อย่าไปกลัวคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา

จงกลัวคนที่ไม่เห็นด้วยกับเราแต่ไม่กล้าพูดมันออกมาตรงๆ

The people to fear are not those who disagree with you, but those who disagree with you and are too cowardly to let you know.

– Napoleon Bonaparte

ในการทำงาน การมองเห็นไม่ตรงกันเป็นเรื่องดี เพราะนั่นแสดงว่ามันมีโอกาสที่ทีมงานจะเจอความคิดที่ดีกว่า

สิ่งสำคัญก็คือต้องสร้างบรรยากาศให้คนที่ไม่เห็นด้วยนั้นกล้าพูดความคิดของตัวเองออกมา และเมื่อเขาพูดแล้วต้องไม่โดนดูเบาหรือโดนดูถูก ไม่อย่างนั้นเขาก็จะไม่อยากพูดอะไรอีกในอนาคต

คนที่กล้าพูดเวลาไม่เห็นด้วยกับเราจึงเป็นกัลยาณมิตรที่ต้องรักษาเอาไว้

ส่วนคนที่เราต้องระวังให้มากที่สุดคือคนที่ในที่ประชุมพูดอย่าง พอออกจากห้องไปแล้วทำอีกอย่าง

ยิ่งเราอยู่สูงเท่าไหร่ ยิ่งต้องเก็บคนที่กล้าเห็นต่างไว้ข้างตัว

ถ้ารอบกายมีแต่คนเออออห่อหมก ก็ขอให้ระลึกได้ว่านี่คือสัญญาณไม่ดีครับ

ยากที่สุดคือคุ้มค่าที่สุด

เวลาพนักงานที่บริษัทผ่านช่วงทดลองงาน ผมจะนัดคุยกับเขาประมาณ 15-20 นาทีเพื่อทำความรู้จักและสอบถามสารทุกข์สุกดิบ

หนึ่งในคำถามที่ผมมักจะถามเสมอก็คือ ตั้งแต่ทำงานที่นี่มา มีช่วงเวลาไหนที่เครียดที่สุดมั้ย

พนักงานมักจะเล่าถึงช่วงเวลาที่ทำโปรเจ็คยากๆ ที่โดนหัวหน้าว่า ที่โดนลูกค้ากดดัน ที่อดตาหลับขับตานอน ที่ไม่รู้ว่าจะทำสำเร็จรึเปล่า

คำถามถัดมาของผมก็คือ มีผลงานไหนที่ภูมิใจเป็นพิเศษ

เกินกว่าครึ่งจะตอบว่า มันก็คือโปรเจ็คที่ทำให้เครียดมากที่สุดนี่แหละ!

นี่คือความย้อนแย้งอย่างหนึ่ง – สิ่งที่ทำให้เราทุกข์ใจได้มากที่สุด ก็อาจแปรเปลี่ยนเป็นสิ่งที่ทำให้เราอิ่มใจได้มากที่สุดเช่นกัน

ดังนั้น ถ้าเรากำลังเผชิญกับปัญหาหนักๆ ก็อย่าเพิ่งท้อแท้หรือตีอกชกตัว

ปัญหาทุกเรื่องมีทางออก อาจต้องใช้เวลา อาจต้องใช้ความพยายาม อาจต้องใช้ความช่วยเหลือ

แต่เมื่อผ่านมันมาได้ เราจะเติบโตกว่าเดิม และมองกลับมาด้วยความรู้สึกขอบคุณ

เพราะยากที่สุดคือคุ้มค่าที่สุดครับ

15 วิหคกลยุทธ์ของคนทำงาน

  1. กลยุทธ์บลูเบิร์ด ทำตัวร่าเริง สถานการณ์ยากลำบากแค่ไหนก็ไม่หวั่น
  2. กลยุทธ์นกแแก้ว เลียนแบบนกรอบตัว พยายามทำตัวให้เหมือนคนอื่นมากที่สุดเพื่อให้ได้รับการยอมรับ
  3. กลยุทธ์นกกระจอก วางตัวเป็นกลางและพยายามทำตัวให้กลมกลืนไปกับสภาพแวดล้อม อย่าดึงดูดความสนใจจะได้ไม่ถูกเพ่งเล็ง
  4. กลยุทธ์ฮัมมิงเบิร์ด เคลื่อนที่อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสูง (เพราะการยิงเป้าเคลื่อนที่เป็นเรื่องยาก)
  5. กลยุทธ์นกคีรีบูน ทำตัวให้มีสีสันและมีเสน่ห์ พยายามทำตัวให้เป็นจุดสนใจในองค์กรอยู่เสมอ
  6. กลยุทธ์หงส์ ทำหน้าที่ของตัวเองและได้รับการยอมรับนับถือจากการวางตัวอย่างงามสง่า
  7. กลยุทธ์แร้ง อย่าสนใจที่คุณดูไม่เข้าพวก ทำให้ตัวเองกลายเป็นคนสำคัญด้วยการทำงานที่คนอื่นไม่อยากทำ
  8. กลยุทธ์นกฮูก ทำตัวให้มีคุณค่าและมีความสำคัญ โดยเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านที่องค์การต้องการ
  9. กลยุทธ์เหยี่ยว ทำตัวให้มีคุณค่าด้วยการเป็นนักล่าที่เปี่ยมทักษะ โดยนำแนวคิดและโอกาสใหม่ๆ เข้าสู่องค์กร
  10. กลยุทธ์นกพิราบ ทำตัวเป็นผู้รักสันติ และนักแก้ไขปัญหา
  11. กลยุทธ์นกอินทรี บินสูงเหนือสถานการณ์และเล่นบทบาทผู้นำในการเปลี่ยนแปลงองค์กรไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
  12. กลยุทธ์นกยูง แสดงความสามารถและผลงานอันยอดเยี่ยมจนคนอื่นๆ ต้องตะลึง
  13. กลยุทธ์นกกระจอกเทศ เอาหัวมุดทราย แกล้งทำเป็นว่าไม่มีอะไรผิดปกติ
  14. กลยุทธ์ไก่ หมอบกลัวและพร่ำบ่นถึงเรื่องแย่ๆ แต่ไม่กล้าทำอะไรเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์
  15. กลยุทธ์ห่าน ตัดอกตัดใจแล้วบินลงใต้เพื่อหาสภาพแวดล้อมใหม่ที่เป็นมิตรกว่าเดิม

เราเป็นนกตัวไหน เพื่อนร่วมงานเป็นนกตัวไหน หัวหน้าเราเป็นนกตัวไหน

ฝากไปคิดเล่นๆ ต้อนรับวันแรกของสัปดาห์ครับ


ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ “สำเร็จ” ได้ในแบบที่คุณเป็น – A Peacock in the land of Penguins by BJ Gallagher Hateley & Warren H. Schmidt สำนวนแปล นาถกมล บุญรอดพาณิชย์ สำนักพิมพ์ WeLearn