วันนี้จะดีด้วยสิ่งที่เราได้ วันหน้าจะดีด้วยสิ่งที่เราให้

ตั้งแต่เกิดจนโต เราถูกสอนว่าทำอย่างไรถึงจะได้มา

เราเรียนหนังสือเพื่อจะได้ความรู้ สอบได้คะแนนดีๆ ได้เข้าเรียนมหาลัยดังๆ ได้ทำงานที่ใช่ ได้เงินใช้ไม่ขาดมือ ได้ซื้อของและประสบการณ์

เมื่อได้มาเยอะ เราก็สามารถจับจ่ายสิ่งที่เราได้มาเพื่อหาความสุขในวันนี้

ส่วน “วันหน้า” ซึ่งอาจจะหมายถึง “วันข้างหน้า” หรือ “ชาติหน้า” ก็ตาม มันจะดีแค่ไหนขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราให้

ให้เวลา ให้ความรู้ ให้ความรัก ให้อภัย ให้โอกาส

พลังงานแห่งการให้ไม่เคยหายไปไหน มันเพียงแปรรูปไปและจะย้อนกลับมาหาเราในภายหลัง

สิ่งที่เราได้มา แม้จะสะสมได้ระดับหนึ่ง แต่มากกว่านั้นมันก็จะเริ่มไม่สร้างประโยชน์ หิวแค่ไหนก็อิ่มได้ในหนึ่งจาน นาฬิกาเยอะแค่ไหนก็ใส่ได้ทีละเรือน

แถมของที่เราได้มา เมื่อจบชีวิตนี้ก็ถือว่าจบกัน

แต่สิ่งที่เราให้ไป มันเหมือนเป็นการเอาสมบัติที่เรามีไปลงในสินทรัพย์ที่หลากหลาย และสินทรัพย์บางตัวก็มี maturity date / cash-in date ที่ยาวนานกว่าหนึ่งชีวิตมนุษย์

เราจึงต้องบาลานซ์ทั้งการให้และการได้ ต้องมีทั้ง Give and Take

ถ้าเอาแต่ให้ก็จะเป็นการเบียดเบียนตัวเองเกินไป ถ้าเอาแต่ได้ก็มองการณ์ใกล้เกินไป

จัด portfolio ของเราให้ดีเพื่อการลงทุนระยะยาว

เพราะวันนี้จะดีด้วยสิ่งที่เราได้ และวันหน้าจะดีด้วยสิ่งที่เราให้ครับ

ใช้เงินซื้อความทรงจำ

สิ่งของที่เราซื้อมาวันนี้ จะหายไปหมดในอีก 20 ปีข้างหน้า

แต่ประสบการณ์ แม้จะผ่านไป 20 ปี ก็ยังสุขทุกครั้งที่คิดถึง

ถ้าชีวิตคือเวลา 80 ปีที่เราได้มาอยู่บนโลก

“ความทรงจำ” ก็คือ “ชีวิตที่ผ่านมา”

ถ้าเงินคืออะไรก็ตามที่เราเอาเวลาและพลังชีวิตไปแลกมันมา

หากเราเอาแต่สะสมเงินหรือสะสมสิ่งของ เราก็กำลังเอาพลังชีวิตอันจำกัดไปถมบ่อที่ไร้ก้น

แต่ถ้าเราเอาพลังชีวิตไปแลกเงิน แล้วเอาเงินไปแลกความทรงจำ ความทรงจำก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราไปโดยตลอด

การสร้างความทรงจำที่ดี จึงน่าจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ามากกว่าการซื้อสิ่งของ

สิ่งของจะ depreciate หรือเสื่อมคุณค่าตามวันเวลา

ส่วนความทรงจำจะ appreciate ยิ่งเก่ายิ่ง spark joy

ถ่ายวีดีโอเก็บเอาไว้เยอะๆ ไม่ต้องกลัวเปลืองเม็ม

ใส่ใจกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้า เพราะบาง moment ที่เหมือนไม่มีอะไร อาจกลายเป็นความทรงจำล้ำค่าในภายหลัง

เมื่อได้ฉีดวัคซีนแล้ว ก็นัดกินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตา จัดทริปไปไหนต่อไหน ใช้เวลากับมนุษย์ให้มากกว่าใช้เวลากับหน้าจอ

ใช้เงินซื้อความทรงจำกันครับ

วิธีสอนลูกน้องให้ได้ผล

สมัยก่อนผมเป็นคนผูกเนคไทไม่เป็นยันเรียนจบปริญญาตรี

ถ้าต้องไปงานที่ต้องผูกเนคไท ก็จะให้เพื่อนผูกให้เสมอ

เพื่อนพยายามสอนผมอยู่หลายรอบ แต่เนื่องจากไม่ได้มีโอกาสออกงานบ่อยๆ พอถึงเวลาต้องใช้งานเลยจำไม่ได้ ก็เลยให้เพื่อนผูกให้เหมือนเดิม แถมยังแอบภูมิใจนิดๆ ด้วยว่าอยู่มาจนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครสอนเราให้ผูกเนคไทเป็น

วันหนึ่งผมเรียนจบแล้ว ไปงานเลี้ยงกับอาจารย์พิมาน ลิมปพยอม เป็นงานที่ต้องผูกเนคไทเช่นกัน

ผมใช้ท่าเดิมด้วยการเอ่ยปากขอให้อาจารย์ผูกเนคไทให้หน่อย และด้วยความเป็นอาจารย์ เขาก็ผูกไปสอนไป ไม่ต่างอะไรกับที่เพื่อนเคยทำให้ดู

แต่พอผมยื่นมือจะไปรับเนคไทมาคล้องคอ อาจารย์ก็คลายเนคไทออกแล้วพูดว่า “Now, you do it.” (อาจารย์จะพูดคุยกับนักศึกษาเป็นภาษาอังกฤษเสมอ)

“ซวยละ” ผมคิดในใจ แล้วก็ยืนผูกตรงนั้นโดยมีอาจารย์พิมานมองอยู่ ทำผิดๆ ถูกๆ แต่อาจารย์ก็ช่วยไกด์ให้ สุดท้ายผมก็ผูกเนคไทได้ด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก และไม่เคยลืมวิธีผูกเนคไทอีกเลย

เหตุการณ์คราวนั้นทั้งประทับใจและฝังใจ เวลาผมจะสอนงานน้องในทีมเลยใช้วิธีเดียวกัน

เช่นเวลาน้องใช้สูตร vlookup() ใน Excel หรือ Google Sheets ไม่เป็น ผมก็จะเขียนสูตรให้ดูและอธิบายทีละตัวว่ามันหมายความว่ายังไง พอเขียนสูตรเสร็จเรียบร้อยและได้ผลลัพธ์ที่ต้องการแล้ว ผมก็จะลบสูตรทิ้งแล้วให้น้องลองเขียนให้ดูสดๆ

เวลาผมสอน OKR (Objectives & Key Results) ให้กับพนักงานใหม่ก็เช่นกัน เมื่ออธิบายความหมายและโชว์ตัวอย่างให้ดูแล้ว ผมก็จะให้ทุกคนเขียน OKR ของตัวเอง แล้วให้เขาเล่าให้ฟังว่าทำไมถึงเขียน OKR อย่างนี้

เมื่อเราได้ฟังและได้ดู เราจะคิดเข้าข้างตัวเองว่าเราเข้าใจแล้ว

ต่อเมื่อได้ลงมือทำเท่านั้น เราถึงจะพบว่าจริงๆ แล้วเรายังไม่เข้าใจอีกหลายจุด

นี่คือกระบวนการการเรียนรู้ที่ทุกคนต้องผ่าน ถ้าอยากให้การเรียนรู้นั้นมันเกิดผลและอยู่กับเราอย่างคงทน ไม่ว่าจะเป็นการเขียน OKR ผูกสูตร vlookup หรือผูกเนคไท

นึกแล้วก็รู้สึกขอบคุณอาจารย์พิมานไม่หาย

ลองนำไปปรับใช้กันดูนะครับ

20 เรื่องที่อยากกลับไปบอกตัวเองตอนอายุ 20

  1. เล็กเชอร์โน๊ตวิชาฟิสิกส์ที่จดเอาไว้ อีกไม่กี่ปีเราจะอ่านไม่รู้เรื่องแม้แต่นิดเดียว
  2. ความก้าวหน้าในเรื่องงานนั้นเกิดจากการขยันและตั้งใจก็จริง แต่หลายครั้งการอยู่ถูกที่-ถูกเวลาก็สำคัญไม่แพ้กัน
  3. อยากได้งานตำแหน่งไหน ให้ลองอาสาไปช่วยเขาในด้านนั้นๆ ก่อน พอถึงเวลามีตำแหน่งว่างเราจะพร้อมกว่าคนอื่น
  4. เวลาทำงานอย่านั่งทับขาตัวเอง จงใช้เมาส์และจอมอนิเตอร์
  5. LTF คือการลงทุนที่คุ้มค่า ยิ่งช้าจะยิ่งมีข้อแม้มากขึ้นเรื่อยๆ
  6. Provident Fund ก็เช่นกัน เพราะเงินที่เราจะเก็บได้เป็นกอบเป็นกำคือเงินที่เรามองไม่เห็น
  7. รายได้กับความสุขไม่ได้แปรผกผันเป็นเส้นตรง ทุกอย่างตกอยู่ภายใต้ law of diminishing returns
  8. ระวังเรื่อง lifestyle creep ถ้าเรามีรายได้มากขึ้น แต่ดันใช้ของแพงขึ้น กินของแพงขึ้นจนเป็นนิสัย เราจะไม่เหลือเงินเก็บ
  9. แบ่งเงินส่วนหนึ่งให้พ่อแม่ใช้ทุกเดือน ถึงไม่ได้มากมายแต่มันหล่อเลี้ยงเขาได้
  10. อยากสนใจการเมืองไม่ว่ากัน แต่เผื่อใจไว้ด้วยว่าแม้เราจะ active แค่ไหน สุดท้ายเราก็เป็นได้แค่คนดูข้างสนามอยู่ดี
  11. ไปเที่ยวให้เยอะๆ ในอนาคตมันจะมีเหตุการณ์ให้เราไปเที่ยวไหนไม่ได้ถึง 2 ปี นายคงไม่เชื่อเราหรอก แต่มันจะเป็นอย่างนั้นจริงๆ
  12. ของใช้ของเราในวันนี้ อีก 20 ปีจะไม่เหลือแม้แต่ชิ้นเดียว ยกเว้นกีตาร์
  13. ฝึกให้เป็นคนติดหนังสือ เพราะมันจะช่วยลดอาการติดมือถือในอนาคตได้
  14. เวลาถ่ายรูปไม่ต้องเน้นรูปวิว ให้เน้นรูปคน นั่นคือสิ่งเดียวที่เราอยากกลับมาดู
  15. รูปที่มีความหมายต่อใจ อย่าแค่ไรท์ลง CD เพราะเดี๋ยวจะหาเครื่องอ่านไม่ได้ ส่งเข้าเมลตัวเองดีที่สุด
  16. อ้อ แล้วไม่ต้องไปสนใจจำนวนเพื่อนใน Hi5 หรอกนะ
  17. ถ้ามีคนที่เราชื่นชมและไว้ใจมาชวนทำสตาร์ตอัพก็ไม่ต้องลังเล
  18. ผู้หญิงเขาไม่ได้ชอบ bad boy เขาแค่ชอบคนที่ไม่แหยและทำให้เขาหัวเราะได้
  19. ไม่ต้องไปเครียดมากเรื่องเก็บเงินค่าสินสอดทองหมั้น ถ้าเจอคนที่คู่กันเดี๋ยวมันจะหาทางได้เอง
  20. หลายเรื่องที่เราฟูมฟายจะเป็นจะตาย พอเวลาผ่านไปเราจะมองกลับมาแล้วพูดว่า “ไม่เห็นมีอะไรเลย”

ฮิตเลอร์เป็นมังสวิรัติ

วันนี้เข้า Quora ไปอ่านเจอคำถาม “Where did the myth that Hitler was a vegetarian come from?” – เรื่องโกหกที่ว่าฮิตเลอร์เป็นมังสวิรัตินั้นเริ่มต้นมาจากไหน

Luke Harrison ซึ่งสนใจเรื่อง Nazi และสงครามโลกครั้งที่สองเข้ามาตอบไว้แบบนี้ครับ

นี่ไม่ใช่เรื่องโกหก

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์เป็นมังสวิรัติจริงๆ

เชื่อหรือไม่ว่าฮิตเลอร์นั้นรักสัตว์มาก มันฟังดูย้อนแย้งเมื่อใครๆ ก็รู้ว่าเขาเป็นคนที่ทำให้ผู้คนนับล้านล้มตายในยุโรป

ฮิตเลอร์ออกกฎหมายคุ้มครองสัตว์เพื่อปกป้องพวกมันจากการทำร้ายและการชำแหละ ในปีต่อมาเขาก็จำกัดฤดูกาลที่คนสามารถออกล่าสัตว์ได้ จากนั้นก็ออกกฎหมายคุ้มครองหมาป่า

ฮิตเลอร์ยังออกกฎหมายอนุรักษ์ธรรมชาติอีกหลายมาตราซึ่งส่งผลให้มีการปลูกป่าเพิ่มขึ้นและเพิ่มพื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์

เขารักหมายิ่งกว่ามนุษย์คนไหนที่เขาสนิทด้วย

ฮิตเลอร์ทานมังสวิรัติ แขกของเขาเคยออกมายอมรับว่าฮิตเลอร์จะบ่นเสมอหากแขกทานเนื้อสัตว์ “เขาจะเทศนาให้ผมฟังว่าสัตว์ต้องถูกฆ่าเพื่อมาอยู่ในจานของผม”

คนที่คอยตรวจสอบอาหารให้ฮิตเลอร์ (เพื่อป้องกันการวางยาพิษ) ล้วนบอกว่าอาหารที่ฮิตเลอร์กินนั้นไม่มีเนื้อสัตว์

ตอนชันสูตรศพฮิตเลอร์ ก็ไม่พบเศษเนื้อสัตว์ติดอยู่ในซอกฟันของฮิตเลอร์เลย นี่ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์แล้วว่าเขาเป็นมังสวิรัติจริงๆ ไม่ใช่เรื่องที่กุขึ้น


ขอบคุณข้อมูลจาก Luke Harrison’s answer to Where did the myth that Hitler was a vegetarian come from?