เมื่อลูกน้องไม่ได้ดั่งใจ

ให้กลับมาดูตัวเองว่าเราเองก็เป็นลูกน้องที่ไม่ได้ดั่งใจของหัวหน้าเราเช่นกัน

ดูว่าเรายังขาดตกบกพร่องตรงไหน แล้วปรับปรุงตัวเองก่อน

เมื่อเราดีขึ้น ลูกน้องก็จะดีขึ้นอย่างน่าประหลาดใจ ไม่ต่างอะไรกับที่เวลาเราเก็บห้องให้เรียบร้อย แล้วคนอื่นๆ ในบ้านก็หันมาเก็บห้องของตัวเองบ้าง

วิธีการนี้ใช้ได้กับคนที่ไม่ใช่ลูกน้องด้วย

เมื่อเพื่อนร่วมงานไม่ได้ดั่งใจ ให้กลับมาดูตัวเอง

เมื่อแฟนไม่ได้ดั่งใจ ให้กลับมาดูตัวเอง

เมื่อคนในครอบครัวไม่ได้ดั่งใจ ให้กลับมาดูตัวเอง

เพราะเราเปลี่ยนใครไม่ได้ แต่เราใช้ความบกพร่องของคนอื่นเป็นตัวเตือนสติให้เราเปลี่ยนตัวเองได้ครับ

อาหารเรียกน้ำย่อยที่ดีที่สุดคือความหิว

หนึ่งในอาหารที่อร่อยที่สุดมื้อนึงในชีวิตของผม คือเส้นใหญ่ผัดซีอิ๊วหมูที่เพิงร้านอาหารตามสั่งตรงปากซอย

จำได้ว่าวันนั้นทำงานเหนื่อยมาทั้งวัน นั่งรถไฟฉึกฉักมาลงสถานีหัวหมากและต้องเดินอีกกิโลเมตรกว่าๆ กว่าจะมาถึงร้าน ตอนสั่งอาหารก็รอนานเพราะวันนั้นลูกค้าเยอะ แต่พอได้กินแล้วอร่อยสุดๆ ผมจำได้แม้กระทั่งว่าวันนั้นนั่งอยู่โต๊ะไหน

เมื่อถูกที่ ถูกเวลา ผัดซีอิ๊วจานละ 40 บาทก็อาจติดตาตรึงใจกว่าอาหารเหลา

ยานอนหลับที่ดีที่สุดคือกายที่เหนื่อยกำลังดีและใจที่ไม่มีอะไรติดค้าง

ในวันที่เราทำงานมาเต็มที่ พอตกกลางค่ำกลางคืน อาบน้ำหัวถึงหมอนก็หลับเป็นตาย

แต่ถ้าวันไหนเราไม่ค่อยได้ทำอะไร นั่งๆ นอนๆ ทั้งวัน ตอนกลางคืนก็จะนอนไม่หลับเพราะร่างกายยังเหนื่อยมาไม่พอ

และถ้าวันไหนทำมาเยอะและยาวนานเกินไป หัวถึงหมอนแล้วแต่สมองยังคิดเรื่องงานไม่หยุด เราก็นอนไม่หลับเช่นกัน

นาฬิกาปลุกที่ดีที่สุดคือการนอนหลับอย่างเพียงพอและตื่นเป็นเวลา

ตื่นเช้าไม่ยากเท่านอนเร็ว หากเราตัดทอนสิ่งล่อตาล่อใจยามดึกไปได้ บอกตัวเองว่าหลังสามทุ่มจะไม่เปิดจออิเลคโทรนิกส์ใดๆ การตื่นนอนตี 5 จะเป็นเรื่องที่ง่ายดายจนไม่ต้องพยายาม

เราจึงควรกินเมื่อหิว นอนเมื่อง่วง ตื่นเมื่อนอนมาเต็มอิ่ม

หลายสิ่งหลายอย่างในร่างกายคนเรามันลงตัวอยู่แล้วโดยธรรมชาติ

มีแต่เรานี่แหละที่ทำให้ผิดธรรมชาติครับ

จดหมายจาก นีล อาร์มสตรอง เมื่อถูกครหาว่าไม่ได้ไปดวงจันทร์จริงๆ

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคมปี 1969 (พ.ศ.2512) ยานอพอลโล 11 ได้ลงจอดบนดวงจันทร์และ Neil Armstrong ก็เป็นมนุษย์คนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้เหยียบดวงจันทร์

“ก้าวเล็กๆ ของคนคนหนึ่ง ก้าวที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติ” ทำให้นีล อาร์มสตรองมีชื่อเสียงไปทั่วโลก และมีผู้คนเขียนจดหมายไปหาอาร์มสตรองหลายพันฉบับ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นไปในทางที่ชื่นชม แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะเชื่อว่าอาร์มสตรองได้ไปเดินบนดวงจันทร์จริงๆ

เหล่าผู้ที่เชื่อในทฤษฏีสมคบคิด (conspiracy theory) ตั้งข้อสังเกตมากมายเกี่ยวกับภาพถ่ายและวีดีโอของการลงจอดบนดวงจันทร์ เช่นตอนปักธงชาติอเมริกาแล้วธงเหมือนถูกลมพัดทั้งๆ ที่บนดวงจันทร์ไม่มีลม หรือภาพถ่ายบางภาพที่มีแสงและเงาผิดปกติ

เมื่อ 21 ปีที่แล้ว อาจารย์จากโรงเรียนแห่งหนึ่งได้เขียนจดหมายหาอาร์มสตรองด้วยเนื้อหาดังนี้

1 สิงหาคม 2000

เรียนคุณอาร์มสตรอง

อย่างน้อยที่สุดผมควรจะส่งการ์ดอวยพรวันเกิดครบรอบ 70 ปีมาให้คุณ แต่เนื่องจากในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ผมต้องทนดูคุณหลอกลวงผู้คนว่าคุณได้ไปเดินบนดวงจันทร์มาแล้ว ผมเลยอยากจะบอกว่าคุณและนักบินอวกาศคนอื่นๆ กำลังเป็นตัวตลกในสายตาคนทั้งโลกเพราะอินเทอร์เน็ตได้เปิดโปงเรื่องของพวกคุณหมดแล้ว

บางทีคุณอาจจะไม่รู้เรื่องด้วยซ้ำว่ามีหลักฐานมากมายแค่ไหนที่วนเวียนอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ต ทุกคนรู้แล้วว่าการไปดวงจันทร์นั้นเป็นเรื่องโกหกทั้งเพ แถมหลักฐานก็มีพร้อมสรรพ เรารู้ว่าภาพเหล่านั้นถูกตกแต่งขึ้น เรารู้ว่าใครเป็นคนแต่งภาพ และการลงจอดยานรวมถึงการเดินบนพระจันทร์นั้นถูกถ่ายทำขึ้นที่ Langley Research Center และเราก็ยังรู้ถึงเหตุผลที่นาซ่าต้องสร้างยาน Apollo ของปลอมขึ้นมาด้วย

บางทีคุณก็อาจะเป็นเหมือนคนแก่วัยเกษียณคนอื่นๆ ที่ไม่เล่นอินเทอร์เน็ตเพราะคุณเล่นไม่เป็น แต่ผมอยากแนะนำให้คุณลองไปที่เว็บ (เว็บถูกถอดชื่อออก) เพื่อจะได้เห็นกับตาตัวเองว่า เมื่อเวลาผ่านพ้นไป 30 ปี การกล่าวอ้างว่าได้ไปเหยียบดวงจันทร์นั้นมันฟังดูงี่เง่าแค่ไหน

ในฐานะคุณครูที่ต้องสอนเด็กๆ ผมมีหน้าที่ที่จะต้องเล่าประวัติศาสตร์ที่ถูกต้อง ไม่ใช่เรื่องลวงโลก

(ลงชื่อผู้เขียนจดหมาย)


นี่คือจดหมายตอบจากนีล อาร์มสตรองครับ

คุณ Whitman ครับ

จดหมายของคุณที่พูดถึงข้อสงสัยโดยอ้างอิงจากนักทฤษฎีสมคบคิดทำให้ผมงุนงงเป็นอย่างยิ่ง พวกเขาอยากให้คุณเชื่อว่ารัฐบาลอเมริกาต้มตุ๋นประชาชนของตัวเอง และเหล่าคน 400,000 คนที่ทำงานอยู่ในภารกิจลับนี้ล้วนรู้เห็นเป็นใจในการต้มตุ๋นครั้งใหญ่นี้โดยไม่มีใครแม้แต่คนเดียวออกมาแพร่งพราย

ถ้าคุณเชื่ออย่างนั้นจริงๆ คุณก็ไม่ควรเขียนจดหมายมาหาผมหรอกนะ เพราะผมก็เป็นหนึ่งใน 400,000 คนที่หลอกลวงอยู่ดี ผมเชื่อว่าในฐานะที่คุณเป็นคุณครู คุณย่อมมีการศึกษาที่ดี คุณย่อมรู้วิธีการติดต่อคนที่มีความรู้ความสามารถที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการต้มตุ๋นได้อยู่แล้ว

ในเมื่อข้อกล่าวหาคือยานอพอลโลไม่เคยไปถึงดวงจันทร์จริงๆ คุณจึงควรจะติดต่อผู้เชี่ยวชาญในประเทศอื่นๆ ที่ track เที่ยวบินของอพอลโล (Jodrell Bank ของอังกฤษหรือแม้กระทั่งนักวิชาการในรัสเซีย) คุณควรจะติดต่อนักดาราศาสตร์ที่ Lick Observatory ที่ยิงเลเซอร์บีมไปยังกระจก Lunar Ranging Reflector หลังจากที่ผมติดตั้งมันบนดวงจันทร์เสร็จเพียงไม่กี่นาที และถ้าคุณรู้สึกว่าพวกเขายังไม่น่าเชื่อถือมากพอ คุณก็ลองติดต่อนักดาราศาสตร์ที่ Pic du Midi Observatory ในฝรั่งเศสก็ได้ พวกเขาจะเล่าให้คุณฟังว่ายังมีนักดาราศาสตร์ทั่วโลกมากมายขนาดไหนที่กำลังวัดผลจากการยิงเลเซอร์บีมไปยังกระจกที่ผมได้ติดตั้งเอาไว้ แล้วคุณก็ควรไปสอบถามคนเหล่านั้น

หรือไม่อย่างนั้นคุณก็อาจจะเข้าอินเทอร์เน็ตและค้นหารายชื่อนักวิจัยในห้องแล็บตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลกที่กำลังศึกษาตัวอย่างดินและหินที่ยานอพอลโลเก็บมาได้ ซึ่งตัวอย่างบางส่วนยังไม่เคยถูกพบเจอบนโลกมาก่อน

แต่จริงๆ คุณก็ไม่ควรจะฟังผมหรอกนะ เพราะยังไงผมก็ไม่น่าเชื่อถืออยู่แล้ว

นีล อาร์มสตรอง


ขอบคุณเนื้อหาจากหนังสือ A Reluctant Icon: Letters to Neil Armstrong และ Quora: Hasmal Dawn’s answer to Did anyone ask for Armstrong’s response to the fake moon landing theory before he died?

เงินซื้อความสุขไม่ได้ แต่เงินซื้อเวลาได้

เพราะกว่าจะได้เงินมา เราต้องเอาเวลาและพลังชีวิตไปแลกมาไม่รู้เท่าไหร่

เงินกับเวลาจึงเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน

ถ้าเราจัดการเรื่องการเงินได้ดี เราก็จะเริ่มให้ความสำคัญกับเงินน้อยลง และให้ความสำคัญกับเวลามากขึ้น

เราอาจจะหยุดทำงานบ้าน แล้วจ้างแม่บ้านมาช่วยทำความสะอาด หรือสั่ง food delivery แทนที่จะขับรถออกไปซื้อเอง

บางคนประหยัดมาทั้งชีวิต แม้กระทั่งพอมีฐานะดีขึ้นแล้วก็ยังชินกับการใช้เงินอย่างระมัดระวังอยู่ดี ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด แต่ก็ต้องหาให้เจอว่าประหยัดแค่ไหนถึงจะพอดี เวลาที่ต้องเสียไปเพื่อประหยัดเงินไม่กี่สิบหรือไม่กี่ร้อยบาทนั้นมันคุ้มกันจริงหรือ

เพราะเงินนั้นตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ แต่ถ้าเราใช้เงินซื้อเวลา เราจะเอาเวลานั้นไปทำในสิ่งที่เราอยากทำและสร้างประสบการณ์ที่ดีได้นะครับ

นิทานโทสะ

สมัยก่อน ตามแถบชานเมืองหรือตามชนบทในประเทศเรา มักจะนิยมฟังพระเทศน์แบบหลายธรรมมาส เช่น 2 หรือ 3 ธรรมมาส ในทำนองปุจฉา วิสัชนา ถาม ตอบกัน มากกว่าจะฟังพระเทศน์องค์เดียวแบบในปัจจุบัน

เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 50-60 ปีมาแล้ว แถบชานเมืองกรุงเทพฯ นี่เอง วันนั้นชาวบ้านต่างนิมนต์พระที่ได้ชื่อว่าเป็นนักเทศน์ที่ตนเองชื่นชอบมาแสดงธรรมเรื่อง “อาทิตตปริยายสูตร” โดยพระทั้งสามรูปต่างก็ไม่รู้จักกันมาก่อน

สมัยนั้น ขอให้ทราบว่าจะเทศน์เรื่องอะไรเท่านั้น ท่านก็สามารถแสดงธรรมได้ โดยใช้ความสามารถและปฏิภาณของตนเองซักไซ้ไล่เรียงจนผู้ที่นั่งฟังรู้แจ่มแจ้ง

ก่อนเทศน์ พระท่านก็จะมีการสมมุติมอบหมายหน้าที่กัน ปกติองค์กลางจะรับหน้าที่เป็นผู้ถาม ซักไซ้ไล่เรียง ที่เหลือองค์ซ้ายและองค์ขวาจะมีหน้าที่วิสัชนา ตอบชี้แจงให้เข้าใจ

องค์กลาง เมื่อรับหน้าที่ ก็ดำเนินการซักถามองค์ซ้ายมือก่อนเกี่ยวกับเรื่อง “ไฟคือราคะ” ทั้งสององค์ซักถามโต้ตอบกันด้วยปฏิภาณเป็นที่เฮฮาถูกใจญาติโยมเป็นอย่างยิ่ง

จากนั้น ท่านองค์กลางก็หันมาถามท่านองค์ขวามือ ขอให้วิสัชนา “โทสัคติ” ไฟคือโทสะว่าเป็นอย่างไร

ท่านองค์ที่สามนั่งฟังท่าน 2 องค์แรกโต้ตอบกันอย่างเงียบๆ โดยดุษฎี พอถูกถามว่าโทสะคืออะไร แทนที่ท่านจะเจื้อยแจ้วเทศน์ตามธรรมเนียม ท่านกลับนั่งนิ่งเงียบ ได้แต่จ้องมองดูท่านองค์กลางอย่างไม่วางตา สร้างความอึดอัดให้กับท่านองค์กลาง และญาติโยมเป็นอย่างยิ่ง

สักพักท่านองค์ที่สามก็เอ่ยเสียงต่ำๆ ไม่ดังนักว่า

“ส้นตีน!” แล้วจ้องตาเป๋งไปที่ท่านองค์กลาง

ทุกคนตกตะลึงไปหมด ท่านองค์กลางหน้าตาแดงก่ำไม่ยอมสบตากับใคร นั่งกระสับกระส่ายอยู่บนธรรมมาส ครู่หนึ่งพอสมควรแก่เวลาแล้ว ท่านองค์ที่สามก็เทศน์วิสัชนาเกี่ยวกับไฟคือโทสะต่อไปอย่างหน้าตาเฉย


ขอบคุณนิทานจากเว็บประตูสู่ธรรม: โทสัคติ