บางทีเราก็ยังไม่อยากโตเป็นผู้ใหญ่
เวลามีเรื่องสำคัญๆ ระดับประเทศอย่างการออกมาชุมนุมทางการเมืองหรือการปฏิรูปประเทศไทยนั้น เราจึงยกให้เป็น “เรื่องของผู้ใหญ่” ทั้งสิ้น
ส่วน “เด็กๆ” อย่างพวกเรา อาจจะมองว่าไม่มีสิทธิ์ทำอะไร หรืออาจจะมองว่าไม่ใช่เรื่องของเรา
อย่างมากก็แค่คอยตามข่าวและวิจารณ์ใน Facebook กันให้เมามัน
แล้วก็เข้านอน
แล้วก็ตื่นขึ้นมาเพื่อจะพบว่าทุกอย่างยังเหมือนเดิม
———-
จะว่าไปแล้ว คุณลุงคุณป้าที่อยู่ในสนช.และสปช. ตอนนี้ก็มีส่วนในการ “ขับเคลื่อนประเทศ” มาตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 แล้ว
ตั้งแต่พวกเขายังอายุแค่ 20 ปีต้นๆ
น้อยกว่าผมหนึ่งรอบ และน้อยกว่าใครอีกหลายๆ คนที่กำลังอ่านโพสต์นี้
40 ปีผ่านไป คนกลุ่มเดิมในวัยแซยิดก็ยังขับเคลื่อนประเทศกันอยู่
ผมว่าเขาก็คงเหนื่อยเต็มทีแล้วล่ะ แต่มองไปข้างหลังแล้วยังไม่ค่อยเห็นใคร เลยยังต้องเดินกันต่อไปกับคนหน้าเดิมๆ
จะว่าไปแล้ว “เด็กๆ” รุ่นพวกผมนี่ก็อายุเข้าวัยกลางคนแล้วนะครับ เริ่มถูกเรียกว่า “น้า” กันแล้ว
เป็นกลุ่มคนที่มีประสบการณ์และความรู้มากพอสมควร พอจะมีทรัพย์อยู่บ้าง แถมยังมีกำลังวังชาที่จะทำอะไรได้อีกหลายอย่าง
โอเคล่ะ เมื่อบริบททางสังคมเปลี่ยน ค่านิยมก็ย่อมเปลี่ยน ถ้าต้องเลือกระหว่างการขับเคลื่อนประเทศ กับการสร้างฐานะตัวเองให้มั่นคง คนรุ่นผมส่วนใหญ่ก็คงเลือกอย่างหลัง
แต่ผมก็ยังคิดว่าคงจะดี ถ้ารุ่น “เด็กๆ” อย่างพวกเรา จะเข้าไปมีส่วนร่วมบ้าง
เพราะผมเชื่อว่าผลลัพธ์มันน่าจะออกมาดีกว่าปล่อยให้คุณลุงคุณป้าในสนช.และสปช.ทำกันอยู่กลุ่มเดียวนะครับ
เขาปฏิรูปประเทศเสร็จ อีกไม่กี่ปีเขาก็ไม่อยู่แล้ว
คนที่อยู่คือพวกเรา และลูกๆ ของเรา
คนทำไม่ได้อยู่ คนอยู่ไม่ได้ทำ – จะดีเหรอ?
———-
ถามว่า แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง?
ผมเองก็ยังไม่มีคำตอบเหมือนกันครับ
แต่เราอาจจะเริ่มต้นได้ด้วยการเปลี่ยนมุมมอง
เริ่มจากการคิดว่า “เราก็เป็นผู้ใหญ่คนหนึ่งแล้วนะ”
เริ่มจากการโยนความคิดที่ว่า “ธุระไม่ใช่” ทิ้งไป
และเริ่มด้วยการมองหาโอกาสที่เราจะสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวม ตามสติปัญญาและกำลังที่เรามี
ผมเชื่อว่าคนรุ่นใหม่มีศักยภาพมากกว่าการบ่นบน Facebook นะครับ
และผมก็เชื่อว่าถ้ารวมตัวกันดีๆ เราอาจจะมีพลังเพียงพอที่จะช่วยชี้นำทิศทางของสังคม อย่างน้อยก็ในด้านใดด้านหนึ่ง
มาเป็น “ผู้ใหญ่” กันเถอะครับ!
Pingback: ไม่ฉลาดแล้วยังไม่ขยันอีก | Anontawong's Musings