มนุษย์ชอบดูบรรทัดสุดท้าย พระเจ้าชอบดูทีละบรรทัด

2-3 วันช่วงหยุดปีใหม่นี้ ผมมักจะนึกถึงสิ่งที่เคยฟังอาจารย์ Clayton Christensen พูดไว้เรื่องการวัดความสำเร็จในชีวิต เช้านี้เลยไปลองหามาฟังอีกรอบและอยากนำมาเขียนถึงในบทความนี้ครับ

Clayton Christensen เป็นผู้คิดค้นทฤษฎี Disruption ที่อธิบายว่าองค์กรใหญ่ๆ ล่มสลายจากการถูก disrupt ได้อย่างไร ถือเป็นหนึ่งในปรมาจารย์ที่มีคนนับถือมากที่สุดในวงการธุรกิจ

แม้จะอยู่ใกล้ชิดกับตัวเลขและทุนนิยม แต่อาจารย์ Christensen ก็เป็นคนที่นับถือศาสนาอย่างเคร่งครัดเช่นกัน เขาจึงพูดถึงพระเจ้าด้วยความเชื่อมั่นและศรัทธา

Christensen บอกว่า มนุษย์เรานั้นชอบดูบรรทัดสุดท้าย ดูว่าเรามีเงินเก็บเท่าไหร่ ได้เป็นผู้บริหารระดับสูงแค่ไหน หรือถ้าเป็นบริษัท ก็จะดูว่าทำกำไรได้เท่าไหร่ มีค่า ratio ต่างๆ ที่ดูดีมั้ย (Return on Assets, Internal Rate of Return)

เหตุผลที่เราชอบดูบรรทัดสุดท้าย เพราะว่าสมองของมนุษย์นั้นมีขีดจำกัด (finite mind) เราไม่สามารถจำได้หมดหรอกว่า แต่ละวันบริษัทใช้จ่ายอะไรไปบ้าง หรือมีรายรับทางไหนบ้าง เราจึงต้องมีแผนกบัญชีมาช่วยบันทึกและสรุปออกมาเป็นรายได้รวม ต้นทุนรวม และบรรทัดสุดท้ายว่ามีกำไรหรือติดลบ

แต่พระเจ้านั้นไม่จำเป็นต้องจ้างนักบัญชี เพราะพระเจ้ามี infinite mind คือจดจำได้ทุกเรื่อง เก็บได้ทุกเม็ด

Christensen มั่นใจว่า ในวันที่เขาตายไป พระเจ้าจะไม่ได้นั่งถามว่าเขามีเงินเก็บอยู่ในบัญชีเท่าไหร่ หรือเคยครองตำแหน่งที่สูงส่งแค่ไหน

พระเจ้าจะถามเขาว่า ตอนนั้นที่ฉันให้เธอไปอยู่ในสถานการณ์นี้ เธอทำตัวอย่างไร เธอได้ใช้พรสวรรค์ที่ฉันมอบให้เธอไปทำให้ชีวิตคนรอบตัวเธอดีขึ้นรึเปล่า

พระเจ้าไม่ได้ดู ratio ไม่ได้ดูบรรทัดสุดท้าย แต่ดู line by line คือดูแต่ละบรรทัดเลยว่าในแต่ละ moment เราทำตัวอย่างไร เราใช้ความเมตตานำทาง หรือเราขาดน้ำใจเพราะมัวแต่จับจ้องจะบรรลุเป้าหมายที่พระเจ้าไม่ได้ให้ความสำคัญ

สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ที่นับถือพุทธ ผมคิดว่ามุมมองเช่นนี้ก็ยังมีประโยชน์ เพราะเราคงเคยได้ยินมาก่อนว่า ช่วงวาระสุดท้ายของชีวิต ความทรงจำต่างๆ จะย้อนคืนกลับมา สิ่งที่เราเคยทำอยู่เป็นอาจิณ ห้วงขณะที่ดีๆ และห้วงขณะที่แย่ๆ จะหวนกลับมาให้เราระลึกได้ และจิตดวงสุดท้ายเป็นอย่างไร ก็จะเป็นตัวกำหนดว่าภพภูมิถัดไปของเราจะเป็นที่ไหน

ในช่วงนาทีสุดท้าย ภาพที่เราจะมองเห็นไม่น่าจะเป็นวันที่เรามีเงินในบัญชีครบ 10 ล้านบาท หรือวันที่เราเทรดคริปโตได้กำไร 5 เด้ง หรือวันที่เราได้ขับรถเทสล่าของอีลอนมัสก์

สิ่งที่จะย้อนกลับมา คือ little moments ที่เรามีกับตัวเอง กับพ่อแม่ คู่ชีวิต ทายาท เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน หรือแม้กระทั่งคนแปลกหน้าที่ผ่านมาพบกันเพียงชั่วพริบตาในสังสารวัฏ

เราทำดีต่อกันมากเพียงพอหรือยัง เราจะวัดความสำเร็จของของเราอย่างไร

เพราะมนุษย์ชอบดูบรรทัดสุดท้าย ส่วนพระเจ้าชอบดูทีละบรรทัดครับ


ขอบคุณเนื้อหาบางส่วนจาก TedX Talks: How Will You Measure Your Life? Clay Christensen at TEDxBoston

ความรู้สึกเชื่อได้มากกว่าพระคัมภีร์

20171213_feelings2

ในหนังสือ Homo Deus ของ Yuval Noah Harrari (คนเขียน Sapiens) กล่าวไว้ว่าความรู้สึกและสัญชาติญาณนั้นเป็นกลไกอย่างหนึ่งที่วิวัฒนาการมอบให้เรามาและอาจเป็นสิ่งที่น่าเชื่อถือกว่าคำสอนของศาสดา

ถ้าคุณอ่านคัมภีร์ คุณจะได้ชุดความรู้-ความเชื่อที่อยู่ยงคงกระพันมานานนับพันปี

แต่ความรู้สึกของคุณ ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความกลัว ความหลงใหล ล้วนแล้วแต่เป็น algorithm สำหรับการอยู่รอด ซึ่งได้รับการปรับปรุงและถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นมาเป็นเวลานับแสนนับล้านปี

ดังนั้นความรู้สึกหรือ gut feelings อาจเป็นสิ่งที่เราไว้ใจได้กว่าที่คิด

แต่ก็ใช่ว่าเราควรจะเชื่อแต่ gut feelings อย่างเดียวนะครับเพราะหลายครั้ง gut feelings ก็หลอกเราได้เช่นกัน

การตัดสินใจหลายๆ อย่างมันอาจต้องมีทั้ง เหตุผล คุณธรรม และความรู้สึกประกอบกัน

เหตุผลเป็นสิ่งที่เราเรียนรู้ผ่านการเรียนการสอนในโรงเรียน ซึ่งการใช้ตรรกะนั้นมีต้นกำเนิดมาจากโสเครตีส เพลโต และอริสโตเติล 

ความรู้สึกเป็น survival mechanism ที่ผ่านการคัดกรองมานับล้านปี

ส่วนคุณธรรม-ศีลธรรมเป็นสิ่งที่มีสอนอย่างเข้มข้นในพระคัมภีร์ และเป็น survival mechanism อย่างหนึ่งเช่นกัน เพราะถ้าเราเบียดเบียนคนอื่น เราย่อมโดนเบียดเบียนกลับ เราจึงมีความรู้สึกผิด-ชอบ-ชั่ว-ดีติดตัวกันมาทุกคนอยู่แล้ว

เวลาตัดสินใจเรื่องอะไร จึงควรศึกษาข้อมูล ใช้เหตุผลในการหาข้อดี-ข้อเสีย พิจารณาว่ามันถูกศีลธรรมหรือไม่ และสุดท้ายใช้ความรู้สึกตัดสินว่าจะเอายังไงครับ

ให้ความกลัวนั่งเบาะหลัง

20170926_backseat

เมื่อวานนี้ผมได้ฟังสัมภาษณ์ของ Elizabeth Gilbert ผู้เขียน Eat Pray Love และ Big Magic

เธอบอกว่ามีีผู้คนมากมายที่เข้ามาปรึกษาเธอเกี่ยวกับการทำงานสร้างสรรค์อย่างการเขียนนิยาย วาดรูป หรือแต่งกลอน แต่สุดท้ายพวกเขาก็ไม่ได้ทำ

และต่อให้แต่ละคนมีเหตุผลร้อยแปดพันเก้าอย่างไร พอขุดลงไปลึกๆ จริงๆ ก็จะเหลืออยู่เหตุผลเดียวเสมอ คือพวกเขากำลังกลัวอยู่

กลัวว่าไม่มีพรสวรรค์ กลัวว่าจะทำได้ไม่ดีพอ กลัวว่าจะมีคนทำไปแล้ว กลัวว่าผลงานจะถูกเกลียด และที่แย่ไปกว่านั้นคือกลัวว่าจะไม่มีคนสนใจ

แล้วคนที่มาหากิลเบิร์ตก็ถามว่า ทำอย่างไรถึงจะไม่กลัว

กิลเบิร์ตบอกว่าในโลกนี้คนที่ไม่กลัวอะไรเลยมีแค่เด็กทารกกับคนป่วยทางจิตเท่านั้น

จริงๆ แล้วความกลัวเป็นสิิ่งที่จำเป็นมาก เพราะถ้าไม่มีมันเราคงไม่มีชีวิตอยู่จนถึงเดี๋ยวนี้

“ขับรถเร็วไปแล้วนะ”

“ซอยนี้มันเปลี่ยวไปหน่อย”

“ตอนนี้คลื่นเริ่มแรงแล้ว เดินเข้าฝั่งหน่อยดีกว่า”

ความกลัวจะคอยเตือนเราเสมอเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่เป็นอันตราย เราจึงควรมองความกลัวในใจเราเป็นเพื่อน

ข้อเสียของความกลัวคือมันแยกแยะไม่ค่อยออกระหว่างสถานการณ์ที่อันตรายจริงๆ กับสถานการณ์ที่ทำให้เรากังวล

ทุกครั้งที่เราทำงานสร้างสรรค์ เราจะมีความกังวล เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่าจะออกมาดีหรือไม่ เมื่อกังวลก็เลยกลัว เมื่อกลัวก็เลยไม่กล้าลงมือทำ

กิลเบิร์ตมีวิธีคุยกับความกลัวอย่างเป็นมิตร:

“Thank you so much for how much you care about me and how much you don’t want anything bad to happen to me, and I really appreciate that. Your services are probably not needed here because I’m just writing a poem. No one’s gonna die, it’s ok.”

“ขอบคุณนะที่ใส่ใจฉันและไม่อยากให้ฉันเจออะไรไม่ดี แต่ตอนนี้เธอยังไม่จำเป็นต้องออกโรงก็ได้เพราะฉันแค่จะแต่งกลอนเท่านั้นเอง ไม่มีใครตายหรอก”

เราจึงไม่ต้องเอาชนะหรือต่อสู้กับความกลัว แต่มองมันเป็นเพื่อนที่คอยห่วงใยเรา

เปรียบเสมือนตอนเราขับรถ เราอาจให้เพื่อนที่ชื่อว่าความกลัวขึ้นรถมากับเราได้ แต่เราต้องเป็นคนขับ และให้ความกลัวนั่งเบาะหลัง

จะได้ออกเดินทางกันซักที

—–

หนังสือ “Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ” เริ่มขาดตลาดแล้ว หากหาซื้อไม่ได้ สามารถสั่งออนไลน์กับผม (พร้อมลายเซ็น) ได้ที่ bit.ly/tgimorder ครับ

2 ประเด็นเรื่องความโกรธ

20170831_anger

ประเด็นที่ 1 เขาไม่ได้โกรธเรา
ผมเคยทำงานอยู่แผนกซัพพอร์ต (support) ที่ต้องคอยแก้ปัญหาให้ลูกค้า

เนื่องจากลูกค้าต้องจ่ายเงินค่าซอฟท์แวร์ให้เราเดือนละหลายแสน (เพื่อเอาไปทำรายได้เดือนละหลายล้าน) เวลาที่ซอฟท์แวร์มีปัญหาเขาจึงเสียอารมณ์ขั้นหนักหน่วง

สิ่งหนึ่งผมคอยบอกตัวเองเวลาเจอลูกค้าที่หงุดหงิดใส่ก็คือ

“เขาไม่ได้โกรธเรา เขากำลังโกรธปัญหา” (He’s not angry at you, he’s angry at the problem) แต่บังเอิญเราได้รับมอบหมายให้มาช่วยแก้ปัญหาให้เขาพอดี

ฝรั่งจึงมีคำว่า don’t take it personal คืออย่าเอา “ตัวกู” เข้าไปรองรับพลังงานลบที่ถูกปล่อยออกมาราวสะเก็ดระเบิดตะปู

ถ้าใครคนหนึ่งโกรธ แสดงว่าเขากำลังเป็นทุกข์อยู่มหาศาล เราจึงควรเห็นใจเขา และช่วยบรรเทาทุกข์ให้เขาโดยเร็วที่สุด

เพราะฉะนั้น เวลาเราเจอใครโกรธใส่ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน พ่อ แม่ แฟน หรือลูก ก็อย่าไป take it personal นะครับ

รู้ว่ายาก แต่ถ้าทำได้มันก็ดีกับทุกฝ่ายใช่มั้ย?

ประเด็นที่ 2 เราไม่ได้โกรธ เราแค่มีความโกรธ

บางทีภาษาของคนก็คลาดเคลื่อน

เวลาฝรั่งโกรธ เขาจึงพูดว่า I am angry

is am are = เป็น อยู่ คือ

เวลาพูดว่า I am angry ก็เหมือนกับจะบอกว่า ฉันคือโกรธ โกรธคือฉัน ฉันและโกรธคือเนื้อเดียวกัน

ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วภาษาที่ถูกต้องควรจะเป็น

I have anger – ฉันกำลังมีความโกรธ

I have anger จะแยกระหว่าง “ตัวเรา” กับ “ความโกรธ” ไว้ชัดเจน

ตัวเราก็ส่วนตัวเรา ความโกรธก็ส่วนความโกรธ มันเป็นแค่เพียงผู้มาเยือนแล้วเดี๋ยวเดียวมันก็ไป

ครั้งต่อไปที่เรารู้สึกโกรธขึ้นมา ก็ให้บอกตัวเองว่า I have anger ๆ ๆ ซ้ำๆ ดูนะครับ (อาจจะคล้ายๆ กับการบริกรรมว่าโกรธหนอ โกรธหนอนั่นแหละ)

แล้วถึงจุดนึงก็จะพบว่า Oops! I don’t have anger anymore 😉

—-

ขอบคุณภาพจาก Flickr: Garrett Heath

ขอบคุณคุณผู้อ่านที่อุดหนุนหนังสือเล่มแรกของผม “Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ” จนตอนนี้ติด Bestseller หมวดจิตวิทยาของซีเอ็ดครับ (https://goo.gl/e326HZ) หากใครยังไม่ได้จับจอง ยังสามารถหาซื้อได้ที่ซีเอ็ด นายอินทร์ คิโนะคุนิยะ เอเชียบุุ๊คส์ บีทูเอส และศูนย์หนังสือจุฬาครับ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ bit.ly/tgimannounce

 

ทำไมเราชอบนอนไถเฟซบุ๊คตอนดึกดื่น

20170711_facebookscrolling

ในปี 2011 มีการตีพิมพ์งานวิจัยชื่อว่า Extraneous factors in judicial decisions ซึ่งว่าด้วยการตัดสินของคณะกรรมการพักการลงโทษ (Parole Board) ในอิสราเอล

คณะกรรมการประกอบไปด้วยผู้พิพากษา 8 ท่าน โดยหน้าที่ของพวกเขาคือการพิจารณาคำขอการปล่อยตัววันละประมาณ 14-35 คน

เนื่องจากเวลามีจำกัด หลังจากฟังคำร้องขอของนักโทษแต่ละคนแล้ว คณะกรรมการจะใช้เวลาประมาณ 6 นาทีในการตัดสินว่านักโทษคนนี้จะได้กลับบ้านหรือต้องนอนคุกต่อไป

จากการวิเคราะห์ผลการพิจารณานักโทษ 1112 คน นักวิจัยพบว่าโอกาสในการได้กลับบ้านของนักโทษนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับกับว่าเป็นคดีอะไร นักโทษเป็นคนเชื้อชาติไหน หรือมีความประพฤติอย่างไร

แต่ขึ้นอยู่กับว่าคณะกรรมการหยิบคำขอนั้นขึ้นมาพิจารณาตอนกี่โมง!!

economix-14hungryjudges-custom1

ถ้าคุณเป็นนักโทษคนแรกในวันนั้นที่ได้รับการพิจารณา โอกาสที่คุณจะได้กลับบ้านมีสูงถึง 65% แต่โอกาสจะน้อยลงเรื่อยๆ และจะเหลือต่ำกว่า 10% ก่อนที่ผู้พิพากษาจะได้ไปพักทานคอฟฟี่เบรค

ถ้าคุณเป็นนักโทษคนแรกที่ได้รับการพิจารณาหลังจากที่คณะกรรมการได้พักกินกาแฟแล้ว โอกาสที่คุณจะได้รับการปล่อยตัวจะพุ่งกลับมาที่ 65% อีกครั้ง และค่อยๆ ลดลงจนเหลือประมาณ 10% ก่อนที่คณะกรรมการจะไปพักทานข้าวกลางวัน

และเช่นเคย คุณจะมีโอกาส 65% ที่จะได้กลับบ้าน หากคุณเป็นนักโทษคนแรกที่ได้รับการพิจารณาหลังพักทานข้าวเที่ยง และโอกาสจะน้อยลงเรื่อยๆ จนแทบเหลือศูนย์หากคุณเป็นนักโทษคนสุดท้ายที่ได้รับการพิจารณาในวันนั้น

นักวิจัยตั้งสมมติฐานว่า เพราะการตัดสินใจแต่ละครั้งต้องใช้พลังงานและ willpower (จิตตานุภาพ = พลังในการควบคุมจิตใจตนเอง) เมื่อสมองทำงานหนัก น้ำตาลกลูโคสในร่างกายจึงถูกใช้ไปเรื่อยๆ

พอต้องตัดสินใจหลายๆ ครั้งเข้าเหล่าผู้พิพากษาจึงเกิดภาวะการเหนื่อยล้าจากการตัดสินใจ (decision fatigue) สมองก็เลยยึดกับทางออกที่ง่ายดายและปลอดภัยที่สุด ซึ่งในกรณีนี้ก็คือการตัดสินไม่ปล่อยตัวนักโทษนั่นเอง

แต่พอผู้พิพากษาทั้ง 8 คนได้ไปพักกินกาแฟหรือทานข้าวเที่ยง willpower ก็ได้รับการเติมเต็ม คณะกรรมการจึงกลับมามีแรงตัดสินใจเรื่องยากๆ อีกครั้งหนึ่ง

การค้นพบนี้มีนัยหลายอย่าง เช่นเวลาคุณร่อนใบสมัครไปยังมหาวิทยาลัยดังๆ คุณอาจมีโอกาสได้เข้าเรียนมากกว่าคนอื่นเพียงเพราะประวัติของคุณถูกหยิบขึ้นมาพิจารณาเป็นคนแรกๆ

ในทางกลับกัน พนักงาน QC (Quality Control) ในโรงงาน ก็มีโอกาสปล่อยของไม่ได้คุณภาพให้ผ่านไป หากตอนนั้นใกล้เวลาเลิกงานแล้ว

นักวิจัยบอกว่า ในกรณีของคณะกรรมการพักการลงโทษนั้น จะให้เบรคกินขนมกินกาแฟบ่อยๆ คงไม่ใช่ทางออก (ไม่งั้นคงอ้วนตาย – อันนี้ผมคิดเอง) สิ่งที่พอจะช่วยได้คือการมี checklist ที่จะเตือนสติคณะกรรมการว่าควรจะต้องพิจารณาเหตุผลและปัจจัยอะไรบ้างเพื่อให้การตัดสินใจนั้นถูกต้องและได้มาตรฐานที่สุด ซึ่งการใช้เช็คลิสต์นี้ถือเป็นเรื่องปกติในอาชีพนักบิน แต่ในวงการอื่นๆ ไม่ค่อยได้ใช้กัน

แล้วที่จั่วหัวว่าทำไมเราชอบนอนไถเฟซบุ๊คตอนดึกดื่นล่ะ?

งานวิจัยนี้สอนให้รู้ว่า willpower นั้นเป็นเหมือนกล้ามเนื้อ ยิ่งใช้มากๆ ยิ่งล้า และทำให้การตัดสินใจด้วยเหตุด้วยผลนั้นด้อยคุณภาพลงไปเรื่อยๆ

ช่วงเวลาหมดวัน คือช่วงที่ willpower ของเราลดต่ำจนแทบเหลือศูนย์ สมองจะเริ่มคิดแบบเป็นเหตุเป็นผลไม่ค่อยได้แล้ว ดังนั้นแม้เราจะรู้อยู่แก่ใจว่าการนอนไถเฟซบุ๊คนั้นเป็นเรื่องเสียเวลาและทำให้เรานอนไม่พอ เราก็ยังคงจะนอนไถต่อไปเพราะมันง่ายและสบายดี

วิธีแก้ที่ผมลองแล้วพอจะได้ผล คือชาร์จมือถือไว้ให้ไกลหูไกลตา ก่อนจะนอนก็อย่าเดินไปหยิบมันขึ้นมาเป็นอันขาด เพราะเกือบจะร้อยละร้อย “เราจะแพ้” เสมอ

พรุ่งนี้จะขอมาเล่าต่อว่าเราจะใช้ประโยชน์จากธรรมชาติของ willpower ได้อย่างไรนะครับ

—–

หนังสือ The One Thing by Garry Keller with Jay Papasan

งานวิจัย Extraneous factors in judicial decisions by Shai Danzigera, Jonathan Levavb, and Liora Avnaim-Pessoa

The New York Times Economix – Up for Parole? Better Hope You’re First on the Docket by Binyamin Appelbaum

Beyond the times by Walter Frick – Don’t blog on an empty stomach

Gotoknow คณะกรรมการพักการลงโทษ (Parole Board) โดยวินัย เจริญเฉลิมศักดิ์ (น.ม.)

ขอบคุณภาพกราฟจาก New York Times