10 นาทีในวันนี้ดีกว่า 10,000 นาทีในอนาคต

เมื่อปลายปีที่แล้ว ผมได้อ่านหนังสือ Chasing Daylight ที่เขียนโดย Eugene O’Kelly อดีต CEO ของ KPMG

โอเคลลี่เริ่มเขียนหนังสือเล่มนี้หลังจากรู้ตัวว่าเป็นมะเร็งสมอง และเสียชีวิตหลังจากนั้นเพียง 3 เดือนครึ่ง

คำแนะนำในหนังสือที่ผมจำได้ดีเป็นพิเศษก็คือ “Move it up” – เลื่อนมาให้เร็วขึ้น

ถ้าคิดว่าอยากจะทำอะไรสักอย่างในอนาคต ให้เลื่อนมันมาให้เร็วขึ้น

อยากจะเรียนกีตาร์? เลื่อนมาให้เร็วขึ้น

อยากจะพาพ่อกับแม่ไปเที่ยว? เลื่อนมาให้เร็วขึ้น

อยากจะเริ่มออกกำลังกาย? เลื่อนมาให้เร็วขึ้น

เพราะเราไม่อาจรู้ได้เลยว่าเวลาในอนาคตเรานั้นมีเหลืออยู่เท่าไหร่ หรือมีอยู่จริงรึเปล่า

แน่นอนว่าหลายเรื่องก็ทำตอนนี้ไม่ได้ ต้องทำงานเก็บเงินกันก่อน

แต่หลายเรื่องเราสามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่ตอนนี้ แม้ว่ามันจะไม่เพอร์เฟ็กต์ แม้ว่ามันจะทำได้ไม่เต็มที่ แต่นั่นอาจไม่ใช่เหตุผลที่ดีเพียงพอที่จะบอกว่า “รอให้เราพร้อมกว่านี้ก่อนแล้วค่อยทำ”

เพราะการอดเปรี้ยวไว้กินหวานอาจไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องเสมอไป

บางคนอาจจะอยากจะเขียนนิยายมานานแล้ว โดยจินตนาการไว้ว่าสักวันหนึ่งเขาจะมีเวลาว่างติดต่อกัน 2 สัปดาห์โดยที่ไม่มีใครมารบกวน และเมื่อนั้นแหละเขาจะรังสรรค์ผลงานชิ้นเยี่ยมออกมาได้แน่นอน

แต่ถ้าตลอดสิบปีที่ผ่านมาเราไม่เคยหาเวลาแบบนั้นได้เลย แล้วอะไรกันที่ทำให้เรามั่นใจว่าจะหาเวลาได้ในอนาคต?

แทนที่จะฝันหวานถึงเวลาที่มีมากมายในภายภาคหน้า ทำไมเราไม่ลองเริ่มต้นจาก 10 นาทีที่เราพอมีเหลือในวันนี้

สิบนาทีนั้นน้อยนิดมากจนแทบจะทำอะไรไม่ได้ แต่ถ้าเริ่มต้นจากวันนี้สิบนาที พรุ่งนี้อีกสิบนาที ผ่านไปหนึ่งเดือนเราจะได้ใช้เวลาเขียนนิยายถึง 5 ชั่วโมง

ถ้าเรามีอะไรที่อยากทำมานาน ลอง move it up ดูนะครับ แม้ว่ามันจะจำกัดจำเขี่ยแค่ไหน แม้ว่าเราจะไม่สามารถสร้างอะไรได้มากนักก็ตาม

เพราะ 10 นาทีในวันนี้มีค่ากว่า 10,000 นาทีในอนาคตครับ

ทำไมการออกกำลังกายมักไม่ช่วยลดน้ำหนัก

ทำไมการออกกำลังกายมักไม่ช่วยลดน้ำหนัก

เชื่อว่าหลายคนน่าจะเคยได้ยินมาว่า การออกกำลังกายไม่ได้ช่วยให้น้ำหนักลดเท่าไหร่ สิ่งที่ช่วยได้มากกว่าคือการลดอาหาร

ผมเองก็เชื่อเช่นนี้มาโดยตลอด แต่ก็ไม่เคยหาข้อมูลเพิ่มเติมว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

จนได้มาเจอคำตอบหนึ่งใน Quora ที่รู้สึกว่าเมคเซนส์และน่าจะเป็นประโยชน์ เลยขอนำมาถอดความให้อ่านกันนะครับ

“ร่างกายเรานั้นถูกวิวัฒนาการให้ออกกำลังกายได้อย่างต่อเนื่องยาวนาน เพราะในสมัยดึกดำบรรพ์ บรรพบุรุษของเราล่าสัตว์ด้วยการวิ่งไล่มันไปเรื่อยๆ [ซึ่งบางทีก็กินเวลาหลายชั่วโมง] จนสัตว์ตัวนั้นหมดแรงและวิ่งหนีต่อไปไม่ไหว

เนื่องจากร่างกายมนุษย์คุ้นชินกับการออกกำลังอยู่แล้ว ร่างกายของเราจึงเป็น “รุ่นประหยัดพลังงาน” แคลอรีที่เราเบิร์นจากการวิ่ง 30 นาทีนั้นสามารถถูกทดแทนได้ด้วยโดนัทเพียงชิ้นเดียว

แน่นอนว่าทุกอย่างมีข้อยกเว้น มีคนบางกลุ่มที่ออกกำลังเยอะเสียจนน้ำหนักลด คนกลุ่มนี้มีชื่อว่านักกีฬาและทหาร

พวกเราส่วนใหญ่ไม่ได้ซ้อมหนักเท่านักกีฬา และถึงอย่างแม้แต่นักกีฬาก็ยังต้องระวังอาหารที่ตัวเองกิน

อีกสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เวลาออกกำลัง ร่างกายจะส่งสัญญาณไปเตือนสมองว่า

“โปรดระวัง! เราสังเกตเห็นการใช้พลังงานที่สูงขึ้นผิดปกติ จงบริโภคอาหารให้มากขึ้น!”

คนออกกำลังกายบางคนเลยกินเข้าไปมากกว่าที่เอาออกเสียอีก

วิธีลดน้ำหนักที่ดีที่สุดคือการกินให้น้อยลง ส่วนถ้าน้ำหนักจะลดจากการออกกำลังกายด้วยก็ให้ถือว่าเป็นโบนัส”


ขอบคุณเนื้อหาจาก Quora: Ke’Aun’s Answer to Why is diet more important than exercise for weight loss? Is it really?

วุ้นแปลภาษาที่เรียกว่าความสัมพันธ์

ในการ์ตูนโดราเอมอน จะมีของวิเศษอย่างหนึ่งที่ว้าวมาก นั่นคือวุ้นแปลภาษา

พอกินวุ้นเข้าไปแล้ว จะสามารถคุยกับคนทุกชาติทุกภาษาได้ แม้แต่กับสิงสาราสัตว์ก็คุยรู้เรื่อง

วันก่อนนี้ผมเขียนเรื่อง “วิธีให้ฟีดแบ็คลูกน้องแบบ Radical Candor” ซึ่งเน้นว่าลูกน้องต้องรู้ก่อนว่าเราแคร์ เราถึงจะพูดตรงๆ กับเขาได้

เพราะความหมายไม่ได้อยู่แค่ในคำพูด แต่อยู่ในคนพูดด้วย

ถ้าเรารู้ว่าคนพูดนั้นแคร์ เราย่อมแปลความไปในทางบวก

ถ้าเรารู้ว่าคนพูดนั้นไม่แคร์ เราย่อมแปลความไปในทางลบ แม้ว่าจะใช้คำพูดเดียวกันก็ตาม

เพราะสิ่งที่ประกอบอยู่ในถ้อยคำ คือโทนเสียง สีหน้าท่าทาง และพลังงานที่ปล่อยออกมา

ความสัมพันธ์จึงเป็นวุ้นแปลภาษาที่ทรงพลังอย่างมาก

ฝรั่งมีประโยคที่ว่า It’s not what you say, it’s how you say it – พูดอะไรไม่สำคัญเท่าพูดอย่างไร

ผมอยากเสริมอีกหนึ่งประโยค – It’s not what you say, it’s who says it – พูดอะไรอาจไม่สำคัญเท่าใครเป็นคนพูด

เรื่องบางเรื่องที่บ้าน คนในครอบครัวพูดกลับไม่ฟัง แต่ให้คนนอกพูดเขากลับฟัง

เรื่องบางเรื่องที่ทำงาน เราพูดแล้วบางคนไม่(ยอม)เข้าใจ แต่พอให้นายใหญ่พูดเขากลับเข้าใจได้ง่ายดาย

ถ้าเรารู้สึกว่าไม่อาจเข้าถึงใครบางคน คงต้องกลับมาสำรวจตัวเราก่อน ว่ามีวิธีพูดที่ดีกว่านี้มั้ย

แต่ถ้าปรับแล้วยังไม่เห็นผล อาจต้องลองเปลี่ยนคนพูดแล้วล่ะครับ


ขอบคุณภาพจาก Doraemon Wiki : Translation Tool