ตัดสินใจให้ดีตั้งแต่ต้น

James Clear ผู้เขียนหนังสือ Atomic Habits เคยเขียนไว้ว่า

“หากตัดสินใจผิดตั้งแต่แรก จะมาแก้ไขทีหลังไม่ใช่เรื่องง่าย

เป็นเรื่องยากที่จะเขียนหนังสือขายดี หากเราเลือกหัวข้อผิดตั้งแต่ต้น

เป็นเรื่องยากที่จะสร้างชีวิตคู่ที่มีความสุข หากเราแต่งงานกับคนที่ไม่มีความสุข

เป็นเรื่องยากที่จะทำกำไรในธุรกิจอสังหา หากคุณซื้อมันมาในราคาที่แพงเกินไป

แน่นอนว่าเราสามารถทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ด้วยการตัดสินใจระหว่างทาง แต่การตัดสินใจที่ผิดพลาดในเบื้องต้นมักจะส่งผลยาวนานเสมอ”

Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon บอกว่าการตัดสินใจมีสองประเภท คือการตัดสินใจที่กลับตัวได้ง่าย กับการตัดสินใจที่กลับตัวได้ยาก

สำหรับการตัดสินใจที่กลับตัวได้ง่าย เราควรตัดสินใจให้เร็ว เพื่อจะได้ทดสอบว่าเราคิดถูกหรือไม่ ถ้าเราคิดถูก เราก็จะเดินหน้าไปได้ไว แต่ถ้าคิดผิดก็แค่กลับมาตั้งต้นใหม่

สำหรับการตัดสินใจที่กลับตัวได้ยาก เราต้องคิดให้ละเอียดถี่ถ้วนและต้องยอมใช้เวลา เพราะถ้าตัดสินใจพลาดไป ผลเสียหายนั้นไม่คุ้มกับความเร็วที่ได้มาเลย

แยกแยะให้ออกว่าสิ่งที่เราต้องตัดสินใจคือเรื่องแบบไหน กลับตัวได้หรือไม่ได้ จะได้รู้ว่าควรตัดสินใจเร็วหรือช้า

กับเรื่องสำคัญ เราต้องตัดสินใจให้ดีตั้งแต่ต้น จะได้ไม่ต้องทนทุกข์กับการตัดสินใจที่กลับตัวไม่ได้ครับ

ความหรูหราที่มีเวลาจำกัด

เมื่อวานนี้ผมกับภรรยาพาพ่อกับแม่ไปกินข้าวเที่ยงเนื่องในโอกาสที่พ่อเพิ่งอายุครบ 75 ปีในสัปดาห์ที่ผ่านมา

เราถ่ายรูปเป็นที่ระลึกไว้หลายช็อต แต่ช็อตที่ชอบที่สุดคือรูปที่ลูกๆ “ปรายฝน” และ “ใกล้รุ่ง” ถ่ายกับคุณปู่คุณย่า

นานๆ จะได้เห็น baby boomers กับ Gen Alpha อยู่ในภาพเดียวกันโดยไม่มีเจนอื่นคั่นกลาง

เมื่อมองดูภาพถ่ายผมก็ตระหนักได้ว่า การที่พ่อแม่ของผมได้กินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากับหลานๆ ถือเป็น luxury อย่างหนึ่ง

เพราะไม่ใช่ทุกคนในวัยผมจะมีโอกาสแบบนี้ บางคนพ่อแม่ไม่อยู่แล้ว บางคนอยากมีลูกแต่มีไม่ได้

กลับถึงบ้านตอนบ่ายๆ ผมนอนอ่านหนังสือแป๊บนึงแล้วผลอยหลับไป ตื่นมาเย็นๆ มองเห็นใกล้รุ่ง เลยเล่นต่อสู้กันเล็กน้อย

มีช่วงหนึ่งที่ผมนอนหงาย ใช้มือและเท้ายกใกล้รุ่งขึ้นทำท่าเครื่องบิน ใกล้รุ่งหัวเราะชอบใจ

ชั่วขณะที่ผมพินิจหน้าใกล้รุ่งที่กำลังเบิกบาน ผมก็ตระหนักได้อีกอย่างหนึ่งว่าช่วงเวลาที่เราจะได้เล่นกันแบบนี้เหลืออีกไม่มากนัก ปลายปีใกล้รุ่งจะอายุครบ 6 ขวบ อีกสามปีเขาก็คงตัวโตเกินกว่าที่ผมจะจับเขาทำท่าเครื่องบินได้ หรือแม้ผมจะยังพอทำไหว ก็ไม่รู้ว่าใกล้รุ่งจะยังอยากเล่นอะไรแบบนี้อยู่รึเปล่า

ผมเคยเขียนเอาไว้ว่า เราจะอยากได้แต่สิ่งที่เรายังไม่มี พอเรามีมันแล้ว เราจะเห็นคุณค่ามันน้อยลง เราจะ take it for granted เพราะคิดว่าจะทำเมื่อไหร่ก็ได้ ขอเอาเวลาไปไล่ล่าสิ่งอื่นก่อน

แต่ของบางอย่างผ่านแล้วผ่านเลย ทั้งพ่อแม่ที่ยังแข็งแรง ทั้งลูกเล็กที่ยังสนุกกับการเล่นกับเรา เมื่อถึงวันที่พ่อแม่ไม่อยู่ หรือวันที่ลูกมีโลกของตัวเอง ต่อให้เรามีเงินเดือนเท่าไหร่ หรือมีทรัพย์สินมากขนาดไหนก็ไม่อาจหาซื้อมันได้อีก

มองดูให้ดีว่าเรามีอะไรเป็นความหรูหราที่แม้คนรวยกว่าเราก็ไม่อาจเข้าถึง

หากเราเห็นคุณค่าและใช้โอกาสอย่างเต็มที่ ก็คงไม่มีอะไรที่ค้างคา และไม่มีอะไรให้เสียดายครับ

ถ้าเรารักตัวเองจริงเราจะไม่เพิ่มทุกข์ให้ตัวเอง

“ทุกวันนี้คนเรารักเงิน รักชื่อเสียง รักความสำเร็จมากกว่ารักตัวเอง ยอมตายเพื่อเงินได้ ยอมตายเพื่อรถ ยอมตายเพื่อความสำเร็จ…ถ้าคุณเสียเงิน ถ้าคุณรักตัวเองคุณจะเสียแต่เงิน คุณจะไม่ปล่อยใจให้เสีย เพราะถ้าคุณปล่อยใจให้เสีย สุขภาพคุณก็จะเสียด้วย ถ้าคุณรักตัวเอง เวลารถติดแค่เสียเวลาก็พอแล้ว อย่าไปเสียสติ เสียอารมณ์…ถ้าไม่รักตัวเอง เสียเวลาไม่พอ เสียสติ เสียอารมณ์ เพราะเผลอ ถ้าคุณรักตัวเองจริง คุณจะไม่เพิ่มทุกข์หรือหาทุกข์มาใส่ตัว”

พระไพศาล วิสาโล | The Lessons บทเรียนชีวิต

ฟังคำสัมภาษณ์ของพระไพศาลที่ดำเนินโดยพี่เอ๋ นิ้วกลม ก็ทำให้นึกถึงอีกประโยคหนึ่งของ Haruki Murakami นักเขียนชื่อดังชาวญี่ปุ่น

Pain is inevitable. Suffering is optional.”

ที่มัน optional ก็เพราะว่าถ้าเรามีสติรู้ทัน ความทุกข์จะจบลงแค่ตรงทุกข์ทางกาย หรือชั่วแว่บที่ใจรู้ว่ามีปัญหา

แต่ถ้าเรารู้ไม่ทัน เราก็จะเพิ่มทุกข์ให้ตัวเองตามความเคยชิน ด้วยการหงุดหงิด ด้วยการกระสับกระส่าย ด้วยการอยากให้ความจริงมันต่างไปจากตอนนี้

เวลารถติดคือเวลาที่สังเกตเห็นตัวเองได้ง่ายที่สุด ถ้าเรารู้ว่าเราจะไปสาย สิ่งเดียวที่เราพอทำได้คือแจ้งคนที่รอเราอยู่ จากนั้นมันจะต้องใช้เวลาเท่าไหร่ก็ต้องเป็นไปตามนั้น ถ้าต้องหาที่จอดรถเพื่อกระโดดขึ้นมอเตอร์ไซค์ก็ต้องเป็นไปตามนั้น ซึ่งเราสามารถทำได้ด้วยใจที่ไม่หงุดหงิด เพราะการหงุดหงิดไม่ได้ทำให้เราไปถึงเร็วขึ้นแม้แต่นาทีเดียว

สมัยนี้เขาบอกให้รักตัวเองให้มากๆ แต่บางคนก็ตีความว่ามันคือการพาตัวเองไปเสพของดีๆ เที่ยวที่สวยๆ ซึ่งก็คงช่วยให้หย่อนใจ แต่มันไม่ได้ช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันความทุกข์ให้กับเราเลย

ถ้าเรารักตัวเองจริง เราควรฝึกฝนให้มีสติรู้ทัน เวลาเจอปัญหาจะได้ “วางใจ” ให้ถูก

จะได้ไม่ซ้ำเติมความทุกข์ให้ตัวเองครับ

ระลึกไว้ว่าเราไม่ได้มีหมวกแค่ใบเดียว

เมื่อเดือนที่แล้ว บริษัทที่ผมทำงานอยู่ได้เชิญคุณพศิน อินทรวงค์ มาเป็น guest speaker ในกิจกรรม WeShare

หลังจากบรรยายเสร็จ ในช่วง Q&A ผมถามคำถามคุณพศินว่า ช่วงนี้ถ้าติดตามข่าวการเมืองแล้วรู้สึกเครียด เราควรจะทำอย่างไรดี?

คุณพศินแนะนำว่า เราควรระลึกไว้ว่าเราไม่ได้มีหมวกแค่ใบเดียว

เวลาเราอินไปกับข่าวการเมือง เรากำลังใส่หมวกพลเมืองอยู่ ซึ่งก็เป็นเรื่องถูกแล้วที่เราสนอกสนใจความเป็นไปในบ้านเมือง

แต่ในขณะเดียวกัน เราก็มีหมวกใบอื่นๆ ด้วย ทั้งหมวกพนักงาน หมวกลูกชาย หมวกพี่สาว หมวกพ่อ หมวกแม่

ช่วงที่เราอินกับเรื่องอะไร เราอาจจะใส่หมวกใบนั้นนานเกินไปหน่อย จนหลงลืมไปว่าเรามีบทบาทอื่นๆ ที่ต้องเล่นด้วยเช่นกัน

ถ้าช่วงนี้เรากำลังกังวลหรือเครียดกับเรื่องอะไรจนรู้สึกได้ว่ากำลังเบียดเบียนตัวเอง ลองเปลี่ยนไปใส่หมวกใบอื่นดูนะครับ

คำถามเตือนสติที่ผมชอบมากที่สุดในเวลานี้

เป็นคำถามที่ผมได้อ่านจาก The Imperfectionist newsletter ของ Oliver Burkeman ผู้เขียนหนังสือ Four Thousand Weeks หนังสือเปลี่ยนชีวิตแห่งปี 2022 ที่ผมเคยเขียนลงในบล็อกนี้ไปหลายครั้ง

คำถามเตือนสติที่ว่าก็คือ “And how’s that working out for you?”

ถ้าให้แปลเป็นไทยก็คือ “ทำแบบนี้แล้วมันเวิร์คมั้ยล่ะ?”

ครั้งแรกที่ผมได้อ่านคำถามนี้ผมก็เฉยๆ แต่กลับพบว่าตัวเองถามคำถามนี้บ่อยขึ้นเรื่อยๆ ทั้งกับตัวเองและกับผู้อื่น

ผมพบว่ามันใช้ได้กับหลายสถานการณ์มาก

เช่นเวลาลูกงอแง แล้วเราก็พยายามหาเหตุผลมาอธิบาย แล้วลูกก็ไม่ฟัง แล้วเราก็ยิ่งหงุดหงิดพยายามอธิบายซ้ำหลายๆ รอบ

“And how’s that working out for you?”

หรือตอนที่เราทำงานหนัก หามรุ่งหามค่ำ ข้าวปลากินไม่เป็นเวลาโดยหวังว่าจะทำงานเสร็จตามที่ตั้งเป้าเอาไว้

“And how’s that working out for you?”

หรือเวลาเห็นคนบ่นเรื่องรถติด หรือเรื่องเศรษฐกิจแย่จนทำให้ธุรกิจของตัวเองแย่ตามไปด้วย แล้วก็คาดหวังหรือฝากความหวังให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาแก้

“And how’s that working out for you?”

คำถามนี้ไม่ได้ปฏิเสธสถานการณ์ตรงหน้าว่าไม่เป็นความจริง และไม่ได้ปฏิเสธว่ามันเป็นความคาดหวังที่สมเหตุสมผล แต่มันเตือนสติให้เรากลับมาสำรวจว่ายุทธศาสตร์และวิธีการที่เราใช้มาตลอดนั้นมันสร้างผลลัพธ์ที่เราอยากเห็นหรือเปล่า

ถ้ามันไม่ใช่สิ่งที่เราอยากเห็น แล้วทำไมไม่ลองวิธีอื่นดู ถ้าลองแล้วไม่เวิร์คก็แค่ลองวิธีอื่นต่อ ยังไงก็น่าจะมีโอกาสสำเร็จมากกว่าการเฝ้ารอให้วิธีการเก่ามันเวิร์คไม่ใช่หรือ?

“And how’s that working out for you?”

เวลาพบเจอตัวเองว่ากำลังหงุดหงิดกับสิ่งใด ลองถามคำถามนี้ดูนะครับ