7 ทำไมในโอซาก้า

ทำไมรถยนต์ต้องมีหลายชิ้นส่วน

20191110_143910

189627

ทำไมร้านหนังสือเก่าจะต้องมีไรฝุ่น

20191110_145522

ทำไม CD จะต้องมีปกเดียว

20191110_184024

ทำไมปกหนังสือต้องดูสะอาดตา

189629

ทำไมชิงช้าสวรรค์ต้องดูไม่ปลอดภัย

20191110_191941

ทำไมร้านกาแฟต้องนั่งห่างกัน

75456881_10157819518342769_2034126004926021632_n

ทำไมตะเกียบต้องตรง

20191110_172102

บทเรียนจากการขับรถเที่ยวฮอกไกโด

20180728_hokkaido

เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ผมกับครอบครัวไปขับรถเที่ยวฮอกไกโดมาครับ

การเที่ยวครั้งนี้ค่อนข้างฉุกละหุก ตอนแรกกะว่าช่วงวันแม่จะไปเที่ยวไต้หวันกับแฟน แต่พอรู้ว่าไต้หวันน่าจะร้อนมาก เลยเปลี่ยนแผนไปเที่ยวญี่ปุ่น ซึ่งเมืองเดียวที่จะอากาศยังเย็นอยู่ในช่วงนี้ก็คือฮอกไกโด แต่พอได้คุยกับเพื่อน เพื่อนก็บอกว่าถ้าไปตอนเดือนสิงหาก็จะไม่ได้เห็นทุ่งลาเวนเดอร์แล้วนะ เราเลยตัดสินใจเลื่อนทริปมาเป็นกลางเดือนกรกฎาคมแทน และเนื่องจากต้องใช้เวลาเที่ยวยาวขึ้น เลยอยากจะพาลูกไปด้วยทั้งสองหน่อ รวมถึงชวนพี่ชายแฟนไปด้วยอีกคน ตัดสินใจวันอาทิตย์ วันอังคารก็พาลูกไปทำพาสปอร์ต วันศุกร์จองตั๋วและโรงแรม วันจันทร์ทำใบขับขี่สากล และศุกร์ถัดมาก็เดินทางกันเลย!

และนี่คือสิ่งละอันพันละน้อยที่ได้เรียนรู้จากการไปเที่ยวฮอกไกโดครับ

ถ้าไปเที่ยวฮอกไกโดกับเด็กเล็กควรเช่ารถขับ – การไปเที่ยวกับลูกลดสปีดลงอย่างน้อย 50% ลูกสาวคนโตของผมอายุเกือบสามขวบ ส่วนคนเล็กอายุประมาณ 7 เดือน เจ้าคนเล็กไม่เท่าไหร่ แต่คนโตไม่ค่อยสบายเลยงอแงเป็นพิเศษ ทำให้คุมเวลาไม่ค่อยได้แถมพอเขาเหนื่อยก็จะร้องให้อุ้มบ่อยๆ โชคดีที่รอบนี้เราเช่ารถขับ ทำให้ลดความจำเป็นที่ต้องอุ้มลงไปได้เยอะ ถ้าไม่มีรถแล้วต้องเดินทางด้วยรถไฟและเดินเยอะๆ น่าจะเหนื่อยหนักกว่านี้ อ้อ เราเอารถเข็นกับเป้อุ้มเด็กไปด้วย ช่วยชีวิตได้เยอะมากครับ

ควรใช้ Hokkaido Expresssway Pass ทางด่วน/มอเตอร์เวย์ที่ญี่ปุ่นจะมีสิ่งที่เรียกว่า ETC Card ทำหน้าที่คล้ายๆ กับ Easypass บ้านเรา ถ้าแบบปกติเราจะสามารถสั่ง ETC Card มาใส่ไว้ที่รถที่ขับ แล้วมันจะคิดเงินสะสมไปเรื่อยๆ พอเราส่ง ETC Card คืนมันถึงจะคำนวณยอดเงินมาตัดบัตรให้เรา แต่ถ้าเป็น Hokkaido Expressway Pass เราจะจ่ายเหมาครั้งเดียวจบ  Expressway Pass นี้เปิดให้ใช้ได้เฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่านั้น คนญี่ปุ่นเองใช้ไม่ได้ (เป็นนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบเดียวกับ JR Pass ที่ให้ซื้อเฉพาะชาวต่างชาติเท่านั้น) ผมซื้อแบบ 6 วัน 7200 เยน ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะแค่จากสนามบินเข้าเมืองก็เสียค่าทางด่วนพันกว่าเยนแล้ว ถ้าผมจ่ายแบบธรรมดา ทั้งทริปนี้น่าจะโดนค่าทางด่วนไปไม่ต่ำกว่า 20,000 เยนหรือ 6,000 บาท

เผื่อเวลาไว้เยอะๆ – เที่ยวโตเกียวหรือเกียวโตนั้นใช้เวลาไม่มากเพราะทุกอย่างอยู่ใกล้กันหมด แต่กับฮอกไกโดไม่ใช่อย่างนั้น จากซัปโปโรไปฮาโกะดาเตะ (เมืองที่มีวิวสวยติดอันดับโลก) ใช้เวลาขับรถเกือบสี่ชั่วโมง หรือถ้าเราจะขับไปดูทุ่งลาเวนเดอร์ ก็ต้องมีอย่างน้อยสองชั่วโมงครึ่ง แถมถ้าเราเอาเด็กเล็กไปด้วย สปีดก็จะตกลงไปอีกอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง ดังนั้นให้วาง agenda ไว้หลวมๆ และเผื่อใจไว้เลยว่าวันหนึ่งอาจจะได้เที่ยวแค่ไม่กี่ที่

เมื่อไม่เล่นมือถือ เราก็ได้เที่ยวจริงๆ เนื่องจากต้องขับรถและดูแลลูกสองคน ผมกับแฟนจึงแทบไม่ได้อัพเดตรูปขึ้นเฟซบุ๊คเลย ซึ่งก็แอบมีเสียดายอยู่บ้างที่ไม่ได้อวดชาวโลก แต่พอผ่านไปสองสามวันก็เริ่มชินและเริ่มติดใจ เพราะรู้สึกว่าเมื่อไม่ได้อัพรูป เราก็ไม่ต้องมาคอยเช็คว่ามีคนมากดไลค์รูปเราแล้วเท่าไหร่ ผมเลยได้อยู่ที่ญี่ปุ่นทั้งตัวและใจ ไม่ใช่ตัวอยู่ญี่ปุ่นขณะที่ใจแส่ส่ายคอยติดตามยอดไลค์ในมือถือจากเพื่อนที่เมืองไทย

อาหารญี่ปุ่นไม่ได้ว้าวขนาดนั้น(แล้ว) ผมมาญี่ปุ่นครั้งแรกตอนปี 2011 หรือประมาณ 7 ปีที่แล้ว ซึ่งร้านอาหารญี่ปุ่นที่คนกินทั่วบ้านทั่วเมืองสมัยนั้นก็คือฟูจิ พอได้มากินของต้นตำรับที่ญี่ปุ่นจึงรู้สึกได้ถึงความแตกต่างและรู้สึกว้าวไปกับมัน แต่กรุงเทพปี 2018 มีร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นมามากมาย และหลายๆ ร้านคุณภาพปลาก็โอเคมากๆ พอไปกินร้านที่ญี่ปุ่นเลยไม่ได้รู้สึกว่าว้าวเท่าแต่ก่อนแล้ว อันที่จริงคืนวันแรกที่ผมไปกินซูชิจานหมุนในเมืองฮาโกะดาเตะ ยังรู้สึกว่าคุณภาพแย่กว่าร้านที่เราไปกินประจำด้วยซ้ำ และอีกสามคืนถัดมาไปกินในร้านอาหารโรงแรม คนนั่งเต็มร้าน ราคาก็แพงแต่ไม่ได้รู้สึกประทับใจอะไร ที่กินแล้วรู้สึกว่าอร่อยและคุ้มค่าที่สุดคือซูชิแพ็คใส่ถาดพลาสติกจากซูเปอร์มาร์เก็ต Coop ที่พอตกเย็นจะลดราคาเหลือเพียง 300 เยน หรือ 90 บาทแต่มีซูชิกว่า 20 คำ แถมแต่ละคำก็ยังรู้สึกว่ายังสดใหม่และอร่อยกว่ากินที่ร้านเสียอีก

เทคโนโลยีตามทันกันเหลือแค่คนจะตามทันกันมั้ย เทคโนโลยีในระดับ consumer market ไม่รู้สึกว่ามีอะไรที่คนไทยจะหาซื้อหรือนำเข้าไม่ได้ ดังนั้นเครื่องไม้เครื่องมือเราจึงตามทันกันหมดทั่วทั้งโลก สิ่งเดียวที่จะสร้างความเหลื่อมล้ำ คือวัฒนธรรมของคนในพื้นที่นั้นๆ มากกว่า คำถามสำคัญคือเรามีความเติบโตทางความคิดและการบริโภคเทคโนโลยีในระดับไหน ถ้าเรายังเติบโตไม่พอ เราก็คงไม่อาจใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพได้ทัดเทียมกันบ้านเมืองที่วัฒนธรรมการใช้เทคโนโลยีเขาก้าวหน้าไปกว่าเรา

ใช้ Sim2Fly สะดวกกว่าใช้ pocket wifi – ก่อนที่จะเดินทางผมก็คิดอยู่ว่าเราจะต้องมีอินเตอร์เน็ตไหม และถ้ามีควรจะใช้แบบไหนดี ตอนแรกผมคิดจะใช้ pocket wifi เพราะมีเน็ตให้ใช้ได้ไม่อั้น แต่เพื่อนที่เคยไปกับครอบครัวแนะนำให้ใช้ Sim2Fly เพราะราคาไม่แพง ก็เลยตัดสินใจตามนั้น ผม แฟน และพี่ชายแฟนเลยซื้อติดเครื่องไว้คนละ 1 ซิม ซึ่งสะดวกมาก ยิ่งเราไม่ค่อยได้เล่นมือถือด้วย จึงมีดาต้าเหลือเฟือ และประโยชน์อีกอย่างที่นึกไม่ถึงมาก่อนก็คือเมื่อเรามีเหตุให้ต้องแยกกันชั่วคราว (เช่นจอดรถส่งทุกคนลงในย่านช็อปปิ้ง ส่วนผมไปวนหาที่จอดรถ) เราก็ยังติดต่อกันได้ตลอด ซึ่งถ้าเราใช้ pocket wifi ที่มีอยู่เครื่องเดียวย่อมจะไม่สามารถติดต่อกันแบบนี้ได้

ทำประกันเดินทางจะได้อุ่นใจ ผมเคยอ่านเจอว่าค่ารักษาพยาบาลญี่ปุ่นค่อนข้างแพงมาก ก่อนออกเดินทางผมเลยซื้อประกันกับ Tokio Marine ทั้งครอบครัวราคาพันกว่าบาทเท่านั้น ถือว่าคุ้มมากเพราะมีเหตุให้ต้องได้ใช้จริงๆ

เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน ให้มองหาตำรวจเป็นอันดับแรก ในวันที่ 3 ของการอยู่ที่ฮอกไกโด ะหว่างที่อยู่ที่ตรอกราเม็งที่ฮอกไกโด ใกล้รุ่งลูกคนเล็กของเราตกลงจากรถเข็น หน้าโดนตะแกรงคูน้ำบาดจนเลือดออกและจมูกบวมตุ่ย ผมอุ้มลูกเข้าไปถามเจ้าของร้านราเม็งว่าแถวนี้มีหมอมั้ย เขาทำหน้าตกใจและบอกให้ผมไปหาตำรวจก่อน โดยอธิบายว่าอยู่ห่างออกไปอีกสองบล็อค เมื่อเดินหาจนเจอแล้วผลักประตูเข้าไปในสถานีตำรวจ พวกเราก็พบตำรวจอย่างน้อย 5-6 นายอยู่ในนั้น ท่าทีตกใจกว่าเราอีก สื่อสารกันซักพักเขาก็บอกว่าจะเรียกรถพยาบาลมาให้ ไม่เกิน 15 นาทีรถพยาบาลก็มาถึง เราขึ้นไปนั่งบนรถและบรุษพยาบาลก็สอบถามว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นได้อย่างไร เด็กหมดสติมั้ย อายุเท่าไหร่ ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดนี้เขาทำโดยการพูดภาษาญี่ปุ่นลงในแอปบนไอแพดซึ่งแปลเป็นไทยให้เราอ่านกันอีกที จากนั้นเขาก็ตัดสินใจพาเราไปส่งโรงพยาบาลเมืองข้างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องผู้ป่วยเด็กโดยเฉพาะ สรุปใกล้รุ่งไม่เป็นอะไรมาก กลับบ้านได้และวันรุ่งขึ้นก็ไปเที่ยวต่อได้เลย แม้ไม่มีใครอยากให้เกิดแต่ก็ถือว่าโชคดีที่ลูกเราปลอดภัยแถมยังได้ประสบการณ์นั่งรถพยาบาลในต่างแดนอีกด้วย

ไม่เขียนบล็อกก็ไม่เห็นเป็นไร ตอนแรกผมตั้งใจจะทำเหมือนตอนไปยุโรป ลอนดอน อินเดีย และมาเลเซีย คือเขียนบล็อกทุกวันเพื่อเล่าถึงการเดินทางของตัวเอง แต่แล้วก็ได้พบว่า กว่าจะพาลูกเข้านอนได้ก็ดึกแล้ว แม้จะพอมีแรงเหลือ แต่พรุ่งนี้ผมก็ต้องขับรถอีก หากเขียนบล็อกจนดึกดื่นและนอนไม่พอ ก็จะกลายเป็นว่าผมกำลังรับผิดชอบต่อลูกเพจ แต่ไม่รับผิดชอบต่อลูกตัวเอง ดังนั้นเมื่อพ้นวันที่สองของการเดินทางและก้าวข้ามความรู้สึกผิดได้ ก็เลยตัดสินใจที่จะไม่เขียนบล็อกตลอดทริปนี้ ซึ่งมันก็ทำให้ผมสบายใจอย่างประหลาด เพราะเป็นการเที่ยวที่ไม่ต้องคอยกังวลว่าจะเก็บเรื่องอะไรไปเขียนในคืนนี้ดีนะ ยังไงผมก็ต้องขอโทษที่ทำให้บางคนรอคอยและคิดถึง เอาเป็นว่าถ้าคราวหน้าจะไปเที่ยวไหนไกลๆ อีก จะรีบแจ้งแต่เนิ่นๆ นะครับ 🙂

ส่วนถ้าใครอยากอ่านรายละเอียดการเดินทางแบบเต็มๆ ก็เข้าไปดูได้ที่ https://www.wongnai.com/travel/trips/a0bf6c2dc8ca4013918b44c0821c5861  หรือถ้าอยากจะเขียนทริปของตัวเองก็ทำได้เช่นกันที่ https://www.wongnai.com/me/trips ครับ

อานนฯ อินมาเลย์ ตอนที่ 3

20180311_anoninmalay3

พฤหัสฯ ที่ 8 มีนาคม 7 โมงครึ่ง

ตื่นเช้ามาด้วยความรู้สึกว่านอนอิ่มที่สุดในรอบหลายวัน วันนี้ตั้งใจกับแฟนเอาไว้แล้วว่าจะไม่ทานอาหารเช้าที่โรงแรม โดยจะหาอะไรกินที่สตาร์บัคส์แทน (ฟังดูไม่ค่อยตื่นเต้นเท่าไหร่ แต่คุณูปการของแบรนด์ระดับโลกอย่าง Starbucks, McDonald’s หรือแม้กระทั่ง 7-Eleven ก็คือมันได้มอบความอุ่นใจเรื่องมาตรฐาน ซึ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับคนที่เดินทางมา business trip เพียงไม่กี่วันและไม่มีเวลามาผจญภัยกับอาหารใหม่ๆ มากมายนัก)

ผมลงมาซื้อมอคค่าเย็น ครัวซองอัลมอนด์ และมัฟฟิ่นสำหรับให้แฟน ส่งแฟนขึ้นแท๊กซี่เสร็จแล้วผมก็เดินกลับไปที่ห้างเดิมที่กินข้าวเย็นเมื่อวานนี้ แต่รอบนี้เลือกที่จะนั่งร้านที่มีคนเยอะที่สุดคือร้าน Old Town White Coffee ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง ก๋วยเตี๋ยวที่สั่งมารสชาติได้มาตรฐาน แม้จะไม่ว้าวแต่ก็เป็นมื้อที่กินแล้วมีความสุข

กลับขึ้นห้อง ทำงานได้นิดเดียวก็ต้องเริ่มเก็บข้าวของเพื่อเตรียมเช็คเอาท์ ฝากกระเป๋าเดินทางไว้กับเจ้าหน้าที่เสร็จแล้วผมก็มานั่งทำงานต่อที่ล็อบบี้โรงแรม ซึ่งจะว่าไปก็ทำงานสบายกว่าในห้องนอนเยอะเลย เพราะอากาศถ่ายเทกว่าและนั่งทำงานที่โซฟาก็เมื่อยน้อยกว่าที่โต๊ะเครื่องแป้งหรือบนเตียง

ประมาณบ่ายสองมีอาการปวดท้องเบา เดินดูรอบๆ ล็อบบี้ในโรงแรมกลับไม่เจอห้องน้ำเลย จึงตัดสินใจเก็บคอมใส่เป้และไปเข้าห้องน้ำในห้างที่กินมื้อเช้าแทน

ห้างที่ดูเงียบๆ เมื่อตอนเช้า แต่เวลาบ่ายสองกลับดูมีชีวิตชีวาขึ้นมาก ร้าน Subway มีคนต่อคิวจนล้นออกมาหน้าร้าน จนคิดได้ว่าเมื่อวานผมเองน่าจะมาหาที่นั่งทำงานแถวนี้แทนที่จะทนอุดอู้อยู่แต่ในห้องนอน

เข้าห้องน้ำเสร็จสรรพ ยังไม่ค่อยหิวเท่าไหร่จึงลองเดินไปห้างที่มีซูเปอร์มาร์เก็ต คนบางตากว่าห้างเมื่อกี้เพราะตึกนี้ไม่มีร้านอาหารเลย เจอป้ายบอกว่ามีร้านราเมงจากฮอกไกโดอยู่อีกตึกจึงตัดสินใจเดินไปดู ปรากฎว่าร้านราเมงไม่มีลูกค้าแม้แต่คนเดียว (ขายราเมงชามละ 250 บาทซึ่งถือว่าแพงมากเมื่อเทียบกับร้านอื่นๆ ที่ราคาจานละ 80-120 บาท) แต่ในบริเวณดียวกันนั้นผมได้เจอร้าน The Owls เป็นร้านคาเฟ่ที่เสิร์ฟเมนูเก๋ๆ ทั้งคาวหวาน อาหารแนวฟิวชั่น แต่งร้านโมเดิร์นสว่างตา แม้ราคาจะสูงเกือบๆ เท่าร้านราเมงแต่คนกลับเต็มร้าน ผมเลยตั้งใจว่าตอนเย็นถ้าแฟนเลิกงานไม่ค่ำเกินไปนักจะพามากินร้านนี้ก่อนบินกลับไทย

บ่ายสามโมงกว่า ผมเดินกลับไปที่ห้างเดิม เข้าร้านที่อยู่ใกล้ๆ กับร้าน Old Town กะว่าจะหาอะไรกินรองท้องเป็นสกาเก็ตตี้หนึ่งจานกับเฟรนช์ฟราย ปรากฎว่าเฟรนช์ฟรายปริมาณเยอะมาก กว่าจะกินหมดเล่นเอาจุกทีเดียว

แฟนกลับมาถึงโรงแรมตอน 18.15 จึงพาไปร้าน The Owls ที่หมายตาเอาไว้ สั่งสปาเก็ตตี้ซีฟู้ด สลัดประจำร้าน เฟรนช์ฟราย (อีกแล้ว) และช็อคโกแล็ตร้อน ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง เพราะแฟนบอกว่าอยู่มาสองวัน นี่คือมื้อที่กินแล้วมีความสุขที่สุด

กินเสร็จแล้วรีบเดินกลับโรงแรมเพื่อเอากระเป๋าและเรียกแท๊กซี่ โดยคราวนี้เราลองเรียก Uber ดู ซึ่งก็ไม่มีปัญหาอะไร เพียง 12 นาทีรถก็มารับ คนขับน่าจะวัยห้าสิบต้นๆ ผมขาวโพลน พูดภาษาอังกฤษคล่องมาก เขาบอกว่าเขาเคยมาเที่ยวเมืองไทยแล้ว และก็ยังอยากกลับไปเที่ยวเมืองไทยอีก แต่อุปสรรคใหญ่คือตอนนี้เขาตัวคนเดียว ไม่กล้าไปนอนโรงแรมไหนเพราะเขากลัวผีมาก (I’m afraid of ghost) โถลุงหนอลุง

พอลุงขับรถขึ้นทางหลวง จึงได้รู้ว่าลุงขับรถเร็วมาก เร็วจนแม้ว่าผมจะใส่เข็มขัดนิรภัยแล้วก็ยังรู้สึกไม่ค่อยปลอดภัย แต่ผมก็ไม่ได้เอ่ยปาก เพียงแค่พูดในใจว่า ลุงกลัวผีแต่ลุงไม่ยักกลัวจะกลายเป็นผีแฮะ (You are afraid of ghost but you aren’t afraid of becoming one).

มีเรื่องชวนตื่นเต้นนิดหน่อย คือแอป navigation ที่ลุงใช้บอกว่าเดินทางไปสนามบินต้องใช้เวลา 50 นาที ทั้งๆ ที่ใน Google Maps ที่ผมเปิดอยู่บอกว่าแค่ 30 นาทีเท่านั้น แต่เห็นเขาวิ่งเส้นมอเตอร์เวย์เดียวกันก็เลยไม่ได้ว่าอะไร

พอผ่านไปประมาณเกือบ 30 นาที ดู Google Maps ใหม่ ปรากฎว่ารถคันนี้ได้ออกนอกเส้นทางเรียบร้อยแล้ว (เห็นสนามบินอยู่ทางขวามือลิบๆ) ทางก็ค่อยๆ เปลี่ยวลงเรื่อยๆ สุดท้ายเหลือเพียงสองเลน ผมเลยบอกลุงว่ากลับรถเหอะ เมื่อกี้เห็นป้ายบอกไปสนามบินอยู่ พอเลี้ยวไปตามป้าย ลุงก็จอดรถอีก ท้วงว่าถ้าไปทางนี้แอปบอกว่าต้องใช้เวลาอีก 40 นาที (นี่เรานั่งรถมา 40 นาทีแล้วนะ!) ผมเลยบอกว่าใช้ Google Maps ดีกว่ามั้ย มันบอกว่าใช้เวลาอีกแค่ 14 นาทีเอง ลุงก็โอเคแบบลังเล ผมเลยต้องทำหน้าที่เป็นคนคอยบอกเส้นทางร์ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่มีอะไรซับซ้อน แค่วิ่งตามป้ายมาก็ถึงแล้ว

ครับ บางทีการที่เราพึ่งพาเทคโนโลยีมากเกินไปก็ทำให้เราสูญเสีย common sense ได้เหมือนกัน

ถึงสนามบิน โหลดกระเป๋าเสร็จแล้วก็มุ่งไป immigration จากนั้นก็เดินผ่าน security ที่แทบไม่มีคนเฝ้าเลย แถมน้ำดื่มก็เอาเข้ามาได้ด้วย ในใจก็คิดว่าทำไมถึงหละหลวมขนาดนี้

เมื่อเข้ามาถึงโซน Duty Free ก็เดินซื้อทั้งของเล่นและขนมเป็นของฝาก 20 นาทีถึงเวลาเครื่องออกจึงเดินไปที่ Gate จึงถึงบางอ้อว่าเขามีด่าน security ตรวจอีกครั้งหนึ่ง ตรงนี้น้ำเปล่าไม่ให้เอาขึ้นเครื่องบินแล้ว ซึ่งจะว่าไปก็ดีเหมือนกัน เพราะการบังคับให้เราทิ้งขวดน้ำเปล่าเพื่อมาซื้อขวดใหม่อีกฝั่งหนึ่งดูแล้วไม่ค่อยแฟร์กับผู้โดยสารเท่าไหร่

ขึ้นเครื่องบินปุ๊ป แฟนผมก็หลับปั๊บ ส่วนผมยังไม่ง่วงมากเลยดูหนัง Ocean’s Thirteen ซึ่งฟังไม่ค่อยรู้เรื่องเพราะเสียงเครื่องบินมันกลับเกือบหมด เมื่อไหร่เราจะสามารถผลิตเครื่องบินที่เงียบเหมือนรถไฟฟ้าได้นะ

ไปเที่ยวมาเลย์คราวนี้อาจไม่ได้เจออะไรที่หวือหวามากนัก แต่สิ่งใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งสิ่งเก่าๆ ที่ช่วยให้เราได้ฉุกคิดก็อาจจะกลับมาเป็นประโยชน์กับเราในวันข้างหน้าได้นะครับ

อานนฯ อินมาเลย์ ตอนที่ 2

20180310_malay2

วันพุธที่ 8 มีนาคม 7 โมงเช้า

หลังจากได้นอนไปประมาณ 4 ชั่วโมงครึ่ง ผมก็ลุกขึ้นมาอาบน้ำแต่งตัว (ขณะที่แฟนต้องปั๊มนมให้ลูกก่อน) และรีบขึ้นไปทานอาหารเช้าที่ชั้นบนสุดของโรงแรม

เป็นมื้อเช้าที่ไม่ค่อยมีความสุขซักเท่าไหร่ เพราะต้องรีบกิน และอาหารแต่ละอย่างรสชาติก็ไม่ค่อยถูกปากเรา มันบด (mashed potato) นั้นเหลวจนเหมือนซุป ไส้กรอกไก่ก็รสชาติแปลกๆ วอฟเฟิลก็ชืดๆ จะมีที่โอเคอยู่หน่อยคือหมี่ผัดและน้ำผลไม้ที่เขาบรรจุใส่่ขวดใหญ่แช่น้ำแข็งเอาไว้ให้

ทานข้าวเสร็จก็ลงมาที่ล็อบบี้เพื่อพบกับเพื่อนร่วมบริษัท (ของแฟน) ชาวเวียดนามและชาวอินโด ตอนแรกเจอแค่คนเวียดนามก่อน ยืนรอคนอินโด 15 นาทีก็ยังไม่เจอตัว เลยตัดสินใจเรียกแท๊กซี่เลย (ตอนนั้นเวลา 8.40 แล้ว เริ่มเทรน 9 โมงเช้า) โรงแรมบอกว่าเดี๋ยวแท๊กซี่ก็มาถึงแล้ว พวกเราเลยออกไปยืนด้านหน้า รออยู่สิบกว่านาทีก็ยังไม่มา เลยเข้าไปถามโรงแรมอีกครั้ง โรงแรมบอกว่าอีก 7 นาทีมาถึง พวกเราก็ยืนรอต่อไปอีกยี่สิบนาทีก็ยังไม่มาเลยตัดสินใจมานั่งรอดีกว่า สรุปกว่าจะได้แท๊กซี่ก็ปาเข้าไป 9.15 แล้ว สายอย่างไม่ต้องลุ้น

ส่งแฟนขึ้นแท๊กซี่เรียบร้อย ผมก็เดินเล่นเตร็ดเตร่แถวนั้น ฝั่งตรงข้ามโรงแรมเป็นย่านออฟฟิศ คนเยอะเป็นกระจุกๆ ตาม Starbucks ร้านก๋วยเตี๋ยว และร้านข้าวแกง แต่ดูแล้วยังไม่อยากิน สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้คือตู้ display อาหารเขามันดูโล่งๆ คล้ายๆ โรงอาหารตอนหลังเลิกเรียน จนดูเหมือนไม่มีอะไรขาย ก็เลยพลอยทำให้ไม่รู้สึกว่ามีอะไรน่ากินเลย

ผมกลับมาที่ห้องนอนเพื่อนั่งทำงานยาวจนไปถึงบ่ายสองตามเวลาท้องถิ่น จึงเดินลงไปหาข้าวเที่ยงกิน ตัดสินใจเดินเข้าร้าน Hey Noodle ที่เต็มไปด้วยคนคลาคล่ำ ผมเดินไปหาโต๊ะตัวที่เล็กที่สุดที่ยังว่างอยู่ สั่งก๋วยเตี๋ยวซี่โครงหมูราคา 15 ริงกิต (120 บาท) มาทาน เมื่อของมาเสิร์ฟจึงเห็นว่าน้ำซุปนั้นเหมือนข้าวซอยเลย ส่วนเส้นก็จะคล้ายๆ เส้นยากิโซบะ ทานเข้าไปคำแรกจืดๆ แต่พอคำถัดไปเหมือนลิ้นเริ่มปรับตัวได้และรับรู้รสชาติมากขึ้น

เครื่องปรุงบนโต๊ะมีแค่อย่างเดียวคือน้ำพริกเผา ทำให้ผมคิดถึงพวงพริกขึ้นมาฉับพลัน
อาหารบ้านเรา customize ได้ทุกท่า อยากเติมเค็ม เติมเผ็ด เติมเปรี้ยว เติมหวานได้หมด

เมืองไทยน่าจะเป็นเมืองที่ให้ “อิสรภาพทางรสชาติอาหาร” มากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกแล้ว

แต่ในขณะเดียวกันถ้าเราเอาแต่ปรุงรสอย่างที่เราชอบ เราก็อาจจะไม่มีโอกาสได้รู้เลยว่ารสชาติที่แท้จริงของอาหารจานนั้นคืออะไร

กินอาหารเสร็จก็กลับขึ้นมานั่งทำงานที่ห้องนอนต่อ แต่รอบนี้มีอาการคันจมูกเป็นสัญญาณว่าโรคภูมิแพ้กำลังจะมา มองไปรอบห้องหน้าต่างกระจกทุกบานเป็นแบบปิดตาย ไม่สามารถเปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้เลย ซึ่งโรงแรมในไทยไม่น่าจะเป็นอยางนี้

แฟนกลับมาถึงโรงแรมตอน 6 โมงเย็น เอาของขึ้นไปเก็บ ปั๊มนมเสร็จแล้วเราจึงเดินลงมาหาอะไรกิน โรงแรมที่เราอยู่นั้นติดกับห้าง One City ตรงกลางเป็นพื้นที่โปร่งชั้นล่างทั้งสองด้านมีแต่ร้านอาหาร แต่ทุกร้านมีคนนั่งโหรงเหรง ร้านที่คนเยอะสุดคือ Old Town White Coffee ซึ่งเป็นร้าน chain ของมาเลเซียเค้า (อารมณ์คล้ายๆ S&P บ้านเรา)

เดินขึ้นไปชั้น 2-4 มีคนเดินนับหัวได้จนแปลกใจว่าอยู่มาได้ยังไงนานขนาดนี้ เราเดินข้ามสะพานไปห้างอีกฝั่งหนึ่งอาการยิ่งหนักกว่าเดิม เพราะไม่มีร้านอาหาร ไม่มีคนเดิน มีแต่คนที่ยืนประจำร้านอย่างเหงาๆ ยังดีที่ชั้นใต้ดินมี Super Market ที่ยังพอมีชีวิตชีวาอยู่บ้าง

เราเดินกลับมาที่ตึกเดิมและตัดสินใจเข้าร้านที่ดูโฮมมี่ๆ หน่อย สั่งคาโบนาร่า, fish n chips และ ซุปเห็ดมา

ไม่อร่อยซักอย่างเดียว เหมือนเป็นอาหารที่ไม่ตั้งใจทำ น้ำมะนาวเหมือนผสมน้ำเปล่ามา แฮมในคาโบนาร่าก็เหมือนแฮมปลอมๆ ส่วน fish & chips ก็จืดชืดมาก แฟนบอกว่ากินข้าวที่นี่มาสามมื้อยังไม่เจอมื้ออร่อยเลย และพวกเราก็ตั้งสมมติฐานกันว่า อาจเพราะประเทศนี้เคยลำบากมาก่อนรึเปล่า เวลาทำอาหารจึงดูเขียมๆ ยั้งๆ ใส่เครื่องแบบประหยัดๆ

กินเสร็จจึงเดินกลับไปซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ตอีกครั้ง ที่นี่เขาจะไม่ให้ถุงพลาสติก ถ้าอยากได้ต้องจ่ายเงินเพิ่ม แต่ขนมหลายอย่างเขาก็ทำออกมาแบบเป็นหูหิ้วให้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นตัวอย่างที่ดีหากเราอยากรณรงค์ให้คนใช้ถุงพลาสติกให้น้อยลง

กลับถึงห้องประมาณสามทุ่ม อาบน้ำอาบท่า ปั๊มนม และแฟนผมก็หลับเป็นตาย ส่วนผมก็อ่านหนังสือเล่มนึงที่พกมาด้วยจนจบเล่ม

เป็นวันที่ดูจ๋อยๆ หงอยๆ

หวังว่าพรุ่งนี้ (ซึ่งเป็นวันสุดท้าย) จะมีสีสันกว่านี้นะ

อานนฯ อินมาเลย์ ตอนที่ 1

20180308_malay1

ผมกำลังเขียนบทความนี้ในห้องพัก e.City Hotel ในเซลังกอร์ (Selangor) ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกัวลาลัมเปอร์มา 20 กิโลเมตรครับ

พอดีแฟนต้องมา train the trainer ที่นี่ ผมก็เลยติดสอยห้อยตามและขอหัวหน้ามา Work from Malaysia (แทนที่จะ Work from Home)

เวลามาอยู่ต่างบ้านต่างเมือง ผมก็มักจะเขียนบันทึกลงบล็อกเอาไว้ เพราะได้มาเจอเรื่องธรรมดาๆ ด้วยสายตาที่ไม่คุ้นเคย

เรื่องธรรมดา เพราะเป็นสิ่งคนพื้นที่คุ้นชินกันอยู่แล้วจนอาจไม่เคยคิดถึงด้วยซ้ำ

สายตาที่ไม่คุ้นเคย เพราะเป็นการมองจากสายตาคนไทยที่จะได้มาอยู่ที่นี่เพียงสองวัน

เมื่อเปลีี่ยนคนมอง เรื่องน่าเบื่อก็กลายเป็นเรื่องน่าสนใจได้

ผมกับแฟนบินมาถึงสนามบินนานาชาติของมาเลเชียตอน 5 ทุ่ม ถือว่าค่อนข้างดึกทีเดียว แถมกว่าจะผ่าน Immigration มาได้ กระเป๋าของเราก็เหลือเป็นใบสุดท้ายแล้วด้วย (conveyor belt หยุดเดินไปแล้ว มีเจ้าหน้าที่ยืนหันรีหันขวางอยู่คนเดียว ถ้าเรามาช้ากว่านี้ไปอีกซัก 5 นาที สงสัยกระเป๋าของเราจะถูกส่งเข้าแผนก Lost & Found แหงๆ)

แฟนผมเปิด data roaming มาจากเมืองไทย 2 วัน 700 บาท ได้เน็ตวันละ 500 MB ส่วนผมเลือกที่จะไม่เปิดเพราะคิดว่าคงใช้ wifi โรงแรมเป็นหลัก แต่พอก้าวเท้าออกจากเครื่องบินก็เจอบู๊ธจากค่ายมือถือทั้งหลายมาขายซิม ราคา 20 ริงกิต = 160 บาท ใช้เน็ตได้ 7 GB ภายใน 3 วัน เป็นราคาที่คุ้มค่ามากเลยอดใจไม่ไหวครับ

การเรียกแท๊กซี่ก็ค่อนข้างสะดวก มีการจัดการคล้ายๆ สุวรรณภูมิคือต้องเดินไปแจ้งเจ้าหน้าที่ก่อนว่าจะไปที่ไหน แล้วเขาก็จะออกใบเรียกแท๊กซี่มาให้ โดยเก็บค่าบริการเพียง 2 ริงกิต หรือ 16 บาทเท่านั้น (ที่เมืองไทยคนขับแท๊กซี่จะเก็บค่าบริการเพิ่ม 50 บาท)

ผมเดินเอาใบที่เจ้าหน้าที่ให้มาไปให้คนคุมคิว บอกว่าจะ e.City Hotel นะ คนคุมคิวก็เดินเอาไปให้หนึ่งในคนขับแท๊กซี่ บอกว่าไป e.City Hotel คนขับก็พยักหน้า ก่อนจะพูดเป็นภาษามาเลย์ที่ผมฟังไม่ออกแต่เข้าใจความหมายว่า “อยู่ตรงไหน(วะ?)”

รถแท๊กซี่ที่มาจอดรอที่สนามบินส่วนใหญ่ก็เป็นสีน้ำเงินและมีแต่รถคันใหญ่ๆ อารมณ์ประมาณ Toyota Innova นั่งสบายดีครับ

คนขับแท๊กซี่เป็นผู้ชายตัวอ้วนดำ อารมณ์คล้ายๆ เทรนเนอร์นักมวยผิวสี ขึ้นรถปุ๊ปผมก็ชวนเขาคุยเพื่อผูกมิตรก่อนเลย ชื่อของเขาเป็นสี่พยางค์ ผมออกเสียงไม่ค่อยถูกเขาเลยบอกว่าให้เรียกเขาว่า “ราซซี่” ก็ได้ ผมเลยบอกว่าตัวเองชื่อ รุตม์ แฟนชื่อ รวิ (Ravi – มาจากรวิวรรณ) สรุปคือในรถนี้เป็น 3R เลยนะ ราซซี่หัวเราะชอบใจ

ออกรถได้ไม่ถึงสองนาที ราซซี่ก็ยื่นมือถือมาให้ บอกว่าให้พิมพ์ลงไปในช่อง search หน่อยว่าโรงแรมชื่ออะไร ผมรับมือถือมาจึงเห็นเป็น app Navigation คล้ายๆ Google Maps แต่หน้าตาเหมือนระบบ GPS ที่ติดอยู่ในรถมากกว่า ผมพิมพ์ชื่อโรงแรงลงไป แต่พอกดเสิร์ชมันกลับบอกว่า ตอนนีี้รถกำลังวิ่งอยู่ ห้ามกด search จ้า!

ที่น่ารักคือ พอมันเตือนอย่างนี้แล้ว มันก็จะโชว์สองปุ่มให้กดเลือก

ปุ่มนึงคือ “OK” (ยอมจำนน ต้องจอดรถก่อนถึงจะ search ได้) ส่วนอีกปุ่มนึงคือปุ่ม “Passenger” ผมเลยกดปุ่มนี้ไป เพื่อจะบอกแอปว่า “ตอนนี้คนที่ใช้งานคือผู้โดยสารนะ ไม่ได้ขับรถ ไม่ต้องกลัว ไม่มีอันตราย” จึงค้นหาโรงแรมได้อย่างง่ายดาย

เป็นแอปที่ออกแบบมาเพื่อคนขับแท๊กซี่โดยแท้ แต่ในแง่ความปลอดภัยคงไม่ได้ช่วยอะไรเลยเพราะคนขับแท๊กซี่ก็คงกดปุ่ม passenger เหมือนกัน

ระหว่างทางราซซี่ก็ชวนคุยบ้าง ถามว่าเคยมามาเลเซียแล้วหรือยัง มาทำอะไร เทรนเสร็จแล้วเที่ยวต่อรึเปล่า เราบอกว่าเปล่า เพราะเรามีลูกเล็ก ผมเลยถามกลับว่าเขามีลูกรึยัง ราซซี่บอกว่ามีแล้ว เป็นลูกชาย เพิ่งอายุครบสองขวบเมื่อเดือนที่แล้วเอง (แสดงว่าอ่อนกว่าปรายฝน ลูกสาวคนโตเราสามเดือน)

กว่าจะวิ่งถึงโรงแรมต้องผ่านด่านจ่ายเงินสองครั้ง และทั้งสองด่านคนขับแท๊กซี่ไม่ได้ใช้เงินสด แต่ต้องหยุดเปิดหน้าต่างเพื่อแตะบัตรกับเครื่องสแกนอีกที ก็ถือว่าดี แต่ไม่เท่าของบ้านเรา
แล
เมื่อเข้ามาในตัวเมือง เห็นต้นไม้ริมสองฝังทางและตึกรามบ้านช่องแล้วทำให้รู้สึกว่าที่นี่เหมือนสิงคโปร์พอสมควรเลย

รถแท๊กซี่จอดหน้าโรงแรม มิเตอร์โชว์ราคา 83.5 ริงกิต หรือประมาณ 670 บาท แต่ก็เหมือนเล่นกล ราซซี่หันมาพูดอะไรสองสามคำแล้วกดปุ่มหน้าปัดมิเตอร์ ราคาปรับขึ้นมาเป็น 125 ริงกิตจ้า เขาชี้ให้ดูสติ๊กเกอร์ที่แปะไว้ด้านหน้าฝั่งคนนั่งว่า ถ้าเรียกรถช่วงเที่ยงคืนถึง 6 โมงเช้า ราคาจะต้องบวกอีก 50%

ยังไม่พอ เก็บค่า toll way อีก 20 ริงกิต รวมทั้งหมดประมาณ 145 ริงกิต หรือ 1160 บาท โชคดีที่เขาออกใบเสร็จให้แฟนไปเบิกบริษัทได้ (เป็นแบบฟอร์มเขียนด้วยมือ แท๊กซี่ไทยน่าจะเอามาใช้บ้างนะ แขกที่มา business trip จะได้มีใบเสร็จเอาไปเบิกบริษัทเหมือนกัน)

โรงแรม e.City ใหญ่กว่าที่คิดไว้ ฝั่งตรงข้ามมี 7-Eleven ก็เลยอุ่นใจว่ายังไงคงมีของกินแน่

เข้าถึงห้องตอนเกือบๆ ตี 1 อาบน้ำเสร็จแล้วแฟนยังต้องปั๊มนมต่อ ผมลงไปเดินเซเว่นเพื่อซื้อน้ำเปล่าและดูว่ามีอะไรกินบ้าง

ที่คิดไม่ถึงคือมีสินค้าไทยมาขายในมาเลเซียไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นสาหร่ายเถ้าแก่น้อย ถั่ว Tong Garden และ อาหารของ CP food ที่ยกมาทั้งตู้!

กลับถึงห้องประมาณตี 2 กว่าจะล้างขวดนมและลวกขวดนมเสร็จก็ได้นอนตอนตีสองครึ่ง วันรุ่งขึ้นต้องตื่นก่อน 7 โมงเช้า! (ไม่นับรวมว่าคืนก่อนหน้านี้ปรายฝนตื่นกลางดึกตั้งแต่ตี 1 และลากยาวถึงตี 5 ครึ่ง) เป็นทริปที่เหนื่อยน่าดูเลยแฮะ

ไว้จะมาเล่าต่อในตอนที่ 2 นะครับ

—–

ซีรี่ส์การเดินทาง

2014: ยูโรมโนสาเร่
2015: อานนฯ อินลอนดอน
2016: อานนฯ อินอินเดีย
2017: อานนฯ อินสิงห์บุรี (สิงคโปร์)