Fossilization – เมื่อบางอย่างในตัวเราถูกแช่แข็ง

“ฟอสซิล” (fossil) คือซากของสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์ที่ถูกเก็บรักษาไว้ในชั้นหิน

ตอนที่ผมเรียนปริญญาโทด้านภาษาและการสื่อสารที่นิด้า ในหัวข้อการเรียนภาษาที่สอง (Second Language Acquisition – SLA) คำว่าฟอสซิลถูกนำมาใช้ในบริบทที่ผมนึกไม่ถึง

ในเชิง SLA นั้น fossilization คือการที่ภาษาที่สองของเราไม่สามารถพัฒนาไปได้มากกว่านี้แล้ว

เราอาจเคยเห็นใครหลายคนย้ายถิ่นฐานไปอยู่เมืองนอกตอนโตแล้ว แต่แม้จะอยู่มาแล้วหลายสิบปีก็ยังพูดภาษาอังกฤษไม่คล่องอยู่ดี ยังใช้แกรมม่าร์ผิด ยังติดสำเนียงไทย ต่อให้รับ input เป็นภาษาที่สองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันแต่ก็ไม่ได้ช่วยให้พูดได้ดีขึ้น ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “ลิ้นแข็ง” ไปแล้วนั่นเอง

ผิดกับคนที่ไปต่างประเทศตั้งแต่วัยเด็ก ได้เรียนที่นั่นแค่ไม่กี่ปีก็สามารถพูดอังกฤษได้อย่างเป็นธรรมชาติ

สำหรับคนที่อยากเก่งภาษาที่สอง กระบวนการ fossilization จึงเป็นเรื่องน่ากลัว เพราะหากถูก fossilized หรือแช่แข็งไปแล้ว ความฝันที่จะพูดได้เหมือนเจ้าของภาษาก็เหมือนจะดับลงไปด้วย*


สำหรับคนวัย 30 ปลายๆ ถึง 40 กลางๆ ที่โตมาในยุคเฟื่องฟูของแกรมมี่และอาร์เอส เชื่อว่าเราน่าจะร้องเพลงของศิลปินคนโปรดได้หลายคน

ส่วนคนที่ชอบฟังเพลงฝรั่ง ก็อาจตกหลุมรักวงดนตรีเท่ๆ อย่าง Nirvana, Greenday, Metallica, Radiohead, และ Oasis

การเป็นวัยรุ่นในยุค 90 นั้นมันแสนจะคลาสสิคในความทรงจำของเรา และทุกวันนี้เราก็ยังฟังเพลงของพวกเขาเหล่านั้นอยู่แม้วันเวลาจะผ่านมาเกือบ 30 ปีแล้วก็ตาม

ถ้าเปิดเพลงดังๆ ที่เกิดในช่วง 1990-2000 เราน่าจะร้องได้เกือบทุกเพลง แต่ถ้าเป็นเพลงที่เกิดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราอาจจะร้องได้แค่ไม่กี่เพลงทั้งๆ ที่จำนวนศิลปินและจำนวนเพลงมีให้เลือกฟังหลากหลายมากกว่าเดิมตั้งไม่รู้กี่เท่า

เคยมีคนวิเคราะห์ว่า ที่เราหยุดฟังเพลงใหม่ๆ เพราะว่าวัยรุ่นเป็นวัยแห่งการก่อร่างสร้างตัวตน เราจึงเปิดโอกาสให้มีสิ่งที่จะประทับใจและฝังใจเราได้ง่าย (impressionable) แถมเรายังมีเวลาเหลือเฟือจนสามารถฟังเพลงเดิมๆ ซ้ำๆ ได้เป็นสิบเป็นร้อยรอบ

แต่พอเราโตขึ้นมา มีภาระหน้าที่ต้องทำ ก็เลยไม่ค่อยเหลือเวลามาเริ่มต้นกับเพลงใหม่ๆ และศิลปินใหม่ๆ เท่าไหร่ เราจึงสบายใจที่จะฟังเพลงที่เราคุ้นเคยมากกว่า

การฟังเพลงของใครหลายคนจึงเหมือนถูก fossilized เอาไว้เช่นกัน


ในหนังสือ Think Again ของ Adam Grant มีย่อหน้าหนึ่งเขียนไว้ว่า

“Rethinking isn’t a struggle in every part of our lives. When it comes to our possessions, we update with fervor. We refresh our wardrobes when they go out of style and renovate our kitchens when they’re no longer in vogue. When it comes to our knowledge and opinions, though, we tend to stick to our guns. Psychologists call this seizing and freezing. We favor the comfort of conviction over the discomfort of doubt, and we let our beliefs get brittle long before our bones. We laugh at people who still use Windows 95, yet we still cling to opinions that we formed in 1995.”

ถ้าเป็นเรื่องข้าวของเรามักจะอัพเดตกันอย่างขยันขันแข็ง แต่พอเป็นเรื่องความรู้หรือความคิดเห็นเรากลับยึดมั่นถือมั่นกันน่าดู

ถ้าเราเห็นใครใช้ Windows 95 เราคงหัวเราะในใจ แต่เราเองกลับยึดติดในความเชื่อที่เราสร้างเอาไว้ตั้งแต่ปี 1995

ลองสำรวจตัวเองว่าใน 1 ปีที่ผ่านมาเรามีเปลี่ยนความเชื่อในเรื่องใดบ้าง ถ้ายังคิดไม่ออกก็ลองขยายเวลาเป็น 3 ปี 5 ปีดู

หากพบว่าผ่านมา 5 ปีแล้ว ความเชื่อของเรายังเหมือนเดิม ก็มีความเป็นไปได้สองทาง หนึ่งคือความเชื่อของเรานั้นถูกต้องแน่แท้ หรือไม่อย่างนั้นความเชื่อของเราก็ถูก fossilized ไปเรียบร้อยแล้ว

Fossilization ทางการฟังเพลงนั้นอาจไม่เสียหาย อย่างมากก็แค่พลาดโอกาสที่จะได้ฟังอะไรใหม่ๆ

Fossilization ทางภาษาที่สองนั้นถือเป็นเรื่องน่าเศร้า เพราะส่วนหนึ่งเป็นเรื่องทางกายภาพด้วย แต่ตราบใดที่เรายังสื่อสารให้คนเข้าใจได้ ผลกระทบทางลบคงมีไม่มากนัก

แต่ Fossilzation ทางความคิดและความเชื่อนั้นอันตราย เพราะในโลกนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปมากมาย สิ่งที่เคยใช่มันอาจจะไม่ใช่อีกต่อไป

ข่าวดีคือ fossilzation ทางความคิดนี้ไม่มีข้อจำกัดทางกายภาพ หากเรากล้าเปิดใจ กล้าจะยอมรับว่าที่ผ่านมาเราอาจไม่ได้มีมุมมองที่สอดคล้องกับความเป็นจริงเสมอไป เราก็จะ think again ได้อีกครั้ง

อย่าปล่อยให้ fossilization ทำให้เรากลายเป็นมนุษย์ดึกดำบรรพ์กันเลยนะครับ


* การพูดได้เหมือนเจ้าของภาษาไม่จำเป็นต้องเป็นเป้าหมายสูงสุดของคนที่เรียนภาษาที่สองนะครับ บางคนพูดติดสำเนียงภาษาแม่ก็มีเสน่ห์ไปอีกแบบ

คำอธิบายเรื่องการขึ้นสวรรค์-ลงนรกที่ถูกจริตผมมากที่สุด

เราเคยได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เด็กว่า ถ้าทำความดีจะได้ขึ้นสวรรค์ ถ้าทำชั่วก็จะตกนรก

ภาพเก่าที่เราจำติดตาคือมีพญายมราชคอยพิพากษาว่าคนคนนี้ควรจะได้ไปที่ไหน

“พญายมราช มีบริวารที่คนไทยรู้จักดี ได้แก่ พระกาฬไชยศรี เทพผู้ส่งสารแห่งความตาย ซึ่งมีรูปปั้นอยู่ที่ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง กรุงเทพมหานคร ทำหน้าที่เก็บดวงวิญญาณต่าง ๆ บ้านไหนที่จะมีคนตาย พระองค์จะทรงใช้นกแสกบ้าง นกเค้าแมวบ้าง ไปเกาะหลังคา ร้องเตือนให้ทราบล่วงหน้า หรือบันดาลนิมิตดีร้าย หากผู้นั้นมีปัญญาจะได้รีบขวนขวายทำบุญ ก่อนจะหมดโอกาสในโลก ส่วนในขณะทรงทำหน้าที่พิพากษา ท่านจะมีผู้ช่วยบันทึกกรรมของแต่ละดวงวิญญาณ ได้แก่ สุวัณ ผู้จดการกระทำความดีใส่สมุดทองคำ และ สุวาณ ผู้จดการกระทำชั่วใส่สมุดหนังหมา”*

อดคิดไม่ได้ว่า ถ้าทุกคนที่ตายไปต้องมาผ่านพญายมราชเท่านั้น คิวคงจะยาวน่าดู อาจจะดีกว่าถ้าโลกหลังความตายมี super computer และ AI ที่คอยประมวลผลความดี-ความชั่วทั้งหมดที่เราสั่งสมมา แล้วตัดสินว่าเราควรจะไปไหนในภพภูมิทั้ง 31 ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องมามัวเปิดสมุดทองคำหรือบัญชีหนังหมากันอยู่

แน่นอนว่าเรื่องพวกนี้เป็นเพียงความเชื่อและไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มันอาจจะเป็นเพียงตำนานที่แต่งขึ้นเพื่อให้คนหมั่นทำความดีและละเว้นความชั่วเท่านั้นเอง

แต่คำอธิบายเรื่องการขึ้นสวรรค์หรือลงนรกที่ผมเคยอ่านแล้วถูกจริตผมมากที่สุด มาจากหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมซื้อมาจากศูนย์วิปัสสนาของอาจารย์โกเอ็นก้า

เมื่อเราทำความดี จิตใจของเราก็จะสว่างและเบาสบาย

เมื่อเราทำความชั่ว จิตใจเราก็จะมืดๆ และหนักๆ

ดังนั้น “ธรรมชาติจิต” ของคนทำดีเป็นประจำกับคนที่ทำชั่วเป็นนิจย่อมแตกต่างกัน

เมื่อเราสิ้นอายุขัย จิตดวงเดิมดับ เกิดจิตดวงใหม่มันก็ย่อมไป “จับ” ภพภูมิที่เหมาะสมและสอดคล้องกับธรรมชาติของจิตนั้น

ตอนเด็กๆ เราเคยทำการทดลอง ที่เอาน้ำกับน้ำมันมาผสมกัน สุดท้ายมันก็จะแยกเป็นคนละชั้นอยู่ดี น้ำย่อมไปอยู่กับน้ำ น้ำมันก็จะไหลไปอยู่กับน้ำมัน

จิตของเราก็น่าจะเป็นเช่นนั้น มันจะไหลไปอยู่ในชั้นที่เหมาะสมกับตัวเอง

ด้วยกระบวนการเช่นนี้ จึงไม่จำเป็นต้องมีทั้งพญายมราช ไม่ต้องมีการจดบัญชีหนังหมา และไม่ต้องมีซูเปอร์คอมพิวเตอร์ เพราะทุกอย่างจะเป็นไปตามครรลองโดยไม่ต้องมีใครมาตัดสินครับ


ขอบคุณข้อมูลพญายมราชจาก ไทยนิวส์: ทำความรู้จักกับ พญายมราช พญามัจจุราช เทพเจ้าแห่งนรกและความตาย

ปีนี้เราจะเหลือเงินเท่าไหร่เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดเอาไว้แล้ว

ปีนี้เราจะเหลือเงินเท่าไหร่เป็นสิ่งที่ถูกกำหนดเอาไว้แล้ว / Anontawong’s Musings

เมื่อหลายเดือนก่อน ผมได้ฟังพอดแคสต์ที่ชื่อว่า KO$HER MONEY ซึ่งสัมภาษณ์รับบี Manis Friedman

รับบี (ภาษาอังกฤษออกเสียงว่า “แรบาย”) คืออาจารย์สอนศาสนายิว

มีคอนเซ็ปต์หนึ่งที่รับบีฟรีดแมนกล่าวเอาไว้ที่ผมรู้สึกว่ายากที่จะเชื่อแต่ก็น่าสนใจเกินกว่าจะโยนทิ้ง

รับบีกล่าวว่า ปีนี้คุณจะมีเงินเท่าไหร่นั้น มันถูกกำหนดไว้ตั้งแต่วันขึ้นปีใหม่ของชาวยิวแล้ว

วันขึ้นปีใหม่ยิวนั้นมีชื่อเรียกว่า Rosh Hashanah ซึ่งในปี 2022 นี้คือช่วงค่ำวันอาทิตย์ที่ 25 กันยายนถึงค่ำวันอังคารที่ 27 กันยายน

เมื่อพระเจ้าได้กำหนดไว้แล้วว่าปีนี้คุณจะทำเงินได้เท่าไหร่ จึงไม่จำเป็นต้องไปกังวลหรือเอาเป็นเอาตายเรื่องเงินๆ ทองๆ ให้มากเกินไป เพราะสุดท้ายแล้วมันไม่ได้สร้างความแตกต่างอะไรเลย

ความฉลาดไม่ได้ทำให้ร่ำรวย เราก็เห็นอยู่ว่ามีคนรวยหลายคนที่ไม่ได้ฉลาดขนาดนั้น

ขณะเดียวกันเราก็เห็นคนยากจนมากมายที่ทั้งฉลาด ทั้งขยัน ทั้งทดลองทำแล้วทุกอย่าง แต่ก็ไม่รวยขึ้นเสียที

เราอาจจะเถียงว่า อ้าว ถ้าวันนี้เราทำงาน OT เราก็จะได้เงินเพิ่มไม่ใช่เหรอ หรือถ้าเปิดร้านเกินเวลาก็ได้รายได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน

แต่รับบีบอกว่า อย่าดูแค่ขาเข้าอย่างเดียว ต้องดูขาออกด้วย ถ้าคุณเปิดร้านเกินเวลา อาจได้เงินมาเพิ่มก็จริง แต่ถ้าต้องเสียค่าปรับหรือต้องขึ้นโรงขึ้นศาลก็อาจจะเหลือเงินน้อยกว่าเดิมก็ได้

หรือถ้าคุณทำงานเยอะๆ อดหลับอดนอนจนล้มหมอนนอนเสื่อ เงินส่วนต่างที่ได้มาอาจต้องเอาไปจ่ายค่ารักษาพยาบาลอยู่ดี

ดังนั้นเงินที่คุณจะได้ในปีนี้นั้นได้ถูกกำหนดไว้แล้ว อย่าไปซีเรียสกับมันนัก

พิธีกรจึงถามต่ออีกว่า ถ้าเงินถูกกำหนดไว้แล้ว อย่างนั้นก็ไม่มีประโยชน์ที่จะทำอะไรเลยน่ะสิ เพราะยังไงพระเจ้าก็จะให้เงินเราใช้เท่านี้อยู่แล้ว

รับบีบอกว่าเป็นคำถามที่ดี การทำมาหาเลี้ยงชีพนั้นเป็นเรื่องศักดิ์สิทธิ์ เป็นเรื่องของปาฏิหาริย์ เป็นการอำนวยพรของพระเจ้า แต่ปาฎิหาริย์ไม่อาจเกิดขึ้นแบบไม่มีปี่ไม่มี่ขลุ่ย มันต้องอาศัยช่องทางของเรื่องปกติธรรมดานี่แหละ

เราอาจจะเคยได้ยินนิทานของชายผู้เชื่อมั่นในพระเจ้า:

วันหนึ่งน้ำท่วมหนัก รถบรรทุกลุยน้ำมาเพื่อมารับชายคนนั้นออกจากพื้นที่

“ไม่เป็นไร ผมเชื่อมั่นว่าพระเจ้าจะมาช่วยผมอย่างแน่นอน”

ระดับน้ำยังสูงขึ้นเรื่อยๆ จนถึงชั้นสอง ชายคนนั้นต้องมาอยู่บนหลังคาบ้าน มีเรือของหน่วยกู้ภัยเข้ามาช่วย

“ไม่เป็นไร ผมเชื่อมั่นว่าพระเจ้าจะมาช่วยผมอย่างแน่นอน”

น้ำยังคงสูงขึ้นไม่หยุด แม้จะยืนบนหลังคาน้ำก็ท่วมอกขายคนนั้นแล้ว มีเฮลิคอปเตอร์บินมาช่วยชายคนนั้น

“ไม่เป็นไร ผมเชื่อมั่นว่าพระเจ้าจะมาช่วยผมอย่างแน่นอน”

แล้วชายคนนั้นก็จมน้ำตาย เมื่อเขาไปถึงสวรรค์และได้พบกับพระเจ้า เขาก็ต่อว่าพระเจ้าเป็นการใหญ่

“ทำไมท่านไม่มาช่วยผม?”

“ไม่ได้ช่วยตรงไหน เราส่งทั้งรถบรรทุก เรือ และเฮลิคอปเตอร์ไปให้เจ้าแล้วนะ”

ปาฏิหาริย์เกิดขึ้นได้ แต่ต้องเกิดผ่านเรื่องที่เป็นธรรมชาติและเรื่องที่เป็นธรรมดา

ถ้าคุณเปิดร้านขายของ ยอดขายเดือนละ 500,000 บาท แล้วตอนนี้คุณอยากได้ยอดขายเดือนละ 1,000,000 บาท คุณก็ต้องทำอะไรสักอย่าง เช่นขยายร้านให้ใหญ่ขึ้น มีสินค้าให้เลือกเยอะกว่าเดิม เพิ่มช่องทางออนไลน์ ฯลฯ

เมื่อเราต้องการจะมีรายได้มากขึ้น เราก็ต้องขยาย “ภาชนะ” เพื่อจะรองรับมันเช่นกัน

แต่ถ้าเราบอกว่า อยากมีรายได้มากขึ้นสองเท่า แต่ทำทุกอย่างเหมือนเดิม แล้วพระเจ้าจะช่วยเราได้อย่างไร หากเราอยากได้เงิน แต่เราไม่ยื่นมือออกมา คิดเหรอว่าจะมีใครเอาเงินมายัดใส่กระเป๋ากางเกงให้เรา

ดังนั้น อย่างน้อยที่สุด เราต้องยื่นมือออกมาก่อน แสดงให้คนอื่นเห็นก่อนว่าเราพร้อมจะรับแล้ว

แน่นอนว่าสิ่งที่รับบีพูดมาอาจจะยังมีช่องโหว่ คนช่างคิดและเต็มไปด้วยตรรกะคงเถียงกันได้ไม่จบสิ้น

แต่ผมก็ยังเชื่อว่าบางแง่มุมของเรื่องนี้ยังมีประโยชน์อยู่ดี จึงตัดสินใจนำมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้

ข้อสรุปที่ผมได้สำหรับตัวเอง คือเราควรทำตามหน้าที่ของเราไปด้วยความซื่อตรงและขยันขันแข็ง เพื่อเป็นการเปิดทางให้พระเจ้าได้แสดงปาฏิหาริย์ผ่าน “ภาชนะ” ที่เราตระเตรียมเอาไว้แล้ว

แต่ถ้ามันไม่ได้เป็นไปตามที่เราคาดการณ์เอาไว้ ก็ไม่เป็นไร ให้นึกถึงสุภาษิตจีนที่ว่า ความพยายามเป็นเรื่องของมนุษย์ ความสำเร็จเป็นเรื่องของฟ้าดินครับ


ขอบคุณเนื้อหาจาก The Secret to Becoming TRULY Rich (with Rabbi Manis Friedman)| KOSHER MONEY Episode 20 นาทีที่ 25-30

นิทานบุหรี่ในห้องพระ

วันนี้วันศุกร์ มาฟังนิทานจากพระอาจารย์ไพศาล วิสาโลกันนะครับ

มีสำนักปฏิบัติธรรมแห่งหนึ่งในอเมริกา สมาชิกเป็นฆราวาสทั้งนั้น

กรรมการสถานปฏิบัติธรรมนี้มีความเห็นว่า ควรจัดให้มีการจัดอบรมสันติวิธีแก่สมาชิก เพราะเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการคลี่คลายความขัดแย้ง ไม่ว่าในครอบครัว ในที่ทำงาน ในสังคม จึงเชิญวิทยากรคนหนึ่งมาฝึกอบรมสันติวิธีเป็นเวลาสองวัน โดยใช้ห้องสวดมนต์เป็นสถานที่จัดอบรม

วันแรกผ่านไปด้วยดี วันที่สองวิทยากรอยากจะฝึกให้ยากขึ้น จึงสร้างเหตุการณ์สมมุติขึ้นมาว่า มีผู้ก่อการร้ายจับตัวประกันสองคน ให้สมาชิกสองคนรับบทเป็น “ตัวประกัน” คนที่เหลือสวมบทบาทเป็นผู้เจรจาเพื่อให้สองคนนั้นได้รับอิสรภาพ ส่วนวิทยากรรับบทเป็นผู้ก่อการร้าย

เมื่อชี้แจงบทเรียบร้อยแล้ว เขาก็ควักบุหรี่ออกมาสูบ

ผู้เข้าฝึกอบรมคนหนึ่งประท้วงขึ้นมาทันทีว่า “ที่นี่ห้ามสูบบุหรี่ เพราะนี้เป็นห้องสวดมนต์”

ผู้ก่อการร้ายตอบว่า “ผมไม่สนใจหรอก คุณอยากเจรจาเรื่องสูบบุหรี่ หรืออยากให้เพื่อนของคุณได้อิสรภาพ?”

ผู้เข้าอบรมก็บอกว่า “ถ้าคุณสูบบุหรี่ในนี้ เราก็ไม่เจรจากับคุณ”

ผู้ก่อการร้ายจึงพูดว่า “ก็ได้ หยุดสูบก็ได้” ว่าแล้วก็เดินไปที่แท่นบูชา แล้วขยี้ก้นบุหรี่บนตักพระพุทธรูป”

ทุกคนในห้องไม่พอใจมาก มีคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “คุณรู้ไหมว่าทำอะไรลงไป นี่พระพุทธรูปนะ”

ผู้ก่อการร้ายตอบว่า “ผมไม่สนใจ นี่ไม่ใช่พระพุทธรูปของผม และนี่ก็ไม่ใช่ห้องสวดมนต์ของผม ตอนนี้ผมหยุดสูบบุหรี่แล้ว พวกคุณอยากเจรจาเรื่องเพื่อนของคุณหรือเปล่า ไม่งั้นผมก็จะออกจากห้องนี้ไป”

ตอนนี้ทุกคนโมโหจนลืมไปว่าตนกำลังสวมบทบาทสมมุติ มีคนหนึ่งบอกเขาว่า “เราเชิญคุณมาที่นี่เพื่อจัดอบรม เรารู้ว่าคุณไม่ใช่ชาวพุทธ แต่นี่คือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของเรา คุณควรเคารพสถานที่แห่งนี้ด้วย”

วิทยากรซึ่งยังสวมบทผู้ก่อการร้ายอยู่จึงพูดว่า “คุณอยากรู้ว่าผมเคารพสถานที่นี้แค่ไหนหรือ?” ว่าแล้วเขาก็เดินไปมุมห้องแล้วฉี่ใส่พื้น

เท่านั้นแหละทุกคนอดใจไม่อยู่ ต่างวิ่งไปทำร้ายเขา เตะต่อยสารพัด จนเขาล้มลง แต่ก็หนีออกมาได้ พร้อมกับบอกให้ “ตัวประกัน” เป็นอิสระ แล้วเขาก็ไม่กลับมาอีกเลย

คำถามคือ ทำไมผู้ปฏิบัติธรรมซึ่งตั้งใจฝึกสันติวิธี จึงลงเอยด้วยการเตะต่อยวิทยากร ทั้งที่หลายคนไม่เคยทำร้ายใคร ยุงก็ไม่ตบ บางคนกินมังสวิรัติด้วย

คำตอบก็คือ เพราะคนเหล่านั้นเห็นว่า วิทยากรทำไม่ถูกต้อง แต่เขาลืมไปว่า นี่เป็นการแสดง ไม่ใช่ของจริง และเป็นความตั้งใจของวิทยากรที่อยากให้โจทย์ยากๆ ว่าจะใช้สันติวิธีได้อย่างไรหากถูกยั่วยุหรือเจอเรื่องกระทบใจ แต่ผู้ปฏิบัติธรรมเหล่านั้นกลับลืมตัวเมื่อถูกยั่วยุ หันไปใช้ความรุนแรงกับวิทยากร

ทำไมเขาเหล่านั้นลืมตัว ก็เพราะเขาเห็นความไม่ถูกต้อง และเนื่องจากยึดมั่นในความถูกต้องมาก พอเห็นคนอื่นทำสิ่งไม่ถูกต้อง ก็เลยลืมตัว ลืมไปว่า นี่คือเรื่องสมมุติ เป็นแบบฝึกหัดเพื่อใช้สันติวิธีแก้ปัญหา ผลก็คือ ทุกคนสอบตกหมดเลย


ขอบคุณเนื้อหาจากเพจ ข้อธรรม คำสอน พระไพศาล วิสาโล

ความเชื่อเราเป็นอย่างไร ความจริงก็คงเป็นอย่างนั้น

20200712c

ถ้าเราเชื่อว่าเราคงสู้เขาไม่ได้ เราก็คงไม่ได้ลงแรงมากนักในการฝึกซ้อมและเตรียมตัว สุดท้ายเราก็จะสู้เขาไม่ได้จริงๆ

ถ้าเราเชื่อว่าเราเป็นคนไม่มีเสน่ห์ เราก็จะไม่ค่อยใส่ใจเรื่องเสื้อผ้าหน้าผมและทักษะการเข้าสังคม เราก็เลยกลายเป็นคนไม่มีเสน่ห์ไปจริงๆ

ถ้าเราเชื่อว่าโลกนี้กำลังกลั่นแกล้งเรา เราก็จะตีความการกระทำของคนรอบข้างเป็นลบไว้ก่อน เมื่อเราคิดลบกับเขา เขาก็ย่อมคิดลบกับเราหรือไม่ก็หนีห่าง โลกจึงดูเหมือนกำลังกลั่นแกล้งเราจริงๆ

ทุกความเชื่อคือ self-fulfilling prophecy มันคือคำทำนายที่กลายเป็นจริงเพราะเราทำตัวเอง แล้วเราก็ได้แต่อุทานว่า “กูว่าแล้ว”

ลองเชื่อแบบอื่นๆ ดูบ้าง เผื่อจะเจอความจริงที่น่ารักกว่านี้ครับ