Outlive ตอนที่ 9 – การนอนหลับและสุขภาพทางอารมณ์

และแล้วการสรุปหนังสือ Outlive ของ Dr.Peter Attia ก็เดินทางมาถึงตอนสุดท้ายแล้วนะครับ

ในตอนที่ผ่านๆ มา เราทำความรู้จักกับ 4 พญามาร อันได้แก่ เบาหวาน โรคหัวใจ มะเร็ง และโรคความจำเสื่อม

จากนั้น เราก็เรียนรู้คอนเซ็ปต์ของ Centenarian Decathlon นั่นคือการตั้งเป้าว่า ตอนอายุ 80-90 ปี เรายังอยากทำอะไรเองได้อยู่บ้าง เช่นลุกขึ้นจากเตียง เดินขึ้นบันได ถือถุงช็อปปิ้ง แล้วค่อยนับถอยหลังกลับมาว่า ถ้าอยากเดินขึ้นบันไดในวันนั้น ในวันนี้เราต้องทำอะไรได้เองบ้าง เพื่อที่ว่า ในวันที่ร่างกายเราถดถอยกว่านี้ เรายังจะเป็นคนแก่ที่ยังช่วยเหลือตัวเองได้

แล้วเราก็ได้เรียนรู้ว่า VO2 Max และ Grip Strength นั้นเป็น KPI ที่สำคัญที่สุดที่จะทำนายชีวิตที่ยืนยาว เพราะมันบ่งบอกถึงความแข็งแรงในภาพรวม และการจะมี VO2 Max ที่ดีนั้น สิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้ถือกระบวนการเผาผลาญที่ดี ซึ่งได้มาด้วยการทำ Zone 2 Training

ซึ่ง Zone 2 Training ที่ว่า ไม่ใช่ Zone 2 ในนาฬิกาเล่นกีฬา ที่อาจจะเบาเกินไปสำหรับใครหลายคน Zone 2 ที่หนังสือเล่มนี้กล่าวถึง คือการออกกำลังกายที่หัวใจเต้นสม่ำเสมอเป็นเวลาอย่างน้อย 30-45 นาที และเหนื่อยในระดับที่เรายังพูดคุยได้แต่เราไม่อยากพูด และหัวใจเต้นที่ประมาณ 80% ของ maximum heart rate

อีกสิ่งหนึ่งที่คนออกกำลังกายมักละเลยกัน คือเรื่อง stability คือความสามารถในการกระจายแรงไปทั่วร่างกาย ไม่ให้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายรับแรงกระแทกหรือรับน้ำหนักมากเกินไปจนนำไปสู่อาการบาดเจ็บ

Stability เป็นคำที่ยาก อีกคำที่ใกล้เคียงกันคือ balance หรือความมีสมดุล ยิ่งสมดุลเราดีเท่าไหร่ เราก็ยิ่งมีความเสี่ยงน้อยลงที่จะ “ล้ม” ในวัยชรา ซึ่งการล้มในวัยนี้เป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญที่สุดสาเหตุหนึ่ง

เรื่องอาหารการกินนั้นก็สำคัญ แต่เราไม่จำเป็นต้องไปตามกระแส ทุกรูปแบบการกินไม่ว่าจะ Keto, Vegan หรือ IF ล้วนแต่มีงานวิจัยที่สนับสนุนและตีตกประโยชน์ต่างๆ ที่เขาเคลมว่าจะได้รับ สิ่งสำคัญคือกินอาหารที่มีประโยชน์ และรับประทานโปรตีนให้เพียงพอ เพราะโปรตีนคือสารอาหารที่สำคัญที่สุดในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อในวัยที่กล้ามเนื้อของเราจะฟีบลง 20-30% ทุกๆ สิบปี

ใน Outlive ตอนที่ 9 จะพูดถึงการนอนหลับ และสุขภาพทางอารมณ์หรือ emotional health ครับ

======

การนอนหลับ

ธรรมดาแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับสิ่งมีชีวิต คือการส่งต่อยีนส์ไปยังรุ่นต่อไป ดังนั้นวิวัฒนาการจึงให้ความสำคัญกับการเอาชีวิตรอด ในการหาอาหาร และในการสืบพันธุ์เป็นอย่างมาก

แต่สิ่งมีชีวิตทุกชีวิตบนโลกใบนี้ก็ยังต้องนอน ทั้งๆ ที่ตอนนอนหลับนั้นเราไม่สามารถปกป้องตัวเองได้ ไม่สามารถหาอาหารได้ และไม่สามารถสืบพันธุ์ได้

ดังนั้น วิวัฒนาการน่าจะต้องมีเหตุผลอะไรบางอย่าง ที่ยังทำให้การนอนหลับเป็นสิ่งที่สิ่งมีชีวิตทุกชนิดนั้นขาดไม่ได้ เราเองจึงต้องให้ความสำคัญกับการนอนด้วยเช่นกัน

เวลานอนหลับที่เหมาะสมคือประมาณ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน ถ้าน้อยกว่านี้ก็ไม่ดี มากกว่านี้ก็ไม่เหมาะ เคยมีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่าคนที่นอนมากกว่า 10 ชั่วโมงต่อวันนั้นมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ (all-cause mortality) สูงขึ้นถึง 50% (แต่ไม่ได้บอกว่าการนอนหลับนานๆ เป็นสาเหตุนะครับ แค่มีความเชื่อมโยงหรือ correlation กันเฉยๆ เพราะคนที่สุขภาพไม่ดีนั้นมีแนวโน้มที่จะต้องนอนพักผ่อนมากกว่าคนปกติอยู่แล้ว)

การนอนไม่พอนั้นมีผลต่อหลายโรคใน 4 พญามาร

เคยมีการทดลองให้คนนอนแค่คืนละ 4.5 ชั่วโมงเป็นเวลา 4 วัน และพบว่ามีค่าอินซูลินในเลือดสูงเหมือนคนอ้วนที่เป็นเบาหวาน แถมความสามารถในการใช้กลูโคสก็ลดลงไปถึง 50% อีกด้วย

คนที่นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงติดต่อกันเป็นเวลานาน จะมีความเสี่ยงที่จะหัวใจวายมากกว่าคนปกติประมาณ 20%

ธรรมดาเวลาเรานอนหลับ สมองเราจะ “ทำความสะอาดตัวเอง” และขจัด “สิ่งปฏิกูล” ในสมองทิ้งไป ทั้งสารแอมิลอยด์บีตา และเทาว์โปรตีน (Tau) ซึ่งเป็นสิ่งที่พบได้เยอะเป็นพิเศษในสมองของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์

แถมเวลาคนเราแก่ตัวลง คุณภาพการนอนหลับของเรายิ่งน้อยลง ดังนั้นเราควรนอนให้ดีและนอนให้เป็นตั้งแต่วัย 40 กว่าๆ เพื่อจะลดความเสี่ยงในการเป็นอัลไซเมอร์ให้มากที่สุด

การนอนหลับไม่พอยังมีผลต่อการออกกำลังกายอีกด้วย ค่า VO2 Max จะลดลง เราจะยกน้ำหนักได้ไม่เท่าเดิม ระบบระบายความร้อนของร่างกายจะติดขัด และเราจะมีโอกาสบาดเจ็บมากขึ้นอีกด้วย การนอนหลับที่เพียงพอจึงเป็นเหมือนยายกระดับความสามารถ (performance-enhancing drug) สำหรับการออกกำลังกายเลยทีเดียว

คนที่ได้พักผ่อนน้อยยังมีแนวโน้มที่จะกินจุขึ้น โดยมีงานวิจัยที่บ่งชี้ว่า คนที่เมื่อคืนนอนน้อย มีแนวโน้มจะกินเยอะกว่าปกติประมาณ 300 แคลอรี และมักจะกินอาหาร “มื้อที่สี่” ตอนดึกๆ อีกด้วย ซึ่งนั่นย่อมเพิ่มความเสี่ยงของภาวะไขมันพอกตับ

การนอนหลับนั้นมีทั้งแบบ REM (Rapid Eye Movement) ซึ่งก็คือช่วงที่เราฝัน และแบบ NREM (Non-Rapid Eye Movement) ซึ่ง NREM มีทั้งแบบ light และแบบ deep

โดย Deep NREM นั้นสำคัญต่อการเคลียร์ข้อมูลจากหน่วยความจำระยะสั้น และคัดเอาข้อมูลที่สำคัญไปเก็บไว้ในสมองส่วน hippocampus ซึ่งใช้เก็บความจำระยะยาว

ส่วนการนอนแบบ REM นั้น ก็มีความสำคัญสำหรับการสร้างความเชื่อมโยงในเรื่องต่างๆ และขยาย neural networks ในสมอง

=====

10 คำแนะนำสำหรับการนอนหลับที่มีคุณภาพ

  1. อย่าดื่มแอลกอฮอล เพราะแม้บางคนคิดว่าดื่มเหล้าแล้วหลับง่าย แต่จริงๆ แล้วมันก่อให้เกิดกระบวนการเผาผลาญซึ่งจะเข้ามา disrupt การนอนในครึ่งหลังของเรา ทำให้เรานอนในช่วง REM ได้ไม่เต็มที่
  2. อย่ากินอะไรก่อนนอนเป็นเวลาอย่างน้อย 3 ชั่วโมง
  3. อย่าใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างน้อย 2 ชั่วโมงก่อนนอน
  4. ช่วงหนึ่งชั่วโมงก่อนเข้านอน อย่าทำกิจกรรมอะไรที่อาจสร้างความกังวล เช่นเช็คเมลงานหรือเล่นโซเชียล
  5. อาบน้ำร้อน เพราะเมื่ออาบน้ำร้อนเสร็จ ความร้อนจะระบายออกทางเท้าและมือ ทำให้อุณหภูมิแกนกลางของร่างกายลดลง ช่วยให้หลับได้ง่ายขึ้น
  6. เปิดแอร์ให้เย็นเจี๊ยบ ประมาณ 18-20 องศา [ผมคงไม่ขอคอมเมนท์เรื่องที่มันอาจเปลืองไฟนะครับ]
  7. หาทางทำให้ห้องนอนนั้นมืดสนิทในระดับมองมือตัวเองไม่เห็น
  8. ให้เวลาตัวเองมากพอในการผล็อยหลับ ถ้าอยากนอนอย่างน้อย 7 ชั่วโมง เราก็ควรพาตัวเองขึ้นเตียงนอนประมาณ 8 ชั่วโมงก่อนที่เราต้องตื่นนอน เป็นต้น
  9. ถ้าจะมีนาฬิกาปลุกในห้องนอนก็ควรหันหน้าไปด้านอื่นที่เรามองไม่เห็น เพราะถ้าเราตื่นมากลางดึกแล้วเห็นเวลาว่าเป็นตีสาม เราอาจจะกังวลกว่าเดิมจนนอนไม่หลับ
  10. พยายามตื่นเวลาเดิมเสมอ แม้ว่าจะเป็นวันหยุดก็ตาม

จริงๆ แล้วการอดนอนเพียงคืนหรือสองคืนนั้นไม่ได้มีผลร้ายต่อสุขภาพมากนัก สิ่งที่ต้องระวังคือการอดนอนติดต่อกันหรือนอนน้อย-ตื่นกลางดึกบ่อยจนเป็นนิสัย ซึ่งจะทำให้ระบบต่างๆ ในร่างกายรวนได้อย่างแน่นอน

======

สุขภาพทางอารมณ์ – Emotional Health

เราอาจจะคุ้นเคยกับคำว่า Mental Health หรือสุขภาพจิต

แต่สุขภาพทางอารมณ์หรือ Emotional Health นั้นกินความหมายลึกและกว้างกว่านั้น มันคือการมีทักษะในการจัดการอารมณ์ตัวเอง รวมถึงการจัดวางความสัมพันธ์ที่เรามีต่อคนอื่นอีกด้วย

Peter Attia นั้นเก่งมากเรื่องสุขภาพกาย รู้ทุกอย่างเกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ แต่ในเรื่อง emotional health นั้นเขายอมรับว่าตัวเองเคยแย่มาก เขาเคยเป็นพ่อที่ไม่ดี และเป็นสามีที่ใช้ไม่ได้

มีเหตุการณ์หนึ่งในปี 2017 ในขณะที่ Peter Attia ไปทำงานที่เมืองนิวยอร์ค ภรรยาโทรมาบอกว่าลูกคนเล็กของพวกเขาที่อายุเพิ่ง 1 เดือนหยุดหายใจกะทันหัน โชคยังดีที่ภรรยาเป็นพยาบาลและทำ CPR จนลูกกลับมาหายใจได้อีกครั้ง และตอนนี้กำลังอยู่บนรถพยาบาลเพื่อพาลูกไป ICU

สิ่งที่ Peter Attia ตอบภรรยาไปทางโทรศัพท์ก็คือ ไว้ถึงโรงพยาบาลแล้วให้โทรมาหาเขาใหม่ เขาจะได้ช่วยคุยกับคุณหมอให้

ทั้งๆ ที่สิ่งเดียวที่ภรรยาอยากจะได้ยินจากปากเขา คือการที่เขาจะรีบจองตั๋วเครื่องบินกลับบ้านทันที แต่เขาก็ไม่ได้ทำเช่นนั้น และยังอยู่นิวยอร์คเพื่อทำธุระอันแสนสำคัญของตัวเองต่อไป ปล่อยให้ภรรยาดูแลลูกคนเล็กเพียงลำพัง กว่าที่ Dr.Attia จะได้กลับบ้านก็หลังจากเหตุการณ์ผ่านไปแล้วถึง 10 วัน

เมื่อมองย้อนกลับไป Dr.Attia บอกว่า เขาไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมถึงทำตัวได้แย่ขนาดนั้น และเขาคงไม่สามารถให้อภัยตัวเองในเรื่องนี้ได้ไปตลอดชีวิต

แม้ว่า Dr.Attia จะไม่ได้ป่วยทางจิตเวช แต่เพื่อนที่เป็นหมอของเขาก็คะยั้นคะยอให้ Dr.Attia ไปรักษาตัวที่ศูนย์บำบัดที่ช่วยเหลือคนมี่มีอาการติดยาและติดเหล้า

Dr.Attia บอกว่าเขาไม่ได้ติดยาหรือติดเหล้าเสียหน่อย เพื่อนบอกว่าการเสพติดนั้นไม่ใช่แค่เรื่องยาเท่านั้น คนเราอาจจะเสพติดอย่างอื่นก็ได้ เช่นการทำงานเป็นต้น

ความเจ็บป่วยทางจิตใจหรือทางอารมณ์นั้นมีผลต่อสุขภาพเราอย่างเลี่ยงไม่ได้ การฆ่าตัวตายนั้นเป็นหนึ่งใน Top 10 สาเหตุการเสียชีวิตของคนทุกเพศทุกวัย

ในปี 1985 มีชายคนหนึ่งชื่อ Ken Baldwin ที่ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองด้วยการกระโดดจากสะพานโกลเด้นเกต แต่เดชะบุญที่เขาเป็น 1 ใน 100 ที่รอดชีวิตมาได้ โดยเขาให้สัมภาษณ์ว่าในวินาทีที่กระโดดลงมาจากสะพานนั้นว่า

“ผมรู้ทันทีว่าทุกอย่างในชีวิตที่ผมเคยคิดว่ามันแก้ไขไม่ได้นั้น จริงๆ แล้วมันแก้ไขได้หมดทุกอย่าง ยกเว้นเพียงอย่างเดียวนั่นคือเรื่องที่ผมได้กระโดดลงมาแล้ว”

ความทนทุกข์ทรมานที่ไม่สามารถอยู่กับตัวเองได้นั้นทำให้ชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยหันไปใช้ยา โดยเฉพาะในคนที่อยู่ในวัยเกษียณ อัตราการเสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาดในปี 2021 นั้นมากพอๆ กับคนที่เสียชีวิตจากโรคเบาหวานเลยทีเดียว

เมื่อสุขภาพจิตหรือสุขภาพอารมณ์เราไม่ดี แทนที่เราจะสนุกกับการใช้ชีวิต เรากลับกลายเป็นคนที่มีชีวิตไปวันๆ เพื่อรอวันสุดท้าย

ยิ่งคนเราหมดอาลัยตายอยากกับชีวิต ก็ยิ่งไม่อยากลุกขึ้นมาทำอะไร ในบรรดาคนไข้ที่ Dr.Attia ดูแล เป็นเรื่องที่ยากมากที่จะทำให้คนป่วยเป็นโรคซึมเศร้าลุกขึ้นมาออกกำลังกาย หรือโน้มน้าวให้คนที่กำลังอมทุกข์ให้เริ่มตรวจหามะเร็งตั้งแต่เนิ่นๆ

ตัวของ Dr.Attia เองนั้นต่างออกไป ในปี 2017 ตอนที่เกิดเหตุลูกคนสุดท้องหยุดหายใจนั้น Dr.Attia ร่างกายแข็งแรงมาก เขาทำทุกอย่างที่จะทำได้เพื่อที่จะมีสุขภาพที่แข็งแรงและมีชีวิตที่ยืนยาว แต่สภาวะทางอารมณ์ของเขาก็แย่มากจนนักบำบัดที่ชื่อว่า Esther Perel ต้องเอ่ยถามเขาว่า

“Why would you want to live longer if you’re so unhappy?”

หากไม่มีความสุข แล้วจะมีชีวิตยืนยาวไปเพื่ออะไร?

หลังจากถูกคนรอบตัวคะยั้นคะยอแกมบังคับ Dr.Attia จึงจำยอมเข้ารับการรักษาในศูนย์บำบัดถึงสองรอบ รอบแรก 2 สัปดาห์ รอบที่สองอีก 3 สัปดาห์

Dr.Attia ได้เรียนรู้และยอมรับบาดแผลที่เกิดขึ้นกับตัวเองในวัยเด็ก (trauma)

โดย trauma นั้นแบ่งออกได้เป็น 5 ประเภทใหญ่ๆ

  1. Abuse ทารุณกรรมทางร่างกายหรือทางเพศ
  2. Neglect การถูกละเลย
  3. Abandonment การถูกทอดทิ้ง
  4. Enmeshment ความสับสนในช่วงรอยต่อของวัยเด็กและวัยผู้ใหญ่
  5. Witnessing tragic events การผ่านพบเหตุการณ์สะเทือนใจด้วยตนเอง

Trauma นั้นแตกต่างจาก adversity หรือความยากลำบาก เพราะความยากลำบากทำให้คนเราอดทนและแข็งแกร่งขึ้น ขณะที่ trauma นั้น เกิดจากความรู้สึกว่าตัวเองไม่สามารถทำอะไรได้เลย (feeling of helplessness) ทำให้ต้องปรับความรู้สึก ความคาดหวัง และพฤติกรรมของตัวเอง

เมื่อเจอ trauma เด็กๆ จะปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดต่อไปได้ แต่วิธีการปรับตัวบางอย่างจะติดตัวมาจนโต และทำให้เขากลายเป็นคนที่มีปัญหากับตัวเองและคนรอบข้าง ซึ่งเรียกว่า dysfunctions โดยแบ่งออกเป็น 4 อย่าง ดังนี้

  1. Addiction เสพติดยา เหล้า การพนัน และยังรวมถึงการเสพติดการทำงาน การออกกำลังกาย และเสพติดความเป็นเพอร์เฟ็คชันนิสต์ได้ด้วย
  2. Codependency หรือเป็นคน needy ในความสัมพันธ์ ต้องตัวติดกันหรือคอยเช็คตลอดว่าอีกฝ่ายทำอะไร อยู่ที่ไหน อยู่กับใคร
  3. Habitual survival strategies วิธีเอาตัวรอดที่กลายมาเป็นนิสัย เช่นเป็นคนโมโหง่าย เป็นคนขี้กังวล ฯลฯ
  4. Attachment disorders ไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้างได้

การเข้ารับการรักษาของ Dr.Attia ทำให้เขาเข้าใจว่า เหตุการณ์ในวัยเด็กไหนบ้างที่ทำให้เขากลายเป็นคนแบบนี้ เขาเคยเจอทั้งเรื่อง abuse และเรื่องที่ผู้ใหญ่ผิดคำพูดจนทำให้เขารู้สึกว่าเขาไม่สามารถไว้ใจใครได้แม้กระทั่งตอนที่เขาโตขึ้นมาแล้วก็ตาม

แถมการเป็นเพศชาย ก็ยิ่งถูกสังคมคาดหวังว่าต้องเข้มแข็ง ห้ามแสดงความอ่อนแอให้ใครเห็น เด็กชาย Peter Attia ก็เลยยิ่งต้องปกปิดบาดแผลและความอ่อนแอด้วยการหันมาเล่นกีฬาอย่างชกมวยและเล่นเวต เพื่อแสดงให้โลกรู้ว่าเขานั้นแข็งแกร่ง และเขาไม่ต้องการความช่วยเหลือ

แถม Dr.Attia ก็ยังกลายเป็นคนที่ความคาดหวังกับตัวเองสูงมากอยู่ตลอดเวลา หากทำอะไรผิดพลาดแค่นิดเดียวก็จะก่นด่าตัวเองแบบสาดเสียเทเสีย

Dr.Attia เคยคุยกับคนไข้คนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงโด่งดัง เขาบอกกับ Dr.Attia ว่า

“I need to be great in order to feel like I’m not worthless.”

ผมทำอะไรออกแล้วมันต้องเยี่ยมยอดเท่านั้น เพื่อจะได้ไม่ต้องรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไร้ค่า

แต่เมื่อผ่านการบำบัดเป็นเวลาที่นานพอ Dr.Attia ก็ยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวัยเด็กไม่ใช่ความผิดของเขา และเรียนรู้ที่จะให้อภัยตนเอง และพูดจากับตัวเองให้ดีขึ้น พูดให้เหมือนกับตอนพูดคุยกับเพื่อนที่เขารักมากที่สุด

ในทุกบทของหนังสือ Outlive ตัว Dr.Attia เป็นผู้เชี่ยวชาญที่คอยแนะนำว่าผู้อ่านควรทำอะไรบ้าง

แต่ในบทสุดท้ายที่ว่าด้วยเรื่อง emotional health นั้น Dr.Attia เล่าเรื่องตัวเองในฐานะคนไข้ เขาไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ เขายังเป็นแค่มือสมัครเล่นที่กำลังเรียนรู้ที่จะมีสุขภาพอารมณ์และความสัมพันธ์ที่ดี

Dr.Attia บอกว่า สิ่งสำคัญก็คือเราต้องรู้ตัวและยอมรับว่าเรามีปัญหา และหาคนปรึกษาหรือผู้เชี่ยวชาญที่จะช่วยแนะนำหรือหาทางเยียวยาให้เราพบทางออกได้ ไม่อย่างนั้นต่อให้เราจะมีร่างกายที่แข็งแรงเท่าไหร่ แต่ถ้าใจเราอ่อนแอหรือพิกลพิการ ก็ไม่อาจมี healthspan ที่ดีได้อย่างแน่นอน

======

บทสรุป

หนังสือ Outlive ที่เขียนโดย Dr.Peter Attia เน้นให้เรามี healthspan หรือสุขภาพที่ดีไปจนแก่เฒ่า

สิ่งที่หนังสือเน้นย้ำก็คือ “เราต้องไม่ประมาท” เราต้องใส่ใจเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องการออกกำลังกายตั้งแต่วันนี้ เพราะสังขารของคนเราย่อมเสื่อมไปเป็นธรรมดา ดังนั้นเราต้อง “ออมสุขภาพ” ไม่ต่างอะไรกับการออมเงิน ที่ยิ่งเริ่มได้เร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี

สรุปหนังสือ Outlive เดินทางมาถึงตอนที่ 9 ซึ่งเป็นตอนสุดท้ายแล้ว ขอบคุณผู้อ่าน Anontawong’s Musings สำหรับการติดตามที่มีมาโดยตลอด

ขอให้ผู้อ่านทุกท่านสุขภาพแข็งแรงทั้งกายใจ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีจวบจนขวบปีสุดท้ายของชีวิตครับ


Outlive ตอนที่ 1: โรคเบาหวานและเหตุผลที่ Outlive เป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิตประจำปี 2024

Outlive ตอนที่ 2: โรคหัวใจและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคอเลสเตอรอล

Outlive ตอนที่ 3: ความหวังของการรักษามะเร็งให้หายขาด

Outlive ตอนที่ 4: โรคอัลไซเมอร์

Outlive ตอนที่ 5: KPI ที่สำคัญที่สุดสำหรับอายุที่ยืนยาว

Outlive ตอนที่ 6: VO2 Max และความสับสนเกี่ยวกับ Zone 2 Training

Outlive ตอนที่ 7: Strength และ Stability มิติที่คนออกกำลังกายมองข้าม

Outlive ตอนที่ 8: กินน้อย / ทำ IF แล้วสุขภาพดีจริงหรือ

Outlive ตอนที่ 9: การนอนหลับและสุขภาพทางอารมณ์

Outlive ตอนที่ 8 – กินน้อย / ทำ IF แล้วสุขภาพดีจริงหรือ

สำหรับหนังสือ Outlive ที่เขียนโดย Peter Attia ถ้าจะมีหัวข้อไหนที่น่าจะโดนวิจารณ์เยอะที่สุดก็น่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน เพราะ Dr.Attia มองว่ามันไม่ได้สำคัญมากเท่ากับการออกกำลังกาย

Dr.Attia มองว่า หลายคนยึดติดเรื่อง “วิธีกินที่ถูกต้อง” มากเกินไป จนกลายเป็นกลุ่มเป็นก๊ก หรือแม้กระทั่งจนแทบจะกลายเป็นลัทธิ เช่น vegan, keto, low-carb, Atkins, IF (Intermittent Fasting) ต่างฝ่ายต่างก็มองว่าวิธีของกลุ่มตัวเองนั้นดีที่สุด

ตัว Dr.Attia นั้นก็เคยลองกินอาหารมาหลายวิธีแล้ว ตอนที่เขาเคยอ้วนมากๆ ก็ใช้วิธี Keto diet แล้วได้ผล เวลาอดอาหารก็อดจริงจัง เช่นดื่มน้ำอย่างเดียวเป็นเวลา 10 วัน และเขาก็เคยเชื่อว่าอาหารการกินนั้นสำคัญที่สุดสำหรับการดูแลสุขภาพ แต่ตอนนี้เขาไม่ได้เชื่อแบบนั้นแล้ว

หลังจากที่ได้ทำงานกับคนไข้มานับร้อยนับพันคน เขาก็ได้ค้นพบว่า มันไม่มี one size fits all เพราะร่างกายของแต่ละคนนั้นตอบสนองอาหารแต่ละประเภทต่างกันไป คนบางคนสามารถกินไขมันอิ่มตัวได้มากมายโดยที่ค่า LDL แทบจะไม่กระดิก ขณะที่คนบางคนกินเบคอนไม่เท่าไหร่ LDL ก็พุ่งกระฉูด

สิ่งที่ Dr.Attia เน้นย้ำมากที่สุด คือเราต้องกินโปรตีนให้พอ โดยเฉพาะตอนที่เราอายุเยอะขึ้น เพราะโปรตีนคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับร่างกายในการสร้างมวลกล้ามเนื้อ และอย่างที่เคยกล่าวไปในบทก่อนๆ ว่า เมื่อเราแก่ตัวลงไป มวลกล้ามเนื้อเราจะหดหายลงไปมาก เมื่อไม่มีกล้ามเนื้อ เราก็จะบาดเจ็บได้ง่าย ล้มได้ง่าย ซึ่งทำให้เราไม่สามารถกลับมาออกกำลังกายได้ และนั่นจะเป็นวงจรอุบาทว์ที่พาให้สุขภาพเราเสื่อมทรุดลงเรื่อยๆ

มีหลายประเด็นที่ Dr.Attia กล่าวถึงแล้วน่าสนใจ และอาจจะทำให้เราต้องกลับมา ทบทวนความคิดใหม่สำหรับเรื่องความเชื่อด้านอาหารการกิน ผมขอหยิบยกมาแค่เพียงบางประเด็นที่น่าจะสอดคล้องกับบริบทคนไทยเป็นพิเศษนะครับ

======

ต้นกำเนิด Fasting แบบ 16/8

การควบคุมอาหารนั้นทำได้สามแบบ:

CR – Calaric Restriction ลดปริมาณให้น้อยลง

DR – Dietary Restrictions กินประเภทให้น้อยลง (เช่นไม่กินเนื้อ ไม่กินนม ไม่กินแป้ง)

TR – Time Restrictions กินภายใต้เวลาที่น้อยลง เช่นตั้งเป้าว่าวันนี้กินได้ช่วงกี่โมงถึงกี่โมง

ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เรื่อง Intermittent Fasting หรือ IF ไอเอฟ นั้นเป็นที่นิยมในหมู่คนไทยขึ้นอย่างมาก

และการทำ IF ที่เราได้ยินกันประจำคือ 16/8 หมายความว่า ไม่กิน 16 ชั่วโมง และกินเพียง 8 ชั่วโมง เช่นตอนเช้าไม่กินข้าว แล้วเริ่มกินมื้อแรกตอนเที่ยง กินอีกมื้อตอนหนึ่งทุ่ม ดังนั้นช่วงเวลาที่เรากินข้าวคือ 12:00-20:00 (8 ชั่วโมง) แล้วตั้งแต่ 20:00 ถึงเที่ยงวันถัดไป 16 ชั่วโมงเราไม่กินอะไรเลย

หรือบางคนอาจจะกินข้าวเช้าตอน 8 โมง กินมื้อที่สองตอนบ่าย 3 แล้วไม่กินข้าวเย็น ดังนั้นช่วง 4 โมงเย็นถึง 8 โมงเช้า ก็เป็นช่วงที่ไม่ได้กินอะไรเป็นเวลา 16 ชั่วโมงเช่นกัน

ว่าแต่ว่าตัวเลข 16/8 มาจากไหนกัน?

จุดตั้งต้นของความเชื่อเรื่อง 16/8 Fasting มากจากการทดลองที่ทำกับหนู ที่พบว่าหนูที่ได้กินแค่ 8 ชั่วโมงจะมีสุขภาพที่แข็งแรงกว่า และมีน้ำหนักน้อยกว่าหนูที่ได้กินตลอดทั้งวัน แม้ว่าสุดท้ายแล้วจะกินอาหารชนิดเดียวกันในปริมาณเท่ากันในแต่ละวันก็ตาม

Reference ใน Outlive ชี้ไปที่งานวิจัยสองชิ้นนี้

The time-restricted mice gained less weight: Hatori et al. (2012)

A sixteen-hour fast for a mouse: Jensen et al. (2013)

งานวิจัยนี้จึงทำให้เกิดความเชื่อเรื่องการกินเพียงวันละ 8 ชั่วโมง ซึ่ง Dr.Attia เรียกว่าเป็น “fad” หรือแฟชั่นสมัยนิยมที่ไม่ยั่งยืน

คำวิจารณ์หลักของ Dr.Attia ก็คือ หนูทดลองนั้นมีอายุแค่ 2-3 ปี และถ้ามันขาดอาหารเพียงแค่ 48 ชั่วโมงมันก็เสียชีวิตแล้ว ดังนั้น การอดอาหาร 16 ชั่วโมงของหนูจึงมีค่าเท่ากับการอดอาหารหลายวันของมนุษย์

การเห็นว่าหนูอดอาหาร 16 ชั่วโมงแล้วมีประโยชน์ แล้วหยิบ 16 ชั่วโมงมาใช้โต้งๆ กับมนุษย์ จึงเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมเพราะมันเทียบกันตรงๆ แบบนั้นไม่ได้

ในการทดลองของ Ethan Weiss ในปี 2020 ก็พบว่า เมื่อนำอาสาสมัคร 116 คน มาทำ 16/8 IF ก็ไม่พบประโยชน์เรื่องการลดน้ำหนักหรือตัววัดผลด้านสุขภาพอื่นๆ แต่อย่างใด

=======

กินน้อยลงแล้วอายุยืนจริงหรือ

อีกความเชื่อหนึ่งที่ Dr.Attia วิจารณ์ ก็คือกินน้อยลงแล้วจะอายุยืน

มีการทดลองครั้งใหญ่สองครั้งที่ทั้งคอนเฟิร์มและสร้างความสับสนให้กับชุดความคิดนี้

การทดลองแรกถูกตีพิมพ์ในปี 2009 ในวารสาร Journal

นักวิจัยที่ University of Wisconsin-Madison ติดตาม “ลิงวอก” หรือ Rhesus monkey 76 ตัวเป็นเวลา 20 ปี และพบว่า ลิงที่ได้รับอนุญาตให้กินน้อยกว่านั้นมีอายุที่ยืนยาวกว่าลิงที่กินได้ไม่จำกัด

ผลงานวิจัยนี้โด่งดังมาก The New York Times ถึงกับเอาข่าวนี้ขึ้นหน้าหนึ่ง โดยโปรยหัวว่า “Dieting Monkeys Offer Hope for Living Monkeys” ภาพประกอบเป็นลิง 2 ตัวชื่อ Cando กับ Owen

Canto อายุ 27 ปีแต่ยังดูหนุ่มแน่นแข็งแรงดี ขณะที่ Owen ที่แก่กว่าเพียงสองปีนั้นหย่อนยานและแก่หง่อม

Owen นั้นอยู่ใน control group คืออยากกินอะไรก็กินไปเลย

ส่วน Canto นั้น อยู่ในกลุ่มที่ “ลดอาหาร” คือได้กินอาหารน้อยกว่ากลุ่มคอนโทรลประมาณ 25%

กลุ่มที่ลดอาหารนั้นสุขภาพแข็งแรงกว่าอย่างชัดเจน นักวิจัยได้ข้อสรุปว่า “ข้อมูลชี้ให้เห็นว่าการลดประมาณอาหาร (caloric restriction) นั้นช่วยชะลอวัยในสัตว์ตระกูลไพรเมต (primate species หรือสัตว์ตระกูลวานร) ได้

อีกเพียง 3 ปีถัดมา ในปี 2012 The New York Times ก็ตีพิมพ์งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง

แต่พาดหัวคราวนี้ต่างออกไป – “Severe Diet Doesn’t Prolong Life, at Least in Monkeys”

งานวิจัยนี้จัดทำโดย National Institute on Aging ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ National Institute of Health (NIH)

โดยงานวิจัยเริ่มตั้งแต่ช่วงปี 1980s และกระบวนการวิจัยก็คล้ายคลึงกับงานวิจัยของ Wisonsin มาก คือให้ลิงวอกกลุ่มนึงกินอาหารน้อยกว่าอีกกลุ่มนึงประมาณ 25% แต่ผลปรากฎว่าสุขภาพของลิงที่กินจุกับลิงที่กินน้อยกลับไม่ต่างกันเลย

เมื่อนักข่าวลองนำงานวิจัยนสองชิ้นนี้มาเปรียบเทียบดูก็พบข้อแตกต่างที่สำคัญ นั่นคือ “อาหาร” ที่ลิงกิน

ที่ Wisconsin ลิงได้กินอาหารกล่องที่ผ่านกระบวนการมา (highly processed food) ขณะที่ลิงของ NIH นั้น อาหารจะมีคุณภาพกว่าและมีปริมาณน้ำตาลน้อยกว่า โดยมีน้ำตาลแค่ 4% ในขณะที่อาหารของลิง Wisconsin มีน้ำตาลถึง 28.5%

ถ้าจะเทียบเคียงให้เห็นภาพ ลิง Wisconsin เหมือนได้กินแต่อาหาร junk food ขณะที่ลิงของ NIH นั้นกินแต่สลัดบาร์

ดังนั้น ถ้าคุณกินแต่ junk food การกินให้น้อยลงย่อมส่งผลดีต่อสุขภาพมากกว่าอยู่แล้ว

แต่นักวิจัยของ Wisconsin ก็ออกมาแก้ต่างว่า อาหารที่พวกเขาให้ลิงกินนั้น มีความคล้ายคลึงกับอาหารที่ชาวอเมริกันกินเป็นประจำหรือที่เรียกว่า SAD – Standard American Diet นั่นคืออาหารที่เป็น processed food

แต่ถ้าคุณกินอาหารที่ดีอยู่แล้ว การอดอาหารกลับไม่ได้มีผลเท่าต่ออายุที่ยืนยาวเท่าไหร่ ยกเว้นเพียงเรื่องเดียวคือการลดปริมาณอาหารลงนิดหน่อยอาจมีส่วนช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งได้ ในกลุ่มลิงที่กินน้อย ไม่ว่าจะที่ Wisconsin หรือของ NIH ต่างก็พบว่ามีโอกาสเป็นมะเร็งน้อยลง

Dr.Attia จึงสรุปว่า หากกินอาหารที่คุณภาพดีอยู่แล้ว การอดอาหารหรือหรือลดปริมาณอาหารอาจไม่ใช่สิ่งจำเป็น

และ Dr.Attia ก็มองด้วยว่าประโยชน์ที่ได้จากการลดสารอาหาร อาจจะไม่คุ้มกับสิ่งที่ต้องเสียไป นั่นคือมวลกล้ามเนื้อที่น้อยลง และระบบภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลง

ลิงในการทดลองถูกเลี้ยงอยู่ในพื้นที่ที่สะอาดและได้รับการฆ่าเชื้ออย่างสม่ำเสมอ แต่มนุษย์อย่างเราไม่ได้อยู่ในห้องปลอดเชื้อ เราต้องเจอเชื้อโรคและสิ่งสกปรกมากมาย ดังนั้นการรับประทานสารอาหารให้พอเพียงจึงจำเป็นอย่างยิ่งต่อการมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงเพื่อต่อกรกับเชื้อโรคต่างๆ

=====

อาหารที่กินแล้วอายุยืน อาหารที่กินแล้วอายุสั้น

Dr.Attia บอกว่า ถ้าเห็นข่าวหรืองานวิจัยชิ้นไหนเคลมว่า อาหารชนิดนี้กินแล้วอายุยืน หรืออาหารชนิดไหนก่อโรค ให้ตั้งแง่ไว้ก่อน

เพราะอย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ร่างกายของแต่ละคนตอบสนองอาหารแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน ดังนั้นเราไม่สามารถบอกได้โดยแน่ว่าอะไรจะดีหรือแย่กับเราบ้าง

งานวิจัยหลายชิ้น มักจะให้อาสาสมัครทำ food frequency questionnaire ที่ให้ระบุว่า กินอาหารแต่ละชนิดบ่อยแค่ไหนในเดือนที่ผ่านมา (ลองกูเกิ้ลตัว questionnaire ดูแล้วจะเห็นภาพ)

ซึ่งวิธีวิจัยแบบนี้มีจุดอ่อนมากมาย เพราะคนส่วนใหญ่จำไม่ได้หรอกว่าตัวเองกินอะไรไปบ้าง เอาแค่สามวันที่แล้วกินอะไรยังลำบาก แต่นี่กลับจะให้กรอกข้อมูลของพฤติกรรมการกินทั้งเดือน

ต่อมาก็คืองานวิจัยหลายชิ้นไม่ได้มีการคัดกรองกลุ่มตัวอย่าง

เราอาจเคยเห็นข่าวว่า การดื่มน้ำอัดลมแบบไดเอ็ท (ไร้น้ำตาล) นั้นมีความเชื่อมโยงกับไขมันในช่องท้อง ภาวะดื้ออินซูลิน และการเป็นโรคหัวใจ ข้อสรุปของงานวิจัยกลุ่มนี้คือบอกให้เลิกกินน้ำอัดลมไร้น้ำตาล

แต่สิ่งที่งานวิจัยลืมถามก็คือ คนกลุ่มไหนที่มีแนวโน้มจะดื่มน้ำอัดลมไร้น้ำตาล? คำตอบก็คือคนที่อ้วนอยู่แล้วหรือน้ำตาลในเลือดสูงอยู่แล้วนั่นเอง เพราะพวกเขากังวลเรื่องเหล่านี้ เขาจึงหันมาดื่มน้ำอัดลมไร้น้ำตาล

ดังนั้นน้ำอัดลมไร้น้ำตาล จึงไม่ใช่ต้นเหตุที่ก่อให้เกิดไขมันในช่องท้อง เพียงแต่คนที่มีไขมันในช่องท้องนั้นมีโอกาสมากกว่าคนปกติที่จะเลือกดื่มน้ำอัดลมไร้น้ำตาลต่างหาก

หรือเราคงเคยได้ยินว่า การดื่มแอลกอฮอลหรือดื่มไวน์ในปริมาณที่เหมาะสม จะช่วยให้อายุยืน

งานวิจัยแบบนี้ก็ตกเป็นเหยื่อของ healthy user bias คือคนที่อายุเยอะแล้ว แต่ยังดื่มเหล้าดื่มไวน์ไหวนั้นดื่มได้เพราะพวกเขายังแข็งแรงอยู่

เขาดื่มเพราะว่าเขาแข็งแรง ไม่ใช่แข็งแรงเพราะดื่ม ในขณะที่คนที่อายุเยอะแล้วและไม่ได้ดื่มแอลกฮอลก็อาจเป็นเพราะว่ามีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่ทำให้ต้องเลี่ยงเครื่องดื่มเหล่านี้ หรือบางคนที่ไม่แข็งแรงบางคนก็เสียชีวิตไปนานแล้วเลยไม่ได้อยู่ในกลุ่มตัวอย่าง

หากเรานำงานวิจัยเหล่านี้มากางใหม่ แล้วตัดปัจจัยที่เกี่ยวข้องออก เช่นค่า BMI ฐานะทางการเงิน และการไม่สูบบุหรี่ เราก็จะพบว่าประโยชน์ที่ได้จากการดื่มแอลกอฮอลนั้นอันตรธานหายไปหมดเช่นกัน

ดังนั้น การบริโภคแอลกอฮอล ไม่ว่าจะในปริมาณแค่ไหน ก็ไม่สามารถเรียกได้ว่าดีต่อสุขภาพ

ในบทนี้เหมือนจะมีแค่อาหารชนิดเดียวที่ Dr.Attia ยอมรับว่าช่วยสร้างความแตกต่างได้จริงๆ โดยเฉพาะในกลุ่มคนที่เป็นโรคเบาหวานและโรคหัวใจ นั่นก็คือ Mediteranean diet โดยคนที่บริโภคน้ำมันมะกอกและถั่วนั้นจะมีโอกาสเป็นโรคหัวใจวายน้อยลง 28%-31%

=====

บทสรุปเรื่องการกินอาหาร

หนังสือ Outlive ไม่ค่อยเน้นมากนักว่าเราควรกินอะไร หรือไม่ควรกินอะไร หรือการ fasting ดีหรือไม่ดี คำตอบขึ้นอยู่กับว่าเราประสบสภาวะแบบไหนอยู่ และร่างกายของเราตอบสนองต่ออาหารต่างๆ แบบไหน

ถ้าเราเป็นคนที่มีน้ำตาลในเลือดสูง Dr.Attia แนะนำให้ทดลองใช้ Continuou Glucose Monitor (CGM) ซึ่งจะสามารถรายงานผลเป็นรายชั่วโมงได้เลยว่า อาการที่เรากินเข้าไปมีผลต่อค่าน้ำตาลในเลือดอย่างไรบ้าง เราจะได้เลือกอาหารที่เหมาะกับเรา

แต่สำหรับคนส่วนใหญ่ที่ไม่ได้มีปัญหาด้านสุขภาพ การกินอาหารที่คุณภาพดีในปริมาณที่เหมาะสมนั้นก็เพียงพอแล้ว แค่ต้องเมคชัวร์ว่าเราได้โปรตีนมากเพียงพอ โดย Dr.Attia แนะนำว่าแต่ละวันควรบริโภคโปรตีน 1.6 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ยกตัวอย่างเช่นถ้าคุณหนัก 60 กิโล ก็ควรบริโภคโปรตีนให้ 96 กรัมเป็นต้น

ส่วนอะไรที่เป็นแฟชั่น เช่นการ fasting / keto diet ก็ทดลองทำได้ แต่อย่าไปยึดมั่นถือมั่นกับมันมากนัก มันอาจจะช่วยให้เราแก้ปัญหาสุขภาพบางอย่างได้ แต่หากสุขภาพเรากลับมาแข็งแรงเป็นปกติ ก็ไม่จำเป็นต้องทำอะไรที่มันทรมานสังขารเกินความจำเป็นครับ


Outlive ตอนที่ 1: โรคเบาหวานและเหตุผลที่ Outlive เป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิตประจำปี 2024

Outlive ตอนที่ 2: โรคหัวใจและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคอเลสเตอรอล

Outlive ตอนที่ 3: ความหวังของการรักษามะเร็งให้หายขาด

Outlive ตอนที่ 4: โรคอัลไซเมอร์

Outlive ตอนที่ 5: KPI ที่สำคัญที่สุดสำหรับอายุที่ยืนยาว

Outlive ตอนที่ 6: VO2 Max และความสับสนเกี่ยวกับ Zone 2 Training

Outlive ตอนที่ 7: Strength และ Stability มิติที่คนออกกำลังกายมองข้าม

Outlive ตอนที่ 8: กินน้อย / ทำ IF แล้วสุขภาพดีจริงหรือ

Outlive ตอนที่ 9: การนอนหลับและสุขภาพทางอารมณ์

Outlive ตอนที่ 7 Strength และ Stability มิติที่คนออกกำลังกายมองข้าม

ในหนังสือ Outlive นั้น บอกว่าการออกกำลังกายมี 4 มิติด้วยกัน

  1. Aerobic Efficiency หรือการออกกำลังกายใน Zone 2
  2. Maximum Aerobic Output หรือ VO2 Max
  3. Strength การเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับกล้ามเนื้อและกระดูก
  4. Stability การรักษาความมั่นคงในการเคลื่อนไหวและปลอดภัยจากอาการบาดเจ็บ

ใน Outlive ตอนที่ 6 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผมเขียนถึงสองข้อแรกไปแล้วว่า การออกกำลังกายใน Zone 2 จะทำให้สุขภาพของไมโทคอนเดรียดีขึ้น ซึ่งเป็นเหมือนฐานของปีระมิดที่จะทำให้เราสร้าง VO2 Max ที่สูงได้ เพราะหาก VO2 Max เราต่ำเกินไป เราจะเป็นคนแก่ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้

คราวนี้มาถึงอีก 2 ข้อที่คนออกกำลังกายเป็นประจำ – โดยเฉพาะคนที่เน้นออกกำลังกายในที่แจ้งเช่นวิ่งหรือปั่นจักรยาน – มักไม่ค่อยให้ความสำคัญ นั่นก็คือ Strength กับ Stability

โดย Strength ก็คือการออกกำลังกายด้วยการยกเวต หลายคนมักจะตั้งแง่ (รวมทั้งผมด้วย) ว่าเราไม่ได้อยากมีกล้ามโต เราแค่อยากแข็งแรงเฉยๆ แค่วิ่งก็น่าจะเพียงพอแล้ว

ส่วน Stability เป็นคอนเซ็ปต์ที่คนไม่คุ้นเคย และไม่มีคำแปลตรงตัว แต่เป็นส่วนสำคัญมากที่จะทำให้เราสามารถออกกำลังกายโดยไม่บาดเจ็บไปเสียก่อน เพราะนี่จะเป็นจุดที่คนส่วนใหญ่พลาดกัน เน้นแต่จะ beat yesterday ทุ่มเทฝึกหนักโดยไม่ระวังสังขาร สุดท้ายก็ต้องเจ็บและพักยาว หรือเจ็บเรื้อรัง ซึ่งไม่ใช่ยุทธศาสตร์ที่ดีสำหรับแนวคิดในหนังสือ Outlive ที่ไม่ได้เน้นว่าเราต้องได้ PB (Personal Best) แต่เน้นว่าเราจะดูแลสุขภาพอย่างไรให้ยืนระยะได้จนถึงวัยชรา

.

======

อันตรายของการสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ

ชายอายุ 80 ปี จะมีมวลกล้ามเนื้อน้อยกว่าเดิม 40% เมื่อเทียบกับตอนอายุ 25 ปี

มวลกล้ามเนื้อหรือ muscle mass ที่น้อยลงนั้นนับว่าแย่แล้ว แต่ยังไม่แย่เท่ากับความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหรือ muscle strength ที่จะถดถอย “เร็ว” กว่ามวลกล้ามเนื้อถึง 2-3 เท่า!

และ muscle power ซึ่งก็คือ muscle strength x speed นั้นจะถดถอยเร็วกว่า muscle strength ถึง 2-3 เท่าเช่นกัน

นั่นเป็นเพราะว่าความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดสำหรับกล้ามเนื้อที่แก่ตัว ก็คือการฟีบลงของ fast twitch muscle fiber

[กล้ามเนื้อจะมีสองประเภทหลักๆ คือกล้ามเนื้อกระตุกช้า (slow twitch muscle) และกล้ามเนื้อกระตุกเร็ว (fast twitch muscle)

Slow twitch fiber ไม่มีการเพิ่มขนาด สร้างแรงน้อย เหมาะกับการทำงานที่ใช้เวลานานๆ เพราะมีความทนทานสูง เหมาะกับกีฬาประเภทแอโรบิค

Fast twitch fiber สามารถเพิ่มขนาดได้ เหมาะกับการทำงานแบบระเบิด พวกยกน้ำหนัก วิ่งระยะสั้น]

อีกวิธีที่จำได้ง่ายๆ ก็คือ slow twitch muscle นั้นจะเหนื่อยช้า ส่วน fast switch muscle นั้นจะเหนื่อยเร็ว

การออกกำลังกายแบบแอโรบิคเช่นการวิ่งหรือปั่นจักรยานนั้นช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับ slow switch fiber

แต่ถ้าอยากรักษาความแข็งแกร่งของ fast switch fiber เราต้องใช้ heavy resistance training หรือการออกกำลังกายโดยมีแรงต้านหรือมีน้ำหนักเข้ามาเกี่ยวข้องนั่นเอง

มวลกล้ามเนื้อนั้นใช้เวลานานในการสร้าง แต่ใช้เวลาเพียงไม่นานในการสูญเสีย เคยมีการศึกษาคนวัยเกษียณที่แข็งแรง เพียงแค่พักผ่อนแบบนอนเตียง (bed rest) 10 วัน ก็ทำให้มวลกล้ามเนื้อหายไปแล้วถึง 1.5 กิโลกรัม

คนแก่บางคนจะสูญเสียกล้ามเนื้อเร็วกว่าปกติ เป็นอาการ sarcopenia หรือภาวะมวลกล้ามเนื้อน้อย ซึ่งจะทำให้น้ำหนักลด พลังงานตก เดินช้า ทำอะไรไม่ค่อยไหว และไม่มีแรงจับ (grip strength) ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงสูงมากที่จะล้ม

แถมตอนที่เราแก่ชราแล้ว การมาเร่งสร้างมวลกล้ามเนื้อก็เป็นไปได้ยากมาก เคยมีการทดลองเอาคนวัย 60-70 ปี จำนวน 60 คนที่ไม่ค่อยแข็งแรงมาเข้าโปรแกรมออกกำลังกายแบบ strength training ล้วนๆ ผ่านไป 6 เดือน ปรากฎว่าคนกลุ่มนี้ไม่มีมวลกล้ามเนื้อเพิ่มขึ้นเลย!

ดังนั้น ถ้าอยากจะเพิ่มมวลกล้ามเนื้อและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ ต้องทำตั้งแต่วัยหนุ่มสาว ช่วงอายุ 30-50 ยังพอมีลุ้นกว่า

วัยกลางคนเราออมเงินเพื่อวัยเกษียณฉันใด เราก็ควรใช้ช่วงเวลาที่ยังมีเรี่ยวแรงนี้ในการ “ออมกล้ามเนื้อ” เพื่อเอาไว้เลี้ยงตัวในวัยเกษียณด้วยเช่นกัน

อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญ คือความแข็งแรงของกระดูก โดยแพทย์จะวัด bone mineral density หรือ BMD เพื่อดูว่าเรามีกระดูกที่แข็งแรงพอหรือไม่ [ถ้าอยากวัด ลองเสิร์ชหา DEXA scan ดูนะครับ มีโรงพยาบาลไทยที่ให้บริการนี้อยู่]

สำหรับผู้หญิงนั้น กระดูกจะเปราะเร็วยิ่งขึ้นเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน เพราะ estrogen เป็นฮอร์โมนที่สำคัญมากสำหรับความแข็งแรงของกระดูก วิธีหนึ่งที่ช่วยได้คือ HRT หรือ Hormone Replacement Therapy

การจะมีกล้ามเนื้อและกระดูกที่แข็งแรง จึงควรพิจารณาสี่อย่างนี้

  1. กินอาหารที่มีประโยชน์ โดยเฉพาะโปรตีน
  2. ออกกำลังกายโดยใช้เวต
  3. ทำ Hormone Replacement Therapy ถ้าจำเป็น
  4. ใช้ยาเพื่อเพิ่ม Bone Mineral Density

หนังสือบอกว่า ถ้าเราแก่ตัวโดยที่มีกล้ามเนื้อไม่แข็งแรง กระดูกก็ไม่แข็งแรง แล้วเราล้มจนกระดูกสะโพกหรือกระดูกโคนขาหัก เรามีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตภายในหนึ่งปีถึง 30%

ส่วนคนที่กระดูกหักแต่ไม่เสียชีวิตนั้น กว่าครึ่งหนึ่งจะมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำลงหนึ่งขั้น

หมายความว่า ถ้าเคยเดินได้ ก็ต้องหันมาใช้ไม้เท้า ถ้าเคยใช้ไม้เท้า ก็ต้องเปลี่ยนมาใช้วอล์คเกอร์ และถ้าเคยใช้วอล์คเกอร์ ก็ต้องเปลี่ยนไปนั่งรถเข็น

[เวลาเราไปเดินห้าง และเห็นคนแก่นั่งรถเข็นมีลูกหลานเข็นให้ เราอาจไม่เคยหยุดคิดว่า คนที่นั่งอยู่ในรถเข็นก็เคยแข็งแรงเหมือนเรา และวันหนึ่งเราอาจต้องไปนั่งบนรถเข็นเช่นกัน ถ้าเรายังใช้ชีวิตแบบประมาทเช่นนี้]

.

======

Strength Training

Peter Attia ผู้เขียน Outlive ไม่สนใจว่ากล้ามแขนคุณจะใหญ่แค่ไหนหรือมีซิกแพ็คหรือไม่ สิ่งที่เขาให้ความสำคัญที่สุดสำหรับการวัดความสำเร็จของ strength training “เรายกของหนักได้แค่ไหน”

ในบรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งหมดบนโลกนี้ มนุษย์เป็นเผ่าพันธุ์เดียวที่สามารถขนของจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ การขนของจึงเป็นเหมือน super power ของชาวเซเปียนส์ และเป็นเหตุผลที่เรามีแขนและขาที่ยาว

ในมุมมองของ Dr.Attia การทำ strength training ก็คือการพัฒนาศักยภาพในการขนของของเรานั่นเอง

มีประมาณ 4 อย่างที่ Dr.Attia สนับสนุนให้คนไข้ฝึกฝนเพื่อพัฒนาความแข็งแรง

  1. แรงบีบมือ (grip strength)
  2. การใส่ใจทั้ง concentric และ eccentric loading
  3. การดึง (pulling motions) ทั้งแนวดิ่งและแนวราบ
  4. การพับสะโพก (hip hinging)

.

=====

แรงบีบมือ

แรงบีบมือนั้นเป็นเรื่องสำคัญ เพราะคนเราปฏิสัมพันธ์กับโลกผ่าน “มือ”

“Hands are our interface with the world.”

ไม่ว่าเราจะทำอะไร เราต้องใช้มือก่อนทั้งนั้น เล่นมือถือ พิมพ์คีย์บอร์ด แปรงฟัน ผูกเชือกรองเท้า กินข้าว ฯลฯ

ถ้าแรงบีบมือเราไม่แข็งแรง ปฏิสัมพันธ์ที่เรามีกับโลกก็ย่อมอ่อนแอไปด้วย

เวลาเราเดินลงบันไดแล้วเสียการทรงตัว หากแรงบีบมือเราแข็งแรงพอ เราก็จะยังคว้าราวบันได้ไว้ได้ทันและไม่ล้มหรือตกบันได

วิธีฝึกแรงบีบมือที่เรียบง่ายที่สุดคือท่า farmer’s carry (เปิดยูทูบดูได้เลย) อารมณ์คล้ายคนถือถุงช้อปปิ้งเดินห้างแหละครับ โดยมือแต่ละข้างถือดัมเบลหรือ kettlebell ก็ได้

เป้าหมายที่ Dr.Attia ต้องการให้เราไปถึง คือผู้ชายควรจะทำ farmer’s carry ได้เท่ากับน้ำหนักตัว ส่วนผู้หญิงควรจะได้เท่ากับ 75% ของน้ำหนักตัว เป็นระยะเวลา 1 นาที

สมมติว่าผมหนักประมาณ 60 กิโลกรัม ผมก็ควรจะถือดัมเบลข้างซ้าย 30 กิโลกรัม ข้างขวาอีก 30 กิโลกรัม และเดินถือไปให้ได้เป็นเวลา 1 นาที

ซึ่งแน่นอนว่าอันตรายมากถ้าไม่เคยทำมาก่อน ตอนเริ่มต้นควรจะเริ่มจากน้ำหนักเบาๆ ไปเลย เช่นข้างละ 5 กิโลกรัม แล้วค่อยๆ ขยับขึ้นมา โดย Dr.Attia บอกว่าควรจะให้เวลาฝึกประมาณหนึ่งปีก่อนจะไปถึงน้ำหนักเป้าหมาย เทคนิคกสำคัญก็คือตอนเดินถือน้ำหนักนั้น ให้กดสะบักลง อย่ายกไหล่

อีกวิธีหนึ่งในการพัฒนา grip strength คือท่า dead hang หรือการโหนบาร์แล้วทิ้งตัวไว้เฉยๆ ให้ได้นานที่สุด โดยผู้ชายควรทำเดดแฮงก์ให้ได้ 2 นาที ผู้หญิงควรพยายามให้ได้นาทีครึ่ง (ผมเองลองพยายามทำให้ได้หนึ่งนาทีก็แทบแย่แล้วครับ)

.

======

Concentric & Eccentric Loading

หัวข้อนี้ถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับผมเหมือนกัน เพราะเป็นมุมที่ไม่เคยคิดถึงมาก่อน

Concentric loading หมายถึงการฝึกตอนกล้ามเนื้อหดตัว

Eccentric loading หมายถึงการฝึกตอนกล้ามเนื้อยืดตัว

เวลาเราเล่นเวท หรือ bodyweight training โดยที่ไม่มีคนแนะนำ เรามักจะใส่ใจแต่ตอน concentric loading คือตอนที่เราต้องออกแรง

ยกตัวอย่างเช่นถ้าเราวิดพื้น เราก็จะใส่ใจกับการดันตัวขึ้น ถ้าเรายกเวทเพื่อเล่นกล้ามแขน bicep เราก็จะใส่ใจตอนพับข้อศอก ถ้าเราโหนบาร์เพื่อ pull up เราจะใส่ใจตอนยกตัวขึ้น ทั้งหมดนี้คือ concentric loading

แต่ eccentric loading ก็สำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือขากลับที่เรา “ผ่อนแรง” ตอนวิดพื้นก็คือตอนที่เราปล่อยอกลงไปชิดพื้น ตอนเล่นกล้ามแขนคือตอนที่เรากางข้อศอก และตอนโหนบาร์ก็คือตอนขาลง

ถ้าเดินขึ้นบันไดคือ concentric การเดินลงบันไดก็คือ eccentric

ถ้า concentric loading คือการออกแรงเพื่อพุ่งไปข้างหน้า

Eccentric loading ก็คือการฝึก “กล้ามเนื้อเบรค” ของเรานั่นเอง

กล้ามเนื้อเบรคที่แข็งแรง จะทำให้เรามีอาการบาดเจ็บน้อยลง ลองจินตนาการเราต้องวิ่งลงทางลาด ถ้ากล้ามเนื้อเบรคเราไม่แข็งแรง ภาระจะไปลงที่เข่า และเราอาจจะเสียการทรงตัวจนหน้าคะมำได้

กล้ามเนื้อเบรคที่แข็งแรงยังสำคัญต่อการทรงตัวเวลาเจอเหตุไม่คาดฝัน เช่นสะดุดตอนลงบันได หรือตอนเดินลงพื้นต่างระดับโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเหล่านี้เป็นสาเหตุหนึ่งของ “การล้ม” ของผู้เฒ่าผู้แก่ที่เรากลัวกันนัก เพราะหลายคนที่ล้มแล้วบาดเจ็บนอนติดเตียง สุขภาพอาจทรุดจนไม่สามารถกลับมาเหมือนเดิมได้อีกเลย

วิธีการฝึกกล้ามเนื้อ eccentric หรือกล้ามเนื้อติดเบรค ก็คือให้ “ใช้เวลากับจังหวะกล้ามเนื้อคลายให้นานขึ้น”

เช่นตอนเดินลงบันได สมมติว่าก้าวเท้าซ้ายลงบันได ก็ให้ก้าวลงด้วยท่าปกติแต่ทำให้ช้าลง จงใจให้เท้าซ้ายลอยอยู่ในอากาศนานกว่าปกติ นับในใจ 1-2-3 แล้วค่อยวางเท้าซ้ายลง แล้วสลับไปทำแบบเดียวกันกับเท้าขวา

[ผมเคยมีอ่านเหมือนกันว่า เวลาฝึกวิดพื้นแรกๆ อาจไม่ต้องสนใจตอนวิดพื้นขาขึ้นมากนัก ให้สนใจตอนขาลง ค่อยๆ งอข้อศอกแล้วเอาอกชิดพื้น จากนั้นตอนจะขึ้นมาก็ใช้เข่าช่วยก็ได้ เมื่อทำไปนานๆ จะวิดพื้นได้ดีขึ้นเอง]

.

======

การพับสะโพก (hip hinging)

เนื่องจากข้อสามที่เป็นการดึงหรือ pulling motion หนังสือไม่ได้ใส่รายละเอียดมาเยอะนัก วิธีฝึกก็แค่ทำ pull up กับบาร์โหน และใช้เครื่อง rowing machine ในฟิตเนส ผมเลยขอข้ามมาเรื่องการพับสะโพกเลยแล้วกัน

การพับสะโพกหรือ hip hinging เป็นท่าพื้นฐานที่สำคัญมากสำหรับคนที่เล่นเวท มันคือการย่อเข่าลงเล็กน้อย ดันก้นไปข้างหลัง เอนตัวไปข้างหน้า แต่กระดูกสันหลังจะต้องตรงเสมอ เวลาออกแรงให้ใช้กล้ามเนื้อก้น (glute) และกล้ามเนื้อ hamstring ที่อยู่หลังน่อง ซึ่งกล้ามเนื้อสองส่วนนี้คือกล้ามเนื้อชุดใหญ่ที่สุดในร่างกายของเรา เวลาจะยกน้ำหนักขึ้นมา น้ำหนักจะลงไปที่ก้นและแฮมสตริง (พยายามอย่าให้ลงไปที่หลัง) แล้วค่อยๆ ดันก้นมาข้างหน้าตอนที่ยืดหัวเข่าให้ตรง

แว่บแรก เหมือนการพับสะโพกนั้นไม่เกี่ยวอะไรกับชีวิตประจำวันเลย แต่ Dr.Attia บอกว่าเราใช้ท่านี้เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นการก้มลงเก็บเหรียญที่ตกอยู่ หรือลุกขึ้นจากเก้าอี้ เราต้องอาศัยการพับสะโพกทั้งนั้น

วิธีฝึก hip hinging แบบง่ายๆ ก็คือการทำ step-up ซึ่งจะช่วยให้เราฝึก eccentric muscle ไปด้วยในตัว

ให้หากล่องหรือเก้าอี้ที่ความสูงประมาณ 40-50 เซนติเมตร ที่พอเราเอาเท้าข้างหนึ่งขึ้นไปวางแล้วหน้าตักจะขนานกับพื้น อย่าให้สูงไปกว่านี้เพราะอาจจะอันตราย แต่สามารถต่ำกว่านี้เช่น 30 เซนติเมตรก็พอไหว

สมมติว่าเริ่มจากขาขวาก่อน โยกตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย เอาเท้าขวาเหยียบขึ้นเก้าอี้ และออกแรงด้วยสะโพกและเท้าขวาเพื่อดึงตัวเองขึ้นไป (ใช้แรงจากเท้าหลัง – ซึ่งในกรณีคือเท้าซ้าย – ให้น้อยที่สุด)

เมื่อยืนบนเก้าอี้ทั้งสองข้างแล้ว โยกตัวไปข้างหน้าเล็กน้อย คราวนี้ให้ยกเท้าซ้ายก้าวไปข้างหลัง (จินตนาการเหมือนเดินถอยหลังลงบันได) แล้วค่อยๆ เทน้ำหนักจากปลายเท้าขวาไปยังส้นเท้าขวา ขาซ้ายค่อยๆ ลงไปอยู่ที่พื้น แล้วค่อยดึงขาขวาตามลงมา โดยขั้นตอนนี้ควรกินเวลาอย่างน้อย 2 วินาที และถ้าเป็นไปได้ก็ควรเอาให้ถึง 3 วินาที

พอลองทำจะรู้ว่ามันไม่ง่าย เพราะการก้าวลงอย่างช้าๆ โดยใช้เวลา 3 วินาทีนั้นต้องใช้กล้ามเนื้อส่วน eccentric หรือ “กล้ามเนื้อเบรค” นั่นเอง

อธิบายไปก็คงไม่เห็นภาพ ลองเสิร์ชวีดีโอ peter attia step up แล้วจะเห็นครับว่าควรทำอะไรบ้าง

นอกจากการฝึกทั้ง 4 อย่างที่กล่าวไปแล้ว (grip strength, concentric & eccentric loading, pulling motions, และ hip hinging) กิจกรรม strength training อีกอย่างหนึ่งที่ Dr.Attia โปรดปราน และคนไทยส่วนใหญ่น่าจะยังไม่รู้จักกัน คือกิจกรรมที่เรียกว่า rucking [และวิธีง่ายๆ ที่จะเช็คว่าคนไทยไม่รู้จักคือเข้าเว็บช็อปปิ้งแล้วเสิร์ชหาอุปกรณ์ rucking ปรากฎว่าไม่มีขายเลย]

Rucking (อ่านว่า รักกิ้ง) คือการแบกเป้ที่ใส่น้ำหนักเอาไว้ ตั้งแต่ 10 กิโลจนถึงครึ่งหนึ่งของน้ำหนักตัว แล้วไปเดินขึ้นเขาลงห้วย (อากาศและภูมิประเทศที่เมืองนอกย่อมเหมาะสมสำหรับกิจกรรมนี้มากกว่าเมืองไทย)

Peter Attia ได้ไอเดียการทำ rucking มาจากหนังสือ The Comfort Crisis ของ Michael Easter ที่บอกว่าชีวิตสมัยใหม่นั้นสะดวกสบายเกินไปจนคนเราเสพติดความสบายนั้น ซึ่งเป็นผลทำให้ร่างกายมนุษย์เราอ่อนแอลงไปเยอะ

การแบกเป้ที่มีน้ำหนักอยู่ เดินขึ้นเขาลงห้วย เป็นการฝึกทั้งกล้ามเนื้อ concentric (ต้องใช้แรงออกตัว) และกล้ามเนื้อ eccentric (การเบรคตัว) และยังเป็นการฝึก VO2 Max ที่ดีอีกด้วย

แต่ก่อนที่จะฝึก strength training ยังมีอีกสิ่งที่ Dr.Attia ให้ความสำคัญมาก และต้องฝึกก่อนเสมอ นั่นคือการพัฒนาเรื่อง stability

.

======

Stability – มิติที่ทุกคนมองข้าม

เวลาไปตรวจสุขภาพประจำปี หมอมักจะบอกให้เราออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

แต่เคยสังเกตไหมครับว่า คนที่อายุหลังเกษียณขึ้นไป ส่วนใหญ่ไม่ได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอแล้ว

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนรุ่นนี้ไม่ได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ก็คืออาการบาดเจ็บ ทั้งการบาดเจ็บแบบชั่วคราว และการบาดเจ็บแบบเรื้อรัง พอเจ็บก็เลยออกกำลังกายไม่ไหว พอไม่ได้ออกกำลังกาย ปอด หัวใจ กล้ามเนื้อและกระดูกก็เลยยิ่งอ่อนแอลงไปอีก เป็นวงจรอุบาทว์ที่ทำให้สุขภาพของคนวัยชราทรุดโทรมลงเรื่อยๆ

Stability จึงเป็นการฝึกที่สำคัญมากๆ (และคนส่วนใหญ่ไม่ได้ให้ความสำคัญ) เพราะมันจะช่วยให้เราหลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บได้อย่างตลอดรอดฝั่ง

Stability ถ้าแปลเป็นไทยตรงๆ มันคือ “ความมั่นคง” แต่ถ้าอ้างอิงตามคำของ Dr.Attia ในหนังสือ Outlive หน้า 266 จะเขียนไว้ว่า

“Stability is the subconscious ability to harness, decelerate, or stop force. A stable person can react to internal or external stimuli to adjust position and muscular tension appropriately without a tremendous amount of conscious thought.”

ถ้าให้แปลตามความเข้าใจของผม stability คือความสามารถของร่างกายที่ปรับตัวสภาพไปตามแรงกระทำที่เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งต้องรับแรงมากเกินความจำเป็น (อันจะนำไปสู่อาการบาดเจ็บได้) เมื่อร่างกายเรามี stability ไม่ว่าจะมี force หรือแรงใดๆ เกิดขึ้น ร่างกายของเราจะส่งต่อแรงนั้นไปทั่วร่างกาย แทนที่จะไปลงอยู่กับแค่ส่วนที่เปราะบางอย่างหลังหรือข้อต่อ

หากร่างกายเราไม่มี stability ก็มักจะมีอาการบาดเจ็บตามมา คนอเมริกันถึง 27% มีภาวะปวดเรื้อรังตามร่างกาย และประมาณ 10% รายงานว่าอาการปวดนั้นส่งผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวัน อาการปวดหลังเรื้อรังมักจะนำไปสู่การใช้ยาหรือการผ่าตัด และเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของความพิการทั่วโลก

การฝึก stability จะช่วยให้กล้ามเนื้อในร่างกายมีความสมดุลและมีความไวต่อการปรับตัว ช่วยให้คุณย่าวัย 80 ไม่ล้มลงกระแทกพื้นเวลาที่ท่านเดินตกจากพื้นต่างระดับ ช่วยให้คุณปู่วัย 90 มีความมั่นใจพอที่จะพาหมาออกไปเดินเล่น

Stability จะเปิดโอกาสให้เราได้ทำสิ่งที่เรารักไปได้นานๆ

.

======

วิธีการฝึก stability

เนื่องจากเรื่องนี้รายละเอียดเยอะมาก ให้ลองเสิร์ชคำว่า DNS Dynamic Neuromuscular Stabilization แล้วจะเจอวีดีโอให้เข้าไปดูหลายอัน แต่หลักการสำคัญก็คือให้เรากลับไปเคลื่อนไหวเหมือนตอนที่เรายังเป็นเด็ก 2-4 ขวบ ซึ่งการเคลื่อนไหวในวัยนั้นเป็นธรรมชาติและสอดคล้องกับสรีระมนุษย์ แต่เราสูญเสียความสามารถนั้นไป เพราะต้องนั่งกับเก้าอี้และโต๊ะมาตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวัยทำงาน

อีกแหล่งหนึ่งที่เป็นประโยชน์ก็คือ Postural Restoration Institute

และอีกท่าง่ายๆ ก็คือเสิร์ชวีดีโอด้วยคำว่า Peter Attia stability

ทุกสัปดาห์ Dr.Attia จะใช้เวลา 1 ชั่วโมงสำหรับการฝึก stability ตามหลักการของ DNS และ PRI

ตัวอย่างของการฝึก stability ได้แก่

การหายใจ บางคนหายใจเข้าทรวงอก บางคนหายใจเข้าช่องท้อง ซึ่งทั้งสองแบบทำให้ร่างกายไม่สมดุล (ตัวจะเอนไปข้างหน้าหรือโย้ไปข้างหลัง) ให้จินตนาการว่าร่างกายเราคือลูกสูบ และเวลาหายใจเข้า ลูกสูบนั้นควรขยายตัวไปทุกทิศทาง 360 องศาเลย ถ้าเราหายใจเข้าและออกถูกวิธี แกนกลางลำตัวเราจะมีความเสถียร แรงจากข้างนอกทำอะไรเราได้ยากขึ้น เหมือนขวดน้ำเปล่าที่ถ้าเราไม่ปิดฝาไว้ พอบีบขวดก็จะบุบ แต่ถ้าเราปิดฝาไว้ ก็ไม่สามารถบีบให้บุบได้โดยง่าย

เท้า – นอกจากมือแล้ว ก็มีเท้านี่แหละที่เป็น interface to the world เช่นกัน แต่กล้ามเนื้อฝ่าเท้าของเราไม่มีความแข็งแรงเอาเสียเลย เพราะเรามีรองเท้าคอยปกป้องอยู่ตลอดเวลา (ฝรั่งใส่รองเท้าตลอด แม้กระทั่งตอนอยู่ในบ้าน) เราจึงควรหัดเดินเท้าเปล่า และรองหารองเท้าแบบ barefoot มาใส่ (ผมซื้อจากเว็บออนไลน์บ้านเรามาใส่แล้วก็สบายดี ราคาแค่พันกว่าบาท) รองเท้า barefoot จะมีพื้นรองเท้าที่บางกว่า ทำให้เท้าเราสัมผัสกับพื้นเยอะกว่า ปลายรองเท้าหัวกว้าง มีพื้นที่ให้นิ้วเท้าขยับได้มากกว่า และส้นรองเท้าไม่หนา ทำให้ปลายเท้าและส้นเท้าอยู่ในความสูงระดับเดียวกัน นอกจากนั้นถ้าใครสนใจออกกำลังนิ้วเท้าเพิ่ม ลองหาคำว่า toe yoga แล้วทำตามดู (ขอบอกว่ายากจนท้อเลยทีเดียว)

กระดูกสันหลัง – ซึ่งมีอยู่สามส่วนด้วยกันคือ lumbar (กระดูกสันหลังส่วนล่าง) thoracic (ส่วนกลาง) และ cervical (ส่วนที่ติดกับคอ) การที่เราใช้มือถือเยอะเกินไป ทำให้คนจำนวนไม่น้อยมี “tech neck” คือคอของเรายื่นมาข้างหน้า (ผมเองก็มีอาการนี้) วิธีที่จะช่วยให้กระดูกสันหลังกลับมาอยู่ในที่ที่ควรเป็นคือทำท่าโยคะพื้นฐาน Cat/Cow แต่ต้องทำแบบช้ามากๆ เพื่อให้เราจับความรู้สึกถึงการเคลื่อนตัวของกระดูกสันหลังจริงๆ เมื่อเราทำความรู้จักกับกระดูกสันหลังของตัวเอง เวลาต้องยกของหรือยกน้ำหนัก เราจะสามารถกระจายน้ำหนักไปทั่วร่างกายได้ดีกว่าเดิม

ไหล่และสะบัก (scapular) – ลองเสิร์ชวีดีโอ Scapular CARs (controlled articular rotations)

นอกจากเรื่องการฝึกส่วนต่างๆ ของร่างกายให้มีความแข็งแรงสมดุลกัน และมี range of motions ที่ควรจะเป็นแล้ว ผมคิดว่าการฝึกบาลานซ์ก็มีส่วนเกี่ยวกับข้องกับ stability เช่นเดียวกัน

วิธีดูง่ายๆ ว่าเรามีบาลานซ์ดีแค่ไหน คือให้ยืนด้วยขาข้างเดียวนาน 30 วินาที และจะยิ่งดีกว่านั้นถ้าสามารถยืนได้นาน 1 นาที และถ้ายังทำได้ ก็ลองหลับตาดู (ถ้าไม่มั่นใจก็ควรจะยืนใกล้กำแพงหรืออะไรที่เราพอจะคว้าไว้ได้หากเสียการทรงตัว)

การฝึกให้มีบาลานซ์เพิ่มขึ้นได้ง่ายๆ ก็คือตอนแปรงฟัน ให้ยืนขาข้างเดียวครับ (ถ้าเมื่อยก็สลับขาได้)

เรื่อง stability นี่เกี่ยวพันกับ eccentric loading หรือการฝึกกล้ามเนื้อเบรคเหมือนกัน เพราะหัวใจของการฝึก stability ก็เพื่อเราร่างกายของเราตอบสนองต่อสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้อย่างทันท่วงที และลดโอกาสที่จะบาดเจ็บให้มากที่สุด

เราไม่จำเป็นต้องยกน้ำหนักได้เยอะๆ ไม่จำเป็นต้องทำเวลาได้ดีมากมาย เราแค่ต้องมีความใจเย็น (ซึ่งหาได้ยากมากในสมัยนี้เพราะว่าแรงผลักดันของโลกโซเชียลมันดึงดูดให้เราแสดงตัวว่าเก่งกล้าสามารถ) และค่อยๆ สร้างแต่ละอย่างขึ้นมาให้มีความสมดุลกัน ทั้ง stability / strength / zone 2 และ VO2 Max

แต่ถ้าเราทำได้ครบทั้งสี่อย่าง ด้วยความอดทนรอได้ เราจะมีร่างกายที่แข็งแรงโดยไม่ต้องดิ้นรน ไม่ต้องทุกข์ทนกับอาการบาดเจ็บ ซึ่งย่อมจะเพิ่มโอกาสให้เรามีสุขภาพที่สมบูรณ์ในอีก 30 ปีข้างหน้าครับ


Outlive ตอนที่ 1: โรคเบาหวานและเหตุผลที่ Outlive เป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิตประจำปี 2024

Outlive ตอนที่ 2: โรคหัวใจและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคอเลสเตอรอล

Outlive ตอนที่ 3: ความหวังของการรักษามะเร็งให้หายขาด

Outlive ตอนที่ 4: โรคอัลไซเมอร์

Outlive ตอนที่ 5: KPI ที่สำคัญที่สุดสำหรับอายุที่ยืนยาว

Outlive ตอนที่ 6: VO2 Max และความสับสนเกี่ยวกับ Zone 2 Training

Outlive ตอนที่ 7: Strength และ Stability มิติที่คนออกกำลังกายมองข้าม

Outlive ตอนที่ 8: กินน้อย / ทำ IF แล้วสุขภาพดีจริงหรือ

Outlive ตอนที่ 9: การนอนหลับและสุขภาพทางอารมณ์

Outlive ตอนที่ 6 – VO2 Max และความสับสนเกี่ยวกับ Zone 2 Training

อย่างที่ได้เกริ่นไปเมื่อตอนที่แล้ว ว่า “VO2 Max” หรือ “อัตราการใช้ออกซิเจนสูงสุดที่ร่างกายสามารถนำเข้าและนำไปใช้ได้” เป็นหนึ่งในตัวชี้วัดที่สำคัญที่สุดว่าเราจะมีชีวิตที่ยืนยาวแค่ไหน

โดยคนที่มีค่า VO2 Max ต่ำสุดนั้น มีโอกาสเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ (all-cause mortality) กว่าคนที่มีค่า VO2 Max ระดับ elite ถึง 309%

หลายคนอาจรู้สึกว่าทำไมเรื่องถึงฟังดูยุ่งยากจังเลย เราไม่ได้เป็นนักกีฬาอาชีพเสียหน่อย ทำไมต้องใส่ใจเรื่องอัตราการใช้ออกซิเจนด้วย

คำตอบก็คือ หากเรามีค่า VO2 Max ที่ต่ำ นั่นหมายความว่าเราจะช่วยเหลือตัวเองได้น้อยลง หรือแม้กระทั่งช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ในวันที่เราแก่ชรา

ผู้ชายวัย 50 จะมีค่า VO2 Max เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 32 ซึ่งแปลว่าเขาสามารถเดินขึ้นบันไดเร็วๆ ได้ แต่สำหรับคนวัย 70 กว่า การจะมีค่า VO2 Max 32 นี่ต้องเป็นคนที่ฟิตระดับ Top 10% ของคนวัย 70 เท่านั้น

ถ้า VO2 Max ต่ำกว่า 20 เมื่อไหร่ แค่จะเดินด้วยความเร็วปกติบนพื้นราบก็ยังเหนื่อย และนั่นคือสัญญาณอันตรายว่าเราจะไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตัวเอง

ดังนั้น เราควรให้ความสำคัญกับการฝึก VO2 Max เพียงแค่เราหลุดจากกลุ่ม Bottom 25% (25th Percentile) ขึ้นมาเป็นกลุ่ม “ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย” (25th – 50th percentile) ก็ช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุถึง 50% แล้ว (Hazard Ratio = 1.50) ซึ่งความแตกต่างนี้มากกว่าการหยุดสูบบุหรี่เสียอีก (Hazard Ratio = 1.40)

ข้อดีอีกอย่างของคนที่ VO2 Max สูง ก็คือร่างกายเราจะเด็กลง (functionally younger) การเพิ่มค่า VO2 Max ขึ้นมา 6 หน่วย จะมีผลใกล้เคียงกับการลดอายุลงเราลงถึง 12 ปีเลยทีเดียว

ใครที่ใส่นาฬิกาเล่นกีฬา มันจะมีฟังก์ชั่นวัดค่า VO2 Max ให้หลังการออกกำลังกายเสร็จอยู่แล้ว แต่ถ้าอยากให้เที่ยงตรงกว่านั้น สามารถไปวัดได้ตามโรงพยาบาลที่เขามีบริการนี้ ใครที่เคยดูหนังสารคดี 2,215 เชื่อ บ้า กล้า ก้าว ตอนต้นเรื่องจะมีฉากหนึ่งที่พี่ตูนไปทดสอบวิ่งบนลู่วิ่งโดยสวมหน้ากากออกซิเจนเอาไว้ วิ่งจนหมดแรงลงไปกองกับพื้น นั่นแหละคือการวัดค่า VO2 Max ครับ

การฝึก VO2 Max นั้นหาได้ในเน็ตทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการ “ซ้อมหนักสลับเบา” ตัวอย่างที่หนังสือเล่มนี้ยกมา ก็คือ”วิ่งด้วยความเร็วสูงสุดที่เรายืนระยะไหว” เป็นเวลา 4 นาที ต่อด้วยวิ่งจ็อกสบายๆ หรือเดินเร็ว 4 นาที ทำสลับกันจนครบ 32 นาที เรียกว่า 4 x 4 x 4 (เร็ว 4 นาที ช้า 4 นาที ทำ 4 รอบ)

“ความเร็วสูงสุดที่เรายืนระยะไหว” ในที่นี้คงไม่ใช่ความเร็วระดับวิ่งแข่ง 100 เมตร (เพราะน่าจะยืนระยะได้แค่ 15-20 วินาทีเท่านั้น) ดังนั้นถ้าให้ผมประเมิน มันน่าจะเป็นความเร็วประมาณ 70%-80% ของความเร็วที่สุดที่เราวิ่งได้

โดยการฝึก VO2 Max นั้น ทำแค่สัปดาห์ละครั้งก็เพียงพอแล้ว แต่อาจต้องเผื่อใจว่าต้องใช้เวลาหลายเดือนถึงจะเห็นผลที่จับต้องได้ ในขณะที่ตัว Peter Attia ผู้เขียนหนังสือจะบอกว่าการพัฒนา VO2 Max นั้นเป็น 2-year project คือเป็นโปรเจ็คที่ต้องใช้เวลา 2 ปีนั่นเอง

แต่ก่อนที่เราจะเริ่มเพิ่มค่า VO2 Max ผู้เขียนหนังสือแนะนำว่า เราต้องฝึก Zone 2 Training ก่อน

ถ้า VO2 Max คือ “ยอดปีระมิด” ยิ่งเราอยากสร้างยอดปีระมิดให้สูง เรายิ่งต้องสร้างฐานปีระมิดให้กว้าง และฐานปีระมิดในที่นี้ก็คือการทำ Zone 2 Training เพื่อให้มี Aerobic Efficiency หรือประสิทธิภาพในการใช้ออกซิเจนที่ดีนั่นเอง


Zone 2 Training

ข้อความใน [] คือเนื้อหาที่ผมเสริมขึ้นมาเองนะครับ

[คนที่อยู่ในวงการวิ่งระยะไกลจะรู้ดีว่าการทำ Zone 2 Training นั้นสำคัญ เพราะจะเป็นการเพิ่มความคงทน (endurance)

คนที่ใส่นาฬิกาออกกำลังกายอย่าง Garmin ก็จะเห็นว่าเรามี Heart Rate Zone อยู่ 5 โซนด้วยกัน

Zone 1 Warm Up สีเทา

Zone 2 Easy สีฟ้า

Zone 3 Aerobic สีเขียว

Zone 4 Threshold สีส้ม

Zone 5 Maximum สีแดง

เวลาเราได้ยินว่าให้ ซ้อม Zone 2 เราก็จะนึกว่าต้องวิ่ง Zone 2 ตามนาฬิกา ซึ่งส่วนตัวผมรู้สึกว่า pace มันช้ามากจนน่าหงุดหงิด

แต่จากการสังเกตของผมเอง ในหนังสือ Outlive นั้น “Zone 2” ในความหมายของ Peter Attia น่าจะใกล้เคียงกับ Zone 3 ในนาฬิกาของ Garmin มากกว่า คือวิ่งในโซนสีเขียวหรือ Aerobic zone นั่นเอง]

Dr.Attia บอกว่า คำว่า เขาเพิ่งตระหนักในคุณค่าและความสำคัญของ Zone 2 Training ตอนที่ได้รู้จักกับ Iñigo San Millán ในปี 2018

San Millán เป็นโค้ชส่วนตัวของ Tadej Pogačar แชมป์จักรยาน Tour De France ปี 2021 และรองแชมป์ในปี 2022

ซานมิลลานนั้นสนใจเรื่องการออกกำลังกายว่ามีผลต่อสุขภาพของไมโทคอนเดรีย โรคมะเร็ง และโรคเบาหวานอย่างไรบ้าง

[เซลล์ในร่างกายของเราประกอบไปด้วย เยื่อหุ้มเซลล์ นิวเคลียส และออร์แกเนล (organelles) เป็นโครงสร้างพิเศษคอยทำหน้าที่ต่าง ๆ ภายในเซลล์

ในบรรดาออร์แกเนลทั้งหลายที่อยู่ในเซลล์ มีออร์แกเนลขนาดเล็กที่ชื่อว่า ไมโทคอนเดรีย (mitochondria) มีหน้าที่เผาผลาญพลังงานภายในเซลล์]

แหล่งพลังงานในร่างกายของเรานั้นมีสองอย่างก็คือกลูโคสและไขมัน

ในขณะที่ร่างกายมีหลายวิธีในการเผาผลาญกลูโคสให้เป็นพลังงาน แต่การเผาผลาญไขมันนั้นทำได้เพียงวิธีเดียวคือผ่านไมโทคอนเดรียนี้เท่านั้น และไขมันก็เป็นแหล่งพลังงานที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในร่างกายของเรา

ดังนั้น การที่ไมโทคอนเดรียมีสุขภาพที่ดีจึงเป็นเรื่องจำเป็นมาก เพราะช่วยให้ร่างกายของเรามีสิ่งที่เรียกว่า metabolic flexibility หรือความยืดหยุ่นในการเผาผลาญ สามารถใช้ได้ทั้งไขมันและกลูโคสเป็นแหล่งพลังงาน

เคยมีการทดลองการเผาผลาญของคนสามกลุ่ม กลุ่มแรกคือนักปั่นจักรยานระดับโลก กลุ่มที่สองคือคนปกติ และกลุ่มที่สามคือคนที่ไม่เคยออกกำลังกายและเป็นโรคเบาหวาน

เมื่อจับคนทั้งสามกลุ่มออกกำลังกายแบบเบาๆ ปรากฎว่านักปั่นจักรยานนั้นใช้พลังงานจากไขมันเป็นหลัก ในขณะที่กลุ่มคนที่เป็นโรคเบาหวานนั้นใช้พลังงานจากกลูโคสเท่านั้น ไม่อาจใช้พลังงานจากไขมันได้เลย

เลยกลายเป็นว่า คนที่จำเป็นต้องเผาผลาญไขมันมากที่สุด กลับไร้ความสามารถในการเผาผลาญไขมัน เพราะสุขภาพของไมโทคอนเดรียไม่แข็งแรงพอ

ใน Outlive ตอนตอนที่ 1 ผู้เขียนเปรียบไขมันส่วนเกินในร่างกายเหมือนน้ำที่ล้นออกจากอ่าง แล้วลามไปยังพื้นห้องน้ำ ห้องนอน และชั้นอื่นๆ ของบ้าน คนที่ไม่สามารถเผาผลาญไขมันได้จึงมีภาวะไขมันพอกตับซึ่งเป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างยิ่ง

ยิ่งเราแก่ตัวลง ไมโทคอนเดรียก็ยิ่งจะมีปริมาณน้อยลง ส่งผลให้กระบวนการเผาผลาญในร่างกายด้อยประสิทธิภาพ

แต่ถ้าเราออกกำลังกายแบบ Zone 2 อย่างสม่ำเสมอ จะเกิดส่งที่เรียกว่า mitochondrial biogenesis คือมีการสร้างไมโทคอนเดรียขึ้นมาใหม่ และมีการทำลายไมโทคอนเดรียตัวที่เสื่อมสภาพไปแล้ว

======

ความหมายของ Zone 2 ใน Outlive ซึ่งไม่เหมือนกับ Zone 2 ในนาฬิกาออกกำลังกาย

สำหรับ Peter Attia ผู้เขียนหนังสือ เขาจะอ้างอิงความหมายของ Zone 2 ตามแบบฉบับของ Iñigo San Millán ที่บอกว่า Zone 2 คือการออกกำลังกายในระดับที่แลคเตท (Lactate) ไม่สะสมเพิ่มขึ้น

เวลาเราออกกำลังกายนั้น ร่างกายจะผลิตแลคเตทขึ้นมาอยู่แล้ว แต่ร่างกายก็สามารถเคลียร์แลคเตทออกไปได้เช่นกัน

ถ้าเราออกกำลังกายหนักเกินไป (เช่นเข้า Zone 3) แลคเตทจะถูกผลิตเร็วกว่าที่ร่างกายจะเคลียร์ได้ทัน และแลคเตทที่ผสมกับ hydrogen ions จะกลายเป็นกรดแล็คติก (lactic acid) ที่ทำให้เราเกิดความเมื่อยล้าในกล้ามเนื้อนั่นเอง

Peter Attia นั้นเป็นคนชอบวัดผล เขาเลยพบว่าการออกกำลังกายใน Zone 2 แปลว่าเราต้องมีแลคเตทในเลือดไม่เกิน 2 millimoles โดยเมื่อจบการออกกำลังกายทุกครั้ง Dr.Attia จะเจาะเลือดเพื่อวัดค่าแลคเตทนี้ด้วย lactate meter เพื่อดูว่าเขาออกนอก Zone 2 หรือไม่

แต่สำหรับคนปกติ Dr.Attia บอกว่ามีวิธีดูง่ายๆ อยู่สองวิธี

วิธีแรก คือหาค่า maximum heart rate โดยออกกำลังกายจริงๆ แล้วดูว่าอัตราการเต้นหัวใจขึ้นไปได้สูงสุดเท่าไหร่ (ธรรมดาเราจะหาค่า MHR ด้วยการเอา 230 ลบด้วยอายุ แต่ Dr.Attia แนะนำให้วัดจากของจริงจะดีกว่า)

เมื่อได้ค่า maximum heart rate มาแล้ว ก็ให้เอา 80% ไปคูณ แล้วก็พยายามออกกำลังกายให้อยู่ในโซนนั้น

[ยกตัวอย่างผมเอง ปีนี้อายุ 44 ถ้าเอา 230-44 = 186 แต่เคยวัดว่า Maximum Heart Rate ของผมวิ่งไปถึง 195 ผมเลยเอา 195*80% = 156 beats per minute แสดงว่า Zone 2 ของผมอยู่ที่ประมาณ 150-160 ครั้งต่อวินาที ผมเองใช้นาฬิกา Garmin ซึ่งอัตราการเต้นเท่านี้จะอยู่ที่ “ปลายโซนสีเขียว” หรือ aerobic zone นั่นเอง – โดยใน Garmin เรียกโซนนี้ว่า Zone 3 ดังนั้น “Zone 2” ในความหมายของ Outlive จึงไม่เหมือน “Zone 2” ของนาฬิกาออกกำลังกาย]

Dr.Attia บอกว่า Zone 2 ในนาฬิกา Garmin น่าจะเป็น FTP Zone 2 ซึ่งอยู่ต่ำกว่า Lactate Zone 2 ที่ Dr.Attia กล่าวถึงในหนังสือเล่มนี้

ดังนั้นถ้าเราอยากออกกำลังใน Zone 2 จริงๆ ก็ไม่จำเป็นต้องวิ่งช้าเป็นเต่าก็ได้ ให้วิ่งอยู่ในโซน aerobic ซึ่งเป็นเหมือน forever pace คือเพซที่เราวิ่งได้เป็นชั่วโมงโดยไม่ต้องทรมานสังขารมากนัก และระวังอย่าให้เข้าไปในโซนสีส้มที่เป็นโซน Threshold ก็พอ

แต่ถ้าเราไม่ได้มีนาฬิกาออกกำลังกาย อีกวิธีดูง่ายๆ ว่าเราอยู่ใน Zone 2 รึเปล่าก็คือ “Talking Test”

“When you are training In Zone 2, you can still talk, but you don’t really want to.”

ก็คือถ้าเราออกกำลังกายในโซนนี้ เรายังสามารถพูดคุยได้ แต่ถ้าให้เลือกได้ก็ไม่ค่อยอยากคุยเท่าไหร่ และเราสามารถหายใจทางจมูกได้ (ไม่ต้องหายใจทางปาก) แต่ก็ค่อนข้างจะอึดอัด

ถ้าเราคุยได้สบาย แปลว่าเราออกกำลังกายเบาเกินไป ถ้าเราคุยไม่ไหว แสดงว่าเราออกกำลังกายเกิน Zone 2 ไปแล้ว

ถ้าอยากรู้ว่าโซน 2 แล้วหอบประมาณไหน เชิญดูได้ที่วีดีโอ This is what Zone 2 training looks like | Peter Attia

ข้อดีของ Zone 2 ก็คือ ใครๆ ก็ทำได้ ต่อให้คุณไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน ก็สามารถออกกำลังกายใน Zone 2 ได้ เช่นการเดินเร็วๆ หรือการเดินบนลู่วิ่งที่ปรับความชันขึ้นเล็กน้อย

การทำ Zone 2 นี่อาจจะน่าเบื่อหน่อย ใครที่ขี้เบื่อ ก็อาจจะหาพ็อดแคสท์ฟัง หรือโทรไปคุยกับคนโน้นคนนี้ระหว่างที่ออกกำลังกายก็ยังได้

ส่วนวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะกับ Zone 2 ก็คือต้องเป็นการออกกำลังกายแบบที่เราสามารถคงความเร็วและความเหนื่อยไว้ได้อย่างสม่ำเสมอ เช่นวิ่งบนลู่หรือในที่ที่คนไม่แออัด หรือปั่นจักรยานในฟิตเนส หรือว่ายน้ำในสระที่ไม่ค่อยมีคน

เพราะหากเราปั่นจักรยานข้างนอก เจอรถราและไฟแดง เราจะวิ่งเข้า-วิ่งออก Zone 2 ซึ่งไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดในการสร้างความแข็งแรงให้ไมโทคอนเดรีย

โดยการออกกำลังกายในโซน 2 ตอนเริ่มต้น พยายามให้ได้ครั้งละ 30 นาที 3 ครั้งต่อสัปดาห์ (รวมเวลา 1 ชั่วโมงครึ่ง) และค่อยๆ พัฒนาไปเป็นประมาณ 45 นาที 4 ครั้งต่อสัปดาห์ (รวมเวลาแล้ว 3 ชั่วโมง)

ส่วนใครที่สงสัยว่า ตัวเองออกกำลังกายประจำอยู่แล้ว เช่นเตะบอล เล่นบาส เล่นแบดมินตัน มันสามารถทดแทน Zone 2 ได้หรือไม่ คำตอบคือทดแทนกันไม่ได้ เพราะในกีฬาเหล่านั้นอัตราการเต้นของหัวใจไม่สม่ำเสมอนั่นเอง

ในบรรดาสิ่งที่ผมอ่านมาในหนังสือ Outlive ทั้งหมด หัวข้อ Zone 2 training นั้นเซอร์ไพรส์ผมที่สุด เพราะประโยชน์มันมากมายมหาศาลกว่าที่ผมคิดไว้ และทำให้ผมเกิดความเข้าใจใน Zone 2 training เสียใหม่

เพราะแต่ก่อนผมนึกว่า Zone 2 คือ Zone 2 ในนาฬิกา Garmin ซึ่งเบาเกินไป ไม่ถูกจริต แต่พอเข้าใจว่า Zone 2 ของ Outlive มันคือ Zone 3 หรือ Aerobic Zone ในนาฬิกา ก็เป็น pace ที่เหมาะสมกับผมพอดี เพราะไม่ช้าไม่เร็วเกินไป

เมื่อเราทำ Zone 2 training อย่างสม่ำเสมอ สุขภาพของไมโทคอนเดรียเราจะแข็งแรง ทำให้ระบบเผาผลาญของเราทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ห่างไกลจากพญามารเบาหวาน และการที่ร่างกายและสมองของเราเลือดลมไหวเวียนดี ก็น่าจะช่วยลดความเสี่ยงของพญามารโรคหัวใจ และพญามารอัลไซเมอร์ด้วยเช่นกัน

Zone 2 training ที่สม่ำเสมอ และใครก็ทำได้ จึงเป็นพื้นฐานของสุขภาพที่ดี และเป็น “ฐานปีระมิด” ที่จะช่วยให้เรามี VO2 Max ที่แข็งแรง ซึ่งเป็น KPI สำคัญว่าเราจะโตไปเป็นคนแก่ที่ช่วยเหลือตัวเองได้รึเปล่านั่นเอง


Outlive ตอนที่ 1: โรคเบาหวานและเหตุผลที่ Outlive เป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิตประจำปี 2024

Outlive ตอนที่ 2: โรคหัวใจและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคอเลสเตอรอล

Outlive ตอนที่ 3: ความหวังของการรักษามะเร็งให้หายขาด

Outlive ตอนที่ 4: โรคอัลไซเมอร์

Outlive ตอนที่ 5: KPI ที่สำคัญที่สุดสำหรับอายุที่ยืนยาว

Outlive ตอนที่ 6: VO2 Max และความสับสนเกี่ยวกับ Zone 2 Training

Outlive ตอนที่ 7: Strength และ Stability มิติที่คนออกกำลังกายมองข้าม

Outlive ตอนที่ 8: กินน้อย / ทำ IF แล้วสุขภาพดีจริงหรือ

Outlive ตอนที่ 9: การนอนหลับและสุขภาพทางอารมณ์

Outlive ตอนที่ 5 – KPI ที่สำคัญที่สุดสำหรับอายุที่ยืนยาว

มาถึงตอนที่ 5 กันแล้วสำหรับการสรุปเนื้อหาจากหนังสือ Outlive ของ Dr.Peter Attia ที่ผมยกให้เป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิตประจำปี 2024

ใน 4 ตอนแรกเราทำได้ความรู้จักสี่พญามารอันได้แก่โรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคมะเร็ง และโรคอัลไซเมอร์ หากเราลดความเสี่ยงและหลีกเลี่ยงโรคนี้ได้นานที่สุด เราก็จะมีแนวโน้มที่อายุยืนยาวได้

======

5 เสาหลักในการดูแลสุขภาพ

หนังสือ Outlive บอกว่า 5 เสาหลักในการดูแลสุขภาพนั้นได้แก่

  1. การออกกำลังกาย – Exercise
  2. อาหารการกิน – Nutrition
  3. อาหารเสริม – Exogenous Molecules
  4. การนอนหลับ – Sleep
  5. สุขภาพทางอารมณ์ – Emotional Health

โดยหนังสือบอกว่าใน 5 เสาหลักนี้ การออกกำลังกายนั้นเป็น “ยาอายุวัฒนะที่ทรงพลังที่สุด”

เราทุกคนรู้ดีว่า “กีฬา กีฬา เป็นยาวิเศษ” ไม่มีใครปฏิเสธว่าการออกกำลังกายนั้นสำคัญ แต่หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมตระหนักว่าการออกกำลังกายสำคัญยิ่งกว่าที่ผมเคยคิดเสียอีก

คนที่ออกกำลังกายมีแนวโน้มที่จะอายุยืนยาวกว่าคนไม่ออกกำลังกายถึง 1 ทศวรรษ และที่ทศวรรษที่ยืนยาวกว่านั้นยังเป็นชีวิตที่มีคุณภาพมากกว่าอีกด้วย

======

4 เสาหลักในการออกกำลังกาย

เวลามีคนไข้มาหา Dr.Attia โดยมีเป้าหมายที่จะมีสุขภาพ (healthspan) และอายุขัย (lifespan) ที่ยืนยาว เขาจะให้คนไข้เข้าโปรแกรมการออกกำลังกายที่มีสี่มิติด้วยกัน

  1. Aerobic Efficiency – ประสิทธิภาพในการใช้ออกซิเจน
  2. Maximum Aerobic Output (VO2 Max) – อัตราการใช้ออกซิเจนสูงสุดที่ร่างกายสามารถนำเข้าและนำไปใช้ได้
  3. Strength – ความเข้มแข็งของกล้ามเนื้อและกระดูก
  4. Stability – ถ้าแปลตรงๆ อาจจะใช้คำว่าความมั่นคง แต่ความหมายที่แท้จริงมันลึกไปกว่านั้น คำที่ใกล้เคียงที่สุดที่ผมคิดออกก็คือบาลานซ์หรือความสมดุล

แต่ก่อนจะไปถึงจุดนั้น Dr.Attia จะชวนคนไข้คุยก่อนว่า “เป้าหมาย” ของพวกเขาคืออะไร เพราะแค่บอกว่า “อยากแข็งแรงตอนแก่” นั้นเป็นเป้าหมายที่จับต้องได้ยากเกินไป

Dr.Attia จึงมีลิสต์ของเป้าหมายให้เลือกช็อปปิ้ง โดยให้จินตนาการถึงตัวเองตอนอายุ 70 ปี 80 ปี หรือแม้กระทั่ง 90 ปี ว่าเรายังอยากทำอะไรได้เองบ้าง

Dr.Attia เรียกสิ่งนี้ว่า Centenarian Decathlon

======

Centenarian Decathlon

Centenarian หมายถึงคนที่มีอายุถึง 100 ปี

คำว่า Decathlon แปลว่าทศกรีฑา ซึ่งเป็นรายการสำคัญในโอลิมปิก

โดยผู้เข้าแข่งขันต้องเข้าร่วมแข่งกีฬา 10 ประเภทได้แก่

  1. วิ่ง 100 เมตร
  2. กระโดดไกล
  3. ทุ่มน้ำหนัก
  4. กระโดดสูง
  5. วิ่ง 400 เมตร
  6. วิ่งข้ามรั้ว 110 เมตร
  7. ขว้างจักร
  8. กระโดดค้ำ
  9. พุ่งแหลน
  10. วิ่ง 1,500 เมตร

ผู้ชนะก็คือคนที่ทำคะแนนรวมได้มากที่สุด

นักทศกรีฑานั้นได้รับการกยกย่องเป็นอย่างมาก ไม่ใช่เพราะว่าเขา “เก่งที่สุด” ในด้านใดด้านหนึ่ง แต่เป็นเพราะว่าเขา “เก่งรอบด้าน”

ในขณะที่นักกีฬาทั่วไป หรือคนทั่วไปอย่างเรา มักจะเก่งแค่กีฬาบางชนิด คนที่ปั่นจักรยานเก่งๆ ก็อาจจะไม่เตะบอล คนเตะบอลอาจจะไม่ว่ายน้ำ คนว่ายน้ำอาจจะไม่สนใจยกน้ำหนัก เป็นต้น

เมื่อเรา optimize ร่างกายสำหรับกีฬาใดกีฬาหนึ่งมากเกินไป จึงมีความเสี่ยงที่เรากำลัง “ละเลย” อวัยวะบางส่วน

เช่นคนที่ปั่นจักรยานระยะทางไกล หรือวิ่งมาราธอน ก็มีความเป็นไปได้ว่าปอดและร่างกายท่อนล่างจะแข็งแกร่งอย่างมาก แต่ร่างกายท่อนบนนั้นกลับไม่ค่อยแข็งแรง

ในทางกลับกัน คนที่เล่นเวทกล้ามโตๆ อาจจะไม่สามารถวิ่งจบฮาล์ฟมาราธอนได้

สิ่งที่ Dr.Attia แนะนำ คือเราไม่จำเป็นต้องเก่งสุดๆ ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่เราควรเก่งกว่าค่าเฉลี่ยในทุกมิติ ซึ่งนี่ต่างหากที่จะทำให้เราโตไปเป็นคนแก่ที่สุขภาพแข็งแรงและสมบูรณ์และมีโอกาส Outlive หรืออายุยืนยาวกว่าคนทั่วไป

Centenarian Decathlon แปลตรงตัวก็คือการตั้งเป้าหมายว่ามีกิจกรรมใดบ้างที่เราอยากทำให้ได้ในวันที่เราอายุ 70 ปี 80 ปี หรือแม้กระทั่ง 90 ปี เช่น

  1. ลุกขึ้นจากพื้นเองได้โดยใช้แขนดันเพียงข้างเดียว
  2. ย่อตัวลงไปเอาหลานวัย 4 ขวบขึ้นมาอุ้ม
  3. ถือถุงช้อปปิ้งหนักข้างละ 3 กิโลเดินไปเก็บที่รถ
  4. ยกกระเป๋าขึ้นเก็บในล็อกเกอร์เหนือศีรษะบนเครื่องบิน
  5. ยืนบนขาข้างเดียวเป็นเวลา 30 วินาที (เพิ่มความยากได้ด้วยการหลับตา)
  6. เดินขึ้นบันไดบ้านสามชั้นโดยไม่ต้องหยุดพักเหนื่อย
  7. เปิดฝากระป๋อง
  8. ดันตัวขึ้นจากสระว่ายน้ำโดยไม่ต้องใช้บันได
  9. กระโดดเชือก 30 ครั้ง
  10. มีเซ็กส์

สิ่งที่เราเลือกมาเป็นเรื่องธรรมดาในชีวิตประจำวัน ในวันนี้เรายังไม่เห็นคุณค่าเพราะเรายังทำมันได้สบาย แต่ในวันหนึ่งที่เราอายุ 80 แล้วร่างกายเราอ่อนแอลง ในสิบอย่างนี้อาจจะเหลือไม่กี่อย่างที่เราทำเองได้ ในวันนั้นเราจะกลายเป็นคนแก่ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งพาคนอื่นอยู่ตลอด

ยกตัวอย่างเช่นหลานวัย 4 ขวบน้ำหนัก 15 กิโลกรัม ตัวเราในวัย 40 ปีน่าจะยังอุ้มไหว แต่กล้ามเนื้อเราจะอ่อนแอลงประมาณ 8%-17% ทุกทศวรรษ ดังนั้นถ้าเราอยากจะอุ้มหลานวัย 4 ขวบตอนเราอายุ 80 ปี แปลว่าตอนนี้เราต้องแข็งแรงพอที่จะอุ้มเด็กวัยประถมน้ำหนัก 30 กิโลกรัม ถ้าตอนนี้เราทำแบบนั้นไม่ไหว ก็แสดงว่าตอนแก่ตัวไปเราก็จะอุ้มหลานไม่ไหวเหมือนกัน

ดังนั้น ผู้เขียนจึงขอให้จินตนาการว่าตัวเราในวัยชรายังอยากทำกิจกรรมอะไรได้อยู่บ้าง เมื่อเป้าหมายชัด เราจะรู้แล้วว่าเราจะออกกำลังกายไปเพื่ออะไร มันจะไม่ใช่แค่การออกกำลังกาย (exercise) อีกต่อไป แต่มันคือการ “ฝึกซ้อม” (training) เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับทศกรีฑาของคนชรานั่นเอง

=======

ทำความรู้จักกับ Hazard Ratio

Hazard Ratio (HR) คือตัวเลขที่ช่วยในการเปรียบเทียบระหว่างคนสองกลุ่ม

ถ้าคนสองกลุ่มมีทุกอย่างเหมือนกัน ค่า HR จะเท่ากับ 1.0 เพราะไม่มีกลุ่มไหนเสี่ยงกว่ากลุ่มไหน

คนความดันสูงมี HR = 1.21 แสดงว่ามีโอกาสเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ (all-cause mortality) มากกว่าคนที่ความดันปกติถึง 21%

คนเป็นเบาหวานมี HR = 1.4 และคนสูบบุหรี่ก็มี HR = 1.4 เช่นกัน แสดงว่าคนสูบบุหรี่มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนไม่สูบบุหรี่ถึง 40%

ส่วนคนเป็นโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายมี HR = 2.78 แสดงว่ามีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตมากกว่าคนปกติถึง 178%

=======

2 KPI ที่ทำนายอายุขัยของเราได้ดีที่สุด

สองค่าที่ Peter Attia ให้ความสำคัญอย่างมาก คือค่า VO2 Max และค่า Grip Strength

VO2 Max หรือ maximal oxygen consumption คือ อัตราการใช้ออกซิเจนสูงสุดของร่างกายในขณะออกกำลังกาย มีหน่วยเป็นมิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมในเวลา 1 นาที [ถ้าใครใส่นาฬิกาออกกำลังกาย เวลาวิ่งเสร็จมันจะมีค่านี้ขึ้นมาโชว์]

ในการทดลองที่ตีพิมพ์ในปี 2022 ในวารสาร Journal of the American College Cardiology ทำการศึกษาค่า VO2 Max ของทหารปลดระวาง 750,000 คนอายุตั้งแต่ 30-95 ปีทั้งหญิงและชายและทุกสีผิว

หากเอาคนในเพศเดียวกันในช่วงอายุเดียวกันมาวัดค่า VO2 Max แล้วแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่

ฟิตน้อยที่สุด Least = <20th percentile
ฟิตน้อย Low = 21st-40th percentile
กลางๆ Moderate = 41st-60th percentile
ฟิต Fit = 61st-80th percentile
ฟิตมาก High = 81st-97th percentile
ฟิตที่สุด Extreme = 98th percentile

ค่า Hazard Ratio ระหว่าง Least กับ Extreme จะเท่ากับ 4.09 แสดงว่าคนที่ฟิตน้อยที่สุดมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนที่ฟิตที่สุดถึง 309%!

ค่า HR ระหว่าง Moderate กับ Extreme เท่ากับ 2.13 แสดงว่าคนกลุ่ม Moderate มีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนที่ฟิตที่สุดถึงเท่าตัว

มีงานวิจัยอีกมากมายที่ให้ผลไปในทางเดียวกัน นั่นคือกลุ่มคนที่ VO2 Max สูงนั้นมักจะอายุยืนกว่าคนที่ VO2 Max ต่ำ และแค่เราขยับจากกลุ่ม Least มาเป็นกลุ่ม Moderate ก็ลดความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตได้มากพอสมควรแล้ว

นอกจาก VO2 Max แล้ว อีก KPI หนึ่งที่ Peter Attia ให้ความสนใจ คือ Grip Strength หรือแรงบีบของมือ ซึ่งเป็นเหมือน proxy หรือตัวแทนของความแข็งแรงของกล้ามเนื้อในร่างกาย

คนที่มีค่า grip strength ใน bottom 25% มีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อม (dementia) มากกว่าคนที่มี grip strength ในกลุ่ม top 25% ถึง 72%

อ่านถึงตรงนี้แล้วอย่าเพิ่งรีบสั่งซื้อ “ที่บีบมือ” มาใช้นะครับ เพราะเอาที่จริงแล้วทั้ง VO2 Max และ Grip Strength เป็นเพียงตัวแทนของความแข็งแรงของร่างกายทั้งหมด ซึ่งต้องใช้เวลาสร้างและสั่งสมหลายปีหรือแม้กระทั่งหลายสิบปี

ถ้าใครเคยเรียนวิชา Calculus มันคือ “พื้นที่ใต้กราฟ” (integral) ของ “การออกกำลังกายทั้งหมดของเราที่ผ่านมา”

ดังนั้นการเพิ่มค่า VO2 Max และค่า Grip Strength จึงไม่มีทางลัด มีแต่ต้องลงมือทำอย่างสม่ำเสมอและเป็นระยะเวลายาวนานเท่านั้น

ในตอนหน้า เราจะมาลงรายละเอียดว่าจะออกกำลังกายอย่างไร เพื่อให้มีค่า VO2 Max และ Grip Strength ที่ดี เพราะนี่คือ KPI ที่สำคัญที่สุด – อย่างน้อยก็ในมุมของผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ – สำหรับการมีชีวิตที่ยืนยาวครับ


Outlive ตอนที่ 1: โรคเบาหวานและเหตุผลที่ Outlive เป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิตประจำปี 2024

Outlive ตอนที่ 2: โรคหัวใจและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับคอเลสเตอรอล

Outlive ตอนที่ 3: ความหวังของการรักษามะเร็งให้หายขาด

Outlive ตอนที่ 4: โรคอัลไซเมอร์

Outlive ตอนที่ 5: KPI ที่สำคัญที่สุดสำหรับอายุที่ยืนยาว

Outlive ตอนที่ 6: VO2 Max และความสับสนเกี่ยวกับ Zone 2 Training

Outlive ตอนที่ 7: Strength และ Stability มิติที่คนออกกำลังกายมองข้าม

Outlive ตอนที่ 8: กินน้อย / ทำ IF แล้วสุขภาพดีจริงหรือ

Outlive ตอนที่ 9: การนอนหลับและสุขภาพทางอารมณ์