หนังสือพิมพ์ขายอะไร?

20150930_NewspapersSell

“หนังสือพิมพ์ขายอะไร?”

นี่คือคำถามที่อาจารย์ชื่อเจสซี่ถามพวกเราในคราบเรียนวิชา Seminar in Language & Communication Research ที่นิด้า (สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์)

“หนังสือพิมพ์ขายอะไร?”

นักเรียนในห้องหลายคนก็ตอบทันทีว่า ขายข่าว!

แต่ผมไม่ได้ตอบทันที เพราะเดาว่าถ้าเจสซี่เอามาถาม คำตอบก็น่าจะลึกซึ้งกว่านั้นหน่อย

เคยได้ยินมาว่า หนังสือพิมพ์นั้น ต้นทุนในการพิมพ์สูงกว่าราคาขายเสียอีก สิ่งที่ทำให้หนังสือพิมพ์อยู่ได้คือรายได้จากโฆษณาต่างหาก

ผมเลยตอบไปว่า “ขายโฆษณา”

เจสซี่บอกว่า ใกล้เคียงมากขึ้น แต่ยังไม่ถูกซะทีเดียว เจสซี่ถามให้เราคิดต่อว่า เวลาเรา “ขาย” อะไรบางอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร

สมมติเราขายกาแฟ สิ่งที่เราให้ลูกค้าคือกาแฟ และลูกค้าที่กินกาแฟก็เอาเงินให้เรา

หนังสือพิมพ์ ถ้าคิดชั้นเดียว ก็คือเราให้ข่าวกับลูกค้า และลูกค้าก็ให้เงินกับเรา

แต่เม็ดเงินที่ทำให้หนังสือพิมพ์อยู่ได้คือคนที่มาลงโฆษณา หรือ advertisers นั่นเอง

อย่างไทยรัฐ บางหน้าเราก็จะเจอโฆษณาทั้งหน้าเลย หรือบางหน้าก็มีซอยย่อยๆ ซึ่งราคาที่ไทยรัฐชาร์จก็ลดหลั่นกันไป

ผมก็เลยตอบไปอีกทีว่า “หนังสือพิมพ์ขายพื้นที่ในหนังสือพิมพ์ ให้กับคนที่มาลงโฆษณา”

เจสซี่บอกว่า ใกล้เคียงขึ้นอีกนิดละ

การขายคือการนำส่ง “คุณค่า” บางอย่างให้ลูกค้า และลูกค้าก็จ่ายเงินเราเป็นการตอบแทน

“พื้นที่ในหนังสือพิมพ์” จะถือว่ามี “คุณค่า” รึเปล่า ถ้าหนังสือพิมพ์นั้นไม่มีคนอ่านเลย?

“คุณค่า” ที่แท้จริงที่หนังสือพิมพ์ส่งให้กับผู้ลงโฆษณา จึงไม่ใช่พื้นที่ แต่เป็นความสนใจของผู้อ่านต่างหาก

ครับ หนังสือพิมพ์ขาย “ความสนใจของผู้อ่าน” ให้กับ “ผู้ลงโฆษณา” – Newspapers sell reader’s attention to advertisers

การทำธุรกิจของหนังสือพิมพ์จึงมีสองขยัก

ขยักแรก – ทำเนื้อหาให้ดีๆ เพื่อที่จะได้มีคนอ่านเยอะๆ

ขยักที่สอง – เมื่อมีคนอ่านเยอะๆ ก็จะนำจำนวนของผู้อ่านนี่แหละ ไปขายให้กับคนลงโฆษณา

นอกจากหนังสือพิมพ์แล้ว สื่อเกือบทุกสื่อก็ใช้โมเดลเดียวกัน คือดึงคนให้มาเสพสื่อของตัวเองเยอะๆ แล้วค่อยขายพื้นที่โฆษณา

ไม่ว่าจะเป็นนิตยสาร ทีวี หรือแม้กระทั่ง Google และ Facebook

ในฐานะผู้เสพสื่อ เราเคยคิดว่าตัวเองเป็น “ลูกค้า”

แต่จริงๆ แล้วเราเป็น “สินค้า” ต่างหาก!

—–

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก See First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

เหตุผลที่ Amazon ไม่ใช้ Powerpoint ในการประชุม

20150929_AmazonNoPowerpoint

เชื่อว่าผู้อ่าน Anontawong’s Musings ทุกคนน่าจะรู้จัก Amazon ร้านขายหนังสือออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก (และตอนนี้กำลังกลายร่างเป็น Everything Store คือขาย “สากกะเบือยันเรือรบ”)

ผู้ก่อตั้งแอมะซอนคือ เจฟ เบโซส (Jeff Bezos) ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นห้วหน้าที่เป็นเผด็จการพอตัว เพราะทุกอย่างในแอมะซอนต้องทำตามทิศทางของเขาทั้งหมด

สิ่งหนึ่งที่เจฟ เบโซสทำที่แอมะซอนคือการ “แบน” PowerPoint ในห้องประชุม

เจฟให้เหตุผลว่า PowerPoint ทำให้ชีวิตของคนพรีเซ้นท์ง่าย แต่ทำให้ชีวิตของคนฟังยาก

เนื้อหาที่อยู่ในสไลด์มักจะมาเป็น bullet points ซึ่งบางทีก็อาจจะกว้างเกินไปหรือตกหล่นเนื้อหายิบย่อยที่มีความสำคัญ

การทำ PowerPoint มักจะทำให้เจ้าของเรื่องใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำสไลด์ให้สวยงาม แทนที่จะเอาเวลามานั่งคิดให้ละเอียดว่าต้องการนำเสนออะไร ดังคำพูดของเจฟที่ว่า

“Now we’ve got highly paid people sitting there formatting slides—spending hours formatting slides—because it’s more fun to do that than concentrate on what you’re going to say. . . . Millions of executives around the world are sitting there going, “Arial? Times Roman? Twenty-four point? Eighteen point?”

“สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือพนักงานที่เราจ้างมาแพงๆ ใช้เวลาหลายชั่วโมงนั่งทำสไลด์ เพราะมันสนุกกว่ามานั่งใส่ใจว่าเขาควรจะพูดอะไร (และพูดอย่างไร) ผู้บริหารนับไม่ถ้วนจึงนั่งอยู่หน้าจอคอมแล้วถามตัวเองว่า “จะใช้ฟอนท์ Arial หรือ Times New Roman ดีนะ? จะใช้ฟอนท์ขนาด 24 pts หรือ 18 pts ดีนะ?”

ซึ่งผมก็เห็นด้วยจริงๆ ว่าการเปิดโอกาสให้ทำ PowerPoint มักจะทำให้คนที่ต้องพรีเซ้นท์ไม่ค่อยจะเตรียมตัวอะไรเท่าไหร่ เผลอๆ นั่งทำขึ้นมาก่อนเข้าประชุมนั่นแหละ

สิ่งที่เจฟสั่งให้พนักงานทุกคนในแอมะซอนทำก็คือ แทนที่จะใช้สไลด์ คนที่เป็นเจ้าของเรื่องต้องเขียน Narrative Memo ความยาว 6 หน้าแทน

ผมไม่มีข้อมูลว่า Narrative Memo ที่ว่ามีเนื้อหาอย่างไรบ้าง แต่ถ้าให้เดาคงอารมณ์คล้ายๆ รายงาน ที่ต้องบอกรายละเอียดว่าจะนำเสนอเรื่องอะไร มีข้อดี ข้อเสียอย่างไร ทำไมถึงคุ้มที่จะทำโปรเจ็คนี้ ฯลฯ

และ Memo นี้จะได้รับการแจกในที่ประชุม และในช่วง 10-15 นาทีแรกของการประชุม ทุกคนจะนั่งอ่านรายงานนี้อย่างเงียบๆ

คนสัมภาษณ์ถามเจฟว่า ทำไมไม่ส่งรายงานให้อ่านก่อนเข้าประชุมไปเลย

“Time doesn’t come from nowhere. This way you know everyone has the time. The author gets the nice warm feeling of seeing their hard work being read.”

“เวลาไม่ได้หากันได้ง่ายๆ ถ้าเราให้ทุกคนอ่านพร้อมกันในห้องประชุมเราก็แน่ใจได้ว่าทุกคนมีเวลาอ่านแน่นอน แถมคนทำรายงานก็รู้สึกดีด้วยที่เห็นทุกคนนั่งอ่านรายงานที่ตัวเองทุ่มเทเขียนขึ้นมา”

เมื่อต้องมานั่งเขียน Memo ที่ทุกคนจะต้องอ่านและต้องใช้ในการถกเถียง คนที่เป็นเจ้าของเรื่องย่อมต้องใช้ความคิดและความตั้งใจมากกว่าการทำ PowerPoint ซึ่งนั่นก็จะทำให้ความคิดของเขาตกผลึกมากขึ้น และนำเสนอข้อมูลได้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น (โดยที่ความยาวไม่เกิน 6 หน้า)

อีกข้อดีหนึ่งของการทำ Memo ก็คือเราจะไม่เสียเวลากับคำถามที่ไม่จำเป็น

“If you have a traditional ppt presentation, executives interrupt. If you read the whole 6 page memo, on page 2 you have a question but on on page 4 that question is answered.”

“ถ้าคุณพรีเซ้นต์โดยใช้พาวเวอร์พอยท์ ผู้บริหารที่ฟังอยู่มักจะถามคำถามขัดจังหวะอยู่เรื่อยๆ แต่ถ้าคุณนั่งอ่านรายงานเงียบๆ ทั้ง 6 หน้า ตอนคุณอ่านถึงหน้า 2 คุณอาจจะมีคำถาม แต่พออ่านถึงหน้า 4 คุณก็จะได้คำตอบด้วยตัวคุณเอง”

—–

ผมยังไม่เคยได้ยินว่าองค์กรไหนนอกจากแอมะซอนใช้วิธีการเขียน Narrative Memo ก่อนเข้าประชุมอย่างนี้นะครับ

(ยิ่งเมืองไทยยิ่งไม่ต้องพูดถึง บางที่ไม่มีวาระการประชุมด้วยซ้ำ)

แต่เห็นว่าเป็นคอนเซ็ปต์ที่น่าสนใจดีเลยอยากเอามาแชร์

ถ้าใครเอาไปลองใช้แล้วได้ผลยังไง กลับมาเล่าให้ฟังบ้างนะครับ

—–

* EDIT: 30 Sep 2015: ตอนแรกผมเขียนชื่อภาษาไทยของ Jeff Bezos ว่า เจฟ เบซอส แต่จริงๆ ควรจะเป็น เจฟ เบโซส มากกว่าครับ ขอบคุณคุณ Choopong Choosamer และ ussatlantis ที่ท้วงติงมาครับ

—–

ขอบคุณข้อมูลจาก Moving People To Action: AMAZON STAFF MEETINGS: “NO POWERPOINT,  Philantropy Daily: Jeff Bezos’ PowerPoint prohibition 

ขอบคุณภาพจาก Pexels.com

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก See First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

ต้นเหตุแห่งความทุกข์

20150928_RootOfSuffering

จั่วหัวมาเหมือนจะเข้าแนวธรรมะ และมีภาษาบาลีอย่าง “อวิชชา” หรือ “ตัณหา”

แต่เปล่าครับ วันนี้ผมจะไม่พูดเรื่องทุกข์ในรูปแบบนั้น

วันนี้ผมมีวิธีอธิบายความทุกข์ที่ “วัยรุ่น” กว่านั้นมาแชร์ให้ฟังครับ

ขอแอบโฆษณานิดๆ ว่า “ปิ๊ง” คอนเซ็ปต์นี้ขึ้นได้เองเมื่อหลายปีที่แล้ว และแอบภูมิใจอยู่ลึกๆ

แต่แล้วก็มารู้ทีหลังว่าสิ่งที่ปิ๊งขึ้นมานั้นไม่ใช่ความคิดที่ลึกซึ้งอะไร เพราะคนอื่นๆ ก็คิดได้คล้ายๆ กันเพียงแต่อาจจะใช้ศัพท์ที่ต่างกันนิดหน่อย

ต้นเหตุของความทุข์คืออะไร?

ผมว่าความทุกข์เกิดจากการที่ความจริงไม่สอดคล้องกับความคาดหวังของเรา – suffering happens when reality doesn’t match your expectation.

ตัวอย่างที่ 1:

เย็นวันนี้รถติดมากๆ ผมขับรถออกจากออฟฟิศแฟนตอนห้าโมงครึ่ง แต่รถไปติดบนทางด่วนนานเกือบสองชั่วโมง

ความหงุดหงิดเกิดขึ้นทันที่ เพราะผมคาดหวังเอาไว้ว่าจะถึงบ้านก่อนหนึ่งทุ่ม แต่ตอนที่อยู่บนทางด่วน รถเขยิบนาทีละไม่กี่เมตร ก็รู้ซึ้งถึงความจริงว่า กว่าจะถึงบ้านก็คงล่วงเลยถึงสองทุ่มเป็นแน่แท้

สิ่งที่คาดหวังกับความเป็นจริงไม่สอดคล้องกัน ความทุกข์จึงเกิด

ตัวอย่างที่ 2:

ผู้ชายอย่างเราบางทีก็พูดอะไรไม่ค่อยคิด จนทำให้แฟนเสียใจและน้อยใจ พอแฟนน้อยใจผมก็พยายามขอโทษ แต่แฟนก็ยังโกรธอยู่ดี พอง้อไปสักพักยังไม่เห็นอาการดีขึ้น ผมก็ชักจะเริ่มไม่โอเคแล้ว เพราะผม “คาดหวัง” ว่าแฟนควรหยุดโกรธได้แล้ว แต่ความเป็นจริงก็คือแฟนยังโกรธอยู่

เมื่อความคาดหวังกับความจริงไม่สอดคล้องกัน ผมก็เลยพลอยทุกข์ใจตามไปด้วย

ลองถามตัวคุณเองก็ได้ครับว่า สถานการณ์ที่ทำให้คุณทุกข์ใจนั้น เข้าล็อค “ความจริง กับ ความคาดหวัง ไม่สอดคล้องกัน” อย่างที่ผมว่ารึเปล่า

  • เราอกหัก เพราะว่าเราคาดหวังให้เขารักเราเหมือนอย่างที่เรารักเขา
  • เราเจ็บปวดเมื่อคนที่เรารักจากเราไป เพราะเราคาดหวังให้เขาอยู่กับเราไม่ไปไหน
  • เราร้อนรนเวลาใครมานินทาเราเสียๆ หายๆ เพราะเราคาดหวังให้เขาพูดแต่ความจริง

เมื่อความทุกข์ทั้งหลายเกิดจากการ mismatch ดังนั้นถ้าจะหายทุกข์ได้ก็มีสองทาง

คือเปลี่ยนความจริง หรือไม่ก็เปลี่ยนความคาดหวัง

การเปลี่ยนความจริงทำได้ครับ แต่เหนื่อยหน่อย เหมือนอย่างที่สตีฟ จ๊อบส์และแอปเปิ้ลเปลี่ยนโลกแห่งการฟังเพลงและโทรศัพท์มือถือมาแล้ว

แต่สำหรับคนที่ไม่ได้เกิดมาเพื่อเปลี่ยนโลกอย่างพวกเรา การเปลี่ยนความคาดหวังน่าจะเป็นวิธีที่เรียบง่ายกว่าและเหนื่อยน้อยกว่ากันเยอะ

แม้จะเป็นวิธีที่เรียบง่าย แต่ก็ใช่ว่ามันจะง่ายดายนะครับ (Simple but not easy)

เพราะเราคุ้นชินกับการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางมาโดยตลอด และจิตใต้สำนึกเราก็เรียกร้องให้โลกหมุนไปตามใจเรา แม้จิตสำนึก (สมอง) จะรู้ทั้งรู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ก็ตาม

แล้วจะบรรเทาอาการอย่างนี้ได้อย่างไร?

วิธีที่ผมพบว่าเวิร์คกับตัวเองที่สุดก็คือการฝึกรู้สึกตัวอยู่บ่อยๆ เพื่อให้เห็นว่าตอนนี้เรากำลังติดกับดัก “ความคาดหวัง” ที่ไม่สอดคล้องกับ “ความเป็นจริง” อยู่รึเปล่า

เมื่อเรารู้ตัว ว่ากำลังทุกข์ คราวนี้ก็ขึ้นอยู่กับเราแล้วล่ะครับว่า จะเลือกทุกข์ต่อไป หรือเลือกที่จะเปลี่ยนความจริง หรือเลือกที่จะเปลี่ยนความคาดหวังของตัวเอง

—–

ขอบคุณภาพจาก Pexels.com

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก See First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

ความเสี่ยง vs ความไม่แน่นอน

20150927_RiskUncertainty

วันนี้ผมขอมาแนววิชาการหน่อยนะครับ

เป็นเรื่องเล่าที่ได้มาจากหนังสือ The Art of Thinking Clearly ของ Rolf Dobelli ครับ

มีกล่องอยู่สองกล่อง

กล่องแรกมีลูกบอลอยู่ 100 ลูก โดย 50 ลูกเป็นสีแดง และอีก 50 ลูกเป็นสีดำ

กล่องที่สองมีลูกบอลอยู่ 100 ลูกเหมือนกัน แต่เราไม่รู้ว่ามีบอลสีแดงกี่ลูกและมีบอลสีดำกี่ลูก

ถ้ากติกาคือให้คุณล้วงลงไปในกล่อง แล้วหยิบบอลขึ้นมาหนึ่งลูก

ถ้าได้บอลสีแดง คุณจะได้เงินรางวัล 1,000 บาท

คุณจะเลือกหยิบบอลจากล่องแรกหรือกล่องที่สอง?

เชื่อว่า คนส่วนใหญ่จะเลือกหยิบจากกล่องแรก

—–

เอาใหม่

ถ้ารอบสอง เราเปลี่ยนกติกาเป็นต้องหยิบบอลสีดำขึ้นมาถึงจะได้เงินรางวัล

คราวนี้คุณจะเลือกหยิบบอลจากกล่องแรกหรือกล่องที่สอง?

คนส่วนใหญ่ก็ยังเลือกหยิบบอลจากกล่องแรกอยู่ดี

เหมือนตรรกะจะบิดเบี้ยวนิดนึงนะครับ!

ตอนหยิบบอลครั้งแรก เราตั้งสมมติฐานว่ากล่องที่สองอาจมีบอลสีแดงน้อยกว่าบอลสีดำ

ดังนั้น ถ้ากติกาบอกให้เราหยิบบอลสีดำ เราก็ควรเลือกหยิบจากกล่องที่สองสิ

——

เหตุการณ์ข้างต้นเป็นตัวอย่างของ Ellsberg Paradox ครับ

โดยทฤษฎีนี้กล่าวว่า คนเรามักเลือกที่จะ “เล่น” กับความเสี่ยงที่ระบุได้ มากกว่าที่จะเล่นกับความเสี่ยงที่ระบุไม่ได้

ในกล่องแรก เรามีโอกาส 50:50 ที่จะได้บอลสีดำ หรือพูดง่ายๆ ว่าเรารู้ว่า “ความเสี่ยง” หรือ “ความน่าจะเป็น” มีค่าเท่าไหร่

ขณะที่กล่องที่สอง เราไม่รู้ “ความเสี่ยง” เลย สิ่งที่เราเผชิญอยู่คือ “ความไม่แน่นอน” ต่างหาก

ความเสี่ยง (Risk) กับความไม่แน่นอน (Uncertainty) เป็นคำสองคำที่ดูเผินๆ จะเหมือนกัน แต่ Ellsberg Paradox ช่วยอธิบายให้เห็นความแตกต่างของสองคำนี้ได้เป็นอย่างดี

เมื่อเรารู้ความแตกต่างระหว่าง ความเสี่ยง กับ ความไม่แน่นอนแล้ว เราจะมองโลกได้ชัดขึ้น และไม่ถูกหลอกง่ายๆ

อะไรก็ตามที่เราคำนวณได้ นั่นคือความเสี่ยง

อะไรก็ตามที่เราคำนวณไม่ได้ นั่นคือความไม่แน่นอน

เราสามารถคำนวณได้ว่า โอกาสที่จะได้ป๊อกแปดหรือป๊อกเก้าเป็นเท่าไหร่ นี่คือโลกแห่งการพนันและ “ความเสี่ยง” ที่พอคาดเดาได้ (และเป็นเหตุผลที่ทำไมบ่อนทุกบ่อนถึงรวยหมดเพราะว่ามันได้ออกแบบบน “ความน่าจะเป็น” ที่คำนวณและคาดเดาได้)

แต่เราไม่สามารถคำนวณได้ว่า โอกาสที่เงินดอลล่าร์จะแข็งขึ้นมีความน่าจะเป็นเท่าไหร่ เพราะการขึ้นลงของค่าเงินดอลล่าร์นั้นมีปัจจัยเยอะเกินกว่าจะนำมาคำนวณได้ และค่าเงินดอลล่าร์ หรือดัชนีตลาดหุ้น อยู่ในโลกแห่ง “ความไม่แน่นอน” ไม่ใช่โลกแห่ง “ความน่าจะเป็น”

ดังนั้น ถ้าใครมาบอกคุณว่า “มีโอกาส 60% ที่หุ้นตัวนี้จะขึ้น ดังนั้นควรซื้อเก็บเอาไว้” ให้ระวังไว้ว่าเขาอาจจะมั่วใส่คุณอยู่

—–

คนเราพร้อมจะเล่นกับความเสี่ยง แต่ไม่พร้อมที่จะเล่นกับความไม่แน่นอน

ผมว่านี่อาจเป็นหนึ่งเหตุผลที่คนจำนวนไม่น้อยไม่สบายใจกับการชุมนุมของกปปส.และทิศทางของกลุ่มที่จะตั้ง “สภาประชาชน” ในช่วงหนึ่ง เพราะไม่รู้ว่ามันจะนำพาประเทศไปสู่อะไร (ความไม่แน่นอนสูงมาก) และอยากให้กลับไปเลือกตั้งกันมากกว่า แม้จะรู้ว่าคงได้นักการเมืองที่ทุจริตอีหรอบเดิมอีก แต่อย่างน้อยก็พอรู้ว่าความเสี่ยงมีอะไรบ้าง เพราะเราเคยเห็นการโกงทุกรูปแบบมาแล้ว (และประเทศก็ยังเดินต่อมาได้)

และเพราะความรังเกียจความไม่แน่นอน (uncertainty aversion) นี่เอง ที่ทำให้ใครหลายๆ คนยังไม่กล้าลาออกจากงาน ทั้งๆ ที่ก็เบื่อสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันเต็มที นั่นเพราะเมื่อลาออกจากงานแล้ว สิ่งที่ตามมามีความไม่แน่นอนสูง ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้ว “ความเสี่ยง” นั้นอาจต้องถือว่า “ต่ำ” เพราะถ้าทำแล้วไม่สำเร็จก็คงไม่ถึงขนาดอดตาย และก็น่าจะหางานใหม่ได้ไม่ยากเกินไปนัก

ผมไม่รู้หรอกว่าการรู้ความแตกต่างระหว่าง “ความเสี่ยง” กับ “ความไม่แน่นอน” มันจะช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้นได้รึเปล่า

แต่ก็อยากจะมาเล่าให้ฟังเอาไว้เพราะเห็นว่าเป็นคอนเซ็ปต์ที่น่าสนใจ

อย่างน้อยก็น่าจะช่วยให้เราฉุกคิดได้ว่า สิ่งที่เราเผชิญอยู่ มันคือ “ความเสี่ยง” หรือ “ความไม่แน่นอน” กันแน่

—–

ขอบคุณข้อมูลจาก The Art of Thinking Clearly ของ Rolf Dobelli บทที่ 80 – The Difference between Risk and Uncertainty

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก See First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

ให้อภัย

20150629_Forgive

“Forgive others, not because they deserve forgiveness, but because you deserve peace.”

“จงให้อภัยคนอื่น ไม่ใช่เพราะเขาควรได้รับการให้อภัย แต่เพราะว่าคุณควรได้รับความสุขสงบทางจิตใจต่างหาก”

– Jonathan Lockwood Huie

—–

มนุษย์เป็นสัตว์เพียงชนิดเดียวที่คิดเป็นตุเป็นตะได้

ความปราชญ์เปรื่องของมนุษย์นี่เองที่ทำให้เผ่าพันธุ์ของเราขึ้นสู่จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหาร

แต่ความฉลาดก็สร้างปัญหาให้เราเช่นกัน เพราะมันหมายความว่า ไม่มีใครสามารถทำร้ายตัวเราได้เท่ากับตัวเราเอง

คนที่ฆ่าตัวตาย ก็เพราะว่าเขาได้ใช้ความคิดทำร้ายตัวเองซ้ำไปซ้ำมา-ซ้ำไปซ้ำมา

โลกใบนี้อาจมีคนฆ่าตัวตายไปแล้วนับแสนนับล้านคน

แต่ไม่มีแมวตัวไหนเคยฆ่าตัวตาย

ความขุ่นข้องหมองใจก็เหมือนกัน การที่เราเก็บความโกรธความอาฆาตใครซักคนไว้ในใจของเรา ไม่ใช่สิ่งที่ฉลาดเอาเสียเลย

คนคนนั้นอาจเคยทำผิดกับเราก็จริง จะโดยเจตนาหรือไม่เจตนาก็ตามแต่

จริงๆ แล้วเขาอาจจะรู้สึกผิดและขอโทษเราอยู่ในใจทุกวันก็ได้ เพียงแต่เขาไม่เคยกล้ามาบอก

ถ้าเป็นอย่างนั้นเราก็ควรจะให้อภัยเขาไม่ใช่หรือ?

กลับกัน ถ้าเขาไม่ได้รู้สึกผิดอะไรเลย ก็เป็นธรรมดาที่เราจะรู้สึกโกรธและหาทาง “สั่งสอน” เขา

แต่กว่าเราจะได้ “สั่งสอน” เขา เราก็น่วมไปไม่ใช่น้อยแล้ว

เพราะเราไม่สามารถทำร้ายใครได้ โดยไม่ทำร้ายตัวเราเองก่อน

อาจจะดีกว่าถ้าเราจะ “ยกประโยชน์ให้จำเลย”

และถือซะว่า ชาติก่อนๆ เราคงเคยทำเขาเอาไว้เหมือนกัน

นี่ไม่ใช่การหลอกตัวเอง

แต่มันคือการแสดงออกต่อความเชื่อใจในกฎแห่งกรรม/พระเจ้า

ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว มีเหตุผลของมันเสมอ

เช่นเดียวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป ทั้งกับเราและกับเขา

ถ้าเราปล่อยวางความขุ่นข้องนั้นได้

คนที่ได้ประโยชน์สูงสุดเป็นคนแรกก็ไม่ใช่ใครที่ไหน

จริงมั้ยครับ?

—–

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก See First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่