17 เหตุผลที่ควรส่งลูกไปเรียนนิวซีแลนด์

20150909_NewZealand

ประมาณวันนี้ เมื่อ 21 ปีที่แล้ว หรือเมื่อปี 2537 ผมมีโอกาสได้ไปเรียนหนังสือชั้นม.ปลายที่ประเทศนิวซีแลนด์

เรียนจนจบม.ปลาย ก็มีเหตุให้ต้องกลับเมืองไทยเนื่องจากวิกฤติต้มยำกุ้ง ทำให้พ่อแม่ไม่มีกำลังจะส่งเสียให้เรียนในระดับมหาวิทยาลัยได้

แต่เพียง 3 ปี 3 เดือน ก็เหลือเฟือสำหรับการเก็บเกี่ยวสิ่งดีๆ มากมายจากประเทศนี้

วันนี้เลยมาขอเล่าให้ฟังว่า การส่งเด็กไปเรียนนิวซีแลนด์นั้นดียังไงครับ

1.ได้ฝึกภาษาอังกฤษ
อันนี้ของชัวร์อยู่แล้ว เพราะที่นี่พูดภาษาอังกฤษกันทั้งประเทศ สำเนียงก็ฟังไม่ยากเพราะไม่ต่างจากที่เราได้ยินในหนังฮอลลีวู้ดเท่าไหร่ และถ้าได้โรงเรียนที่ใส่ใจ และตัวเด็กเองก็ใส่ใจ ก็จะสามารถพัฒนาภาษาอังกฤษได้อย่างก้าวกระโดดแน่นอน

ผมเองเรียนโรงเรียนรัฐบาลมาโดยตลอด ได้เรียนภาษาอังกฤษตอน ป.5 ก่อนจะไปนิวซีแลนด์ก็ยังภาษาอังกฤษกระท่อนกระแท่นอยู่มาก แต่ก่อนกลับจากที่นั่นผมไปสอบ IELTS ได้คะแนน 8.5 ครับ

2. ค่าครองชีพถูกกว่าประเทศอื่นๆ ที่พูดภาษาอังกฤษ
ถึงภาษาอังกฤษจะครองโลก แต่มานั่งนึกดูประเทศที่พูดภาษาอังกฤษเป็นหลักมีแค่ไม่กี่ประเทศเท่านั้นคืออเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ (ไม่นับประเทศที่เคยตกเป็นอาณานิคมอย่างอินเดียและสิงคโปร์ ซึ่งสำเนียงก็จะเป็นอีกแบบหนึ่งไปเลย)

ในบรรดาสี่ประเทศที่ว่ามา โดยรวมแล้วที่นิวซีแลนด์ถูกที่สุดครับ

ลองดูได้จากเมืองที่ค่าครองชีพแพงที่สุดของแต่ละประเทศ

15 Aberdeen, United Kingdom
19 San Francisco, CA, United States
23 Perth, Australia
54 Wellington, New Zealand

3. สภาพแวดล้อมดีเยี่ยม
เมืองที่ผมไปอยู่เป็นเมืองเล็กๆ ชื่อเทมูก้า มีประชากรเพียง 4000 คน แต่สวนสาธารณะของเขาใหญ่กว่าสวนลุมซะอีก แถมใน “ตัวเมือง” ก็มีทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ต ธนาคาร ร้านขายจักรยาน ร้าน Fish & Chips คลีนิค หรือร้านตัดผม

ไม่ว่าผมจะไปเที่ยวส่วนไหนของนิวซีแลนด์ ผมก็ไม่เคยเกิดความรู้สึก “ไม่ปลอดภัย” เลยสักครั้ง (ในขณะที่เมืองบางเมืองในอเมริกา อังกฤษ หรือออสเตรเลีย จะมีบางโซนที่ทำให้ผมรู้สึกว่า ต้องคอยเหลียวหน้าแลหลังตลอดเวลา)

4. ได้สูดอากาศบริสุทธิ์
ตอน ป.6 – ม.3 ผมเป็นภูมิแพ้หนักมาก จนต้องไปฉีดยาที่โรงพยาบาลทุกสัปดาห์อยู่เป็นปีๆ

หนึ่งในเหตุผลหลักที่แม่ส่งผมไปเรียนที่นี่ก็เพราะหวังว่าถ้าได้ไปเจออากาศดีๆ แล้วอาการภูมิแพ้ของผมจะทุเลาลง ซึ่งก็พิสูจน์แล้วว่าคิดไม่ผิด เพราะอยู่ที่นั่นแทบจะไม่เป็นภูมิแพ้เลย และกลับมาแม้จะยังมีอาการอยู่บ้างแต่ก็เบากว่าก่อนไปแบบเทียบกันไม่ได้

5. ได้เห็นวิวสวยๆ
นิวซีแลนด์นั้นมีทิวทัศน์สวยมาก อารมณ์เกือบจะเท่าสวิตเซอร์แลนด์ด้วยซ้ำ (เพียงแต่จะบ้านๆ กว่าหน่อย) มีเทือกเขาที่ปกคลุมไปด้วยหิมะให้เราเล่นสกี มีธารน้ำแข็งให้เราเดินลัดเลาะขึ้นไปชม มีทะเลสาบน้ำใสแจ๋วให้เราไปพายเรือและตกปลา มีพื้นที่ป่ามากมายให้เราไปเดินป่า (trekking) ถ้าใครชอบอยู่กับธรรมชาติรับรองเลยว่าจะต้องตกหลุมรักประเทศนี้

6. ไม่มีสัตว์ร้าย
เท่าที่ผมเข้าใจ นิวซีแลนด์ไม่มีสัตว์ร้ายประเภทงูเงี้ยวเขี้ยวขออยู่เลย (ขณะที่ออสเตรเลียมีสัตว์อันตรายอยู่เพียบ)

หรือแม้กระทั่งสัตว์ที่น่ารำคาญหรือน่าขยะแขยงอย่าง ยุง แมลงวัน มด แมลงสาบ หรือจิ้งจก ผมก็ไม่เคยเจอตอนที่ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น ซึ่งผมถือว่าเป็นเรื่องที่อเมซซิ่งมากๆ

ถ้าจะมีสัตว์ที่เป็นอันตรายอยู่บ้างคงเป็นแกะที่กำลังหิวมั้งครับ (นิวซีแลนด์เป็นประเทศที่มีประชากรแกะหนาแน่นที่สุดในโลก – 30 ล้านตัว)

7. ผู้คนเคารพกฎกติกา
คนปั่นจักรยานทุกคนต้องใส่หมวกกันน็อค และผู้โดยสารทุกคนในรถยนต์ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย แม้ว่าจะนั่งเบาะหลัง

ปั๊มน้ำมันขนาดใหญ่ อาจจะมีเด็กปั๊มแค่สองคน เราต้องเติมน้ำมันเอง แล้วเดินไปจ่ายค่าน้ำมันในร้านสะดวกซื้อที่อยู่ในปั๊ม

ที่จอดรถบางแห่งไม่มีคนเก็บเงิน เราจอดเสร็จแล้วก็เดินไปซื้อตั๋วที่ตู้ แล้วมาวางไว้ตรงหน้ารถเพื่อให้พนักงานตรวจผ่านมาดูได้ (ถ้าใครไม่จ่ายก็โดนค่าปรับกันไปตามระเบียบ)

ถ้าลูกคุณมาเรียนที่นี่ ผมเชื่อว่าลูกคุณจะเป็นคนที่เคารพกติกา ไม่เบ่ง ไม่กร่างครับ

8. ได้เลือกเรียนอย่างอิสระ
ที่นิวซีแลนด์ไม่มีแบ่งสายวิทย์-สายศิลป์ ดังนั้นเราจะเลือกเรียนวิชาอะไรก็ได้ตามที่ตารางสอนเอื้ออำนวย

ที่เจ๋งไปกว่านั้นคือ ถึงเราจะเรียนม.5 แต่วิชาที่เราเรียนอาจจะไม่ใช่วิชาของม.5 ก็ได้ เช่นถ้าเราเก่งเลขอยู่แล้ว เราก็อาจจะขอข้ามไปเรียนเลขของม.6 เลยก็ได้

เมื่อปี 2539 ผมอยู่ Form 6 แต่เรียนเลขของ Form 7 และเรียนภาษาฝรั่งเศสของ Form 5

9. ไม่ต้องไปแข่งกับใคร
ที่นิวซีแลนด์ไม่มีโรงเรียนกวดวิชา ไม่มีการแบ่งห้องคิง ไม่มีการสอบเข้าโรงเรียนมัธยม

นานๆ ทีจะมีสอบเพื่อวัดความเป็นเลิศทางวิชาการบ้าง แต่ไม่จริงจังเหมือนเมืองไทย

ที่เมืองไทย เราจะต้องคัดเด็กเรียนเก่งมาก่อน จากนั้นก็ให้คุณครูติวเข้ม แล้วถึงวันที่สอบ เด็กกลุ่มนี้ ก็จะต้องหยุดเรียนเพื่อเป็นตัวแทนไปนั่งทำข้อสอบยากๆ ที่โรงเรียนเจ้าภาพที่ใดซักที่หนึ่ง

ส่วนของนิวซีแลนด์ เด็กก็เรียนตามปกติ แต่พอถึงวิชาคณิตศาสตร์ อาจารย์ก็เอาข้อสอบวัดความเป็นเลิศทางวิชาการออกมาให้ทำ โดยให้นักเรียนทุกคนในห้องทำ (ไม่ได้คัดเฉพาะให้เด็กเก่งทำ) ทำเสร็จแล้วก็ไปเรียนวิชาอื่นกันต่อหน้าตาเฉย

ส่วนตัวกระดาษคำตอบก็จะส่งไปที่ส่วนกลางเพื่อตรวจและให้คะแนน ใครที่ได้คะแนนดีๆ ก็จะมีชื่อลงหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นและได้คำชมจากอาจารย์ใหญ่เวลาเข้าหอประชุมครับ

10. ไม่ต้องเจอรถติด
เมืองเทมูก้าที่ผมอยู่นั้น ถ้าค่ำๆ หน่อยผมสามารถไปนั่งกลางถนนซัก 5 นาทีโดยที่ไม่ต้องกลัวรถทับ

ผมเข้านอนสี่ทุ่มครึ่ง ตื่นเจ็ดโมงเช้า ทานข้าวเจ็ดโมงครึ่ง ปั่นจักรยานออกจากบ้านตอนแปดโมง ถึงโรงเรียนตอนแปดโมงสิบนาที เข้าเรียนตอนแปดโมงครึ่ง

เวลาจะเข้าเมืองหรือไปนั่งเล่นบ้านเพื่อนก็ใช้วิธีเดินหรือปั่นจักรยานเอา บ้านเพื่อนเกือบทุกหลังสามารถเดินถึงได้ภายในเวลา 30 นาที

11. ผู้คนจิดใจดี
อาจจะเพราะว่าชีวิตสามารถหาอยู่หากินได้สบาย เขาจึงมีเวลาและน้ำใจเหลือเฟือที่จะแบ่งปันให้คนอื่น

ในช่วงสามปี ผมไปนอนบ้านเพื่อนมาไม่ต่ำกว่า 6 หลัง รวมจำนวนแล้วไม่น่าจะต่ำกว่า 30 คืน และแม่บ้าน-พ่อบ้านของเขาก็ดูแลผมดีราวกับเราเป็นลูกคนหนึ่ง ทำอาหารให้ทาน พาไปเที่ยวโน่นเที่ยวนี่ หรือแม้กระทั่งอาสามาดูแลเราเวลาที่แม่บ้านไม่สบายต้องไปนอนโรงพยาบาล

12. ได้ใช้ชีวิตแบบสมถะ
ในบรรดาเพื่อนชาวนิวซีแลนด์ที่ผมได้รู้จัก ไม่มีใครติดหรูเลย

ไม่มีใครพูดถึงเสื้อผ้าแบรนด์เนม ไม่มีใครขับรถป้ายแดง ไม่เคยเอาของแพงๆ มาอวดกัน

จะว่าไป ผมไม่ได้สัมผัสกับความเป็นวัตถุนิยมของคนนิวซีแลนด์เลยด้วยซ้ำ

แม้กระทั่งพวกชาวนาที่รวยมากๆ เขาก็ขับรถญี่ปุ่นและใส่เสื้อขนแกะที่ขาดเป็นรูได้อย่างไม่เก้อเขิน

13. ได้อ่านหน้งสือ
ต้องขอบคุณนิวซีแลนด์ที่ทำให้ผมรักการอ่าน

ก่อนจะไปเรียนผมก็ชอบอ่านอยู่แล้ว แต่อ่านแต่การ์ตูนนะ พวกดราก้อนบอล โดราเอมอน รันม่า อะไรอย่างนั้น

แต่พอไปนิวซีแลนด์ จะเอาการ์ตูนไปก็กระไรอยู่ (เพราะอ่านหมดแล้ว) เลยได้เริ่มอ่านหนังสือที่มีแต่ตัวหนังสือจริงๆ จังๆ

ผมจึงได้อ่านนิยายหลายเล่มของคุณประภัสสร เสวิกุล เช่น ขอหมอนใบน้้นที่เธอฝันยามหนุน ลอดลายมังกร ชี้ค และ ขอให้รักเรานั้นนิรันดร

ได้รู้จักธรรมะผ่านหนังสือของท่านพุทธทาส (ผมจำชื่อหนังสือไม่ได้แล้ว)

ที่สำคัญ แม่ยังสมัครสมาชิกหนังสือพิมพ์มติชนสุดสัปดาห์ ซึ่งใช้เวลาประมาณสองสัปดาห์ถึงจะส่งมาถึงผม และผมก็ติดตามอ่านอย่างเหนียวแน่น จนบางทีเวลาโทร.กลับไปคุยกับเพื่อนที่เมืองไทย ผมรู้สึกว่าตัวเองรู้ความเป็นไปในเมืองไทยดีกว่าเพื่อนซะอีก

14. ได้เล่นดนตรี
ผมอยากเล่นกีตาร์เป็นมานานแล้ว สุดท้ายก็ได้อาจารย์ดนตรีที่นี่สอน

แล้วก็ได้ไปเรียนตีกลอง กับคนที่ไม่ใช่อาจารย์กลอง (แต่น่าจะเป็นมือกลองวงไหนซักวง) โดยไปตีกลองที่โรงเก็บรถของเขา

ได้เล่นกีตาร์คลาสสิคในวงออเคสตรา (แต่เกรงว่าจะไม่มีใครได้ยินเพราะเสียงไวโอลินกลบหมด) แล้วก็ได้ตั้งวงกับคนไทยด้วยกันเองชื่อวง So L อีกด้วย

15. ได้เล่นกีฬา
วันเสาร์ คนไทยไปเดินห้าง แต่คนนิวซีแลนด์เล่นกีฬาครับ!

ถ้าเอาสัดส่วนเหรียญโอลิมปิกหารกับจำนวนประชากรแล้ว ประเทศนิวซีแลนด์ได้เหรียญมากเป็นอันดับ 12 ของโลกเลยทีเดียว (ส่วนพี่ไทยได้อันดับ 105 จีนได้ที่ 106)

ผมอยู่ที่นี่จะได้เล่นกีฬาเกือบตลอดปี โดยเฉพาะหน้าหนาวที่เป็นฤดูกาลเตะบอล ช่วงที่ฟิตจัดๆ วันเสาร์เช้าเตะหนึ่งนัด เสาร์บ่ายเตะหนึ่งนัด อาทิตย์บ่ายเตะอีกหนึ่งนัด (บอล 11 คนนะครับ) ไม่นับซ้อมอีกสามวันต่อสัปดาห์ ให้เวลากับฟุตบอลมากจนแม่บ้านงอนไปเลย

16. ได้ฝึกความอดทน
อยู่เมืองไทย อาจมีแต่คนเอาใจ ไม่ต้องเจออะไรที่ลำบาก

แต่มาอยู่ต่างถิ่น ก็ย่อมต้องเจอสิ่งที่เราไม่สามารถควบคุมหรือเรียกร้องได้

แม่บ้านที่ดูแลผม อยู่ตัวคนเดียว (หย่าร้าง และลูกชายโตๆ กันหมดแล้ว) ทำอาหารไม่ค่อยเป็น แถมยังสูบบุหรี่จัดมาก (วันละ 20-30 มวน) ผมเพิ่งรู้จากแม่ว่าสม้ยนั้น เวลากลับมาเมืองไทยทีไร เสื้อผ้าที่ขนกลับมาด้วยนี่มีแต่กลิ่นบุหรี่เหม็นหึ่ง

การเรียนที่โรงเรียนก็ต้องพึ่งพาตัวเอง ไม่มีใครจะมาใจดีนั่งติวหนังสือให้เรา

เวลาหน้าหนาวก็หนาวจนทรมาน ห้องผมไม่ได้เปิดฮีทเตอร์ด้วยเพราะต้องช่วยแม่บ้านประหยัดไฟ ก็ต้องอาศัยใส่เสื้อผ้าหนาๆ เอา

เมื่อได้รับมือกับสิ่งที่ไม่เป็นใจบ่อยเข้า เราก็จะมีภูมิคุ้มกันเรื่องนี้มากขึ้นครับ

17. ได้อยู่กับตัวเอง
ผมว่าข้อนี้สำคัญที่สุด

สมัยนั้นนิวซีแลนด์มีฟรีทีวีแค่สามช่องเท่านั้น รายการเดียวที่ผมติดตามดูคือซีรี่ส์เรื่อง Friends นอกนั้นก็แทบไม่มีอะไรให้ดูแล้ว

แม้จะเตะบอลก็แล้ว ซ้อมดนตรีก็แล้ว อ่านหนังสือก็แล้ว ก็ยังมีเวลาเหลือ!

ผมจึงมีเวลานั่งเขียนไดอารี่ และนั่งเขียนจดหมายหาเพื่อนได้เป็นสิบๆ หน้า

การได้มีเวลานั่งทบทวน ทำให้เรามีความชัดเจนมากขึ้นว่า เราชอบอะไร ไม่ชอบอะไร และอยากใช้ชีวิตแบบไหน

และนิสัยชอบคิดชอบเขียนในวันนั้น ก็น่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผมสามารถมานั่งเขียนบล็อกได้อย่างทุกวันนี้ครับ

—–

แน่นอน นิวซีแลนด์ในวันนี้ คงแตกต่างจากนิวซีแลนด์เมื่อ 21 ปีที่แล้ว

ดังนั้นสิ่งที่ผมเล่ามา คงไม่ได้เป็นจริงทั้งหมดอีกต่อไป

แต่จากที่ผมกลับไปเที่ยวนิวซีแลนด์กับแฟนเมื่อปลายปีที่แล้ว ผมก็ยังรู้สึกอยู่ดีว่ามันยังเป็นประเทศที่น่าอยู่มาก

ผมคุยกับแฟนเอาไว้แล้วว่า เมื่อลูกเราโต และเรามีกำลังพอ ก็อยากจะส่งลูกไปเรียนที่นี่เช่นกันครับ


ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

ขอบคุณข้อมูลจาก:
Numbeo: Cost of Living Index 2015 Mid Year
Wikipedia: Sheep Farming in New Zealand  
Medals Per Capita

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก Show First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

10 สิ่งอำนวยความสะดวกของคนไทยที่ฝรั่งไม่มี

20150803_WhatFarangsDontHave

การได้ไปเที่ยวเมืองนอกเป็นความใฝ่ฝันของใครหลายๆ คน

แต่ก็มีไม่น้อยที่เมื่อไปอยู่เมืองนอกมาซักพักก็จะได้ข้อสรุปว่าอยู่เมืองไทยดีที่สุดแล้ว

เรื่องที่หยิบยกมาพูดว่าอยู่เมืองไทยแล้วสบายกว่าก็มักจะเป็นเรื่องภาษาที่สื่อสารกันเข้าใจ อาหารถูกปาก และความง่ายๆ สบายๆ ของคนไทย

นอกจากเหตุผลหลักต่างๆ ที่กล่าวมาแล้ว ผมก็มานั่งคิดเล่นๆ ว่ามีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรอีกบ้างที่เมืองไทยมี แต่ฝรั่งไม่มี (เอาเฉพาะฝรั่งนะครับ ไม่นับเอเชีย) โดยใช้ประสบการณ์ตัวเองล้วนๆ ดังนั้นอาจจะผิดพลาดหรือไม่เป็นความจริงทั้งหมดก็ได้ครับ

สิ่งอำนวยความสะดวกที่คิดได้มีดังนี้

1. หนังยาง – ไม่รู้ทำไมฝรั่งเค้าไม่เห็นค่อยใช้หนังยางกันเลย เวลาปิดถุงเขามักจะใช้วัสดุที่ทำมาจากพลาสติกหรือไม่ก็จากโลหะ แต่ผมว่าหนังยางที่แหละที่สะดวกที่สุดแล้ว จะมัดถุงกับข้าวก็ง่ายและรวดเร็ว จะมัดหนังสือพิมพ์ส่งตามบ้านก็ได้ แถมตอนเด็กๆ เรายังเอามาร้อยไว้โดดเล่นหรือเอามาเหนี่ยวยิงใส่เพื่อนก็ได้ (ผมลองเปิดประวัติ rubber band ดูถึงรู้ว่าอังกฤษคิดค้น แต่กลับไม่รู้สึกว่าเค้าใช้กันแพร่หลายเหมือนบ้านเรา)

2. เชือกฟาง – เชือกที่ฝรั่งมีไม่ว่าจะเป็นเส้นเล็กหรือเส้นใหญ่มักจะเป็นเชือกจริงจังที่มันสากๆ แต่ผมว่าเชือกฟางนี่ทั้งถูก ทั้งเบา แข็งแรง แต่ก็ตัดง่าย ยิ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาผมเก็บหนังสือเพื่อเตรียมย้ายบ้าน ก็ยิ่งเห็นคุณค่าของเชือกฟางเพราะเอาไว้มัดหนังสือเป็นแพ็คๆ ขนาดเหมาะมือได้ชิลล์ๆ

3. สายฉีดก้น – ฝรั่งใช้แต่กระดาษเช็ดก้นกัน (ซึ่งถ้าเช็ดหลายๆ ทีก็อาจเป็นแผลได้) ผมเคยถามครูฝรั่งชาวอังกฤษที่มาอยู่เมืองไทย เค้ายังยอมรับเลยว่าสายฉีดก้นทำความสะอาดได้ดีกว่ากระดาษทิชชู่เยอะเลย แถมยังพูดถึงคนในประเทศเขาเองด้วยว่า “We are very unclean”

4. ห้างร้านที่เปิดถึงสามทุ่ม 7 วันต่อสัปดาห์ – ที่ยุโรปหลายประเทศวันเสาร์ร้านจะเปิดถึงแค่ทุ่มเดียวหรือเร็วกว่านั้น ส่วนวันอาทิตย์นี่แทบจะหาร้านที่เปิดทำการไม่ได้เลย เพื่อนชาวสวิสผมบอกว่าเพราะวันอาทิตย์ผู้คนถือว่าเป็นวันพักผ่อน (พระเจ้าสร้างโลกหกวันแล้วพักวันอาทิตย์) ดังนั้นก็เลยพักผ่อนกันหมดทั้งลูกค้าทั้งเจ้าของร้าน ซึ่งบางทีมันก็ทำให้เราเดือดร้อนเพราะวันอาทิตย์เราก็ต้องกินต้องใช้เหมือนกัน ขณะที่เมืองไทยเราจะไม่มีวันเจอห้างที่ปิดวันอาทิตย์แน่ๆ

5. เซเว่นอีเลฟเว่น – ร้านสะดวกซื้อของฝรั่งส่วนใหญ่เปิดไม่ดึก อย่างมากก็แค่สามทุ่ม ตอนที่ผมไปเที่ยวปารีส สังเกตเห็นว่าร้านที่จะเปิดดึกกว่าสามทุ่มมักจะเป็นร้านมินิมาร์ทเล็กๆ ที่มีเจ้าของเป็นคนเอเชียซะมากกว่า แต่สำหรับเมืองไทย ไม่ว่าจะดึกดื่นแค่ไหน ก็ไม่มีทางอดตายเพราะออกไปเซเว่นเมื่อไหร่ก็จะมีขนมจีบซาละเปาให้กินแน่นอน

6. วินมอเตอร์ไซค์ – กรุงเทพรถติดก็จริง แต่ผมว่าบ้านเราเป็นเมืองที่การจราจรครอบคลุมที่สุดเมืองหนึ่งของโลกเลยนะ ตอนผมไปเที่ยวแมนเชสเตอร์ต้องทนหนาวยืนรอรถเมล์เป็นสิบนาที แต่ถ้าอยู่กรุงเทพ แค่เดินไปนิดหน่อยก็จะเจอยานพาหนะที่จะพาเราไปถึงไหนต่อไหนอย่างง่ายดาย

7. ซาเล้ง – เวลาฝรั่งเขามีของเก่า ถ้าไม่ขนไปทิ้งหรือบริจาค ก็ต้องเปิด Garage Sale* ให้คนแถวนั้นผ่านมาซื้อ แต่ที่บ้านเรามีบริการมาซื้อของเก่าถึงบ้าน ไม่ต้องเสียแรง เสียเวลา เปลืองน้ำมันขับรถออกจากบ้านให้เมื่อยตุ้ม

8. พนักงานที่หยิบของใส่ถุงให้เราเวลาซื้อของที่ซูเปอร์มาร์เก็ต – คำอธิบายยาวเชียว แต่รู้หรือไม่ว่าเวลาเราไปซื้อของตามซูเปอร์มาร์เก็ตที่เมืองนอก พนักงานคิดเงินเขาไม่ได้หยิบของใส่ถุงให้เรานะครับ เขาก็แค่สแกนบาร์โค้ดแล้วก็ผลักสินค้าไปตรงท้ายเคาท์เตอร์ เราจ่ายเงินเสร็จแล้วต้องเอาของใส่ถุงเอง บางทีต้องจ่ายเงินซื้อถุงเพิ่มด้วยเพราะนโยบายรักษ์โลกของซูเปอร์มาร์เก็ตเขา

9. หาหมอที่โรงพยาบาล – อันนี้เป็นความรู้ใหม่จากหัวหน้าซึ่งเป็นชาวอังกฤษอีกเช่นกัน เขาบอกว่าคนประเทศเขาเวลาป่วยจะไปหาหมอที่คลีนิค ไม่ใช่ที่โรงพยาบาล คุณจะเข้าโรงพยาบาลได้ก็ต่อเมื่ออาการคุณหนักหนาสาหัสจริงๆ เท่านั้น ในขณะที่เมืองไทย แค่เป็นหวัดเราก็ไปโรงพยาบาลกันแล้ว (โดยเฉพาะถ้าบริษัทสวัสดิการดี!) ที่สำคัญถ้าคุณเป็นหวัดแล้วจะไปหาหมอคุณต้องโทร.นัดล่วงหน้าหลายวันด้วย!

10. ปากซอย – ฝรั่งไม่น่าจะมีสิ่งที่เรียกว่า “ปากซอย” เพราะผังเมืองเค้าออกแบบมาเป็นบล็อกๆ ไม่ได้เป็นตรอกซอกซอยเหมือนบ้านเรา แต่ผมว่า “ปากซอย” เรานี่แหละคือทีเด็ด เพราะสิ่งละอันพันละน้อยจะอยู่ที่ปากซอยกันเกือบหมด ไม่ว่าจะเป็นวินมอเตอร์ไซค์ปากซอย เซเว่นปากซอย รถเข็นหมูปิ้งปากซอย ป้ายรถเมล์ปากซอย ร้านตัดผมปากซอย ฯลฯ จะบอกว่าปากซอยเป็นแหล่งรวบรวมอารยธรรมและความเจริญก็คงไม่ผิดนัก เพราะ แค่เดินไปปากซอยเราก็มีครบเกือบทุกอย่างแล้ว ขณะที่ฝรั่งต้องขับรถเข้าเมืองถึงจะได้รับบริการเหล่านี้

ผมเชื่อว่ามันยังมีอะไรอีกเยอะแน่ๆ ที่ช่วยให้เมืองไทยสะดวกกว่าเมืองนอก ใครคิดออก รบกวนมาบอกกันผ่านหน้า Anontawong’s Musings Facebook Page นะครับ

—–

* EDIT 9:40pm 7 ส.ค. 2558: ตอนแรกผมเข้าใจผิดว่า Garage Sale คือการขนของไปขายที่ตลาดนัด แต่ได้รับการท้วงติงมา (ดูคอมเม้นท์ด้านล่าง) จึงขอแก้ไขให้ถูกต้องครับ

ภาพจากกล้องผู้เขียน ถ่ายที่เมืองไทยเมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2558

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ Archives

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก Show First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

8 สิ่งที่ควรทำในสามปีแรกของชีวิตการทำงาน

20150126_FirstThreeYears

1. เป็นมิตรกับทุกคน
ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน HR รีเซปชั่น แม่บ้าน รปภ. เพราะเชื่อผมเถอะว่าคุณจะมีโอกาสได้พึ่งพาเขาแน่ๆ และอีกอย่าง คุณไม่มีวันรู้เลยว่าเพื่อนร่วมงานคนไหนจะขึ้นมาเป็นหัวหน้าของคุณในอนาคต

2. รู้จักชื่อเล่น
สมมติว่าผมต้องติดต่อแผนกบัญชีเพื่อคุยกับคุณสถาพรซึ่งผมไม่เคยรู้จักมาก่อน สิ่งแรกที่ผมจะทำคือดูว่ามีใครในแผนกบัญชีที่ผมรู้จักอยู่แล้วบ้าง แล้วผมจะโทร.หาคนๆ นั้นเพื่อที่จะถามชื่อเล่นของคุณสถาพร และถ้าอายุอานามของคุณสถาพรดูใกล้เคียงกับผมจนไม่แน่ใจว่าเขาแก่กว่าผมรึเปล่า ผมก็จะถามไปเลยว่าเขารุ่นไหนหรือรหัส (นักศึกษา) อะไร

เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วว่าคุณสถาพรชื่อเล่นชื่อดุ๊ก และแก่กว่าผมหนึ่งปี คราวนี้เวลาต้องไปคุยกับคุณสถาพรจริงๆ แทนที่จะเรียกเขาว่า “คุณสถาพร” ผมจะเรียกเขาว่า “พี่ดุ๊ก” แทน เพียงแค่นี้ความเป็นกันเองก็จะเกิดขึ้น ไม่ดูห่างเหินเหมือนตอนเราเรียกเขาว่า “คุณสถาพร”

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องดูด้วยนะครับว่าถ้าเขาเป็นคนถือตัว ก็อาจจะไม่เหมาะที่จะเรียกชื่อเล่นตั้งแต่คุยกันครั้งแรกเท่าไหร่ แต่จากประสบการณ์ของผม ส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหาหรอกครับ

3. เลิกงานแล้วอย่าเพิ่งกลับบ้าน
ถ้าคุณยังไม่มีครอบครัวหรือมีภาระที่ต้องดูแล ก็ควรจะหากิจกรรมทำหลังเลิกงานกับเพื่อนๆ ในทีม อาจจะเป็นเรื่องง่ายๆ อย่างกินข้าวเย็นด้วยกันก็ได้ หรือคุณอาจจะเป็นตัวตั้งตัวตีจัดทริปไปร้องคาราโอเกะกันซักรอบ เพื่อที่คุณจะได้รู้จักกันและกันมากขึ้นและกลายเป็น “เพื่อน” แทนที่จะเป็นแค่ “เพื่อนร่วมงาน” เฉยๆ

และยิ่งถ้าคุณเล่นกีฬาเช่นฟุตบอลหรืบาสเก็ตบอล ก็สมควรเป็นอย่างยิ่งที่จะไปเข้าชมรมกีฬาเหล่านี้ (และถ้าบริษัทยังไม่มีก็ตั้งชมรมเองซะเลย) เพราะมันจะช่วยให้คุณรู้จักกลุ่มคนที่กว้างขึ้น ซึ่งจะช่วยให้คุณทำงานง่ายขึ้นมากเวลาต้องทำงานร่วมกับทีมอื่นๆ

4. “สูบ” ให้มากที่สุด
สูบในที่นี้ผมหมายถึงสูบความรู้นะครับ เพราะที่ทำงานคือสถานที่ที่คุณจะได้รู้จักกับผู้คนจากหลากหลายพื้นเพ และแต่ละคนก็จะเก่งกว่าคุณไม่ว่าด้านใดก็ด้านหนึ่ง เพราะฉะนั้นคุณควรจะเรียนรู้จากพวกเขาให้มากที่สุด

และถ้าคุณได้ทำงานบริษัทใหญ่ๆ โอกาสในการสูบก็ยิ่งเพิ่มขึ้นไปอีก เพราะเขามักจะมีแหล่งเรียนรู้ดีๆ เช่น eLearning หรือ eBooks  บริษัทจ่ายเงินเหล่านี้ปีละเป็นแสนเป็นล้านเพื่อให้พวกเราใช้ได้ฟรีๆ เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยให้โอกาสทองในการพัฒนาตัวเองหลุดลอยไปนะครับ

5. ทำ Powerpoint ให้สวยๆ
คนทำงานบริษัทส่วนใหญ่ยังทำ Presentation slides ไม่ค่อยเป็น เพราะฉะนั้นถ้าคุณสามารถทำสไลด์ออกมาให้สวยๆ และเข้าใจง่ายแล้วล่ะก็ คุณจะกลายเป็นที่จดจำได้ทันที แถมมันยังเป็นทักษะที่คุณต้องใช้ไปตลอดไม่ว่าคุณจะเติบโตไปสู่ตำแหน่งอะไรก็ตาม

หนังสือสอนการทำ presentation slides ที่ผมชอบมากคือ Presentation Zen ของคุณ Garr Reynolds ครับ มีแปลเป็นภาษาไทยแล้วด้วยนะครับ และถ้าอยากจะติดตามบล็อกของเขาก็ไปดูที่ presentationzen.com ได้เลย

6. เผื่อใจไว้ว่า เงินเดือนที่มากขึ้นอาจไม่ได้ทำให้เรามีความสุขมากขึ้น
แต่ก่อนผมเคยนึกว่ายิ่งเงินเดือนเยอะยิ่งมีความสุข ซึ่งมันเป็นความจริงเพียงเสี้ยวเดียว

เพราะเมื่อไรก็ตามที่เงินเดือนเพิ่มขึ้นมา รายจ่ายเราก็จะเพิ่มเป็นเงาตามตัว ด้วยอายุที่มากขึ้น กำลังทางการเงินที่มากขึ้น ความคาดหวังจากคนรอบข้างของเราก็จะสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

ปัจจัยอีกอย่างที่มาหักล้างความสุขของการขึ้นเงินเดือน ก็คือเรื่องของภาษีครับ ยิ่งคุณเงินเดือนมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งโดนหักภาษีมาขึ้นเท่านั้น คนที่ทำงานมาซัก 10 ปีนี่โดนหักภาษีปีละเป็นแสนเลยนะครับ

7. เลือกงานที่แค่อ่าน Job Description ก็สนุกแล้ว
เมื่อความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงินเดือนเพียงอย่างเดียว เราจึงควรเลือกงานที่ตัวเองมีความสุขที่จะทำด้วย

ผมจบวิศวะไฟฟ้า แต่มาทำงานบริษัทซอฟท์แวร์ โดยเริ่มต้นจากการเป็น software engineer ทำไปได้ซักสองปีกว่าๆ ก็รู้สึกว่าไม่ได้เกิดมาเพื่อสิ่งนี้เท่าไหร่ พอมีตำแหน่งงาน support เปิดรับ ผมจึงลองสมัครดูแล้วก็ได้รู้ตัวว่าชอบงาน support มาก

แต่ความชอบของเราเปลี่ยนไปได้เรื่อยๆ นะครับ เพราะพอทำงานพอทำงาน support ไปได้ 4 ปีก็เริ่มรู้สึกอิ่มตัวกับงานสาย technical แล้ว

เผอิญตำแหน่ง communication manager เปิดอยู่พอดี แค่ได้เห็นเนื้องานผมก็เนื้อเต้นแล้ว จึงตัดสินใจสมัครทั้งๆ ที่รู้ว่า career path อาจจะไม่สวยหรูเท่างานด้าน technical  และเงินก็ได้ไม่ดีเท่าแน่ๆ

สุดท้ายผมก็ทำตำแหน่งนี้มาห้าปีกว่าแล้ว และไม่เคยเสียใจที่ตัดสินใจมาทำงานสายนี้เลย

ถ้าเราฟังเสียงหัวใจของตัวเอง และฟังความกลัวให้น้อยลง เราจะได้ทำงานที่ทำแล้วมีความสุขครับ

8. เรียนรู้เรื่องการประหยัดภาษี
ผมเสียดายที่เรียนรู้เรื่องนี้ช้าไป ทำงานมาเกือบห้าปีถึงจะเพิ่งรู้จักสิ่งที่เรียกว่า LTF และ RMF ซึ่งผมว่ามันเป็นเครื่องมือทางการเงินที่ดีมากๆ ช่วยให้เรามีเงินออมแบบเป็นกอบเป็นกำ ประหยัดภาษีได้ปีละเป็นหมื่น ผมเก็บเรื่อยๆ เดือนละห้าพัน เผลอแป๊บๆ ก็มีเงินเก็บหลายแสนแล้วครับ เพราะฉะนั้นอย่ารอช้าที่จะเจียดเงินส่วนหนึ่งเอาไว้ซื้อ LTF ทุกเดือนนะครับ เดือนละพันสองพันก็ยังดี

และนี่คือแปดข้อที่ผมคิดว่าสมควรรู้สำหรับการทำงานในช่วงสามปีแรกนะครับ

ใครมีข้อแนะนำเพิ่มเติมอะไรแจ้งมาได้เลยที่บล็อกนี้หรือ facebook.com/anontawongblog ครับ