ขั้วตรงข้ามของความสำเร็จไม่ใช่ความล้มเหลว

จริงๆ แล้วความล้มเหลวเป็น milestone ของความสำเร็จ

เพราะเมื่อเราผิดพลาดหรือคาดการณ์ผิด นั่นคือ mini failures และสิ่งที่ได้กลับมาคือการเรียนรู้

เมื่อรู้แล้วไม่ทำผิดซ้ำ เราก็จะก้าวต่อไปได้อีกขั้น เดินไปต่อได้อีกวัน แล้วเราก็จะเจอโจทย์ใหม่ๆ ให้เราผิดพลาดและล้มเหลวไปเรื่อยๆ

ยิ่งเผชิญและแก้ไขข้อผิดพลาดและล้มเหลวเท่าไหร่ ก็ยิ่งเข้าใกล้ความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น

ถ้าอย่างนั้นแล้วขั้วตรงข้ามของความสำเร็จคืออะไร?

คือการไม่ลงมือทำ

เพราะการไม่ลงมือทำ ก็เหมือนกับการไม่ได้ออกวิ่ง ณ จุดสตาร์ท

ถ้าเปรียบเป็นการวิ่งทางไกล จุด START คือการลงมือ Checkpoints คือความล้มเหลว และจุด FINISH คือความสำเร็จ

ดังนั้น หากได้ออกวิ่ง ไม่รีบร้อนเร่งฝีเท้าจนหมดแรงไปเสียก่อน เราจะค่อยๆ วิ่งผ่าน checkpoints ไปเรื่อยๆ

เก็บ checkpoints ครบเมื่อไหร่ ก็ถึงเส้นชัยได้แน่นอนครับ

รองประธานฝ่ายคอขวด

รองประธานฝ่ายคอขวด

ปัญหาอย่างหนึ่งที่ผู้จัดการหรือผู้บริหารมักจะเจอกันคือทำงานไม่ทัน

เหตุผลมีด้วยกันหลายอย่าง แต่ถ้าเป็นเหตุผลคลาสสิคก็จะประมาณ 3 ข้อนี้

– งานเกือบทุกอย่างยังต้องให้เราอนุมัติอยู่

– ลูกทีมยังทำงานไม่ได้ดั่งใจ

– เราชอบเอางานมาทำเอง เพราะว่าเสร็จเร็วกว่า คุณภาพดีกว่า ไม่ต้องเสียเวลาสอน

เมื่อเรายังปล่อยวางความรู้สึกอยากเป็นคนสำคัญไม่ได้จนต้องเข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกเรื่องในทีม ต่อให้เราทำงานวันละ 10 ชั่วโมงก็ยังทำงานไม่ทันไม่อยู่ดี

ยิ่งมีเรื่องให้เราต้องตัดสินใจมากเท่าไหร่ งานก็ยิ่งคั่งค้างมากเท่านั้น เมื่อตัดสินใจไม่ได้งานก็ไม่ออก ทุกอย่างเลยช้าไปหมด

หัวหน้าหลายคนเลยมีตำแหน่งกิตติมศักดิ์ที่ชื่อว่า VP of Bottlenecking – รองประธานฝ่ายคอขวด

ถ้าเราไม่ได้นิยมชมชอบตำแหน่งนี้ ก็แก้ไขได้โดยการ

– ไว้ใจลูกทีมให้มากขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมาเขายังไม่ได้แสดงหลักฐานให้เราไว้ใจก็ตาม

– กระจายอำนาจ โดยเริ่มต้นจากงานที่ไม่ได้ critical มากนัก

– หักห้ามใจไม่ลงไปทำงานที่ไม่ต้องเป็นเราทำก็ได้

– ให้เวลากับการโค้ชน้อง เขาจะได้เก่งขึ้น มีอนาคต และมาช่วยแบ่งเบาภาระเราได้

ขอให้หลุดพ้นจากการเป็น VP of Bottlenecking ในเร็ววันนะครับ

—–


ขอบคุณประกายความคิดจากหนังสือ The Coaching Habit by Michael Bungay Stanier

เหตุผลที่ผู้ชายควรวิดพื้นให้ได้ 40 ครั้ง

เมื่อต้นปี 2019 ฮาร์วาร์ดได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยที่มีผู้เข้าร่วมเป็นนักดับเพลิง 1,104 คน อายุเฉลี่ย 40 ปี และยังไม่มีใครเป็นโรคหัวใจ

ทุกคนต้องวิดพื้นให้ได้มากที่สุดใน 1 นาที รวมถึงวัดความฟิตบนลู่วิ่งไฟฟ้าด้วย

หลังจากเวลาผ่านไป 10 ปี นักวิจัยก็พบว่าคนที่วิดพื้นได้มากที่สุดมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจน้อยที่สุด

ถ้าดูข้อมูลให้ลึกลงไปอีก คนที่วิดพื้นได้ไม่น้อยกว่า 40 ครั้งมีโอกาสเป็นโรคหัวใจน้อยกว่าคนที่วิดพื้นได้ไม่ถึง 10 ครั้งถึง 96%!

คนที่วิดพื้นได้ 11 ครั้งขึ้นไปก็มีโอกาสเป็นโรคหัวใจน้อยลงเช่นกัน และยิ่งวิดพื้นได้มากเท่าไหร่ โอกาสเป็นโรคหัวใจก็น้อยลงเท่านั้น

หากดูผลวัดความฟิตบนลู่วิ่งไฟฟ้าก็สามารถบอกโอกาสการเป็นโรคหัวใจได้เช่นกัน โดยมีความแม่นยำพอๆ กับความสามารถในการวิดพื้น

คงต้องขอจบบทความแต่เพียงเท่านี้ เพราะจะรีบไปวิดพื้นครับ


ขอบคุณเนื้อหาจาก Harvard Health Publishing: More push-ups may mean less risk of heart problems