ก็แค่เอ่ยปาก

20160331_JustAsk

“If you don’t ask, the answer is always no”

ถ้าคุณไม่ขอ คุณก็จะได้แต่คำตอบว่า “ไม่”

– Pat Fynn

ตั้งแต่มีลูก แฟนผมไปทำงานแต่เจ็ดโมงเช้า และกลับบ้านห้าโมงเย็น

วันก่อน แล็ปท็อปของเธอรวน ก็เลยเอาลงไปให้ทีม IT Support ตอนสี่โมงเย็น ซึ่งดูแล้วน่าจะใช้เวลาเกินหนึ่งชั่วโมง เลยเวลาที่แฟนต้องออกจากออฟฟิศแล้ว

ถ้าเป็นแต่ก่อนแฟนผมคงจะรอให้ IT Support โทร.มาบอกวันรุ่งขึ้นว่าคอมซ่อมเสร็จ แล้วจึงลงไปเอา

แต่พอนึกได้ว่า วันรุ่งขึ้นจะมาถึงที่ทำงานตั้งแต่เช้า และกว่า IT Support จะโทร.มาก็น่าจะเก้าโมงเป็นอย่างน้อย จะให้นั่งทำงานโดยไม่มีคอมสองชั่วโมงก็ดูจะลำบากไปหน่อย

แฟนก็เลยขอ IT Support ว่า พอซ่อมแล็ปท็อปเสร็จแล้ว ช่วยเอามาวางไว้ที่โต๊ะได้มั้ย

ผลก็คือ เช้าวันรุ่งขึ้นที่เธอมาถึงที่โต๊ะทำงาน ก็มีแล็ปท๊อปที่ซ่อมเสร็จแล้วรออยู่ เธอจึงเริ่มงานได้เลยทันที

—–
นอกจากจะขอให้ IT Support เอาแล็ปท็อปมาให้ที่โต๊ะ แฟนผมยังขอหัวหน้ากลับบ้านเร็ว (ที่ทำงานของแฟน พนักงานชอบทำงานจนมืดค่ำ) แถมเธอยังขอหัวหน้าว่าจะลองเอาพนักงานใหม่จากโปรเจ็คหนึ่งมาช่วยงานในทีมเธออีกด้วย

ซึ่งหัวหน้าก็ไม่ว่าอะไร เพราะฟังดูก็สมเหตุสมผลดี

แฟนบอกว่า เธอเริ่มปรับตัวเป็นคนที่กล้าขอมากขึ้น เพราะผมเคยเล่าให้แฟนฟังบทเรียนบทหนึ่งจากหนังสือ The Last Lecture ของ Randy Pausch ที่บอกว่า Sometimes, all you need to do is ask 

ใช่ บางทีสิ่งที่เราต้องทำก็แค่เอ่ยปากออกไปเท่านั้นเอง

แต่ที่เราไม่กล้าเอ่ยปาก เพราะว่าเราเกรงใจ

แต่เหตุผลที่ลึกไปกว่านั้น เพราะเรากลัวถูกปฏิเสธ

เหตุผลที่ลึกลงไปอีกชั้นหนึ่งก็คือ เพราะเรากลัวจะโดนมองไม่ดี

และเหตุผลที่อยู่ข้างในสุด ก็คือเราหวงแหนอัตตาตัวตนของเราเอง

การที่เรากล้าขอ ไม่ได้ทำให้เราเป็นคนเห็นแก่ตัว เพราะก่อนที่จะขอ เราเองก็ควรคิดมาก่อนแล้วว่าสิ่งที่ขอนั้นไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรงสำหรับเขา

และหากว่าสิ่งที่เราขอมันทำให้เขาลำบากใจ เขาก็จะบอกเราเอง โดยอาจจะเสนอทางเลือกอื่นที่อาจจะได้ผลลัพธ์ใกล้เคียงกันก็ได้

มองในอีกมุมหนึ่ง การที่เราเอ่ยปากขอ คือการเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้แสดงน้ำใจ

และยังช่วยสร้างโอกาสให้เราได้ตอบแทนน้ำใจของเขาในอนาคตด้วย

“If you don’t ask, the answer is always no”

อยากได้อะไร อย่ามัวแต่เกรงใจหรือกลัวเสียหน้านะครับ

เพราะการไม่เอ่ยปาก อาจทำให้เราเสียอะไรมากกว่านั้นเยอะครับ

—–

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ที่ปุ่มไลค์จะมี drop down menu ให้เลือกได้ว่าอยากจะให้มี notifications หรืออยากเห็นโพสต์จากเพจนี้อยู่ต้นๆ ฟีดรึเปล่าครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Unsplash.com

ดูแลให้ดี

20160329_TreatThemWell

“Train people well enough so they can leave, treat them well enough so they don’t want to.”

“สร้างคนของคุณให้เก่งจนไปทำงานที่ไหนก็ได้ และดูแลเขาให้ดีเสียจนเขาไม่คิดอยากจะไปไหน”

– Richard Branson

—–

ความหนักใจอย่างหนึ่งขององค์กรที่อยากจะสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพก็คือ พอลงทุน ลงแรง และลงเงินเพื่อพัฒนาเด็กของตัวเองจนเก่งชนิดหาตัวจับยากแล้ว ก็ต้องมานั่งกังวลว่าเด็กจะมาลาออกไปเติบโตที่อื่น

ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะในฐานะเจ้าของหรือคนถือเงิน จะมีอะไรเจ็บปวดไปกว่าการต้องมาเห็นคนที่เราปั้นมากับมือ ออกไปสร้างผลงานกับบริษัทอื่น (โดยเฉพาะบริษัทคู่แข่ง!)

สิ่งที่ Richard Branson เจ้าของ Virgin พูด อาจจะเป็นหนึ่งในทางออกที่ดี

นั่นคือพัฒนาคนของคุณให้ดี และดูแลพวกเขาให้ดีจนเขาอยากอยู่กับเราไปนานๆ

คนเก่งๆ บางคนอาจจะแสวงหาตำแหน่งหรือเงินเดือนสูงๆ แต่ผมก็เชื่อว่าคนเก่งหลายคนมองหาอะไรที่ลึกซึ้งกว่านั้น เช่นงานที่ท้าทาย บรรยากาศการทำงานที่ดี หัวหน้าที่มีความเป็นผู้ใหญ่และมีความเป็นผู้นำ และโอกาสที่เขาจะได้เติบโตทั้งในฐานะคนทำงานและในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง

ดังนั้น ถ้าเราปฏิบัติต่อเขาด้วยความเคารพ เขาก็น่าจะปฏิบัติต่อเราด้วยความเคารพเช่นกัน

แต่ถ้าเราปฏิบัติต่อเขาด้วยความเคารพ แล้วเขาไม่ปฏิบัติต่อเราด้วยความเคารพ นั่นก็แสดงว่าเขาไม่เหมาะกับองค์กรของเราตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

แน่นอน คนเก่งบางคน ถึงเวลาที่เขาควรไป เขาก็ต้องไป

ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่จะได้เห็นต้นกล้าที่เราปลูก ไปแตกกิ่งก้านสาขาและแผ่ร่มเงาให้กับคนอื่นๆ อีกจำนวนมาก

เพราะสุดท้ายแล้ว ความหมายและจุดประสงค์ของการมีอยู่ขององค์กร ก็คือการสร้างผลิตภัณฑ์หรือการบริการที่มีประโยชน์กับสังคม ประเทศชาติ หรือแม้กระทั่งกับโลกทั้งใบ

การที่องค์กรของเราได้พัฒนาคนของเราจนเก่ง และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม เขาได้ออกไปทำสิ่งที่มีประโยชน์ในวงกว้างยิ่งขึ้น จึงเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจ

ว่าองค์กรเรานั้นไม่ได้แค่ “สร้างของ” แต่ยังได้ “สร้างคน” ที่จะทำประโยชน์ให้กับสังคม ประเทศชาติ หรือแม้กระทั่งกับโลกทั้งใบด้วย

—–

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ที่ปุ่มไลค์จะมี drop down menu ให้เลือกได้ว่าอยากจะให้มี notifications หรืออยากเห็นโพสต์จากเพจนี้อยู่ต้นๆ ฟีดรึเปล่าครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

ข้อเสียของการทำงานที่ Google

20160328_GoogleCons

วันก่อนตอนขับรถจากสุขุมวิทเลี้ยวซ้ายเข้าถนนวิทยุ มองเห็นตึกขึ้นใหม่ตรงหัวมุม ผมก็เลยบอกกับแฟนว่าสำนักงานกูเกิ้ลอยู่ที่นี่นะ แฟนบอกว่าใช่ เพราะเขาเองก็เคยมาที่นี่กับบริษัทแล้วครั้งนึง แล้วแฟนก็เปรยๆ ว่าเธอน่าจะฉลาดไม่พอที่จะทำงานที่กูเกิ้ล ผมก็เลยบอกว่าทำงานกูเกิ้ลก็มีข้อเสียนะ พอเล่าให้เขาฟังว่ามีข้อเสียอะไรบ้าง เขาก็บอกว่าเออ ไม่เคยคิดในมุมนี้มาก่อนเลย

ผมก็เลยได้เรื่องมาเขียนบล็อกในวันนี้ครับ!

ในบรรดาองค์กรระดับโลกนับร้อยนับพันแห่ง กูเกิ้ลน่าจะเป็นหนึ่งในองค์กรที่มีคนใฝ่ฝันอยากร่วมงานมากที่สุด อาจจะเพราะด้วยแบรนด์ที่แข็งแรง โปรดักท์ที่ทุกคนใช้กัน คำถามสัมภาษณ์ที่หินสุดๆ ขนมและอาหารให้กินฟรีไม่อั้น และพนักงานสามารถแบ่งเวลา 20% ของตัวเองไปทำโปรเจ็คอะไรก็ได้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ใครต่อใครก็อยากทำงานที่กูเกิ้ล จำนวนเรซูเม่มากกว่า 1,000,000 ฉบับต่อปี  เป็นเครื่องยืนยันได้

แต่เหรียญมีสองด้านเสมอ

มีคนเคยถามใน Quora ว่าอะไรคือเรื่องที่แย่ที่สุดเกี่ยวกับการทำงานที่กูเกิ้ล

ผมจึงขอหยิบยกมาเล่าให้ฟังคร่าวๆ ดังนี้นะครับ

Overqualified & under-utilized – เก่งเกินไปและไม่ได้ใช้ความสามารถตัวเองอย่างเต็มที่
เนื่องจาก Google นั้น “สวยเลือกได้” มากๆ ไม่ว่าจะตำแหน่งเบสิคแค่ไหนก็สามารถหาคนเก่งขั้นเทพมาทำได้ มีคนที่ประสบการณ์ทำงาน 25 ปีคนหนึ่งที่มาตอบใน Quora ว่า งานที่เขาทำนั้น ให้เด็กประสบการณ์สองปีมาทำก็ยังได้ หรือบางทีก็มีเด็กฝึกงานจากมหาวิทยาลัยท๊อปๆ ในอเมริกาที่ต้องมานั่งจัดการวีดีโอใน Youtube ที่โดนร้องเรียนมาว่าเนื้อหาไม่เหมาะสม หรือมานั่งเขียนเทสต์ว่าปุ่มนี้ควรจะใช้สีอะไรดี

Few opportunities to contribute to the greater good – ไม่มีโอกาสได้ทำสิ่งดีๆ ให้ส่วนรวม
ธรรมดาในองค์กรอื่นเราจะเห็นว่าระบบมันยังไม่เข้าที่ หรือยังขาดเครื่องมือบางอย่างที่จะช่วยให้ทำงานได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น แต่ที่กูเกิ้ลระบบทุกอย่างได้รับการพัฒนาและ optimized มาจนเกือบจะสุดทางแล้ว ดังนั้นจึงเป็นไปได้ยากมากที่เราจะมองเห็นช่องว่างที่จะเข้าไปช่วยเติมเต็มได้

Hard to get promoted – ได้โปรโมตยาก
สืบเนื่องมาจากสองข้อแรก ว่างานที่ทำก็ไม่ได้มีโอกาสโชว์ฝีมือมากนัก แถมพอจะคิดทำอะไรเพื่อส่วนรวม ระบบภายในก็ดันเยี่ยมยอดแล้วอีกต่างหาก วิธีที่คุณจะได้รับการโปรโมตก็คือต้องทำงานให้โดดเด่นกว่าเพื่อน แต่เพื่อนทุกคนที่ล้อมรอบตัวคุณก็ล้วนแต่เทพๆ ทั้งนั้น หัวหน้าของคุณก็เจอปัญหาเดียวกัน ทำให้เขาเองก็ไม่ค่อยได้โปรโมต พอหัวหน้าไม่ได้ขึ้น โอกาสที่เราจะขึ้นก็ย่อมน้อยลงเช่นกัน

Dealing with arrogant people – ต้องเจอกับคนเซลฟ์จัด
ลองคิดภาพว่าทั้งออฟฟิศที่คุณอยู่ มีแต่คนจบจากมหาลัย Top 10 ด้วยเกรดเฉลี่ย 3.90 เป็นอย่างน้อย บรรยากาศจะเป็นอย่างไร? คนเราพอฉลาดก็มักจะคิดว่าตัวเองเก่งกว่าคนอื่น เพราะฉะนั้นการพูดคุยกันเรื่องงานจึงมักจะกลายเป็นการเอาชนะคะคานกันมากกว่า

Locked in the Google World – ถูกล็อคอยู่ในโลกแห่งกูเกิ้ล
คุณจะใช้เวลาเกือบทั้งหมดของชีวิตไปกับการกินข้าวกับเพื่อนพนักงานกูเกิ้ลในโรงอาหารของกูเกิ้ล ใช้ Google Gear พูดคุยด้วยตัวอักษรย่อของกูเกิ้ล ส่งอีเมล์ของกูเกิ้ล (Gmail) ด้วยโทรศัพท์ของกูเกิ้ล (Android) และเขียนโค้ดด้วย programming language framework ที่ใช้กันเฉพาะในกูเกิ้ลด้วย เมื่อทุกอย่างอยู่ในระบบนิเวศของกูเกิ้ลหมด คุณจึงแทบจะไม่ได้สัมผัสโลกภายนอกเลย

นอกจากที่กล่าวมาแล้วนี้ ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่องค์กรทั่วไปก็มีกัน เช่นเรื่องการเมือง เรื่องข้อจำกัดในการให้เรตติ้งพนักงาน ฯลฯ

ที่เขียนมานี้ไม่ใช่ต้องการจะโจมตีกูเกิ้ลแต่ประการใดนะครับ ผมเชื่อว่ากูเกิ้ลก็ยังเป็นองค์กรที่น่าไปทำงานด้วยมากที่สุดอยู่ดี

เพียงแต่เห็นว่ายังไม่ค่อยมีใครพูดถึงแง่ลบของการทำงานที่นี่เท่าไหร่ เลยอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง

จะได้เห็นว่าไม่มีองค์กรไหนที่จะดีหรือแย่ไปเสียทุกอย่างครับ

—–

ขอบคุณข้อมูลจาก Quora: What is the worst part about working at Google

—–

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ที่ปุ่มไลค์จะมี drop down menu ให้เลือกได้ว่าอยากจะให้มี notifications หรืออยากเห็นโพสต์จากเพจนี้อยู่ต้นๆ ฟีดรึเปล่าครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com