โซเชียลหลอกให้เราแคร์ในสิ่งที่เราไม่เคยคิดจะแคร์

หนึ่งในนวัตกรรมที่สำคัญที่สุดของเฟซบุ๊คคงหนีไม่พ้น News Feed

มันคือหน้า Home ที่เราเข้ามาแล้วเจอข่าวสารต่างๆ ทั้งจากเพื่อนฝูง เพจที่เราติดตาม และเพจที่เฟซบุ๊คคิดว่าเราน่าจะชอบ

ซึ่งบางทีมันก็ดี มันทำให้เราได้เจอเรื่องใหม่ๆ ได้เจอคนใหม่ๆ หรือได้เจอเรื่องเก่าๆ ที่เราหลงลืมไปนานแล้ว

แต่ในมุมกลับกัน มันก็ทำให้เราได้พบเห็นเรื่องที่เราอาจไม่เคยคิดสนใจตั้งแต่ต้น แม้ว่ามันอาจจะอยู่ในกระแส แต่ก็เป็นหัวข้อที่เราคงไม่เคยคิดคิดจะกูเกิ้ลหาข้อมูล

ผมเคยอ่านเจอมาสักที่ว่า: The problem with social media is that they make you care about things you don’t want to care about.

เมื่อเราเอาเวลาไปแคร์เรื่องที่เราไม่ได้อยากแคร์ เราย่อมเหลือเวลาแคร์เรื่องที่ควรแคร์หรือคนที่ควรแคร์น้อยลงไปอย่างช่วยไม่ได้

บางคนอาจจะแย้งว่า ไม่ดีเหรอ ได้เปิดโลก ได้รู้เรื่องที่ไม่เคยรู้

แต่ในความเป็นจริง เราน่าจะรู้เรื่องที่ควรรู้ไปหมดแล้ว สิ่งที่เราขาดแคลนไม่ใช่ความรู้ สิ่งที่เราขาดคือทิศทาง ความต่อเนื่อง และความอดทนมากกว่า

ต่อให้วันนี้เราอ่านเรื่องราวใหม่ๆ ได้หนึ่งร้อยเรื่อง มันก็ยังมีเรื่องที่น่าสนใจนับหมื่นนับแสนเรื่องที่เราจะพลาดไปอยู่ดี ดังนั้น FOMO หรือ Fear of Missing Out จึงเป็นอาการที่ไม่สมเหตุสมผล เพราะยังไงเราก็ Miss Out แน่ๆ

ข่าวสารนั้นมีไม่จำกัด ความอยากรู้อยากเห็นของเรามีไม่จำกัด แต่เวลาของเรานั้นแสนจะจำกัด

ที่ผ่านมาเราใช้เวลากับเรื่องที่เราไม่เคยคิดจะแคร์บน news feed ไปเท่าไหร่ รวมๆ แล้วมันคุ้มค่าหรือมันน่าเสียดาย

อย่าให้วันเวลาเปล่าเปลืองไปกับเรื่องที่เราไม่เคยคิดจะแคร์เลยนะครับ

ถ้าเราชอบตัวเองมากพอ เราจะไม่ขอให้คนอื่นมาชอบเรา

หนึ่งในปรากฏการณ์ที่มาพร้อมกับ social media คือการเรียกร้องความสนใจ

ทุกครั้งที่มีคนกดไลค์รูปของเรา สมองจะหลั่งสาร dopamine เมื่อหลั่งบ่อยๆ เข้าเราก็ติดใจไม่ต่างอะไรกับการเสพติด

พวกเราส่วนใหญ่จึงน่าจะเคยโพสต์รูปแล้วลุ้นว่ารูปนี้จะมีคนมากดไลค์เท่าไหร่

ถ้าคนกดไลค์เยอะใจเราก็พองฟู ถ้าน้อยกว่าที่หวังไว้ใจก็แฟบ

เราสนใจไลค์จากคนไม่รู้จัก มากกว่าจะสนใจว่าคนใกล้ตัวจะชอบเราหรือไม่

หนักไปกว่านั้น เราสนใจไลค์จากคนไม่รู้จัก จนลืมถามตัวเองว่าเราชอบตัวเองหรือไม่ด้วยซ้ำ

ลองตั้ง notifications ดูใหม่ ใครกดไลค์ไม่ต้องมาป๊อปอัพให้เรารู้ทุกครั้งก็ได้

ลงรูปถ่ายเพราะอยากเก็บเอาไว้เป็นความทรงจำที่ดี ไม่ใช่เพื่อโฆษณาว่าชีวิตเราดีและชวนให้คนมาเชื่อ

คอยสังเกตตัวเอง ว่าจิตใจที่โหยหาให้คนอื่นยอมรับเรานั้นแปลผกผันกับการที่เรายอมรับตัวเอง

เพราะถ้าเราชอบตัวเองมากพอ เราจะไม่ร้องขอให้คนอื่นมาชอบเราครับ

เราไม่ได้ถ่ายรูปเพื่อเก็บความทรงจำ

20191125b

10 ปีที่ผ่านมาคนเราน่าจะถ่ายรูปมากขึ้น 10 เท่า

ปัจจัยแรกคือกล้องมือถือที่ถ่ายภาพสวยขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจัยที่สองคือเม็มโมรี่ที่มีความจุเป็นร้อยกิ๊กกะไบต์

แต่ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ social media

ผมเริ่มรู้สึกว่าเดี๋ยวนี้เราไม่ได้ถ่ายรูปเพื่อที่จะเก็บเอาไว้เป็นความทรงจำกันแล้ว

เราถ่ายรูปเพื่อจะเอาไว้อวดคนอื่นๆ

ว่าคู่ของเราสวีตกันแค่ไหน ที่ที่เราไปเที่ยวมันสวยอย่างไร ลูกของเราน่ารักเพียงใด

มือกดปุ่มถ่ายรูป แต่ใจคิดไปหนึ่งสเต็ปล่วงหน้าแล้วว่าภาพนี้เหมาะเอาขึ้น IG

สิ่งที่เคยเป็นเรื่องส่วนตัวจึงกลายเป็นเรื่องสาธารณะ

ฝรั่งก็ออกมาเตือนคนที่แชร์เรื่องตัวเองบ่อยๆ ว่ามันอาจกระทบเรื่องความปลอดภัยนะ

เช่นถ้าเราโพสต์ว่ากำลังไปเที่ยวเมืองนอก นั่นก็แสดงว่าไม่มีคนอยู่บ้าน ซึ่งถ้าข้อมูลนี้ตกถึงมือโจรผู้ร้ายก็ย่อมเพิ่มความเสี่ยง

แต่ก็อีกนั่นแหละ สำหรับเมืองไทย การที่เราไปเที่ยวก็ไม่ได้แสดงว่าจะไม่มีคนอยู่บ้าน

สิ่งที่ผมเป็นห่วงมากกว่าก็คือการที่เราติดนิสัยเอาเรื่องส่วนตัวไปบอกส่วนรวม จนวันหนึ่งเราสูญเสียความสามารถในการจำแนกแยกแยะระหว่างสองเรื่องนี้

จนอาจจะทำให้เราโพสต์อะไรบางอย่างที่ไม่เหมาะสมออกไป โดยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ามันไม่เหมาะไม่ควรครับ

สองเอสที่ควรจำไว้เสมอ

20150305_2S

เมื่อประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว บริษัทผมจัดเทรนนิ่งเรื่อง Emotional Intelligence หรือ EQ นั่นเอง

คนสอนเป็นชาวสิงคโปร์ชื่อ Dr.Leonard Young ครับ

เรื่องที่เขาสอนนั้นผมเก็บเข้ากรุไปเกือบหมดแล้ว ตอนนี้ที่พอนึกออกมีแค่สามเรื่อง

1. เรื่องอาหารทะเล
2. เรื่องการติดกับดักทางความคิด
3. เรื่องสองเอสในชีวิตคนเรา

เรื่องแรก ลีโอนาร์ดบอกว่า ควรจะหลีกเลี่ยงสัตว์ทะเลที่มีกระดองทั้งหลาย เพราะไม่ดีต่อสุขภาพแถมยังสกปรกเพราะหาอยู่หากินในก้นทะเล

เขาเปรียบเทียบง่ายๆ ว่าพวก กุ้ง กั้ง หอย ปู พวกนี้มันคือ sea cockroach หรือ แมลงสาบทะเลดีๆ นี่เอง

ก็ฟังดูมีเหตุผลครับ ตอนนี้ผมก็ยังกินอยู่ดี เพียงแต่ไม่ค่อยบ่อยเพราะมันแพง

เรื่องที่สอง เรื่องการติดกับดักทางความคิดนั้น ผมขอเก็บไว้เล่าวันหลังนะครับ

มาเข้าเรื่องที่สามซึ่งเป็นประเด็นหลักของวันนี้ดีกว่า

เขาบอกว่าคนเราทุกคนต้องการจริงๆ แค่สองอย่างเท่านั้น:

  • Security
  • Significance

ทุกคนอยากรู้สึกปลอดภัย และทุกคนอยากรู้สึกว่าตัวเองสำคัญ

เราสามารถใช้แค่สองเอสนี้มาทำความเข้าใจและอธิบายเรื่องต่างๆ ในชีวิตเราได้ดีทีเดียว เช่น

–ชีวิตทำงาน–
เราทำงานเพื่อจะมีรายได้
เรามีเงินเพื่อที่ได้ซื้อปัจจัยสี่และสิ่งอื่นๆ ที่เราต้องการ
การมีปัจจัยสี่ทำให้เรารู้สึกปลอดภัย (security)
ส่วนคนที่เอาไปเงินไปทำสิ่งอื่นที่เกินจากปัจจัยสี่ ก็เพราะมันทำให้เรารู้สึกสำคัญหรือมีความหมาย (เช่นไปซื้อของแบรนด์เนม หรือนำเงินไปช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส)

ในขณะเดียวกัน การทำงานไม่ได้ให้แค่เงินเท่านั้น
แต่ให้โอกาสเราได้ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ ได้ใช้ความสามารถที่เรามี และได้พัฒนาตัวเอง
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนตอบโจทย์เรื่อง Significance

ในฐานะเจ้านาย ถ้าอยากให้ลูกน้องอยู่กับเรานานๆ ก็ต้องช่วยให้เขาได้รับทั้ง Security และ Significance

อาจจะเป็นการให้กำลังใจ หรือให้ข้อมูลเวลาที่ฟ้าฝนไม่เป็นใจ (Security) หรือจะเป็นการชมเชยเวลาที่เขาทำงานได้ดี (Significance)

–ชีวิตคู่–
การแต่งงานกัน นอกจากจะเป็นเรื่องของความรักแล้ว ยังเป็นเรื่อง Security อีกด้วย

จริงๆ แล้วการแต่งงานในสมัยก่อน ใช้เหตุผลเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจมากกว่าความรู้สึกทางจิตใจด้วยซ้ำไป

เวลาชีวิตคู่มีปัญหา ก็มักเป็นเพราะว่าเราไม่ตอบโจทย์ security หรือ significance ของอีกฝ่าย

ถ้าเราเป็นฝ่ายชาย ใช้ชีวิตไปวันๆ ไม่มีความก้าวหน้า ผู้หญิงก็ต้องเริ่มคิดแล้วว่าจะฝากชีวิตไว้กับคนๆ นี้ได้มั้ย

หรือถ้าเราไปมีเล็กมีน้อยกับคนนั้นคนนี้ ย่อมทำให้ผู้หญิงรู้สึกไม่ปลอดภัยเป็นธรรมดา

หรือถ้าผู้ชายไม่เคยชม ไม่เคยโทร.หาผู้หญิง หรือลืมวันสำคัญๆ ผู้หญิงก็ย่อมรู้สึกขาด significance

ในทางกลับกัน ถ้าผู้หญิงไม่ช่วยดูแลบ้านช่องหรือเอาใจสามีบ้าง ความรู้สึกเรื่อง security และ significance ของผู้ชายก็ย่อมถูกกระเทือนเช่นกัน

– ชีวิตธรรม —

เราสวดมนต์ ไหว้พระ เพราะเชื่อว่าท่านจะคุ้มครองเราให้รอดพ้นจากอันตราย ซึ่งก็ตอบโจทย์ด้าน Security

บางคนก็มุ่งไปไกลกว่านั้น คือทำบุญเป็นอาจิณและรักษาศีลเป็นประจำ เพื่อเพิ่มความมั่นใจว่า ชาติหน้าจะได้ไปเกิดในภพภูมิที่ดี

หรือบางคนอาจจะหวังมากขึ้นไปอีกขั้น ด้วยการฝึกวิปัสสนา และถ้าปัจจัยทุกอย่างเกื้อหนุนจนได้เป็นพระโสดาบัน ก็ถือเป็นการปิดประตูอบายภูมิ ไม่มีวันไปเกิดในภพที่ต่ำกว่าภพมนุษย์ได้อีก นี่ก็นับเป็นเรื่อง security อีกเช่นกัน

ถ้ามองในแง่ Significance การปฏิบัติธรรมเพื่อให้ได้มรรคผลหรือดำเนินตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้านั้น ก็คือการเชื่อมั่นว่าชีวิตของเรามีเป้าหมายมากกว่าการก้าวหน้าแค่ทางกายภาพอย่างเดียว

—–

ถ้าเรามอบ security & significance ให้ใคร ผมค่อนข้างมั่นใจว่าเขาจะมอบสิ่งดีๆ กลับมาให้เราด้วยเช่นกัน

ลองดูนะครับ ผมว่าเราสามารถเอาคอนเซ็ปต์สองเอสนี่นำไปใช้ได้กับเกือบทุกสถานการณ์เลยล่ะ

ได้ผลยังไงอย่าลืมมาบอกกันบ้างนะครับ

คิดก่อนซื้อ

20150302_WeBuyThingsWeDontNeed

คนเราชอบซื้อของที่ไม่จำเป็น ด้วยเงินที่เรายังไม่มี เพื่ออวดคนที่เราไม่ชอบ
– เดฟ แรมซี่ย์

อ่านข้อความนี้แล้วก็ต้องมาสำรวจตัวเองว่าเป็นอย่างที่เขาว่ารึเปล่า

ตามความเข้าใจของผม money we don’t have คงหมายถึงเงินที่กู้ยืมเขามา หรือเงินที่ยังไม่เข้าบัญชีแต่ใช้บัตรเครดิตจ่ายไปก่อน

ผมมีใช้บัตรเครดิตซื้อของอยู่บ้าง แต่ส่วนใหญ่เพื่อความสะดวก หรือเพราะซื้อของออนไลน์ มากกว่าใช้บัตรเพราะยังไม่มีเงินจ่าย

พยายามทบทวนตัวเองว่าเคยซื้อของเพื่อจะอวดใครรึเปล่า ตอนนี้ก็ยังคิดไม่ออก (หรืออาจจะทำไปโดยไม่รู้ตัวก็ได้)

แสดงว่าอย่างน้อยโดยนิสัยแล้ว ผมก็ไม่ได้ซื้อของเพื่ออวดใครหรือใช้เงินที่ตัวเองไม่มี (ยกเว้นเรื่องซื้อบ้าน)

เหลือแค่เรื่องเดียวคือ Buy things we don’t need

ผมเองเป็นคนที่ไม่ค่อยชอบชอปปิ้งเท่าไหร่

สินค้าที่ผมเคยใช้เงินเกินหนึ่งหมื่นบาทซื้อมีแค่สามอย่าง คือ แม็คบุ๊คโปร รถยนต์นิสสันอัลมีรา และซัมซุงสมาร์ททีวี (ผมไม่เคยซื้อสมาร์ทโฟน ก่อนหน้านี้ได้รับมรดกจากน้องชาย และเครื่องล่าสุดที่กำลังใช้อยู่ก็เป็นเครื่องที่บริษัทให้มา)

ในบรรดาสามอย่างนี้ เหมือนจะมีแค่รถเท่านั้นที่ใช้คุ้ม

แม็คบุ๊ค จำได้ว่าเพราะโบนัสเพิ่งออก และอยากจะลองเอามาอัดเพลงและตัดต่อหนัง แต่เหตุผลจริงๆ คือมันก็ดูโก้ชะมัด

แต่มา ณ ตอนนี้ ผมเปิดใช้เดือนละครั้งสองครั้งเท่านั้นเอง เพราะรู้ตัวแล้วว่าไม่ค่อยถูกโฉลกกับผลิตภัณฑ์ของแอปเปิ้ลเท่าไหร่ (เคยลองใช้ทั้ง iPod และ iPhone แล้วก็ไม่ชอบ ผมคงเป็นคนส่วนน้อยสินะ)

ส่วนสมาร์ททีวี ผมกับแฟนที่หุ้นกันซื้อทีวีเครื่องนี้ก็แซวกันเองบ่อยๆ ว่าสมาร์ททีวี แต่สติ๊วปิดยูสเซอร์นะ! เพราะซื้อโดอยใช้อารมณ์ล้วนๆ ไม่ได้ศึกษาก่อนว่ายี่ห้อไหนดี ไม่ดี แค่คิดว่าเออมือถือที่เราใช้มันเจ๋ง ทีวีก็คงเจ๋งด้วยมั้ง แต่ปรากฎว่าพอซื้อมาจึงพบว่าฟังชั่นยังขาดๆ เกินๆ  แถมธรรมดาเราก็แทบไม่ได้ดูทีวีเลย โดยเฉลี่ยแล้วเปิดทีวีไม่เกินสัปดาห์ละหนึ่งชั่วโมง คุ้มจริงๆ

เวลาเราซื้อ things we don’t need นอกจากเสียเงินแล้ว ยังเสียพื้นที่ว่างถึงสามรอบ

ทั้งพื้นที่ว่างทางกายภาพ พื้นที่ว่างทางสมอง และพื้นที่ว่างทางเวลา

เพราะพอมีของ ก็ต้องหาที่วาง ต้องมานั่งคิดว่าจะทำยังไงกับมัน และต้องเสียเวลาทำความสะอาดและดูแลรักษา ทั้งๆ ที่เราแทบไม่ได้ใช้ประโยชน์จากมันเลย

คราวหน้าจะเอาอะไรเข้าบ้าน คงต้องคิดให้รอบคอบกว่านี้