ความจริงจังไม่สำคัญเท่าความสม่ำเสมอ

เราหลายคนคงเคยผ่านวงจรนี้

  1. เกิดแรงบันดาลใจ
  2. ตั้งเป้าหมายที่ท้าทาย
  3. ซ้อมอย่างเอาเป็นเอาตาย ด้วยหลักการ no pain no gain, get out of your comfort zone และ beat yesterday
  4. ผ่านไป 2-3 เดือนก็เกิดอาการเบื่อหน่าย บาดเจ็บ หรือ burnout
  5. ล้มเลิก

นี่คือวิธีคิดและทำแบบมือสมัครเล่น

เราเคยสงสัยบ้างมั้ยว่ามืออาชีพเขาทำกันยังไง?

นักวิจัยเคยทำการเก็บข้อมูลการเก็บตัวซ้อมของนักเล่นสกีระดับโอลิมปิก

การฝึกซ้อมแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท

High intensity – ฝึกหนักระดับที่หัวใจเต้นเร็วกว่า 87% ของ maximum heart rate*

Medium intensity – ฝึกระดับปานกลาง หัวใจเต้นประมาณ 82-87% ของ MHR

Low intensity – ซ้อมเบาๆ หัวใจเต้นที่ 60-82% ของ MHR

นักกีฬากลุ่มนี้จะฝึกซ้อมปีละ 861 ชั่วโมง หรือตกวันละ 2 ชั่วโมงกว่าๆ

เมื่อนำข้อมูลการซ้อมตลอดทั้งปีมากางดูก็พบว่า

89% ของการฝึกซ้อมเป็นแบบ light intensity

6% เป็น medium intensity

และ 5% เป็น high intensity

ไม่ใช่เฉพาะนักเล่นสกี แต่ข้อมูลของนักวิ่ง นักปั่นจักรยาน นักพายเรือ และนักว่ายน้ำอาชีพก็มีความคล้ายคลึงกัน คือพวกเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการฝึกซ้อมแบบ low intensity

ซึ่งน่าจะตรงข้ามกับความเชื่อของเรา (มือสมัครเล่น) ที่คิดว่ามืออาชีพนี่น่าจะต้องฝึกหนักหน่วงแทบรากเลือด

แต่แท้จริงแล้ว การฝึกซ้อมส่วนใหญ่ของมืออาชีพมักจะอยู่ในระดับความเข้มข้นที่ต่ำกว่าขีดจำกัดของพวกเขา

เพราะโค้ชและนักกีฬารู้กันดีว่าหากโหมซ้อมเกินไปจนร่างกายไม่มีเวลาฟื้นฟูเพียงพอ ย่อมเสี่ยงต่อการบาดเจ็บ

ดังนั้นเราควรจะฝึกซ้อมด้วยใจสบาย ด้วยความสม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้อง push your limits ตลอดเวลา เพราะสิ่งที่ได้มานั้นไม่คุ้มเสีย

ผมยกตัวอย่างการเล่นกีฬาก็จริง แต่มันสามารถนำไปใช้ได้กับหลายมิติของชีวิต

ไม่ว่าจะเป็นการซ้อมดนตรี การสร้าง content การทำงาน หรือการภาวนา

ความจริงจังไม่สำคัญเท่าความสม่ำเสมอครับ


ขอบคุณเนื้อหาส่วนใหญ่จาก Collaborative Fund: Keep It Going by Morgan Housel

* วิธีคำนวณ maximum heart rate คือเอา 220 ตั้งแล้วลบด้วยอายุของเรา เช่นถ้าเราอายุ 40 ปี, MHR ก็จะเป็น 220-40 = 180 ครั้งต่อนาที

3 แง่มุมของ AI ที่เราควรตระหนัก จากมุมมองของผู้เขียน Sapiens

3 แง่มุมของ AI ที่เราควรตระหนัก จากมุมมองของผู้เขียน Sapiens

ผมเพิ่งได้ฟังการสัมภาษณ์ที่นักข่าว Pedro Pinto พูดคุยกับ Yuval Noah Harrari ผู้เขียนหนังสือ Sapiens: A Brief History of Humankind

การสัมภาษณ์นี้เกิดขึ้นในเมืองลิสบอนเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2023 เนื้อหาหลักของการพูดคุยคือ AI จะมีผลกระทบต่อการเมืองและประชาธิปไตยอย่างไร

ในช่วงต้นของการสัมภาษณ์ ฮารารีได้พูดถึงบางแง่มุมของ AI ที่ผมคิดว่าน่าสนใจ จึงขอนำมาแชร์ไว้ตรงนี้ครับ

.

1. AI ที่เราเห็นยังเป็นแค่อะมีบา

AI ที่เราใช้งานกันอยู่มีอายุประมาณ 10 ปี

วิวัฒนาการต้องใช้เวลาถึง 4 พันล้านปีกว่าจะสร้างสิ่งมีชีวิตต่างๆ ที่เราเห็นในทุกวันนี้ ทั้งพืช สัตว์ และมนุษย์

เมื่อสี่พันล้านปีที่แล้ว สิ่งมีชีวิตบนโลกยังเป็นแค่อะมีบา (amoeba) อยู่เลย

ChatGPT จึงเป็นแค่อะมีบาในโลกของ AI

ถ้า AI ระดับอะมีบายังทำได้ขนาดนี้ ลองนึกภาพดูว่า AI ระดับ T-Rex จะทำได้ขนาดนี้

และต้องใช้เวลาเท่าไหร่ที่ “อะมีบา AI” จะวิวัฒนาการเป็น “ทีเร็กซ์ AI”

คงไม่ได้ใช้เวลาเป็นพันล้านปีแน่ๆ อาจจะใช้เวลาแค่ระดับทศวรรษหรือไม่กี่ปีเท่านั้น เพราะว่าวิวัฒนาการของ AI อยู่บนคนละ time scale กับสิ่งมีชีวิตโดยสิ้นเชิง เนื่องจาก AI ทำงานได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องพักผ่อนเหมือนสิ่งมีชีวิตอื่นๆ

.

2. AI เป็นเทคโนโลยีชนิดแรกที่ตัดสินใจได้เอง

เราคงเคยได้ยินบางคนพูดว่า AI ไม่ได้อันตรายอย่างที่เราคิด ที่ผ่านมาเวลาเกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ คนก็มักจะกลัวกันไปก่อน แต่สุดท้ายแล้วทุกอย่างมันก็โอเค ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีสิ่งพิมพ์หรือการบิน ดังนั้นสุดท้ายแล้ว AI ก็จะเป็นแบบนั้นเช่นกัน

แต่เราไม่อาจเทียบ AI กับเทคโนโลยีอื่นได้ เพราะไม่เคยมีเทคโนโลยีใดในประวัติศาสตร์ที่สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวเอง

ยกตัวอย่างระเบิดปรมาณู (atomic bomb) – แม้ว่ามันจะทำลายเมืองทั้งเมืองได้ แต่มันไม่สามารถตัดสินใจเองได้ว่าจะไประเบิดที่เมืองไหน เรายังต้องใช้มนุษย์ในการเลือกอยู่ดี

แต่ AI นั้นตัดสินใจเองได้ เวลาเรายื่นขอเงินกู้ หลายธนาคารใช้ AI ในการตัดสินใจว่าจะปล่อยกู้ให้เราหรือไม่

.

3. AI เป็นเทคโนโลยีชนิดแรกที่สร้างไอเดียใหม่ๆ ได้

เทคโนโลยีการพิมพ์ วิทยุ หรือโทรทัศน์ทำได้เพียงกระจายไอเดียที่ถูกสร้างขึ้นมาโดยมันสมองของมนุษย์

โยฮันเนส กูเตนเบิร์ก เป็นผู้ปฎิวัติการพิมพ์จนทำให้สามารถพิมพ์ไบเบิลออกมาได้ในช่วงศตวรรษที่ 15

“The printing press printed as many copies of the Bible as Gutenberg instructed it, but it did not create a single new page”

แท่นพิมพ์เหล่านั้นจะพิมพ์ไบเบิลออกมากี่ร้อยกี่พันเล่มก็ได้ แต่มันไม่สามารถ “เขียน” ไบเบิลหน้าใหม่ออกมาได้เลยแม้แต่หน้าเดียว

แท่นพิมพ์เหล่านั้นไม่มีไอเดียเป็นของตัวเอง มันไม่รู้หรอกว่าไบเบิลที่มันผลิตออกมานั้นดีหรือไม่ดี

แต่ AI สามารถสร้างไอเดียใหม่ๆ ได้ มันอาจจะสามารถเขียนไบเบิลใหม่ทั้งเล่มได้เลยด้วยซ้ำ

หลายศาสนามักจะเคลมว่าพระคัมภีร์ของศาสนาตัวเองนั้นถูกเขียนขึ้นโดยบางสิ่งที่มีภูมิปัญญาเหนือมนุษย์ (superhuman intelligence)

แต่ไม่กี่ปีต่อจากนี้ อาจจะเกิดศาสนาใหม่ที่มี AI เป็นผู้เขียนพระคัมภีร์จริงๆ ก็ได้


ขอบคุณข้อมูลจาก YouTube: Humanity is not that simple | Yuval Noah Harari & Pedro Pinto

ความรู้ชั่วคราวกับความรู้ถาวร

Morgan Housel บอกว่าความรู้มีอยู่สองประเภท คือความรู้ชั่วคราว กับความรู้ถาวร

ความรู้ชั่วคราว หรือ Expiring Knowledge คือความรู้ที่มีวันหมดอายุ

วิธีดูง่ายๆ ว่าความรู้นี้เป็น Expiring Knowledge หรือเปล่า ก็คือการถามว่า “อีกหนึ่งปีเราจะยังแคร์เรื่องนี้มั้ย?”

ข่าวสารส่วนใหญ่ในหนังสือพิมพ์และในโลกโซเชียลคือความรู้ชั่วคราว มาเพื่อสร้างความตื่นเต้นและความอยากรู้อยากเห็นแต่ก็หมดอายุโดยเร็วเช่นกัน

ส่วนความรู้ถาวรหรือ Permanent Knowledge นั้นไม่มีวันหมดอายุ มันคือหลักการหรือเฟรมเวิร์คที่เราสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายสิบปีหรือแม้กระทั่งตลอดชีวิต

ความรู้ถาวรนั้นหาได้ในหนังสือบางเล่ม จากการทำงาน การสังเกต หรือการพูดคุยกับคนมีปัญญา* ส่วนในโซเชียลและในเว็บก็มีเช่นกันเพียงแต่ต้องคัดสรรให้ดีๆ

ความรู้ชั่วคราวนั้นมีข้อเสียอย่างหนึ่งที่คนมักไม่ค่อยนึกถึง ก็คือมันทำให้สมองของเรารกโดยไม่จำเป็น

เหมือนตู้เสื้อผ้าที่ยังไม่ผ่านการ KonMari ความรู้ชั่วคราวจึงเบียดเสียดแน่นตู้ ส่วนความรู้ถาวรถูกยัดเก็บเอาไว้ในหลืบ

ข่าวดีก็คือความรู้ชั่วคราวมันจะหายไปด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว เราไม่จำเป็นต้องทำอะไรกับความรู้ชั่วคราวชุดเก่า เราแค่ต้องคอยระวังไม่เสพความรู้ชั่วคราวชุดใหม่มากจนเกินไป

ฝรั่งมีคำบอกว่า Garbage in, garbage out.

ถ้าเราอยากมีความคิดดีๆ ผลิตผลงานดีๆ เราก็ควรเสพความรู้ถาวรให้มาก และเสพความรู้ชั่วคราวให้น้อยครับ


* การสังเกตและพูดคุยกับตนเองก็อาจสร้างความรู้ถาวรได้เช่นเดียวกัน

รักน้องหมาน้องแมวแล้วกินไก่ทอด

เมื่อวานผมอ่านเจอโพสต์หนึ่งใน Quora ที่ถามว่า การที่มนุษย์รักน้องหมาน้องแมว แต่กลับกินสัตว์อื่นๆ นี้ ทำให้เราเป็นคนสองมาตรฐานหรือคนหน้าไหว้หลังหลอกหรือไม่

มีคำตอบหนึ่งทีน่าสนใจ ผมยังไม่ได้มีโอกาสเช็คความถูกต้องมากนัก จึงอยากให้ฟังหูไว้หูนะครับ

หมานั้นเป็นลูกหลานของหมาป่า นับตั้งแต่ประมาณ 40,000 ปีที่แล้วในทวีปยุโรป สมัยที่ยังมีเผ่าพันธุ์ Neanderthals อาศัยอยู่ มนุษย์พันธุ์ Homo Sapiens เริ่ม “แท็กทีม” กับหมาป่าเพื่อออกหาอาหารและล่าเหยื่อด้วยกัน

หมาป่านั้นจมูกดีและหูดีกว่ามนุษย์มาก ส่วนมนุษย์ก็มีสมองที่ชาญฉลาดและใช้เครื่องมือได้ หมาป่าจึงมีหน้าที่ช่วยตามหาและวิ่งไล่เหยื่ออย่างกวางเอลก์และวัวไบซัน ส่วนมนุษย์ก็ช่วยจัดการให้เรียบร้อยด้วยหอก

เมื่อมนุษย์และหมาป่าร่วมมือกัน จึงก้าวขึ้นมาสู่จุดสูงสุดของห่วงโซ่อาหารและน่าจะเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ Neanderthal สูญพันธุ์ เพราะล่าอาหารแพ้ Sapiens ตลอด

ส่วนแมวนั้นก็สืบเชื้อสายมาจากแมวป่า และหนึ่งในเมืองที่ได้ชื่อว่าทำให้แมวป่ากลายเป็นสัตว์เลี้ยงก็คืออียิปต์ยุคโบราณอย่างน้อยเมื่อ 4,000 ปีที่แล้ว

นักวิทยาศาสตร์หลายคนคิดว่า จริงๆ แล้วมนุษย์ไม่ได้จับแมวมาเลี้ยง แต่เป็นแมวต่างหากที่มา “แฮงเอ๊าท์” ในแหล่งที่มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์

“Scientists think wildcats began hanging around farms to prey on mice attracted to grain stores, starting the long relationship between humans and felines.”

เนื่องจากอียิปต์เป็นเมืองใหญ่ มีการทำนาและเก็บเสบียงอาหาร จึงมีหนูเยอะ เมื่อหนูเยอะแมวจึงมาอาศัยอยู่แถวนี้เพราะมีหนูให้กินไม่อั้น มนุษย์ก็ชอบเพราะแมวมาช่วยจับหนู เมื่อแมวอยู่ไปนานๆ ก็เลยกลายเป็นสัตว์คู่บ้านคู่เมืองของอียิปต์ ก่อนจะเริ่มออกเดินทางไปทั่วโลกผ่านทางเรือเดินสมุทร

มีบางคอมเมนท์กล่าวติดตลกว่า มนุษย์ไม่ได้เริ่มเลี้ยงแมว แมวต่างหากที่เริ่มเลี้ยงมนุษย์ (Humans did not domesticate cats. Cats domesticated humans) ทาสแมวหลายคนน่าจะเข้าใจและเห็นด้วย

มันจึงไม่ใช่ความหน้าไหวหลังหลอกหรือสองมาตรฐาน แต่ด้วยความสัมพันธ์แบบน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่าที่มีกับมนุษย์มายาวนาน แถมหน้าตาก็น่ารัก หมาและแมวจึงมีศักดิ์และศรีสูงกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ อย่างวัวหมูเป็ดไก่ครับ


ขอบคุณข้อมูลจาก

Quora: Peter Spering’s answer to Why are humans such hypocrites? At one side, they’re dog and cat lovers but love eating chicken, and others animals meat?

The Guardian: How hunting with wolves helped humans outsmart the Neanderthals

BBC: How cats conquered the ancient world

3 วันแรกกับ IMET MAX รุ่นที่ 5

Who are you?

นี่คือหนึ่งคำถามบนสไลด์ที่ทำให้ผมครุ่นคิดตลอด 2 วันที่ผ่านมา

มันไม่ใช่คำถามสัมภาษณ์งาน แต่เป็นคำถามเพื่อให้เราทบทวน ว่าหากเราต้องแนะนำตัวให้ใครฟังโดยมีเวลาไม่เกิน 1 นาที เราจะพูดอะไร

อะไรที่บอกถึงความเป็นเราได้ดีที่สุด อะไรคือ passion ของเรา คนแบบไหนที่จะไปกับเราได้ คนแบบไหนถึงจะเป็นครูของเราได้

มันคือการคิด elevator pitch และมันคือการบ้านที่ผมต้องส่งสิ้นเดือนนี้

ผมเพิ่งกลับมาจาก Mentee Get Together Trip เป็น 2 วัน 1 คืนที่เข้มข้นและคุ้มค่าที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิต

ผมเป็นหนึ่งใน 36 mentee(s) ที่ได้รับโอกาสเข้าร่วมโครงการ IMET MAX รุ่นที่ 5

IMET = Institute for Management Education for Thailand

MAX = Mentorship Academy for Excellent Leaders

IMET หรือมูลนิธิสถาบันการศึกษาวิชาจัดการแห่งประเทศไทย เป็นองค์กรไม่แสวงกำไรที่ก่อตั้งเมื่อปี 2525

IMET MAX คือโครงการ “อุทยานผู้นำ” ซึ่งเริ่มต้นเมื่อปี 2561 โดยมีความมุ่งหวังจะสร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่มีคุณธรรมเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้ประเทศไทย

ผมไม่เคยได้ยินชื่อ IMET MAX มาก่อนจนกระทั่ง “แม็กซ์” น้องที่บริษัทและศิษย์เก่า IMET MAX รุ่นที่ 1 มาเล่าให้ผมฟัง

แม็กซ์บอกว่าโครงการนี้ดีตรงที่ไม่มีปาร์ตี้ ไม่มีหลักสูตร และไม่มีค่าหลักสูตร โดย mentee 36 คนจะถูกแบ่งเป็นกลุ่มละ 3 คนเพื่อจับคู่กับ Mentor 12 ท่านเป็นเวลา 8 เดือน แต่ละกลุ่มจะได้เจอกันประมาณเดือนละครั้งเพื่อพูดคุยและเรียนรู้จากประสบการณ์ของกันและกัน

Mentor ล้วนเป็นผู้บริหารระดับสูงที่แทบไม่มีเวลาว่าง แต่ก็ยังยินดีมาร่วมโครงการนี้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ แถมบางครั้งยังต้องเลี้ยงข้าว mentee ด้วย เป็นการ “ทำให้” ไม่ใช่ “ทำเอา” อย่างแท้จริง

ส่วน Mentee คือผู้นำอายุ 35-45 ปีที่มาจากหลายภาคส่วน – เอกชนไทยและเทศ ธุรกิจครอบครัว สื่อมวลชน สตาร์ตอัพ SME สถาบันการศึกษา หน่วยงานราชการ และมูลนิธิ โดยผู้สมัครต้องเขียน essay อธิบายว่าทำไมจึงอยากเข้าร่วมโครงการนี้ และต้องมี mentee รุ่นพี่เขียนจดหมายแนะนำให้ด้วย

โดยโครงการนี้ถูกขับเคลื่อนโดย Organising Committee ที่มาจากคณะกรรมการ IMET MAX และศิษย์เก่า ทุกคนอาสาเข้ามาทำโดยไม่รับค่าตอบแทนใดๆ

IMET MAX รุ่นที่ 5 ปิดรับสมัครสิ้นเดือนมกราคม ประกาศผลช่วงวันวาเลนไทน์ มี Mentee Orientation วันอาทิตย์ถัดมา ตามด้วย Mentee Get Together Trip ที่เพิ่งผ่านไปเมื่อวานนี้

และสิ้นเดือนมีนาคม mentee กลุ่มละ 3 คนจะต้องทำ elevator pitch ต่อหน้า mentor ทั้ง 12 ท่านเพื่อให้ mentor เลือกว่าจะดูแล mentee กลุ่มไหน

Orientation + Get Together Trip รวมแล้ว 3 วัน เป็นเวลาที่สั้นมาก แต่ก็ยาวนานพอให้ผมรู้ตัวว่ากำลังเป็นสักขีพยานของอะไรที่มันเจ๋งสุดๆ อยู่

เลยอยากนำความประทับใจบางส่วนมาเล่าให้ฟัง โดยจะพยายามสปอยให้น้อยที่สุดครับ

[บทความนี้ตั้งใจหลีกเลี่ยงการใช้ชื่อจริงและตำแหน่ง เพราะทุกคนต่างจำเป็นต้อง “ถอดหมวก” เพื่อให้โครงการนี้เกิดประโยชน์สูงสุด]

1.ไอเดียหลักของ IMET MAX

พี่วู้ดดี้ หัวเรี่ยวหัวแรงของโครงการ พูดถึงสุภาษิตจากคัมภีร์ไบเบิลในวันที่ 1:

“Iron sharpens iron, so one person sharpens another.”

เหล็กลับคมด้วยเหล็ก คนลับคมด้วยคน

และพี่วู้ดดี้ก็พูดถึงพุทธสุภาษิตนี้ในวันที่ 3:

“ปัณฑิตานัญจะ เสวะนา”

คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล

โครงการนี้คือการนำพาคนที่มีศักยภาพมาลับคมให้กันและกันเพื่อสร้างคุณค่าให้กับชีวิตและสังคม – Wisdom for Life and Social Values

2.วันนี้ดีกว่าวันพรุ่งนี้ แต่วันพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้

ไม่ได้พิมพ์ผิดครับ มันเป็นคำสอนของพี่ใหญ่ ซึ่งเป็น mentor ของรุ่นที่แล้ว และมาแชร์ประสบการณ์ให้เราฟังในวัน Orientation

พี่ใหญ่บอกว่าวันนี้ดีกว่าวันพรุ่งนี้ เพราะอนาคตเป็นสิ่งไม่แน่นอน เรามีแค่วันนี้เท่านั้น เราจึงต้องทำมันให้ดีที่สุด

แต่วันพรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ เพราะเราไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง

3.อย่าบ่นว่าเหนื่อย เพราะต่อไปจะไม่มีโอกาสเหนื่อย

สมัยหนุ่มๆ พี่ใหญ่ต้องทำงานเยอะมาก ทั้งประชุมพรรค ประชุมสภา ลงพื้นที่ ทำงานเหนื่อยสายตัวแทบขาด แต่เมื่อมองย้อนกลับไปก็ไม่เสียดาย เพราะถ้าให้กลับไปทำแบบนั้นในตอนนี้ก็คงทำไม่ไหวแล้ว

ดังนั้น หากเรายังมีเรี่ยวแรงและกำลังวังชาอยู่ ก็จงทำหน้าที่ต่อไปโดยไม่ปริปากบ่น เพราะประตูแห่งโอกาสที่จะได้เหนื่อยนั้นมันเปิดให้เราแค่ชั่วคราวเท่านั้น

4.ความน่ารักของ Mentor

กว่าจะได้ mentor แต่ละท่านมาร่วมโครงการ IMET MAX ทั้งพี่วู้ดดี้และพี่หมี (ผู้ออกแบบโครงการ) ต้องไปขอเข้าพบกับ mentor แต่ละท่านเพื่ออธิบายว่าโครงการนี้มันสำคัญอย่างไร

พี่หมีบอกว่า การหา mentor นั้นยากเย็นแสนเข็ญ เพราะคนเหล่านี้ล้วนเป็นผู้ที่มีผลงานระดับประเทศมาแล้ว แถมยังต้องมาดูแล mentee ที่เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความมั่นใจและมี “ความดื้อ” พอตัว จะหา mentor ที่ไหนที่ “Been there, done that” แต่ยังพร้อมนั่งฟังพวกเราอยู่อีก

แต่ก็มีพี่ๆ ที่ยินดีสละเวลามาเป็น mentor แถมยังต้องเตรียมตัวด้วยการเข้า Mentor Orientation เพื่อการเป็น mentor ที่ดีอีกด้วย

พวกเราเห็นรายชื่อ mentor แล้วมีแต่เทพๆ ทั้งนั้น อดตัวเกร็งไม่ได้ แต่พี่ใหญ่และพี่วู้ดดี้ก็บอกว่าอย่าไปคิดมาก เพราะ mentor เองก็เกร็งเหมือนกัน mentor หลายคนไม่มั่นใจว่าตัวเองจะเอาอะไรมาสอน mentee เพราะยุคของเขากับยุคนี้ก็ต่างกันไม่น้อย

แต่สุดท้ายแล้วมันจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า reverse mentoring ที่ mentor ก็ได้เรียนรู้อะไรบางอย่างจาก mentee เช่นกัน เหมือนดาบสองเล่มที่ลับคมให้กันและกันนั่นเอง

5.ค่าความเข้มข้นของคนมีฝีมือ

วันแรกของทริปนั้นมีกิจกรรม ice breaking ที่ทำให้ผมได้เรียนรู้เรื่องราวของเพื่อนร่วมรุ่นหลายคน

บางคนบริจาคเลือดมาแล้ว 96 ครั้ง

บางคนลดเงินเดือนตัวเอง 80% เพื่อจะได้ทำงานที่ตัวเองเชื่อ

บางคนกำลังหาที่ทางของตัวเองหลังจากต้องอยู่ในร่มเงาอันยิ่งใหญ่ของคนในครอบครัวมาเนิ่นนาน

บางคนกำลังแก้ปัญหาเรื่องยาเสพติดอย่างยั่งยืน

บางคนกำลังแก้ปัญหาราคาข้าวให้ชาวนา

บางคนกำลังช่วยร่างกฎหมาย

บางคนเคยพบประสบการณ์เฉียดตายและตระหนักว่าเราไม่สามารถเอาอะไรติดตัวไปได้ สิ่งสำคัญคือเราจะทิ้งอะไรไว้ต่างหาก

ในวันสุดท้ายที่ได้ฟังแต่ละคนขึ้นมาซ้อม elevator pitch ผมก็ระลึกได้ว่าโลกนี้ไม่มีเรื่องบังเอิญ และผมโชคดีแค่ไหนที่ได้มาอยู่ในกลุ่มคนที่มี talent density ระดับนี้

Talent density เป็นคำที่ Reed Hastings ใช้ในหนังสือ No Rules Rules ที่บอกว่าหากองค์กรให้ความสำคัญกับการรวมคนเก่งและนิสัยดีเอาไว้ด้วยกันอย่างแน่นหนา สิ่งดีๆ จะเกิดขึ้นโดยไม่ต้องไปกะเกณฑ์อะไรนัก

6.เลขมงคล

ในวันที่ 3 พี่เพ็ชร เจ้าของคำถาม Who are you? ทักขึ้นมาว่า เมื่อรวมรุ่นที่ 5 แล้ว เราจะมี mentee ทั้งสิ้น 168 คน (รุ่นแรก 24 คน รุ่นที่เหลือรุ่นละ 36 คน)

ซึ่ง 168 หรือ “ฮก ลก ซิ่ว” เป็นเลขมงคลตามตำราจีน

มันทำให้ผมนึกถึงเลขอีกตัวหนึ่งที่พี่ภิญโญ ไตรสุริยธรรมาเคยมาพูดไว้ที่ WeShare

“ผมจึงพยายามกำลังสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ว่า ช่วยมีความมั่นใจและสร้างอนาคต เดินทางต่อไปเถอะ แม้ว่าจะเป็นเรื่องยาก คนรุ่นผมฝ่าฟันกันมาเยอะ ล้มเหลวเป็นส่วนใหญ่ สำเร็จบ้างก็มี ผลงานไม่ได้มากมายนัก แต่ประเทศนี้จะเดินทางต่อไปสู่อนาคตท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง ความยากลำบากขนาดนี้ได้ ไม่มีใครที่จะฟันฝ่าไปได้นอกจากคนรุ่นใหม่ที่จะร่วมมือร่วมใจกันเพื่อที่จะฟันฝ่าไปให้ได้

คนรุ่นใหม่คือบริษัทเหล่านี้ที่เกิดขึ้นมา คือ Wongnai และอื่นๆ อีก 500 บริษัท นี่ผมใช้คำเปรียบเปรย ห้าร้อยไม่ได้หมายถึงตัวเลข 500 นะ ห้าร้อยมาจากทหารพระเจ้าตาก ทหารเสือที่ฟันฝ่าและสร้างธนบุรีให้ประเทศไทยเดินต่อไปได้

วันนี้เราต้องการ 500 ธุรกิจต้องการ 500 ชีวิต ต้องการ 500 ผู้มีวิสัยทัศน์เพื่อที่จะสร้างอนาคตให้มันเดินต่อไปได้ ไม่งั้นเราจะอยู่อย่างไร เราจะส่งมอบอนาคตแบบไหนให้กับสังคมไทย คนรุ่นเก่าต้องเข้าใจว่าประเทศมันต้องสร้างด้วยคนรุ่นใหม่ หน้าที่ของคนรุ่นเก่าคือให้ทรัพยากร ให้เวลา ให้ปัญญา ให้โอกาสกับคนรุ่นใหม่ที่จะสร้างอนาคตให้กับประเทศนี้ในทุกๆ ภาคส่วน เศรษฐกิจ สังคม การเงิน วัฒนธรรม ศิลปะ ต้องให้เขาสร้าง ต้องเปิดโอกาส อย่ากดสังคมนี้ไว้อีกต่อไป มันเดินต่อไปไม่ไหวแล้ว

[ถาม]: คราวนี้จะทำยังไงดี ในเมื่อคนรุ่นเก่าเขาไม่เห็นความจำเป็นต้องหลีกทาง ต้องเปิดพื้นที่ให้กับคนตัวเล็กๆ 500 คน

เรื่องแบบนี้ตอบง่ายที่สุดและสั้นที่สุด ท่านท่องไว้หนึ่งคำ 3 ครั้ง disruption, disruption, disruption

สวดมนต์ไว้ disruption, disruption, disruption

คุณไม่มีทางไปร้องขออำนาจหรือความเปลี่ยนแปลงจากคนที่หวงอำนาจและไม่อยากเปลี่ยนแปลง คุณขอสิ่งที่เขาไม่อยากให้มากที่สุดได้อย่างไร สิ่งที่คนรุ่นเก่าหวงมากที่สุดก็คืออำนาจ สิ่งที่คนรุ่นเก่ากลัวมากที่สุดคือความเปลี่ยนแปลง คืออยากจะรักษาอำนาจและไม่อยากเปลี่ยนแปลงอะไรเลย เพราะการเปลี่ยนแปลงคือการสูญเสียอำนาจในทุกๆ มิติ

ฉะนั้นสิ่งเดียวที่คุณจะทำได้คือการ disruption สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นจากจุดเล็กๆ โดยไม่ต้องร้องขออำนาจ เมื่อคุณ disruption ไปทีละจุด ทีละจุด ทีละจุด 500 จุดหรือมากกว่าไปเรื่อยๆ สังคมจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นเอง

อย่าร้องขอ อย่ากลัวที่จะเปลี่ยนแปลง แต่จงเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ตัวเองอยากเป็นด้วยตัวของคุณเอง แล้วใช้พลังของการ disruption สร้างมันขึ้นมาทุกจุดในสังคม แล้วสังคมจะเปลี่ยน อยากทำงานธุรกิจสร้างธุรกิจ อยากทำงานวัฒนธรรมสร้างวัฒนธรรมใหม่ อยากทำงานสังคมสร้างสังคม อยากทำงานการเมืองสร้างการเมือง อยากเขียนหนังสือเขียนหนังสือ อยากทำอะไรทำ ใช้พลังแห่งความเชื่อมั่น disrupt มันไปทีละส่วน แล้วสังคมจะเปลี่ยนแปลงจากความเปลี่ยนแปลงมวลรวมของปัจเจกชนขึ้นมาได้”

7.ปัญญาที่หายไป

พี่หมี ผู้ออกแบบหลักสูตรถามพวกเราว่า ปัญญามาจากไหน?

หนึ่ง Study & Learn นั่นคือการเรียนกับครูและอ่านจากหนังสือ

สอง Development & Practice ก็คือการเรียนรู้ด้วยการลงมือทำ

แต่ยังมีขุมทรัพย์ปัญญาอีกหนึ่งแห่งที่เรามักละเลย นั่นก็คือ

สาม Reflection & Thought Out มันคือการคิดทบทวนตัวเองอย่างละเอียดและใคร่ครวญ

พี่หมีบอกว่า ในทางพุทธ ข้อแรกคือสุตมยปัญญา ข้อที่สองคือภาวนามยปัญญา ส่วนข้อสุดท้ายคือจินตามยปัญญา

จินตามยปัญญานี่เองที่เราไม่ค่อยได้ใช้ประโยชน์เท่าไหร่ เพราะเราไม่เคยนั่งลงและคุยกับตัวเองอย่างจริงจัง

มันทำให้นึกถึงอีกคำพูดหนึ่งของพี่ภิญโญที่เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในหนังสือ “ครู่สนทนา” และเว็บ The Cloud:

“ความกล้าหาญสูงสุดของมนุษยชาติคือคุณต้องกล้าตั้งคำถามที่ยากที่สุดกับตัวเอง แล้วก็ต้องกล้าตั้งคำถามที่ยากที่สุดกับสังคม เพราะว่าถ้าคุณไม่ตั้งคำถามที่ยากที่สุดกับตัวเอง คุณจะไปไม่ถึงแก่นของตัวเองว่าความกลัวของคุณคืออะไร ความต้องการสูงสุดของคุณคืออะไร ความมุ่งมาดปรารถนาสูงสุดของคุณคืออะไร

ถ้าคุณไม่กล้าตั้งคำถามที่ลึกที่สุดไปที่ตัวเอง คุณจะไปต่อไม่ได้ เพราะคุณยังไม่รู้จักตัวเอง คุณไม่กล้าเผชิญหน้ากับตัวเอง แล้วคุณก็จะอยู่ในคำถามกลางๆ เช่น กูจะย้ายงานดีมั้ย กูจะอยู่บริษัทนี้หรือบริษัทนั้น คำถามมันกลางมาก มันไม่ได้ไปถึงแก่นที่ลึกที่สุดว่าตกลงกูเกิดมาเพื่ออะไร อะไรคือสิ่งสำคัญสูงสุดของชีวิตกู กูทำอะไรได้ดีที่สุดในชีวิต ถ้ากูจะตายในวันรุ่งขึ้นกูจะทำอะไรฝากไว้ในโลกนี้ ซึ่งคุณภาพของคำถามต่างกัน คุณภาพของคำตอบก็ต่างกัน”

ความท้าทายของผมในปีนี้ ก็คือการตั้งคำถามที่ยากที่สุดกับตัวเอง หาให้เจอว่าเราคือใคร จุดแข็งของเราคืออะไร เราต้องการทิ้งอะไรเอาไว้บ้าง

Who are you?

Who are you?

Who are you?

นี่คือบทสวดมนต์ที่ผมต้องท่องให้ขึ้นใจก่อนจะขึ้นไปแนะนำตัวต่อหน้า mentor ทั้ง 12 ท่านในอีก 3 สัปดาห์

ขอบคุณ IMET MAX ที่กระตุกและกระตุ้นให้ผมตั้งคำถามสำคัญ และจัดสรรให้พวกเราได้มาพบเจอเพื่อลับคมและบ่มปัญญาทั้งสามระดับเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทีละจุดทีละจุดจนครบ 36 จุด 168 จุด และ 500 จุด

Everything is connected และคนตัวเล็กๆ สามารถเปลี่ยนแปลงประเทศชาติได้

โปรดติดตามตอนต่อไปครับ