ทำงานเสร็จมากมายแถมยังได้กลับบ้านห้าโมงครึ่ง

20160131_GoHomeAt530

วันนี้เผอิญไปเจอบทความหนึ่งที่น่าสนใจมากเลยนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

บทความนี้เขียนโดย Eric Barker ที่โทรศัพท์ไปปรึกษาเพื่อนชื่อ Carl Newport เพื่อจะขอคำแนะนำว่าควรทำตัวอย่างไรถึงจะเป็นคนที่ productive ขึ้น

คาร์ล นิวพอร์ตเป็นคนเขียนหนังสือชื่อ So Good They Can’t Ignore You ซึ่งผมเองก็ซื้อมานานแล้วแต่ยังไม่ได้อ่าน แหะแหะ

อีริคคุยกับคาร์ลเสร็จแล้วจึงได้เขียนบทความนี้ขึ้นมา How to be the most productive person in your office — and still get home by 5:30 p.m. – ทำยังไงถึงจะเป็นคนที่ productive ที่สุดในออฟฟิศแถมยังได้กลับบ้านก่อนห้าโมงครึ่งอีกด้วย

บทความต้นฉบับนั้นค่อนข้างยาวทีเดียว แต่ถ้าผู้อ่านถนัดภาษาอังกฤษอยู่แล้วก็แนะนำให้อ่านบทความต้นฉบับนะครับเพราะเขียนได้ดีกว่าผมอยู่แล้ว

ส่วนผมเองขอนำมาสรุปคร่าวๆ ดังนี้

  1. To Do List อย่างเดียวไม่เวิร์ค ต้องจัดเวลาลงตารางด้วย
  2. คิดไปเลยว่าต้องกลับบ้านตอนห้าโมงครึ่งแล้วค่อยวางแผนย้อนกลับมา
  3. วางแผนสำหรับทั้งสัปดาห์
  4. เลือกทำงานเพียงไม่กี่ชิ้น แต่ทำให้โคตรเจ๋งไปเลย
  5. ทำ “งานตื้นเขิน” ให้น้อย ลงแรงกับ “งานลึกซึ้ง” ให้มากขึ้น

1. To Do List อย่างเดียวไม่เวิร์ค ต้องจัดเวลาลงตารางด้วย

เพราะ To Do List ของเรานั้นมักจะมีงานเยอะเกินไปเสมอ การจัดงานของเราลงตารางเวลาจะทำให้เราเห็นชัดเจนขึ้นว่าเราจะทำงานได้เยอะขนาดไหน และการจัดงานลงตารางก็จะช่วยให้เราผัดวันประกันพรุ่งน้อยลงเพราะเราได้ตัดสินใจไปแล้วว่าจะทำงานชิ้นนี้ ณ เวลานี้

อาจนะฟังดูเครียดและไม่ค่อยยืดหยุ่นเท่าไหร่ แต่คาร์ลก็แนะนำว่าเราควรจะจัดเวลาไว้เลยว่าจะพักเบรคช่วงไหนบ้าง และควรจะจัดเวลาเผื่องานที่เข้ามากะทันหันเช่นกัน

2. คิดไปเลยว่าต้องกลับบ้านตอนห้าโมงครึ่งแล้วค่อยวางแผนย้อนกลับมา

พอเรามี deadline ที่ชัดเจน เราก็จะตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่างานไหนจะรับมาทำหรือไม่รับมาทำ เราจะเข้มแข็งพอที่จะปฏิเสธงานบางงานหรือคนบางคนเพราะเรารู้ดีว่าถ้าทำเพิ่มเราก็จะไม่สามารถกลับบ้านตามเวลาได้

ที่สำคัญการที่เราสามารถคอนโทรลตารางเวลาชีวิตเราได้ จะช่วยให้ความเครียดลดน้อยลงอีกด้วย

3. วางแผนสำหรับทั้งสัปดาห์

ใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงแรกตอนเช้าวันจันทร์ในการวางแผนว่าสัปดาห์นี้จะทำอะไรบ้าง แล้วเอางานลง schedule ให้หมดตลอดสัปดาห์ (รวมถึงเรื่องส่วนตัวนอกเวลางานด้วยก็ได้)

คาร์ลบอกว่าทุกๆ วันเขารู้ว่าแต่ละชั่วโมงจะทำอะไรบ้าง และทุกๆ สัปดาห์เขารู้ว่าแต่ละวันจะทำอะไรบ้าง และทุกๆ เดือนเขาก็รู้ว่าแต่ละสัปดาห์เขาจะทำอะไรบ้าง

4. ทำงานให้น้อยชิ้น แต่ทำให้โคตรเจ๋งไปเลย

ด้วยการถามคำถามที่ว่า “อะไรบ้างที่สร้างคุณค่าที่แท้จริงให้กับชีวิตของเรา?” เมื่อได้คำตอบแล้ว ก็พยายามจำกัดกิจกรรมหรืองานอื่นๆ ให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

5. ทำ “งานตื้นเขิน” ให้น้อย ลงแรงกับ “งานลึกซึ้ง” ให้มากขึ้น

ในประวัติศาสตร์ของจักรวาล ไม่เคยมีใครได้เป็น CEO เพราะตอบเมล์ได้มากกว่าใครและเข้าประชุมมากกว่าคนอื่น

ที่พวกเราทำงานไม่ทัน เพราะเรามักจะเอาเวลาไปสาละวนอยู่กับงานที่ตื้นเขินอย่างการตอบอีเมล์ เข้าประชุม และส่งข้อมูลไปมา ซึ่งเป็นงานที่ให้ผลตอบแทนต่ำ

และที่เราชอบเอาเวลาไปทำงานพวกนี้ก็เพราะว่ามันง่ายดี

ในขณะที่งานที่มีคุณค่าจริงๆ ต้องใช้พลังและความสามารถของเราอย่างเต็มที่ เราจึงมัก “ไม่มีเวลา” และหาทางหลบหลีกอยู่ตลอด ทั้งๆ ที่จริงแล้วงานพวกนี้แหละที่จะทำให้เราก้าวหน้า

Shallow work stops you from getting fired — but deep work is what gets you promoted.

งานที่ตื้นเขินทำให้คุณไม่โดนไล่ออก แต่งานที่ลึกซึ้งจะทำให้คุณได้เลื่อนขั้น

—–

ผมเองยังไม่แน่ใจว่ามันจะเวิร์คกับบริบทคนไทยรึเปล่า โดยเฉพาะคนที่มีเจ้านายอทินนา 

โชคดีที่เจ้านายผมให้อิสระพอสมควรเลย สัปดาห์นี้ผมเองว่าจะทดลองทำตามแนวทางนี้ดูซะหน่อยครับ

—–

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก Show First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

——

ขอบคุณข้อมูลจาก The Week: How to be the most productive person in your office — and still get home by 5:30 p.m.

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

นิทานเจ้าหญิงก้อนหินกับเจ้าชายน้ำหยด

20160130_StonePrincess

เมื่อวานนี้วันศุกร์ ควรจะได้เล่านิทาน แต่ไม่มีแรงเขียน เลยมาขอเขียนชดเชยวันนี้แทนนะครับ

เป็นนิทานของ “บัวไร” เจ้าของคอลัมน์ “เรื่องสั้นประจำส้วม” ในมติชนวันอาทิตย์หน้า 14 ในตำนานครับ

—–

“หลังจากผิดหวังในความรัก เจ้าหญิงก็นั่งนิ่งไม่เคลื่อนไหว จนร่างกายค่อยๆ กลายเป็นหิน หากชายใด สามารถทนกอดก้อนหินได้ ด้วยความรักจริงจากใจ ก้อนหินก็จะกลับกลายมาเป็นเจ้าหญิงงดงามดั่งเดิม”

เจ้าชายน้ำหยดอ่านแผ่นป้ายหน้าก้อนหินรูปทรงประหลาดอย่างสนใจ

“ต้องกอดนานเท่าไร” เจ้าชายถามคนเฝ้าก้อนหิน

“ไม่รู้…… เพราะว่ายังไม่มีใครทนกอดได้สำเร็จสักคน” คนเฝ้าก้อนหินตอบโดยไม่เงยหน้า

“เราจะกอดเจ้าหญิงเอง” แล้วเจ้าชายก็ค่อยๆ นั่งลงบรรจงกอดก้อนหินอย่างทะนุถนอม

หนึ่งปีผ่านไป เจ้าชายน้ำหยดยังคงกอดก้อนหินอยู่

“นี่ท่านยังกอดก้อนหินอยู่อีกหรือ” คนเฝ้าก้อนหินรู้สึกทึ่งกับความอดทนของเจ้าชาย

“ท่านทำได้อย่างไร” คนเฝ้าก้อนหินถามต่อ

“เพราะข้าอยู่กับปัจจุบัน”เจ้าชายตอบ

แต่คนเฝ้าก้อนหินยังงง เจ้าชายจึงพูดต่อว่า”ถ้าท่านกอดก้อนหิน หนึ่งวันท่านทำได้หรือไม่”

“สบายมาก”คนเฝ้าก้อนหินตอบโดยไม่ต้องคิด

“แล้วถ้ากอดสองวันล่ะ”

“อาจจะเริ่มเบื่อนิดๆ”

“แล้วถ้าสามวัน สี่วัน หรือสิบวันล่ะ” เจ้าชายถามต่อ

“ไม่เอา ข้าไม่มีความอดทนนานขนาดนั้นหรอก” คนเฝ้าก้อนหินตอบ

“นั่นเพราะว่าท่านไม่อยู่กับปัจจุบัน ….ท่านคิดไปก่อนล่วงหน้าว่าไม่ไหว”

“ไม่เข้าใจ” คนเฝ้าก้อนหินพูด

“ในเมื่อท่านกอดก้อนหินหนึ่งวันได้สบายมาก พรุ่งนี้หรือวันต่อๆ ไป มันจะต่างกันตรงไหน มันก็คงเป็นแค่หนึ่งวันที่ผ่านไปเช่นเดียวกัน” เจ้าชายตอบ และลูบก้อนหินราวกับมันมีชีวิต

“ในสายตาท่าน อาจจะเห็นว่าข้ากอดก้อนหินนี้มานานเป็นเวลาหนึ่งปี แต่ในความรู้สึกของข้า ข้าเพิ่งกอดเจ้าหญิง “หนึ่งวัน” มาแค่ 365 ครั้งเท่านั้น”

“ข้าก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดี แต่ช่างมันเถอะ ข้าต้องการรู้แค่ว่าที่ท่านกอดก้อนหิน เพราะว่าท่านรักเจ้าหญิงจริงๆ หรือ เพราะว่าต้องการเอาชนะ” คนเฝ้าก้อนหินถาม

“ข้ารักจริง” ปากเจ้าชายตอบโดยมือยังไม่คลายกอดจากก้อนหิน

“งั้นเอาอย่างนี้ก็แล้วกันท่าน…… ข้าว่าท่านมากอดข้าดีกว่า”

คนเฝ้าก้อนหินลุกขึ้นยืน ถอดเสื้อผ้าชุดมอมแมมออก

“นั่นน่ะมันแค่ก้อนหิน ส่วนข้าสิ ‘เจ้าหญิง’ ตัวจริง”

……… ตกลงเลยไม่รู้ว่าจะให้เจ้าชายดีใจ หรือกระโดดเตะเจ้าหญิงดี

—–

ป.ล. ขอบคุณเฮียชาติที่เล่านิทานเรื่องนี้ให้ฟังอีกครั้ง

—–

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก Show First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

——

ขอบคุณข้อมูลจาก เรื่องสั้นประจำส้วม, Dek-d.com

 

เราไม่ได้เครียดเพราะงานเยอะเกินไป

20160128_NotStressedBecauseTooMuchWork

เพราะโดยหลักการของการทำงานประจำ ปริมาณของงานมันควรจะเป็นอนันต์ (infinity) อยู่แล้ว

นั่นคือจะมีงานเข้ามาทุกวันไม่มีวันจบ

ถ้างานมันมีวันจบ นั่นเรียกว่าโปรเจ็ค และเขาก็ควรจ้างเราเป็นแค่ contractor มากกว่า พอจบโปรเจ็คก็เลิกจ้างเรา

ดังนั้นในฐานะพนักงานประจำกินเงินเดือน เราควรจะดีใจที่มีงานเยอะ เพราะนั่นแสดงว่าเขายังต้องการจ้างเราอยู่

สิ่งที่ทำให้เราเครียดจึงไม่ใช่ปริมาณของงาน

สิ่งที่ทำให้เราเครียดคือเงื่อนไขด้านเวลา

เช่นต้องทำรายงานส่งภายในวันพรุ่งนี้

ต้องออกซอฟต์แวร์ตัวใหม่ให้ลูกค้าภายในสองสัปดาห์

หรือต้องเตรียมทุกอย่างให้ทันก่อนวันที่จะมี Event เช่นงานเลี้ยงประจำปีหรือประชุมใหญ่

นอกจากเรื่องเงื่อนไขด้านเวลาแล้ว อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เราเครียดกับงานได้ (แม้ความถี่จะน้อยกว่า) ก็คือเรื่องความยากของเนื้องาน

ถ้างานยากเกินความสามารถของเรานิดนึง เราจะรู้สึกดีเพราะว่ามันท้าทายและเราได้เรียนรู้

แต่ถ้างานที่เราได้มามันยากเกินความสามารถของเราไปมาก มากจนไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน นั่นก็ทำให้เราเครียดได้เช่นกัน

ความเครียดทั้งสองแบบนี้มีทางแก้ง่ายๆ อยู่วิธีนึง

ใช้ปากครับ

ถ้างานมันยากจนไม่รู้จะเริ่มตรงไหน ก็ใช้ปากถามหัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานที่มีประสบการณ์มากกว่า

ยอมถูกมองเป็นคนโง่ในวันนี้เพื่อฉลาดในวันพรุ่ง ดีกว่าเก็บเงียบไว้คนเดียวแล้วโง่ไปทุกวัน

ส่วนปัญหาเรื่องเงื่อนไขเวลา ถ้างานมันเร่งจนเราต้องอยู่ดึกดื่น นอนไม่พอ สุขภาพทรุดโทรม เราก็ควรใช้ปากของเราพูดคุยกับหัวหน้า

หัวหน้าที่ดีย่อมเข้าใจและหาทางช่วย เพราะปัญหาทุกอย่างมีทางออกอยู่แล้ว และทางออกง่ายๆ ก็คือตัดสินใจว่าจะให้เราทำงานชิ้นไหนให้เสร็จก่อน-หลัง หรือถ้ามันต้องเสร็จพร้อมกันจริงๆ เขาก็จะหาคนมาช่วยเราอีกแรง

งานทุกชิ้นรอได้ครับ ที่รอไม่ได้ (หรือไม่ยอมรอ) คือคนต่างหาก ดังนั้นถ้าจะแก้ต้องแก้ที่คน แต่เราเองก็ต้องกล้าที่จะพูดปัญหาของเราออกมาเสียก่อน

จงเป็นคนปากเบา แล้วเราจะไม่เครียดกับงานครับ

—-

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก Show First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

—–

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

สิ่งที่สามคนนี้เหมือนกัน

20160127_Common

ทุกคนน่าจะรู้จัก Barrack Obama ประธานาธิบดีอเมริกา

จำได้มั้ยครับว่าโอบาม่าชอบใส่สูทสีอะไร?

ไม่เทาก็น้ำเงินเข้ม

ทุกคนน่าจะรู้จัก Mark Zuckerberg ผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ค

จำได้มั้ยครับว่าเขาใส่เสื้ออะไร?

ใช่ครับ ใส่เสื้อยืดสีเทา

ทุกคนน่าจะรู้จัก Steve Jobs ผู้ก่อตั้ง Apple

และรู้อยู่แล้วว่าจ๊อบส์ใส่เสื้อคอเต่าสีดำ + กางเกงยีนส์

เหตุผลที่เขาเหล่านี้ใส่ชุดเดิมๆ ทุกวันไม่ใช่เพราะว่าเขาไม่มีหัวเรื่องแฟชั่น

แต่เพราะว่าในแต่ละวันพวกเขามีเรื่องสำคัญๆ ให้ต้องตัดสินใจมากมาย

การตัดสินใจของบารัก โอบาม่าคือการตัดสินใจของประเทศที่ทรงอิทธิพลมากที่สุดในโลก

การตัดสินใจของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก จะส่งผลกระทบกับคนหนึ่งพันล้านคน

และการตัดสินใจของสตี๊ฟ จ๊อบส์ อาจหมายถึงความเป็นความตายของบริษัท และการปฏิวัติอุตสาหกรรมเพลงและอุปกรณ์พกพา

—–

แต่ละวันเรามีเรื่องให้ต้องตัดสินใจกันตั้งแต่ลืมตา

  • จะนอนต่อหรือจะลุกเลยดี
  • จะใส่เสื้อสีอะไร
  • จะกินอะไรเป็นข้าวเช้า
  • จะทำงานชิ้นไหนก่อนหลัง
  • จะซื้อโดนัทหรือซื้อผลไม้เป็นของว่าง
  • จะเขียนบล็อกหรือจะเล่นเฟซบุ๊คดี
  • ฯลฯ

การตัดสินใจแต่ละครั้งจะมีผลต่อสิ่งที่ฝรั่งเรียกกันว่า willpower*

will = ความตั้งใจ
power = พลัง

Willpower เหมือนน้ำมันในถัง ตัดสินใจหนึ่งครั้งน้ำมันก็ลดลงจำนวนหนึ่ง ยิ่งการตัดสินใจนั้นเป็นเรื่องสำคัญมากๆ น้ำมันก็ยิ่งลดเยอะ ต้องได้พักผ่อนหรือหลับนอนก่อน น้ำมันถึงจะกลับมาเต็มถังใหม่

เมื่อไหร่ก็ตามที่ willpower เหลืออยู่นิดเดียว เราจะเผชิญสิ่งที่เรียกว่า decision fatigue ซึ่งแปลตรงตัวว่าความเหนื่อยล้าจากการตัดสินใจ  เมื่อเราอยู่สภาวะนี้ โอกาสที่เราจะตัดสินใจผิดพลาดยิ่งมีสูงขึ้น คนอย่างโอบาม่าและซักเคอร์เบิร์กจึงพยายามจำกัดเรื่องที่ต้องตัดสินใจให้เหลือเท่าที่จำเป็นจริงๆ

โอบาม่ากล่าวไว้ว่า

‘You’ll see I wear only gray or blue suits’ [Obama] said.

‘I’m trying to pare down decisions. I don’t want to make decisions about what I’m eating or wearing. Because I have too many other decisions to make.’

อย่างที่คุณเห็น ผมจะใส่แค่สูทสีเทาหรือสีเท่านั้น ผมพยายามลดจำนวนเรื่องที่ต้องตัดสินใจ ไม่อยากต้องมานั่งคิดว่าจะกินอะไรหรือจะใส่อะไรเพราะว่าผมมีเรื่องอื่นๆ ให้ต้องตัดสินใจมากเกินพอแล้ว

ซักเคอร์เบิร์กก็กล่าวไว้ว่า

“I really want to clear my life to make it so that I have to make as few decisions as possible about anything except how to best serve this community”

ผมต้องการจะทำให้ชีวิตมันเรียบง่าย เพื่อจะได้ตัดสินใจให้น้อยที่สุดกับทุกๆ เรื่องยกเว้นเรื่องการสร้างสังคม(เฟซบุ๊ค)

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่าเราควร “เก็บแรง(ใจ)ไว้” สำหรับเรื่องสำคัญๆ และลดการตัดสินใจเรื่องที่ไม่จำเป็นลงให้น้อยที่สุด

ผมคงจะไม่ชักชวนให้ใครมาใส่เสื้อผ้าเหมือนเดิมทุกวันเหมือนท่านประธานาธิบดีและท่านซีอีโอ

แต่ก็ยังมีอีกหลายสิ่งที่คนธรรมดาอย่างเราๆ สามารถทำได้เพื่อลดโอกาสการเกิด decision fatigue

เช่น

  • จัดเสื้อผ้าทำงานตั้งแต่ตอนกลางคืน (พรุ่งนี้ตื่นเช้ามาจะได้ไม่ต้องเสียพลังในการตัดสินใจว่าจะใส่ชุดไหนดี)
  • ปิด Notifications ทั้งในมือถือและใน Outlook ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องมาตัดสินใจว่าจะทำงานต่อหรือจะหยิบมือถือขึ้นมาดู
  • เก็บโต๊ะให้เรียบร้อย เพื่อให้มีสิ่งรบกวนทางสายตาน้อยที่สุด (ทุกครั้งที่เราชำเลืองเห็นสิ่งของพวกนี้มันจะกัดกินพลังของเราไปเสมอ แม้จะเพียงน้อยนิดก็ตาม)
  • งานชิ้นเล็กๆ ที่ใช้เวลาไม่เกิน 2 นาที ให้ทำไปเลย (จะได้ไม่มาคอยกวนใจเราว่าจะทำเมื่อไหร่ๆๆๆ)
  • ก่อนกลับบ้าน เขียน To Do List สำหรับวันพรุ่งนี้

เมื่อเราขจัดการตัดสินใจที่ไม่จำเป็นออกจากชีวิตแล้ว เราก็จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากยิ่งขึ้นครับ

—-

* ผมเพิ่งรู้ว่า willpower ใช้คำไทยว่า “จิตตานุภาพ” ฟังดูอลังการงานสร้างมาก

—-

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก Show First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

—–

ขอบคุณข้อมูลจาก
Elite Daily:  The Science Of Simplicity: Why Successful People Wear The Same Thing Every Day

Business Insider: Here’s The Real Reason Mark Zuckerberg Wears The Same T-Shirt Every Day 

ขอบคุณภาพจาก
Wikimedia: Barack Obama, Steve Jobs
Flickr: Mark Zuckerberg by TechCrunch

 

กับดักของค่าเฉลี่ย

20160126_Average

ทุกคนน่าจะรู้จักวิธีการคำนวณค่าเฉลี่ยอยู่แล้ว เพราะเป็นค่าทางคณิตศาสตร์ที่เราได้เรียนกันตั้งแต่สมัยเด็กๆ

เช่นค่าเฉลี่ยของ 10, 20, 30, 40 คือ (10+20+30+40)/4 = 25

เรามักจะใช้ค่าเฉลี่ยในการอธิบายเรื่องราวต่างๆ ในองค์กร

เช่น “ในปีที่ผ่านมา ร้านค้า 127 สาขา มียอดขายเพิ่มขึ้น 3% โดยเฉลี่ย”

เราชอบใช้ค่าเฉลี่ยเพราะว่ามันเข้าใจง่ายดี

แต่ขณะเดียวกันมันก็ไม่ได้บอกอะไรเราเลย

เพราะใน 127 ร้านนี้ อาจมี 10 ร้านที่ยอดขายโตขึ้น 200% ส่วนร้านที่เหลือไม่มีการเติบโตหรือยอดขายอาจหดตัวด้วยซ้ำ

ถ้าเราดูกันแต่ค่าเฉลี่ย เราจะไม่รู้เลยว่าควรจะให้ความสำคัญกับร้านไหน และร้านใดควรจะปรับปรุงอย่างเร่งด่วนหรือปิดมันซะเพราะไม่คุ้มทุน

ขอยกอีกตัวอย่างหนึ่ง

ถ้าบอกว่าแม่น้ำสายหนึ่ง มีความลึกโดยเฉลี่ย 0.5 เมตร หากคุณว่ายน้ำไม่เป็น คุณจะกล้าลงไปเดินหรือไม่?

บางส่วนของแม่น้ำอาจจะลึกแค่เพียงตาตุ่ม แต่บางจุดอาจจะลึกสามเมตรก็ได้

ค่าเฉลี่ยจะพอมีความหมายก็ต่อเมื่อตัวเลขที่ถูกนำมาคิดนั้นไม่ต่างกันมากนัก

เช่นส่วนสูงเฉลี่ยของเด็กชั้น ป.3 หรือเกรดเฉลี่ยของเด็กชายมนัส

แต่ในโลกยุคใหม่ ตัวเลขมักจะต่างกันเยอะมาก (extremely uneven distribution)

เช่นจะถามว่าโดยเฉลี่ยแล้วเว็บไซต์ในอเมริกามีคนเข้าวันละกี่ครั้ง?

99% ของ web traffic น่าจะไปลงที่ Google และ Facebook ขณะที่เว็บอื่นๆ ที่เหลือไม่ได้เสี้ยวของสองยักษ์ใหญ่นี้ ดังนั้น การรู้ค่าเฉลี่ยของเว็บในอเมริกาจึงไม่ได้ตอบโจทย์อะไรเลย

ในคราวถัดไปที่คุณเห็นรายงานการประชุม หรือในสไลด์ presentation แล้วเห็นการพูดคุยกันเรื่องค่าเฉลี่ย ลองถามตัวเองดูนะครับว่า มันบอกอะไรเราจริงหรือ

และที่สำคัญกว่านั้นคือ มันอาจซ่อนอะไรอยู่บ้าง?

—–

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก Show First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

—–

ขอบคุณข้อมูลจาก
Seth Godin: On average, averages are stupid

Rolf Dobelli: The Art of Thinking Clearly : 55. Why There is no such thing as an average war