ความกลัวจะลดลงเมื่อเราขยับตัว

เหมือนที่พี่ป๊อด โมเดิร์นด็อกเคยกล่าวไว้ ความกลัวเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเอง
 
และเรามักจะสร้างตอนที่เรานั่งอยู่กับที่ พอว่างมากไปก็เลยฟุ้งซ่านเพราะจินตนาการของมนุษย์นั้นมโนได้ไม่สิ้นสุด
 
แต่ถ้าเราลุกขึ้นและลงมือทำ เราจะไม่เหลือช่องว่างให้ความฟุ้งซ่านทำงานได้มากนัก เพราะใจเราจะกลับมาอยู่กับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า
 
และการลงมือทำก็เหมือนการเดินขึ้นเขา ตอนแรกที่มองก็เห็นว่าภูเขามันสูงเหลือเกิน ตอนเดินก็เหมือนจะไม่มีอะไร เราก็แค่เดินไปเรื่อยๆ รู้ตัวอีกทีภูเขาก็อยู่ใต้เท้าเราแล้ว
 
ถ้านั่งเราจะกลัว ถ้าออกเดินเราจะหายกลัวครับ

หัวใจเต้นแรงที่สุดก่อนลงมือทำ

เวลามี guest speaker มาพูดที่บริษัท แล้วเขาถามคนฟังว่าใครมีคำถามอะไรบ้าง เรามักจะมีคำถามแต่เราไม่กล้ายกมือทันที

ช่วงที่เรากำลังชั่งใจว่าจะยกมือถามหรือไม่ยกมือถามนั้น หัวใจเราจะเต้นแรงมาก คิดไปต่างๆ นาๆ คำถามของเรามันเข้าท่ารึเปล่า เราจะพูดจารู้เรื่องรึเปล่า ถามแล้วเราจะกลายเป็นตัวตลกรึเปล่า

แต่เมื่อเราตัดสินใจยกมือขึ้น หัวใจก็ยิ่งเต้นแรงขึ้นระหว่างที่รอไมค์ แต่พอได้ลุกขึ้นพูด หัวใจกลับค่อยๆ เต้นช้าลง


เคยสงสัยมั้ยครับว่าทำไมสวนสนุกที่มีเครื่องเล่นดังๆ ถึงปล่อยให้คนเข้าคิวรอเป็นชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นเมืองไทยหรือเมืองนอก ทำไมเขาไม่ทำให้ process ได้เร็วกว่านี้

ผมเคยอ่านเจอว่า เพราะการเข้าคิว ก็เป็นหนึ่งในประสบการณ์สำคัญสำหรับสวนสนุก

ระหว่างที่รอคิว เราก็จะเงยหน้าไปมองคนอื่นๆ ที่เขากำลังเล่นกัน ได้ยินเสียงกรีดร้องคลอไปกับเสียงของเครื่องเล่น คนรอคิวได้เห็นได้ยินแล้วก็ทั้งตื่นเต้น ทั้งกลัว ทั้งอยากเล่นไปพร้อมๆ กัน

เมื่อได้ขึ้นเครื่องเล่นจริง ได้กรี๊ดประมาณ 2 นาทีก็เสร็จเรียบร้อยแล้ว

ประสบการณ์ที่เราตื่นเต้นระหว่างรอนั้นยาวนานกว่าประสบการณ์ตื่นเต้นตอนที่เราเล่นจริงเสียอีก


พี่ป๊อด โมเดิร์นด็อกเคยกล่าวไว้ในโฆษณาว่า ความกลัวเป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้นมาเอง

สิ่งที่ทำให้เราหัวใจเต้นแรง คือความปรุงแต่งของเราที่คิดไปก่อนล่วงหน้า ทั้งก่อนที่จะยกมือถามคำถามและก่อนจะก้าวขึ้นรถไฟเหาะ

แต่เมื่อได้ทำจริงๆ แล้ว มันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่เราคิดหรอก

ลองนึกถึงประสบการณ์ adventure ที่ผ่านมาก็ได้ ว่าหัวใจเราเต้นแรงสุดตอนไหน

ไม่ใช่ตอนที่ทำกิจกรรมนั้น แต่เป็นตอนก่อนที่จะลงมือทำ ไม่ว่าจะลงสไลเดอร์ยักษ์ในสวนน้ำ กระโดดหอ หรือบันจี้จัมพ์

ดังนั้น อย่าไปกลัวสิ่งต่างๆ จนเกินไป

รู้ทันถึงความกลัวที่เราสร้างขึ้นมาเอง แล้วลองลุยดูสักตั้งครับ

ถ้าจะกลัวก็กลัวให้ถูกเรื่อง

20190723_fear

อย่ากลัวงานหนัก กลัวว่าทำงานตั้งนานแล้วยังไม่เก่งขึ้น

อย่ากลัวว่าถ้าวิ่งแล้วจะวิ่งไม่ไหว กลัวว่าแก่แล้วจะเดินไม่ไหว

อย่ากลัวการปฏิเสธจากคนอื่น กลัวการที่เราปฏิเสธตัวเองตั้งแต่ยังไม่เริ่ม

อย่ากลัวว่าทำอย่างนี้จะดูแย่รึเปล่า กลัวว่าทำอย่างนี้แล้วเราจะรู้สึกแย่กับตัวเองรึเปล่า

อย่ากลัวว่าจะทำความฝันไม่สำเร็จ กลัวว่าวันหนึ่งเราต้องมองย้อนกลับมาด้วยความเสียดายที่ไม่ได้ทำ

ความกลัวเป็นเรื่องดี

20190711_fearisgood

เพราะมันบอกว่าเราต้องทำอะไร

“Fear is good…Fear tells us what we have to do”
-Steven Pressfield

อะไรที่เราไม่กลัว มันมักจะไม่มีคุณค่ามากนัก เพราะมันเป็นสิ่งที่เราทำได้อยู่แล้ว เข้าข่าย low risk / low return

แต่อะไรที่เรากลัว นั่นคือสิ่งที่ลึกๆ แล้วใจเราอยาก และรู้ว่าถ้าทำได้เราจะแฮปปี้กับตัวเองมากๆ เข้าข่าย high risk / high return

แต่เพราะว่ามัน high risk เราก็เลยกลัวว่าจะล้มเหลว กลัวจะผิดหวัง เราเลยเอาแต่ผัดวันประกันพรุ่งที่จะทำสิ่งนั้นเสมอมา

กลัวลงมาราธอนแล้วจะวิ่งไม่จบ

กลัวเปิดบล็อกแล้วจะไม่มีคนอ่าน

กลัวว่าถ้ารับงานยากๆ แล้วจะทำไม่ได้

คนที่สำเร็จไม่ใช่คนที่ไม่กลัว แต่เป็นคนที่กลัวแล้วแต่ก็ยังทำมันอยู่ดี ทำไปกลัวไป

Fear is good. Fear tells us what we have to do

ความกลัวคือสัญญาณว่ามันคือสิ่งที่เราต้องการ มันคือสิ่งที่เราควรทำ

ใช้ความกลัวเป็นดาวเหนือนำทางเราได้เลยนะครับ

เต้นรำกับความกลัว

20190703_dancewithfear

เราทุกคนล้วนมีสิ่งที่ตัวเองกลัว

บางคนกลัวการพูดต่อหน้าคนเยอะๆ

บางคนกลัวงานยากๆ

บางคนกลัวการเอ่ยปากทักทายคนที่อยากคุยด้วย

ความกลัวนั้นมีประโยชน์ เป็นสัญชาติญาณที่ช่วยให้เรารอดพ้นจากอันตรายมานักต่อนัก

แต่หลายครั้งความกลัวก็ไม่มีเหตุผล เพราะสมองส่วนที่คิดกับสมองส่วนที่กลัวนั้นมันอยู่คนละส่วนกัน

ความคิดเหมือนควาญช้าง ความกลัวและอารมณ์นั้นเหมือนช้าง ควาญช้างฉลาดกว่า แต่ช้างเรี่ยวแรงมหาศาลกว่ามากมาย

เราจึงไม่ควรพยายามเอาชนะความกลัว เพราะโอกาสต่ำมาก

ส่วนการวิ่งหนีความกลัวก็ไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก เพราะหลายครั้งสิ่งที่เรากลัวก็ไม่สมเหตุสมผล และควาญช้างในตัวเราก็รู้ดีว่าจริงๆ แล้วสิ่งที่เรากลัวนั้นมันมีประโยชน์กับเราในระยะยาว

สิ่งที่ทำเหลือที่พอจะทำได้ ทำกาารเต้นรำกับความกลัว

ซึ่งคงไม่ใช่การเต้นจังหวะบัลเล่ต์ที่อ่อนช้อย แต่เป็นการเต้นรุมบ้าที่มีหลากรสหลายอารมณ์ มีฉุดกระชากลากถูก มีจับหมุนตัวตีลังกา บางจังหวะก็รักษาระยะห่างดูท่าที และบางจังหวะก็ตะลุมบอน

สิ่งสำคัญคือเราไม่ทำร้ายคู่เต้น และคู่เต้นไม่ทำร้ายเรา

แน่นอน คงจะมีสะดุดขาหรือหกล้มให้ได้แผลถลอกกันบ้าง

แต่ถ้าฝึกไปนานๆ เราก็จะได้การแสดงที่ติดตาตรึงใจครับ