น้อยนิดสำหรับเรา มากมายสำหรับเขา

น้อยนิดสำหรับเรา มากมายสำหรับเขา

“นี่มัน TCDC ชัดๆ”

ผมพึมพัมในใจขณะเดินชมนิทรรศการของ TIJ

TIJ ย่อมาจาก Thailand Institute of Justice หรือ “สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน)

ทำไมต้อง ‘การ’ ยุติธรรม ไม่ใช่ ‘ความ’ ยุติธรรม? ผมทดคำถามนี้ไว้ในใจ

TIJ อยู่ติดกับกระทรวงยุติธรรม เยื้องกับศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ

นิทรรศการที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ใน TCDC นี้บ่งบอกถึงความเป็นมาของความยุติธรรม เริ่มต้นจากการที่มนุษย์หวาดกลัวสิ่งที่ตัวเองไม่เข้าใจ เช่นฟ้าผ่าและไฟไหม้ มนุษย์ก็เลยบูชา “สิ่งที่อยู่บนนั้น” โดยหวังว่าเทพเจ้าจะโปรดปราน

จากนั้นก็ไล่เรียงประวัติศาสตร์เรื่อยมา ตั้งแต่การที่มนุษย์ขอฝนจากทวยเทพ การแบ่งชนชั้นวรรณะ การจัดสรรทรัพยากรอันไม่เท่าเทียม การเรียกร้องสิทธิสตรี และการตั้งคำถามว่าสัตว์เลี้ยงและ AI ควรมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับมนุษย์หรือไม่ พร้อมทั้งยังมี interactive display ให้เล่นอีกหลายอย่าง เสียดายที่ยังเข้าเยี่ยมชมได้เฉพาะวันธรรมดาตามเวลาราชการ คงต้องรอให้ลูกปิดเทอมก่อนแล้วผมจะลางานพาลูกๆ มาเดินดูและชวนคุยไปด้วยกัน

—–

“นี่มันอาหารเหลาชัดๆ”

ผมพึมพัมกับตัวเองหลังจากเห็นเมนูจานแรกและจานถัดๆ มา ที่ได้รับประทานในห้องประชุมของ TIJ

รายชื่อเมนูอาจดูธรรมดา ไม่ว่าจะน้ำพริกปลาทู ก๋วยเตี๋ยว และน้ำแข็งไส แต่ที่มันไม่ธรรมดานั้นมีสองปัจจัย

หนึ่ง เมนูเหล่านี้ถูกรังสรรและตีความใหม่โดย “เชฟอิน” ที่มีผู้ติดตามทาง TikTok มากกว่าหนึ่งล้านคน

สอง อาหารทุกจานนั้นถูกปรุงและตกแต่งโดยอดีตผู้ต้องขัง

ในปีที่ผ่านมา ทาง TIJ รับอดีตผู้ต้องขังยี่สิบกว่าคนเข้าโครงการ “โรงเรียนตั้งต้นดี” (Restart Academy) เพื่อสอนทำอาหาร และให้โอกาสเปิดร้านในฟูดคอร์ทของ TIJ ได้ทำจริง ขายจริง กับลูกค้าจริง เมื่อคนเหล่านี้มีทักษะและความเชื่อมั่นในตัวเองมากพอ พวกเขาก็จะหางานตามร้านอาหาร โรงแรม หรือทำร้านของตัวเองเพื่อตั้งต้นชีวิตใหม่กันต่อไป

ก่อนที่พวกเราจะมาเยือน TIJ หนึ่งสัปดาห์ เพื่อนๆ ชาว IMET MAX ได้ติดต่อเชฟอินมาช่วยสอนคนกลุ่มนี้ทำเมนูระดับ Chef’s Table เพื่อแสดงให้พวกเขาเห็นว่า เราสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเมนูธรรมดาเหล่านี้ได้หากเราไม่กลัวที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ

เสียดายที่คอร์สแบบ Chef’s Table ไม่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ไม่อย่างนั้นผมคงจะพาที่บ้านกลับมากินด้วยเหมือนกัน

—–

จบจาก Chef’s Table ผมและเพื่อนกลุ่ม IMET MAX ก็ได้ฟังการพูดคุยแบบ panel discussion ที่มีตัวแทนจากอดีตผู้ต้องขัง เชฟอิน และ “คุณจุ้น” ผู้ดูแลโครงการโรงเรียนตั้งต้นดี โดยมีคุณอุ๋ย บุดดาเบลส มาช่วยดำเนินการสนทนา

มีสองประเด็นที่คุณจุ้นพูดแล้วสะกิดใจผมมาก

หนึ่ง เราอาจจะมีภาพจำว่าอดีตนักโทษคือบุคคลอันตราย แต่เอาเข้าจริง คนที่เคยก้าวพลาดมาแล้วมีความระมัดระวังกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ เพราะเขารู้ซึ้งถึงความทุกข์และความยากลำบากของการถูกจองจำ ซึ่งไม่ได้เกิดกับเขาเพียงคนเดียว แต่กับอีกหลายคนในครอบครัว

สอง วันที่พวกเขาได้รับอิสรภาพและเดินออกจากเรือนจำ คนแรกๆ ที่มายืนรออยู่หน้าเรือนจำเพื่อต้อนรับพวกเขาคือดีลเลอร์ค้ายา จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่ 1 ใน 3 ของอดีตผู้ต้องขังจะได้กลับไปอยู่ในคุกตารางอีกครั้ง เพราะคนเหล่านี้ไม่ค่อยได้รับโอกาสให้กลับไปมีที่ยืนในสังคม

เคยมีสักคนเคยพูดเอาไว้ว่า อาชญากรก็ไม่ต่างจากคนธรรมดาอย่างพวกเราหรอก เพียงแต่เขาโดนจับได้เท่านั้นเอง

—–

เซสชั่นสุดท้ายของวัน คือการแบ่งกลุ่มเพื่อร่วมพูดคุยกับอดีตผู้ต้องขัง

คนที่ผมได้คุยด้วยมีชื่อว่า “นก” อายุ 33 ปี เป็นผู้หญิงผมสั้นผิวขาว แววตาดูซื่อๆ

นกไม่ได้เล่าให้ฟังชัดเจนว่าถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาอะไร แต่เดาจากช่วงเวลาที่ต้องอยู่ในคุกนานถึง 12 ปี ผมจึงเดาว่าไม่พ้นคดียาเสพติด

ผมถามนกว่า ไม่ได้เห็นโลกภายนอกนานขนาดนี้ พอกลับออกมาแล้วอะไรเปลี่ยนไปเยอะที่สุด?

“ถนนหนทางและโซเชียลมีเดีย” นกตอบ

นกยังไม่มีแอคเคาท์ TikTok แต่มี Facebook เรียบร้อย

แล้วสิ่งที่กังวลใจที่สุดคือเรื่องอะไร? พวกเราถามต่อ

“เรื่องลูก” นกก้มหน้า น้ำตาไหล จนเราต้องหาทิชชู่มาให้

นกมีลูกสาวสองคน อายุ 15 ปี และ 14 ปี อยู่กับคุณยายที่ต่างจังหวัด การที่นกโดนจองจำอยู่ 12 ปีย่อมหมายความว่านกแทบไม่มีโอกาสได้ทำหน้าที่ของแม่เลย ซึ่งมันทำให้นกรู้สึกเหินห่างกับลูกทั้งทางกายและใจ และนกรู้สึกผิดกับเรื่องนี้มากที่สุด

หลังจากพ้นโทษและได้โอกาสมาเข้าโครงการครัวตั้งต้นดี นกมีความฝันอยากเป็นบาร์เทนเดอร์

ตอนนี้นกขายน้ำอยู่ในฟู้ดคอร์ทของ TIJ ชื่อร้าน “หวานเอยหวานใจ” เมนูที่ขายดีคือโอเลี้ยงและชานม

(ผมมารู้ภายหลังว่า ร้านนี้ขาย “ขนมเปียกปูน” ที่เป็นขนมเบรกยามเช้าของพวกเราในวันนั้นด้วย มีเพื่อนบางคนถึงกับเอ่ยปากว่า ขนมเปียกปูนเจ้านี้อร่อยที่สุดตั้งแต่เคยกินมา)

“พี่บา” เจ้าของร้านอาหารชื่อดังที่อยู่กลุ่มเดียวกับผม ได้ให้ข้อแนะนำกับนกไว้หลายอย่าง เช่น ลองคิดสูตรน้ำใหม่ๆ มาขาย ลองเพิ่มมูลค่าต่อแก้วด้วยการเติมโซดาหรือน้ำผึ้ง ลองเขียนคำโปรยว่า “พิเศษสำหรับอาทิตย์นี้เท่านั้น”

ผมเห็นแววตาของนกเป็นประกาย หลายไอเดียนกอาจไม่เคยคิดถึงมาก่อน

แล้วประโยคหนึ่งก็แล่นเข้ามาในหัวของผม

“น้อยนิดสำหรับเรา มากมายสำหรับเขา”

คำแนะนำที่พี่บามอบให้นกนั้น เป็นเรื่องเบสิคที่พี่บาย่อมรู้ดีจากประสบการณ์อันยาวนานในวงการนี้ แต่สำหรับนก มันอาจเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้นกกล้าลุกขึ้นมาทำอะไรที่จะช่วยให้ความฝันการเป็นบาร์เทนเดอร์ของนกเข้าใกล้ความจริงมากขึ้น

พนักงานทุกคนในครัวตั้งต้นดีจะได้รับเงินเดือนส่วนหนึ่งจาก TIJ และได้รับส่วนแบ่งจากกำไรของครัวตั้งต้นดี ดังนั้นหากนกทำให้ร้านตัวเองขายดีขึ้น ก็ย่อมได้รับส่วนแบ่งมากขึ้น มีเงินเก็บมากขึ้น และมีความพร้อมที่จะ “ตั้งต้นใหม่” มากขึ้นนั่นเอง

—–

“ทำไมต้อง ‘การ’ ยุติธรรม ไม่ใช่ ‘ความ’ ยุติธรรม ด้วยครับ?”

ระหว่างที่ทุกคนกำลังแยกย้าย ผมยิงคำถามคาใจกับ “พี่ปุ้ย” หนึ่งในผู้บริหารของ TIJ

“เพราะเราอยากให้ความยุติธรรมเป็นเรื่องของคนทุกคน ไม่ใช่แค่รัฐบาลหรือแค่บางหน่วยงาน” พี่ปุ้ยตอบ

พี่ปุ้ยเล่าว่า มีผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวปีละ 200,000 คน ห้าปีก็หนึ่งล้านคน แต่เราไม่มีกระบวนการที่ดีพอในการเตรียมความพร้อมให้คนเหล่านี้กลับเข้าไปอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ กรมราชทัณฑ์เองก็ดูแลไม่ไหว

และพี่ปุ้ยก็ให้คำตอบของอีกหนึ่งคำถามราวกับอ่านใจผมออก

“เราไม่ได้คิดว่า TIJ จะจัดการปัญหานี้ได้ด้วยตัวคนเดียว ตอนนี้เรารับคนได้เพียงหลักสิบ อนาคตอาจจะได้มากกว่านี้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะรองรับจำนวนผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวในแต่ละปีได้ ดังนั้นจุดประสงค์ของเราก็คือทำโมเดลตัวอย่าง และหวังว่าจะมีหน่วยงานอื่นๆ หรืออาสามัครอื่นๆ นำกรณีศึกษานี้ไปทำไปให้เกิดผลในพื้นที่ของตัวเอง”

“พี่เมฆ” อีกหนึ่งผู้บริหารของ TIJ ที่อยู่กับเราตั้งแต่เช้าก็อธิบายว่า ครัวตั้งต้นดีเป็นเพียงหนึ่งในโครงการของ TIJ ในอนาคตอาจจะมีการฝึกวิชาชีพอื่นๆ เช่นการแต่งหน้าทำผมและนวดเพื่อสุขภาพ ตอนนี้รายได้หลักของ TIJ มาจากงบของรัฐบาล แต่งบก้อนนี้จะน้อยลงทุกปี ดังนั้น TIJ ต้องมุ่งหน้าสู่การเป็น social enterprise เพื่อยืนหยัดด้วยตัวเองให้ได้

—–

“แล้วเราจะช่วยอะไรได้บ้าง?” นี่คือคำถามสำคัญสำหรับผม

ผมได้กลับมาคุยกับทีมงานเพื่อขอให้ครัวตั้งต้นดีได้เข้าไปขายใน LINE MAN ด้วย GP อัตราพิเศษ เพื่อเพิ่มช่องทางให้ครัวตั้งต้นดีสามารถมีรายได้มากขึ้น และเพิ่มโอกาสให้อดีตผู้ต้องขังได้ตั้งต้นใหม่

ผู้อ่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ สามารถอุดหนุนครัวตั้งต้นดีที่ TIJ ข้างกระทรวงยุติธรรม ครัวเปิดวันจันทร์ถึงศุกร์ 7 โมงเช้าถึงบ่ายโมง ที่จอดรถฟรีและเหลือเฟือ ส่วนการเดินทางไปย่านนั้นง่ายกว่าแต่ก่อน ขับรถจากรามอินทรามีสะพานข้ามทุกแยก แทบไม่เจอไฟแดง แถมตอนนี้ก็มีรถไฟฟ้าสายชมพูผ่านแล้วด้วย

หรือถ้าไม่สะดวกไปถึง TIJ ก็สามารถสั่งทาง LINE MAN https://lin.ee/Gim5tsh (Foodpanda กำลังตามมาเร็วๆ นี้) ขอบอกว่าขนมเปียกปูนคือทีเด็ด ส่วนเมนูอื่นๆ ทางร้านกำลังทยอยลงครับ

ให้โอกาสคนเคยพลาดพลั้ง เพราะตอนที่เราพลาดพลั้งเราก็อยากได้รับโอกาสนั้นเช่นกัน

เราสามารถทำสิ่งที่เล็กน้อยสำหรับเรา แต่มีคุณค่ามากมายสำหรับคนอื่นได้เสมอครับ

แรดเทา หงส์ดำ และมังกรราชัน”อาละดินกับลัดไดต์”หนังสือที่คนเป็นพ่อเป็นแม่ควรได้อ่าน

Aladdin & Luddite | อาละดินกับลัดไดต์” เป็นหนังสือเล่มใหม่จาก openbooks หลังจากสำนักพิมพ์แห่งนี้ “จำศีล” ไปนานเกือบสามปี

อาละดินคือเจ้าของตะเกียงวิเศษที่สามารถเรียกยักษ์จินนี่ออกมารับใช้ตามที่ใจนายปรารถนา ปัญหาคือยักษ์จินนี่ที่มีชื่อว่าเอไอถูกเรียกออกมา และไม่อาจส่งกลับเข้าตะเกียงได้อีกต่อไป

ลัดไดต์ คือชื่อเรียกของกลุ่มช่างทอผ้าชาวอังกฤษช่วงต้นศตวรรษที่ 19 ที่ลุกขึ้นมาประท้วงการนำเครื่องจักรมาใช้ในโรงงาน เพราะกลัวว่ามันจะมาทำลายการเลี้ยงชีพของพวกเขา

การประท้วงของลัดไดต์บางกลุ่มรุนแรงถึงขั้นทำลายเครื่องจักร จนนำไปสู่การล้อมปราบของรัฐบาล ลัดไดต์จำนวนมากได้รับโทษจำคุก ประหารชีวิต หรือถูกส่งไปยังเมืองอาณานิคมอย่างออสเตรเลีย

ผมอ่านอาละดินกับลัดไดต์จบด้วยความอิ่มเอมและความกังวล

อิ่มเอม เพราะได้เห็นภาพใหญ่ที่พี่ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา บรรณาธิการคัดสรร (curator) ได้ร้อยเรียงเรื่องราวจากหนังสือเล่มหนา 5 เล่มของนักคิดนักเขียนระดับปรมาจารย์

กังวล เพราะรู้ตัวว่าหากไม่ลงมือทำอะไรที่ต่างออกไปตั้งแต่ตอนนี้ ผมอาจต้องมานั่งเสียดายในภายหลัง

หนังสือที่ปรากฎตัวใน Aladdin & Luddite ได้แก่

  1. World Order ของเฮนรี คิสซิงเจอร์ (Henry Kissinger) นักยุทธศาสตร์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผู้ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในโลก
  2. Doom ของนีลล์ เฟอร์กูสัน (Niall Ferguson) นักประวัติศาสตร์แถวหน้าของอังกฤษ
  3. The Technology Trap ที่นิตยสาร Financial Times ยกย่องให้เป็นหนังสือที่ดีที่สุดประจำปี 2019 ในหมวดเทคโนโลยี เขียนโดย คาร์ล เบเนดิกต์ เฟรย์ (Carl Benedikt Frey) นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจเทคโนโลยี
  4. Redesigning Work ของลินดา แกรตตัน (Lynda Gratton) อาจารย์ดีเด่นแห่งปีของ London Business School และผู้เขียนหนังสือ “ชีวิตศตวรรษ” (The 100-Year Life) ที่พิมพ์ไปแล้วนับล้านเล่ม
  5. The Metaverse – ของ คิมซังกยุน (Sangkyun Kim) หนึ่งในหนังสือที่สร้างปรากฏการณ์ในเกาหลี

เมื่อระเบียบโลกที่เราคุ้นเคยกำลังพังทลาย สัตว์มหัศจรรย์ทั้งหลายเริ่มปรากฎตัว ไม่ว่าจะเป็นแรดเทา (อันตรายที่เรามองเห็นและพอคาดเดาได้) หงส์ดำ (อันตรายที่เรามิอาจคาดการณ์) และมังกรราชัน (เหตุการณ์รุนแรงเกินจินตนาการ)

เทคโนโลยีที่มาใหม่ อาจเป็น labor-enabling technology ที่ช่วยให้เราทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรืออาจเป็น labor-replacing technology อย่างเครื่องทอผ้าที่ทำให้แรงงานฝีมือนั้นด้อยคุณค่าในข้ามคืน

เราจึงต้องวางแผนชีวิตและการงานของเราใหม่ ต้องเพิ่มทักษะเพื่อจะไม่ต้องเป็นลัดไดต์ที่ต่อต้านจักรกลและเอไอโดยไม่เห็นหนทางชนะ

การเรียนเต็มเวลา ทำงานเต็มเวลา และจบลงด้วยการเกษียณอาจไม่ตอบโจทย์ชีวิตอีกต่อไป เพราะเงินที่เรากันไว้ยามชราอาจไม่พอใช้สำหรับชีวิตที่อาจยืนยาวถึงหนึ่งร้อยปี

เมื่อ Metaverse แพร่หลายไปกว่านี้ เราจะมีตัวตนใหม่อยู่ในโลกคู่ขนานที่กำกับโดยเอไอ จนเราไม่อาจแน่ใจได้เลยว่า ตัวเองเป็นจวงจื่อที่ฝันว่าเป็นผีเสื้อ หรือเราเป็นผีเสื้อที่ฝันว่าเป็นจวงจื่อกันแน่

Aladdin & Luddites จึงเป็นเหมือน wake-up call ให้เราตื่นจากฝันและตื่นจากความชะล่าใจ เผลอคิดว่าอนาคตคือเส้นตรงที่ลากไปจากปัจจุบัน ทั้งที่จริงแล้วทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไปในอัตราเร่ง

“เมื่อวิกฤติยังมาไม่ถึง
เรามีแนวโน้มที่จะประเมินสถานการณ์
ต่ำกว่าความเป็นจริง

เราจึงไม่คิดว่า
แรดเทา จะกลายเป็น หงส์ดำ
และ หงส์ดำ จะกลายร่าง
เป็น มังกรราชัน ได้…

เราจึงไม่ตัดสินใจกระทำการใหญ่
ได้แต่ผัดผ่อนการแก้ปัญหา
คล้ายการเตะกระป๋องไปเบื้องหน้า

ด้วยเชื่อว่าปัญหา
อาจจะมีใครบางคนช่วยคลี่คลาย
และเรื่องจริงคงไม่เลวร้ายขนาดนั้น

นี่คืออันตรายที่สุด
ในการเตรียมตัวรับมือวิกฤติ
ในทุกมิติของชีวิต”

อาละดินกับลัดไดต์ไม่ใช่หนังสือ How To มันไม่ได้ให้คำตอบสำเร็จรูป จริงๆ แล้วเมื่ออ่านจบแล้วเราจะมีคำถามมากกว่าเดิมด้วยซ้ำ

เราจะออกแบบชีวิตอย่างไรให้มีภูมิคุ้มกันจากแรดเทา หงส์ดำและมังกรราชัน?

เราควรลงมือทำสิ่งใดเพื่อลดโอกาสที่เราจะกลายเป็นลัดไดต์แห่งศตวรรษที่ 21?

เราจะให้การศึกษาอะไรกับลูกในวันที่ AI จะทำได้ดีกว่าลูกเราเกือบทุกอย่าง?

เป็นคำถามที่เราต้องสบตาและใช้เวลาขบคิดให้มาก ไม่อย่างนั้นเราอาจเสียแรงและเวลาอย่างผิดที่ผิดทางและเปล่าดาย

“เราจะรักษาความสัมพันธ์กับผู้คนได้อย่างไร
ในโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งแบ่งฝ่าย
ความเกลียดชัง ความเย้ยหยัน ความริษยา
และความปรารถนาอันไม่สิ้นสุด

อะไรคือการศึกษายุคใหม่
ที่เราต้องมอบให้ลูกหลาน
เพื่อเตรียมพวกเขาให้เข้าสู่โลกอนาคต
อนาคตซึ่งเราเองก็ไม่เข้าใจ…

นอกจากมีเงินเก็บเท่าไรจึงจะมั่นคง
เราอาจจะต้องคิดถึงคำถามใหม่ที่ว่า
เราจะรู้สึกมั่นคงได้อย่างไร
โดยไม่จำเป็นต้องมี
เงินเก็บมากมายตามตำรา”

ผมเชื่อว่า “อาละดินกับลัดไดต์” เป็นหนังสือที่คนเป็นพ่อเป็นแม่ควรได้อ่าน เผื่อว่ามันจะกระตุกให้เราได้หยุดคิดพิจารณา เริ่มวางแผนสำรองให้กับชีวิตและครอบครัว เพื่อเตรียมตัวกับอนาคตที่ไร้ซึ่งความแน่นอนครับ


ขอบคุณเนื้อหาและประกายความคิดจากหนังสือ Aladdin & Luddite | อาละดินกับลัดไดต์ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เรียบเรียง สำนักพิมพ์ openbooks (หนังสือมีสองปกคือสีฟ้าและสีส้มอมชมพู ขอบคุณภาพจากเพจ openbooks ครับ)

เกิดเป็น “เด็กสมัยนี้” ชีวิตไม่ง่ายเลย

เกิดเป็น “เด็กสมัยนี้” ชีวิตไม่ง่ายเลย

สุดสัปดาห์ที่แล้ว ผมมีโอกาสได้ไปร่วมไลฟ์กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ “เคล็ด (ไม่) ลับ เตรียมตัวอย่างไรให้ได้ใจองค์กรยุคใหม่

ก่อนจบ คุณโจ้ ฉวีวรรณ ผู้รับหน้าที่พิธีกรถามผมว่า มีอะไรที่อยากจะฝากไว้สำหรับเด็กที่เพิ่งเรียนจบหรือกำลังจะเรียนจบหรือไม่

คำตอบของผมก็คือ ขอเป็นกำลังใจให้ เพราะการเป็นเด็กจบใหม่ในพ.ศ.นี้เป็นเรื่องที่ท้าทายสุดๆ

ประเด็นนี้ติดค้างอยู่ในใจมาเป็นสัปดาห์ เลยอยากนำมาเขียนบันทึกลงไว้ในบล็อก

แน่นอนว่านี่คือมุมมองของคนวัยสี่สิบกว่า จึงไม่สามารถอ้างได้ว่าตัวเองเข้าใจ Gen Z อย่างถ่องแท้

แต่อย่างน้อยในทีมผมก็มีน้องๆ ที่เพิ่งเรียนจบมาเช่นกัน จึงเชื่อว่าสิ่งที่ผมกำลังจะเขียนนี้น่าจะมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย

มาดูกันว่าเด็กจบใหม่พ.ศ.นี้ (อาจ) มีอุปสรรคอะไรบ้าง เมื่อเทียบกับคนรุ่นผมที่เริ่มทำงานเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว

ค่าครองชีพโตเร็วกว่าค่าจ้าง

ค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้นมาก ตอนปี 2003 ผมยังหาบะหมี่เกี๊ยวหมูแดงชามละ 25 บาท พิเศษ 30 บาทในกรุงเทพได้ ตอนนี้ราคาอาหารแพงขึ้นอย่างน้อยสองเท่า แต่เงินเดือนเด็กจบใหม่ไม่ได้เพิ่มขึ้นสองเท่า น่าจะประมาณ 50% เท่านั้น

เงินไหลออกง่ายกว่าแต่ก่อน

สมัยผมเริ่มทำงานและมีโทรศัพท์มือถือ ก็จ่ายแค่ค่ารายเดือน และอาจจะมีซื้อริงโทนบ้างนิดหน่อย

สมัยนี้จ่ายค่ารายเดือนยังไม่พอ ยังมีค่า subscription ต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Netflix, Spotify, หรือ YouTube Premium

สมัยก่อน ถ้าเราอยากจะซื้อของ ก็ต้องแต่งตัวไปเดินห้าง ใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งวัน

สมัยนี้ถ้าอยากซื้ออะไรก็เอฟของได้จากบนเตียง และใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที

กินของแพงเป็นประจำ

ผมรู้สึกว่าเด็กสมั้ยนี้กล้าซื้อของกินแพงๆ มากกว่าแต่ก่อน

ตอนที่ผมเงินเดือนไม่เกินสามหมื่น ผมจะกินอาหาร street food (ร้านแบกับดิน) เป็นหลัก เครื่องดื่มของหวานราคาแก้วละ 50 บาทจะซื้อทีต้องคิดแล้วคิดอีก ส่วนร้านในห้างที่ราคาต่อหัวเกินสองร้อยบาทอาจจะได้กินเดือนละสองสามมื้อเท่านั้น

แต่สมัยนี้เด็กจบใหม่เหมือนจะสั่งเครื่องดื่มหรือของหวานอินเทรนด์ราคาเกินร้อยสัปดาห์ละหลายครั้ง

อาจจะเป็นเพราะเพื่อนๆ และพี่ๆ ก็ทำกันเป็นเรื่องปกติ เป็น norm ที่เปลี่ยนไป ก็เลยกล้าใช้จ่ายมากกว่าคนรุ่นผมพอสมควร

มีตัวเปรียบเทียบตลอดเวลา

สมัยผมเวลาจะเปรียบเทียบกับใคร เราก็มีแค่คนที่เราได้เจอกันตัวเป็นๆ เท่านั้น (ส่วนคนในทีวีเราไม่คิดจะเปรียบเทียบอยู่แล้ว)

แต่สมัยนี้ social media ทำให้เราได้เห็น “ชีวิตของคนอื่นที่ดีกว่าเรา” อยู่ตลอด ซึ่งก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้เรารู้สึกว่าอยากจะมีชีวิตดีๆ อย่างเขาบ้าง

เมื่อรายได้ต่ำแต่ความต้องการสูง การมีเงินเหลือเก็บและลงทุนจึงต้องอาศัยแรงใจมากกว่าแต่ก่อน

ทางเลือกมีมากมาย (เกินไป)

สิ่งที่มาพร้อมกับ internet และ social media ก็คือมันทำให้เราเห็นทางเลือกมากมาย แต่มันก็ทำให้เกิดสองสิ่งนี้ได้

หนึ่งคือ analyis paralysis เมื่อมีตัวเลือกเยอะเกินไป เราจึงเลือกไม่ถูกและทำอะไรไม่ถูก สุดท้ายเลยไม่ได้เลือกเลยสักอย่าง

สองคือ shiny object syndrome (SOS) เมื่อเราเห็น “ของเล่นที่แวววาว” เราก็กระโดดเข้าหาสิ่งนั้น แต่สักพักก็จะมีของเล่นชิ้นใหม่ที่น่าสนใจกว่า แล้วเราก็จะกระโดดไปหาของเล่นชิ้นใหม่อยู่เรื่อย เราจึงกลายเป็นวัยรุ่นสมาธิสั้นที่ถูกการตลาดชักจูงโดยง่ายดาย

ไม่คุ้นเคยกับการอดทนรอ

เมื่อตัวเลือกมีมากมาย และทุกอย่างอยู่แค่ปลายนิ้วสัมผัส เด็กสมัยนี้จึงไม่ได้รับการฝึกฝนให้อดทนรอคอย

สมัยผมเรียนมัธยม ก่อนคนไทยจะมีโทรศัพท์มือถือ เวลานัดไปเที่ยวห้างกับเพื่อน หากผมไปถึงจุดนัดพบตามเวลาและเพื่อนยังไม่มา ผมก็ต้องนั่งรอเพื่อนตรงนั้น ไปเดินเล่นที่ไหนไม่ได้

หรือเวลาที่รอพ่อหรือแม่มารับที่โรงเรียน สิ่งเดียวที่พอทำได้คือนั่งตรงที่ประจำแล้วทำการบ้านรอยาวๆ ไป

เมื่อต้องฝึกรอมาตั้งแต่เด็ก เราจึงโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักการรอคอย

แต่สำหรับเด็กสมัยนี้ที่ไม่ต้องรอใคร เพื่อนมาถึงเมื่อไหร่แล้วค่อยโทรมา อยากได้อะไรก็สั่งได้ทันที กล้ามเนื้อการรอคอยจึงไม่ค่อยได้รับการฝึกฝน

ผมจึงบอกน้องๆ เสมอว่า “จงเป็นคนที่รอได้” เพราะสิ่งที่ดีล้วนต้องใช้เวลา – Good things take time.

เหมือนการปลูกต้นไม้ เราไม่ควรรีรอที่จะหย่อนเมล็ด รดน้ำ พรวนดิน แต่เราต้องรอให้แสงแดดและวันเวลาได้ทำหน้าที่ของมัน กว่าที่เมล็ดพันธุ์จะผลิดอกออกผลและให้ร่มเงากับเราได้

มองไม่เห็นความสำคัญของการเข้าหาคนอื่น

เรื่องนี้ผมไม่ได้เจอกับตัว แต่ได้ยินเพื่อนรุ่นพี่อย่างน้อยสองคนพูดถึง

ว่าเด็กที่มาฝึกงานที่บริษัทมักไม่เอ่ยทักทายพี่ๆ ในออฟฟิศ

ผมไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะอะไร ถ้าเป็นเรื่องค่านิยมก็คงเป็นเรื่องของยุคสมัย

แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่ผมคิดว่ามีส่วน ก็คือเด็กเรียนจบยุคนี้ต้องผ่านช่วงล็อคดาวน์ ต้องเรียนออนไลน์ จึงขาดโอกาสปฏิสัมพันธ์กับผู้คนเป็นเวลาอย่างน้อยสองปี

เมื่อไม่ได้เข้าสังคมมาพักใหญ่ ก็เข้าใจได้ที่จะขัดเขินในการเข้าหาคนไม่คุ้นเคย

นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราไม่ควรทำงานที่บ้าน 100% เพราะมนุษย์ต้องทำงานกับมนุษย์ และไม่ใช่ทุกอย่างที่สามารถถ่ายทอดผ่าน Zoom / Slack / หรือ Google Meet

การที่คนหนึ่งคนจะเติบใหญ่ เก่งงานอย่างเดียวไม่พอ ต้องเก่งคนควบคู่ไปด้วย

ความมั่นใจสูงเกินความสามารถ

จริงๆ เด็กวัย 20-30 มีความมั่นใจสูงมาทุกยุคทุกสมัยอยู่แล้ว แต่สมัยนี้จะสูงยิ่งกว่าแต่ก่อนเพราะ

  1. หาความรู้ได้ไม่จำกัด ยิ่งอิน ยิ่งอ่าน ยิ่งมั่นใจ ที่ต้องระวังก็คือเรามักจะเลือกเสพเนื้อหาที่สนับสนุนชุดความเชื่อของเราอยู่แล้ว จึงมักเกิด confirmation bias
  2. อัลกอริธึมของ social media อาจนำพาให้เราเจอคนที่มีชุดความเชื่อคล้ายๆ กัน ก็เลยยิ่งเชื่อมั่นว่าความคิดของเราถูก และรู้สึกว่าตัวเองมีพวกเยอะ (echo chamber)

ขาดผู้นำทางความคิด

สมัยที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตหรือโซเชียล จะมีคนเพียงหยิบมือที่มีโอกาสขึ้นเป็นผู้นำทางความคิดของสังคม ซึ่งการที่เขาขึ้นไปถึงจุดนั้นได้น่าจะเป็นความพ้องพานของจังหวะ ผลงาน สถานะ และโชคชะตา

อาจจะขาดความหลากหลายไปบ้าง แต่ก็มีสื่อหลักต่างๆ ที่ทำหน้าที่เป็น curator จนมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่าผู้นำทางความคิดเหล่านี้เขามีของจริงๆ

มาสมัยนี้ ทุกคนสามารถพูดออกสื่อได้หมด คนที่เสียงดังที่สุดจึงอาจไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ฉลาดที่สุดเสมอไป

“The problem with the world is that the intelligent people are full of doubts, while the stupid ones are full of confidence.”
― Charles Bukowski

เมื่อมีคนพูดมากมาย ข้อดีคือมีความหลากหลาย ข้อเสียคือหากเราไม่มีวิจารณญาณมากพอ เราก็อาจจะเชื่อคนผิด (แถมเรายังมั่นใจสุดๆ ว่าเราเชื่อคนถูก) ซึ่งอาจทำให้เราหลงทางไปได้ไกลเหมือนกัน

Disruption จาก AI

ยุคสมัยของ AI มาถึงเร็วกว่าที่เราส่วนใหญ่คาดคิด

สมัยผมเด็กๆ ไม่มีใครเชื่อว่าคอมพิวเตอร์จะเอาชนะมนุษย์ในการแข่งหมากรุกได้

แต่พอปี 1997 Deep Blue ของ IBM ก็เอาชนะ Garry Kasparov แชมป์โลกหมากรุกจนเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก

ถึงกระนั้น ก็ยังเชื่อว่ากันว่าแม้ AI จะเอาชนะมนุษย์ในเกมหมากรุกได้ แต่ไม่มีทางที่ AI จะชนะมนุษย์ในเกมหมากล้อมได้แน่นอน

จนกระทั่งปี 2016 AlphaGo ของ Google ก็เอาชนะปรมาจารย์ลี เชดอล (Lee Sedol) ได้สำเร็จ

แล้วคนก็ยังปลอบใจตัวเองอีกว่า ถึง AI จะเก่งในหมากรุกหรือหมากล้อม มันก็เก่งแค่เพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น ยังห่างไกลกับ General Intelligence ที่มนุษย์มีมากมายนัก

จนกระทั่งปลายปี 2022 ที่ ChatGPT เข้ามาสั่นคลอนความเชื่อนี้ เมื่อมันสามารถทำอะไรได้หลายอย่างที่เราคาดไม่ถึง และนำพาโลกมนุษย์เข้าสู่ยุค Generative AI

เด็กที่จบมาสมัยนี้ แข่งกับคนไทยยังไม่พอ แข่งกับคนทั่วโลกก็ยังไม่พอ ยังต้องมาแข่งกับคนที่ใช้ AI เก่งๆ อีก

ทักษะหลายอย่างที่ร่ำเรียนกันมาเป็นสิบปี อาจจะเหลือมูลค่าทางเศรษฐกิจเพียงน้อยนิดเพราะ AI ทำได้เร็วกว่า ถูกกว่า และไม่ต้องการเวลาพักผ่อน

Baby Boomers และ Gen X ที่ใกล้เกษียณ ถ้ามีเงินเก็บประมาณหนึ่งและใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ “นอกเกม” ก็น่าจะลดผลกระทบจาก AI ไปได้พอสมควร

คน Gen Y อย่างผมคงหนี AI ไม่พ้น แต่อย่างน้อยก็ทำงานมายี่สิบปี มีเวลาได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ สถานะ และทรัพยากรมากพอให้ตั้งหลักหากเกิดความพลิกผันทางวิชาชีพ

แต่คน Gen Z ที่จบออกมาแล้วต้องมาเจอกับ AI ทันที การก่อร่างสร้างตัวและวางยุทธศาสตร์ให้ชีวิตนั้นไม่ง่ายเลย เพราะความไม่แน่นอนนั้นแน่นอนยิ่งกว่ายุคใด

ถ้าปรับตัวไม่ทัน คนจำนวนไม่น้อยอาจกลายเป็น “ชนชั้นไร้ประโยชน์” (The Useless Class) ตามที่นักประวัติศาสตร์ Yuval Harari เคยทำนายเอาไว้ก็เป็นได้


หากพูดแต่อุปสรรคและไม่พูดถึงทางออกเลยก็ดูจะหม่นหมองไปหน่อย สิ่งที่ผมพอจะแนะนำได้มีดังนี้

เป็น Creator ไม่ใช่แค่ Consumer

ถ้าเราใช้ FB/IG/X เพื่อการเสพแต่เพียงอย่างเดียว เราจะกลายเป็น “สินค้า” ที่แพลตฟอร์มเหล่านี้เอาไปขายเพื่อทำรายได้

แต่ถ้าเราใช้มันเพื่อสร้าง content หรือคุณค่าอะไรบางอย่าง เราก็กำลังใช้เทคโนโลยีเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เรามากกว่าแค่ความบันเทิง แม้จะยังไม่มีรายได้ แต่การมีตัวตนบนโลกออนไลน์คือสินทรัพย์ที่มีคุณค่า

อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้นานพอ

เมื่อทางเลือกมีมากมายและคนส่วนใหญ่ใจร้อน หากเราใจเย็น คัดสรรให้ดี และใช้เวลาอยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้นานพอ เราก็จะมีโอกาสมากกว่าคนอื่นที่จะเก็บเกี่ยวประโยชน์จากสิ่งนั้น

อ่านหนังสือเก่า

ถ้าเสพแต่คลิปหรือข้อความสั้นๆ เราก็จะมีวิธีคิดไม่ต่างจากผู้คนมากมายในรุ่นเดียวกัน

แต่การอ่านหนังสือเก่าคือการพาตัวเราเข้าถึงสิ่งที่ลุ่มลึก เพราะหากหนังสือเก่าหลายสิบหรือหลายร้อยปีแล้วยังมีคนอ่านอยู่ แสดงว่ามันได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าเป็นอกาลิโก

โลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน แต่มนุษย์ก็ยังเหมือนเดิม สิ่งใดที่เคยเป็นจริงเมื่อ 100 ปีที่แล้วและยังคงเป็นจริงในวันนี้ ก็มีแนวโน้มที่จะยังคงเป็นจริงในอีก 100 ปีข้างหน้า

หาเวลาอยู่กับตัวเอง

สิ่งที่เราขาดแคลนในยุคนี้ไม่ใช่ความรู้

สิ่งที่เราขาดแคลนคือการมองและคิดให้ชัดเจน (clarity of thought) เพราะเราถูกโหมกระหน่ำด้วยข้อมูลเกินจำเป็น

ลองปิดจอทุกชนิด และจัดเวลาที่จะได้อยู่กับตัวเองจริงๆ

จะนั่งเฉยๆ จะเขียนความคิดลงสมุด หรือจะไปเดินเล่นแถวบ้านก็ได้

ให้ตัวเองได้ถอยห่างจากโลกอันวุ่นวาย เพื่อจะเห็นอะไรได้ชัดเจนขึ้น

ขอนำถ้อยคำที่พี่ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เคยพูดไว้ที่บริษัทเมื่อสี่ปีที่แล้ว

“ถึงที่สุดแล้ว AI ก็เป็นมนุษย์ไม่ได้ ปัญหาคือมนุษย์สูญเสียความเป็นมนุษย์ต่างหาก เราจึงกลัว AI จึงกลัวหุ่นยนต์และกลไก สิ่งที่ต้องรักษาไว้สูงสุดคือความเป็นมนุษย์ และเรื่องที่ผมคุยมาตลอดหนึ่งชั่วโมงที่ผ่านมาทั้งหมดคือความเป็นมนุษย์

ถ้าเรารักษาความเป็นมนุษย์ไว้ไม่ได้ นั่นคือเหตุผลที่เราต้องกลัวหุ่นยนต์ให้มากที่สุด แต่ถ้าเรารักษาความเป็นมนุษย์ แล้วเรารู้ว่าคุณค่าสูงสุดของมนุษย์อยู่ที่ไหน เราไม่จำเป็นที่จะต้องกลัวความเปลี่ยนแปลง AI จะ disrupt เราไม่ได้ ฉะนั้นจงหาให้เจอว่าคุณค่าที่แท้จริงที่สูงสุดของมนุษย์อยู่ตรงไหน”

โจทย์นี้ไม่มีเฉลย ChatGPT ก็ไม่อาจช่วยได้ มีแต่เราเท่านั้นที่ต้องค้นหาและประเมินคำตอบนั้นด้วยตนเอง

เกิดเป็นเด็กสมัยนี้ชีวิตไม่ง่าย

ขอเป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคนนะครับ

คิดแบบนี้เวลารถติดแล้วอาจหงุดหงิดน้อยลง

รถติดนับเป็นปัญหาคลาสสิคที่รัฐบาลไหนก็ยังไม่เคยแก้ได้ ยิ่งตอนนี้คนกลับมาใช้ชีวิตกันปกติ รถก็กลับมาติดกันเป็นปกติเช่นกัน

ผมเองเป็นคนที่เคยเกลียดรถติดมาก เลี่ยงได้จะเลี่ยงตลอด สมัยทำงานใหม่ๆ ผมจะออกจากบ้านแต่เช้าเพื่อให้ถึงออฟฟิศก่อนเจ็ดโมง และออกจากออฟฟิศหลังทุ่มนึงเพื่อจะได้ไม่ต้องเจอรถติด

เดี๋ยวนี้ผมไม่กลัวรถติดเท่าแต่ก่อน เพราะหาอะไรฟังเพลินๆ ได้มากกว่าฟังเพลง ถ้าไม่มีนัดอะไรเร่งด่วนก็ถือว่าพอรับได้

แต่บางวันมันก็ติดจนเกินรับได้จริงๆ อาจจะเพราะฝนตก อุบัติเหตุ หรือเหตุอะไรก็ตามแต่

วันหนึ่งผมไปเยี่ยมลูกบ้านเพื่อน ปรากฎว่ารถติดมาก เลยเปลี่ยนแผนไปทางแอร์พอร์ตลิงค์แทน เห็นถนนข้างล่างรถติดกันเป็นเบือ

ปรากฎว่าผมไม่รู้สึกหงุดหงิดกับรถติดเลย

จะว่าไปก็เป็นเรื่องธรรมดาสามัญมากที่ผมจะไม่หงุดหงิด เพราะถ้าเราเอาตัวเองออกจากปัญหา มันก็จะเลิกเป็นปัญหาสำหรับเรา

แล้วผมก็คิดขึ้นได้ว่า เวลาผมขับรถแล้วเจอรถติดจนผมหงุดหงิด ผมไม่เคยมองตัวเองเลยว่าที่จริงแล้วผมก็เป็นหนึ่งในต้นเหตุ

รถติดเพราะรถบนถนนมันเยอะ และผมก็ทำให้มันติดมากขึ้นด้วยการเอารถมาเพิ่มบนถนนอีกหนึ่งคัน การที่ผมต้องเจอรถติดจึงเป็นเรื่องที่ผมควรรับได้ และถ้าผมเลือกเดินทางโดยวิธีอื่นรถติดก็จะไม่ใช่ปัญหาสำหรับผมอีกต่อไป

แน่นอนว่าใช่ว่าทุกคนจะมีทางเลือกขนาดนั้น ขนส่งสาธารณะอาจยังไม่ตอบโจทย์คนจำนวนมาก และผมไม่ได้จะสื่อว่าการที่รถติดสาหัสเป็นเรื่องที่ถูกต้องและควรปล่อยให้เป็นไปแบบนี้

แค่อยากสะกิดให้ลองมองในมุมที่ว่า ที่เราเจอรถติดเพราะเราขับรถออกมาเอง และเรานี่แหละที่เป็นหนึ่งในรถอีกนับหมื่นนับแสนคันที่ทำให้คนอื่นรถติดไปกับเรา

เวลาต้องรับมือกับปัญหาใดๆ การรู้ตัวว่าเราก็เป็นต้นเหตุของปัญหาน่าจะช่วยให้เราหงุดหงิดน้อยลงครับ

Skin In The Game – คนสร้างสะพานควรใช้ชีวิตอยู่ใต้สะพาน

เมื่อวานนี้เกิดเหตุสะพานข้ามแยกหน้าโลตัสลาดกระบังที่กำลังอยู่ในระหว่างก่อสร้าง เกิดทรุดตัวและร่วงกระแทกพื้น ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 รายและผู้บาดเจ็บอีกนับสิบราย

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ เมื่อสิงหาคมปีที่แล้วสะพานกลับรถตรงถนนพระราม 2 ก็มีการถล่ม เวลาผมขับรถไปหัวหินก็ยังหวาดเสียวทุกครั้ง

ทำให้ผมนึกถึงคอนเซ็ปต์หนึ่งที่คิดว่ามีความสำคัญและเชื่อมโยงกับเหตุการณ์แบบนี้

คอนเซ็ปต์ที่ว่า คือ Skin in the game หรือการมีส่วนได้ส่วนเสียในเกมที่เราลงเล่น

สมัยกรุงโรมเฟื่องฟู เคยมีกฎบังคับให้วิศวกรที่คุมการสร้างสะพานต้องใช้ชีวิตอยู่ใต้สะพานเป็นระยะเวลาหนึ่ง

และในกาลต่อมา ในประเทศอังกฤษก็มีกฎหมายให้วิศวกรที่สร้างสะพานนั้นต้องพาตัวเองและครอบครัวมาใช้ชีวิตอยู่ใต้สะพานด้วยเช่นกัน

ผมค่อนข้างมั่นใจว่า ถ้าผู้รับเหมาก่อสร้างในเมืองไทยต้องมาอาศัยอยู่ใต้สะพานด้วย โอกาสจะเกิดเหตุการณ์สะพานถล่มแบบที่ลาดกระบังหรือพระราม 2 น่าจะน้อยลงไปเยอะ

แต่แน่นอนว่านี่ไม่ใช่สมัยกรุงโรม เราคงไปบังคับใครให้ทำแบบนั้นไม่ได้ จึงขอพักเรื่องไว้ตรงนี้ก่อน แล้วชวนคุยเรื่อง Skin in the game ต่ออีกสักนิด

Nassim Nicolas Taleb ผู้โด่งดังจากหนังสืออย่าง The Black Swan และ Antifragile เคยเขียนหนังสืออีกเล่มซึ่งอาจดังไม่เท่า แต่ผมก็ชอบมากเช่นกัน

หนังสือเล่มนี้ ชื่อว่า Skin in the Game: The Hidden Asymmetries in Daily Life

Taleb เชื่อว่าหากเราอยากให้สังคมมีความเท่าเทียมและยุติธรรม เราต้องสร้างกลไกให้บุคลคลหรือหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องแบกรับความเสี่ยงจากการกระทำของเขาด้วย

“For social justice, focus on symmetry and risk sharing. You cannot make profits and transfer the risks to others, as bankers and large corporations do. You cannot get rich without owning your own risk and paying for your own losses. Forcing skin in the game corrects this asymmetry better than thousands of laws and regulations.”

ปี 2007/2008 ตอนเกิดเหตุการณ์วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในอเมริกา มีแบงค์มากมายที่เกือบจะล้ม แต่เพราะว่ามัน too big too fail รัฐบาลจึงตัดสินใจเข้าไปอุ้มหรือที่เรียกกันว่าการ bail out ทำให้ธุรกิจยังไปต่อได้ แต่ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการ bail out ครั้งนั้น ประชาชนผู้เสียภาษีต้องเป็นคนแบกรับ (เพราะรายได้ของรัฐบาลมาจากภาษีประชาชน) กลายเป็นว่าก่อนเกิดวิกฤติแบงค์รวย แต่พอเกิดวิกฤติ แบงค์ล้มบนฟูก และผู้บริหารของบางธนาคารยังได้โบนัสอีกด้วย

Taleb ยกหลายตัวอย่างของการมี skin in the game

เครื่องบิน – สมมติว่ามีเทคโนโลยีที่เอื้อให้กัปตันสามารถคุมเครื่องบินจากที่อื่นได้ เราจะกล้าขึ้นเครื่องบินที่นักบินไม่ได้ขึ้นเครื่องบินไปกับเรามั้ย? ถ้าเลือกได้ ผมจะเลือกนั่งเครื่องบินที่กัปตันขึ้นเครื่องไปกับเรา เพราะกัปตันคนนี้มี skin in the game มากกว่ากัปตันที่ขับเครื่องบินจากพื้นดิน

คนขับรถแย่ๆ – แต่ละวันมีรถวิ่งอยู่บนถนนหลายหมื่นหลายแสนคัน ระยะทางรวมแล้วเป็นล้านกิโลเมตร แม้จะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น แต่ก็ต้องถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมดที่ขับรถ

คำถามคือเพราะอะไร? คำตอบก็คือคนที่ขับรถแย่มากๆ นั้นย่อมจะเจออุบัติเหตุและเสียชีวิตไปแล้วนั่นเอง เพราะการขับรถคือการมี skin in the game รูปแบบหนึ่ง มันจึงบังคับให้เราต้องขับรถอย่างระมัดระวัง ถ้าไม่ระวังเราเองก็อาจจะไม่ได้ขับอีกต่อไป

สงคราม – สมัยก่อน คนที่ชอบการสู้รบและกระหายสงคราม ไม่ว่าจะเป็นเจงกิสข่าน หรือพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ล้วนแต่เป็นคนนำทัพด้วยตนเอง คนเหล่านี้มี skin in the game ชัดเจน

แต่ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ที่คนกระหายสงคราม (warmonger) ไม่ต้องออกไปร่วมรบ จอร์จ บุชสามารถสั่งอเมริกาบุกอิรักได้โดยที่ตัวเองยังอยู่ในกรุงวอชิงตันโดยไม่มีความเสี่ยงทางกายภาพใดๆ หรืออย่างการที่รัสเซียบุกยูเครน ปูตินเองก็ไม่ได้มี skin in the game เท่ากับ โวโลดีมีร์ เซเลนสกี ที่ปักหลักร่วมสู้รบกับประชาชน จะว่าไปแล้วเซเลนสกีนี่ถือเป็นตัวอย่างที่หาได้ยากมากๆ ในสมัยนี้


กลับมาที่เรื่องสะพานข้ามแยกถล่ม

เราคงไม่อาจบังคับให้ผู้รับเหมาและครอบครัวมาอยู่ใต้สะพานได้ แต่สังคมควรจะคิดหากลไกที่ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องมี skin in the game มากกว่านี้เพื่อจะได้ป้องกันปัญหา (ส่วนในเชิงลงโทษเมื่อปัญหาเกิดแล้วนั้นมีกฎหมายเอาผิดอยู่แล้ว ส่วนจะเอาผิดได้มากน้อยหรือทันใจแค่ไหนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

สมัยก่อนเวลาผมอ่านบทความบนเว็บของ a day ท้ายบทความจะมีลงท้ายว่าบทความนี้เขียนโดยใคร และพิสูจน์อักษรโดยใคร

ผมคิดว่าการระบุชื่อของผู้พิสูจน์อักษรท้ายไว้ตรงท้ายบทความ ทำให้คนที่ทำหน้าที่นี้มี skin in the game ว่าจะต้องตรวจตราบทความอย่างถี่ถ้วนว่าไม่มีการสะกดผิดเลยแม้แต่จุดเดียว ไม่อย่างนั้นเสียเขาจะเสียชื่อ นั่นทำให้บทความของ a day แทบไม่มีจุดผิดเลยในยุคที่ online content เจ้าอื่นๆ เน้นความรวดเร็วจนขาดความระมัดระวัง

ผมเลยคิดว่า หากเราไม่สามารถเอาตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องไปอยู่ใต้สะพานที่กำลังก่อสร้างได้ อย่างน้อยเราเอาชื่อของเขาเหล่านั้น “ไปอยู่ใต้สะพาน” ก่อนได้รึเปล่า

ไม่ว่าจะเป็นชื่อบริษัทผู้รับเหมา ชื่อ-นามสกุลผู้บริหารของบริษัท ชื่อของวิศวกรที่คุมการก่อสร้าง ชื่อเจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐที่เซ็นอนุมัติโครงการ ฯลฯ

ไม่ใช่แค่เอาไว้ใต้สะพานอย่างเดียว แต่เอามาแสดงในออนไลน์ด้วย

ผมคิดว่าเรามีเทคโนโลยีและการ crowdsourcing ที่ดีพอที่จะทำสิ่งนี้ให้เกิดขึ้น เอาให้ดูได้เลยว่าตอนนี้มีโครงการก่อสร้างอยู่กี่แห่ง แต่ละแห่งมีรายชื่อผู้รับผิดชอบชัดเจน และยิ่งถ้ามี Facebook page หรือ social account อื่นๆ ของคนเหล่านั้นก็ควรระบุลงไปเพื่อให้มี skin in the game มากขึ้น

ขอจุดประเด็นไว้แต่เพียงเท่านี้ ฝากไปขบคิดและลงมือกันต่อนะครับ