ปัญญา 3 ระดับ

20170510_threestages

วันนี้วันพระ เรามาคุยเรื่องธรรมะกันบ้างนะครับ

หนึ่งในประสบการณ์ล้ำค่าที่สุดในชีวิตของผมคือการได้มีโอกาสไปอบรมหลักสูตรวิปัสสนา 10 วันของอาจารย์โกเอ็นก้าเมื่อปี 2552 และ 2554

เป็นการอบรมที่หฤโหดเอาการ เพราะต้องฝึกวันละร่วม 10 ชั่วโมง ช่วงสองสามวันแรกนี่ผมคิดอยู่ตลอดเลยว่าจะไหวไหมๆ

ยังดีที่มีสิ่งหล่อเลี้ยงจิตใจคือ “ธรรมบรรยาย” ทุกค่ำก่อนเข้านอน ที่อาจารย์โกเอ็นก้าจะมาเล่าเรื่องราวต่างๆ ให้ฟังเพื่อให้เราเข้าใจถึงสิ่งที่เพิ่งเรียนรู้ไปในวันที่ผ่านมา

วันนี้จึงอยากยกธรรมบรรยายที่ว่าด้วยเรื่องปัญญา 3 ระดับมาเล่าไว้ตรงนี้ครับ


ปัญญามีสามระดับขั้นด้วยกัน ขั้นแรกเรียกว่า สุตมยปัญญา หมายถึงความรู้ที่ท่านได้รับจากการฟังบรรยายธรรมต่างๆ หรือจากการอ่านหนังสือ ซึ่งไม่ใช่ปัญญาของท่าน แต่เป็นปัญญาของผู้อื่น

ตั้งแต่เล็กจนโต คนในแต่ละครอบครัว ในแต่ละสังคม หรือในแต่ละลัทธินิกาย จะได้รับฟังสิ่งที่ถือว่าเป็นความจริงสำหรับแต่ละครอบครัว แต่ละสังคม หรือแต่ละลัทธินิกาย บุคคลได้รับการอบรมและหล่อหลอมให้ฝังใจเชื่อในความจริงนั้นๆ และได้ยึดถือสืบทอดต่อๆ กันมาด้วยความศรัทธา แต่ความเชื่อถือศรัทธาในลักษณะนี้ ส่วนใหญ่มักจะกลายเป็นศรัทธาแบบมืดบอดไม่ลืมหูลืมตา

แม้กระนั้นปัญญาในระดับแรกที่เรียกว่าสุตมยปัญญานี้ ก็เป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ เพราะจะทำให้เกิดแรงบันดาลใจแก่เรา และให้แนวทางในการที่จะก้าวไปสู่ขั้นที่สองของปัญญาที่เรียกว่า จินตามยปัญา คือปัญญาที่เกิดจากการใช้ความคิดพิจารณาให้เกิดความเข้าใจในระดับเหตุผล ไม่ว่าท่านจะได้ยินได้ฟังอะไรมา ท่านก็จะแยกแยะว่า เป็นเรื่องที่ปฏิบัติได้ไหม สมเหตุสมผลไหม หากมีเหตุผล ท่านก็จะยอมรับ

แต่ส่วนใหญ่แล้วเรามักไม่ค่อยได้ทำการแยกแยะและวิเคราะห์ให้เกิดปัญญาขั้นที่สองนี้ ยิ่งขั้นที่สามด้วยแล้ว ยิ่งไม่ต้องพูดถึงเลย ยังห่างไกลมาก แม้แต่ปัญญาในขั้นที่สอง คนโดยทั่วไปก็ไม่ค่อยได้ใช้ เพราะแต่ละคนมักจะมีแต่ความศรัทธาแบบไม่ลืมหูลืมตา

…แม้โดยธรรมชาตินั้นมนุษย์เป็นสัตว์ที่มีเหตุผล มนุษย์จะพยายามที่่จะอธิบายเรื่องต่างๆ หรือสิ่งต่างๆ ด้วยเหตุผล แต่เมื่อมีผู้ที่ด้อยอาวุโสกว่าพยายามใช้เหตุผล ผู้นำกลุ่ม หรือผู้เป็นใหญ่ในกลุ่ม หรือผู้อาวุโสในกลุ่ม ก็จะเกิดความรู้สึกว่าถูกท้าทายทางความคิด และจะเริ่มข่มขู่ผู้ที่ด้อยอาวุโสกว่า “อ้อ นี่เจ้าไม่เชื่อ เจ้าไม่เชื่อในความจริงในพระคัมภีร์ของเรา เจ้าไม่เชื่อคำสอนของพระศาสดาในศาสนาของเรา พระศาสดาซึ่งเป็นผู้ที่ปราดเปรื่องอย่างนี้ เป็นนักบุญอย่างนี้ และเป็นผู้ตรัสรู้แล้วอย่างนี้ เจ้ายังไม่เชื่อคำสอนของท่าน เจ้ารู้ไหมว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเจ้าตายไป เจ้าจะต้องตกนรก!” แล้วเขาก็จะสาธยายเรื่องราวและแจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับนรกอันน่าสะพรึงกลัวให้ฟัง คนที่ได้ฟังก็จะตกใจกลัว “โอย! คุณพ่อ ผมกลัวแล้ว ผมไม่อยากตกนรก ผมจะยอมรับสิ่งที่พระคัมภีร์ว่าไว้ทุกประการ ผมจะยอมรับทุกอย่างที่ประเพณีกล่าวไว้” แต่นี่ก็เป็นเพียงการยอมรับ ไม่ได้เกิดจากประสบการณ์โดยตรงของท่านเอง ท่านอาจจะยอมรับว่าสิ่งนั้นๆ เป็นสัจธรรม เป็นความจริง เพราะท่านมีความกลัว เพราะฉะนั้นจึงไม่อาจก้าวไปถึงขั้นที่สองของปัญญาได้ เพราะความเกรงกลัวหรือความศรัทธาที่มืดบอด…ซึ่งจะกลายเป็นสิ่งที่ผูกมัดท่านไว้ ทำให้ไม่สามารถก้าวต่อไปถึงปัญญาขั้นที่สองคือจินตามยปัญญาได้

แต่ก็มีบางที่ที่กล้าก้าวต่อไปสู่จินตามยปัญญา เขาใช้ความคิดแยกแยะวิเคราะห์สิ่งต่างๆ ด้วยเหตุและผล ซึ่งก็เป็นก้าวที่สำคัญมากอีกก้าวหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม แม้ปัญญาในขั้นแรกคือสุตมยปัญญา และปัญญาในขั้นที่สองคือจินตามยปัญญา จะให้แรงบันดาลใจและให้แนวทางที่นำพาท่านไปสู่ปัญญาขั้นที่สามคือ ภาวนามยปัญญา แต่บุคคลก็มักจะติดอยู่เพียงแค่ขั้นที่สองนี้เท่านั้น…เพราะการที่ท่านได้ใช้ความคิดใคร่ครวญในเรื่องราวต่างๆ ที่ได้ยินได้ฟังมา ท่านก็จะเกิดอัตตาขึ้นมาอย่างรุนแรง เข้าใจเอาเองว่าบัดนี้ท่านเป็นผู้ที่รอบรู้ความจริงทุกอย่างแล้ว สามารถที่จะสอนหรือบรรยายธรรมได้แล้ว สามารถอภิปรายหรือโต้แย้งใดๆ ก็ได้ และสามารถที่จะเขียนหนังสือ และพิสูจน์ให้เป็นที่ยอมรับว่า ความเชื่อของท่าน หลักเกณฑ์ของท่าน ประเพณีของท่านเป็นสิ่งที่ถูกต้องอย่างแท้จริง ส่วนของคนอื่นๆ นั้นผิดทั้งหมด ความคิดเช่นนี้หาใช่ปัญญาของท่านเองไม่ แต่เป็นปัญญาของผู้อื่นที่ท่านเพียงแต่นำมาคิดพิจารณาหาเหตุผลเท่านั้น ปัญญาของท่านเองจะมีขึ้นก็ต่อเมื่อท่านได้ประสบกับสิ่งนั้นด้วยตัวของท่านเอง

ประสบการณ์จะสร้างปัญญาขึ้นที่สามที่เรียกว่า ภาวนามยปัญญา คำแปลตรงๆ ของคำว่าภาวนา คือความมีความเป็น ภาวนามยปัญญาคือการทำให้ปัญญามีขึ้นเป็นขึ้น เป็นปัญญาที่เกิดจากการได้ประสบด้วยตัวเอง ด้วยประสบการณ์นี้ท่านก็จะรู้ว่าปัญญาคืออะไร มิฉะนั้นมันก็เป็นเพียงแค่ความรู้เท่านั้น ความรู้นั้นต่างกับปัญญามาก ปัญญาขั้นที่สามคือภาวนามยปัญญานี้แหละที่จะปลดปล่อยท่านให้หลุดพ้นจากพันธนาการของกิเลส จิตจะบริสุทธิ์ขึ้น บริสุทธิ์ขึ้นเรื่อยๆ แล้วในที่สุดท่านก็จะหลุดพ้นจากความทุกข์

…การมีศรัทธาอย่างมืดบอดโดยอ้างธรรมะ และการเล่นเกมลับสมองด้วยเหตุผลหรือตรรกะต่างๆ ล้วนเป็นสิ่งที่จะพันธนาการท่านไว้ไม่ให้ท่านหลุดพ้นจากความทุกข์ได้…ปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงของเจ้าชายสิทธัตถะโคตมะช่วยให้พระองค์หลุดพ้นได้แต่เพียงพระองค์เดียว ไม่สามารถทำให้ผู้อื่นหลุดพ้นได้…การมีเพียงศรัทธาแบบไม่ลืมหูลืมตาในคำสอนของพระองค์ หรือมีเพียงความเข้าใจในคำสอนของพระองค์ด้วยเหตุผล จะไม่ทำให้เราหลุดพ้นได้ เราจะต้องมีประสบการณ์กับความจริงภายในตัวของเราเอง

…ตัวอย่างเช่น ชายคนหนึ่งหิวอาหารมาก ได้เข้าไปภัตตาคารซึ่งมีชื่อเสียงมากแห่งหนึ่ง เมื่อเขานั่งลงที่โต๊ะ ผู้บริการก็นำรายการอาหารมาให้ หลังจากดูรายการอาหารนั้นแล้ว เขาก็เกิดความรู้สึกว่าอาหารที่นี่จะต้องอร่อยมาก คิดแล้วน้ำลายไหล นี่เป็นกรณีที่หนึ่ง

กรณีที่สอง ชายคนนั้นได้สั่งอาหารแล้วก็นั่งรอ ระหว่างรอเขาเห็นโต๊ะข้างๆ ได้รับอาหาร และพากันรับประทานอย่างเพลิดเพลินและเอร็ดอร่อย แสดงว่าอาหารที่นี่จะต้องอร่อยมาก คิดแล้วเขาก็น้ำลายไหลอีก

กรณีที่สาม ผู้บริการได้นำอาหารมาให้ จากนั้นเขาก็ลงมือรับประท่าน แล้วเขาก็ได้รับความเอร็ดอร่อยและเพลิดเพลินจากอาหารมื้อนั้นด้วยตัวเขาเอง

กรณีแรกเป็นสุตมยปัญญา เขาได้แต่อ่านรายการอาหาร ยังไม่ได้ลิ้มรสของจริง จึงยังไม่รู้รสอาหารนั้นด้วยตนเอง กรณีที่สองเป็นจินตามยปัญญา เขาพิจารณาด้วยเหตุผล โดยสังเกตจากการรับประทานอาหารของผู้อื่น จากสีหน้าและอากัปกิริยาของผู้ที่รับประทานอาหารอยู่ ที่แสดงความเพลิดเพลินและแสดงความพอใจในรสอาหารนั้น ซึ่งเป็นเครื่องแสดงว่าอาหารนั้นต้องอร่อย นี้เป็นแค่จินตามยปัญญาเท่านั้น ส่วนกรณีที่สามคือภาวนามยปัญญา เขาได้ลิ้มรสอาหารด้วยตัวของเขาเอง เขารู้รสอาหารว่าเอร็ดอร่อยมากน้อยอย่างไร กรณีที่สามนี้เท่านั้นที่จะให้ผลโดยตรง

ตัวอย่างในบ้างครั้งจะช่วยให้เราเข้าใจได้ชัดเจนขึ้น ฉะนั้นลองฟังอีกสักหนึ่งตัวอย่าง

ข้าพเจ้าป่วยมาก จึงไปหาหมอ หมอตรวจอาการ แล้วเขียนใบสั่งยาให้ ข้าพเจ้ารับใบสั่งยาไว้ แล้วกลับบ้านอย่างมีความสุข ข้าพเจ้ามีความเชื่อถือและศรัทธาต่อหมอคนนี้มาก และความเชื่อถือศรัทธาในตัวหมอก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร โดยปกติเราทุกคนควรจะเชื่อถือและศรัทธาในตัวหมอ แต่ถ้าความศรัทธาต่อหมอของข้าพเจ้ากลายไปเป็นความศรัทธาแบบมืดบอด แล้วจะเกิดอะไรขึ้น ข้าพเจ้าจะเอารูปถ่ายหรือรูปปั้นของหมอคนนี้ไปวางไว้บนแท่นบูชา พร้อมกับจัดวางดอกไม้ ธูปเทียนและอาหารคาวหวานเพื่อเซ่นไหว้ จากนั้นข้าพเจ้าจะจุดธูปเทียนพร้อมกับเอาใบสั่งยามาวางไว้ตรงหน้า แล้วก้มกราบสามครั้ง พร้อมกับท่องว่า “รับประทานสองเม็ดตอนเช้า สองเม็ดตอนบ่าย สองเม็ดตอนเย็น” ข้าพเจ้าจะเฝ้าแต่ท่องบ่นเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ดูๆ ไปแล้วก็เป็นความบ้าลักษะหนึ่งนั่นเอง เหมือนเป็นการเล่นเกม แต่สำหรับผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาอย่างไม่ลืมหูลืมตาแล้ว ก็มักจะมีพฤติกรรมลักษณะนี้ทั้งนั้น

กรณีที่สอง เมื่อข้าพเจ้าไปหาหมอคนนี้ ข้าพเจ้าถามว่า “หมอครับ หมอเขียนอะไรลงบนกระดาษแผ่นนี้ และมันจะช่วยผมได้อย่างไร” คำถามแบบนี้เท่ากับว่าข้าพเจ้าได้เริ่มใช้เหตุผลแล้ว และนายแพทย์ผู้นั้นก็เป็นคนมีเหตุผล เขาพยายามอธิบายให้ฟังว่า “คุณเป็นโรคนี้ ซึ่งเกิดจากเชื้อโรคตัวนี้ ผมเขียนใบสั่งยาให้คุณไปซื้อยา ถ้าคุณกินยานี้ มันก็จะไปทำลายเชื้อโรคนี้ และเมื่อใดที่เชื้อโรคนี้ถูกทำลาย คุณก็จะหายจากโรค” ข้าพเจ้าฟังแลวรู้สึกว่าหมอของข้าพเจ้าช่างเก่งเหลือเกิน เมื่อข้าพเจ้ากลับไปถึงบ้าน แทนที่จะเริ่มกินยา ข้าพเจ้ากลับไปเที่ยวคุยอวดกับเพื่อนบ้านว่าหมอของข้าพเจ้าเป็นหมอที่ดีที่สุด หมอคนอื่นล้วนไม่ได้เรื่อง ใบสั่งยาที่หมอของข้าพเจ้าให้มาเป็นของจริง ใบสั่งยาอื่นๆ ไม่ใช่ แล้วเราก็จะเฝ้าแต่ถกเถียงกันโดยไม่มีใครกินยา และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมของหมู่ชนทั้งหลาย

ท่านผู้บรรุธรรมทุกท่านรู้ว่า ความทุกข์ยากนั้นมีอยู่ทั่วไปทุกหนแห่ง ผู้คนเป็นจำนวนมากเจ็บป่วยเพราะกิเลสในใจ ด้วยความรักและความเมตตา ท่านจึงได้ให้ใบสั่งยาเขาทั้งหลาย จงรับประทานธรรมโอสถนี้เสีย แล้วท่านจะพ้นจากความทุกข์

ครั้นเวลาล่วงเลยไป ผู้คนต่างค่อยๆ พากันลืมธรรมโอสถขนานนี้ไปเสียสิ้น พวกเขาไม่ได้กินยาขนานนี้เลย แต่พวกเขากลับไปพัฒนาความยึดติด เขากลับไปยึดมั่นในองค์ศาสดาของศาสนาที่ตนนับถืออย่างงมงาย โดยเชื่อว่าศาสดาของศาสนาของเขาเป็นผู้ที่ตรัสรู้อย่างแท้จริง ศาสดาองค์อื่นไม่ใช่ ศาสดาของเขาเป็นผู้ที่เฉลียวฉลาดอย่างแท้จริง องค์อื่นไม่ใช่ ศาสดาของเขาเป็นนักบุญที่แท้จริง องค์อื่นๆ ไม่ใช่ มีแต่ตั้งหน้าถกเถียงกันระหว่างนิกายนี้กับนิกายนั้น ระหว่างนิกายนั้นกับนิกายโน้น

ความงมงายเช่นนี้ ความบ้าคลั่งเช่นนี้ เกิดขึ้นเพราะเรารับธรรมะด้วยศรัทธาอย่างมืดบอด หรือด้วยการคิดเอาตามเหตุผลของตนเท่านั้น แต่เมื่อใดที่เรารับประทานธรรมโอสถแล้ว ธรรมดาโอสถก็จะช่วยเราให้สามารถพัฒนาไปสู่ปัญญาขั้นที่สามคือภาวนามยปัญญาได้ แล้วเราก็จะได้ประจักษ์ถึงสาระและคุณค่าของธรรมะด้วยตัวของเราเอง


วันนี้วันวิสาขบูชา ถือเป็นฤกษ์งามยามดีที่จะปฏิบัติบูชาเพื่อวันหนึ่งเราจะได้มีภาวนามยปัญญากันนะครับ


ขอบคุณข้อมูลจาก Thaidhamma.net: ธรรมบรรยาย หลักสูตร 10 วัน โดยท่านอาจารย์โกเอนก้า

อ่านบทความใหม่ทุกวันที่เพจ Anontawong’s Musings: facebook.com/anontawongblog
อ่านบทความทั้งหมด anontawong.com/archives
ดาวน์โหลดหนังสือ “เกิดใหม่” anontawong.com/subscribe/