สิ่งที่เราเคยต้องการ เรายังต้องการมันอยู่จริงหรือ

หนึ่งในบทเรียนที่สำคัญที่สุดที่ผมได้จากหนังสือ Think Again ของ Adam Grant ก็คือการตั้งคำถามกับชุดความเชื่อที่เรามี

ชุดความเชื่อบางอย่างเข้ามายึดครองพื้นที่ในใจหรือในอุดมการณ์ของเราตั้งแต่เมื่อ 5 ปี 10 ปี หรือแม้กระทั่ง 20 ปีที่แล้ว

เรามี “ภาพฝัน” ว่าชีวิตที่ดีควรเป็นแบบนี้ การงานที่ดีควรเป็นแบบนี้ ความรักที่ดีควรเป็นแบบนี้

และภาพฝันที่สลัดยากที่สุด คือตัวตนของเราควรเป็นแบบนี้

ผมขอยกตัวอย่างสองเรื่องของตัวเอง

ฤดูกาล 1998/99 คือฤดูกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เพราะทำสิ่งที่ไม่เคยมีใครเชื่อว่าจะทำได้ นั่นคือการกวาดสามแชมป์ ทั้ง Premier League, FA Cup และ Champions League

ผมยังเรียนอยู่ปี 1 ในตอนนั้น และอดตาหลับขับตานอนเชียร์ทุกนัดที่แมนยูลงแข่ง

นัดชิงแชมเปี้ยนส์ลีกที่แมนยูเตะกับบาเยิร์นมิวนิค รู้ทั้งรู้ว่าเช้านั้นมีสอบปลายภาควิชาฟิสิกส์ ผมก็ยังตื่นมาดู กว่าจะได้นอนอีกทีก็เกือบตีห้า และตื่นเจ็ดโมงเช้าเพื่อไปสอบ

จากนั้นมาผมก็ติดตามแมนยูตลอด ต่อให้แมทช์จะดึกแค่ไหนก็จะต้องดูถ่ายทอดสด เวลาทีมแพ้ในนัดสำคัญก็จะซึมไปหลายวัน

แต่หลังจากมีครอบครัว มีลูก ผมดูถ่ายทอดสดแมนยูเตะน้อยลงไปเยอะ ฤดูกาลนี้ยังไม่ได้ดูเต็มแมทช์เลยซักนัด ใช้วิธีดูไฮไลท์ในวันรุ่งขึ้นแทน

ถ้าเป็นตัวผมสมัยก่อน คงจะดูแคลนตัวผมในตอนนี้ เพราะถ้าจะเป็น “เด็กผีตัวจริง” มันต้องทุ่มเทกว่านี้ ต้องตื่นมาดูถ่ายทอดสดแม้ว่ามันจะทำให้เราง่วงไปทั้งวัน ต้องเดือดเนื้อร้อนใจเวลาทีมที่ตัวเองแพ้ ต้อง ฯลฯ

แต่เมื่อระลึกได้ว่า จริงๆ แล้วเรา “ไม่ต้อง” ทำอะไรทั้งนั้น ความคาดหวังต่างๆ เป็นสิ่งที่เราคิดไปเอง เราสามารถเชียร์ทีมที่ตัวเองรักโดยไม่จำเป็นต้องทุ่มเทเหมือนสมัยก่อน


อีกตัวอย่างหนึ่ง

ผมเริ่มเขียนบล็อกแบบจริงจังมาตั้งแต่ปี 2015 โดยตั้งเป้าว่าจะเขียนทุกวัน ซึ่งเอาจริงๆ ก็มีหลุดบ้าง แต่ทุกปีก็จะเขียนได้ประมาณปีละ 350 บทความ

เมื่อปี 2017 ตอนที่เขียนได้ครบ 1,000 บทความ ผมก็ประกาศว่าถ้าเขียนได้ (เกือบ) ทุกวันแบบนี้ ผมจะเขียนครบ 10,000 บทความก่อนอายุ 72 ปี ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ผมยึดถือมาตลอด

แต่ถ้าใครติดตามบล็อกนี้มานาน อาจจะพบว่าในช่วงเดือนที่ผ่านมา ความถี่ในการเขียนบทความของผมลดลง บางสัปดาห์อาจจะโพสต์แค่ 2-3 ตอนเท่านั้น

เหตุผลก็คือผมอยากทดลองดูว่าถ้าไม่เขียนทุกวันมันจะเป็นยังไง

ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยกล้าทำ เพราะกลัวจะเสียชื่อ “คนที่เขียนบล็อกทุกวัน” และกลัวว่าจะไปไม่ถึง 10,000 บทความตามที่เคยประกาศเอาไว้

แต่ผมก็ได้พบว่า การนิยามตัวเองว่า “เป็นคนเขียนบล็อกทุกวัน” และ “ต้องไปให้ถึง 10,000 บทความ” เป็นเป้าหมายของตัวเองเมื่อนานมาแล้ว

มาถึงวันนี้ “ส่วนผสม” และ “สัดส่วน” ของสิ่งสำคัญในชีวิตไม่ได้เหมือนแต่ก่อน แล้วเหตุใดผมถึงต้องยึดติด – หรือติดกับ – กับเป้าหมายที่ตัวเองในวัยเด็ก(กว่า) ตั้งเอาไว้

สิ่งที่ผมเคยต้องการ ไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการขนาดนั้นอีกต่อไป

ในวันนี้ สิ่งที่ผมต้องการคือการมีเวลาว่างมากขึ้น ใช้เวลากับลูกและภรรยามากขึ้น โดยไม่ต้องคอยพะวงหรือรู้สึกผิดว่าวันนี้ยังไม่ได้เขียนบล็อก และถ้ามันจะไปไม่ถึง 10,000 บทความก็ไม่เป็นไร


เขียนมายืดยาว เพียงเพื่อต้องการจะบอกว่าอย่าไปยึดติดกับเป้าหมาย หรือตัวตนของเราในอดีต

เราไม่จำเป็นต้องหวงแหนตัวตนที่สร้างเอาไว้ในจินตภาพ ตัวเราในวันนี้ไม่จำเป็นต้องคิดหรือทำเหมือนกับตัวเราเมื่อสิบปีที่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่าตัวเราในวันนี้ฉลาดและมีประสบการณ์มากกว่าตัวเราในวันก่อนตั้งเยอะ

แต่คนไม่น้อยก็ยังยืนยัน – หรือดึงดัน – ที่จะทำแบบเดิม ด้วยเหตุผลที่ว่า “เพราะเราเป็นคนแบบนี้”

นั่นย่อมทำให้เราสูญเสียโอกาสที่จะ “ได้ลองเป็นคนแบบอื่น” ซึ่งผมว่ามันเป็นเรื่องน่าเสียดาย และปิดกั้นความเป็นไปได้เกินไปหน่อย

ถ้าเรากล้าปล่อยมือจากเป้าหมายหรือตัวตนที่เรายึดถือมันมานาน เราอาจพบว่ามันไม่ได้แย่อย่างที่เราคิด

สิ่งที่เราเคยต้องการ เรายังต้องการมันอยู่จริงหรือ

นี่คือคำถามสำคัญ ที่อาจเปลี่ยนทิศทางชีวิตเราได้นะครับ

อธิษฐานจิตก่อนคิดทำงานใหญ่

คนโด มาริเอะ (Marie Kondo) เคยโด่งดังมากเมื่อปี 2015 หลังจากเขียนหนังสือ The Life-Changing Magic of Tidying Up ที่พูดถึงวิธีการจัดบ้านแบบ KonMari จนขายดีไปทั่วโลกและทำให้เธอได้รับการขนานนามเป็นหนึ่งใน 100 บุคคลผู้ทรงอิทธิพลแห่งปีของนิตยสาร TIME

ในปี 2019 เน็ตฟลิกซ์ ได้ปล่อยสารคดีชื่อ “Tidying Up with Marie Kondo” ที่พามาริเอะไปสำรวจบ้านที่รกรุงรังในอเมริกาและให้เธอช่วยจัดบ้านให้

หลังจากคุยกับเจ้าของบ้านจนรับรู้ปัญหาแล้ว สิ่งหนึ่งที่มาริเอะจะทำก่อนเริ่มลงมือจัดบ้าน คือนั่งคุกเข่าลงกับพื้น หลับตา และตั้งจิต โดยเธอจะชวนเจ้าของบ้านทำไปพร้อมๆ กัน

มาริเอะอธิบายว่ามันคือการแนะนำตัวกับบ้าน ขอบคุณที่มันให้เราอาศัยอยู่ จะขออนุญาตจัดบ้านให้เรียบร้อยขึ้น และขอให้บ้านให้ความร่วมมือกับพวกเธอด้วย

แว้บแรกอาจจะรู้สึกจักจี้ ว่าทำไมเราต้องสื่อสารกับสิ่งไม่มีชีวิต แต่เมื่อลองเปิดใจผมว่ามันเป็นอะไรที่งดงามและมีความหมาย เป็นภูมิปัญญาที่น่าเสียดายหากเราไม่คิดจะหยิบมันมาใช้ให้เกิดประโยชน์

วิธีการตั้งจิตที่เราอาจคุ้นเคยขึ้นมาหน่อย คือก่อนที่ศิลปินเบอร์ใหญ่อย่างพี่เบิร์ด พี่ตูน หรือพี่โน้ตอุดมจะขึ้นเวทีที่คนมารอดูหลายพันคน พวกเขามักจะนั่งนิ่งเพื่อรวบรวมสมาธิเสมอ

ผมเลยคิดว่า หากเรานำคอนเซ็ปต์นี้มาประยุกต์ใช้กับการทำงานก็น่าจะได้

ก่อนจะเริ่มทำงานชิ้นไหนที่สำคัญกับเรา แทนที่จะกระโจนลงไปทันที ลองสงบนิ่ง แล้วตั้งจิตอธิษฐาน ส่วนคำอธิษฐานจะเป็นเช่นไรก็ตามแต่อัธยาศัย

อธิษฐานไม่ใช่การขอ แต่มันคือแสดงความตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะทำสิ่งนั้นให้สำเร็จ

อธิษฐานจิตก่อนคิดทำงานใหญ่ แล้วลองสังเกตดูว่าพลังงานและความสัมพันธ์ที่เรามีกับงานชิ้นนั้นเปลี่ยนไปอย่างไรครับ

เป้าหมายไม่ได้มีไว้เพื่อวันพรุ่งนี้

20171030_goals

จริงๆ แล้วมันเป็นคอนเซ็ปต์ที่เบสิคมาก แต่เรามักจะหลงลืมกันไป

ว่าเป้าหมายที่ดี ไม่ใช่เป้าหมายที่จะเปลี่ยนอนาคตของเรา

เป้าหมายที่ดี คือเป้าหมายที่เปลี่ยนเราในตอนนี้เลยต่างหาก

หากเราตั้งเป้าหมายว่าจะลดน้ำหนักใน 1 เดือน เราก็ต้องเปลี่ยนการกินของเราในมื้อนี้เลย

หากเราตั้งเป้าหมายว่าจะได้เลื่อนขั้นภายในปีหน้า เราก็ต้องตั้งใจกับงานที่อยู่ตรงหน้าเรา ณ ตอนนี้เลย

หากเราตั้งเป้าหมายเสียยิ่งใหญ่และหรูหรา แต่การกระทำของเราวันนี้ไม่ได้มีอะไรต่างจากเมื่อวาน เป้าหมายนั้นก็ไร้ค่า

เพราะเป้าหมายไม่ได้มีไว้เพื่อวันพรุ่งนี้ แต่มีไว้เพื่อวันนี้ครับ

ลืมเป้าหมายไปซะ

20170912_forgetpurpose

เราอาจมีความสุขโดยไม่ต้องมีเป้าหมายก็ได้ การมุ่งมั่นเพื่อบรรลุเป้าหมายใดเพียงเป้าหมายหนึ่งทำให้คนล่มจมมานักต่อนักแล้ว

“Forget purpose. It’s okay to be happy without one. The quest for a single purpose has ruined many lives.”
― James Altucher, Choose Yourself

ไม่ว่าอะไรจะอยู่ในกระแสก็ตาม ให้ระลึกไว้เสมอว่ามันมีอีกทางเลือกหนึ่งเสมอ

ในวันที่สังคมบอกว่าเราต้องหา passion ของเราให้เจอ แล้วมุ่งมั่นทำ passion ให้กลายเป็นงานแล้วเราจะไม่ต้องทำงานอีกต่อไป มันก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ทำงานที่อยู่ตรงหน้าจนเก่งขึ้นเรื่อยๆ สุดท้ายเขาก็รักงานนั้นไปเอง

ในวันที่สังคมบอกว่าเราต้องเอาเงินไปลงทุนในหุ้น ตราสารหนี้ และกองทุนรวม เพื่อจะได้มี passive income มันก็ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่เอาเงินไปลงทุนกับการปลูกไม้สวนครัว ทำบ่อปลา จนมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องมีเงินมากมาย

มันไม่มีทางใดทางหนึ่งดีกว่า มีแต่ทางเลือกที่เหมาะกับเรามากกว่าเท่านั้นเอง

คนที่มีวินัยที่จะตื่นมามุ่งตามความฝันทุกวันนั้นน่าชื่นชม แต่ถ้าเรายังไม่ใช่คนแบบนั้นก็อย่าเพิ่งคิดว่าเราเป็นคนใช้ไม่ได้

ถ้าเรายังไม่เจอ passion ยังไม่เจอเป้าหมายของชีวิตก็ไม่เป็นไร ก็แค่ทำสิ่งที่เราทำได้และรู้ว่ามันดีแถมไม่ต้องออกแรงอะไรมาก เช่น

ยิ้มให้คนแปลกหน้า

โทร.หาเพื่อนที่ไม่ได้คุยกันนาน

ทำดีกับใครซักคน

อ่านหนังสือดีๆ ซักเล่ม

ดื่มน้ำซักแก้ว

เขียนสิ่งที่คิดลงกระดาษ

อยู่กับตัวเองเงียบๆ

ในความเงียบนั้น คำตอบบางอย่างอาจผุดขึ้นมา แต่ถ้ายังไม่ผุดขึ้นมาก็ไม่เห็นเป็นไร ก็แค่ใช้ชีวิตของเราต่อไป

และแม้หากมีคำตอบผุดขึ้นมา ก็อย่าปิดกั้นตัวเองจากคำตอบอันแตกต่างที่อาจผุดขึ้นมาอีกในอนาคต

สุดท้ายแล้วชีวิตอาจเป็นเพียงการละเล่น ตอนจบของเกมนั้นเหมือนกัน แล้วแต่ว่าเราจะเลือกเล่นเกมแบบไหนให้ถูกจริตเราที่สุดครับ

—-

ขอบคุณคุณผู้อ่านที่อุดหนุนหนังสือเล่มแรกของผม “Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ” จนตอนนี้ติดอันดับ Bestseller ของซีเอ็ดครับ (https://goo.gl/e326HZ)  หากใครยังไม่ได้จับจอง ยังสามารถหาซื้อได้ที่ซีเอ็ด นายอินทร์ คิโนะคุนิยะ เอเชียบุุ๊คส์ บีทูเอส ศูนย์หนังสือจุฬา หรือสั่งตรงกับผมก็ได้ครับ bit.ly/tgimannounce

ถ้าชีวิตคือการเดินทาง

20160827_travel

อย่างแรกสุดเราต้องตัดสินใจก่อนว่าจะไปที่ไหน

จากนั้นก็ตัดสินใจว่าจะเดินทางอย่างไร

ถ้าจะไปเชียงใหม่ จะนั่งเครื่องบินก็ได้ นั่งรถไฟก็ได้ นั่งรถทัวร์ก็ได้ ขับรถไปเองก็ได้ ใครที่ฟิตๆ หน่อยขี่จักรยานยังได้เลย

แน่นอนว่าแต่ละวิธีใช้เวลาไม่เท่ากัน ค่าใช้จ่ายก็ไม่เท่ากัน

ใครที่ต้นทุนชีวิตดีหน่อย ก็อาจจะถึงเชียงใหม่เร็วหน่อยเพราะมีเงินซื้อตั๋วเครื่องบิน

ส่วนคนที่ต้นทุนชีวิตไม่ค่อยมี อาจต้องใช้เวลามากกว่า อาจต้องเจออุปสรรคเยอะกว่า แต่สุดท้ายก็น่าไปถึงเชียงใหม่ได้เหมือนกัน

โลกเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน สถานการณ์อาจพลิกผัน ที่ตอนแรกว่าจะนั่งเครื่องบินไปชิลล์ๆ อาจต้องไปขึ้นรถทัวร์ที่หมอชิตแทน

แต่ถึงไปช้าหน่อยก็ไม่เป็นไร เพราะวิวข้างทางที่เราได้เห็นจากที่นั่งบนรถทัวร์ ก็จะกลายมาเป็นประสบการณ์และความทรงจำที่คนนั่งเครื่องบินไม่เคยมี

ที่ต้องระวังก็คือ อย่าเอาความเร็วในการเดินทางของตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น

คงตลกดีถ้าคนที่นั่งรถทัวร์จะบ่นว่ามันไม่แฟร์ที่คนนั่งเครื่องบินจะถึงที่หมายเร็วกว่า

แทนที่จะกังวลว่าใครจะถึงที่หมายก่อนกัน สู้สำรวจตัวเองดีกว่าว่าเราหันหน้าถูกทิศรึเปล่า

เพราะถ้าหันหน้าถูกทิศ จะช้าจะเร็วก็ย่อมถึงเชียงใหม่

แต่ถ้าหันหน้าผิดทิศ ยิ่งตะบี้ตะบันเท่าไหร่ ยิ่งห่างไกลจากจุดหมายเท่านั้นนะครับ


อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (กดไลค์แล้วเลือก See First หรือ Get Notifications ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pexels.com