ทักษะแสตมป์

20160229_Stamp

Be like a postage stamp. Stick to one thing until you get there.

จงทำตัวให้เหมือนแสตมป์ อยู่กับสิ่งสิ่งนั้นจนกว่าจะถึงจุดหมายปลายทาง

– Josh Billings

ในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาผมมีอาการประหลาดที่ไม่เคยเป็นสมัยหนุ่มๆ

อาการนั้นคืออาการ “อ่านอะไรก็ไม่จบ”

ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่ซื้อมา หนังสือออนไลน์ที่โหลดมา หรือบทความที่เซฟเก็บเอาไว้

หนังสือบางเล่มอ่านไปได้แค่ครึ่งเดียวก็หยุดอยู่แค่นั้น

หนังสือออนไลน์หนักกว่า เพราะอ่านได้แค่ไม่กี่หน้าก็ดันไปเจอหนังสืออื่นที่น่าอ่านกว่าอีกแล้ว

และแน่นอน บทความบางบทความที่เซฟไว้ไม่เคยได้ถูกเปิดอ่านเลยด้วยซ้ำ

ในยุคที่ทางเลือกมีมากมาย ของฟรีมีไม่จำกัด เราก็กำลังถูกช่วงชิงอะไรบางอย่างที่สำคัญไม่แพ้กัน

คือความอดทน ความเสมอต้นเสมอปลาย และความจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าเรา

ผมเชื่อว่าผมไม่ใช่คนเดียวที่จิตใจชอบ “กระโดดไปกระโดดมา” ในยุคที่ข้อมูลทั้งหลายถาโถมเข้าหาเรายิ่งกว่าน้ำป่าไหลหลาก

เราคว้ามันเอาไว้อย่างตะกละตะกลาม เพราะกลัวว่าจะพลาดสิ่งดีๆ ไป

อ่านหนังสือดีๆ สิบเล่ม เล่มละสิบหน้า อาจได้ประโยชน์ไม่เท่าอ่านหนังสือดีสุดยอดให้จบซักเล่ม

ตอนนี้เลยตั้งใจว่าจะฝึกทักษะการเป็นแสตมป์

Be like a postage stamp. Stick to one thing until you get there.

เพราะผมเชื่อว่า ยิ่งนานวัน คนที่มีทักษะนี้น่าจะหายากขึ้นเรื่อยๆ ครับ

—–

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ที่ปุ่มไลค์จะมี drop down menu ให้เลือกได้ว่าอยากจะให้มี notifications หรืออยากเห็นโพสต์จากเพจนี้อยู่ต้นๆ ฟีดรึเปล่าครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

—–

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

สัปดาห์ละครั้ง

20160229_OnceAWeek

ที่เราควรจะมีเวลาได้นั่งเงียบๆ คนเดียว เพื่อทำ Weekly Review

อาจจะเป็นศุกร์เย็น อาทิตย์บ่าย หรือจันทร์เช้าก็ได้

เพื่อจะได้ทบทวนว่าชีวิตตัวเองเป็นอย่างไรบ้างแล้ว

มิทเชลล์ ฮาร์เปอร์ (Mitchell Harper) หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Bigcommerce แพลตฟอร์มสำหรับขายสินค้าออนไลน์เจ้าใหญ่บอกว่า เขาจะกันเวลาไว้สัปดาห์ละสองสามชั่วโมงเพื่อสำรวจตัวเอง โดยเขาเรียกเวลาส่วนนี้ว่า Thinking Time

คำถามที่เขามีก็เช่น

  • ความสัมพันธ์กับคนสำคัญของเราเป็นอย่างไรบ้าง?
  • มีเป้าหมายในบ้างที่เรายังไปไม่ถึงไหน และทำไมถึงเป็นเช่นนั้น?
  • มีงานหรือเหตุการณ์อะไรที่จะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้และเราต้องเตรียมตัวบ้าง?
  • เราควรจะทำอะไรแตกต่างออกไปบ้าง?
  • มีทักษะใหม่ๆ อะไรที่เราควรจะเรียนรู้บ้างมั้ย? ทำไม?
  • ตอนนี้มีความสุขดีอยู่มั้ย? ถ้าไม่มี ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?
  • สัปดาห์นี้จะทำอะไรให้เสร็จมากกว่าเดิมได้มั้ย?
  • ควรจะหาเวลาพักบ้างรึเปล่า?
  • ตอนนี้เราขยันเพียงพอรึยัง?

ผมเห็นคนประสบความสำเร็จหลายคนมักจะพูดถึงการสำรวจตัวเองทุกสัปดาห์เลยนะครับ ไม่ว่าจะเป็น Stephen Covey ผู้เขียน 7 Habits of Highly Effective People หรือ David Allen ผู้เขียน Getting Things Done

ที่ผ่านมา ผมก็มีการทำ weekly review บ้างแบบกะปริบกะปรอย แต่จากนี้ไปคิดว่าอยากจะทำให้บ่อยขึ้นครับ

—–

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ที่ปุ่มไลค์จะมี drop down menu ให้เลือกได้ว่าอยากจะให้มี notifications หรืออยากเห็นโพสต์จากเพจนี้อยู่ต้นๆ ฟีดรึเปล่าครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

—–

ขอบคุณข้อมูลจาก #DoItAll by Mitchell Harper

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

เสี่ยว

20160228_CEO

“ถาม: ถ้าอย่างนั้น คิดว่าคำว่า CEO คืออะไร

ตอบ: CEO สำหรับผมเหรอ ถ้าอ่านตรงตัวหรือแปลตามแบบของผม ก็แปลว่า “เสี่ยว” (หัวเราะ) แล้วเสี่ยวแปลว่าอะไร ภาษาอีสานก็แปลว่าเพื่อนรัก ดังนั้น CEO สำหรับผมก็คือ คนที่จะต้องทำตัวให้เป็นที่รักของทุกคน โดยเฉพาะในองค์กรของเรา แล้วพอคนรักกันแล้ว มันก็มีใจทำงานให้กัน ดังนั้น ไม่จำเป็นว่าเป็น CEO แล้วจะต้องกระดิกนิ้ว ชี้นิ้วสั่ง สำหรับผม นิ้วชี้น่ะห้ามใช้ แต่ให้ใช้นิ้วก้อย ที่แปลว่า เราดีๆ กันไว้ แล้วเราก็ห้ามใช้นิ้วโป้ง ห้ามโกรธกัน”

– ธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์*
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย
a day BULLETIN 100 Interview The Master
สัมภาษณ์ : พฤษภาคม 2552 โดยวิไลรัตน์ เอมเอี่ยม

ช่วงนี้นกแอร์กำลังประสบปัญหาอันเนื่องมาจากกัปตันทยอยกันลาออก เราจึงได้เห็นคุณพาที สารสิน CEO ของนกแอร์ออกสื่อบ่อยๆ

จะว่าไปเราเห็นหน้าค่าตาคุณพาทีมานานแล้ว รู้กันหมดว่าเขาเป็น CEO ของนกแอร์

แต่ขอสารภาพตามตรงว่าผมไม่เคยรู้จัก CEO ของแอร์เอเชียเลย เห็นหน้าเขาใน a day BULLETIN 100 Interview The Master ผมก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร

บทสัมภาษณ์ตอนนี้ถือว่าเป็นบทสัมภาษณ์ที่เปิดโลกทัศน์ของผมมากที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะผมได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างที่ผมไม่เคยได้รู้มาก่อน

เช่น

หลังจากกลุ่มชินฯ ขายหุ้นแอร์เอเชียให้กับเทมาเส็ก พนักงานแอร์เอเชียในเมืองไทย 1,200 คน ก็ใจตุ้มๆ ต่อมๆ ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร

เพื่อให้แน่ใจว่าพนักงานแอร์เอเชีย 1,200 คน (ณ ปี 2549) จะไม่ตกงานแน่ๆ คุณธรรศพลฐ์กับผู้บริหารอีก 5 คนก็ไปกู้แบงค์เพื่อขอซื้อหุ้นแอร์เอเชียคืน โดยผู้บริหารคนไทยถือหุ้น 51% และมาเลเซียถือหุ้น 49%

จากคนที่ไม่เคยเป็นหนี้มาก่อนในชีวิต คุณธรรศพลฐ์และผู้บริหารเป็นหนี้แบงค์รวมกันพันกว่าล้าน

“ตอนนั้นเราจะทิังบริษัทก็ได้ ไม่เอาไม่สนก็ได้ แต่ลูกน้องบางคนท้องอยู่ บางคนลูกยังเล็กอยู่ เราก็ทำใจไม่ได้ที่จะทิ้งกันไป ผมบอกเลยว่าทิ้งบริษัทน่ะง่าย แต่ต้องกรอกเงินกู้มันยากกว่าเยอะ”

“ถามว่าถ้าผมเป็นผู้บริหารที่ทำสายการบินเจ๊ง มีคนตกงาน 1,200 กว่าคน ผมจะไปทำงานที่ไหนได้อย่างสบายใจเหรอ ผมคงไม่มีความสุขไปทั้งชีวิตแน่นอน การที่เราเป็นหนี้พันล้านก็ไม่มีความสุขหรอก แต่หนี้เรายังใช้หมดได้ แล้วเราก็จะกลับมามีความสุขเหมือนเดิม แต่ถ้าหากเราติดหนี้ชีวิตคนพันกว่าคน มันใช้ไม่หมด จนตายเราก็จะไม่มีความสุข”

ในปีที่สัมภาษณ์ (พ.ค. 2552) คุณธรรศพลฐ์บอกว่าในอีกสองปี แอร์เอเชียจะมีเครื่องบิน 25 ลำ และจะมีผู้โดยสารปีละ 8 ล้านคน

ฟังตอนแรกผมก็ไม่ค่อยเชื่อว่าเครื่องบินแค่ 25 ลำจะขนผู้โดยสารถึง 8 ล้านคนได้อย่างไร

แต่พอเอา 8 ล้าน หาร 365 = วันละ 22,000 คน ก็แสดงว่าเครื่องบินลำหนึ่งต้องขนผู้โดยสารวันละ 22,000 / 25 = 880 คน ซึ่งก็เป็นเป็นไปได้หากบินวันละหลายเที่ยวหน่อย

พนักงานสามารถส่งเมล์ถึงผู้บริหารได้โดยตรง

“ถาม: พนักงานที่นี่ส่งเมล์ถึงผู้บริหารได้โดยตรงเลยหรือ

ตอบ: ได้เลย โทร.มายังได้ เพราะเบอร์มือถือผมพนักงานทุกคนมีหมด ผมว่าทุกคนในแอร์เอเชียน่าจะมีเบอร์ผมหมดนะ เพราะผมให้เบอร์เอง เผื่ออะไรก็ให้เขาโทร.มาได้เลย ทำไมถึงทำแบบนั้นเหรอ แล้วทำไมจะทำไม่ได้ล่ะ ก็เราเป็นเสี่ยวกัน เป็นเพื่อนกันไม่ใช่เหรอ”

—–

ผมอยากเห็นผู้บริหารหลายๆ คนคิดอย่างนี้บ้างจัง

ว่าเขาและพนักงานทุกคนไม่ใช่เจ้านายกับลูกน้อง แต่คือเสี่ยวกัน เพียงแต่หน้าที่คนละอย่าง

หลายคนยังตั้งแง่กับแอร์เอเชียว่าเป็นสายการบินที่ยังมีสายสัมพันธ์กับนักการเมืองอยู่ (ส่วนตัวผมไม่เชื่ออย่างนั้นนะ)

แต่ถึงแม้เราจะมององค์กรหนึ่งในแง่ลบอย่างไร ก็ยังมี “ส่วนดีๆ” ที่เราเรียนรู้จากเขาได้เสมอ

แอร์เอเชียมีพนักงานแค่สองพันคน แต่สามารถช่วยให้คนนับสิบล้านคนได้บินทุกปี (ถ้าไม่นับพี่ตูน บอดี้สแลม แอร์เอเชียก็น่าจะเป็นเจ้าแรกที่ทำให้เราเชื่อว่าคนไทยทุกคนบินได้)

ยังมีความคิดดีๆ อีกมากในบทสัมภาษณ์ของคุณธรรศพลฐ์ ใครสนใจอ่านสัมภาษณ์ฉบับเต็มหาอ่านได้ที่ a day BULLETIN 100 Interview the Master หรือจะอ่านออนไลน์ใน a day BULLETIN ฉบับที่ 44 ก็ได้เช่นกันครับ
—–
* สมัยตอนสัมภาษณ์ชื่อของคุณธรรศพลฐ์สะกดว่า “ทัศพล แบเลเว็ลด์” แต่พอเข้าไปดูในเว็บของแอร์เอเชียสะกดว่า ธรรศพลฐ์แล้ว

—–

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ที่ปุ่มไลค์จะมี drop down menu ให้เลือกได้ว่าอยากจะให้มี notifications หรืออยากเห็นโพสต์จากเพจนี้อยู่ต้นๆ ฟีดรึเปล่าครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

—–

ขอบคุณภาพจาก Asia Aviation PLC: คณะผู้บริหารบริษัท

ขอบคุณข้อมูลจาก a day BULLETIN 100 Interview The Master