ใช้อารมณ์ให้เป็นประโยชน์

20190131_emotion

เคยสังเกตตัวเองมั้ยครับว่าเราเป็นคนที่ไวต่อความรู้สึกคนอื่นมาก

เราอยู่ของเราดีๆ เห็นแฟนเดินเข้ามาหน้าตาบึ้งตึง อารมณ์ของเราก็รู้สึกดำดิ่งไปด้วยทันที

หรือเวลาเดินเข้าห้องประชุม เราจะรู้สึกได้ทันทีถึงบรรยากาศมาคุทั้งๆ ที่ยังไม่มีใครพูดอะไรออกมาซักคำ

เผ่าพันธุ์ Homo Sapiens นั้นก็เหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมส่วนใหญ่ คืออยู่กันเป็นหมู่คณะ ทุกคนต่างต้องพึ่งพาอาศัยกันในการหาอาหาร ป้องกันตัว และเลี้ยงดูลูกตัวน้อย

เมื่อเราต้องพึ่งพิงคนอื่นมากขนาดนี้ ร่างกายและสัญชาติญาณของเราจึงผ่านกระบวนการวิวัฒนาการมานับครั้งไม่ถ้วนให้สามารถ “จับสัญญาณ” อารมณ์ของคนในเผ่าของเราได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ

เราจึงรู้ได้ทันทีว่าคนๆ นี้กำลังโกรธหรือกำลังแฮปปี้โดยที่เขาไม่ต้องพูดอะไรเลยซักคำ เพราะความสามารถในการจับอารมณ์นี้มีมาก่อนที่เราจะเริ่มมีความสามารถในการใช้ภาษาอยู่หลายแสนปี

เมื่อจับและรับรู้อารมณ์ได้ เราจึง “ติด” อารมณ์คนๆ นั้นมาด้วย

อารมณ์ของคนจึงส่งผ่านกันง่ายดังโรคติดต่อ ซึ่งเป็นทั้งข่าวร้ายและข่าวดี

ข่าวร้ายคือเราไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดั่งใจ เพราะมันอ่อนไหวและเปราะบางต่ออารมณ์ของทุกคนรอบตัว

แต่ข่าวดีก็คือ เราอาจสามารถพลิกสถานการณ์บางอย่างได้ เพียงใช้อารมณ์ที่เหมาะสมของเรานำทาง

เคยมั้ยที่ประชุมกันเครียดๆ แต่พอมีคนหยอดมุขแค่ทีเดียว คนก็หัวเราะกันทั้งห้องและบรรยากาศก็ผ่อนคลายทันตาเห็น

หรืออารมณ์ของคนในห้องกำลังเบื่อๆ แต่พอดาราหรือคนสำคัญเดินเข้ามาในห้อง พลังงานและพลวัตรก็เปลี่ยนไปทันที

เราไม่จำเป็นต้องเป็นถึงดารา ขอแค่เพียงมีทัศนคติที่ดี มีรอยยิ้มเปื้อนหน้า มีภาษากายที่เหมาะสม ก็อาจเพียงพอแล้วที่จะส่งต่อพลังงานบวกและอารมณ์ที่ดีขึ้นให้กับคนรอบข้างได้ครับ

—–

ขอบคุณประกายความคิดจากพอดคาสท์ The School of Greatness Robert Greene: How to master anything and achieve greatness

ตัวชี้วัดความสำเร็จ

20190130_conversations

“A person’s success in life can usually be measured by the number of uncomfortable conversations he or she is willing to have.”
-Tim Ferriss

ผมชอบประโยคนี้ของ Tim Ferriss มาก

คนเราจะประสบความสำเร็จแค่ไหน ขึ้นอยู่กับจำนวนบทสนทนาที่ทำให้เรากระอักกระอ่วนใจ

– เดินเข้าไปทักทายและแนะนำตัวกับผู้หญิงที่เราสนใจ

– บอกกับเจ้านายว่าสิ่งที่เจ้านายทำอยู่ตอนนี้ไม่น่าจะเวิร์ค

– บอกเพื่อนสนิทว่าเขามีกลิ่นปาก

– ขอให้เขาอธิบายอีกหนึ่งรอบเพราะเราไม่เข้าใจสิ่งที่เขาพูด

– เอ่ยปากขอโทษเวลาเราทำผิด

– บอกลูกน้องที่อีโก้จัดว่าเขายังต้องปรับปรุงอะไรบ้าง

ยิ่งเรากล้าที่จะมีบทสนทนาที่ทำอาจะให้เราอับอาย-อึดอัด-กระอักกระอ่วน ได้มากแค่ไหน ชีวิตเราก็จะไปข้างหน้าไดไกลขึ้นเท่านั้น

เพราะคนส่วนใหญ่เลือกที่จะเดินหนีและหลบหลีกบทสนทนาเหล่านี้ และทนอยู่กับสถานการณ์เดิมต่อไป เพราะเขาคิดว่ามันเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า

แต่ทางเลือกที่ง่ายกว่ามักไม่ใช่ทางเลือกที่ดีกว่า

และบทสนทนาที่น่าอึดอัดไม่เคยฆ่าใคร

จริงๆ แล้วเมื่อคุยกันเสร็จแล้ว เราจะโล่งใจมากกว่าเดิมด้วยซ้ำไป

ขอแค่กล้าขึ้นอีกซักหน่อยเท่านั้นเอง

สิ่งที่ควรทำก่อนเริ่มการประชุม

20190129_beforemeetingstarts

เจ้านายเก่าของผมคนหนึ่งชื่อคุณเดวิดจะมีนิสัยอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจ

น่าสนใจเพราะไม่มีใครทำกัน แต่ผมเชื่อว่ามีประโยชน์มาก

นั่นคือ เวลาที่เราเข้าห้องประชุม ก่อนที่ใครจะเริ่มพูดประโยคแรก เดวิดจะถามขึ้นมาก่อนเลยว่า

“วันนี้เรามาประชุมกันเพื่ออะไร?” What is this meeting for?

เจอคำถามนี้ คนก็จะมองหน้ากันเลิ่กลั่ก มีความเงียบคั่นกลางประมาณ 2-3 วินาที ก่อนที่จะมีคนพูดขึ้นมาด้วยน้ำเสียงไม่ค่อยแน่ใจ เช่น

“มานำเสนองบประมาณการจัดงานปีใหม่”

แล้วเดวิดก็จะถามต่อว่า แล้วสิ่งที่เราคาดหวังหลังจากจบการประชุมนี้คืออะไร? What are we trying to achieve from this meeting?

ก็จะเดดแอร์อีกซักแป๊บนึง ก่อนที่จะมีคน(เดิม)พูดขึ้นมาว่า

“เพื่อที่จะให้เราทุกคนคุยกันว่างบประมาณนี้เหมาะสมและจะได้อนุมัติงบนี้เพื่อเดินหน้าจัดงานต่อไป”

จากนั้นเดวิดก็จะพูดทวนอีกครั้งว่าเรามาประชุมวันนี้กันเรื่องอะไร และเป้าหมายของการประชุมนี้คืออะไร

แล้วการประชุมนั้นก็จะไม่ออกนอกลู่นอกทางและมักจบตรงเวลาเสมอ

—–

หนึ่งในเสียงบ่นของคนทำงานบริษัทคือเรามีการประชุมเยอะเกินไป

แต่ผมว่าปัญหาที่แท้จริงไม่ใช่ตรงนั้น

ปัญหาที่แท้จริงคือเรามีการประชุมที่ไม่มีประสิทธิภาพเยอะเกินไปต่างหาก

เป้าหมายการประชุมไม่ชัด, agenda ไม่มี ต่างคนต่างนำเสนอสิ่งที่ตัวเองคิด พอถึงตาคนอื่นพูดเราก็ไม่ฟัง ไม่มีคนคุมเวลา ประชุมเสร็จแล้วไม่รู้ว่าใครต้องทำอะไร

อาการเหล่านี้น่าจะบรรเทาลงได้ถ้ามีคนถามคำถามอย่างเดวิดก่อนเริ่มการประชุม

แน่นอนว่ามันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคนที่ถามอาจประสพกับเดดแอร์และอาจถูกมองด้วยสายตาแปลกๆ แต่ผมเชื่อว่าผลลัพธ์ที่ได้นั้นคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม

ลองเอาไปปรับใช้ดูนะครับ

เป้าหมายที่เรากำลังไล่ตาม

20190127_goals

มันยังเป็นสิ่งที่เรายังต้องการจริงๆ อยู่รึเปล่า?

เพราะเป้าหมายในปัจจุบันมาจากตัวเราในอดีต

และตัวเราในวันนี้กับตัวเราในอดีตย่อมแตกต่างกันไม่มากก็น้อย

สมัยเรียนหนังสือ ผมเคยมีเป้าหมายอยากได้รถบีเอ็ม แต่มาเดี๋ยวนี้ก็ไม่อยากได้รถบีเอ็มแล้ว

ผมเคยมีความฝันอยากไปเยือนโอลด์แทรฟฟอร์ด แต่ก็ทิ้งมันไว้จนเกือบจะนานเกินไป กว่าจะได้ไปเหยียบโรงละครแห่งความฝัน เซอร์อเล็กซ์เฟอร์กูสันและนักเตะที่ผมเคยคลั่งไคล้ก็ไม่ได้อยู่ที่นั่นแล้ว

อาจจะฟังดูไม่โรแมนติคนัก แต่ผมเชื่อว่าทุกความฝันมีวันหมดอายุ

เรากำลังไล่ตามความฝันที่หมดอายุอยู่รึเปล่า?

ถ้าใช่ ก็อาจเป็นการดีกว่าที่จะยอมรับความจริง ดีกว่าเสียเวลาอีกหลายเดือน หลายปี หรือแม้กระทั่งทั้งชีวิต พอไขว่คว้ามันมาได้ถึงเพิ่งรู้ตัวว่ามันไม่ใช่

เหมือนจะเป็นเรื่องเศร้า แต่จริงๆ แล้วมันคือข่าวดี

เมื่อเราปลดปล่อยตัวเองจากความฝันที่ไม่ได้ตอบโจทย์อีกต่อไป เราก็จะมีแรงและเวลาในการทำสิ่งที่มีคุณค่าและมีความหมายกับเราอย่างแท้จริงครับ

มันมักใช้เวลามากกว่าที่คิดเสมอ

20190127_takeslonger

ไม่ว่าจะเป็นการทำโปรเจ็ค

สร้างบริษัท

หาคนที่ใช่

เก็บเงินให้ได้ตามเป้า

ดังนั้นเราต้องใจเย็นๆ และไม่บีบคั้นตัวเองเกินไป

เพราะสิ่งต่างๆ ไม่ได้เป็นดั่งใจ แต่เป็นไปตามเหตุปัจจัย

เราทำได้แค่เพียงทำส่วนของเราให้เต็มที่ สุดท้ายผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ฟ้าดิน

ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ยังไม่ตาย

บางที ความสำเร็จของชีวิตไม่ได้ขึ้นอยู่กับการไปถึงจุดหมายให้เร็วที่สุดครับ