สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จาก Brexit

20160626_Brexit

วันศุกร์ที่ผ่านมา (ตามเวลาในเมืองไทย) ข่าวที่ใหญ่ที่สุดในโลกคงหนีไม่พ้นผลการลงคะแนนประชามติให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า Brexit (Britain + Exit = Brexit)

โดยผลก็คือคนโหวตให้ออกชนะไปฉิวเฉียด 51.9% ต่อ 48.1%

ก่อนวันประชามติ ต้องยอมรับว่าผมไม่ได้สนใจ Brexit มากนัก และแม้จะเป็นข่าวใหญ่ ก็ยังไม่มีความคิดจะเอาเรื่องนี้มาเขียนบล็อก

จนผมไปเจอโพสต์นี้ของคุณสฤณี อาชวานันทกุล ที่แชร์มาจากทวีตของ @wmyeoh อีกทีหนึ่ง

ClrbygvWMAAHPfC

ตัวเลขนี้ไม่ใช่ผลประชามติ แต่เป็นผลจากการสำรวจความคิดเห็นจาก 1652 คนว่าจะโหวต Remain (อยู่ต่อ) หรือโหวต Leave (ออกจากสหภาพยุโรป)

จะเห็นได้ว่า คนหนุ่มสาวส่วนใหญ่อยากให้อยู่ต่อ ขณะที่คนสูงอายุส่วนมากอยากให้ออก

คนที่โหวตให้ออก มีชีวิตเหลืออยู่ไม่กี่ปีแล้ว แต่ผลการตัดสินใจของคนกลุ่มนี้ กลายเป็นตัวตัดสินชะตาชีวิตให้กับคนหนุ่มสาว (ที่อยากอยู่ใจจะขาด) ไปอีกหลายสิบปีเป็นอย่างน้อย

เข้าทำนองคนใช้ไม่ได้(อยาก)ซื้อ คนซื้อไม่ได้(อยู่)ใช้

อันนี้คือผลโหวตจริงจากเว็บไซต์ของ BBC ครับ

_90081129_eu_ref_uk_regions_leave_remain_gra624_by_age

เป็นความขัดแย้งที่น่าสนใจ ทำให้ผมไปนั่งอ่านเรื่องเกี่ยวกับ Brexit อยู่หลายชั่วโมง

และนี่คือสิ่งที่อยากนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

ทำไมต้อง Brexit
สหภาพยุโรปนั้นเกิดขึ้นจากการสานสัมพันธไมตรีหลังสงครามโลกครั้งที่สอง เพื่อเป็นการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองในภูมิภาคนี้ (หลังจากที่รบกันมานานหลายศตวรรษ)

โดยประเทศที่เข้าร่วมสหภาพยุโรปนั้นจะสามารถซื้อขายสินค้ากันได้โดยไม่ต้องมีกำแพงภาษี ส่วนประชาชนก็สามารถไปทำงานที่ไหนหรือตั้งธุรกิจที่ไหนก็ได้ในสหภาพยุโรปโดยไม่ต้องขอวีซ่าหรือเวิร์คเพอร์มิท (work permit)

มองง่ายๆ ก็คือ สหภาพยุโรปจะทำตัวเหมือนประเทศประเทศหนึ่งที่คนในประเทศนั้นอยู่ภายใต้กฎกติกาเดียวกันและถูกปฏิบัติเหมือนกัน และสหราชอาณาจักรก็เป็นส่วนหนึ่งของ European Union มาสี่สิบกว่าปีแล้ว


แล้วทำไมประชามติคราวนี้จึงเกิดขึ้นได้?

ในปี 2012 ช่วงที่ David Cameron เป็นนายกรัฐมนตรี มีเสียงเรียกร้องให้ทำประชามติว่าจะให้ UK ออกจาก EU หรือไม่ (เพื่อความกระชับ ผมขอเขียน UK แทนสหราชอาณาจักร และ EU แทน European Union นะครับ) ซึ่งนายแคเมรอนปฏิเสธ แต่ภายหลังก็ประกาศว่า ถ้าพรรคอนุรักษ์นิยมของเขาได้รับเลือกเข้ามาเป็นรัฐบาลอีกสมัย เขาจะจัดทำประชามติภายในปี 2017 เพื่อให้แน่ใจว่าสมาชิกภาพของ UK นั้นเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการจริงๆ

และเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ นายแคเมรอนก็ประกาศให้วันพฤหัสฯ ที่ 23 มิถุนายน 2016 เป็นวันลงประชามติเรื่องการจะอยู่ต่อหรือออกจาก EU (European Union) ครับ


ทำไมคน UK ถึงอยากออกจาก EU

United Kingdom หรือสหราชอาณาจักรประกอบไปด้วยสี่ประเทศ ได้แก่ อังกฤษ สก๊อตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ โดยสี่ประเทศนี้มีนายกรัฐมนตรีคนเดียวกันคือ David Cameron

เหตุผลที่คน UK อยากออกจาก EU มีหลายประเด็นด้วยกัน เช่น

เนื่องจากอังกฤษเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเป็นอันดับสองใน EU เป็นรองเพียงเยอรมันนี คนอังกฤษหลายคนจึงมองว่าการอยู่ใน EU ร่วมกับประเทศที่เจริญน้อยกว่าหรือความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจไม่ค่อยดี ทำให้ทำอะไรไม่คล่องตัว หรือพูดง่ายๆ ก็คือคนอังกฤษ (หรือคน UK) บางส่วนมองว่าบางประเทศใน EU ถ่วงความเจริญ

ประเด็นที่สอง เมื่อเข้าร่วม EU นั่นย่อมหมายความว่าประชาชนใน UK ต้องทำตามกฎหมายของ EU ด้วย ทำให้บางคนมองว่าการเข้าร่วม EU ทำให้สูญเสียสิทธิ์ที่จะได้บังคับใช้กฎหมายของตัวเอง คล้ายๆ กับสูญเสียอธิปไตย (sovereignty) บางส่วนไป จึงอยากได้สิทธิ์นั้นคืน

ประเด็นที่สาม วิกฤติผู้อพยพในช่วงปีที่ผ่านมา (ที่คนจากซีเรียหนีสงครามกลางเมืองเข้ามาในยุโรป) ทำให้คนบางส่วนเกรงว่าอังกฤษจะต้องแบกรับภาระผู้อพยพมากเกินไป และเชื่อว่า UK จะสามารถจัดการการล้นทะลักของผู้อพยพได้ดีกว่านี้ถ้าไม่ต้องเป็นสมาชิก EU

ประเด็นที่สี่ ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา คนรุ่นใหม่จากประเทศอื่นที่เศรษฐกิจไม่ดีนักได้ย้ายเข้ามาใน UK เพื่อหางานทำ ทำให้คน UK บางส่วนรู้สึกว่าประเทศกำลังสูญเสียอัตลักษณ์และสูญเสียแหล่งรายได้ให้กับคนของประเทศอื่น คนที่อยากให้ออกจึงรณรงค์โดยใช้วาทกรรมอย่าง “Take back control”, “We want our country back” และ “Britain is full”


ผลกระทบทางเศรษฐกิจ
ต้องบอกก่อนว่านี่เป็นเพียงประชามติเท่านั้น น่าจะใช้เวลาอีกอย่างน้อยสองปีเพื่อพูดคุยและแก้ไขกฎหมายให้ UK ออกจาก EU อย่างเป็นทางการ

ผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วก็คือค่าเงินปอนด์ที่ตกลงมากที่สุดในรอบหลายสิบปี รวมถึงตลาดหุ้นทั่วโลกที่ปรับตัวลดลง

ยังไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจจะหนักเบาอย่างไร แต่เท่าที่ผมอ่านจากหลายๆ ที่มีคนทำนายผลร้ายเอาไว้หลายอย่าง

  • ขนาดตลาดจะลดลงอย่างเห็นได้ชัดเพราะสหภาพยุโรปมีประชากรถึง 500 ล้านคน
  • คน UK ที่ทำอยู่ใน EU และคน EU ที่ทำงานใน UK จะกลายเป็นคนต่างด้าวไปในทันที
  • การซื้อขายของรวมถึงการเคลื่อนย้ายของแรงงานจะไม่คล่องตัวเหมือนเดิมอีกต่อไป (เพราะจะมีกำแพงภาษี วีซ่า และเวิร์คเพอร์มิทมาทำให้การทำธุรกิจและจ้างงานยุ่งยากขึ้น)
  • บริษัทข้ามชาติหลายบริษัทอาจจะย้ายสำนักงานจากลอนดอนไปที่เยอรมันนีแทน เพราะว่าอังกฤษไม่ได้อยู่ใน EU แล้ว ทำให้การทำงานกับประเทศอื่นๆ ยุ่งยากเกินไป*

ผลกระทบทางการเมือง
ผลกระทบทางการเมืองอาจใหญ่หลวงกว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจเสียอีก

  • เดวิด แคเมรอน ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแล้ว และมีแนวโน้มว่า Boris Johnson อดีตผู้ว่ากรุงลอนดอนซึ่งสนับสนุนให้ UK ออกจาก EU จะได้ขึ้นมาดำรงตำแหน่งนี้แทน
  • สก๊อตแลนด์ (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ UK และประชาชนส่วนใหญ่โหวตให้อยู่ต่อ) อาจจะทำประชามติเพื่อขอแยกตัวออกจาก UK จะได้ขอกลับไปเป็นสมาชิกของ EU ได้
  • ประเทศอื่นๆ ใน EU อาจจะเริ่มขอออกจาก EU บ้าง ซึ่งอาจนำไปสู่การล่มสลายของ EU เหมือนกับที่เคยเกิดกับสหภาพโซเวียตมาแล้ว
  • มีคนบอกว่า Brexit มีนัยยะทางประวัติศาสตร์ในระดับเดียวกับการพังลงของกำแพงเบอร์ลินเลยทีเดียว

ความคล้ายคลึงกับการเมืองไทยและการเมืองอเมริกา
การโหวตคราวนี้สามารถแบ่งกลุ่มผู้โหวตได้ค่อนข้างชัดเจน

คนที่โหวตให้อยู่ต่อ มักจะเป็นคนอายุน้อยกว่า การศึกษาดีกว่า หรือมีฐานะดีกว่า (ถ้าดูกันเฉพาะในเมืองหลวงอย่างลอนดอน มีคนโหวตให้อยู่ต่อถึง 60%)

ขณะที่คนโหวตให้ออก มักเป็นคนสูงอายุที่อยู่ต่างจังหวัดหรือตะเข็บชายแดน

และคนที่โหวต Remain ก็จะต่อว่ากลุ่มที่โหวต Leave ว่าขาดความเข้าใจในโลกาภิวัฒน์ ไม่ยอมใช้เหตุผลและข้อเท็จจริง

ซึ่งจะว่าไปก็คล้ายๆ คนอเมริกาที่กำลังกลัวว่า Donald Trump กำลังจะขึ้นมาเป็นประธานธิบดี

เท่าที่ผมได้อ่านใน Quora.com (ซึ่งมีแต่คนเก่งๆ เต็มไปหมด) ผมยังไม่เห็นใครชอบโดนัลด์ ทรัมป์เลย แต่ทรัมป์ก็มีคะแนนดีขึ้นเรื่อยๆ จากคนที่ใครก็คิดว่าเป็นแค่ตัวสร้างสีสัน กลับได้ขึ้นมาเป็นตัวแทนของพรรครีพับลิกันเพื่อช่วงชิงตำแหน่งกับฮิลารี คลินตันจากพรรคเดโมแคร็ตแล้ว

โดยทรัมป์นั้นนมุ่งหาเสียงกับกลุ่มคนต่างจังหวัดหรือชาวรากหญ้า ใช้คำขวัญว่า Make America great again และเน้นนโยบายโดนใจคนบางกลุ่ม ทั้งๆ ที่มันไม่ยั่งยืน เช่นจะกีดกันไม่ให้มุสลิมเข้าประเทศเพื่อป้องกันการก่อการร้ายเป็นต้น

ประเทศไทยของเราก็เคยเจอเหตุการณ์อย่างนี้ ที่คนในกรุงเทพไม่ชอบพรรรคเพื่อไทย แต่คนต่างจังหวัดโดยเฉพาะอีสาน (ที่มีประชากรเยอะกว่า) กลับเทคะแนนให้

กรุงเทพกับลอนดอน โดนัลด์ทรัมป์กับทักษิณ

อาจแตกต่างกันในรายละเอียด แต่ก็มีอะไรหลายๆ อย่างเหมือนกัน

ทำให้ผมนึกถึงประโยคหนึ่งที่ว่า เสียงข้างมากบ่งบอกความต้องการได้ แต่บอกความถูกต้องไม่ได้


ความแตกต่างกับการเมืองไทย
สิ่งหนึ่งที่ประชาธิปไตยเต็บใบมอบให้ก็คือเสรีภาพในการแสดงออกทางความคิดเห็น

วีดีโอนี้คือการผลัดกันตอบคำถามของ David Cameron ผู้สนับสนุนให้อยู่ต่อ และ Nigel Farage หัวหน้าพรรค UKIP ผู้สนับสนุนให้ออกจาก EU

โดยทั้งสองคนจะได้เวลาคนละช่วงที่จะขึ้นมาบนเวทีเพื่อฟังและตอบคำถามกันสดๆ

เป็นการสู้กันแบบที่ผมเห็นว่าแฟร์ดี

แทบจะเป็นไม่ได้ ที่จะได้เห็นเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นในเมืองไทย อย่าว่าแต่ในยุคที่ปกครองโดยทหารเลย แม้กระทั่งยุคที่มีการเลือกตั้งกันเข้ามา ผมก็ยังไม่เคยได้เห็นบรรยากาศแบบนี้

 


ช่องโหว่ของเสียงข้างมาก

เมื่อวานคุณอาบรรยง พงษ์พาณิชได้แชร์ลิงค์บทความเรื่อง Britain’s Democratic failure  ของ Kenneth Rogoff ศาสตราจารย์จากฮาร์วาร์ด

เขาได้ตั้งคำถามดังต่อไปนี้

การตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ อย่างจะให้อังกฤษออกจาก EU นี่ แค่มีเสียงเกินกึ่งหนึ่งก็เพียงพอแล้วหรือ?

The idea that somehow any decision reached anytime by majority rule is necessarily “democratic” is a perversion of the term. Modern democracies have evolved systems of checks and balances to protect the interests of minorities and to avoid making uninformed decisions with catastrophic consequences. The greater and more lasting the decision, the higher the hurdles.

ความคิดที่ว่าการตัดสินอะไรด้วยเสียงข้างมากถือเป็นประชาธิปไตยแล้วถือเป็นประชาธิปไตยที่บิดเบี้ยว เพราะประชาธิปไตยสมัยใหม่นั้นได้สร้างระบบตรวจสอบและถ่วงดุลเพื่อปกป้องความต้องการของคนส่วนน้อย และหลีกเลี่ยงการตัดสินใจที่ปราศจากความรู้อันอาจนำไปสู่ผลอันเลวร้าย ยิ่งการตัดสินใจนั้นมีผลกระทบยิ่งใหญ่เท่าใด มาตรฐานยิ่งต้องสูงตามไปด้วย

ถ้าตัวเลขเกินกึ่งหนึ่งนั้นต่ำเกินไป ตัวเลขเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม?

There is no universal figure like 60%, but the general principle is that, at a bare minimum, the majority ought to be demonstrably stable. A country should not be making fundamental, irreversible changes based on a razor-thin minority that might prevail only during a brief window of emotion.

ไม่มีตัวเลขสากลอย่าง 60% หรอก แต่หลักการคร่าวๆ ก็คือ อย่างน้อยที่สุด “เสียงส่วนใหญ่” ที่ว่าควรจะเป็นเสียงส่วนใหญ่ที่มีเสถียรภาพ การตัดสินใจใดๆ ที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศหนึ่งอย่างถึงแก่นและไม่สามารถกลับไปแก้ไขได้ไม่ควรจะตั้งอยู่บนชัยชนะแบบเส้นยาแดงผ่าแปดของคนกลุ่ม(ที่จริงๆแล้วเป็น)เสียงข้างน้อยที่ดันชนะเพราะอารมณ์ชั่วประเดี๋ยวประด๋าว

แล้วสิ่งที่ UK ควรจะทำตั้งแต่ต้นคืออะไร?

…the hurdle should have been a lot higher; for example, Brexit should have required, say, two popular votes spaced out over at least two years, followed by a 60% vote in the House of Commons. I

มาตรฐานควรจะสูงกว่านี้ เช่นอาจจะมีการทำประชามติสองครั้งโดยให้เว้นช่วงห่างกันสองปี ตามด้วยการโหวตในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งควรได้รับคะแนนเสียงอย่างน้อย 60%

Any action to redefine a long-standing arrangement on a country’s borders ought to require a lot more than a simple majority in a one-time vote. The current international norm of simple majority rule is, as we have just seen, a formula for chaos.

การกระทำใดๆ ก็ตามที่จะส่งผลระยะยาวกับอาณาเขตของประเทศจำเป็นต้องใช้มากกว่าการโหวตหาเสียงข้างมากเพียงครั้งเดียว เพราะเราได้เห็นกันอยู่แล้วว่าธรรมเนียมปฏิบัติที่โหวตครั้งเดียวจบนี้ เป็นหนทางสู่ความโกลาหลชัดๆ


ทำตัวเอง คนรุ่นใหม่ไม่ค่อยออกไปใช้สิทธิ์
แม้ว่าคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่จะสนับสนุนให้อยู่ต่อ แต่ก็เป็นคนรุ่นใหม่เองนี่แหละที่ไม่ค่อยออกไปใช้สิทธิ์

โดยวิธีการดูของเขาก็คือเขตที่อายุเฉลี่ยต่ำกว่ามีคนออกไปใช้สิทธิ์น้อยกว่าเขตที่อายุเฉลี่ยสูงกว่า

นั่นคือ จริงๆ แล้วถ้าคนรุ่นใหม่ “เอาธุระ” ซักนิด ไม่นิ่งนอนใจและออกไปโหวตให้อยู่ต่อ เรื่องราวอาจจะไม่วุ่นวายอย่างนี้ก็ได้


นิทาน Brexit สอนอะไรบ้าง?

สามบทเรียนหลักที่ผมได้จากการศึกษา Brexit คราวนี้คือ

  1. การใช้เสียงข้างมากในการตัดสินใจ ใช่ว่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดเสมอไป หากว่าเรามีกระบวนการเพื่อให้ได้มาของเสียงข้างมากนั้นไม่แข็งแรงพอ
  2. ก่อนจะออกไปโหวต ในฐานะพลเมืองที่ดี เราควรศึกษาให้เข้าใจก่อนว่าเรากำลังจะโหวตเรื่องอะไร เพราะมันอาจจะกระทบไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลานของเรา (หลังปิดโหวต Brexit ไปแล้วยังมีคนใน UK ถามกูเกิ้ลอยู่เลยว่า EU คืออะไร)
  3. เสียงของเรามีความหมาย จงออกไปใช้สิทธิ์ซะ อย่านิ่งดูดายและคิดว่า “ยังไงก็ชนะ” หรือ “ยังไงก็แพ้” จะได้ไม่ต้องมานั่งเสียใจภายหลังที่ปล่อยให้คนอื่นมากำหนดชะตาชีวิตของเรา

ขอบคุณผู้อ่านที่อุตส่าห์อ่านจนจบนะครับ!


หมายเหตุ

* ในส่วนผลกระทบทางเศรษฐกิจ ตอนแรกผมมีเขียนประโยคนี้ไว้ด้วยครับ “วาณิชธนกิจ (investment bank) อย่าง Morgan Stanley ได้ประกาศแล้วว่าจะย้ายสำนักงานที่มีคน 2000 คนไปที่เมือง Dublin ในไอร์แลนด์”  แต่ได้รับการท้วงติงในคอมเม้นท์ว่ามอร์แกนสแตนลี่ย์ได้ออกมาประกาศแล้วว่าข่าวนี้ไม่เป็นความจริง  


ขอบคุณข้อมูลจาก

http://www.bbc.com/news/uk-politics-32810887

http://www.bbc.com/news/uk-politics-36616028

http://www.bbc.com/news/uk-politics-eu-referendum-36574526

https://www.yahoo.com/news/brexit-sign-anti-elite-revolt-analysts-042053941.html

http://www.economist.com/blogs/graphicdetail/2016/02/graphics-britain-s-referendum-eu-membership

http://www.telegraph.co.uk/news/2016/06/22/20-reasons-you-should-vote-to-leave-the-european-union/

http://www.vox.com/2016/6/24/12025514/brexit-cartoon

http://mobile.nytimes.com/comments/blogs/krugman/2016/06/24/brexit-the-morning-after/

https://www.quora.com/pinned/United-Kingdom-Votes-to-Leave-the-EU-June-2016

https://www.project-syndicate.org/commentary/brexit-democratic-failure-for-uk-by-kenneth-rogoff-2016-06

https://www.washingtonpost.com/news/the-switch/wp/2016/06/24/the-british-are-frantically-googling-what-the-eu-is-hours-after-voting-to-leave-it/


อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ที่ปุ่มไลค์จะมี drop down menu ให้เลือกได้ว่าอยากจะให้มี notifications หรืออยากเห็นโพสต์จากเพจนี้อยู่ต้นๆ ฟีดรึเปล่าครับ)

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

Banner468x60ver1

บ่นแล้วไม่ทำอะไรคือไทยแท้

20160523_whine

เป็นประโยคที่พ้องกับ “ทำอะไรตามใจคือไทยแท้”

ตั้งชื่อเรื่องอย่างกับกระทู้ล่อเป้าเลย

บทความนี้มีที่มาจากกระทู้ในพันทิปเรื่อง “วิธีแก้แค้นแท็กซี่ที่โบกแล้วไม่ยอมไป อยากให้ทุกคนช่วยกันทำตามนี้ครับ” เขียนโดย “สมาชิกหมายเลข 3195339

เห็นว่าดีเลยอยากเอามาแชร์ครับ

1. เวลาโบกรถ เลือกสถานที่ที่คนค่อนข้างพลุกพล่าน

2. เตรียมมือถือเข้าแอพกล้องรอไว้

3. เรียกตามปกติ ถ้าไปก็จบตรงนี้

4. ถ้าถูกปฏิเสธก็บอกเค้าไปว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวผมร้องเรียนพี่เอง
– เท่าที่เจอ บางคันพอบอกจะร้องเรียนมันรีบเรียกให้เราขึ้นรถเลย ผมไม่ไปหรอก กลัวอันตราย

5. พอรถออกไปแล้วก็ถ่ายรูปทะเบียนรถไว้

6. เข้าเว็บไซต์ http://ins.dlt.go.th/cmpweb/ เพื่อร้องเรียนแท็กซี่คันนั้น

ผมทำทุกครั้งที่ใช้บริการรถแท็กซี่ ซึ่งตอนแรกก็แค่ร้องเรียนเพื่อระบายอารมณ์หงุดหงิด

แต่มันมี sms แจ้งผลเข้ามา เลยคิดว่า อย่างน้อยทางกรมการขนส่งฯ ก็น่าจะได้รับรู้ปัญหาเหล่านี้

แต่…ครั้งนึง ผมเบลอ ร้องเรียนไป 5 คัน แต่ดันบอกสีสลับกันไป 2 คัน

ทำให้มีเจ้าหน้าที่โทรกลับมา บอกว่าที่เราแจ้งไป มี 2 คันที่สีกับทะเบียนสลับกัน

ให้ช่วยยืนยันข้อมูลด้วย เพราะถ้ามันผิดคันขึ้นมาเจ้าหน้าที่จะซวยเพราะแท็กซี่โวยวาย

ผมก็เลยถามว่า ที่ร้องเรียนไปนี่ดำเนินการกันจริงๆ ใช่มั้ย ไม่ใช่แค่รับเรื่องเฉยๆ ใช่มั้ย

เค้าตอบว่าใช่ แล้วเค้าก็ขอบคุณผมด้วย บอกว่าช่วยร้องเรียนมาเถอะ จะได้จัดการมันได้

อยากให้ทุกคนช่วยกันทำ ช่วยกันร้องเรียนครับ ให้มันโดนปรับกันบ่อยๆ จะได้สำนึกบ้าง

บางครั้งคันหลังเห็นเราถ่ายรูปทะเบียน เค้ากลัวโดนด้วยเค้าก็รับนะครับ เดี๋ยวโดนปรับเหมือนกัน5555

ขสมก ก็มีให้ร้องเรียนได้นะครับ ผมเคยร้องเรียนเรื่องพนักงานขับรถสูบบุหรี่ เค้าโทรกลับมาบอกด้วยว่าปรับคนนั้นเรียบร้อยแล้ว

ตอนนี้สำหรับผม ผมชอบการร้องเรียนมาก เพราะมันทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม


เมืองไทยของเราน่าอยู่ แต่ก็มีเรื่องน่าเบื่ออยู่หลายเรื่องเหมือนกัน

เรื่องบางเรื่อง ก็ไกลเกินกว่าที่เราจะทำอะไรมันได้ แต่ก็มีอีกหลายๆ ปัญหาที่คนธรรมดาอย่างเรามีส่วนร่วมในการแก้ได้ อย่างเช่นเรื่องแท๊กซี่ไม่รับผู้โดยสารเป็นต้น

ติดตรงที่เราคิดกันไปเองว่า ถึงร้องเรียนไปก็ไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา (ซึ่งผมเองก็เป็นหนึ่งในคนกลุ่มนี้) เราก็เลยแค่บ่นให้แฟนฟัง หรือไม่ก็ระบายทางเฟซบุ๊ค

และปัญหาทุกอย่างก็ยังคงอยู่สภาพเดิม

ผมแค่คิดเล่นๆ ว่าถ้าวันนี้คนกรุงเทพทุกคนที่โดนแท๊กซี่ปฏิเสธ ตัดสินใจร้องเรียนเข้าเว็บของกรมการขนส่งทางบกจริงๆ อะไรจะเกิดขึ้น?

อาจจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็ได้

อย่างน้อยก็ในวันนี้

แต่ถ้าเราไม่หยุดร้องเรียนทุกครั้งที่เจอปัญหา เดือนหน้า หรือปีหน้า คนขับแท๊กซี่กลุ่มหนึ่งอาจจะเปลี่ยนก็ได้


เมื่อสามปีที่แล้วประชาชนออกมาเรียกร้องให้ “ปฏิรูปประเทศ”

เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านก็อาจจะเคยไปร่วมขบวนกับเขาด้วย

พอเกิดรัฐประหาร เราก็กลับมาใช้ชีวิตคนธรรมดา ปล่อยให้การปฏิรูปเป็นเรื่องของทหารและรัฐบาล

แต่เราจะปฏิรูปประเทศกันได้อย่างไรถ้าเราไม่ปฏิรูปตัวเองก่อน?

ผมนึกถึงประโยคที่ว่า If you are not part of the solution, then you are part of the problem – ถ้าเราไม่ช่วยเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไข แสดงว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา

กลับมาที่เรื่องแท๊กซี่

ผมบอกไม่ได้หรอกครับว่าถ้าเราร้องเรียนไปเรื่อยๆ จะทำให้แท๊กซี่เลิกพฤติกรรมปฏิเสธผู้โดยสารรึเปล่า

รู้แต่ว่าถ้าเราเอาบ่นแล้วไม่ทำอะไร เขาไม่เลิกแน่ๆ

เมื่อเห็นตัวอย่างจากพันทิปแล้วว่าเจ้าหน้าที่เอาจริงกับการร้องเรียน จากนี้ไปถ้าผมเจอแท๊กซี่ปฏิเสธอีก ผมก็มีสองทางเลือก

1. ทำตามความเคยชิน คือปิดประตู  บ่นพึมพัม แล้วมองหาแท๊กซี่คันต่อไป หรือ

2. ระลึกถึงกฎสิบเต็มสิบ ถ่ายรูปเอาไว้ เรียกแท๊กซี่คันต่อไปจนกว่าจะได้ พอได้ขึ้นมานั่งแล้วค่อยส่งเรื่องร้องเรียนไปที่กรมขนส่งทางบก 

ผมคงเลือกทางที่สอง เพราะถ้ายังเลือกทำแบบเดิม แสดงว่าผมก็กำลังทำตัวเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาเหมือนกัน

คุณล่ะครับ สนใจจะมาร่วมขบวนการปฏิรูปตัวเองกับผมมั้ย?


ป.ล. เพื่อนที่ทำอู่แท๊กซี่เคยอธิบายให้ผมฟังว่ามันก็เข้าใจหัวอกคนขับว่าทำไมถึงปฏิเสธผู้โดยสาร เพราะค่าโดยสารแท๊กซี่มิเตอร์บ้านเรามันถูกมาก จนบางทีการต้องไปไกลๆ มันไม่คุ้มจริงๆ ซึ่งนั่นก็เป็นประเด็นที่คนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไป


ขอบคุณข้อมูลจาก Pantip: วิธีแก้แค้นแท็กซี่ที่โบกแล้วไม่ยอมไป อยากให้ทุกคนช่วยกันทำตามนี้ครับ 

ขอบคุณภาพจาก Wikimedia: Khon Dance Frankfurt Germany 2006

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ที่ปุ่มไลค์จะมี drop down menu ให้เลือกได้ว่าอยากจะให้มี notifications หรืออยากเห็นโพสต์จากเพจนี้อยู่ต้นๆ ฟีดรึเปล่าครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

Banner468x60ver1.jpg

จุดตะเกียง

20160220_Lantern

ไปทางไหนก็มีแต่เสียงสาบแช่งความมืด หรือมนุษย์เราลืมวิธีจุดตะเกียงไปเสียแล้ว

– ประภาส ชลศรานนท์
หนังสือประโยคย้อนแสง

เรื่องราวในวงการสงฆ์ตอนนี้กำลังเป็นประเด็นฮอต

ใครจะไปคิดว่าเมืองพุทธอย่างประเทศไทยจะได้เห็น “ไตรจีวร” กับ “ลายพราง” ปะทะกัน?

แถมมีคุณจตุพรมาผสมโรงด้วยอีกต่างหาก

เรื่องศาสนากลายเป็นเรื่องการเมืองไปได้อย่างไร?

แต่ผมว่า เรื่องใดก็ตามที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้อง มันคือเรื่อง “การเมือง” ทั้งนั้น

การเมืองในสภา การเมืองในบริษัท การเมืองในวัด หรือแม้กระทั่งการเมืองในคู่รัก

บริบทอาจจะแตกต่างกัน แต่เนื้อหาและเป้าหมายแทบไม่ต่างกันเลย

—–

ช่วงนี้ประโยค “วิกฤติศรัทธาวงการสงฆ์” เลยเป็นคำที่สื่อนิยมใช้

เพราะ “พระสงฆ์” ไม่เคยประพฤติตนให้ “ประชาชน” เสื่อมศรัทธาได้ขนาดนี้

แต่ก็ต้องกลับมาถามอีกว่า “พระสงฆ์” ที่ว่าคือใคร

แล้ว “ประชาชน” คือใคร

ถ้า “พระสงฆ์” คือพระเพียงกลุ่มหนึ่งที่อยู่ในฝ่ายคู่ขัดแย้ง

และ “ประชาชน” คือคนไทยส่วนใหญ่

ผมว่าเราก็อยู่ในวิกฤติมานานแล้วนะครับ

—–

ผมเคยอ่านคำสัมภาษณ์พระรูปหนึ่งที่พูดไว้อย่างน่าคิด

ว่านักการเมืองหรือข้าราชการนั้น ต่อให้ใหญ่ล้นฟ้าแค่ไหน แต่ก็ยังมีวาระ (เช่น ส.ส. อยู่ได้สี่ปีก็ต้องลงเลือกตั้งใหม่) และยังถูกตรวจสอบและถูกนำไปลงโทษได้

แต่ในวงการสงฆ์ ไม่มีวาระ และการตรวจสอบแทบจะเป็นศูนย์

มหาเถรสมาคม จึงเป็นแดนสนธยาที่ชาวบ้านอย่างเราๆ ไม่เคยรู้เลยว่า “ข้างใน” เขาบริหารกันอย่างไร

เมื่อไม่มีการคานอำนาจ ไม่มีการตรวจสอบ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกถ้ามันจะเน่าในมาได้สักพักใหญ่แล้ว

—–

แล้วประชาชนอย่างเราๆ ล่ะ

ประชาชนที่เคยประกาศตนในหอประชุมของโรงเรียนเองตัวว่าเป็น “พุทธมามกะ”

ประชาชนที่วิจารณ์พระสงฆ์กลุ่มหนึ่งว่าทำตัวไม่เหมาะสม

แล้วเราเองได้ในฐานชาวพุทธ ได้ทำตัวเหมาะสมแล้วหรือยัง?

เราให้ทานครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่

เราถือศีลห้าครบมั้ย?

เราภาวนากันบ้างหรือเปล่า?

พุทธศาสนาจะดำรงอยู่ได้ด้วย “พุทธบริษัท ๔”

ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

ถ้าศาสนาพุทธจะล่มสลายในเมืองไทย ผมว่าการปะทะกันของพระกับทหารถือเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับความไม่ใส่ใจของอุบาสกอุบาสิกาที่มีจำนวนมากกว่าไม่รู้กี่พันเท่า

ปัญหาสังคมล้วนป็นเพียงภาพขยาย (manifestation) ของปัญหาระดับบุคคล

ถ้ารู้สึกว่าประเทศไทยตอนนี้มันมืดมนนัก

ลองจุดตะเกียงให้ตัวเองก่อนดีมั้ย?

—–

ขอบคุณประโยคชวนคิดจากหนังสือประโยคย้อนแสง โดยประภาส ชลศรานนท์

ขอบคุณรูปนี้ในเพจมหาสติ ที่กระตุกให้เขียนบทความนี้ขึ้นมา

—–

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ที่ปุ่มไลค์จะมี drop down menu ให้เลือกได้ว่าอยากจะให้มี notifications หรืออยากเห็นโพสต์จากเพจนี้อยู่ต้นๆ ฟีดรึเปล่าครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

—–

ขอบคุณภาพจาก Wikipedia 

5 คุณูปการของบิล เกตส์ (ที่คุณอาจไม่เคยรู้)

20151412_BillGates

เมื่อวานนี้ที่ผมเขียนเรื่อง “รวยจริง” ผมก็นึกถึงบิล เกตส์ขึ้นมาครับ

คนที่รวยจริงในนิยามของพี่ซิโก้นั้น คือคนที่มีเงินแล้วนำไปช่วยเหลือคนที่ด้อยกว่า

และบิล เกตส์ก็เข้าตำรานี้ทุกประการ

พวกเราทุกคนรู้กันดีว่าบิล เกตส์เป็นบุคคลที่รวยที่สุดในโลกหลายสมัยติดต่อกันจากบริษัทไมโครซอฟท์ที่เขาก่อตั้งขึ้น

และพวกเราบางก็อาจจะรู้ว่าเขากับภรรยาได้ตั้งมูลนิธินาม Bill & Melinda Gates Foundation (BMGF) ขึ้นมา

แต่เชื่อว่าน้อยคนนักรู้ว่า มูลนิธินี้ได้สร้างผลงานอะไรบ้าง

วันเลยอยากเอามาเล่าให้ฟังครับ

1. ปฏิวัติวงการการกุศล

เรารู้จักองก์กรการกุศลมากมาย ไม่ว่าจะเป็น UNICEF, Red Cross หรือมูลนิธิต่างๆ ที่มีอยู่ในเมืองไทยนับร้อยนับพัน

แต่ใช่หรือไม่ว่า หลังจากเราบริจาคเงินของเราไปแล้วนั้น เราแทบไม่รู้เลยว่าเงินที่เราบริจาค ได้นำไปก่อประโยชน์จริงๆ แค่ไหน

ตัวอย่างของความไร้ประสิทธิภาพ/ความโปร่งใสขององค์กรการกุศลที่เป็นข่าวระดับโลก ก็เช่นการที่ American Red Cross ได้รับเงินบริจาคช่วยเหลือประเทศเฮตที่ประสบภัยแผ่นดินไหว รวมเป็นเงินกว่า 500 ล้านดอลล่าร์ แต่เพื่อการฟื้นฟูที่จับต้องได้ กลับเป็นบ้านเพียงแค่ 6 หลัง 

สิ่งที่ผมเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่มูลนิธิ BMGF ได้ทำ คือการนำมุมมองเชิงธุรกิจมาประยุกต์ใช้กับการกุศลครับ ทั้งการนำเทคโนโลยีและแรงจูงใจทางธุรกิจมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ความโปร่งใสในการใช้เงินทุน และการมุ่งเน้นที่ผลลัพธ์ คือต้องมีผลงานจับต้องได้จริง “คนปลายทาง” ได้รับประโยชน์จริงๆ

2. สนใจแต่เรื่องระดับชาติหรือระดับโลก
บิลและเมลินดาก่อตั้งมูลนิธิ BMGF ในปี 2000 หรือเมื่อ 15 ปีที่แล้ว โดยมี Focus Areas สี่อย่าง 

Global Development Division – ช่วยเหลือคนในประเทศที่ยากไร้ให้หลุดพ้นจากความหิวโหยและความยากจน

Global Health Division – ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อช่วยเหลือชีวิตคน (save lives)

United States Division – พัฒนาการศึกษาในอเมริกาและช่วยเหลือเด็กที่ด้อยโอกาสในรัฐวอชิงตัน

Global Policy & Advocacy Division – สร้างความสัมพันธ์กับรัฐบาลแต่ละประเทศเพื่อร่างกฎหมายและนโยบายที่จะเอื้อต่อการทำงานของมูลนิธิ

3. ข้าไม่ได้มาคนเดียว
BMGF ไม่ได้พยายามทำทุกอย่างเองคนเดียว แต่ใช้วิธีการร่วมมือกับองค์กรในพื้นที่เพื่อจะได้เข้าใจปัญหาอย่างแท้จริงว่าควรจะจัดการอย่างไร จากนั้นหากเห็นว่าต้องใช้ความร่วมมือจากองค์กรอื่นๆ ด้วย (เช่นต้องการบริษัทที่มีเทคโนโลยีที่สามารถแก้ปัญหานี้ได้) ก็จะดึงองค์กรนั้นๆ มาร่วมด้วยเช่นกัน โดยแต่ละองค์กรก็จะได้เงินช่วยเหลือแตกต่างกันไป

ดูรายชื่อองค์กรที่ได้เงินทุนจาก BMGF ได้ที่นี่ครับ

และแน่นอน แต่ละองค์กรที่ได้รับเงินช่วยเหลือจะต้องทำรายงานกลับมาว่ามีผลงานอะไรบ้าง

4. ลงไปคลุกฝุ่นเอง
อันนี้เป็นความเจ๋งที่สุดของบิลเกตส์ เพราะเขาไม่ได้นั่งอยู่ที่ออฟฟิศในอเมริกาแล้วเซ็นเช็คเงินบริจาคเท่านั้น แต่เขาลงพื้นที่จริงเพื่อจะได้พูดคุยกับคนที่เขาพยายามจะช่วยเหลือ หรือพบปะกับผู้นำประเทศโลกที่สาม (ซึ่งหลายคนมีชื่อเสียงในทางไม่ดี) เพื่อขอความร่วมมือให้ความช่วยเหลือนั้นไปถึงประชาชนจริงๆ (ไม่ใช่บริจาคเข้ารัฐบาลแล้วโดนฉ้อราษฎร์บังหลวงหมด)

รูปภาพด้านบนที่ผมแปะมาคือรูปบิลเกตส์ดื่มน้ำจากเครื่อง Omniprocessor ของบริษัท Janicki Bioenergy  ครับ

Omniprocessor คือเครื่องที่แปลงอุจจาระและปัสสาวะเป็นน้ำที่ดื่มกินได้

บิล เกตส์ ลงทุนดื่มน้ำที่จากของเสียเพื่อโชว์ให้เห็นว่ามันดื่มได้จริงๆ นะ ไม่ได้โม้
(ทั่วโลกมีคนถึงสองพันล้านคนที่ไม่ได้ใช้ส้วมที่ได้มาตรฐาน ซึ่งสุดท้ายแล้วของเสียที่ขับถ่ายออกมาเจือปนกับน้ำที่ดื่มกิน ทุกๆ ปีมีเด็ก 700,000 คนตายจากการติดเชื้อในทางเดินอาหาร )

5. ชวนเศรษฐีคนอื่นมาทำความดีด้วย
อีกหนึ่งความยิ่งใหญ่ของเกตส์ก็คือการร่วมมือกับ Warren Buffet เพื่อโปรโมต The Giving Pledge หรือการชักชวนมหาเศรษฐีทั่วโลกมาแสดงเจตจำนงค์ว่าจะมอบความมั่งคั่งของตัวเองอย่างน้อย 50% ของตัวเองเพื่อการกุศล

คนดังๆ ที่เรารู้จักก็เช่น George Lucas ผู้กำกับ Star Wars, Ted Turner ผู้ก่อตั้ง CNN, Larry Ellison ผู้ก่อตั้ง Oracle, Elon Musk ผู้ก่อตั้ง Tesla และล่าสุด Mark Zuckerberg ผู้ก่่อตั้ง Facebook

ดูรายชื่อทั้งหมดได้ที่นี่ครับ http://givingpledge.org/

—–

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก Quora:

บิล เกตส์และภรรยาบริจาคเงินไปแล้วไม่ต่ำกว่า 28,000 ล้านดอลล่าร์

วัคซีนจาก BMGF ช่วยชีวิตคนไปแล้วเกือบ 6 ล้านคน

ใน 15 ปีที่ผ่านมา BMGF ได้ช่วยชีวิตเด็กให้ปลอดภัยจากมาเลเรียได้มากกว่าที่ UN ทำมาตลอด 70 ปีเสียอีก

BMGF ช่วยให้อินเดียกำจัดโปลิโอได้สำเร็จในปี 2012 เหลืออีกเพียงสามประเทศคือไนจีเรีย อัฟกานิสถาน และปากีสถานที่ยังมีเด็กเป็นโรคโปลิโออยู่ โดยเป้าหมายคือโลกใบนี้จะปราศจากโปลิโอภายในปี 2020

ยังมีโรคอีกหลายตัวที่ BMGF กำลังจัดการ ยกตัวอย่างเช่นมาเลเรีย วัณโรค และไวรัสตับอักเสบบี

—–

สิ่งที่บิล เกตส์ทำ น่าจะเป็นการทำบุญ (ในทางกายภาพ) ที่ใหญ่ที่สุดที่โลกมนุษย์เคยมีมาเลยก็ว่าได้นะครับ

นี่สิคน(รวย)จริง!

—–

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก See First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

—–

ขอบคุณข้อมูลจาก

Quora: Does Bill Gates get too much credit for his donation to charity?

Gates Notes: This Ingenious Machine Turns Feces Into Drinking Water

Pro Publica: How the Red Cross Raised Half a Billion Dollars for Haiti ­and Built Six Homes

ถึงคราวเป็นผู้ใหญ่บ้างแล้ว

20150112_NewGen

บางทีเราก็ยังไม่อยากโตเป็นผู้ใหญ่

เวลามีเรื่องสำคัญๆ ระดับประเทศอย่างการออกมาชุมนุมทางการเมืองหรือการปฏิรูปประเทศไทยนั้น เราจึงยกให้เป็น “เรื่องของผู้ใหญ่” ทั้งสิ้น

ส่วน “เด็กๆ” อย่างพวกเรา อาจจะมองว่าไม่มีสิทธิ์ทำอะไร หรืออาจจะมองว่าไม่ใช่เรื่องของเรา

อย่างมากก็แค่คอยตามข่าวและวิจารณ์ใน Facebook กันให้เมามัน

แล้วก็เข้านอน

แล้วก็ตื่นขึ้นมาเพื่อจะพบว่าทุกอย่างยังเหมือนเดิม

———-

จะว่าไปแล้ว คุณลุงคุณป้าที่อยู่ในสนช.และสปช. ตอนนี้ก็มีส่วนในการ “ขับเคลื่อนประเทศ” มาตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 แล้ว

ตั้งแต่พวกเขายังอายุแค่ 20 ปีต้นๆ

น้อยกว่าผมหนึ่งรอบ และน้อยกว่าใครอีกหลายๆ คนที่กำลังอ่านโพสต์นี้

40 ปีผ่านไป คนกลุ่มเดิมในวัยแซยิดก็ยังขับเคลื่อนประเทศกันอยู่

ผมว่าเขาก็คงเหนื่อยเต็มทีแล้วล่ะ แต่มองไปข้างหลังแล้วยังไม่ค่อยเห็นใคร เลยยังต้องเดินกันต่อไปกับคนหน้าเดิมๆ

จะว่าไปแล้ว “เด็กๆ” รุ่นพวกผมนี่ก็อายุเข้าวัยกลางคนแล้วนะครับ เริ่มถูกเรียกว่า “น้า” กันแล้ว

เป็นกลุ่มคนที่มีประสบการณ์และความรู้มากพอสมควร พอจะมีทรัพย์อยู่บ้าง แถมยังมีกำลังวังชาที่จะทำอะไรได้อีกหลายอย่าง

โอเคล่ะ เมื่อบริบททางสังคมเปลี่ยน ค่านิยมก็ย่อมเปลี่ยน ถ้าต้องเลือกระหว่างการขับเคลื่อนประเทศ กับการสร้างฐานะตัวเองให้มั่นคง คนรุ่นผมส่วนใหญ่ก็คงเลือกอย่างหลัง

แต่ผมก็ยังคิดว่าคงจะดี ถ้ารุ่น “เด็กๆ” อย่างพวกเรา จะเข้าไปมีส่วนร่วมบ้าง

เพราะผมเชื่อว่าผลลัพธ์มันน่าจะออกมาดีกว่าปล่อยให้คุณลุงคุณป้าในสนช.และสปช.ทำกันอยู่กลุ่มเดียวนะครับ

เขาปฏิรูปประเทศเสร็จ อีกไม่กี่ปีเขาก็ไม่อยู่แล้ว

คนที่อยู่คือพวกเรา และลูกๆ ของเรา

คนทำไม่ได้อยู่ คนอยู่ไม่ได้ทำ – จะดีเหรอ?

———-

ถามว่า แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง?

ผมเองก็ยังไม่มีคำตอบเหมือนกันครับ

แต่เราอาจจะเริ่มต้นได้ด้วยการเปลี่ยนมุมมอง

เริ่มจากการคิดว่า “เราก็เป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งแล้วนะ”

เริ่มจากการโยนความคิดที่ว่า “ธุระไม่ใช่” ทิ้งไป

และเริ่มด้วยการมองหาโอกาสที่เราจะสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวม ตามสติปัญญาและกำลังที่เรามี

ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่มีศักยภาพมากกว่าการบ่นบน Facebook นะครับ

และผมก็เชื่อว่าถ้ารวมตัวกันดีๆ เราอาจจะมีพลังเพียงพอที่จะช่วยชี้นำทิศทางของสังคม อย่างน้อยก็ในด้านใดด้านหนึ่ง

มาเป็น “ผู้ใหญ่” กันเถอะครับ!