ความสุขมวลรวม

20170831_grosshappiness

นิสัยอย่างหนึ่งที่ผมเริ่มมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่รู้คือการมองหาช่องทางที่จะสร้างผลตอบแทนสูงสุดให้กับทุกฝ่าย

คีย์เวิร์ดคือคำว่าทุกฝ่ายนะครับ

ขอยกสถานการณ์เพื่อให้เห็นภาพแล้วกัน

สถานการณ์ที่หนึ่ง

ผมกำลังนั่งทำงานสำคัญชิ้นหนึ่งอยู่ แล้วก็มีน้องคนหนึ่งเข้ามาขอให้ช่วยตรวจภาษาอังกฤษในบทความที่เขาเขียนให้หน่อย

คำถามคือผมจะละจากงานสำคัญชิ้นนั้นเพื่อช่วยน้องเค้ารึเปล่า

แน่นอน คำถามแรกคืองานที่ผมทำอยู่นั้นมันกำลังเข้าด้ายเข้าเข็มแค่ไหน ถ้ากำลังติดพันอยู่ก็อาจบอกว่าขอเวลาอีก 10 นาทีเดี๋ยวจะดูให้ก็ได้

แต่ประเด็นสำคัญคือ ผมรู้ว่าถ้าผมใช้เวลาตรวจภาษาอังกฤษน้องแค่ 5 นาที น่าจะดีกว่าปล่อยให้น้องไป google หรือไปถามคนอื่นซึ่งอาจใช้เวลาถึง 30 นาที

ดังนั้น การที่ผมยอมเสียเวลา 5 นาที แล้วน้องเค้าได้กลับมา 30 นาที จึงคุ้ม เพราะ -5 + 30 = 25

ในขณะที่ถ้าผมให้น้องไปตรวจภาษาอังกฤษเอง ผมอาจเซฟเวลาตัวเองได้ 5 นาที แต่น้องเสียเวลาไป 30 นาที 5-30 = -25

ดังนั้นการตรวจภาษาอังกฤษน้องจึงเป็นเรื่องที่ควรทำ

สถานการณ์ที่สอง

ผมไปร้านก๋วยเตี๋ยวเรือ สั่งเส้นเล็กน้ำตก ปรากฎว่าได้เส้นใหญ่น้ำตกมา คำถามคือผมควรจะให้เขาไปทำมาใหม่หรือกินเส้นใหญ่ซะ?

ในมุมของผม ถ้าได้กินเส้นเล็ก คะแนนความสุขคือ 10/10 แต่ถ้าได้กินเส้นใหญ่ ความสุขอาจจะลดเหลือ 8/10

ในมุมของร้าน การที่มีคนกินก๋วยเตี๋ยวของเขา เขาก็จะได้คะแนนความสุข 10/10 แต่ถ้ามีก๋วยเตี๋ยวมาคืนแล้วต้องเททิ้ง คะแนนความสุขเขาอาจเหลือแค่ 5/10

ถ้าผมเลือกให้ร้านไปทำเส้นเล็กมาให้ คะแนนรวมจะได้ 10+5 = 15

แต่ถ้าผมเลือกกินเส้นใหญ่ คะแนนรวมจะได้ 8+10 = 18

ดังนั้นผมถึงเลือกกินเส้นใหญ่ครับ

บางคนที่อ่านอาจจะมีข้อโต้แย้งในใจมากมาย เช่นถ้าเราปล่อยให้น้องฝึกภาษาอังกฤษเอง วันหนึ่งเขาก็น่าจะเก่งโดยไม่ต้องมาขอให้เราช่วยก็ได้ หรือถึงเราจะคืนก๋วยเตี๋ยวไปให้ร้าน เค้าก็อาจจะเอาไปขายลูกค้าคนอื่นต่อก็ได้ (ซึ่งเอาจริงๆ ถ้าเราเป็น “คนอื่น” ที่ได้ก๋วยเตี๋ยวถ้วยเก่า เราคงไม่แฮปปี้เท่าไหร่หรอก)

ตัวอย่างข้างต้นทั้งสองข้อจึงไม่ใช่ตัวอย่างที่่เพอร์เฟ็คต์ แต่น่าจะพอช่วยให้เห็นภาพกระบวนการคิดได้

ตัวอย่างที่สาม

ข้อดีของอินเตอร์เน็ตและโซเชี่ยลมีเดียคือมันเอื้อให้ทุกคนสร้างอิมแพ็คได้มากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

ผมเสียเวลาเขียนบล็อกวันนี้ 60 นาที แต่ถ้าหากมีคนได้อ่านบทความนี้ 100 คนและแต่ละคนนำความคิดที่ได้ไปช่วยประหยัดเวลาได้คนละ 5 นาที

-60 + 500 = 440 นาที

คุ้มเห็นๆ

และอย่าลืมว่ามันไม่ใช่แค่ 5 นาทีในวันนี้ แต่ยังเป็น 5 นาทีที่จะเกิดขึ้นอีกนับครั้งไม่ถ้วนในภายภาคหน้า

ดังนั้น เวลาที่มีใครมาบอกตัวเองว่าจะเปิดเพจหรือเขียนบล็อก ผมเลยอนุโมทนาทุกครั้ง เพราะถ้าเขาเขียนสิ่งที่มีประโยชน์ ต่อให้มีคนอ่านไม่กี่คน “แต่ผลประโยชน์มวลรวม” นั้นย่อมเป็นบวกอย่างไม่ต้องสงสัย

รูปประกอบนี้ก็เช่นกัน ทหารยื่นแอปเปิ้ลให้กับเด็ก สำหรับทหารแอปเปิ้ลลูกนั้นอาจสร้างความสุขให้เขาแค่ 3 แต้ม แต่หากเด็กได้กินมันอาจสร้างความสุขให้เด็กถึง 10 แต้ม

ลองใช้ชีวิตโดยเอา “ความสุขมวลรวม” เป็นที่ตั้งนะครับ

บ่อยครั้งมันเราอาจพบว่าเราต้องเหนื่อยมากขึ้น ต้องเสียสละมากขึ้น

แต่สุดท้ายแล้ว คนที่จะมีความสุขทีสุดคือตัวเราเองครับ

—–

ขอบคุณคุณผู้อ่านที่อุดหนุนหนังสือเล่มแรกของผม “Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ” จนติด Bestseller หมวดจิตวิทยาของซีเอ็ดครับ (https://goo.gl/e326HZ) หากใครยังไม่ได้จับจอง ยังสามารถหาซื้อได้ที่ซีเอ็ด นายอินทร์ คิโนะคุนิยะ เอเชียบุุ๊คส์ บีทูเอส ศูนย์หนังสือจุฬา หรือสั่งซื้อโดยตรงกับผมได้ครับ bit.ly/tgimannounce

 

2 ประเด็นเรื่องความโกรธ

20170831_anger

ประเด็นที่ 1 เขาไม่ได้โกรธเรา
ผมเคยทำงานอยู่แผนกซัพพอร์ต (support) ที่ต้องคอยแก้ปัญหาให้ลูกค้า

เนื่องจากลูกค้าต้องจ่ายเงินค่าซอฟท์แวร์ให้เราเดือนละหลายแสน (เพื่อเอาไปทำรายได้เดือนละหลายล้าน) เวลาที่ซอฟท์แวร์มีปัญหาเขาจึงเสียอารมณ์ขั้นหนักหน่วง

สิ่งหนึ่งผมคอยบอกตัวเองเวลาเจอลูกค้าที่หงุดหงิดใส่ก็คือ

“เขาไม่ได้โกรธเรา เขากำลังโกรธปัญหา” (He’s not angry at you, he’s angry at the problem) แต่บังเอิญเราได้รับมอบหมายให้มาช่วยแก้ปัญหาให้เขาพอดี

ฝรั่งจึงมีคำว่า don’t take it personal คืออย่าเอา “ตัวกู” เข้าไปรองรับพลังงานลบที่ถูกปล่อยออกมาราวสะเก็ดระเบิดตะปู

ถ้าใครคนหนึ่งโกรธ แสดงว่าเขากำลังเป็นทุกข์อยู่มหาศาล เราจึงควรเห็นใจเขา และช่วยบรรเทาทุกข์ให้เขาโดยเร็วที่สุด

เพราะฉะนั้น เวลาเราเจอใครโกรธใส่ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน พ่อ แม่ แฟน หรือลูก ก็อย่าไป take it personal นะครับ

รู้ว่ายาก แต่ถ้าทำได้มันก็ดีกับทุกฝ่ายใช่มั้ย?

ประเด็นที่ 2 เราไม่ได้โกรธ เราแค่มีความโกรธ

บางทีภาษาของคนก็คลาดเคลื่อน

เวลาฝรั่งโกรธ เขาจึงพูดว่า I am angry

is am are = เป็น อยู่ คือ

เวลาพูดว่า I am angry ก็เหมือนกับจะบอกว่า ฉันคือโกรธ โกรธคือฉัน ฉันและโกรธคือเนื้อเดียวกัน

ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วภาษาที่ถูกต้องควรจะเป็น

I have anger – ฉันกำลังมีความโกรธ

I have anger จะแยกระหว่าง “ตัวเรา” กับ “ความโกรธ” ไว้ชัดเจน

ตัวเราก็ส่วนตัวเรา ความโกรธก็ส่วนความโกรธ มันเป็นแค่เพียงผู้มาเยือนแล้วเดี๋ยวเดียวมันก็ไป

ครั้งต่อไปที่เรารู้สึกโกรธขึ้นมา ก็ให้บอกตัวเองว่า I have anger ๆ ๆ ซ้ำๆ ดูนะครับ (อาจจะคล้ายๆ กับการบริกรรมว่าโกรธหนอ โกรธหนอนั่นแหละ)

แล้วถึงจุดนึงก็จะพบว่า Oops! I don’t have anger anymore 😉

—-

ขอบคุณภาพจาก Flickr: Garrett Heath

ขอบคุณคุณผู้อ่านที่อุดหนุนหนังสือเล่มแรกของผม “Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ” จนตอนนี้ติด Bestseller หมวดจิตวิทยาของซีเอ็ดครับ (https://goo.gl/e326HZ) หากใครยังไม่ได้จับจอง ยังสามารถหาซื้อได้ที่ซีเอ็ด นายอินทร์ คิโนะคุนิยะ เอเชียบุุ๊คส์ บีทูเอส และศูนย์หนังสือจุฬาครับ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ bit.ly/tgimannounce

 

90% ของงานนั้นน่าเบื่อ

20170829_boring

วันก่อนผมได้ฟังคนๆ นึงให้สัมภาษณ์ไว้ในพอดคาสท์ว่า

“90% of my work is boring.”

นี่คือคำพูดจากปากของคนที่รักในสิ่งที่ตัวเองทำ และทำมันได้ดีจนประสบความสำเร็จในระดับที่มีคนเชิญไปสัมภาษณ์ลงพอดคาสท์นะครับ

ผมลองกลับมามองงานของตัวเองที่ทำเป็น Head of People ที่ Wongnai ซึ่งเป็นงานที่ผมพูดได้เต็มปากเต็มคำว่าชอบมาก

แต่ถ้าลองให้มนุษย์ต่างดาวมานั่งสังเกตการณ์ผมทั้งวัน จะเห็นว่าผมใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่หน้าจอคอม นั่งจ้อง spreadsheet ที่มีหลายร้อยบรรทัด ไม่ก็อ่าน resume 40-50 ฉบับ นานๆ ทีก็จะเปิด Gmail ขึ้นมาส่งเมลครั้งนึง สลับกับเปลี่ยนหน้าจอไปคุย Slack กับเพื่อนร่วมงาน  ทุกชั่วโมงอาจจะลุกขึ้นไปเข้าห้องน้ำหรือดื่มน้ำบ้าง บางทีก็มีคนเดินมาคุยที่โต๊ะแบบเงียบๆ หรือบางวันก็มีคนเดินมาถามว่า “พี่รุตม์ว่างมั้ยครับ” เพื่อเข้าห้องไปนั่งฟังปัญหาที่น้องเค้าประสบอยู่

เป็นอย่างนี้เกือบทุกวันในสัปดาห์และเกือบทุกสัปดาห์ของปี

เชื่อว่ามนุษย์ต่างดาวคงทนอยู่กับผมได้ซักสองสามวันแล้วส่งรายงานกลับไปยังงานแม่ว่างานของมนุษย์นี่น่าเบื่อชะมัด

งานทุกงานทุกสายอาชีพจึงไม่มีงานใดที่สนุกไปหมด 100%

เป็นเจ้าของธุรกิจก็ต้องเบื่อเรื่องคนออก เรื่องบัญชี เรื่องหมุนเงิน เรื่องลงทุนแล้วเจ๊ง

โค้ชสร้างแรงบันดาลใจก็มีเรื่องน่าเบื่อ (คนสมัครไม่เต็มซะที โฆษณาไปหลายรอบแล้วนะ!)

ขนาดอาชีพในฝันของใครหลายๆ คนอย่างนักดนตรี มันก็ต้องมีเรื่องน่าเบื่อ เช่นเล่นแทบตายแต่คนไม่ฟัง หรือมีคนฟังแต่มันไปหน่อยจนยกพวกตีกัน หรือเรามีเพลงดีๆ เป็นสิบแต่คนอยากฟังอยู่แค่สองสามเพลง

แค่คิดภาพว่าผมเป็นพี่ป๊อดที่โดนขอเพลง “ก่อน” เป็นรอบที่ 8,792 ผมก็รู้สึกเบื่อแทนแล้ว

—–

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป

ก็น่าจะพออนุมานได้ว่า นอกจากความน่าเบื่อไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากความน่าเบื่อไม่มีอะไรตั้งอยู่ และนอกจากน่าเบื่อไม่มีอะไรดับไป

เป้าหมายจึงไม่ใช่การหางานที่มีแต่เรื่องสนุก เพราะมันไม่อยู่จริงหรอก

เป้าหมายคือการเรียนรู้ที่จะอยู่กับเรื่องน่าเบื่อในงานที่เราเลือกแล้วต่างหาก

และแม้งานมันจะมีเรื่องน่าเบื่อถึง 90% แต่มันก็ยังมีอีกตั้ง 10% ที่โผล่มาให้เราชื่นใจ

สำหรับผม 10% นั้นคือตอนที่เราได้คนเก่งๆ มาร่วมงานกับเรา หรือตอนที่คำพูดบางประโยคของผมทำให้น้องที่คิดจะออกเปลี่ยนใจอยู่กับเราต่อไป

มองหา 10% ของความสนุกในงานของเราให้เจอ และเรียนรู้ที่จะเป็นเพื่อนกับความน่าเบื่ออีก 90% ให้ได้

แล้วเราอาจจะพบว่า “งานที่ใช่” นั้นหาง่ายกว่าที่คิดครับ

—-

ขอบคุณคุณผู้อ่านที่อุดหนุนหนังสือเล่มแรกของผม “Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ” จนตอนนี้ติด Top 10 หนังสือขายดีหมวดจิตวิทยาของซีเอ็ดครับ (https://goo.gl/e326HZ)  หากใครยังไม่ได้จับจอง ยังสามารถหาซื้อได้ที่ซีเอ็ด นายอินทร์ คิโนะคุนิยะ เอเชียบุุ๊คส์ บีทูเอส และศูนย์หนังสือจุฬาครับ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ  bit.ly/tgimannounce

กล้าพูดอย่างเดียวไม่พอ

20170828_courage

ต้องกล้าฟังด้วย

“Courage is what it takes to stand up and speak; courage is also what it takes to sit down and listen. ”
-Winston Churchill

วัฒนธรรมของไทยที่ปลูกฝังให้เรานับถือผู้อาวุโสกว่า มักจะถูกมองว่าทำให้เด็กไม่กล้าเถียงผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่นั้นถูกเสมอ

จริงๆ แล้วคนที่น่าเห็นใจไม่ใช่เด็กนะครับ คนที่น่าเห็นใจคือผู้ใหญ่ต่างหาก

ยิ่งถ้าเราอายุเยอะและมีตำแหน่งสูงๆ โอกาสที่จะมีใครเตืือนเราเวลาที่เราทำพลาดยิ่งน้อยเสียยิ่งกว่าน้อย เพราะเราพูดอะไรไปก็ไม่มีใครกล้าขัด ได้แต่พยักหน้ากันหงึกๆ แล้วค่อยไปนินทาเราลับหลัง

ดังนั้น ยิ่งอยู่สูง ยิ่งต้องมีความกล้าสองขั้น

กล้าขั้นแรก ต้องกล้าถามคนที่อาวุโสน้อยกว่าเราว่ามีความเห็นอะไรบ้าง (เพราะถ้าเราไม่เอ่ยปาก บางคนก็ไม่ยอมพูดหรอก)

กล้าขั้นที่สอง คือหากมีคนพูด และมันเป็นเรื่องที่เราไม่เห็นด้วย เราต้องกล้าฟังเขาจนจบ ไม่ใช่พูดตัดบทหรือรีบปฏิเสธ

เพราะถ้าเราตัดบทเมื่อไหร่ นั่นแสดงว่าเราไม่ได้จริงใจที่จะฟังเขาตั้งแต่แรก แล้วจะมีใครกล้าแสดงความเห็นอีก

Courage is what it takes to stand up and speak; courage is also what it takes to sit down and listen.

ความกล้าพูดจะทำให้เราเป็นผู้นำที่ดี

แต่ความกล้าที่จะฟัง จะทำให้เราเป็นผู้นำที่ลูกน้องรักครับ

—–

ขอบคุณคุณผู้อ่านที่อุดหนุนหนังสือเล่มแรกของผม “Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ” จนตอนนี้ติด Top 10 หนังสือขายดีหมวดจิตวิทยาของซีเอ็ดครับ (https://goo.gl/e326HZ)  หากใครยังไม่ได้จับจอง ยังสามารถหาซื้อได้ที่ซีเอ็ด นายอินทร์ คิโนะคุนิยะ เอเชียบุุ๊คส์ บีทูเอส และศูนย์หนังสือจุฬาครับ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ  bit.ly/tgimannounce

BookAdvertise

กฎ 5 วินาที

20170827_fivesecondrule

วันนี้ผมได้ดู TEDx Talk ของ Mel Robbins ซึ่งพูดเรื่องน่าสนใจไว้หลายอย่าง เลยอยากนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

คุณรอบบิ้นส์บอกว่า เหตุผลที่เรามีเป้าหมายแต่ไม่สามารถทำตามเป้าหมายนั้นก็เพราะว่าสมองเรามีการทำงานสองแบบ

สมองส่วนนึงทำงานแบบ autopilot คือทำเองโดยไม่ต้องคิด เช่นแปรงฟัน แต่งตัว ขับรถไปทำงาน

อีกส่วนนึงคุณรอบบิ้นส์เรียกว่า emergency brake หรือเบรคฉุกเฉิน อารมณ์คล้ายๆ ที่เราเห็นในรถไฟฟ้า

เมื่อไหร่ก็ตามที่ชีวิตเราออกจากโหมด autopilot หรือออกจาก comfort zone เจ้าตัวเบรคฉุกเฉินนั้นก็จะทำงานแทบจะทันที ก่อนจะพาเรากลับสู่โหมด autopilot ตามเดิม

เบรคฉุกเฉินนั้นทำงานอยู่ทุกหนแห่ง

ไม่ว่าจะเป็นตอนที่นาฬิกาปลุก เราก็จะกดปุ่ม snooze แล้วบอกตัวเองว่าขอนอนต่ออีกหน่อย

หรือตอนอยู่ที่ประชุมอยู่แล้วเกิดคำถามในใจ แต่ก็กลัวว่าถามออกไปจะดูไม่ฉลาดรึเปล่า สุดท้ายก็เลยไม่ได้ยกมือถาม

หรือตอนเจอคนแปลกหน้าที่เราสนใจ อยากเข้าไปคุยด้วย แต่เบรคฉุกเฉินก็จะยกเหตุผลหลายสิบข้อขึ้นมาเพื่อจะทำให้เราไม่กล้าเข้าไปคุยกับคนคนนั้น

คุณรอบบิ้นส์เลยแนะนำให้เราใช้กฎ 5 วินาทีครับ

โดยเธอบอกว่า เมื่อเราคิดอะไรได้ก็ตามแต่ เราต้อง “ลงมือทำ” อะไรซักอย่างภายใน 5 วินาที ก่อนที่เบรคฉุกเฉินจะทำงาน

โดยวิธีที่ทรงพลังที่สุด คือการนับถอยหลัง 5 4 3 2 1 0 แล้วลงมือทำเลย

อันนี้เป็นทริคที่น่าสนใจ คือให้นับถอยหลังจากห้ากลับมาที่ศูนย์ ไม่ใช่นับจากหนึ่งไปถึังห้า เพราะมันเหมือนเป็นการ countdown ไปสู่ “เหตุการณ์” อะไรบางอย่างเช่นการปล่อยจรวดหรือขึ้นปีใหม่

การนับถอยหลังสู่เลขศูนย์จึงมี “แรงผลัก” ให้เรา “ลงมือทำ” มากกว่าการนับหนึ่งสองสามสี่…

อีกสมมติฐานนึงที่ผมเดาเอาเอง คือถ้าเรา “นับขึ้น” 1 2 3 4 5 6 7 …. เราจะนับไปได้เรื่อยๆ

แต่ถ้าเรา “นับลง” 5 4 3 2 1 0 พอถึง 0 เราก็ไม่มีเลขให้ไปต่อแล้ว จะให้นับ “-1” “-2” ก็ดูจะยากเกินไปหน่อย สู้ลงมือทำเลยง่ายกว่า

ยกตัวอย่างการใช้กฎ 5 วินาที

ตอนเช้าได้ยินเสียงนาฬิกาปลุก เรานอนหลับตาแล้วบอกตัวเองว่าเมื่อครบ 5 วิจะลุกจากเตียง เรานับในใจ 5 4 3 2 1 0 แล้วลุกขึ้นมาทันที

เราเคยตั้งเป้าว่าอยากจะแข็งแรงขึ้นด้วยการวิดพื้น แต่วันนี้ยังไม่ได้วิดพื้น นับ 5 4 3 2 1 0 แล้วลงไปวิดพื้นเลย

มีงานชิ้นนึงที่ยาก แต่ก็รู้ว่าต้องทำ นับ 5 4 3 2 1 0 แล้วเปิดโปรแกรมขึ้นมาทำอะไรซักอย่างเลย

เจอคนที่น่าสนใจ นับ 5 4 3 2 1 0 แล้วเดินเข้าไปคุยเลย

ดึกแล้ว ยังนอนไถเฟซบุ๊คอยู่ บอกตัวเองว่าอีก 5 วินาทีจะเลิกแล้ว นับ 5 4 3 2 1 0 แล้วเอามือถือไปเก็บเลย

ถ้าใครรู้สึกว่า 5 วินาทีมันสั้นไป ทำใจไม่ทัน ลองเพิ่มมาเป็นเป็นซัก 10 วินาทีก็ได้นะครับ สำคัญคือต้องนับถอยหลังไปหาศูนย์เท่านั้นเอง

ลองใช้กฎ 5 วินาที เพื่อลดช่องว่างระหว่าง “ความคิด” กับ “การกระทำ” และพาตัวเองออกจากโหมด autopilot เสียบ้าง

แล้วอาจจะได้พบว่า เราทำอะไรเพิ่มได้ตั้งหลายอย่างเลยครับ

—–

ขอบคุณข้อมูลจาก TEDx Talks: How to stop screwing yourself over | Mel Robbins | TEDxSF

ขอบคุณคุณผู้อ่านที่อุดหนุนหนังสือเล่มแรกของผม “Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ” จนตอนนี้ติด Top 10 หนังสือขายดีหมวดจิตวิทยาของซีเอ็ดครับ (https://goo.gl/e326HZ)  หากใครยังไม่ได้จับจอง ยังสามารถหาซื้อได้ที่ซีเอ็ด นายอินทร์ คิโนะคุนิยะ เอเชียบุุ๊คส์ บีทูเอส ศูนย์หนังสือจุฬาครับ หรือสั่งตรงกับผมก็ได้ครับ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่ครับ  bit.ly/tgimannounce

BookAdvertise