การตัดสินใจ 3 ระดับ: หมวก ทรงผม และรอยสัก

James Clear บอกไว้ว่า คนเรามีการตัดสินใจได้ 3 ระดับ

ระดับแรกคือการตัดสินใจระดับหมวก

ถ้าลองหมวกใบนี้แล้วไม่ชอบ ก็หยิบหมวกใบอื่นขึ้นมาใส่ได้ ไม่มีความเสี่ยงใดๆ ดังนั้นจงตัดสินใจโดยไม่ต้องคิดนานเกินไป

ระดับที่สองคือการตัดสินใจระดับทรงผม

ถ้าเราตัดผมทรงนี้ไปแล้วเราไม่ชอบ ก็จะลำบากหน่อย เพราะอาจจะเปลี่ยนทรงผมได้ไม่มากนัก หรือกว่าจะได้ตัดทรงใหม่ก็ต้องรอเวลาให้ผมยาวกว่านี้

ระดับที่สามคือการตัดสินใจระดับรอยสัก

การตัดสินใจแบบนี้แทบจะย้อนกลับไปแก้อะไรไม่ได้ สักแล้วสักเลย หรือต่อให้พยายามลบก็จะเหลือร่องรอยอยู่ดี ดังนั้นต้องคิดให้ละเอียดถี่ถ้วน

เมื่อเจอเรื่องให้ต้องตัดสินใจ ลองจำแนกแยกแยะให้ดีว่ามันคือการตัดสินใจระดับ หมวก ทรงผม หรือรอยสักนะครับ


ขอบคุณที่มาจาก 3-2-1: On hats, haircuts, and tattoos

เราเป็น Introvert หรือ Extrovert ขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่กับใคร

เคยมีใครบางคนให้สัมภาษณ์ไว้ในพ็อดแคสต์ว่า คนฝั่งตะวันออก (คนเอเชีย) มักจะไม่ใส่ใจเรื่องการ “จัดกลุ่ม” เท่าคนฝั่งตะวันตก (คนยุโรปและอเมริกา)

เขายกตัวอย่างว่า การบอกว่าใครคนหนึ่งเป็น introvert หรือ extrovert นั้น เป็นการจัดกลุ่มที่ไม่ได้มีประโยชน์เท่าไหร่นัก

เพราะเราจะเป็น introvert หรือ extrovert มันขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่กับใครและอยู่ในสถานการณ์แบบไหน

หลังจากฟังคำสัมภาษณ์นั้นเมื่อประมาณ 3 เดือนที่แล้ว พอผมลองสังเกตดูก็เห็นว่าเป็นจริง

ดูตัวอย่างง่ายๆ อย่างพ่อกับแม่ผมเอง เวลาอยู่ข้างนอกพ่อจะพูดเก่งและทักทายคนไปทั่ว ขณะที่แม่แทบไม่แสดงตัวและไม่ค่อยได้พูดคุยกับใครมากนัก

แต่เวลาพ่อกับแม่อยู่กับคนในครอบครัว บทบาทจะสลับกัน แม่จะเป็นคนที่มีเรื่องคุยเรื่องเล่ามากที่สุด ส่วนพ่อแทบจะเป็นคนที่เงียบที่สุดในบ้าน

บางคนที่ทำงานพูดเยอะ อาจจะด้วยบทบาทและหน้าที่ ขณะที่พออยู่ในกลุ่มเพื่อนก็กลายเป็นคนพูดน้อย เพราะเพื่อนสมัยเรียนนั้นมักจะมีคนที่พูดเยอะประจำกลุ่มอยู่แล้ว

บางคนเวลาอยู่กับคนอื่นอาจจะพูดน้อยมาก แต่พออยู่กับแฟนหรือคนรู้ใจก็อาจจะพูดได้ไม่หยุด

ลองมองที่ตัวเองก็ได้ครับว่า สถานการณ์แบบไหนที่เราเป็น introvert และสถานการณ์แบบไหนที่เราเป็น extrovert

แล้วเราอาจพบว่าจริงๆ แล้วเราเป็น ambivert คือปรับตัวได้กับสถานการณ์ ขึ้นอยู่กับว่าเราอยู่กับใครและอยู่ในบทบาทใดครับ


ป.ล. ผมเข้าใจดีว่าคำจำกัดความของ introvert / extrovert นั้นอาจกินความหมายกว้างไกลกว่าแค่พูดเยอะหรือพูดน้อย แต่อยู่ที่ว่าเราได้พลังงานจากการอยู่กับคนอื่นหรืออยู่คนเดียว แต่ผมก็เชื่อว่า สุดท้ายแล้ว introvert ก็อยากครึกครื้นบ้าง และ extrovert ก็มีโมเมนต์ที่อยากอยู่คนเดียวเช่นกัน

ทำไมยิ่งอายุมากเวลายิ่งผ่านไปเร็วขึ้น

ประเด็นนี้มีนักจิตวิทยาถกเถียงกันมานาน เท่าที่ผมทราบยังไม่มีข้อสรุปที่ได้รับการยอมรับเป็นเอกฉันท์

แต่คำอธิบายที่ผมชอบมากที่สุดมาจากบทสนทนาในซีรี่ส์เรื่อง Beef บน Netflix

Danny: Where does the time go, dude? Life, man.

George: I read that time speeds up as you get older, because when you’re a year old, that year is a hundred percent of your perception of time, but as you get older, that year is a smaller fraction of the time you’ve experienced.

สำหรับเด็ก 1 ขวบ 1 ปีคือ 100% ของเวลาทั้งหมดที่เขาได้ใช้บนโลกใบนี้

สำหรับเด็ก 10 ขวบ 1 ปีจะเป็นเพียงแค่ 10%

สำหรับเด็กมหาลัย 20 ปี 1 ปีจะมีค่าเท่ากับ 5%

สำหรับผู้ใหญ่อายุ 40 ปี 1 ปีจะเหลือแค่ 2.5%

สำหรับคนชราอายุ 80 ปี 1 ปีจะเท่ากับ 1.25% ของชีวิตทั้งหมด

ยิ่งเราอายุมากขึ้นเท่าไหร่ 1 ปีจะมีสัดส่วนในชีวิตเราน้อยลงเรื่อยๆ

ความทรงจำที่เรามีต่อทุกปีที่ผ่านไปจึงรู้สึกว่าสั้นลงเช่นกัน

ลองเอาไปขบคิดต่อกันดูนะครับ


ขอบคุณ Quote จาก Netflix: Beef: EP7 I am a cage, นาทีที่ 18

Region-Beta Paradox – เรื่องยิ่งร้ายยิ่งกลายเป็นดี

ลองคิดภาพว่าเย็นวันนี้อากาศไม่ร้อน ค่าฝุ่น PM เป็นสีเขียว แล้วเราอยากจะไปตัดผมที่ร้านหน้าปากซอยซึ่งอยู่ห่างจากบ้านเรา 500 เมตร เราอาจตัดสินใจเดินไป ใช้เวลาประมาณ 10 นาที

แต่ถ้าเราคิดจะไปตัดผมกับอีกร้านหนึ่งที่อยู่อีกซอยหนึ่ง ระยะทางจากบ้านเรา 1 กิโลเมตร เราคงไม่เดิน แต่จะปั่นจักรยานไปแทน และใช้เวลาแค่ 6 นาที

ร้านตัดผมซอยข้างๆ อยู่ไกลกว่าร้านตัดผมหน้าปากซอย แต่เรากลับไปถึงร้านไกลได้เร็วกว่าร้านใกล้

นี่คือสิ่งที่เรียกว่า Region-beta paradox (รีจิ้น เบต้า พาราด็อกซ์)

ศัพท์นี้มาจากงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี 2004 ของ Daniel Gilbert และคณะ มีชื่อว่า The Peculiar Longevity of Things Not So Bad

ประเด็นที่เขาต้องการนำเสนอก็คือ บางทีการเจอเรื่องร้ายหนักๆ ไปเลยอาจจะดีกว่าการเจอเรื่องร้ายแบบเบาๆ เพราะถ้าเราเจอความทุกข์ที่พอทนได้ เราก็จะยอมทนไปเรื่อยๆ แต่ถ้าเราเจอเรื่องร้ายแบบเกินจะทน เราอาจจะลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

ยกตัวอย่างเช่น หากเรามีงานประจำที่เราไม่ได้ชอบ เงินเดือนพอถูไถ หัวหน้าโหดไปนิด แต่เพื่อนร่วมงานก็โอเค เราก็อาจทำงานนี้ต่อไปได้เรื่อยๆ

แต่ถ้าเราดันเจอหัวหน้าแย่ๆ เพื่อนร่วมงานกลั่นแกล้ง เราอาจตัดสินใจหางานใหม่ และได้งานที่ใช่กว่าเดิม

อีกตัวอย่างหนึ่ง หากแฟนที่เราคบนั้นยังไม่คลิก แต่ก็อยู่กันไปได้เรื่อยๆ ก็มีแนวโน้มที่เราจะคบกับเขาไปแบบเบื่อๆ อยากๆ

แต่หากคนที่เราคบเขานิสัยแย่มาก แถมยังมานอกใจเราอีก เราก็อาจจะบอกเลิก และอาจได้แฟนใหม่เป็นคนที่ใช่มากกว่าเดิม

ประเด็นที่จะสื่อไม่ใช่ให้เราหางานใหม่หรือหาแฟนใหม่ แต่ให้ตระหนักว่าอะไรที่ทำให้เราเจ็บรอนๆ พอทนได้ เราก็จะเคยชินและอาจจะ “ติด” อยู่กับสิ่งนั้นไปอย่างยาวนาน แต่อะไรก็ตามที่มันเจ็บเกินจะทน มันจะมี activation energy ที่มากพอให้เราลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างจนสุดท้ายแล้วเราได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า


ผมเองก็เคยเจอปรากฎการณ์ที่ออกแนว region-beta paradox ด้วยเช่นกัน

สมัยมัธยมปลายที่ผมเรียนอยู่นิวซีแลนด์ ผมพยายามจะเล่นกีตาร์โซโล่เพลง Don’t Look Back in Anger ของวง Oasis แต่ก็ไปได้ไม่ถึงไหน

จนกระทั่งช่วงปิดเทอม ผมไปนอนบ้านเพื่อนอีกเมืองหนึ่งเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ใช้ชีวิตแบบไร้ระเบียบสุดๆ นอนตีสี่ ตื่นเที่ยง สั่งพิซซ่ามากิน เช่าหนังมาดู เล่นเกม ดื่มเบียร์ นั่งคุยกับเพื่อนจนรุ่งสาง วนหลูปตลอด 7 วัน

เมื่อกลับถึงบ้าน พร้อมเงินในกระเป๋าที่หายไปไม่น้อย ผมก็รู้สึกโกรธตัวเองว่าทำตัวได้ไร้สาระมาก self-esteem ตกต่ำ ก็เลยอยากลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อชดเชย

และสักอย่างที่ว่าก็คือการตั้งใจฝึกโซโล่เพลง Don’t Look Back in Anger อย่างเอาเป็นเอาตายจนกระทั่งเล่นได้ ทั้งที่ก่อนหน้านั้นพยายามมาหลายครั้งก็ไม่เคยสำเร็จ

ข้อสรุปที่ผมได้จาก region-beta paradox ก็คือ

หนึ่ง เราควรสำรวจชีวิตเรามีอะไรที่มัน “ร้าว” อยู่หรือไม่ แต่เป็นการร้าวแบบที่เราทนได้หรือเคยชินไปแล้ว

สอง อะไรที่มันร้าวและพอจะซ่อมได้ ก็ควรลงมือซ่อม – fix what’s broken

สาม แต่อะไรที่มันเกินจะซ่อม บางทีอาจจะคุ้มกว่าถ้าเรายอมให้มัน “แตกหัก” ไปเสีย เพื่อที่จะได้มีโอกาสเริ่มต้นใหม่

แน่นอนว่ามีความเสี่ยง แต่ก็มีโอกาสที่ในระยะยาวแล้วชีวิตเราจะดีขึ้นกว่าเดิมครับ

เหตุผลที่คู่รักควรทะเลาะกันบ้าง

หนึ่งในหนังสือที่ผมอยากแนะนำให้อ่าน คือ Antifragile ของ Nassim Nicholas Taleb ผู้เขียนเดียวกับ The Black Swan

ของที่แตกง่าย เราเรียกว่า fragile

ของที่คงทน ทำลายได้อยาก เราเรียกว่า robust

ส่วนของที่ยิ่งทุบยิ่งแข็งแกร่งขึ้น Taleb เรียกว่า antifragile

อารมณ์เดียวกับชาวไซย่าในเรื่องดราก้อนบอล ที่ยิ่งถูกทำร้ายมากเท่าไหร่ เวลาหายดีแล้วพลังต่อสู้จะเพิ่มขึ้น

จริงๆ ร่างกายมนุษย์เราก็มีความ antifragile ระดับหนึ่ง ซึ่งการออกกำลังกายก็ใช้หลักการนี้ คือการทำให้ร่างกายต้องออกแรงมากกว่าปกติจนกล้ามเนื้อบางส่วนถูกทำลาย แล้วร่างกายก็จะ overcompensate ด้วยการสร้างกล้ามเนื้อใหม่ที่แข็งแรงกว่าเดิม


เมื่อวันก่อนผมได้ฟัง “คุณต่อ เพนกวิน” เจ้าของร้าน Penguin Eat Shabu ให้สัมภาษณ์พี่ดู๋ สัญญา คุณากร ในรายการเจาะใจ Life Hacks เมื่อเดือนพ.ย.2563 ว่า

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจำนวนร้านอาหาร เทียบกับจำนวนประชากรถือว่าเยอะ เรามีเจ้าของร้านอาหารในเมืองไทยเกือบ 4 ล้านรายครับ จะมีเพียงแค่ 10% เท่านั้นที่อยู่รอดเกิน 3 ปี”

มันทำให้ผมนึกถึงสิ่งที่ Taleb เคยเล่าไว้ในหนังสือ Antifragile (บทที่ 4)

“ร้านอาหารแต่ละร้านนั้น fragile เพราะพวกเขาต้องแข่งกันเอง แต่นั่นแหละที่ทำให้วงการร้านอาหารมัน antifragile

ถ้าร้านอาหารแต่ละร้าน robust ระดับที่ไม่มีวันเจ๊ง องค์รวมธุรกิจร้านอาหารจะเฉื่อยชาและอ่อนแอ และรสชาติคงไม่ต่างอะไรกับในโรงอาหาร…ดังนั้นคุณภาพ ความมั่นคง และความเชื่อถือได้ของวงการนี้นั้นเกิดจากความ fragile ของร้านอาหารแต่ละร้าน [เพราะระบบจะคัดกรองร้านที่ไม่มีคุณภาพออกไป และเปิดทางให้ผู้เล่นรายใหม่ๆ ได้เข้ามา]

ดังนั้นบางส่วนในระบบอาจต้องมีความ fragile เพื่อให้องค์รวมนั้นมีความ antifragile สิ่งมีชีวิตแต่ละตัวอาจมีความ fragile แต่ข้อมูลที่เก็บอยู่ในยีนของสิ่งมีชีวิตนั้นจะมีความ antifragile ประเด็นนี้สำคัญมากเพราะมันคือหลักการที่เป็นตัวขับเคลื่อนวิวัฒนาการเลยทีเดียว”


อีกตัวอย่างหนึ่งที่คล้ายคลึงกันก็คือไฟป่า ถ้าเราปล่อยให้ไฟป่าเกิดขึ้นบ้างเป็นครั้งคราว ต้นไม้แห้งส่วนหนึ่งจะถูกเผาทิ้งไปโดยปริยาย ทำให้ไม่มีเชื้อเพลิงเหลือมากนัก แต่ถ้าเราป้องกันไม่ให้เกิดไฟป่าเลย หากเราพลาดและเกิดไฟป่าขึ้นจริงๆ มันจะเป็นไฟป่าที่ใหญ่เกินควบคุมเพราะมีเชื้อเพลิงอยู่เต็มพื้นที่


ผมกับแฟนมีเรื่องเถียงกันอยู่เรื่อยๆ ประมาณไตรมาสละครั้งสองครั้งพอให้เป็นสีสันของชีวิตคู่

เวลาทะเลาะกันผมก็จะบอกตัวเองว่า ดีแล้วที่ได้ทะเลาะกัน จะได้จูนกันเรื่องความคาดหวังและวิธีคิด ดีกว่าไม่ชอบอะไรแล้วเก็บมันเอาไว้ในใจ

อดีตคู่รัก คุณเจมส์ เรืองศักดิ์ และ เอ๊ะ ศศิกานต์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อปี 2553 ว่า

“เอ๊ะยิ้มหวานให้ชายหนุ่ม ก่อนย้อนความถึงครั้งแรกที่ได้เจอแฟนว่า “ตอนนั้นไปเล่นเอ็มวีให้เจมส์ในเพลง “ไม่รักก็เกลียดเลย” ในชุด “ดิ แอดเวนเจอร์” เขาก็เป็นคนที่น่ารักดี และดูเป็นคนที่เอาใจใส่มากๆ จนทุกวันนี้ก็ยังเป็นอย่างนั้นอยู่ แต่ที่ผ่านมาก็มีเรื่องที่ถึงขั้นจะเลิกกันก็มี เหตุการณ์เกิดเมื่อปลายปีที่ผ่านมานี้เอง ให้เจมส์เล่าดีกว่าค่ะ” เอ๊ะโยนให้เจมส์พูด

นักร้องหนุ่มนิ่ง ก่อนจะย้อนเหตุการณ์ให้ฟังว่า “ตอนนั้นผมสั่งซื้อปลาแซลมอนมาจากต่างประเทศตัวใหญ่มากมาให้เอ๊ะ ซึ่งในใจก็คิดว่าเอ๊ะจะต้องดีใจมากๆ แต่เอ๊ะกลับบอกว่า “บอกตรงๆ มันงี่เง่ามากๆ ที่ซื้อมาให้แบบนี้” เท่านั้นเองทุกอย่างก็พรั่งพรูออกมา”

เจมส์บอกที่ผ่านมาเขาและเอ๊ะคบกันก็มีปัญหาเหมือนคู่รักคู่อื่นๆ แต่ได้กวาดปัญหานั้นไว้ใต้พรม พอเจอเรื่องนี้จึงเหมือนขุดออกมาพูดกัน

“วันนั้นผมถึงกับบอกเขาเองว่า เราถอยห่างกันดีกว่ามั้ย ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ผมพูดแบบนี้ตั้งแต่คบกัน แต่ก่อนหน้านี้เอ๊ะจะพูดกับผมมาแล้ว 4-5 ครั้ง เพราะความไม่เข้าใจกัน จากวันนั้น ก็ไม่คุยกัน แต่ผมได้จดทุกอย่างที่เป็นสิ่งที่ไม่พอใจเขาหรือปัญหาต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นและไม่ได้พูดกันมา เป็นเรื่องที่คาใจมานาน ผมจดได้ประมาณ 20 กว่าเรื่อง”

“ที่จดก็เพราะว่ากลัวลืมเวลาที่จะไปพูดเพื่อขอเลิกกัน เมื่อมาเจอกันในอีกหลายวันต่อมาผมก็จะบอกว่ายังไม่ต้องพูดอะไร ผมขออ่านสิ่งที่ผมคาใจมาตลอดให้เขาฟัง และอย่าเพิ่งร้องไห้ ปรากฏพออ่านๆ ไปจนถึงข้อที่ 4 ผมกลับร้องไห้ซะเอง”

หนุ่มเจมส์บอกต่อว่า “วันนั้นเราก็เลยได้มานั่งคุยกัน ได้รู้ปัญหาต่างๆ ที่เคยเกิดแต่ไม่ได้รับการแก้ไข”


ดังนั้นการที่คู่รักจะทะเลาะกันบ้างนั้นไม่ใช่เรื่องผิด เพราะแม้จะทำให้ความสัมพันธ์ดูไม่มั่นคง แต่แท้จริงแล้วมันคือไฟป่าเล็กที่ป้องกันไฟป่าใหญ่ มันคือร้านอาหารที่เจ๊งไปเพื่อให้วงการร้านอาหารแข็งแรง มันคือการทำลายกล้ามเนื้อบางส่วนเพื่อที่จะสร้างกล้ามเนื้อมัดใหม่ที่แข็งแรงกว่าเดิม

ขอให้เรามีกล้ามเนื้อความสัมพันธ์ที่ antifragile กันนะครับ