นิทานโจรกระจอก

20200729c

วันนี้วันศุกร์ มาฟังนิทานกันนะครับ

กลางดึก ท่านสืออูได้ยินเสียงก๊อกแก๊กดังอยู่ในห้อง จึงร้องถามขึ้นมา

“สว่างแล้วรึ”

“ยัง เพิ่งจะเที่ยงคืน”

“เจ้าเป็นใครกันแน่”

“หัวขโมย”

“อ้อ…ขโมยดอกหรือ เจ้าขโมยมากี่ครั้งแล้ว”

“นับครั้งไม่ถ้วน”

“ทุกครั้งที่ขโมย มีความสุขได้นานเท่าไหร่”

“แล้วแต่มูลค่าของของที่ขโมยมาได้”

“ครั้งที่มีความสุขที่สุด สุขได้นานแค่ไหน”

“ก็ไม่กี่วัน หลังจากนั้นก็ไม่มีความสุขอีกแล้ว”

“ที่แท้ก็โจรกระจอก ทำไมไม่ขโมยเยอะๆ ครั้งใหญ่ๆ สักครั้งล่ะ”

“ที่แท้ก็พวกเดียวกันดอกหรือ เจ้าขโมยมากี่ครั้งแล้ว”

“ครั้งเดียว”

“แค่ครั้งเดียวดอกหรือ”

“ใช่ แค่ครั้งเดียว แต่มีความสุขเสพไม่สิ้นทั้งชีวิต”

“เจ้าขโมยอะไรมา สอนข้าได้ไหม”

“ไอ้นี่ไง เจ้ารู้จักไหม” ท่านสืออูชี้ไปที่หัวของตนเอง

—–

ขอบคุณนิทานจากเพจ นิทานเซน

การใช้เงิน 4 แบบ

20200729b

ใช้เงินตัวเองซื้อของให้ตัวเอง

ใช้เงินตัวเองซื้อของให้คนอื่น

ใช้เงินคนอื่นซื้อของให้ตัวเอง

ใช้เงินคนอื่นซื้อของให้คนอื่น

ใช้เงินตัวเองซื้อของให้ตัวเอง อันนี้ตรงไปตรงมา ทำกันประจำ เราจะซื้อของที่เราอยากได้ และเป็นของที่เราคิดมาแล้วว่าคุ้มค่า

ใช้เงินตัวเองซื้อของให้คนอื่น เช่นการซื้อของขวัญวันเกิด ตรงนี้เราก็จะมีความใส่ใจเช่นกัน เราจะทำการบ้าน จะไปค้นหาว่าเขาอยากได้อะไร ของที่เราซื้อให้ก็เป็นของคุณภาพดี บางทีดีกว่าของที่เขาจะซื้อให้ตัวเองด้วยซ้ำไป

ใช้เงินคนอื่นซื้อของให้ตัวเอง เช่นผู้บริหารใช้เงินบริษ้ท อันนี้เราจะกล้าใช้จ่ายเต็มที่ ตราบใดที่ยังอยู่ในงบ อาจจะมีความสุรุ่ยสุร่ายอยู่บ้างเพราะยังไงมันก็ไม่ใช่เงินเราเอง แต่อย่างน้อยเราก็ยังต้องการของที่มีคุณภาพและคุ้มค่า

ใช้เงินคนอื่นซื้อของให้คนอื่น เช่นรัฐบาลใช้เงินภาษีของประชาชน ซึ่งเปราะบางมาก มีแนวโน้มที่จะใช้เงินอย่างสุรุ่ยสุร่ายเพื่อซื้อของที่เขาไม่ได้อยากได้ แถมยังเป็นของคุณภาพต่ำและไม่ค่อยคุ้มค่าอีกด้วย

การใช้เงินสี่แบบก็จะมีธรรมชาติเช่นนี้ และใช้อธิบายปรากฎการณ์ที่เราเห็นกับตัวเอง คนรอบตัว และคนในสังคมได้เป็นอย่างดีครับ

เสียงในหัวไม่ใช่ตัวเรา

20200729

ดังนั้นอย่าไปฟังมันมาก

ให้ถือว่ามันเป็นเพื่อนสนิทที่เรารู้จักดีมาตั้งแต่วัยเยาว์

เพื่อนคนนี้คุ้มดีคุ้มร้าย เหมือนเทวดากับซาตานตัวน้อยที่เกาะไหล่ซ้ายและไหล่ขวา เราแยกแยะได้อยู่แล้วว่าตัวไหนดี ตัวไหนร้าย เพื่อพูดดีก็ฟังเอาไว้ เมื่อพูดไม่ดีเราก็รับฟังได้แต่ไม่ต้องไปเออออ

ความทุกข์เกิดขึ้นเพราะเราดันไปเชื่อฟังเสียงในหัวของมากเกินไป ดันไปเผลอยึดว่ามันคือเสียงของเราเอง

เมื่อเราตระหนักได้ว่า เสียงในหัวก็คนหนึ่ง คนที่ได้ยินเสียงก็อีกคนหนึ่ง เราจะเป็นอิสระจากมันได้มากขึ้นครับ

ความเข้าใจมาช้ากว่าความเจ็บปวดเสมอ

20200728

ความเจ็บปวดเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

ตราบใดที่เรายังมีชีวิต ความเจ็บปวดทั้งทางกายและใจก็จะแวะเวียนมาหาเราอยู่เรื่อยๆ

ความเจ็บปวดยังนำมาซึ่งความเติบโตอีกด้วย

เมื่อเราวิดพื้น ทำแพลงค์ หรือยกเวท เราจะสร้างความเจ็บปวดให้กับกล้ามเนื้อ อาจถึงขั้นไฟเบอร์ในกล้ามเนื้อบางส่วนฉีกขาดด้วยซ้ำไป แต่ร่างกายนั้นมีกลไกในการ overcompensate หรือการ “ชดเชยเผื่อ” ซึ่งนำไปสู่การซ่อมแซมตัวเองที่ทำให้กล้ามเนื้อเหล่านั้นกลับมาแข็งแรงยิ่งกว่าเดิม

ความเจ็บปวดทางใจก็เช่นกัน เมื่อพรากจากของที่รัก หรือต้องประสบกับสิ่งไม่ชอบ เราจะเจ็บปวด เราจะไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องมาเจอแบบนี้

แต่กล้ามเนื้อทางใจนั้นมันไม่ได้ overcompensate เหมือนกล้ามเนื้อทางกายเสมอไป อาจต้องเจอความเจ็บปวดซ้ำๆ จนกว่าเราจะเข้าใจว่ามันเป็นเรื่องธรรมดา

เมื่อนั้นกล้ามเนื้อใจเราจะแข็งแรงขึ้น และทรมานกับความเจ็บปวดเหล่านั้นได้สั้นลง

ความเจ็บปวดมาก่อนความเข้าใจเสมอ

ถ้าเรากำลังเจ็บปวดอยู่ ให้บอกตัวเองว่าความเข้าใจกำลังจะตามมาในอีกไม่ช้านะครับ

—–

ขอบคุณประกายความคิดจากหนังสือ ปาฏิหาริย์แห่งความเงียบ โดย พศิน อินทรวงศ์

เหตุผลที่เราควรงีบตอนบ่าย

20200726

ช่วงนี้กิจวัตรวันสุดสัปดาห์ที่ผมกับแฟนโปรดปรานเป็นพิเศษคือการนอนกลางวันพร้อมลูกๆ

(ณ ตอนที่ผมเขียนบทความนี้ ลูกๆ กับแฟนก็ยังนอนอยู่)

เราคงเคยได้ยินมาว่าหลายประเทศในยุโรปและอเมริกาใต้ วัฒนธรรมการนอนกลางวันยังแข็งแรงอยู่ การงีบตอนบ่ายนั้นมีชื่อเรียกที่เราคุ้นหูว่า siesta (ซีเอสต้า)

ในหนังสือ Why We Sleep ของ Matthew Walker ผู้เขียนบอกว่า สมัยเด็กๆ ที่เขาไปเที่ยวประเทศกรีซนั้น ป้ายตามร้านรวงต่างๆ มักจะเขียนบอกว่าเปิดตอน 9 โมงถึงบ่ายโมง ปิดตอนบ่ายโมงถึงห้าโมงเย็น และเปิดอีกทีตอนห้าโมงถึงสามทุ่ม เพราะช่วงบ่ายเจ้าของร้านต้องงีบเอาแรงนั่นเอง

แต่ป้ายเหล่านี้ค่อยๆ หายไปเรื่อยๆ ตามแรงผลักดันของทุนนิยมที่เรียกร้องให้ร้านในกรีซเปิดให้บริการตลอดทั้งวัน จนทีมวิจัยของ Stanford ตัดสินใจศึกษาว่ามันส่งผลกระทบอย่างไรบ้างด้วยการติดตามกลุ่มตัวอย่าง 23,000 คนในกรีกเป็นเวลา 6 ปี โดยกลุ่มตัวอย่างนี้มีอายุตั้งแต่ยี่สิบกว่าๆ จนไปถึงแปดสิบกว่า

ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ กลุ่มตัวอย่างที่เลิกนอนกลางวันไปนั้นมีโอกาสเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจเพิ่มขึ้น 37% เมื่อเทียบกับคนที่ยังนอนกลางวันเป็นประจำ โดยความแตกต่างนี้ยิ่งชัดขึ้นไปอีกในกลุ่มผู้ชายใช้แรงงานที่มีโอกาสเป็นโรคเกี่ยวกับหัวใจเพิ่มขึ้นถึง 60%

แต่ในเมืองที่วัฒนธรรม siesta ยังคงเหนียวแน่นอย่างเกาะ Ikaria ผู้ชายในเมืองนี้มีโอกาสอายุถึง 90 ปีมากกว่าผู้ชายอเมริกันถึง 4 เท่า

การนอนกลางวันคงไม่ใช่แค่เพียงปัจจัยเดียวสำหรับอายุที่ยืนยาว แต่ส่วนตัวผมเองคิดว่าการนอนกลางวันเป็นหนึ่งในอุปนิสัยที่ดีที่เราควรมีติดตัวเอาไว้

และแน่นอนว่าการนอนกลางวันในที่ทำงานยังเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ในองค์กรส่วนใหญ่ แต่อย่างน้อย Google, NASA และ Huffington Post ก็ช่วยกรุยทางด้วยการมี napping pod หรือเก้าอี้งีบให้กับพนักงานแล้ว

ระหว่างนี้เราก็คงต้องนอนกลางวันในช่วงวันหยุดไปพลางๆ ก่อนนะครับ