ปัญญา 3 ระดับ

20170510_threestages

วันนี้วันพระ เรามาคุยเรื่องธรรมะกันบ้างนะครับ

หนึ่งในประสบการณ์ล้ำค่าที่สุดในชีวิตของผมคือการได้มีโอกาสไปอบรมหลักสูตรวิปัสสนา 10 วันของอาจารย์โกเอ็นก้าเมื่อปี 2552 และ 2554

เป็นการอบรมที่หฤโหดเอาการ เพราะต้องฝึกวันละร่วม 10 ชั่วโมง ช่วงสองสามวันแรกนี่ผมคิดอยู่ตลอดเลยว่าจะไหวไหมๆ

ยังดีที่มีสิ่งหล่อเลี้ยงจิตใจคือ “ธรรมบรรยาย” ทุกค่ำก่อนเข้านอน ที่อาจารย์โกเอ็นก้าจะมาเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟังเพื่อให้เราเข้าใจถึงสิ่งที่เพิ่งเรียนรู้ไปในวันที่ผ่านมา

วันนี้จึงอยากยกธรรมบรรยายที่ว่าด้วยเรื่องปัญญา 3 ระดับมาเล่าไว้ตรงนี้ครับ


ปัญญามีสามระดับขั้นด้วยกัน ขั้นแรกเรียกว่า สุตมยปัญญา หมายถึงความรู้ที่ท่านได้รับจากการฟังบรรยายธรรมต่างๆ หรือจากการอ่านหนังสือ ซึ่งไม่ใช่ปัญญาของท่าน แต่เป็นปัญญาของผู้อื่น

ตั้งแต่เล็กจนโต คนในแต่ละครอบครัว ในแต่ละสังคม หรือในแต่ละลัทธินิกาย จะได้รับฟังสิ่งที่ถือว่าเป็นความจริงสำหรับแต่ละครอบครัว แต่ละสังคม หรือแต่ละลัทธินิกาย บุคคลได้รับการอบรมและหล่อหลอมให้ฝังใจเชื่อในความจริงนั้นๆ และได้ยึดถือสืบทอดต่อๆ กันมาด้วยความศรัทธา แต่ความเชื่อถือศรัทธาในลักษณะนี้ ส่วนใหญ่มักจะกลายเป็นศรัทธาแบบมืดบอดไม่ลืมหูลืมตา

แม้กระนั้นปัญญาในระดับแรกที่เรียกว่าสุตมยปัญญานี้ ก็เป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ เพราะจะทำให้เกิดแรงบันดาลใจแก่เรา และให้แนวทางในการที่จะก้าวไปสู่ขั้นที่สองของปัญญาที่เรียกว่า จินตามยปัญา คือปัญญาที่เกิดจากการใช้ความคิดพิจารณาให้เกิดความเข้าใจในระดับเหตุผล ไม่ว่าท่านจะได้ยินได้ฟังอะไรมา ท่านก็จะแยกแยะว่า เป็นเรื่องที่ปฏิบัติได้ไหม สมเหตุสมผลไหม หากมีเหตุผล ท่านก็จะยอมรับ

แต่ส่วนใหญ่แล้วเรามักไม่ค่อยได้ทำการแยกแยะและวิเคราะห์ให้เกิดปัญญาขั้นที่สองนี้ ยิ่งขั้นที่สามด้วยแล้ว ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย ยังห่างไกลมาก แม้แต่ปัญญาในขั้นที่สอง คนโดยทั่วไปก็ไม่ค่อยได้ใช้ เพราะแต่ละคนมักจะมีแต่ความศรัทธาแบบไม่ลืมหูลืมตา

…แม้โดยธรรมชาตินั้นมนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล มนุษย์จะพยายามที่่จะอธิบายเรื่องต่างๆ หรือสิ่งต่างๆ ด้วยเหตุผล แต่เมื่อมีผู้ที่ด้อยอาวุโสกว่าพยายามใช้เหตุผล ผู้นำกลุ่ม หรือผู้เป็นใหญ่ในกลุ่ม หรือผู้อาวุโสในกลุ่ม ก็จะเกิดความรู้สึกว่าถูกท้าทายทางความคิด และจะเริ่มข่มขู่ผู้ที่ด้อยอาวุโสกว่า “อ้อ นี่เจ้าไม่เชื่อ เจ้าไม่เชื่อในความจริงในพระคัมภีร์ของเรา เจ้าไม่เชื่อคำสอนของพระศาสดาในศาสนาของเรา พระศาสดาซึ่งเป็นผู้ที่ปราดเปรื่องอย่างนี้ เป็นนักบุญอย่างนี้ และเป็นผู้ตรัสรู้แล้วอย่างนี้ เจ้ายังไม่เชื่อคำสอนของท่าน เจ้ารู้ไหมว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเจ้าตายไป เจ้าจะต้องตกนรก!” แล้วเขาก็จะสาธยายเรื่องราวและแจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับนรกอันน่าสะพรึงกลัวให้ฟัง คนที่ได้ฟังก็จะตกใจกลัว “โอย! คุณพ่อ ผมกลัวแล้ว ผมไม่อยากตกนรก ผมจะยอมรับสิ่งที่พระคัมภีร์ว่าไว้ทุกประการ ผมจะยอมรับทุกอย่างที่ประเพณีกล่าวไว้” แต่นี่ก็เป็นเพียงการยอมรับ ไม่ได้เกิดจากประสบการณ์โดยตรงของท่านเอง ท่านอาจจะยอมรับว่าสิ่งนั้นๆ เป็นสัจธรรม เป็นความจริง เพราะท่านมีความกลัว เพราะฉะนั้นจึงไม่อาจก้าวไปถึงขั้นที่สองของปัญญาได้ เพราะความเกรงกลัวหรือความศรัทธาที่มืดบอด…ซึ่งจะกลายเป็นสิ่งที่ผูกมัดท่านไว้ ทำให้ไม่สามารถก้าวต่อไปถึงปัญญาขั้นที่สองคือจินตามยปัญญาได้

แต่ก็มีบางที่ที่กล้าก้าวต่อไปสู่จินตามยปัญญา เขาใช้ความคิดแยกแยะวิเคราะห์สิ่งต่างๆ ด้วยเหตุและผล ซึ่งก็เป็นก้าวที่สำคัญมากอีกก้าวหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม แม้ปัญญาในขั้นแรกคือสุตมยปัญญา และปัญญาในขั้นที่สองคือจินตามยปัญญา จะให้แรงบันดาลใจและให้แนวทางที่นำพาท่านไปสู่ปัญญาขั้นที่สามคือ ภาวนามยปัญญา แต่บุคคลก็มักจะติดอยู่เพียงแค่ขั้นที่สองนี้เท่านั้น…เพราะการที่ท่านได้ใช้ความคิดใคร่ครวญในเรื่องราวต่างๆ ที่ได้ยินได้ฟังมา ท่านก็จะเกิดอัตตาขึ้นมาอย่างรุนแรง เข้าใจเอาเองว่าบัดนี้ท่านเป็นผู้ที่รอบรู้ความจริงทุกอย่างแล้ว สามารถที่จะสอนหรือบรรยายธรรมได้แล้ว สามารถอภิปรายหรือโต้แย้งใดๆ ก็ได้ และสามารถที่จะเขียนหนังสือ และพิสูจน์ให้เป็นที่ยอมรับว่า ความเชื่อของท่าน หลักเกณฑ์ของท่าน ประเพณีของท่านเป็นสิ่งที่ถูกต้องอย่างแท้จริง ส่วนของคนอื่นๆ นั้นผิดทั้งหมด ความคิดเช่นนี้หาใช่ปัญญาของท่านเองไม่ แต่เป็นปัญญาของผู้อื่นที่ท่านเพียงแต่นำมาคิดพิจารณาหาเหตุผลเท่านั้น ปัญญาของท่านเองจะมีขึ้นก็ต่อเมื่อท่านได้ประสบกับสิ่งนั้นด้วยตัวของท่านเอง

ประสบการณ์จะสร้างปัญญาขึ้นที่สามที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญา คำแปลตรงๆ ของคำว่าภาวนา คือความมีความเป็น ภาวนามยปัญญาคือการทำให้ปัญญามีขึ้นเป็นขึ้น เป็นปัญญาที่เกิดจากการได้ประสบด้วยตัวเอง ด้วยประสบการณ์นี้ท่านก็จะรู้ว่าปัญญาคืออะไร มิฉะนั้นมันก็เป็นเพียงแค่ความรู้เท่านั้น ความรู้นั้นต่างกับปัญญามาก ปัญญาขั้นที่สามคือภาวนามยปัญญานี้แหละที่จะปลดปล่อยท่านให้หลุดพ้นจากพันธนาการของกิเลส จิตจะบริสุทธิ์ขึ้น บริสุทธิ์ขึ้นเรื่อยๆ แล้วในที่สุดท่านก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์

…การมีศรัทธาอย่างมืดบอดโดยอ้างธรรมะ และการเล่นเกมลับสมองด้วยเหตุผลหรือตรรกะต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งที่จะพันธนาการท่านไว้ไม่ให้ท่านหลุดพ้นจากความทุกข์ได้…ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงของเจ้าชายสิทธัตถะโคตมะช่วยให้พระองค์หลุดพ้นได้แต่เพียงพระองค์เดียว ไม่สามารถทำให้ผู้อื่นหลุดพ้นได้…การมีเพียงศรัทธาแบบไม่ลืมหูลืมตาในคำสอนของพระองค์ หรือมีเพียงความเข้าใจในคำสอนของพระองค์ด้วยเหตุผล จะไม่ทำให้เราหลุดพ้นได้ เราจะต้องมีประสบการณ์กับความจริงภายในตัวของเราเอง

…ตัวอย่างเช่น ชายคนหนึ่งหิวอาหารมาก ได้เข้าไปภัตตาคารซึ่งมีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่ง เมื่อเขานั่งลงที่โต๊ะ ผู้บริการก็นำรายการอาหารมาให้ หลังจากดูรายการอาหารนั้นแล้ว เขาก็เกิดความรู้สึกว่าอาหารที่นี่จะต้องอร่อยมาก คิดแล้วน้ำลายไหล นี่เป็นกรณีที่หนึ่ง

กรณีที่สอง ชายคนนั้นได้สั่งอาหารแล้วก็นั่งรอ ระหว่างรอเขาเห็นโต๊ะข้างๆ ได้รับอาหาร และพากันรับประทานอย่างเพลิดเพลินและเอร็ดอร่อย แสดงว่าอาหารที่นี่จะต้องอร่อยมาก คิดแล้วเขาก็น้ำลายไหลอีก

กรณีที่สาม ผู้บริการได้นำอาหารมาให้ จากนั้นเขาก็ลงมือรับประท่าน แล้วเขาก็ได้รับความเอร็ดอร่อยและเพลิดเพลินจากอาหารมื้อนั้นด้วยตัวเขาเอง

กรณีแรกเป็นสุตมยปัญญา เขาได้แต่อ่านรายการอาหาร ยังไม่ได้ลิ้มรสของจริง จึงยังไม่รู้รสอาหารนั้นด้วยตนเอง กรณีที่สองเป็นจินตามยปัญญา เขาพิจารณาด้วยเหตุผล โดยสังเกตจากการรับประทานอาหารของผู้อื่น จากสีหน้าและอากัปกิริยาของผู้ที่รับประทานอาหารอยู่ ที่แสดงความเพลิดเพลินและแสดงความพอใจในรสอาหารนั้น ซึ่งเป็นเครื่องแสดงว่าอาหารนั้นต้องอร่อย นี้เป็นแค่จินตามยปัญญาเท่านั้น ส่วนกรณีที่สามคือภาวนามยปัญญา เขาได้ลิ้มรสอาหารด้วยตัวของเขาเอง เขารู้รสอาหารว่าเอร็ดอร่อยมากน้อยอย่างไร กรณีที่สามนี้เท่านั้นที่จะให้ผลโดยตรง

ตัวอย่างในบ้างครั้งจะช่วยให้เราเข้าใจได้ชัดเจนขึ้น ฉะนั้นลองฟังอีกสักหนึ่งตัวอย่าง

ข้าพเจ้าป่วยมาก จึงไปหาหมอ หมอตรวจอาการ แล้วเขียนใบสั่งยาให้ ข้าพเจ้ารับใบสั่งยาไว้ แล้วกลับบ้านอย่างมีความสุข ข้าพเจ้ามีความเชื่อถือและศรัทธาต่อหมอคนนี้มาก และความเชื่อถือศรัทธาในตัวหมอก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร โดยปกติเราทุกคนควรจะเชื่อถือและศรัทธาในตัวหมอ แต่ถ้าความศรัทธาต่อหมอของข้าพเจ้ากลายไปเป็นความศรัทธาแบบมืดบอด แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ข้าพเจ้าจะเอารูปถ่ายหรือรูปปั้นของหมอคนนี้ไปวางไว้บนแท่นบูชา พร้อมกับจัดวางดอกไม้ ธูปเทียนและอาหารคาวหวานเพื่อเซ่นไหว้ จากนั้นข้าพเจ้าจะจุดธูปเทียนพร้อมกับเอาใบสั่งยามาวางไว้ตรงหน้า แล้วก้มกราบสามครั้ง พร้อมกับท่องว่า “รับประทานสองเม็ดตอนเช้า สองเม็ดตอนบ่าย สองเม็ดตอนเย็น” ข้าพเจ้าจะเฝ้าแต่ท่องบ่นเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดูๆ ไปแล้วก็เป็นความบ้าลักษะหนึ่งนั่นเอง เหมือนเป็นการเล่นเกม แต่สำหรับผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาอย่างไม่ลืมหูลืมตาแล้ว ก็มักจะมีพฤติกรรมลักษณะนี้ทั้งนั้น

กรณีที่สอง เมื่อข้าพเจ้าไปหาหมอคนนี้ ข้าพเจ้าถามว่า “หมอครับ หมอเขียนอะไรลงบนกระดาษแผ่นนี้ และมันจะช่วยผมได้อย่างไร” คำถามแบบนี้เท่ากับว่าข้าพเจ้าได้เริ่มใช้เหตุผลแล้ว และนายแพทย์ผู้นั้นก็เป็นคนมีเหตุผล เขาพยายามอธิบายให้ฟังว่า “คุณเป็นโรคนี้ ซึ่งเกิดจากเชื้อโรคตัวนี้ ผมเขียนใบสั่งยาให้คุณไปซื้อยา ถ้าคุณกินยานี้ มันก็จะไปทำลายเชื้อโรคนี้ และเมื่อใดที่เชื้อโรคนี้ถูกทำลาย คุณก็จะหายจากโรค” ข้าพเจ้าฟังแลวรู้สึกว่าหมอของข้าพเจ้าช่างเก่งเหลือเกิน เมื่อข้าพเจ้ากลับไปถึงบ้าน แทนที่จะเริ่มกินยา ข้าพเจ้ากลับไปเที่ยวคุยอวดกับเพื่อนบ้านว่าหมอของข้าพเจ้าเป็นหมอที่ดีที่สุด หมอคนอื่นล้วนไม่ได้เรื่อง ใบสั่งยาที่หมอของข้าพเจ้าให้มาเป็นของจริง ใบสั่งยาอื่นๆ ไม่ใช่ แล้วเราก็จะเฝ้าแต่ถกเถียงกันโดยไม่มีใครกินยา และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมของหมู่ชนทั้งหลาย

ท่านผู้บรรุธรรมทุกท่านรู้ว่า ความทุกข์ยากนั้นมีอยู่ทั่วไปทุกหนแห่ง ผู้คนเป็นจำนวนมากเจ็บป่วยเพราะกิเลสในใจ ด้วยความรักและความเมตตา ท่านจึงได้ให้ใบสั่งยาเขาทั้งหลาย จงรับประทานธรรมโอสถนี้เสีย แล้วท่านจะพ้นจากความทุกข์

ครั้นเวลาล่วงเลยไป ผู้คนต่างค่อยๆ พากันลืมธรรมโอสถขนานนี้ไปเสียสิ้น พวกเขาไม่ได้กินยาขนานนี้เลย แต่พวกเขากลับไปพัฒนาความยึดติด เขากลับไปยึดมั่นในองค์ศาสดาของศาสนาที่ตนนับถืออย่างงมงาย โดยเชื่อว่าศาสดาของศาสนาของเขาเป็นผู้ที่ตรัสรู้อย่างแท้จริง ศาสดาองค์อื่นไม่ใช่ ศาสดาของเขาเป็นผู้ที่เฉลียวฉลาดอย่างแท้จริง องค์อื่นไม่ใช่ ศาสดาของเขาเป็นนักบุญที่แท้จริง องค์อื่นๆ ไม่ใช่ มีแต่ตั้งหน้าถกเถียงกันระหว่างนิกายนี้กับนิกายนั้น ระหว่างนิกายนั้นกับนิกายโน้น

ความงมงายเช่นนี้ ความบ้าคลั่งเช่นนี้ เกิดขึ้นเพราะเรารับธรรมะด้วยศรัทธาอย่างมืดบอด หรือด้วยการคิดเอาตามเหตุผลของตนเท่านั้น แต่เมื่อใดที่เรารับประทานธรรมโอสถแล้ว ธรรมดาโอสถก็จะช่วยเราให้สามารถพัฒนาไปสู่ปัญญาขั้นที่สามคือภาวนามยปัญญาได้ แล้วเราก็จะได้ประจักษ์ถึงสาระและคุณค่าของธรรมะด้วยตัวของเราเอง


วันนี้วันวิสาขบูชา ถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่จะปฏิบัติบูชาเพื่อวันหนึ่งเราจะได้มีภาวนามยปัญญากันนะครับ


ขอบคุณข้อมูลจาก Thaidhamma.net: ธรรมบรรยาย หลักสูตร 10 วัน โดยท่านอาจารย์โกเอนก้า

อ่านบทความใหม่ทุกวันที่เพจ Anontawong’s Musings: facebook.com/anontawongblog
อ่านบทความทั้งหมด anontawong.com/archives
ดาวน์โหลดหนังสือ “เกิดใหม่” anontawong.com/subscribe/

ใช้กรรมด้วยความสนุก

20160923_joeyboy

ผมคิดว่าตัวเองอยู่ตรงนี้เพื่อใช้กรรมให้มันสนุกที่สุด เคยนั่งคิดนะว่ามนุษย์เกิดมาใช้กรรม แถมเป็นสัตว์ขี้เบื่อ มนุษย์ก็เลยเบื่อกรรมที่ตัวเองต้องผจญอยู่ทุกวัน เลยเสาะแสวงหากรรมใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็เรียกมันว่าความสุขเท่านั้นเอง แค่เข้าใจสิ่งต่างๆ แล้วก็ทำไป

– อภิสิทธิ์ โอภาสเอี่ยมลิขิต
a day BULLETIN issue 426: 19-25 September 2016
สัมภาษณ์: วรรณวนัช ท้วมสมบูรณ์, ปริญญา ก้อนรัมย์
ถ่ายภาพ: ภาสกร ธวัชธาตรี
สไตลิสต์: Hotcake


ถ้าใครได้ดู The Voice Thailand สัปดาห์ที่แล้ว อาจจะถึงกับอึ้งที่เห็นพี่ก้องขึ้นไปโซโล่กีตาร์ขั้นเทพเพลง Black in Black

มาสัปดาห์นี้ผมก็ได้อึ้งกับโค้ชอีกคนหนึ่งคือพี่โจอี้บอย ที่มาให้สัมภาษณ์ลง a day BULLETIN

อึ้งเพราะได้เห็นมุมมองเกี่ยวกับธรรมะที่ลึกซึ้งมาก ซึ่งขัดกับภาพลักษณ์ของพี่เขาไม่น้อย

ผมคิดว่าตัวเองอยู่ตรงนี้เพื่อใช้กรรมให้มันสนุกที่สุด

เป็นการตีความธรรมะในรูปแบบที่ผมไม่เคยเจอมาก่อน

แต่จริงๆ แล้วมันก็คือแก่นเดียวกับที่พระท่านสอน ว่าถ้าหากมีความทุกข์ จงใช้ความทุกข์นั้นให้เป็นประโยชน์สำหรับการภาวนา

แต่ภาษาพี่โจอี้น่าจะเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ดีกว่า

คือในเมื่อเราเกิดมาแล้ว และต้องมาเจอกับผลลัพธ์ (วิบาก) ของการกระทำของเราในอดีต (กรรม) แทนที่จะไปตีโพยตีพายว่าโลกนี้มันไม่แฟร์ สู้สนุกกับมันไปเลยไม่ดีกว่าหรือ?

เพราะเวลาของเรามีน้อย และพลังงานของเราก็มีจำกัด จึงไม่ควรสูญเสียมันไปกับการฟูมฟายหรือกระวนกระวายใจ

เพราะสุดท้ายแล้ว ทุกอย่างจะโอเคเสมอครับ


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก a day BULLETIN issue 426: 19-25 September 2016

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (กดไลค์แล้วเลือก See First หรือ Get Notifications ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

โมฆะบูชา

20160222_MokaBucha

วันนี้วันพระ ขอคุยเรื่องธรรมะกันซักหน่อยนะครับ

ธรรมะคืออะไร?

ธรรมะไม่ใช่บทบัญญัติของพระพุทธเจ้า แต่เป็นความจริงที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบแล้วนำมาเผยแพร่ต่อ

ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงค้นพบคืออะไร?

สิ่งทีท่านทรงค้นพบคือทุกข์ เหตุแห่งทุกข์ สภาวะที่ทุกข์ดับ และหนทางแห่งการดับทุกข์ ที่เราเรียกกันว่าอริยสัจ 4 หรือความจริงอันประเสริฐ

ทุกข์คืออะไร?

ทุกข์คือสภาวะที่ทนอยู่ได้ยากเพราะร่างกายและจิตใจของเราถูกบีบคั้น

พูดอีกนัยหนึ่ง ตัวทุกข์ ก็คือกาย คือใจเรานี่เอง

ทุกข์ทางกายเกิดขึ้นตลอดเวลา นั่งอยู่เฉยๆ ก็เมื่อย กินอิ่มๆ ซักพักก็หิวใหม่ ขนาดแค่หายใจยังทุกข์เลย (ไม่เชื่อลองหายใจเข้าอย่างเดียวดู)

ทุกข์ทางใจก็เกิดขึ้นตลอดเวลา เจอสิ่งที่ไม่ชอบก็เป็นทุกข์ พรากจากสิ่งที่รักก็เป็นทุกข์

บ่อเกิดแห่งทุกข์คืออะไร?

คือความไม่รู้ หรืออวิชชา

เมื่อไม่รู้จึงเกิดการปรุงแต่งเป็นสังขาร (สังขารในที่นี้ไม่ได้แปลว่าร่างกายนะครับ แต่หมายถึงการปรุงแต่งทางจิตใจ คือพอมีอารมณ์อะไรมากระทบ เราก็คิดปรุงแต่งไปเรื่อย)

สังขารเป็นอาหารของวิญญาณ เมื่อมีสังขารเกิดขึ้น วิญญาณใหม่ๆ จึงเกิดขึ้น

เมื่อมีวิญญาณก็ต้องหารูป-นาม คือร่างกายและจิตใจเพื่อให้วิญญาณเป็นที่อาศัย

เมื่อมีร่างกายและจิตใจ จึงมีอายตนะหรือประสาทสัมผัสทั้งหก คือตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

เมื่อมีประสาทสัมผัส จึงเกิดการสัมผัสหรือ “ผัสสะ” คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส สัมผัส และรับรู้อารมณ์

เมื่อเกิดผัสสะ จึงเกิดเวทนา (อ่านว่า เว ทะ นา) อันหมายถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้น

ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึก สุข ทุกข์ หรือเฉยๆ ก็ถือเป็นเวทนาทั้งนั้น

เช่นเมื่อลิ้นสัมผัสกับซูชิโอโทโร่ที่ละลายในปาก ก็รู้สึกฟิน

หรือถ้าเห็นหน้านักการเมืองที่เราไม่ชอบ ก็รู้สึกโกรธแค้น

หรือถ้าเราอ่านบทความจากบล็อกเกอร์บางคน แล้วก็รู้สึก “งั้นๆ” เป็นต้น

เมื่อมีเวทนา สิ่งที่ตามมาก็คือตัณหา (craving) คือความรู้สึกอยากกินซูชิอีกหลายๆ คำ

เมื่อมีตัณหา จึงเกิดอุปาทาน (ซึ่งในที่นี้ไม่ได้แปลว่า “คิดไปเอง” นะครับ) อุปาทานคือความยึดติด (clinging) ในสภาวะที่ประสบอยู่นี้

เมื่อมีอุปาทาน จึงเกิดการสร้างภพขึ้น

ภพ ก็คือ ภาวะ หรือ สภาวะ

ตอนที่เราตาย หากกระบวนการสร้างภพยังดำเนินอยู่ นั่นจะเรียกว่า อุปัตติภพหรือภพแห่งการเกิด โดยสภาวะจิตใจของเราในขณะนั้นจะเป็นตัวกำหนดว่าเราคู่ควรจะไปเกิดในภพภูมิไหน

แสดงว่าตอนที่เราตายเมื่อชาติที่แล้ว เราสร้างภพที่ดี จึงได้มาเกิดเป็นมนุษย์

แต่แม้ว่าชาตินี้เราจะเป็นมนุษย์ แต่วันๆ หนึ่งเราจะสร้างภพเล็กๆ ขึ้นมากมาย ถ้าเราอารมณ์ดีเราก็สร้างภพแแห่งเทวดา พอตอนโมโหเราก็สร้างภพแห่งสัตว์นรก พอเรากำลังโลภเราก็สร้างภพแห่งเปรต หรือพอเรากำลังเล่นเฟซบุ๊คเพลินๆ ก็กำลังสร้างภพเดรัจฉานขึ้น

เมื่อมีภพ จึงมีชาติหรือการเกิดใหม่

เมื่อมีการเกิด จึงมีการ แก่ การเจ็บ การตาย

เมื่อเจ็บ เมื่อตาย ก็ย่อมมีแต่ความเศร้าโศกทุกข์ใจ

พอแถมด้วยอวิชชาเข้าไปอีก วงจรแห่งการเวียนว่ายตายเกิดไม่รู้จบจึงเกิดขึ้น

ที่ผมกล่าวมาคือปฏิจจสมุปบาทครับ

อวิชชา > สังขาร > วิญญาณ > สฬายตนะ* > ผัสสะ > เวทนา > ตัณหา > อุปาทาน > ภพ > ชาติ > ชรามรณะ > โศกปริเทวะ > อวิชชา

(* สฬ + อายตนะ, “สฬ” แปลว่าหก)

แล้วการเวียนว่ายตายเกิดมันไม่ดียังไง?

เราอาจจะมองว่า ตอนนี้ชีวิตเราก็ดี๊ดี อาจจะมีทุกข์บ้าง แต่ก็มีความสุขมากกว่า ได้เรียนรู้ ได้ผจญภัย ได้เติบโต

แต่นั่นเพราะว่าเราได้เกิดเป็นมนุษย์ไงครับ

ภพมนุษย์นั้นเป็นเพียงแค่หนึ่งภพในอีก 31 ภพภูมิ ซึ่งถ้าโชคดีไป “ไปสู่สุคติ” ก็แล้วไป เพราะนั่นแปลว่าเราได้ไปเกิดในภพมนุษย์หรือเทวดาขึ้นไป

แต่ถ้าโชคร้ายไปเกิดในทุคติภูมินี่งานเข้าเลยนะครับ เพราะโอกาสจะกลับขึ้นมาสู่สุคติภูมิใหม่นี่ต่ำเตี้ยเรี่ยดินสุดๆ

ได้เกิดในภพมนุษย์ แถมเกิดในเมืองพุทธ เรายังไม่สนใจปฏิบัติธรรมกันเลย

ถ้าได้ไปเกิดเป็นน้องหมาหรือเป็นเปรต คิดหรือว่าจะมีโอกาสได้เลื่อนชั้น?

ทำยังไงถึงจะได้เกิดเป็นมนุษย์หรือได้เกิดในสุคติภูมิ?

อย่างที่อธิบายไปในสองข้อที่แล้วว่า คนเรามีการสร้างภพตลอดเวลา

ภพเล็กๆ เรียกว่า กรรมภพ (หรือกัมมภพก็ได้) วันหนึ่งเราจึงมีหลายโหมด เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวใจกว้าง เดี๋ยวใจแคบ

ส่วนภพใหญ่ที่เรียกว่าอุปัตติภพนั้นจะเกิดขึ้นหนึ่งครั้งคือตอนที่เราจะเกิด โดยสภาวะจิตใจของเราขณะที่เราตายไปจากภพมนุษย์นี้จะเป็นตัวบอกว่าเราสมควรไปเกิดภพภูมิไหน

ถ้าจิตเราหนักๆ เต็มไปด้วยความโลภ ความโกรธ หรือเซลฟ์จัด ใจของเราก็ย่อมดิ่งลงส่งภพภูมิที่ต่ำๆ อย่างภพของเปรต สัตว์นรก หรืออสูรกายเป็นต้น

แต่ถ้าจิตใจเราเบาสบาย มองย้อนกลับไปแล้วรู้ตัวว่าเราทำดีมาทั้งชีวิต จิตของเราก็ย่อมลอยขึ้นไปสู่ภพภูมิที่อยู่สูงขึ้นไป

วิธีการทำให้จิตใจเราสบายก็คือการมีสตินั่นเอง

พูดง่ายๆ ก็คือ ถ้ามีสติ ก็ได้ไปดี

ถ้าไม่มีสติ (โลภ โกรธ หลง) ก็ไปไม่ดี

ดังนั้นการปฏิบัติธรรม คือการออกกำลังใจให้มีสติรู้ตัวอยู่บ่อยๆ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญสุดๆ ในวินาทีชี้เป็นชี้ตายว่าเราจะได้ “ไปต่อ” หรือจะ “ตกชั้น”

ถึงได้เกิดในภพที่ดีในชาติหน้า ก็ไม่ได้การันตีว่าชาติต่อๆ ไปจะไม่ตกชั้น แล้วจะทำยังไงดี?

ทางเดียวที่จะช่วยให้แน่ใจได้ว่าจะไม่ลงไปภพภูมิที่ต่ำกว่าภพภูมิมนุษย์อีก คือการเป็นพระโสดาบันให้ได้

การเป็นพระโสดาบัน หมายถึงการได้เห็นพระนิพพานแล้วครั้งหนึ่ง จิตใจจะหมดความสงสัยในความมีอยู่จริงของนิพพาน จะถือศีลห้าได้โดยอัตโนมัติ ความทุกข์จะหายไป 99% และเกิดอีกไม่เกิน 7 ชาติก่อนจะได้ไปอยู่ใน “ชั้นพิเศษ” ที่ไม่ต้องกลับมาเวียนวนในสังสารวัฎ 31 ภพภูมิอีก

การจะไปให้ถึงโสดาบันฟังดูเป็นเรื่องยากและไกลเกินฝัน

แต่ผมเชื่อว่ามันไม่ยากไปกว่าเป้าหมายอื่นๆ ที่อินเทรนด์กันอยู่หรอกนะครับ

เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็อยากมีอิสรภาพทางการเงินกันทั้งนั้น

จะเพิ่มเป้าหมายที่จะมีอิสรภาพทางจิตวิญญาณไปด้วยก็ฟังดูดีออก

ทำยังไงถึงจะได้เป็นพระโสดาบัน?

พระพุทธเจ้าท่านว่า ทางเดียวที่จะไปถึงพระนิพพานได้คือการทำสติปัฏฐานสี่ หรือการทำวิปัสสนานั่นเอง

การทำวิปัสสนาคือการตามรู้กาย ตามรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยใจที่เป็นกลาง เพื่อให้เห็นไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

กลับมาดูที่วงจรนี้กันอีกครั้ง

อวิชชา > สังขาร > วิญญาณ > สฬายตนะ > ผัสสะ > เวทนา > ตัณหา > อุปาทาน > ภพ > ชาติ > ชรามรณะ > โศกปริเทวะ > อวิชชา

เราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว ดังนั้นจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีอายตนะ มีผัสสะ และมีเวทนา

แต่ห่วงโซ่ข้อที่เราตัดได้คือคือข้อ เวทนา > ตัณหา ครับ

ถ้าเราสามารถตามรู้สภาวะทุกอย่างด้วยใจเป็นกลาง ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ ใจก็จะไม่ยึดติด ตัณหาก็ไม่เกิด

เมื่อตัณหาไม่มี อุปาทานก็ขาด ภพก็ขาด ชาติก็ขาด

ไม่ต้องกลับมาเกิดอีกต่อไป ไม่ว่าจะในภพภูมิไหนๆ

ที่เรายังมีตัณหาอยู่ตอนนี้ เพราะใจของเรายังยึดติด ยังเห็นว่าร่างกายและจิตใจเป็นของดีของวิเศษ

แต่เมื่อใดก็ตามที่เราใช้วิปัสสนาสำรวจร่างกายและจิตใจจนชำนาญแล้ว เราจะพบความจริงที่ว่า กายนี้ใจนี้มีแต่ความเปลี่ยนแปลง (อนิจจัง) กายนี้ใจนี้ถูกบีบคั้นตลอดเวลา (ทุกขัง) และกายนี้ใจนี้ไม่ใช่ของเรา (อนัตตา)

เมื่อ “เข้าใจ” ในประเด็นนี้อย่างถ่องแท้ เราก็จะเลิกยึดถือในกายในใจ และเป็นอิสระโดยแท้จริง

ชักเริ่มสนใจปฏิบัติธรรมนิดๆ แล้ว เริ่มยังไงดี?

ผมเองก็ยังประสบการณ์ไม่มากนัก และช่วงนี้ก็ย่อหย่อนไปไม่น้อย แต่ขอแนะนำสองสามข้อนี้ครับ

ดาวน์โหลดธรรมเทศนาจากเว็บไซต์ dhamma.com ของ หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชโช ไว้ฟังบนรถ

จัดเวลาวันละห้านาที ให้ได้นั่งเฉยๆ เพื่อคอยรู้กายรู้ใจตัวเอง

ลองไปเข้าคอร์สปฏิบัติธรรม ที่ผมเคยไปมาคือการฝึกวิปัสสนาตามแนวทางของท่านโกเอนก้า เป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่าที่สุดในชีวิต

วันนี้วันมาฆบูชา เป็นโอกาสอันดีที่จะศึกษาพระธรรม

พระธรรมคือความจริง

ทุกคนก็อยากรู้ความจริงกันทั้งนั้น เราถึงชอบอ่านข่าวก๊อซซิปดาราและด่านักการเมืองศรีธนญชัย

เรารักที่จะรู้ความจริงภายนอก แต่เรากลับหลีกเลี่ยงที่จะค้นหาความจริงภายใน

เราพร้อมเอาเวลาไปลงกับเรื่องอื่นเพื่อสร้างชื่อเสียง สร้างฐานะ สร้างทรัพย์สมบัติ แม้จะรู้อยู่แก่ใจว่าสุดท้ายแล้วก็เอาติดตัวไปไม่ได้ซักอย่าง

วันนี้วันมาฆบูชา

ลองสำรวจตัวเองนะครับว่าเรากำลัง “โมฆะบูชา” มากไปหรือเปล่า

ไม่เคยสาย และไม่ใช่เรื่องน่าอายที่จะเริ่มออกเดินทาง

ที่จะทำให้ชีวิตนี้ไม่เป็นโมฆะครับ

—–

ขอบคุณข้อมูลจาก

ธรรมะเพื่อการพ้นทุกข์ : พระธรรมเทศนา mp3 และบันทึกวิดีโอ

ThaiDhamma: การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน สอนโดยท่านอาจารย์โกเอ็นก้า

—–

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ที่ปุ่มไลค์จะมี drop down menu ให้เลือกได้ว่าอยากจะให้มี notifications หรืออยากเห็นโพสต์จากเพจนี้อยู่ต้นๆ ฟีดรึเปล่าครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

—–

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

จุดตะเกียง

20160220_Lantern

ไปทางไหนก็มีแต่เสียงสาบแช่งความมืด หรือมนุษย์เราลืมวิธีจุดตะเกียงไปเสียแล้ว

– ประภาส ชลศรานนท์
หนังสือประโยคย้อนแสง

เรื่องราวในวงการสงฆ์ตอนนี้กำลังเป็นประเด็นฮอต

ใครจะไปคิดว่าเมืองพุทธอย่างประเทศไทยจะได้เห็น “ไตรจีวร” กับ “ลายพราง” ปะทะกัน?

แถมมีคุณจตุพรมาผสมโรงด้วยอีกต่างหาก

เรื่องศาสนากลายเป็นเรื่องการเมืองไปได้อย่างไร?

แต่ผมว่า เรื่องใดก็ตามที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง มันคือเรื่อง “การเมือง” ทั้งนั้น

การเมืองในสภา การเมืองในบริษัท การเมืองในวัด หรือแม้กระทั่งการเมืองในคู่รัก

บริบทอาจจะแตกต่างกัน แต่เนื้อหาและเป้าหมายแทบไม่ต่างกันเลย

—–

ช่วงนี้ประโยค “วิกฤติศรัทธาวงการสงฆ์” เลยเป็นคำที่สื่อนิยมใช้

เพราะ “พระสงฆ์” ไม่เคยประพฤติตนให้ “ประชาชน” เสื่อมศรัทธาได้ขนาดนี้

แต่ก็ต้องกลับมาถามอีกว่า “พระสงฆ์” ที่ว่าคือใคร

แล้ว “ประชาชน” คือใคร

ถ้า “พระสงฆ์” คือพระเพียงกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในฝ่ายคู่ขัดแย้ง

และ “ประชาชน” คือคนไทยส่วนใหญ่

ผมว่าเราก็อยู่ในวิกฤติมานานแล้วนะครับ

—–

ผมเคยอ่านคำสัมภาษณ์พระรูปหนึ่งที่พูดไว้อย่างน่าคิด

ว่านักการเมืองหรือข้าราชการนั้น ต่อให้ใหญ่ล้นฟ้าแค่ไหน แต่ก็ยังมีวาระ (เช่น ส.ส. อยู่ได้สี่ปีก็ต้องลงเลือกตั้งใหม่) และยังถูกตรวจสอบและถูกนำไปลงโทษได้

แต่ในวงการสงฆ์ ไม่มีวาระ และการตรวจสอบแทบจะเป็นศูนย์

มหาเถรสมาคม จึงเป็นแดนสนธยาที่ชาวบ้านอย่างเราๆ ไม่เคยรู้เลยว่า “ข้างใน” เขาบริหารกันอย่างไร

เมื่อไม่มีการคานอำนาจ ไม่มีการตรวจสอบ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้ามันจะเน่าในมาได้สักพักใหญ่แล้ว

—–

แล้วประชาชนอย่างเราๆ ล่ะ

ประชาชนที่เคยประกาศตนในหอประชุมของโรงเรียนเองตัวว่าเป็น “พุทธมามกะ”

ประชาชนที่วิจารณ์พระสงฆ์กลุ่มหนึ่งว่าทำตัวไม่เหมาะสม

แล้วเราเองได้ในฐานชาวพุทธ ได้ทำตัวเหมาะสมแล้วหรือยัง?

เราให้ทานครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่

เราถือศีลห้าครบมั้ย?

เราภาวนากันบ้างหรือเปล่า?

พุทธศาสนาจะดำรงอยู่ได้ด้วย “พุทธบริษัท ๔”

ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

ถ้าศาสนาพุทธจะล่มสลายในเมืองไทย ผมว่าการปะทะกันของพระกับทหารถือเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับความไม่ใส่ใจของอุบาสกอุบาสิกาที่มีจำนวนมากกว่าไม่รู้กี่พันเท่า

ปัญหาสังคมล้วนป็นเพียงภาพขยาย (manifestation) ของปัญหาระดับบุคคล

ถ้ารู้สึกว่าประเทศไทยตอนนี้มันมืดมนนัก

ลองจุดตะเกียงให้ตัวเองก่อนดีมั้ย?

—–

ขอบคุณประโยคชวนคิดจากหนังสือประโยคย้อนแสง โดยประภาส ชลศรานนท์

ขอบคุณรูปนี้ในเพจมหาสติ ที่กระตุกให้เขียนบทความนี้ขึ้นมา

—–

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ที่ปุ่มไลค์จะมี drop down menu ให้เลือกได้ว่าอยากจะให้มี notifications หรืออยากเห็นโพสต์จากเพจนี้อยู่ต้นๆ ฟีดรึเปล่าครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

—–

ขอบคุณภาพจาก Wikipedia 

ทำไมพระถึงฉันเนื้อสัตว์ได้?

20150830_MonksEatMeat

ปี: 2001

สถานที่: เมืองโลซาน สวิตเซอร์แลนด์

“นิพพานคืออะไร” นาตาลี เอ่ยปากถาม

ผมแบมือให้นาตาลีดู “ถ้าความสุขคือมือที่หงาย”

จากนั้นก็พลิกมือกลับ “และความทุกข์มือที่คว่ำ”

“นิพพานก็คือไม่มีมือ”

ผมพูดจบด้วยความภูมิใจเล็กน้อยที่จำคำอธิบายเรื่องนิพพานจากที่ไหนซักแห่งมาเล่าให้เพื่อนฝรั่งตาน้ำข้าวชาวคริสตังฟัง

ช่วงนั้นผมได้ทุน IAESTE ไปฝึกงานที่เมืองซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และได้รู้จักกับนาตาลี พอผมบอกนาตาลีว่าอยากไปเที่ยวโลซาน นาตาลีก็บอกว่ามาพักบ้านพ่อแม่เธอก็ได้ (ตอนนั้นนาตาลียังอยู่กับพ่อกับแม่) บทสนทนาข้างต้นจึงเกิดขึ้นในค่ำวันแรกที่ผมไปนอนค้างบ้านเธอ

ผมอธิบายเธอต่อเรื่องศีล 5 แล้วนาตาลีก็ถามว่า

“ศีลข้อ 1 บอกว่าห้ามฆ่าสัตว์ แต่เธอก็ยังกินเนื้อสัตว์อย่างนี้มันไม่บาปเหรอ”

ถามอย่างนี้ไปไม่ถูกเลยแฮะ แต่ก็ตอบไปว่า

“เรากินก็จริง แต่เราไม่ใช่คนฆ่า ดังนั้นบาปจึงตกอยู่กับคนที่ฆ่าสัตว์ (butcher) ต่างหาก”

นาตาลีก็ท้วงว่า “อ้าว อย่างนี้มันไม่ดูหน้าไหว้หลังหลอกไปหน่อยเหรอ (hypocritical)”

ซึ่งเอาเข้าจริงๆ ผมก็แอบเห็นด้วยอยู่นิดหน่อย แต่ก็จนปัญญาไม่รู้จะตอบเธอในเรื่องนี้อย่างไร สุดท้ายก็เลยต้องเปลี่ยนไปคุยเรื่องอื่นกันแทน

—–

ปี: ก่อนเริ่มพุทธศักราช

สถานที่: พระเวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์

พระเทวทัตพร้อมด้วยพระโกกาลิกะ พระกฏโมรกติสสกะ พระขัณฑเทวีบุตร และพระสมุทททัตต์ เข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ กราบทูลขอวัตถุ ๕ ประการ ดังนี้ (๑) ภิกษุควรอยู่ป่าตลอดชีวิต (๒) ภิกษุควรเที่ยวบิณฑบาตตลอดชีวิต (๓) ภิกษุควรถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต (๔) ภิกษุควรอยู่โคนไม้ตลอดชีวิต (๕) ภิกษุไม่ควรฉันปลาและเนื้อ

พระพุทธตรัสห้ามว่า

อย่าเลยเทวทัตต์ ภิกษุใดปรารถนาก็จงอยู่ป่า ภิกษุใดปรารถนาก็จงอยู่ บ้าน ภิกษุใดปรารถนาก็จงเที่ยวบิณฑบาต ภิกษุใดปรารถนาก็จงยินดีการ นิมนต์ ภิกษุใดปรารถนาก็จงถือผ้าบังสุกุล ภิกษุใดปรารถนาก็จงยินดีผ้า คฤหบดี เราอนุญาตรุกขมูล(การอยู่โคนไม้)ตลอด ๘ เดือน(นอกฤดูฝน) เราอนุญาตปลาและเนื้อที่บริสุทธิ์ด้วยอาการ ๓ อย่าง คือ (๑)ไม่ได้เห็น (๒)ไม่ได้ยิน (๓)ไม่ได้รังเกียจ

กล่าวคือ พระพุทธเจ้าไม่ได้ห้ามพระภิกษุไม่ให้ฉันเนื้อ ส่วนรายละเอียดและการอภิปรายอ่านเพิ่มเติมได้ในบทความนี้ของวิทยาลัยศาสนศึกษาครับ

—–

ปี: 2011

สถานที่: นิด้า

ผมเรียนวิชาการแปล (Translation) กับอาจารย์พัชรี โภคาสัมฤทธิ์ ซึ่งเป็นอาจารย์ที่สอนหนังสือได้สนุกที่สุดคนหนึ่ง ถือเป็นหนึ่งในไฮไลท์การเรียนคณะภาษาและการสื่อสารที่นี่เลยทีเดียว

อาจารย์เล่าให้ฟังว่า คราวหนึ่งฝรั่งเคยมาถามอาจารย์ว่า “พระภิกษุ” นี่คือ “Beggar” ใช่มั้ย

ผมฟังแล้วจี๊ดเลย

แต่ถ้าไปเปิดคำแปลดูจริงๆ คำว่าภิกษุ นั้นแปลว่า “ผู้ขอ” จริงๆ

ภิกษุ เป็นคำภาษาสันสกฤต ส่วนภิกขุ เป็นคำภาษาบาลี เป็นนักบวชชายในพระพุทธศาสนา แปลตามคำศัพท์ว่า ผู้ขอ คือ สละโลก สละเคหสถาน และสละทรัพย์สมบัติ เพื่ออุทิศตนศึกษาปฏิบัติและเผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ดำรงชีวิตอยู่ด้วยปัจจัยที่ผู้อื่นให้ คนจำนวนมากในสมัยพุทธกาลได้ออกบวชถือเพศบรรพชิต มิได้ประกอบอาชีพ อยู่ได้ด้วยปัจจัยที่ผู้เลื่อมใสนำมาให้ ก็ถือว่าเป็นผู้ขอเหมือนกัน แต่ไม่เรียกว่าภิกษุ เรียกว่า ดาบส บ้าง มุนี บ้าง ฤาษี บ้าง ส่วนไทยใช้คำเรียกนักบวชชายในพระพุทธศาสนา เช่น พระภิกษุ พระสงฆ์ พระภิกษุสงฆ์

อาจารย์พัชรีอธิบายให้ฝรั่งฟังว่า ภิกษุในศาสนาพุทธ มีความสัมพันธ์กับฆราวาสไม่ใช่ในฐานะขอทาน แต่ในฐานะ “เนื้อนาบุญ”

ผมได้ยินคำว่า “เนื้อนาบุญ” มาตั้งนาน แต่ไม่เคยนึกถึงความหมายของมันเลย (ท่อนสุดท้ายของบทสวดอิติปิโสฯ ที่ว่า  อะนุตตะรัง ปุญญะเขตตัง โลกัสสาติ นั้นแปลว่า “เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า”)

แต่พอฟังคำของอาจารย์พัชรี จึงเห็นภาพตามว่า พระภิกษุ ก็คือบุคคลที่ฆราวาสสามารถหว่านเมล็ดบุญด้วยการตักบาตรและถวายสังฆทาน และหากภิกษุนั้นปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เมล็ดบุญที่ฆราวาสอย่างเราๆ หว่านก็จะออกรวงงดงาม

ภิกษุจึงต้องพึ่งพาฆราวาส (เพื่อมีอาหารยังชีพ) และฆราวาสก็ต้องพึ่งพาภิกษุ (เพื่อการทำบุญ) ดังนั้นการแปลคำว่าภิกษุว่า beggar จึงไม่ถูกต้องในบริบทของสังคมพุทธศาสนา

—–

ปี 2012

สถานที่: ที่บ้าน

ผมนั่งดูรายการอะไรซักอย่าง แล้วจำได้ว่าท่านว. วชิรเมธี มาตอบคำถามคล้ายกับที่นาตาลีเคยถามผมเมื่อปี 2001 ว่าทำไมพระถึงฉันเนื้อได้

ท่านว.อธิบายว่า เพราะพระต้องหาอาหารจากการบิณฑบาตร ดังนั้นจึงควรจะฉันอะไรก็ตามที่ฆราวาสถวายให้

นั่นคือ ในฐานะ “ผู้ขอ” ภิกษุไม่ควรจะเรื่องมาก ตราบใดที่เนื้อที่คนถวายให้ไม่ได้อยู่ในข้อห้ามทางวินัย (เช่นเนื้องู หรือเนื้อมนุษย์) ภิกษุก็ควรรับไว้ เพราะอาหารมีไว้เพื่อประทังชีวิต ไม่ใช่เพื่อความยินดีพอใจ

และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ พระพุทธเจ้าเห็นว่าร่างกายของคนเราไม่เหมือนกัน บางคนกินแต่ผักตลอดชีวิตก็อยู่ได้ แต่บางคนกินแต่ผักจะไม่มีกำลัง จะต้องบริโภคเนื้อสัตว์ด้วย

—–

ปี 2015

สถานที่: เมืองซุก ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

“จำนาตาลีที่อยู่เมืองโลซานได้รึเปล่า” ผมถามมิกิ

มิกิเป็นชื่อเล่นของไมเคิล เพื่อนชาวสวิสที่เคยได้ทุน IAESTE มาฝึกงานที่เมืองไทยเมื่อปี 2004 และตอนที่ผมไปสวิสเมื่อ 14 ปีที่แล้วก็ได้มิกินี่แหละเป็นพี่เลี้ยง พฤษภาคมปีนี้ที่ผมพาแฟนไปเที่ยวยุโรปก็เลยได้ไปพักที่บ้านเขา

ใช้เวลาคิดซักพัก มิกิก็นึกนามสกุลของนาตาลีออก

“เหมือนนาตาลีจะไม่ค่อยเล่นเฟซบุ๊คนะ เพราะเราเองก็ไม่ได้คุยกับนาตาลีนานมากแล้ว” มิกิบอก

ผมเอาชื่อและนามสกุลของนาตาลีไปหาในเฟซบุ๊คก็เจอจริงๆ เลยส่งเมสเสจไปหาเขา

ผ่านไปสามเดือนกว่าแล้ว ก็ยังไม่มีคำตอบจากนาตาลี สงสัยไม่ค่อยเล่นเฟซบุ๊คจริงๆ นั่นแหละ

ไว้พรุ่งนี้ลองทักไปอีกทีดีกว่า

—–

ขอบคุณข้อมูลจาก วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และ เว็บธรรมจักร

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก Show First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่