได้ขึ้นไปยืนบนลู่วิ่งวันละหนึ่งนาทีทุกวันไม่เคยขาดตามที่รับปากกับหมอไว้

คราวนี้หมอก็ให้เพิ่มเป็นยืนวันละสามนาทีแทน

และอีกสองสัปดาห์ เมื่อหมอเจอคนไข้ (ที่มาส่งการบ้านว่ายืนวันละสามนาทีได้แล้ว) หมอก็ขอให้เปลี่ยนเป็นเดินช้าๆ แทน ซึ่งเธอก็ทำตามนั้นทุกวันเช่นกัน

คุณผู้อ่านพอจะเห็นภาพแล้วใช่มั้ยครับ ทุกๆ สองสัปดาห์ เธอค่อยๆ เปลี่ยนจากยืนเป็นเดิน จากเดินเป็นวิ่ง จากหนึ่งนาที เป็นสามนาที เป็นห้านาที เป็นสิบนาที เป็นสิบห้านาที สุดท้ายเธอก็สามารถออกกำลังกายได้ทุกวัน วันละยี่สิบนาที สุขภาพเธอกลับมาดีขึ้น และหยุดนิสัยกินตอนดึกไปโดยปริยาย การออกกำลังกายได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเธอเหมือนกับการแปรงฟันและอาบน้ำ

การปรับอุปนิสัยทีละน้อยนั้น คือการเปลี่ยนแปลงที่จิ๊บจ๊อยเสียจนสมองไม่สามารถตรวจจับ (detect) ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นสิ่งแปลกปลอม ต่อมอมิกดาลาจึงไม่ถูกเร้าให้ทำงาน และอาการ Fight or Flight (สู้หรือหนี) จึงไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป

หลักการนี้สามารถใช้กับการเปลี่ยนนิสัยอื่นๆ ได้อีกมากมายครับ เพียงแค่เริ่มต้นด้วยก้าวที่เล็กที่สุดเท่าที่จะทำได้ เล็กซะจนที่ว่าไม่มีทางที่คุณจะทำไม่ได้ (Make it so easy, it is impossible to fail)

อยากนอนตื่นเช้าขึ้น? ตั้งเวลานาฬิกาให้ปลุกเร็วขึ้นห้านาที

อยากนั่งสมาธิ? เริ่มจากการรับรู้ลมหายใจตัวเองวันละสิบห้าวินาที

อยากกินข้าวให้น้อยลง? ตักข้าวคืนหม้อไปหนึ่งช้อน

สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องทำต่อเนื่องทุกๆ วัน และต้องไม่ใจร้อน

โดยส่วนตัวผมคิดว่าเราควรจะทำเรื่องเดิมๆ อย่างน้อยหนึ่งสัปดาห์ก่อนแล้วจึงค่อยเพิ่มปริมาณ เช่นถ้าตอนนี้ตื่นเจ็ดโมงเช้า ช่วงสัปดาห์แรกก็ให้ตั้งนาฬิกาปลุกเป็น 6:55 am สัปดาห์ที่สองเป็น 6:50 am ด้วยวิธีนี้ ภายในสามเดือน คุณก็จะตื่นนอนตอนหกโมงเช้าไปโดยปริยาย

แต่ถ้าเราใจร้อน วันแรก 6:55 วันที่สองตั้งเป็น 6:30 เลย โอกาสสูงมากที่ต่อมอมิกดาลาจะอาละวาด และการเปลี่ยนแปลงนิสัยก็จะล้มเหลวตั้งแต่อยู่ในมุ้ง

ใจเย็นๆ ไปช้าๆ ถ้าเราหันหน้าถูกทางและเดินตามเป้าหมายทุกวัน ยังไงก็ต้องไปถึงแน่นอนครับผม

—–

ขอบคุณข้อมูลจากหน้งสือ One Small Step Can Change Your Life by Robert Maurer

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก Show First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

ชีวิตคือของขวัญ

20150830_Present
ชีวิตไม่เคยให้ความมั่นคงกับใคร เพราะความมั่นคงเป็นสิ่งน่าเบื่อ

ถ้ารู้ว่าในกล่องของขวัญมีอะไร สิ่งนั้นก็ไม่ใช่ของขวัญ มันจะกลายเป็นแค่สิ่งหนึ่ง อาจเป็นสิ่งจำเป็น เป็นสิ่งมีค่า แต่มันจะไม่ใช่ของขวัญ ท่านได้ทำลายของขวัญด้วยความรู้ของท่านเอง และความอัศจรรย์ในชีวิตของท่านก็ถูกทำลายไปด้วย ชีวิตจะไม่ยอมให้เกิดเรื่องเลวๆ เช่นนี้กับท่านแน่ๆ มันโหดร้ายเกินไป แต่นี่คือสิ่งที่มนุษย์ไม่เข้าใจ มนุษย์พยายามอย่างยิ่งที่จะหาความมั่นคง แน่นอน และตายตัวให้ชีวิต

– ปราชญ์ปลาเป็น
หนังสือ วิถีปลาเป็น หน้า 80 ประพันธ์โดย พศิน อินทรวงค์

—–

ใครที่อายุซัก 30 ปีขึ้นไป น่าจะเคยได้ดูหนังเรื่อง Forrest Gump ที่ว่านำแสดงโดย ทอม แฮงค์

ฟอเรสท์เป็นเด็กไอคิวต่ำแต่มีจิตใจสูงส่ง โชคชะตาพาฟอเรสท์ให้ได้พบเจอกับคนอย่างจอห์นเลนนอนและประธานาธิบดีจอห์นเอฟเคนเนดี้ ได้ไปเป็นทหารสงครามเวียดนาม เป็นนักปิงปองทีมชาติ เป็นเจ้าพ่อฟาร์มกุ้ง เป็นคนสร้างกระแสออกวิ่งไปทั่วประเทศ ฯลฯ

หนึ่งในคำคมในหนังเรื่องนี้ที่ถูกอ้างอิงบ่อยที่สุดก็คือ:

Life was like a box of chocolates. You never know what you’re gonna get.- ชีวิตเหมือนกล่องช็อคโกแล็ต คุณไม่มีวันรู้เลยว่าคุณจะได้ชิมรสอะไรบ้าง

หากโลกนี้มีแต่ความมั่นคงและไม่ปรวนแปร เด็กไอคิวต่ำอย่างฟอเรสท์กั๊มคงไม่มีวันได้รับประสบการณ์ดีๆ มากมายเช่นนี้

—–

อาจารย์ท่านหนึ่งเคยบอกผมว่า เขาจะมีแผนการสำหรับตัวเองทุกๆ 7 ปี

ว่าอีก 7 ปีเขาจะทำอะไร และอีก 14 / 21 / 28 ปีเขาจะอยู่จุดไหน

แต่ผมไม่แน่ใจว่า ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน แผนการ 7 ปีมันยังใช้งานได้อยู่รึเปล่า

ในเดือนที่ผ่านมา ใครจะไปคิดว่าจะมีระเบิดครั้งใหญ่ใจกลางกรุงเทพ และหุ้นจะตกเป็นร้อยจุดภายในเวลาแค่ไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์

ความเปลี่ยนแปลงไม่ได้เป็นเรื่องดีหรือไม่ดีในตัวมันเอง

มันจะเป็นเรื่องไม่ดีในสายตาของคนที่ไม่อาจยอมรับความจริงที่ไม่ถูกใจเรา (ซึ่งผมเองก็คงยังเป็นหนึ่งในคนกลุ่มนี้)

แต่สำหรับคนที่เป็นผู้ใหญ่มากพอที่จะอยู่กับความไม่แน่นอนได้อย่างเบิกบานและมีสติ

ไม่ว่าช็อคโกแล็ตที่หยิบเข้าปากจะรสขมหรือรสหวาน ก็ถือเป็น “ของขวัญชีวิต” สำหรับเขาทั้งนั้น

—–

ขอบคุณหนังสือ วิถีปลาเป็น ประพันธ์โดย พศิน อินทรวงค์ สำหนักพิมพ์อมรินทร์ธรรมะ

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก Show First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

ทำไมพระถึงฉันเนื้อสัตว์ได้?

20150830_MonksEatMeat

ปี: 2001

สถานที่: เมืองโลซาน สวิตเซอร์แลนด์

“นิพพานคืออะไร” นาตาลี เอ่ยปากถาม

ผมแบมือให้นาตาลีดู “ถ้าความสุขคือมือที่หงาย”

จากนั้นก็พลิกมือกลับ “และความทุกข์มือที่คว่ำ”

“นิพพานก็คือไม่มีมือ”

ผมพูดจบด้วยความภูมิใจเล็กน้อยที่จำคำอธิบายเรื่องนิพพานจากที่ไหนซักแห่งมาเล่าให้เพื่อนฝรั่งตาน้ำข้าวชาวคริสตังฟัง

ช่วงนั้นผมได้ทุน IAESTE ไปฝึกงานที่เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้รู้จักกับนาตาลี พอผมบอกนาตาลีว่าอยากไปเที่ยวโลซาน นาตาลีก็บอกว่ามาพักบ้านพ่อแม่เธอก็ได้ (ตอนนั้นนาตาลียังอยู่กับพ่อกับแม่) บทสนทนาข้างต้นจึงเกิดขึ้นในค่ำวันแรกที่ผมไปนอนค้างบ้านเธอ

ผมอธิบายเธอต่อเรื่องศีล 5 แล้วนาตาลีก็ถามว่า

“ศีลข้อ 1 บอกว่าห้ามฆ่าสัตว์ แต่เธอก็ยังกินเนื้อสัตว์อย่างนี้มันไม่บาปเหรอ”

ถามอย่างนี้ไปไม่ถูกเลยแฮะ แต่ก็ตอบไปว่า

“เรากินก็จริง แต่เราไม่ใช่คนฆ่า ดังนั้นบาปจึงตกอยู่กับคนที่ฆ่าสัตว์ (butcher) ต่างหาก”

นาตาลีก็ท้วงว่า “อ้าว อย่างนี้มันไม่ดูหน้าไหว้หลังหลอกไปหน่อยเหรอ (hypocritical)”

ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ผมก็แอบเห็นด้วยอยู่นิดหน่อย แต่ก็จนปัญญาไม่รู้จะตอบเธอในเรื่องนี้อย่างไร สุดท้ายก็เลยต้องเปลี่ยนไปคุยเรื่องอื่นกันแทน

—–

ปี: ก่อนเริ่มพุทธศักราช

สถานที่: พระเวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์

พระเทวทัตพร้อมด้วยพระโกกาลิกะ พระกฏโมรกติสสกะ พระขัณฑเทวีบุตร และพระสมุทททัตต์ เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลขอวัตถุ ๕ ประการ ดังนี้ (๑) ภิกษุควรอยู่ป่าตลอดชีวิต (๒) ภิกษุควรเที่ยวบิณฑบาตตลอดชีวิต (๓) ภิกษุควรถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต (๔) ภิกษุควรอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต (๕) ภิกษุไม่ควรฉันปลาและเนื้อ

พระพุทธตรัสห้ามว่า

อย่าเลยเทวทัตต์ ภิกษุใดปรารถนาก็จงอยู่ป่า ภิกษุใดปรารถนาก็จงอยู่ บ้าน ภิกษุใดปรารถนาก็จงเที่ยวบิณฑบาต ภิกษุใดปรารถนาก็จงยินดีการ นิมนต์ ภิกษุใดปรารถนาก็จงถือผ้าบังสุกุล ภิกษุใดปรารถนาก็จงยินดีผ้า คฤหบดี เราอนุญาตรุกขมูล(การอยู่โคนไม้)ตลอด ๘ เดือน(นอกฤดูฝน) เราอนุญาตปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์ด้วยอาการ ๓ อย่าง คือ (๑)ไม่ได้เห็น (๒)ไม่ได้ยิน (๓)ไม่ได้รังเกียจ

กล่าวคือ พระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามพระภิกษุไม่ให้ฉันเนื้อ ส่วนรายละเอียดและการอภิปรายอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความนี้ของวิทยาลัยศาสนศึกษาครับ

—–

ปี: 2011

สถานที่: นิด้า

ผมเรียนวิชาการแปล (Translation) กับอาจารย์พัชรี โภคาสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่สอนหนังสือได้สนุกที่สุดคนหนึ่ง ถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์การเรียนคณะภาษาและการสื่อสารที่นี่เลยทีเดียว

อาจารย์เล่าให้ฟังว่า คราวหนึ่งฝรั่งเคยมาถามอาจารย์ว่า “พระภิกษุ” นี่คือ “Beggar” ใช่มั้ย

ผมฟังแล้วจี๊ดเลย

แต่ถ้าไปเปิดคำแปลดูจริงๆ คำว่าภิกษุ นั้นแปลว่า “ผู้ขอ” จริงๆ

ภิกษุ เป็นคำภาษาสันสกฤต ส่วนภิกขุ เป็นคำภาษาบาลี เป็นนักบวชชายในพระพุทธศาสนา แปลตามคำศัพท์ว่า ผู้ขอ คือ สละโลก สละเคหสถาน และสละทรัพย์สมบัติ เพื่ออุทิศตนศึกษาปฏิบัติและเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ดำรงชีวิตอยู่ด้วยปัจจัยที่ผู้อื่นให้ คนจำนวนมากในสมัยพุทธกาลได้ออกบวชถือเพศบรรพชิต มิได้ประกอบอาชีพ อยู่ได้ด้วยปัจจัยที่ผู้เลื่อมใสนำมาให้ ก็ถือว่าเป็นผู้ขอเหมือนกัน แต่ไม่เรียกว่าภิกษุ เรียกว่า ดาบส บ้าง มุนี บ้าง ฤาษี บ้าง ส่วนไทยใช้คำเรียกนักบวชชายในพระพุทธศาสนา เช่น พระภิกษุ พระสงฆ์ พระภิกษุสงฆ์

อาจารย์พัชรีอธิบายให้ฝรั่งฟังว่า ภิกษุในศาสนาพุทธ มีความสัมพันธ์กับฆราวาสไม่ใช่ในฐานะขอทาน แต่ในฐานะ “เนื้อนาบุญ”

ผมได้ยินคำว่า “เนื้อนาบุญ” มาตั้งนาน แต่ไม่เคยนึกถึงความหมายของมันเลย (ท่อนสุดท้ายของบทสวดอิติปิโสฯ ที่ว่า  อะนุตตะรัง ปุญญะเขตตัง โลกัสสาติ นั้นแปลว่า “เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า”)

แต่พอฟังคำของอาจารย์พัชรี จึงเห็นภาพตามว่า พระภิกษุ ก็คือบุคคลที่ฆราวาสสามารถหว่านเมล็ดบุญด้วยการตักบาตรและถวายสังฆทาน และหากภิกษุนั้นปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เมล็ดบุญที่ฆราวาสอย่างเราๆ หว่านก็จะออกรวงงดงาม

ภิกษุจึงต้องพึ่งพาฆราวาส (เพื่อมีอาหารยังชีพ) และฆราวาสก็ต้องพึ่งพาภิกษุ (เพื่อการทำบุญ) ดังนั้นการแปลคำว่าภิกษุว่า beggar จึงไม่ถูกต้องในบริบทของสังคมพุทธศาสนา

—–

ปี 2012

สถานที่: ที่บ้าน

ผมนั่งดูรายการอะไรซักอย่าง แล้วจำได้ว่าท่านว. วชิรเมธี มาตอบคำถามคล้ายกับที่นาตาลีเคยถามผมเมื่อปี 2001 ว่าทำไมพระถึงฉันเนื้อได้

ท่านว.อธิบายว่า เพราะพระต้องหาอาหารจากการบิณฑบาตร ดังนั้นจึงควรจะฉันอะไรก็ตามที่ฆราวาสถวายให้

นั่นคือ ในฐานะ “ผู้ขอ” ภิกษุไม่ควรจะเรื่องมาก ตราบใดที่เนื้อที่คนถวายให้ไม่ได้อยู่ในข้อห้ามทางวินัย (เช่นเนื้องู หรือเนื้อมนุษย์) ภิกษุก็ควรรับไว้ เพราะอาหารมีไว้เพื่อประทังชีวิต ไม่ใช่เพื่อความยินดีพอใจ

และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ พระพุทธเจ้าเห็นว่าร่างกายของคนเราไม่เหมือนกัน บางคนกินแต่ผักตลอดชีวิตก็อยู่ได้ แต่บางคนกินแต่ผักจะไม่มีกำลัง จะต้องบริโภคเนื้อสัตว์ด้วย

—–

ปี 2015

สถานที่: เมืองซุก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

“จำนาตาลีที่อยู่เมืองโลซานได้รึเปล่า” ผมถามมิกิ

มิกิเป็นชื่อเล่นของไมเคิล เพื่อนชาวสวิสที่เคยได้ทุน IAESTE มาฝึกงานที่เมืองไทยเมื่อปี 2004 และตอนที่ผมไปสวิสเมื่อ 14 ปีที่แล้วก็ได้มิกินี่แหละเป็นพี่เลี้ยง พฤษภาคมปีนี้ที่ผมพาแฟนไปเที่ยวยุโรปก็เลยได้ไปพักที่บ้านเขา

ใช้เวลาคิดซักพัก มิกิก็นึกนามสกุลของนาตาลีออก

“เหมือนนาตาลีจะไม่ค่อยเล่นเฟซบุ๊คนะ เพราะเราเองก็ไม่ได้คุยกับนาตาลีนานมากแล้ว” มิกิบอก

ผมเอาชื่อและนามสกุลของนาตาลีไปหาในเฟซบุ๊คก็เจอจริงๆ เลยส่งเมสเสจไปหาเขา

ผ่านไปสามเดือนกว่าแล้ว ก็ยังไม่มีคำตอบจากนาตาลี สงสัยไม่ค่อยเล่นเฟซบุ๊คจริงๆ นั่นแหละ

ไว้พรุ่งนี้ลองทักไปอีกทีดีกว่า

—–

ขอบคุณข้อมูลจาก วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ เว็บธรรมจักร

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก Show First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่