จดหมายถึงปรายฝน

20151031_Pryfon

ถ.พัฒนาการ เขตประเวศ
กรุงเทพมหานคร

เสาร์ที่ 31 ตุลาคม 2558

สวัสดีปรายฝน

วันนี้ลูกอายุครบ 5 วันแล้วนะ

การมาของลูกเปลี่ยนชีวิตพ่อกับแม่ไปหลายอย่างเหลือเกิน

เวลาเจอเหตุการณ์เปลี่ยนชีวิต ย่อมหมายถึงการได้พานพบประสบการณ์แปลกใหม่ ได้เจออะไรที่ไม่เคยเจอ ได้ทำอะไรที่ไม่เคยทำ

พ่อจะเล่าให้ลูกฟังนะว่า พ่อได้ทำอะไรเป็นครั้งแรกบ้าง

นั่งเบาะหลังแล้วใส่เข็มขัดนิรภัยเป็นครั้งแรก ธรรมดาเวลาพ่อขับรถหรือนั่งข้างหน้าพ่อจะใส่เข็มขัดนิรภัยตลอดอยู่แล้ว แต่พอรู้ตัวว่าแม่ตั้งครรภ์ลูก พ่อก็เริ่มใส่เข็มขัดนิรภัยแม้จะนั่งเบาะหลัง นั่งแท๊กซี่ หรือนั่งรถตู้

ได้ใช้สรรพนาม “พ่อ” เป็นครั้งแรก หลังจากที่แทนตัวเองว่า “รุตม์” “ผม” “เรา” และ “พี่” มาตลอดชีวิต

ได้ตั้งชื่อคนเป็นครั้งแรก ก่อนที่จะรู้ว่าลูกเพศอะไร พ่อกับแม่เรียกลูกที่ยังอยู่ในท้องว่า “ลูฟี่” ชื่อของพระเอก One Piece การ์ตูนที่พ่อชอบที่่สุด แต่พอรู้ว่าลูกเป็นเด็กผู้หญิง และปู่กับย่าก็อยากให้ลูกมีชื่อเล่นเป็นภาษาไทย พ่อกับแม่เลยต้องมานั่งคิดกันใหม่ ต้องขอบคุณน้าส้ม ซึ่งเป็นน้องที่เคยทำงานอยู่ที่เดียวกับพ่อ เล่นดนตรีด้วยกันและช่วยงานพ่อมาตลอด ที่ทักว่าลูกจะเกิดช่วงปลายฝนต้นหนาวพอดี เลยเป็นการจุดประกายให้ตั้งชื่อลูกว่า “ปรายฝน” ที่นอกจากจะเรียบง่ายและไพเราะแล้วยังดูน่าค้นหาอีกด้วย

ส่วน “วลีรัตน์” ชื่อจริงของลูกนั้น พ่อกับแม่ขอให้ผู้ใหญ่ที่ครอบครัวของเราเคารพนับถือช่วยตั้งให้ โดยท่านได้อวยพรไว้ว่า วาจาใดที่ลูกพูดออกมา จะเป็นวาจาที่ถนอมทุกอย่าง เป็นวาจาที่ช่วยผู้ช่วยคน ฉะนั้น ‘วลีรัตน์’ จะเป็นเด็กที่จะดำเนินชีวิตแห่งธรรมะและช่วยเหลือผู้อื่นนะลูกนะ

ได้น้ำตาอาบแก้มจากการเห็นลูกเป็นครั้้งแรก ก่อนที่ลูกจะเกิด พ่อกับแม่ก็มีความกังวลนะว่า การผ่าตัดจะปลอดภัยรึเปล่า ลูกออกมาจะแข็งแรงรึเปล่า แต่วินาทีที่พ่อได้เห็นหน้าลูกครั้งแรกที่หน้าห้องผ่าตัด พ่อก็โล่งใจและดีใจจนน้ำตาไหลเลยล่ะ

ได้อาบน้ำเช็ดตัวให้คนอื่นเป็นครั้งแรก หลังจากผ่าคลอดปรายฝน แม่ของลูกต้องนอนโรงพยาบาลอยู่สามคืน แผลที่ท้องของแม่ต้องเย็บถึงห้าชั้น แม่บอกว่านี่เป็นการเจ็บที่สุดในชีวิตแล้ว

พ่อได้มีโอกาสดูแลแม่ด้วยการเปลี่ยนเสื้อผ้าและเช็ดตัวให้แม่ เช็ดตัวไปก็คิดไปว่านี่ก็เป็นวัฏจักรอย่างหนึ่ง วันนี้พ่อเช็ดตัวให้แม่ กลับบ้านก็ต้องเช็ดตัวให้ลูก ในอนาคตก็ต้องเช็ดตัวให้ปู่กับย่า และวันหนึ่งลูกก็อาจต้องมาเช็ดตัวให้พ่อกับแม่เหมือนกัน

เขียนบล็อกไม่ทันเป็นครั้งแรก ออกจากโรงพยาบาลวันพฤหัสฯ พ่อกับแม่ถึงได้รู้ซึ้งว่าการเลี้ยงเด็กต้องใช้พลังงานแค่ไหน ตั้งแต่กลับถึงบ้าน พ่อกับแม่และญาติๆ อีกหลายคนต้องแท็กทีมกันรับมือกับลูกที่ยังไม่คุ้นชินกับสถานที่ใหม่ รู้ตัวอีกทีก็เกือบเที่ยงคืนแล้ว เลยต้องเอาบทความเก่าเรื่องโบสถ์ในบ้านวิหารในใจ ที่พ่อเคยเขียนลงนิตยสารมาลงในบล็อกเพื่อแก้ขัด

ได้นอนตื่นทุกสามชั่วโมงเป็นครั้งแรก ช่วงแรกพ่อกับแม่ต้องปลุกลูกขึ้นมากินนมอยู่เรื่อยๆ แถมแม่ก็ยังน้ำนมไม่ค่อยเยอะ ลูกกินแล้วเหมือนยังไม่สาแก่ใจจนต้องใช้นมผงเข้าช่วย แต่แม่กับพ่อตั้งใจจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นหลักนะ หวังเหลือเกินว่าลูกจะไม่ติดนมผงเสียก่อน

ได้เช็ดก้นคนอื่นเป็นครั้งแรก เมื่อคืนนี้ลูกไม่ยอมนอน พ่อเลยจับลูกนอนท่า Kangaroo ซักพักลูกก็ตดดังปู๊ด แกะมัมมี่โป๊ะโกะก็พบทั้งของเหลวของข้นประเดประดังออกมาเป็นสายธาร เช็ดกันไม่หวาดไม่ไหว เช็ดไปก็คิดไปว่าเรื่องนี้ก็เป็นวัฏจักรอีกเหมือนกัน

ได้อาบน้ำให้ลูกเป็นครั้งแรก วันนี้เลย สดๆ ร้อนๆ ลูกร้องไห้จ้าถีบพ่อตลอดเวลา พ่อก็ไม่กล้าจับตัวลูกแรงเพราะกลัวลูกจะเจ็บ ที่สำคัญลูกยังฉี่ใส่พ่อจนพ่อรู้สึกอบอุ่นตลอดการอาบน้ำให้ลูกเลยนะ

ได้เห็นความแข็งแกร่งของแม่เป็นครั้งแรก แม่ของลูกเป็นลูกคนสุดท้องเลยออกแนวขี้แงนิดหน่อย แต่สองวันมานี้แม่อดทนมาก เพราะแม้ว่าจะยังเจ็บแผลผ่าตัดจนเดินกะโผลกกะเผลก แต่แม่ก็ยังตื่นนอนก่อนพ่อ และทำอะไรต่อมิอะไรไม่หยุด ซักผ้า ล้างถ้วย พับผ้า เปลี่ยนผ้าอ้อม ให้นม ปั๊มนม ฯลฯ พ่อก็เลยมีโอกาสได้เห็นการ “แปลงกาย” (transformation) จากผู้หญิงธรรมดาสู่ “มนุษย์แม่” อย่างใกล้ชิด และรู้สึกรักแม่ของลูกมากยิ่งกว่าเดิม และรักปู่กับย่ามากกว่าเดิมด้วย

ยังมี “ครั้งแรก” อีกหลายๆ อย่างที่พ่อยังไม่ได้เล่า หรือไม่อาจนำมาเล่าได้ เพราะพ่อรู้ว่าอาจมีคนอื่นผ่านมาเห็นจดหมายฉบับนี้

แต่พ่อรอคอยวันที่จะได้พบประสบการณ์ “ครั้้งแรก” อีกหลายๆ อย่างที่จะตามมา

ไม่ว่าจะเป็นวันที่ลูกเรียกพ่อครั้งแรก ลูกฉี่รดที่นอนครั้งแรก ลูกไปโรงเรียนครั้งแรก ลูกปั่นจักรยานสองล้อครั้งแรก ลูกแสดงบนเวทีครั้งแรก ลูกนั่งสมาธิครั้งแรก ลูกนอนโรงพยาบาลครั้งแรก ลูกมีแฟนครั้งแรก ลูกอกหักครั้งแรก

ไม่ว่าจะดีจะร้าย พ่อกับแม่จะอยู่เคียงข้างลูกเสมอ

ขอให้ปรายฝนมีสุขภาพที่แข็งแรง มีจิตใจที่ดีงาม มีชีวิตที่ครบรส และได้พบความสุขที่แท้จริงนะลูกนะ

รักลูกมาก
แม่-พ่อ

#adaythatchangedmylife

นิทานในครัว

20151030_KitchenTale

วันนี้วันศุกร์ มาฟังนิทานกันครับ

กาลครั้งหนึ่ง ลูกสาวบ่นกับพ่อว่าชีวิตของเธอนั้นย่ำแย่เหลือเกิน มีแต่ปัญหาถาโถม พระศุกร์เข้าพระเสาร์แทรกตลอดเวลา จนเธอไม่มั่นใจเลยว่าจะมีชีวิตที่ดีได้รึเปล่า

พ่อของเธอจึงพาลูกสาวเข้าไปในครัว หยิบหม้อสามใบมาเติมน้ำแล้วตั้งไว้บนเตาจนน้ำเดือด จากนั้นจึงหย่อนมันฝรั่่งลงไปในหม้อใบแรก หย่อนไข่ไก่ลงไปในหม้อใบที่สอง และเมล็ดกาแฟลงไปในหม้อใบสุดท้าย

จากนั้นพ่อก็นั่งรอโดยไม่พูดไม่จา ลูกสาวบ่นกระปอดกระแปดไม่เข้าใจว่าพ่อทำอะไร

ผ่านไป 20 นาที คุณพ่อปิดเตา ตักมันต้มออกมาใส่ชาม ตักไข่มาใส่อีกชามหนึ่ง และใช้จวักตักกาแฟออกมารินใส่แก้ว

“ลูกเห็นอะไรบ้าง”

“มันต้ม ไข่ต้ม แล้วก็กาแฟไงพ่อ ไม่เห็นต้องถาม”

“ลองดูให้ละเอียดขึ้นสิ ลองจับมันต้มดู”

ลูกสาวจึงลองจับมันต้มแล้วพบว่ามันนิ่มๆ จากนั้นก็เอาไข่ต้มมาปอกเปลือกและเห็นว่าไข่ขาวแข็งตัวแล้ว จากนั้นก็จิบกาแฟที่พ่อรินไว้ให้

“พ่อต้องการจะบอกอะไรหนูเหรอ?”

“ของทั้งสามอย่างนี้เจอน้ำร้อนเหมือนกันหมด แต่เห็นไหมว่าแต่ละอย่างตอบสนองไม่เหมือนกันเลย หัวมันที่ตอนแรกแข็งเป๊ก มาตอนนี้นุ่มและเปราะบาง ไข่ไก่ที่เคยเป็นของเหลวและแตกง่าย ตอนนี้กลายเป็นไข่สุกที่มีเนื้อแข็ง ส่วนเมล็ดกาแฟนี่พิเศษกว่าใครเพื่อน เพราะมันเปลี่ยนน้ำให้เป็นกาแฟ”

“แล้วลูกล่ะเป็นอะไร” คุณพ่อถาม “เมื่อเจอน้ำร้อนที่ชื่อว่าความลำบาก ลูกจะรับมือกับมันยังไง? ลูกจะเป็นมันฝรั่ง ไข่ไก่ หรือเมล็ดกาแฟ?”

ลูกสาวไม่พูดอะไร ได้แต่ส่งยิ้มให้พ่อ

——

ขอบคุณนิทานจาก Quora: Aditya Basu’s answer to What are some inspirational short stories?

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

โบสถ์ในบ้าน วิหารในใจ

20151029_ChurchInside

วันนี้มีเรื่องมาสารภาพครับ

เขียนบล็อกไม่ทันครับ

เลยต้องขอเอาบทความตอนหนึ่งที่เคยเขียนเอาไว้นานแล้ว มาลงแก้ขัด

พรุ่งนี้จะมาแก้ตัวครับ!

—–

เมื่อพูดถึงชื่อเสกสรรค์ ประเสริฐกุล คนที่ยังเป็นวัยรุ่น อาจจะคุ้นๆ ว่านามสกุลนี้พ้องกับ วรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ดาราที่เป็นทั้งนักเขียน นักดนตรี และพิธีกรขวัญใจวัยทีน

แต่สำหรับคนที่เกิดก่อนปี 2500 ย่อมจะรู้จักเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ในฐานะผู้นำในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ซึ่งเป็นวันที่นักศึกษาและประชาชนในประเทศไทยกว่า 5 แสนคนรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลของจอมพลถนอม กิตติขจร

จบจากเหตุการณ์นั้น คุณเสกสรรค์ต้องหนี “เข้าป่า” เข้าร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย แต่สุดท้ายก็ต้องกลับออกมาในฐานะ “สิ่งชำรุดทางประวัติศาสตร์” ก่อนจะเดินทางไปเรียนต่อเอกที่ต่างประเทศและกลับมาสอนหนังสือทื่ธรรมศาสตร์

ในบรรดาหนังสือสิบกว่าเล่มของคุณเสกสรรค์ที่ผมมีไว้ครอบครองนั้น หนังสือ “ผ่านพบไม่ผูกพัน” เป็นหนังสือที่ผมประทับใจที่สุด ไม่ว่าจะในแง่เนื้อหาหรือชั้นเชิงทางวรรณศิลป์

ตอนหนึ่งในหนังสือเล่มนี้ คุณเสกสรรค์ได้พูดถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เช่นวัดหรือโบสถ์ สถานที่เหล่านี้ ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็น “ตัวช่วย” หรือ “สะพาน” ที่เชื่อมเราไปสู่จุดมุ่งหมายสูงสุดของศาสนาตน แต่ก็อย่างที่เรารู้กันดีนะครับว่า วัดวาอารามหลายแห่งในบ้านเมืองเราตอนนี้ อาจจะไม่ได้ทำหน้าที่นั้นแล้ว

“…เช่นนี้แล้ว สถานที่อันควรเป็นประตูเปิดสู่สะพานฟ้า ทำไปทำมาจึงกลับกลายเป็นแค่โรงเตี๊ยมที่มุ่งประกอบกิจการ และผู้ทรงศีลที่ควรช่วยผู้คนให้ข้ามสู่นิรันดร ก็กลายเป็นเพียงคนในเครื่องแบบนักบวชที่คอยเก็บค่าผ่านทาง…ธูปสามดอกแลกกับเลขสามตัว เทียนสองเล่มช่วยอวยชัยเรื่องหุ้นหวย ดอกไม้หนึ่งกำมีไว้ช่วยอธิษฐานเรื่องมรดกที่กำลังแย่งชิงกัน สิบนิ้วประนมก้มกราบขอให้พ้นโทษที่ไปโกงเขามา” 

แล้วหากโบสถ์วิหารเสื่อมแล้วซึ่งความ “ศักดิ์สิทธิ์” เราจะยังมีที่พึ่งอยู่รึเปล่า?

 “…อย่าลืม ศาสดาไม่ได้ตรัสรู้ในมหาอาคารวิจิตรตระการ หากตระหนักในความจริงของชีวิตที่โคนไม้ใหญ่ แล้วในวันนี้ใครเล่าจะกล้าเถียงว่า ลานรอบพญาโพธิ์ต้นนั้น ไม่ใช่วิหารแห่งสัจจะ?…เช่นนี้ ใช่หรือไม่ว่า สำหรับผู้ที่เดินตามรอยศาสดา โบสถ์อาจอยู่ในบ้าน และวิหารอาจอยู่ในใจ… อยู่ในเรือนเพ่งพินิจเงาไม้ในโอ่งน้ำ บางทีอาจมองเห็นความไร้แก่นสารของตัวตน เหม่อมองห้องหอ บางทีก็เห็นความคับแคบของคุกที่ถูกเรียกว่าบ้าน หรือบางทีแค่เห็นการจากไปของมดสักตัว พลันตื่นรู้ในความเปราะบางของชีวิต”

แต่ก็อีกนั่นแหละ เพราะคนเรามีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน สิ่งเดียวกันอาจถูกเห็นคนละอย่างก็ได้

“…คนบางคนมองพระจันทร์เป็นเพียงก้อนหินที่ลอยได้ แต่บางท่านกลับมองเห็นบุตรหลานของดวงตะวัน คนจำนวนหนึ่งรอคอยพระอาทิตย์ขึ้นเพื่อหามุมปลูกสร้างรีสอร์ตโรงแรม แต่อีกจำนวนหนึ่งรอรุ่งอรุณเพื่อสบตากับเอกภพ”

เมื่อทุกคนย่อมมีเส้นทางแสวงหาของตัวเอง คุณเสกสรรค์จึงได้ทิ้งท้ายไว้ว่า

“…ที่สำคัญคือการเป็นหนึ่งเดียวกับประสบการณ์ของตนเอง จงผนึกตัวเองเข้ากับห้วงยามแห่งสัจจะ…มิใช่เพียงเพื่อหลีกลี้จากความร้อนรุ่มของชีวิต หากยังเป็นการค้นหาความสงบที่แผ่คลุมมาจากใจกลางของจักรวาล และ ณ ที่นั้น อย่าได้อาศัยความเงียบห่อร่างคุ้มกันภัย หากจงกลายเป็นส่วนหนึ่งของความสงบเย็นที่ปลอบประโลมทุกชีวิต…แล้วท่านจะพาสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ติดตัวไปด้วยทุกหนแห่ง เนื่องเพราะตัวท่านเองคือสถานที่ดังกล่าว”

สำหรับคนกรุงเทพที่ชีวิตไม่ค่อยได้ไปวัด การค้นหา โบสถ์ในบ้าน และวิหารในใจของเราให้พบ ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจนะครับ

—–

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

กินข้าวครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?

20151028_LastMeal

วันนี้มีเหตุให้ผมต้องกินข้าวเที่ยงคนเดียว

ผมสั่งเส้นใหญ่ผัดซีอิ๊วหมูแล้วก็มานั่งรอพลางอ่านบทความในมือถือ พอผัดซีอิ๊วมาถึง ผมก็ลงมือใส่เครื่องปรุง แล้วก็ตั้งท่าจะใช้มือซ้ายเล่นมือถือและใช้มือขวาเสียบเส้นใส่ปาก

แต่พอนึกอะไรบางอย่างขึ้นได้ ก็เลยวางมือถือลง แล้วลองใส่ใจกับผัดซีอิ๊วที่วางอยู่ตรงหน้า

เส้นใหญ่เหนียวกำลังดี ส่วนหมูที่มีกลิ่นซีอิ๊วก็นุ่มๆ สากๆ ลิ้น ผมเคี้ยวไปได้หน่อยก็จะกลืนตามความเคยชิน แต่พอสังเกตได้ว่าหมูยังชิ้นใหญ่อยู่ก็เลยใช้เวลาเคี้ยวให้มากขึ้นอีกนิดนึง ผักคะน้าที่คละเคล้ามาด้วยก็แทบไม่มีรสขม ถูกจริตผมจริงๆ

ใช้เวลาประมาณ 10 นาที ผัดซีอิ๊วจานนี้ก็จบบริบูรณ์

—–

คุณผู้อ่านเคยถามตัวเองมั้ยครับว่ากินข้าวครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?

กินข้าวในที่นี้หมายถึงการรับประทานอาหาร จึงหมายรวมถึงก๋วยเตี๋ยว สลัด ขนมหวาน หรืออาหารอะไรก็ได้

ผมรู้สึกว่า เราห่างเหินกับการ “กินข้าวจริงๆ” มากขึ้นทุกที

ถ้าไม่กินไปคุยไป ก็กินไปเล่นมือถือไป หรือไม่ก็กินไปดูทีวีไป

เรากินข้าวกันอย่างลืมเนื้อลืมตัว จนแทบไม่รู้ด้วยซ้ำว่ารสชาติอาหารเป็นยังไง เว้นแต่ว่ามันจะอร่อยหรือรสชาติแย่มากจริงๆ

ถามว่าการกินอาหารพร้อมกับทำกิจกรรมอื่นไปด้วยมันผิดตรงไหน?

ไม่ผิดหรอกครับ แต่บางทีมันก็น่าเสียดาย

เพราะการรับประทานอาหารน่าจะเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุดต่อการดำรงอยู่ของชีวิตมนุษย์ เป็นรองก็แค่การหายใจเท่านั้น

แถมที่มาที่ไปของอาหารนั้นก็อัศจรรย์

กว่าจะมาเป็นผัดซีอิ๊วได้ ข้าวต้องถูกหว่าน หมูต้องถูกขุน และคะน้าต้องถูกเพาะ

พลังงานที่ทำให้ข้าวออกรวง หมูลงพุง และคะน้าผลิใบ ก็คือพลังงานที่ส่งตรงมาจากท้องฟ้าและมหาสมุทร

และเมื่อผัดซีอิ๊วเข้าสู่ท้อง พลังงานที่เคยไหลเวียนอยู่ในแดดและในน้ำก็กลายมาเป็นเลือดเนื้อของเรา

เพราะอาหารเป็นสิ่งที่จำเป็นต่อชีวิต และกระบวนการของมันก็อัศจรรย์ขนาดนี้ ผมเลยรู้สึกว่าบางทีเราก็ควรจะปฏิบัติต่ออาหารด้วยความเคารพ

และการกินอาหารอย่างรู้เนื้อรู้ตัวก็น่าจะเป็นวิธีที่ดีที่จะแสดงออกถึงความเคารพนั้น

ถ้าที่แล้วมา คุณทานอาหารควบกับการทำอย่างอื่นเสมอ

มื้อต่อไป ลองวางมือถือ ปิดทีวี แล้วลองกินข้าวอย่างเดียวดูนะครับ

มันอาจจะไม่ได้ทำให้ชีวิตขึ้นกว่าเดิม

แต่ข้าวจานนั้นอาจอร่อยกว่าเดิมครับ

—–

ขอบคุณภาพจาก Flickr : Fortune Live Media 

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

วิธีจัดลำดับความสำคัญตามสไตล์ Warren Buffett

20151027_Buffett

เทคนิคนี้ผมอ่านเจอในบล็อกของ jamesclear.com 

เจมส์บอกว่าเขาได้รับรู้เรื่องนี้มาจาก Scott Dinsmore ผู้ก่อตั้ง Live Your Legend ที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อไม่นานมานี้

สก๊อตเป็นคนเล่าให้เจมส์ฟังว่า เขาได้เรียนรู้เทคนิคนี้จาก Mike Flint ซึ่งเคยเป็นนักบินส่วนตัวของบัฟเฟตต์อีกทีหนึ่ง

และด้วยความที่มันเล่าต่อๆ กันมาหลายทอดนี่เอง ผมจึงขอออกตัวก่อนว่ามันอาจจะเรื่องเล่าที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนข้อเท็จจริงทั้งหมดก็ได้

แต่จะเป็นเทคนิคของบัฟเฟตต์หรือไม่นั้น อาจไม่สำคัญเท่ากับว่ามันมีประโยชน์กับเราจริงๆ รึเปล่า

มาเข้าเรื่องกันดีกว่า

ไมค์ ฟลินท์ เคยเป็นนักบินให้กับบัฟเฟตต์อยู่ถึงสิบปี แถมยังเคยขับเครื่องบินให้กับประธานาธิบดีถึง 4 คนอีกด้วย

ไมค์เคยปรึกษาเรื่องเป้าหมายชีวิตการทำงานของเขากับบัฟเฟตต์ บัฟเฟตต์เลยสอนไมค์เรื่องการจัดลำดับความสำคัญด้วยสามขั้นตอนต่อไปนี้

1. บัฟเฟตต์บอกให้ไมค์ลองเขียนเป้าหมายด้านหน้าที่การงานที่สำคัญที่สุดออกมา 25 ข้อ (แต่คุณก็สามารถประยุกต์ใช้กับเป้าหมายระยะสั้นกว่านี้ก็ได้ เช่นสิ่งสำคัญที่สุด 25 อย่างที่ตั้งใจจะทำให้เสร็จภายในปีนี้)

2. จากนั้นบัฟเฟตต์ก็ให้ไมค์ขีดวงกลมล้อมเป้าหมาย 5 ข้อที่สำคัญที่สุด

3. ตอนนี้ไมค์ก็มีรายการของเป้าหมายสองรายการ รายการแรกมีเป้าหมายที่สำคัญที่สุด 5 อย่าง และรายการที่สองคือเป้าหมายอีก 20 ข้อที่ไม่ได้วงกลมเอาไว้

“ผมจะเริ่มต้นลงมือทำเพื่อมุ่งหน้าสู่เป้าหมายทั้ง 5 ข้อตั้งแต่วันนี้เลยครับคุณบัฟเฟตต์” ไมค์กล่าว

“แล้วอีก 20 ข้อที่เหลือคุณจะทำยังไงกับมัน?” บัฟเฟตต์ถามกลับ

“อีก 20 ข้อที่เหลือก็สำคัญอยู่เหมือนกันครับ อาจจะไม่สำคัญเท่าห้าข้อแรก แต่ผมก็ตั้งใจว่าจะให้เวลากับมันตามที่โอกาสจะเอื้ออำนวย”

บัฟเฟตต์จึงตอบว่า “ผิดแล้วไมค์ 20 ข้อที่คุณไม่ได้เลือกคือ ‘เป้าหมายที่ต้องหลีกเลี่ยงโดยสิ้นเชิง’ ต่างหาก ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น คุณห้ามลงมือทำอะไรกับ 20 ข้อนี้จนกว่าคุณจะทำเป้าหมาย 5 ข้อแรกของคุณได้สำเร็จเสียก่อน”

—–

สิ่งที่บัฟเฟตต์สอนไมค์อาจเรียกได้ว่าเป็น Ruthless Prioritization หรือการ “จัดลำดับความสำคัญอย่างไร้ความปราณี”

ไม่ใช่เรื่องยากที่เราจะตัดสิ่งที่ไม่สำคัญออกจากชีวิต

แต่เรื่องที่ท้าทายยิ่งนัก คือการตัด “สิ่งที่สำคัญ” ออกไปจากชีวิต จนกว่าเราจะทำ “สิ่งที่สำคัญที่สุด” ให้สำเร็จเสียก่อน

เป้าหมาย 20 ข้อที่ไมค์ไม่ได้วงกลมเอาไว้นั้นอาจจะสำคัญก็จริง แต่ยังไงมันก็สำคัญน้อยกว่าอีก 5 ข้อที่ไมค์ได้เลือกขึ้นมา

ในบริบทนี้ เป้าหมาย 20 ข้อนั้นจึงกลับกลายเป็นเพียง “สิ่งล่อตาล่อใจ” (distractions) ที่ทำให้เราละสายตาจากเป้าหมายที่สำคัญที่สุด เพราะเป็นการง่ายที่จะ “สร้างความชอบธรรมให้กับตัวเอง” ในการใช้เวลาไปกับเป้าหมายที่สำคัญรองลงมาเหล่านี้

และหากเรา “ใจอ่อน” ให้กับเป้าหมายที่ไม่ได้สำคัญที่สุด

สุดท้าย เราจะทำเป้าหมายทั้ง 25 ข้อเสร็จเพียงครึ่งๆ กลางๆ แทนที่จะบรรลุเป้าหมาย 5 ข้อที่จะส่งผลกับชีวิตของเรามากที่สุดครับ

—–

ส่วนตัวผมเองยังไม่ได้ลองใช้เทคนิคนี้อย่างจริงๆ จังๆ

และสำหรับชีวิตคนบางคน อาจจะไม่สามารถเลือกทำแค่บางอย่าง และทิ้งที่เหลือได้

อย่างไรก็ตาม ผมว่าวิธีคิดของบัฟเฟตต์ก็ยังมีประโยชน์ที่ช่วยพลิกมุมมองให้เราเห็นว่า เป้าหมายทุกข้อใช่ว่าจะเป็นคุณเสมอไป

เพราะเวลาและพลังงานของคนเรามีจำกัด แต่ความต้องการของคนเรานั้นมีไม่จำกัด

ถ้าคิดที่จะเอาทุกอย่าง ก็อาจจะพลาดทุกอย่างได้เช่นกัน

—–

ขอบคุณข้อมูลจาก

JamesClear.com: Warren Buffett’s “2 List” Strategy: How to Maximize Your Focus and Master Your Priorities

LiveYourLegend.net: Warren Buffett’s 5-Step Process for Prioritizing True Success (and Why Most People Never Do It)

ขอบคุณภาพจาก Flickr : Fortune Live Media 

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่