เมื่อลูกเริ่มนอนเป็นเวลา แม่ก็ควรเอาชีวิตตัวเองกลับมาเช่นกัน

หนึ่งในสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนคนหนึ่งได้มากที่สุดก็คือการมีลูก

ตอนเป็นโสดอาจจะมีเหงาบ้าง แต่ก็คล่องตัว สามารถทำอะไรได้อิสระเสรีพอสมควร

พอมีคู่ความเหงาก็คลี่คลาย อิสระอาจจะน้อยลง แต่ถ้าเป็นคู่ที่ไปไหนไปกันก็สนุกไปอีกแบบ

แต่พอมีลูก เราแทบจะต้องทิ้งทุกอย่างที่เคยทำเพื่อมาดูแลสิ่งมีชีวิตตัวน้อยๆ ที่ขาดเราไม่ได้

คนเป็นแม่นั้นลำบากกว่าคนเป็นพ่อหลายเท่า เพราะลำบากตั้งแต่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ต้องแพ้ท้อง ต้องระมัดระวังทุกย่างก้าว ต้องกังวลกับท้องลายและน้ำหนักที่ขึ้นเอาๆ ตอนช่วงท้ายก็อุ้ยอ้ายทำอะไรก็ลำบาก พอคลอดน้องออกมายังไม่ทันมีเวลาพักให้หายเจ็บแผลก็ต้องอดหลับอดนอนเอาลูกเข้าเต้า กล่อมลูกนอน พอลูกหลับปุ๊บยังต้องปั๊มนมเก็บไว้อีก

สามเดือนแรกน่าจะเป็นช่วงที่เหนื่อยที่สุด จากนั้นจึงค่อยๆ เหนื่อยน้อยลงแต่ก็ต้องเริ่มกลับมาทำงาน ส่วนลูกก็มีโจทย์มาให้เราแก้เรื่อยๆ เดี๋ยวป่วย เดี๋ยวดื้อ เดี๋ยวต้องเตรียมเข้าโรงเรียน

แต่สำหรับแม่ที่ทำงานประจำ หลายคนต้องสู้รบกับความรู้สึกผิดที่ไม่สามารถทุ่มเทเต็มร้อยกับงานได้ จะดูแลลูกก็รู้สึกว่าทำได้ไม่ดีพออีก สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นก็คือวันทั้งวันก็จะเทเวลาให้กับสองสิ่งนี้ ถ้าไม่ใช่เรื่องงานก็เรื่องลูก ถ้าไม่ใช่เรื่องลูกก็เรื่องงาน

เมื่อคุ้นเคยกับวิถีชีวิตแบบนี้ไปนานๆ เข้า แม่บางคนอาจลืมไปเลยว่าแต่ก่อนเราเคยมี passion หรือมีความสุขกับเรื่องอะไร หรือถึงไม่ลืมเราก็จะบอกตัวเองว่าเอาไว้ก่อน เอาเรื่องลูกก่อน เอาเรื่องงานก่อน

แต่ผมกลับรู้สึกว่า ถ้าลูกเริ่มนอนเป็นเวลาแล้ว (เช่นตอนอายุเกิน 1 ขวบ) เริ่มไม่ต้องมีเราอยู่ในทุกฝีก้าวในชีวิตเขาแล้ว คนเป็นแม่ควรกลับมาดูแลจิตใจและร่างกายตัวเองบ้าง

แผลผ่าตัดหายดีแล้ว ลูกเริ่มกินนมจากขวดได้แล้ว ตัวแม่กับลูกไม่จำเป็นต้องติดกันตลอดเวลาอีกแล้ว นี่คือจังหวะที่ดีที่เราจะจัดเวลาทำอะไรที่เติมเต็มเราได้บ้าง

เพราะถ้าไม่ทำอย่างนั้น ชีวิตเราจะมีแค่งานกับลูก ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ไปนานๆ เข้าก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า resentment หรือความเคืองขุ่นในจิตใจ ทั้งกับตัวงาน ตัวคู่สมรส หรือแม้กระทั่งตัวลูกเอง จากนั้นก็รู้สึกโกรธที่ตัวเองดันแอบไปรู้สึกแย่กับลูกอีกด้วย

เราจึงไม่ควรปล่อยให้สถานการณ์ไปถึงจุดนั้น เราไม่จำเป็นต้องสวมบทบาทมนุษย์แม่ตลอดเวลา หันกลับมาใส่ใจในสิ่งที่ spark joy ให้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นงานอดิเรกหรือกิจกรรมหย่อนใจโดยไม่จำเป็นต้องมีลูกเป็นศูนย์กลางของทุกการกระทำ

เมื่อเราสามารถจัดเวลาให้ตัวเองได้บ้าง ได้เติมบางอย่างที่ขาดหายมานาน เราก็จะมีพละกำลังที่จะทำหน้าที่แม่ได้อย่างเต็มใจและยืนระยะได้ดีกว่าเดิมครับ

เมื่อลูกเริ่มนอนเป็นเวลาแม่ก็ควรเอาชีวิตตัวเองกลับมาเช่นกัน

หนึ่งในสิ่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของคนคนหนึ่งได้มากที่สุดก็คือการมีลูก

ตอนเป็นโสดอาจจะมีเหงาบ้าง แต่ก็คล่องตัว สามารถทำอะไรได้อิสระเสรีพอสมควร

พอมีคู่ความเหงาก็คลี่คลาย อิสระอาจจะน้อยลง แต่ถ้าเป็นคู่ที่ไปไหนไปกันก็สนุกไปอีกแบบ

แต่พอมีลูก เราแทบจะต้องทิ้งทุกอย่างที่เคยทำเพื่อมาดูแลสิ่งมีชีวิตตัวน้อยๆ ที่ขาดเราไม่ได้

คนเป็นแม่นั้นลำบากกว่าคนเป็นพ่อหลายเท่า เพราะลำบากตั้งแต่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ต้องแพ้ท้อง ต้องระมัดระวังทุกย่างก้าว ต้องกังวลกับท้องลายและน้ำหนักที่ขึ้นเอาๆ ตอนช่วงท้ายก็อุ้ยอ้ายทำอะไรก็ลำบาก พอคลอดน้องออกมายังไม่ทันมีเวลาพักให้หายเจ็บแผลก็ต้องอดหลับอดนอนเอาลูกเข้าเต้า กล่อมลูกนอน พอลูกหลับปุ๊บยังต้องปั๊มนมเก็บไว้อีก

สามเดือนแรกน่าจะเป็นช่วงที่เหนื่อยที่สุด จากนั้นจึงค่อยๆ เหนื่อยน้อยลงแต่ก็ต้องเริ่มกลับมาทำงาน ส่วนลูกก็มีโจทย์มาให้เราแก้เรื่อยๆ เดี๋ยวป่วย เดี๋ยวดื้อ เดี๋ยวต้องเตรียมเข้าโรงเรียน

แต่สำหรับแม่ที่ทำงานประจำ หลายคนต้องสู้รบกับความรู้สึกผิดที่ไม่สามารถทุ่มเทเต็มร้อยกับงานได้ จะดูแลลูกก็รู้สึกว่าทำได้ไม่ดีพออีก สิ่งที่มักจะเกิดขึ้นก็คือวันทั้งวันก็จะเทเวลาให้กับสองสิ่งนี้ ถ้าไม่ใช่เรื่องงานก็เรื่องลูก ถ้าไม่ใช่เรื่องลูกก็เรื่องงาน

เมื่อคุ้นเคยกับวิถีชีวิตแบบนี้ไปนานๆ เข้า แม่บางคนอาจลืมไปเลยว่าแต่ก่อนเราเคยมี passion หรือมีความสุขกับเรื่องอะไร หรือถึงไม่ลืมเราก็จะบอกตัวเองว่าเอาไว้ก่อน เอาเรื่องลูกก่อน เอาเรื่องงานก่อน

แต่ผมกลับรู้สึกว่า ถ้าลูกเริ่มนอนเป็นเวลาแล้ว (เช่นตอนอายุเกิน 1 ขวบ) เริ่มไม่ต้องมีเราอยู่ในทุกฝีก้าวในชีวิตเขาแล้ว คนเป็นแม่ควรกลับมาดูแลจิตใจและร่างกายตัวเองบ้าง

แผลผ่าตัดหายดีแล้ว ลูกเริ่มกินนมจากขวดได้แล้ว ตัวแม่กับลูกไม่จำเป็นต้องติดกันตลอดเวลาอีกแล้ว นี่คือจังหวะที่ดีที่เราจะจัดเวลาทำอะไรที่เติมเต็มเราได้บ้าง

เพราะถ้าไม่ทำอย่างนั้น ชีวิตเราจะมีแค่งานกับลูก ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้ไปนานๆ เข้าก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า resentment หรือความเคืองขุ่นในจิตใจ ทั้งกับตัวงาน ตัวคู่สมรส หรือแม้กระทั่งตัวลูกเอง จากนั้นก็รู้สึกโกรธที่ตัวเองดันแอบไปรู้สึกแย่กับลูกอีกด้วย

เราจึงไม่ควรปล่อยให้สถานการณ์ไปถึงจุดนั้น เราไม่จำเป็นต้องสวมบทบาทมนุษย์แม่ตลอดเวลา หันกลับมาใส่ใจในสิ่งที่ spark joy ให้ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นงานอดิเรกหรือกิจกรรมหย่อนใจโดยไม่จำเป็นต้องมีลูกเป็นศูนย์กลางของทุกการกระทำ

เมื่อเราสามารถจัดเวลาให้ตัวเองได้บ้าง ได้เติมบางอย่างที่ขาดหายมานาน เราก็จะมีพละกำลังที่จะทำหน้าที่แม่ได้อย่างมั่นคงกว่าเดิมครับ

สำหรับพ่อแม่ที่อยากให้ลูกได้สิ่งที่ดีที่สุดเท่านั้น

วันนี้ผมอ่านเจอเรื่องราวหนึ่งในหนังสือ Emotional First Aid ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ

เป็นเรื่องราวของคาร์ลตัน ที่เติบโตมาในครอบครัวฐานะปานกลาง แต่เมื่อถึงจุดนึงพ่อเกิดร่ำรวยจากตลาดหุ้น เลยตั้งปณิธานและพร่ำบอกกับลูกไว้ว่า “ลูกชายของพ่อต้องได้สิ่งที่ดีที่สุดเท่านั้น!”

เมื่อคาร์ลตันเรียนจบและเปรยกับพ่อว่าอยากจะย้ายไปอยู่นิวยอร์ก พ่อก็ให้เขาย้ายไปอยู่อพาร์ตเมนต์เพนต์เฮาส์ที่เพิ่งซื้อมาหมาดๆ แถมยังให้เงินก้อนโตสำหรับใช้จ่ายแต่ละเดือนอีกด้วย

คาร์ลตันได้ลองทำอาชีพหลายอย่าง โดยได้งานดีๆ จากเส้นสายของพ่อ แต่เนื่องจากแท้จริงแล้วเขาไม่ได้มีคุณสมบัติที่จะทำงานเหล่านี้ได้ดี พอทำงานได้ไม่ถึงหนึ่งปีก็มักจะมีผู้ใหญ่เรียกเขาไปคุยอย่างสุภาพว่าเขาควรลองหาอย่างอื่นทำได้แล้ว

เนื่องจากบริษัทเหล่านี้รู้ว่าคาร์ลตันคงอยู่ไม่นาน จึงแทบไม่เคยมีใครให้ฟีดแบ็คว่าเขาต้องปรับปรุงตัวหรือพัฒนาเรื่องอะไรบ้าง พอถึงเวลาก็แค่มาบอกให้เขาลาออก ซึ่งมันทำให้เขาอับอายมาก

แท้จริงแล้วคาร์ลตันไม่เคยขอให้พ่อซื้ออพาร์ตเมนต์ให้ ไม่เคยขอเงินพ่อไว้ใช้จ่าย ไม่เคยขอให้พ่อหางานให้ แต่พอเขาเปรยๆ ว่าสนใจอะไรสักอย่าง ไม่กี่วันถัดมาเขาก็จะได้รับโทรศัพท์มาแจ้งว่ามีตำแหน่งว่างในงานที่เขาสนใจพอดี

ในปี 2008 คาร์ลตันในวัย 26 ปีก็แต่งงานกับแฟนสาว แต่หลังจากนั้นไม่กี่เดือน ก็เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย และพ่อของคาร์ลตันได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจนต้องขายอพาร์ตเมนต์ทิ้งและหยุดให้เงินค่าใช้จ่ายประจำเดือนแก่คาร์ลตัน

ตอนนั้นคาร์ลตันอยู่ในช่วงตกงาน เลยต้องอาศัยเพียงเงินเดือนของภรรยาและเงินก้อนเล็กๆ ที่เขามีในธนาคาร

คาร์ลตันหางานสุดชีวิต สมัครงานเป็นร้อยตำแหน่งแต่ก็ไม่ผ่านสักงานเดียว คงเป็นเพราะว่าเรซูเม่ของเขาแสดงให้เห็นว่าเขาอยู่ที่ใดได้ไม่เกินหนึ่งปีเลย

“พ่อผมชอบทำตัวเป็นวีรบุรุษเอามากๆ พ่อไม่สนว่ามันจะทำให้ผมพึ่งพาตัวเองทางการเงินไม่ได้เลยหรือเปล่า พ่อไม่สนว่ามันจะทำให้ชีวิตการงานของผมพังมั้ย ผมอายุ 27 แล้ว และผมก็ไม่มีทักษะอะไรเลย ไม่มีคุณสมบัติอะไรทั้งนั้น แล้วก็ไม่มีอนาคต! พ่อทำลายชีวิตผม! ทุกครั้งที่ผมถูกปฏิเสธงาน ผมได้ยินเสียงพ่อในหัวผม ‘ลูกชายพ่อต้องได้สิ่งที่ดีที่สุดเท่านั้น!'”


ผมว่าคาร์ลตันรำไม่ดีโทษปี่โทษกลองไปหน่อย แต่ก็พอเข้าใจได้ว่าทำไมเขาถึงรู้สึกอย่างนี้

คนเป็นพ่อแม่ โดยเฉพาะที่เคยลำบากมา ก็ย่อมอยากจะให้ลูกสบายและได้รับโอกาสในสิ่งที่พ่อแม่ไม่เคยได้

แต่เราก็ต้องระวังที่จะไม่ให้ความรักมันบังตาจนเราทำร้ายลูกทางอ้อมโดยไม่รู้ตัว

ผู้ใหญ่ท่านนึงเคยบอกกับผมว่า เวลาเราเห็นข่าวลูกไฮโซก่อเรื่อง ขับรถชนแล้วหนี หรือทำผิดแล้วลอยนวล คนเหล่านั้นมักเคยได้รับการปรนเปรอเกินพอดีมาตั้งแต่เด็ก

หากรู้ตัวว่าเราเป็นพ่อแม่ที่อยากให้ลูกได้สิ่งที่ดีที่สุดเท่านั้น ก็ขอให้ระวังกับดักนี้กันให้ดีนะครับ


ขอบคุณเรื่องราวจากหนังสือ Emotional First Aid ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ Guy Winch เขียน ลลิตา ผลผลา แปล สำนักพิมพ์: Be(ing)

คนไม่มีลูก แก่ตัวไปแล้วจะเหงารึเปล่า?

ฉันไม่เคยมีลูกและตอนนี้ก็อายุ 70 กว่าปีแล้ว

เมื่อหลายสิบปีที่แล้วตอนที่ฉันต้องตัดสินใจว่าจะมีลูกดีหรือไม่ ฉันไปคุยกับเพื่อนหลายคนที่มีลูก ฉันถามพวกเธอว่าชีวิตเป็นอย่างไรบ้าง และหลังจากได้คุยแล้วฉันก็เข้าใจว่าการจะมีชีวิตที่ดีและน่าสนใจไปพร้อมๆ กับการมีลูกนั้นเป็นสิ่งเป็นไปได้

แต่จะด้วยโชคชะตาหรืออะไรก็ตาม บางอย่างในชีวิตสมรสของเราทำให้ฉันไม่สามารถมีบุตรได้

และเท่าที่ผ่านมาฉันก็มีอายุที่ยืนยาว น่าสนใจ และไร้บุตร

ฉันยังจำคำพูดหนึ่งของเพื่อนสาวฉันได้ดี

“มิเชล จริงๆ แล้วเธอแค่ต้องการจะมีเรื่องให้เสียดายน้อยที่สุด (avoid regret) และถ้าเธอไม่มีลูก เธอจะมีเรื่องให้ต้องเสียดายอย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม ฉันก็มีลูกสาวที่น่ารัก 2 คน และฉันการันตีได้เลยว่าตอนที่พวกเราแก่ตัว บัญชีเรื่องที่ฉันเสียดายนั้นจะยาวเป็นหางว่าวกว่าเธอ เพราะสิ่งที่เธอจะได้ทำเพราะเธอไม่มีลูกนั้นย่อมเยอะกว่าสิ่งที่ฉันจะได้ทำเพราะว่าฉันมี”

ตอนนี้พวกเราแก่กว่าเดิมมาก แต่เราก็ยังคุยกันเป็นประจำ ชีวิตของเพื่อนคนนี้ต่างจากชีวิตของฉัน เธอมีสมาชิกครอบครัวเยอะกว่า ส่วนฉันก็มีเพื่อนฝูง ฉันได้เดินทาง และฉันก็ได้เขียนหนังสือ ฉันไม่เคยรู้สึกเหงาเลยเพราะว่าฉันยุ่งเกินกว่าจะเหงา

ฉันเคยแอบคิดว่าตัวเองน่าจะมีลูกบ้างรึเปล่าน่ะเหรอ? มันก็เหมือนกับการแอบคิดว่าฉันน่าจะตัวสูงกว่านี้นั่นแหละ บางทีฉันก็คิด แต่มันก็ไม่ได้ทำให้ฉันตัวสูงขึ้น มันเป็นแค่เรื่องเพ้อฝันฉันเลยไม่อยากใส่ใจมันเท่าไหร่ ฉันอยากใส่ใจแต่เรื่องดีๆ ในชีวิต ซึ่งฉันก็มีมากเกินพอ

ที่แน่ๆ คือฉันไม่รู้สึกเหงาเลยแม้แต่น้อย


ขอบคุณเนื้อหาจาก Quora: Michelle Gaugy’s answer to Will child-free people get lonely in old age without kids?

พ่อแม่ควรทะเลาะให้ลูกเห็นหรือเปล่า

สิ่งหนึ่งที่ผมได้ยินได้ฟังมานานก็คือพ่อแม่ไม่ควรทะเลาะกันต่อหน้าลูก เพราะมันอาจจะสร้างแผลในใจให้ลูกได้

แต่ Adam Grant ได้บอกไว้ในหนังสือ Think Again ว่าจากผลการวิจัย พ่อแม่จะทะเลาะกันบ่อยแค่ไหนนั้นไม่ได้ส่งผลต่อการเรียน การเข้าสังคม และพัฒนาการทางอารมณ์ของลูกเลย

สิ่งที่จะส่งผลต่อลูกจึงเป็นคุณภาพของการทะเลาะ ไม่ใช่ความถี่

เมื่อพ่อแม่ถกเถียงกันอย่างสร้างสรรค์และด้วยความเคารพนั้น เด็กจะรู้สึกมีความปลอดภัยทางอารมณ์ และเมื่อโตขึ้นมาอีกหน่อยเด็กกลุ่มนี้จะมีความเข้าอกเข้าใจและชอบช่วยเหลือเพื่อนร่วมห้องมากกว่าเด็กทั่วไป

การมองเห็นไม่ตรงกันและถกเถียงกันนั้นเป็นเรื่องปกติ ถ้าหากพ่อแม่ใช้โอกาสนี้ฝึกฝนให้ทะเลาะกันอย่างมีสติเพราะรู้ตัวว่าลูกกำลังดูอยู่ ก็อาจจะเป็นการเรียนรู้พร้อมกันของทั้งครอบครัวได้นะครับ

วันที่ฉันหยุดพูดกับลูกว่า “เร็วๆ หน่อย”

เมื่อเรามีชีวิตที่วุ่นวาย ทุกนาทีนั้นมีค่าเสมอ เรารู้สึกว่าเราต้องทำอะไรบางอย่างให้เสร็จ หรือไม่ก็ต้องเช็คมือถือ หรือไม่ก็ต้องรีบไปยังที่ถัดไป แต่ไม่ว่าเราจะพยายามเท่าไร ก็ดูเหมือนเราจะไม่เคยมีเวลาพอเลย

ชีวิตฉันเคยเป็นแบบนั้นอยู่สองปี ความคิดและการกระทำของฉันถูกครอบงำด้วย notifications เสียงสายเรียกเข้า และตารางที่แน่นเอี้ยด และแม้ว่าฉันอยากจะทำทุกอย่างให้เสร็จตามเวลาที่กำหนด แต่ฉันก็มักจะสายเสมอ

เพราะว่าฉันมีลูกสาววัย 6 ขวบที่แสนจะใจเย็นนั่นเอง

เวลาที่เราต้องออกจากบ้านได้แล้ว ลูกจะใช้เวลาว่าจะเลือกกระเป๋าและมงกุฎ

เวลาที่ฉันเข้าเกียร์ D พร้อมจะเหยียบคันเร่ง ลูกจะขอใส่เข็มขัดนิรภัยให้น้องหมีก่อน

เวลาที่ฉันซื้ออาหาร takeaway และจะเดินออกจากร้าน ลูกจะหยุดคุยกับหญิงชราที่หน้าตาละม้ายคุณยายของเธอ

เวลาฉันอยากรีบเดินกลับให้ถึงบ้านเพื่อจะได้ไปออกกำลังกายซัก 30 นาที ลูกจะหยุดคุยและลูบหัวหมาทุกตัวที่มีคนพามาเดินเล่น

เวลาที่ฉันมีตารางเต็มตั้งแต่ 6 โมงเช้า ลูกจะขอตอกไข่และเล่นทำกับข้าว

ลูกสาวคือของขวัญสำหรับคุณแม่เจ้าระเบียบอย่างฉัน แต่ตอนนั้นฉันไม่รู้ตัวหรอกนะ เวลาชีวิตเราวุ่นวายเกินไป สายตาของเราก็มักจะมองอะไรได้ไม่กว้างนัก เราจะเห็นแค่สิ่งที่ต้องทำอันถัดไปเท่านั้นเอง และอะไรก็ตามที่ไม่ช่วยลดงานใน to do list เราก็จะถือว่ามันเป็นเรื่องเสียเวลา

เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกสาวทำให้แผนการฉันรวน ฉันจะคิดอยู่ในใจว่า “เราไม่มีเวลาทำเรื่องนี้นะ” (“We don’t have time for this.”)

และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมคำพูดที่ฉันพูดกับลูกบ่อยที่สุดคือคำว่า “เร็วๆ หน่อย”

“เร็วๆ หน่อย เราสายแล้วนะ”

“กินข้าวเร็วๆ หน่อย”

“แต่งตัวเร็วๆ หน่อย”

“แปรงฟันเร็วๆ หน่อย”

“เร็วๆ หน่อย ถึงเวลานอนแล้ว”

และแม้คำว่า “เร็วๆ หน่อย” จะไม่ได้ช่วยเพิ่มความเร็วให้กับลูกแม้แต่น้อย ฉันก็ยังพูดมันออกมาอยู่ดี เผลอๆ จะพูดบ่อยกว่าคำว่า “แม่รักหนู” ซะอีก

ความจริงนี่มันทิ่มแทงนะ แต่มันก็เยียวยาด้วยเช่นกัน

แล้ววันหนึ่งทุกอย่างก็เปลี่ยนไป เราเพิ่งรับลูกสาวคนโตมาจากโรงเรียน และพอกลับถึงบ้าน ถึงเวลาต้องลงจากรถ พอเห็นว่าน้องสาวของเธอทำอะไรช้าเกินไป ลูกคนโตของฉันก็เลยพูดออกมาว่า “ชักช้าจริงๆ เลย” ยิ่งเห็นเธอกอดอกและถอนหายใจ ฉันก็ได้มองเห็นตัวเองในร่างของลูกสาวคนโต

ณ วินาทีนั้น ฉันถึงได้รู้ตัวว่าที่ผ่านมาฉันเป็นคนตัวใหญ่ที่ชอบกดดันและชอบเร่งรีบคนตัวเล็กๆ คนหนึ่งที่อยาก enjoy กับชีวิต

นิสัยเร่งรีบของฉันกำลังทำร้ายลูกสาวทั้งสองคน

ฉันสบตาลูกคนเล็กและพูดด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ “แม่ขอโทษนะที่แม่เร่งลูกตลอดเลย จริงๆ แล้วแม่ชื่นชมลูกนะที่ทำอะไรโดยไม่เร่งรีบ แม่ก็อยากจะทำให้ได้เหมือนลูกเหมือนกัน”

ลูกสาวทั้งสองคนประหลาดใจที่ฉันพูดแบบนั้นออกไป โดยเฉพาะลูกสาวคนเล็กที่ดวงตาเป็นประกาย ดูออกเลยว่าเธอดีใจที่ฉันยอมรับในสิ่งที่เธอเป็น

“แม่สัญญาว่าจากนี้ไปแม่จะใจเย็นกว่านี้” ฉันพูดพลางโอบเธอมากอดไว้ ส่วนลูกสาวก็ยิ้มไม่หุบเมื่อได้ฟังคำมั่นที่แม่เพิ่งให้กับเธอ

การหยุดใช้คำว่า “เร็วๆ หน่อย” นั้นไม่ได้ยากเย็นอะไร สิ่งที่ยากคือการเรียนรู้ที่จะรอคอยลูกสาวอันแสนใจเย็นต่างหาก เพื่อที่จะทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้นสำหรับเราทั้งคู่ ฉันให้เวลาเธอมากขึ้นสำหรับการเตรียมตัวเวลาเราต้องออกไปที่ไหน และแม้จะทำอย่างนั้นแล้วบางทีเราก็ยังสายอยู่ดี แต่ฉันก็บอกนะตัวเองว่าเราจะสายแบบนี้อีกแค่ไม่กี่ปีหรอก แค่ช่วงที่ลูกยังเด็กอยู่เท่านั้นเอง

เวลาเราเดินไปร้านขายของ ฉันจะก้าวเท้าตามความเร็วของลูก และเวลาเธอหยุดดูอะไร ฉันจะพยายามไม่กังวลถึงเรื่องที่ฉันต้องทำและบอกตัวเองให้แค่เฝ้ามองเธอ

ฉันได้เห็นอะไรหลายอย่างที่ไม่เคยเห็นในตัวลูกสาวมาก่อน ไม่ว่าจะเป็นรอยบุ๋มบนมือหรือรอยย่นบนหน้าเวลาลูกยิ้ม ฉันได้เห็นว่าคนที่เดินผ่านมามีปฏิกิริยาอย่างไรเวลาที่ถูกลูกชวนคุย ฉันเห็นเวลาลูกเจอแมลงสวยๆ หรือดอกไม้งามๆ เธอเป็นคนช่างสังเกต และคนช่างสังเกตในโลกนี้นั้นมีไม่มากนักหรอก และฉันก็ตระหนักได้ว่าลูกคือของขวัญอันล้ำค่าสำหรับจิตวิญญาณอันว้าวุ่นของแม่คนนี้

เป็นเวลาสามปีแล้วนับตั้งแต่วันที่ฉันให้คำมั่นสัญญาว่าจะใช้ชีวิตให้ช้าลง นับตั้งแต่วันนั้นฉันก็พยายามลดความยุ่งเหยิงในชีวิตให้น้อยลงด้วย การทำอะไรอย่างใจเย็นนั้นต้องฝืนตัวเองพอสมควร และลูกสาวคนเล็กของฉันก็เป็นเครื่องเตือนใจที่ดีว่าฉันต้องพยายามต่อไป จริงๆ แล้วเธอเพิ่งเตือนฉันอีกครั้งเมื่อวันก่อนนี้เอง

วันนั้น เราสองคนปั่นจักรยานไปซื้อไอติมที่ร้านรถเข็น หลังจากซื้อไอติมให้เธอแล้ว เราก็นั่งลงที่ม้านั่งและลูกก็มองไอติมด้วยความตื่นเต้น

แต่แล้วสีหน้าของเธอก็กังวลขึ้นมาเล็กน้อย “แม่ขา หนูต้องรีบกินรึเปล่า?”

น้ำตาฉันเกือบไหลออกมา บางทีเราคงไม่อาจลบรอยแผลเป็นแห่งชีวิตที่เร่งรีบได้

ในขณะที่ลูกมองมาที่ฉันและรอคำตอบ ฉันรู้ว่าฉันมีสองทางเลือก ระหว่างนั่งเสียใจกับความผิดพลาดในอดีต หรือดีใจที่วันนี้ฉันได้พยายามทำสิ่งที่ต่างออกไป

ฉันเลือกที่จะอยู่กับปัจจุบัน

“หนูไม่ต้องรีบเลยจ้ะ ค่อยๆ กินได้เลย”

แล้วเราก็นั่งคุยกันเรื่อยเปื่อย มีบางช่วงด้วยซ้ำที่เรานั่งเงียบๆ มองหน้าแล้วยิ้มให้กัน

ฉันนึกว่าลูกจะกินไอติมจนหมดเกลี้ยง แต่ปรากฎว่าพอเธอกินใกล้จะเสร็จ เธอยื่นไอติมให้ฉันและบอกว่า “หนูเก็บคำสุดท้ายไว้ให้แม่นะคะ”

ฉันมอบเวลาให้กับลูก และเธอก็ตอบแทนฉันด้วยไอติมคำสุดท้าย ลูกสอนให้ฉันรู้ว่าสิ่งต่างๆ นั้นหวานหอมกว่าเดิมและความรักนั้นเกิดขึ้นง่ายดายกว่าเดิมหากเราเรียนรู้ที่จะใจเย็นกับชีวิต

ไม่ว่าจะเป็นการ

กินไอติม

เด็ดดอกไม้

ใส่เข็มขัดนิรภัย

ตอกไข่

เก็บเปลือกหอย

ดูแมลงเต่าทอง

เดินเล่น

ฉันจะไม่พูดอีกต่อไปแล้วว่า “เราไม่มีเวลาทำเรื่องนี้” (“We don’t have time for this”) เพราะการพูดแบบนั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการพูดว่า “เราไม่มีเวลาใช้ชีวิต” (“We don’t have time to live”)

การเรียนรู้ที่จะมีความสุขกับเรื่องธรรมดา คือทางเดียวที่จะใช้ชีวิตได้อย่างแท้จริง


ถอดความจากบทความของ Huffpost: The Day I Stopped Saying ‘Hurry Up’ by Rachel Macy Stafford