สมัยก่อนผมเป็นคนผูกเนคไทไม่เป็นยันเรียนจบปริญญาตรี
ถ้าต้องไปงานที่ต้องผูกเนคไท ก็จะให้เพื่อนผูกให้เสมอ
เพื่อนพยายามสอนผมอยู่หลายรอบ แต่เนื่องจากไม่ได้มีโอกาสออกงานบ่อยๆ พอถึงเวลาต้องใช้งานเลยจำไม่ได้ ก็เลยให้เพื่อนผูกให้เหมือนเดิม แถมยังแอบภูมิใจนิดๆ ด้วยว่าอยู่มาจนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครสอนเราให้ผูกเนคไทเป็น
วันหนึ่งผมเรียนจบแล้ว ไปงานเลี้ยงกับอาจารย์พิมาน ลิมปพยอม เป็นงานที่ต้องผูกเนคไทเช่นกัน
ผมใช้ท่าเดิมด้วยการเอ่ยปากขอให้อาจารย์ผูกเนคไทให้หน่อย และด้วยความเป็นอาจารย์ เขาก็ผูกไปสอนไป ไม่ต่างอะไรกับที่เพื่อนเคยทำให้ดู
แต่พอผมยื่นมือจะไปรับเนคไทมาคล้องคอ อาจารย์ก็คลายเนคไทออกแล้วพูดว่า “Now, you do it.” (อาจารย์จะพูดคุยกับนักศึกษาเป็นภาษาอังกฤษเสมอ)
“ซวยละ” ผมคิดในใจ แล้วก็ยืนผูกตรงนั้นโดยมีอาจารย์พิมานมองอยู่ ทำผิดๆ ถูกๆ แต่อาจารย์ก็ช่วยไกด์ให้ สุดท้ายผมก็ผูกเนคไทได้ด้วยตัวเองเป็นครั้งแรก และไม่เคยลืมวิธีผูกเนคไทอีกเลย
เหตุการณ์คราวนั้นทั้งประทับใจและฝังใจ เวลาผมจะสอนงานน้องในทีมเลยใช้วิธีเดียวกัน
เช่นเวลาน้องใช้สูตร vlookup() ใน Excel หรือ Google Sheets ไม่เป็น ผมก็จะเขียนสูตรให้ดูและอธิบายทีละตัวว่ามันหมายความว่ายังไง พอเขียนสูตรเสร็จเรียบร้อยและได้ผลลัพธ์ที่ต้องการแล้ว ผมก็จะลบสูตรทิ้งแล้วให้น้องลองเขียนให้ดูสดๆ
เวลาผมสอน OKR (Objectives & Key Results) ให้กับพนักงานใหม่ก็เช่นกัน เมื่ออธิบายความหมายและโชว์ตัวอย่างให้ดูแล้ว ผมก็จะให้ทุกคนเขียน OKR ของตัวเอง แล้วให้เขาเล่าให้ฟังว่าทำไมถึงเขียน OKR อย่างนี้
เมื่อเราได้ฟังและได้ดู เราจะคิดเข้าข้างตัวเองว่าเราเข้าใจแล้ว
ต่อเมื่อได้ลงมือทำเท่านั้น เราถึงจะพบว่าจริงๆ แล้วเรายังไม่เข้าใจอีกหลายจุด
นี่คือกระบวนการการเรียนรู้ที่ทุกคนต้องผ่าน ถ้าอยากให้การเรียนรู้นั้นมันเกิดผลและอยู่กับเราอย่างคงทน ไม่ว่าจะเป็นการเขียน OKR ผูกสูตร vlookup หรือผูกเนคไท
นึกแล้วก็รู้สึกขอบคุณอาจารย์พิมานไม่หาย
ลองนำไปปรับใช้กันดูนะครับ