24 สิ่งที่ไม่ควรทำในปี 2024

1.อย่าให้ความมั่นใจโตไวกว่าความสามารถ เพราะความสำเร็จที่ผ่านมาอาจเกิดจากโชคช่วยด้วยไม่มากก็น้อย

2.อย่าพยักหน้าและแสร้งทำเป็นเข้าใจทั้งที่ยังไม่เข้าใจ

3.อย่าบอกว่าทำไม่ได้ทั้งที่ยังไม่ได้ลอง เพราะเรามักเผลอคิดไปก่อนว่ามันทำไม่ได้

4.อย่าใส่ใจตัวตนของเราในโลกออนไลน์มากกว่าตัวตนของเราในโลกจริง เพราะตัวเราในโลกออนไลน์เป็นเพียง avatar เท่านั้น

5.อย่ารู้สึกผิดกับกองดอง ให้มองหนังสือที่ยังไม่ได้อ่านเป็นเหมือนสายน้ำใสสะอาดที่เราจะตักขึ้นมาดื่มกินเมื่อไหร่ก็ได้

6.อย่าเอามือถือเข้าห้องน้ำหรือห้องนอน แล้วเราจะอ่านหนังสือได้มากขึ้นเดือนละเล่ม

7.อย่าคุยกับคนแปลกหน้า เช่นแก๊งคอลเซ็นเตอร์และนักเลงคีย์บอร์ด ไม่เคยมีอะไรดีๆ เกิดขึ้นจากการใช้เวลากับคนเหล่านี้

8.อย่าคุยกับ ChatGPT มากกว่าคุยกับคนในครอบครัว

9.อย่าอดเปรี้ยวไว้กินหวานจนเคยตัว – เพราะคนเราจะมีพรุ่งนี้ได้อีกกี่วัน

10.อย่ารีรอที่จะทำอะไรให้อีกคนรู้สึกดี

11.อย่ากลัวการใช้เงินไปกับสิ่งที่สร้างความสุขให้เราได้อย่างแท้จริง เงินหาใหม่ได้เรื่อยๆ แต่ประสบการณ์กับคนบางคนนั้นมีเวลาจำกัดมากกว่าที่เราคิด

12.อย่าทำงานให้คนที่เราไม่ได้เคารพ (ถ้าเลือกได้)

13.อย่าคิดว่าเราไม่มีทางเลือก คนเรามีทางเลือกเสมอถ้าเรายอมรับผลที่ตามมาได้

14.อย่ายึดติดกับความเป็นตัวเองมากเกินไป คนเราเปลี่ยนกันได้ รวมทั้งตัวเราเองด้วย

15.อย่าประมาทเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะเมื่อเลยวัย 35 – นอนให้พอ กินให้พอดี กายให้ได้เหงื่อ วันหนึ่งเราจะเข้าใจอย่างแท้จริงว่าสุขภาพนั้นสำคัญกว่า ‘ความก้าวหน้า’ ที่เราเอาสุขภาพไปแลกมา

16.อย่ามัวมองไปข้างหน้าจนลืมมองคนตรงหน้า

17.อย่าละเลยที่จะใช้เวลากับลูกในช่วงที่เขายังต้องการเรามากที่สุด พอโตเกิน 12 ขวบเขาก็อาจเป็นเด็กอีกคนแล้ว

18.อย่าลืมคิดถึงชีวิตที่เราอยากมีอยู่เนืองๆ จะได้รู้ว่ากำลังมาถูกทางรึเปล่า

19.อย่ามัวแต่มองหาทางลัด เพราะมันมักไม่ได้ลัดจริง ถ้าไปทางตรงตั้งแต่แรกป่านนี้อาจไปได้ไกลแล้ว

20.อย่าคิดว่าคนอื่นจะคิดถึงเรามากเท่าที่เราคิดถึงตัวเอง ข้อนี้สำคัญเป็นพิเศษถ้าเราเสพติดการโพสต์ลงโซเชียล

21.อย่าผิดหวังกับคนเดิมในเรื่องเดิมเกินสามครั้ง ให้เปลี่ยนความคาดหวังหรือไม่ก็เปลี่ยนคน

22.อย่าเป็น ‘คนเก่ง’ จนไม่เหลือใครคอยเตือน

23.อย่าให้การเตรียมพร้อมเป็นที่หลบซ่อนของการลงมือทำ

24.อย่าลืมที่จะมีเวลาอยู่เฉยๆ คนเดียว มีพื้นที่ว่างให้ตัวเองได้คิดและทบทวน นี่อาจเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับปี 2024

ใช้วันนี้ให้เหมือนเราได้รับโอกาสครั้งที่สอง

เมื่อมองย้อนกลับไป อาจมีหลายจังหวะในชีวิตที่เรารู้สึกเสียดายหรือเสียใจ

เสียดายที่ไม่ค่อยตั้งใจเรียน

เสียดายที่เอาแต่อยู่ในกรอบจนไม่ได้ใช้ชีวิตช่วงวัยรุ่น

เสียดายที่ไม่ได้บอกความในใจกับคนคนนั้น

เสียใจที่พูดจาไม่ดีกับคนที่เรารัก

เสียดายที่ใช้เวลากับพ่อแม่น้อยไปหน่อย

เสียดายที่ทิ้งโอกาสเพราะอยากเก็บเงิน

เสียดายที่ทิ้งโอกาสเพราะกลัวอะไรก็ไม่รู้

เสียดายที่ไม่ได้ถ่ายวีดีโอลูกตอนเด็กๆ ไว้มากกว่านี้

แต่ไม่ว่าจะเสียดายหรือเสียใจแค่ไหน เราก็กลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว

สิ่งเดียวที่เราจะแก้ไขได้คือวันนี้

Jeff Bezos ผู้ก่อตั้ง Amazon บอกว่าสำหรับเขา เป้าหมายคือมีเรื่องเสียดายให้น้อยที่สุด

“When I’m eighty, I want to have minimized the number of regrets that I have in my life.”

ให้นึกถึงตัวเองตอนอายุ 80 ปีอาจจะไกลเกินไปสำหรับบางคน แค่ลองคิดถึงวันที่ตัวเองแก่กว่านี้สัก 20 ปีก็น่าจะพอ

ในอีก 20 ปี พ่อแม่อาจจะไม่อยู่กับเราแล้ว ลูกๆ อาจจะโตและออกจากบ้านไปกันหมด ร่างกายและสติปัญญาของเราอาจเปราะบางเกินกว่าจะเดินทางหรือทำอะไรที่เคยฝันไว้ว่าอยากจะทำ

ถ้าตัวเราในอีก 20 ปีข้างหน้าได้นั่งไทม์แมชชีนกลับมาหาตัวเราในวันนี้ เขาจะพูดกับเราว่าอะไร? จะมีอะไรที่เขาอยากเตือนเราว่าอย่าพลาดเหมือนอย่างที่เขาเคยพลาดหรือเปล่า

หากจินตนาการได้ว่าเราอาจเสียใจอะไรในภายหลัง วันนี้ย่อมเป็นโอกาสอันดีที่จะเปลี่ยนอดีตสำหรับตัวเราในอนาคต

“Live as if you were living already for the second time and as if you had acted the first time as wrongly as you are about to act now!”
-Viktor Frankl

ใช้วันนี้ให้เหมือนเราได้รับโอกาสครั้งที่สองครับ


ขอบคุณภาพจาก Doraemon Wiki

จุดอ่อนของการอดเปรี้ยวไว้กินหวาน

เมื่อเช้านี้แฟนเรียกผมให้ไปดู “ใกล้รุ่ง” ลูกชายวัย 6 ขวบในห้องทำงานของแฟน

ใกล้รุ่งนั่งกอดเข่าขดตัวอยู่ใต้โคมไฟที่ตั้งอยู่มุมห้อง ฝั่งหนึ่งถูกปิดด้วยโซฟา อีกฝั่งถูกปิดด้วยโต๊ะทำงาน ผมงงนิดหน่อยว่าใกล้รุ่งเข้าไปนั่งตรงนั้นได้ยังไง

ผมไม่แน่ใจว่าใกล้รุ่งงอนเรื่องอะไร เดาว่าอาจจะทะเลาะกับพี่สาวที่ห่างกันสองปี แต่พอคุยหยอกด้วยซักครู่ใกล้รุ่งก็อารมณ์ดีขึ้น เลิกกอดเข่า แล้วคลานออกมาจากมุมห้อง ผ่านโคมไฟและใต้โต๊ะ

อ๋อ เข้าไปตรงนั้นด้วยการมุดโต๊ะนี่เอง

แล้วผมก็พลันตระหนักได้ว่า ใกล้รุ่งน่าจะเป็นคนเดียวในบ้านที่ยังทำแบบนั้นได้เพราะตัวยังเล็กพอที่จะมุดโต๊ะแล้วแทรกตัวเข้าไประหว่างโซฟากับกำแพงห้องที่เว้นที่ว่างไว้เพียงให้วางโคมไฟตั้งพื้นได้

ปีหน้าน่าจะตัวใหญ่เกินที่จะมุดเข้าไปอย่างนั้นแล้ว


หลายคนน่าจะเคยได้ยินการทดลอง Marshmellow Test เมื่อ 50 ปีที่แล้ว ที่นำเด็กวัย 3 ขวบครึ่งถึง 5 ขวบครึ่งมานั่งอยู่ในห้องคนเดียว ตรงหน้ามีขนมมาร์ชเมลโล่ โดยเลือกได้ว่าจะกินมันทันที หรือถ้ายอมอดทนรอ 15 นาที พี่ๆ นักวิจัยก็จะเอามาร์ชเมลโล่มาเพิ่มให้อีก 1 ชิ้น

จากการทดลองพบว่า มีเด็กๆ 1 ใน 3 ที่รอจนครบ 15 นาที หลังจากผ่านไปประมาณ 20 ปี นักวิจัยก็กลับมาติดตามผลของเด็กๆ กลุ่มนี้ แล้วก็พบว่าเด็กที่อดทนรอได้มีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง รับมือกับความเครียดได้ดี และสอบได้คะแนน SAT ได้สูงกว่าเด็กอีกกลุ่มที่รอไม่ได้

ผลสรุปของการทดลองนี้ก็คือ คนที่มี willpower และสามารถ “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” หรือ delayed gratification นั้นมีโอกาสที่จะมีอนาคตที่ดีกว่า


สำหรับคนที่ชอบอ่านหนังสือ How-to หนังสือการลงทุน หนังสือวางแผนการเงิน เกือบทุกเล่มก็จะเน้นย้ำความสำคัญของการอดเปรี้ยวไว้กินหวาน

เราควรทำงาน Q2 คือสิ่งทำสำคัญแต่ไม่เร่งด่วน เพื่อที่จะสร้างอนาคตที่ดีกว่านี้

เราลงทุนในวันนี้ เพื่อจะมีเงินใช้ในวัยเกษียณ

เราควรออกกำลังในวันนี้ เพื่อจะได้มีสุขภาพที่ดีในวันข้างหน้า

เราควรสรรหาความรู้ เข้าสัมมนา เพื่อเป็นการ “ลงทุนกับตัวเอง” เพื่อจะเพิ่มศักยภาพในการเติบโตของเราในอนาคต

ผมเองก็เชื่อแนวคิดนี้มาโดยตลอด เพราะมันก็ช่วยให้คุณภาพชีวิตโดยรวมดีขึ้นได้จริงๆ ทำงานอย่างขยัน ใช้เงินอย่างประหยัด เป็นคนวินัยเพื่อจะสร้างวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า


หนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ผมยกให้หนังสือ Four Thousand Weeks ของ Oliver Burkeman เป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิตแห่งปี 2022 ก็เพราะว่ามันเป็นครั้งแรกที่ทำให้ผมเห็นจุดอ่อนของ Q2 และทำให้ผมเขียนบทความชื่อ “5 กับดักของคน Productive

โดยกับดักข้อที่ 5 ผมเขียนเอาไว้ว่า “วันนี้จะถูกใช้เพื่อวันข้างหน้าเรื่อยไป”

เมื่อเราอยาก “ใช้เวลาให้คุ้มค่า” เราจะมองทุกอย่างด้วยสายตาของนักลงทุน เราจะทำอะไรบางอย่างในตอนนี้เพื่อบรรลุเป้าหมายบางอย่างในอนาคตเสมอ

เราออกไปวิ่ง เพื่อจะทำเวลาได้ดีในการแข่งขัน

เราอ่านหนังสือ เพื่อจะได้เอาไปเขียนบล็อกหรือเล่าในพอดแคสต์

เราพักผ่อน เพื่อที่เราจะได้มีแรงกลับไปทำงานอย่างเต็มที่

เราแทบไม่เคยจะวิ่งเพื่อวิ่ง อ่านหนังสือเพื่ออ่านหนังสือ หรือพักผ่อนเพื่อพักผ่อนเลย

เพราะมันคือการอดเปรี้ยวไว้กินหวาน มันคือการยอมแลก “วันนี้” เพื่อ “วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า”

ซึ่งเราทำแบบนี้มานานหลายสิบปีแล้ว และมีแนวโน้มว่าเราจะทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆ ตราบจนสิ้นอายุขัย

แต่วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า วันที่เราจะมีเงินเก็บมากพอ วันที่ to-do list เราจะเป็นศูนย์ วันที่เราจะรู้สึกว่า “เอาอยู่” แล้วและพร้อมที่จะเริ่มใช้ชีวิตอย่างที่เราอยากให้เป็นจริงๆ นั้นมันไม่เคยมาถึง และอาจไม่มีวันมาถึง

ดังนั้นให้ระวังตรงนี้ให้มาก ถอดแว่นตาของนักลงทุนออกเสียบ้าง ไม่ต้องทำอะไรเพื่อวันพรุ่งนี้ไปเสียทุกอย่าง เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าเราเหลือวันพรุ่งนี้อีกกี่วัน


คนที่ใช้ชีวิตด้วยการมี delayed gratification มาจนชิน มักจะไม่ยอมให้ตัวเองมีความสุขในวันนี้ เพราะต้องการสร้างวันพรุ่งนี้ที่ดีกว่า

แต่เรามักจะลืมไปว่า ประสบการณ์บางอย่าง หรือเรื่องบางเรื่องนั้นมันไม่สามารถผัดผ่อนไปได้ตลอด

การจะมีประสบการณ์บางอย่างนั้นต้องใช้องค์ประกอบ 3 อย่าง คือเงิน เวลา และสุขภาพ

ยกตัวอย่างที่สุดโต่งหน่อยเช่นการเล่นสกี

สำหรับคนไทย สกีฟังดูเป็นกีฬาที่ไกลตัวไปหน่อย แต่ผมโชคดีที่ช่วงมัธยมปลายได้ไปเรียนนิวซีแลนด์อยู่ 3 ปี และได้ไปเล่นสกี 3 ครั้ง เหตุผลที่ไม่ได้ไปมากกว่านี้เพราะไม่มีเงิน และหลังจากกลับจากนิวซีแลนด์ในปี 1997 ผมก็ไม่เคยได้เล่นสกีอีกเลย แม้ช่วงที่ทำงานใหม่ๆ จะมีโอกาสไปจอยทริปสกีแต่ก็ตัดสินใจไม่ไปเพราะเสียดายเงิน ขอเก็บตังค์ก่อนดีกว่า (delayed gratification!)

วันนี้ผมมีเงินเก็บมากพอที่จะไปทริปสกีได้ แต่อาการเจ็บเข่าเรื้อรังที่ผมได้จากการเตะบอลเมื่อ 10 ปีที่แล้วทำให้ผมไม่มั่นใจว่าจะเล่นสกีได้อีกต่อไป

ประสบการณ์บางอย่างถ้าเราผัดผ่อนมันไป เราอาจจะพลาดโอกาสนั้นไปตลอดชีวิต ต่อให้มีเงินมากแค่ไหนก็ซื้อมันไม่ได้แล้วเพราะร่างกายไม่เอื้ออำนวย


นอกจากสามปัจจัยอย่างเงิน เวลา และสุขภาพแล้ว ยังมีอีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมากๆ ก็คือคนในครอบครัวของเรา

ในวันที่มีเงินเก็บมากมาย แต่ถ้าคนสำคัญของเราเขาไม่ได้อยู่ด้วยแล้ว เราก็ไม่อาจจะซื้อประสบการณ์นั้นได้อีก ไม่ว่าจะมีเงินเท่าไหร่ก็ตาม

สำหรับคนที่ไม่ได้อยู่บ้านเดียวกับพ่อแม่ ผมจะพูดเสมอว่า อย่านับว่าพ่อแม่จะอยู่กับเราอีกกี่ปี แต่ให้นับว่าเราจะมีโอกาสได้กินข้าวกันพร้อมหน้าพร้อมตาอีกกี่หน

เมื่อพูดถึงพ่อแม่ จะไม่พูดถึงลูกก็ไม่ได้

วัยสี่สิบกว่า เป็นช่วงเวลาที่กำลังรุ่งโรจน์ในหน้าที่การงาน หลายคนได้เป็นผู้จัดการหรือผู้บริหาร และเรามักจะให้ความสำคัญกับงานจนบางทีก็รู้สึกรำคาญเวลาที่ลูกมาก่อกวนสมาธิ (แล้วค่อยมารู้สึกตัวและรู้สึกผิดทีหลัง)

ที่อาจทำให้เรารู้สึกผิดไปกว่านั้น คือเวลาว่างเสาร์อาทิตย์ (เช่นตอนที่ผมเขียนบทความนี้เป็นต้น!) เราก็ยังเอาเวลามาหารายได้เสริมหรือสร้างอนาคต แล้วทำให้เราเสียโอกาสที่จะใช้เวลากับลูกไปอีกเช่นกัน

อาจเพราะงานมีเส้นตาย แต่ลูกของเราอยู่ตรงนี้แบบไม่มีเส้นตาย แต่ขอให้อย่าลืมว่าลูกของเราจะอายุ 6 ขวบอีกแค่ปีเดียวเท่านั้น เมื่อเขาโตไปกว่านี้ เขาก็จะห่างอ้อมอกไปเรื่อยๆ ดังนั้นการใช้เวลากับลูกในวันที่เขายังต้องการเราที่สุดนั้นก็มีเวลาจำกัดเช่นกัน


เรื่องของ Marshmellow test ยังไม่จบ

จากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2018 ของ Tyler Watts, Greg Duncan และ Haonan Quan ได้นำการทดลองนี้มาปัดฝุ่นใหม่ เพราะงานวิจัยเก่านั้นทำกับกลุ่มเด็กที่ฐานะทางบ้านไม่ต่างกันมากนัก

ในการทดลองครั้งใหม่ Watts และเพื่อนๆ ทำการทดลองนี้อีกครั้งกับเด็กถึง 900 คน และเมคชัวร์ว่าเด็กๆ เหล่านี้มาจากพื้นเพที่หลากหลาย รวมถึงเด็กที่มีฐานะทางบ้านไม่ได้ดีมากนักด้วย

ผลที่ได้จากการทดลองก็คือ มันไม่ได้เกี่ยวกับ willpower แต่เกี่ยวกับ money

เด็กที่ฐานะยากจนกว่านั้นมีแนวโน้มสูงที่จะกินมาร์ชเมลโล่ทันที เพราะประสบการณ์สอนให้เด็กกลุ่มนี้รู้ว่าพรุ่งนี้อาจไม่มีข้าวกิน และคำพูดของผู้ใหญ่บางคนนั้นเชื่อถือไม่ได้

ในขณะที่สำหรับเด็กที่มีฐานะดีกว่านั้นมันตรงกันข้าม เพราะเขาคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมที่คาดการณ์ได้ ที่บ้านของเด็กเหล่านี้อาหารไม่เคยขาดแคลน และผู้ใหญ่ก็เป็นคนรักษาคำพูด ดังนั้นพวกเขาจึงสามารถอดใจรอ 15 นาทีเพื่อจะได้มาร์ชเมลโล่ว์ชิ้นที่สอง

Delayed gratification นั้นยังมีประโยชน์อย่างแน่นอน แต่อาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดสำหรับการมีคุณภาพชีวิตที่ดี


สำหรับใครที่ใช้ชีวิตเพื่อวันพรุ่งนี้มานาน ผมว่าเราควรกลับมาใส่ใจการใช้ชีวิตในวันนี้ให้มากขึ้น

เราไม่จำเป็นต้องรอให้เราสำเร็จทุกอย่างก่อนจะอนุญาตให้ตัวเองมีความสุข

สำหรับคนที่ชีวิตเดินมาเกินครึ่งทาง การเลือกกินมาร์ชเมลโล่แค่ชิ้นเดียวในวันนี้อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการรอไปอีกสิบหรือยี่สิบปีเพื่อโอกาสจะได้มาร์ชเมลโล่ชิ้นที่สอง

เพราะถึงตอนนั้นเราอาจกินมาร์ชเมลโล่ไม่ไหว หรือคนที่เราอยากกินมาร์ชเมโล่ด้วยเขาไม่ได้อยู่กับเราแล้วครับ

ถ้าจะทำนับพันครั้งก็ควรทำมันให้ถูกต้อง

1. เพราะอะไรที่เราทำซ้ำๆ มันจะเกิดการทบต้น หรือ compounding effect

2. เพราะอะไรที่เราทำทุกวัน เรามักไม่ใส่ใจและมองข้าม

ถ้าให้สำรวจเร็วๆ ว่ามีอะไรที่เราทำทุกวันหรือเกือบทุกวันบ้าง ก็เช่น

แปรงฟัน – เราแปรงฟัน/ขัดฟันถูกวิธีหรือยัง ถ้าฟันยังผุ เหงือกยังร่น ยังมีคราบหินปูนเยอะ แสดงว่าเรายังดูแลฟันได้ดีกว่านี้

กินข้าว – เราเคี้ยวข้าวและกับข้าวละเอียดพอก่อนที่จะกลืนหรือไม่ กินในปริมาณที่เหมาะสมหรือเปล่า กินเวลาไหน และกินอะไรบ้าง

เก้าอี้/โต๊ะทำงาน – ระดับความสูงของโต๊ะและเก้าอี้มันพอดีกับสรีระของเรารึยัง ถ้าทำงานแล้วยังปวดแขนปวดคอ แสดงว่ายังมีอะไรให้ปรับได้

การพิมพ์คอม – เรายังพิมพ์แบบจิ้มหรือพิมพ์สัมผัส ถ้ายังจิ้มอยู่แล้วหัดพิมพ์สัมผัสได้ เราน่าจะทำงานเสร็จเร็วขึ้นและผิดพลาดน้อยลง

การออกกำลังกาย – เช่นการวิ่งหรือเล่นเวท ถ้าเราทำผิดซ้ำๆ อาจนำมาสู่อาการเข่าเสื่อมหรือกล้ามเนื้อฉีกขาด ถ้าหาคนสอนพื้นฐานให้ถูกต้องตั้งแต่แรก น่าจะช่วยป้องกันอาการบาดเจ็บและทำให้เรายืนระยะได้ยาวนาน

การนอน – เรานอนถูกท่าหรือไม่ นอนทับแขนตัวเองหรือเปล่า นอนหลับสนิทหรือเปล่า ถ้าเรานอนดี วันถัดมาก็จะดี ถ้าเรานอนแย่ วันถัดมาก็จะแย่

เรื่องพวกนี้ดูเหมือนจะไม่มีอะไร แต่มันคือสิ่งพื้นฐานที่เราต้องทำไปตลอดชีวิต ดังนั้นเราควรจะทำให้ถูกและทำให้ชำนาญ แล้วการใช้ชีวิตจะราบรื่นขึ้นครับ

น้อยนิดสำหรับเรา มากมายสำหรับเขา

น้อยนิดสำหรับเรา มากมายสำหรับเขา

“นี่มัน TCDC ชัดๆ”

ผมพึมพัมในใจขณะเดินชมนิทรรศการของ TIJ

TIJ ย่อมาจาก Thailand Institute of Justice หรือ “สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน)

ทำไมต้อง ‘การ’ ยุติธรรม ไม่ใช่ ‘ความ’ ยุติธรรม? ผมทดคำถามนี้ไว้ในใจ

TIJ อยู่ติดกับกระทรวงยุติธรรม เยื้องกับศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ

นิทรรศการที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่ใน TCDC นี้บ่งบอกถึงความเป็นมาของความยุติธรรม เริ่มต้นจากการที่มนุษย์หวาดกลัวสิ่งที่ตัวเองไม่เข้าใจ เช่นฟ้าผ่าและไฟไหม้ มนุษย์ก็เลยบูชา “สิ่งที่อยู่บนนั้น” โดยหวังว่าเทพเจ้าจะโปรดปราน

จากนั้นก็ไล่เรียงประวัติศาสตร์เรื่อยมา ตั้งแต่การที่มนุษย์ขอฝนจากทวยเทพ การแบ่งชนชั้นวรรณะ การจัดสรรทรัพยากรอันไม่เท่าเทียม การเรียกร้องสิทธิสตรี และการตั้งคำถามว่าสัตว์เลี้ยงและ AI ควรมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกับมนุษย์หรือไม่ พร้อมทั้งยังมี interactive display ให้เล่นอีกหลายอย่าง เสียดายที่ยังเข้าเยี่ยมชมได้เฉพาะวันธรรมดาตามเวลาราชการ คงต้องรอให้ลูกปิดเทอมก่อนแล้วผมจะลางานพาลูกๆ มาเดินดูและชวนคุยไปด้วยกัน

—–

“นี่มันอาหารเหลาชัดๆ”

ผมพึมพัมกับตัวเองหลังจากเห็นเมนูจานแรกและจานถัดๆ มา ที่ได้รับประทานในห้องประชุมของ TIJ

รายชื่อเมนูอาจดูธรรมดา ไม่ว่าจะน้ำพริกปลาทู ก๋วยเตี๋ยว และน้ำแข็งไส แต่ที่มันไม่ธรรมดานั้นมีสองปัจจัย

หนึ่ง เมนูเหล่านี้ถูกรังสรรและตีความใหม่โดย “เชฟอิน” ที่มีผู้ติดตามทาง TikTok มากกว่าหนึ่งล้านคน

สอง อาหารทุกจานนั้นถูกปรุงและตกแต่งโดยอดีตผู้ต้องขัง

ในปีที่ผ่านมา ทาง TIJ รับอดีตผู้ต้องขังยี่สิบกว่าคนเข้าโครงการ “โรงเรียนตั้งต้นดี” (Restart Academy) เพื่อสอนทำอาหาร และให้โอกาสเปิดร้านในฟูดคอร์ทของ TIJ ได้ทำจริง ขายจริง กับลูกค้าจริง เมื่อคนเหล่านี้มีทักษะและความเชื่อมั่นในตัวเองมากพอ พวกเขาก็จะหางานตามร้านอาหาร โรงแรม หรือทำร้านของตัวเองเพื่อตั้งต้นชีวิตใหม่กันต่อไป

ก่อนที่พวกเราจะมาเยือน TIJ หนึ่งสัปดาห์ เพื่อนๆ ชาว IMET MAX ได้ติดต่อเชฟอินมาช่วยสอนคนกลุ่มนี้ทำเมนูระดับ Chef’s Table เพื่อแสดงให้พวกเขาเห็นว่า เราสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเมนูธรรมดาเหล่านี้ได้หากเราไม่กลัวที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ

เสียดายที่คอร์สแบบ Chef’s Table ไม่ได้เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ไม่อย่างนั้นผมคงจะพาที่บ้านกลับมากินด้วยเหมือนกัน

—–

จบจาก Chef’s Table ผมและเพื่อนกลุ่ม IMET MAX ก็ได้ฟังการพูดคุยแบบ panel discussion ที่มีตัวแทนจากอดีตผู้ต้องขัง เชฟอิน และ “คุณจุ้น” ผู้ดูแลโครงการโรงเรียนตั้งต้นดี โดยมีคุณอุ๋ย บุดดาเบลส มาช่วยดำเนินการสนทนา

มีสองประเด็นที่คุณจุ้นพูดแล้วสะกิดใจผมมาก

หนึ่ง เราอาจจะมีภาพจำว่าอดีตนักโทษคือบุคคลอันตราย แต่เอาเข้าจริง คนที่เคยก้าวพลาดมาแล้วมีความระมัดระวังกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ เพราะเขารู้ซึ้งถึงความทุกข์และความยากลำบากของการถูกจองจำ ซึ่งไม่ได้เกิดกับเขาเพียงคนเดียว แต่กับอีกหลายคนในครอบครัว

สอง วันที่พวกเขาได้รับอิสรภาพและเดินออกจากเรือนจำ คนแรกๆ ที่มายืนรออยู่หน้าเรือนจำเพื่อต้อนรับพวกเขาคือดีลเลอร์ค้ายา จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่ 1 ใน 3 ของอดีตผู้ต้องขังจะได้กลับไปอยู่ในคุกตารางอีกครั้ง เพราะคนเหล่านี้ไม่ค่อยได้รับโอกาสให้กลับไปมีที่ยืนในสังคม

เคยมีสักคนเคยพูดเอาไว้ว่า อาชญากรก็ไม่ต่างจากคนธรรมดาอย่างพวกเราหรอก เพียงแต่เขาโดนจับได้เท่านั้นเอง

—–

เซสชั่นสุดท้ายของวัน คือการแบ่งกลุ่มเพื่อร่วมพูดคุยกับอดีตผู้ต้องขัง

คนที่ผมได้คุยด้วยมีชื่อว่า “นก” อายุ 33 ปี เป็นผู้หญิงผมสั้นผิวขาว แววตาดูซื่อๆ

นกไม่ได้เล่าให้ฟังชัดเจนว่าถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาอะไร แต่เดาจากช่วงเวลาที่ต้องอยู่ในคุกนานถึง 12 ปี ผมจึงเดาว่าไม่พ้นคดียาเสพติด

ผมถามนกว่า ไม่ได้เห็นโลกภายนอกนานขนาดนี้ พอกลับออกมาแล้วอะไรเปลี่ยนไปเยอะที่สุด?

“ถนนหนทางและโซเชียลมีเดีย” นกตอบ

นกยังไม่มีแอคเคาท์ TikTok แต่มี Facebook เรียบร้อย

แล้วสิ่งที่กังวลใจที่สุดคือเรื่องอะไร? พวกเราถามต่อ

“เรื่องลูก” นกก้มหน้า น้ำตาไหล จนเราต้องหาทิชชู่มาให้

นกมีลูกสาวสองคน อายุ 15 ปี และ 14 ปี อยู่กับคุณยายที่ต่างจังหวัด การที่นกโดนจองจำอยู่ 12 ปีย่อมหมายความว่านกแทบไม่มีโอกาสได้ทำหน้าที่ของแม่เลย ซึ่งมันทำให้นกรู้สึกเหินห่างกับลูกทั้งทางกายและใจ และนกรู้สึกผิดกับเรื่องนี้มากที่สุด

หลังจากพ้นโทษและได้โอกาสมาเข้าโครงการครัวตั้งต้นดี นกมีความฝันอยากเป็นบาร์เทนเดอร์

ตอนนี้นกขายน้ำอยู่ในฟู้ดคอร์ทของ TIJ ชื่อร้าน “หวานเอยหวานใจ” เมนูที่ขายดีคือโอเลี้ยงและชานม

(ผมมารู้ภายหลังว่า ร้านนี้ขาย “ขนมเปียกปูน” ที่เป็นขนมเบรกยามเช้าของพวกเราในวันนั้นด้วย มีเพื่อนบางคนถึงกับเอ่ยปากว่า ขนมเปียกปูนเจ้านี้อร่อยที่สุดตั้งแต่เคยกินมา)

“พี่บา” เจ้าของร้านอาหารชื่อดังที่อยู่กลุ่มเดียวกับผม ได้ให้ข้อแนะนำกับนกไว้หลายอย่าง เช่น ลองคิดสูตรน้ำใหม่ๆ มาขาย ลองเพิ่มมูลค่าต่อแก้วด้วยการเติมโซดาหรือน้ำผึ้ง ลองเขียนคำโปรยว่า “พิเศษสำหรับอาทิตย์นี้เท่านั้น”

ผมเห็นแววตาของนกเป็นประกาย หลายไอเดียนกอาจไม่เคยคิดถึงมาก่อน

แล้วประโยคหนึ่งก็แล่นเข้ามาในหัวของผม

“น้อยนิดสำหรับเรา มากมายสำหรับเขา”

คำแนะนำที่พี่บามอบให้นกนั้น เป็นเรื่องเบสิคที่พี่บาย่อมรู้ดีจากประสบการณ์อันยาวนานในวงการนี้ แต่สำหรับนก มันอาจเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้นกกล้าลุกขึ้นมาทำอะไรที่จะช่วยให้ความฝันการเป็นบาร์เทนเดอร์ของนกเข้าใกล้ความจริงมากขึ้น

พนักงานทุกคนในครัวตั้งต้นดีจะได้รับเงินเดือนส่วนหนึ่งจาก TIJ และได้รับส่วนแบ่งจากกำไรของครัวตั้งต้นดี ดังนั้นหากนกทำให้ร้านตัวเองขายดีขึ้น ก็ย่อมได้รับส่วนแบ่งมากขึ้น มีเงินเก็บมากขึ้น และมีความพร้อมที่จะ “ตั้งต้นใหม่” มากขึ้นนั่นเอง

—–

“ทำไมต้อง ‘การ’ ยุติธรรม ไม่ใช่ ‘ความ’ ยุติธรรม ด้วยครับ?”

ระหว่างที่ทุกคนกำลังแยกย้าย ผมยิงคำถามคาใจกับ “พี่ปุ้ย” หนึ่งในผู้บริหารของ TIJ

“เพราะเราอยากให้ความยุติธรรมเป็นเรื่องของคนทุกคน ไม่ใช่แค่รัฐบาลหรือแค่บางหน่วยงาน” พี่ปุ้ยตอบ

พี่ปุ้ยเล่าว่า มีผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวปีละ 200,000 คน ห้าปีก็หนึ่งล้านคน แต่เราไม่มีกระบวนการที่ดีพอในการเตรียมความพร้อมให้คนเหล่านี้กลับเข้าไปอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพ กรมราชทัณฑ์เองก็ดูแลไม่ไหว

และพี่ปุ้ยก็ให้คำตอบของอีกหนึ่งคำถามราวกับอ่านใจผมออก

“เราไม่ได้คิดว่า TIJ จะจัดการปัญหานี้ได้ด้วยตัวคนเดียว ตอนนี้เรารับคนได้เพียงหลักสิบ อนาคตอาจจะได้มากกว่านี้ แต่ก็ยังไม่เพียงพอที่จะรองรับจำนวนผู้ต้องขังที่ได้รับการปล่อยตัวในแต่ละปีได้ ดังนั้นจุดประสงค์ของเราก็คือทำโมเดลตัวอย่าง และหวังว่าจะมีหน่วยงานอื่นๆ หรืออาสามัครอื่นๆ นำกรณีศึกษานี้ไปทำไปให้เกิดผลในพื้นที่ของตัวเอง”

“พี่เมฆ” อีกหนึ่งผู้บริหารของ TIJ ที่อยู่กับเราตั้งแต่เช้าก็อธิบายว่า ครัวตั้งต้นดีเป็นเพียงหนึ่งในโครงการของ TIJ ในอนาคตอาจจะมีการฝึกวิชาชีพอื่นๆ เช่นการแต่งหน้าทำผมและนวดเพื่อสุขภาพ ตอนนี้รายได้หลักของ TIJ มาจากงบของรัฐบาล แต่งบก้อนนี้จะน้อยลงทุกปี ดังนั้น TIJ ต้องมุ่งหน้าสู่การเป็น social enterprise เพื่อยืนหยัดด้วยตัวเองให้ได้

—–

“แล้วเราจะช่วยอะไรได้บ้าง?” นี่คือคำถามสำคัญสำหรับผม

ผมได้กลับมาคุยกับทีมงานเพื่อขอให้ครัวตั้งต้นดีได้เข้าไปขายใน LINE MAN ด้วย GP อัตราพิเศษ เพื่อเพิ่มช่องทางให้ครัวตั้งต้นดีสามารถมีรายได้มากขึ้น และเพิ่มโอกาสให้อดีตผู้ต้องขังได้ตั้งต้นใหม่

ผู้อ่านที่อ่านมาถึงตรงนี้ สามารถอุดหนุนครัวตั้งต้นดีที่ TIJ ข้างกระทรวงยุติธรรม ครัวเปิดวันจันทร์ถึงศุกร์ 7 โมงเช้าถึงบ่ายโมง ที่จอดรถฟรีและเหลือเฟือ ส่วนการเดินทางไปย่านนั้นง่ายกว่าแต่ก่อน ขับรถจากรามอินทรามีสะพานข้ามทุกแยก แทบไม่เจอไฟแดง แถมตอนนี้ก็มีรถไฟฟ้าสายชมพูผ่านแล้วด้วย

หรือถ้าไม่สะดวกไปถึง TIJ ก็สามารถสั่งทาง LINE MAN https://lin.ee/Gim5tsh (Foodpanda กำลังตามมาเร็วๆ นี้) ขอบอกว่าขนมเปียกปูนคือทีเด็ด ส่วนเมนูอื่นๆ ทางร้านกำลังทยอยลงครับ

ให้โอกาสคนเคยพลาดพลั้ง เพราะตอนที่เราพลาดพลั้งเราก็อยากได้รับโอกาสนั้นเช่นกัน

เราสามารถทำสิ่งที่เล็กน้อยสำหรับเรา แต่มีคุณค่ามากมายสำหรับคนอื่นได้เสมอครับ