ไม้กระดกของคนทำงาน

ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่พาลูกๆ ไปสนามเด็กเล่น หนึ่งในเครื่องเล่นที่ไม่ได้เห็นมานานแล้วคือไม้กระดก (ภาษาอังกฤษเรียกว่า seesaw)

วิธีเล่นนั้นง่ายมาก แค่ต่างฝ่ายต่างเข้าประจำที่คนละฝั่ง แล้วก็ผลัดกันถีบตัวขึ้นจากพื้น “ปรายฝน” ลูกสาววัยหกขวบครึ่งกับ “ใกล้รุ่ง” ลูกชายวัยสี่ขวบครึ่ง เล่นกันอย่างหัวเราะชอบใจ

เล่นไปครู่นึงปรายฝนเกิดครึ้มอกครึ้มใจ พอถึงคราวที่ตัวเองขาแตะพื้นก็นั่งแช่อยู่อย่างนั้น ใกล้รุ่งเลยลอยอยู่กลางอากาศ พยายามจะขย่มตัวเองลงมาก็ไม่เป็นผลเพราะน้ำหนักห่างกับพี่สาวอยู่หลายกิโล

เมื่อค้างอยู่ได้หลายวินาที ใกล้รุ่งเริ่มไม่สนุก ก็เลยตัดพ้อกับเจ่เจ้ ผมเองก็เลยต้องบอกปรายฝนว่าปล่อยน้องให้ลงมาได้แล้ว

อดคิดไม่ได้ว่าพลวัตหรือ dynamics ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง หรือระหว่างผู้บริหารกับพนักงานก็มีความคล้ายคลึงกับไม้กระดก ที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายในการกระดกขึ้นและลงเพื่อให้การกระดกไม้นี้ยังคงอยู่ต่อไป

แต่หากผู้บริหารครึ้มอกครึ้มใจ นั่งแช่ (“ยืนกราน”) ที่จะเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อีกฝ่ายนั้นแทบจะไม่มีกำลัง (powerless) ที่จะทำอะไรได้เลย เพราะน้ำหนักของคำพูดและน้ำหนักของอำนาจนั้นต่างกันอยู่หลายกิโล หากลูกน้องแข็งขืนก็คงได้แต่ลอยค้างอยู่อย่างนั้น

ดังนั้น ในฐานะ “ผู้ใหญ่ที่ตัวหนักกว่า” เราต้องมีน้ำใจนักกีฬา ต้องยอมถีบตัวเองให้ตัวเบา ลูกน้องของเราจะได้มีน้ำหนักบ้าง เกมการทำงานจะได้ดำเนินต่อไปได้

เพราะหากเราเคยชินกับการนั่งแช่ ปล่อยให้อีกฝ่ายค้างเติ่งบ่อยๆ

สุดท้ายจะไม่มีใครอยากเล่นไม้กระดกกับเราครับ

เราได้กินสมูธตี้ที่ตัวเองปั่นบ้างรึเปล่า

เมื่อวันหยุดสุดสัปดาห์ ผมกับแฟนพาลูกๆ ไปเที่ยวที่สนามเด็กเล่นแห่งหนึ่งที่มีของเล่นหลากหลาย ทั้งไม้กระดก สะพานเชือก รอก ชิงช้า สไลเดอร์ ปีนหน้าผา ฯลฯ

เมื่อเล่นเสร็จแล้วก็มากินข้าวเย็นกัน แฟนรู้ใจ สั่ง Mango Smoothie มาให้กิน รสชาติโอเคดับกระหายได้เป็นอย่างดี แต่เสียอารมณ์นิดหน่อยตรงที่ปั่นไม่ละเอียด มีน้ำแข็งขนาดก้อนกรวดเต็มไปหมด

อันนี้อาจจะนับได้ว่าเป็นปัญหาคลาสสิค เมื่อเครื่องปั่นน้ำผลไม้ใช้ไปนานๆ ใบมีดก็อาจจะหายคม สมูธตี้จึงไม่ค่อยมีความสมูธเท่าไหร่นัก

แล้วผมก็อดคิดไม่ได้ว่า แม่ครัว/พ่อครัวนั้นเขาได้กินสมูธตี้ที่ตัวเองทำบ้างรึเปล่า

ผมเดาว่าอาจจะไม่ได้กิน พอไม่ได้กินก็เลยไม่รู้ และดูด้วยตาเปล่าก็เลยไม่อาจมองเห็นปัญหา

ส่วนลูกค้าส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นอย่างผม คือเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อยกว่าจะเดินไปบอกให้รู้ตัว

ในการทำงานหลายๆ อย่างก็เป็นเช่นนั้น ถ้าเราไม่ได้ใช้ “โปรดักท์” ที่ตัวเองสร้างขึ้นมา ก็เป็นการยากที่จะสร้างของที่มีคุณภาพได้

ยกตัวเองอย่างง่ายๆ แบบฟอร์มบางใบที่ต้องกรอกด้วยมือมีพื้นที่ว่างสำหรับบางหัวข้อน้อยเกินไป แม้จะเขียนตัวเล็กๆ แล้วก็ยังไม่วายไปเกยข้อความส่วนอื่นอยู่ดี ถ้าคนที่ออกแบบฟอร์มพวกนี้ได้ลองกรอกด้วยตัวเองเสียก่อน ปัญหาขั้นพื้นฐานเหล่านี้จะไม่เกิดเลย

หรือการออกแบบไฟล์ Excel บางไฟล์จากส่วนกลางเช่นแผนกบัญชีหรือแผนก HR ก็ไม่ได้ให้คนในทีมได้ทดลองกรอกเองเสียก่อน ทำให้ข้อมูลที่แต่ละทีมกรอกกลับมานั้นสับสนและอาจเป็นคนละฟอร์แมตกัน ลำบากคนที่ต้องมานั่งรวมไฟล์ทีหลังอีก

ช่วงนี้เห็นคุณชัชชาติ ว่าที่ผู้ว่ากทม.คนใหม่ขยันลงพื้นที่ ส่วนตัวผมคิดว่าอาจจะถี่ไปนิดนึง แต่ก็ยังดีกว่าคนที่ไม่ได้ลงพื้นที่เลย เพราะดูจากปัญหาที่หมักหมมในกทม. มันชวนให้คิดได้ว่าผู้ที่ต้องรับผิดชอบปัญหาเหล่านี้เขาอาจจะไม่ได้มีบ้านอยู่ในพื้นที่ตรงนั้น ถึงเขาจะไม่แก้ปัญหา ตัวเขาและครอบครัวเขาก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร มันคือการขาด skin in the game ในภาษาของ Nassim Taleb ผู้เขียนหนังสือ The Black Swan

ดังนั้น ในฐานะคนทำงาน ถ้าเราอยากให้งานออกมาดีและให้คนชื่นชม (หรืออย่างน้อยก็คือให้คนด่าน้อยที่สุด) เราต้อง put skin in the game บ้าง ด้วยการลงพื้นที่ ด้วยการเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องได้รับผลกระทบจากผลงานตัวเอง

อย่าเป็นคนขายสมูธตี้ที่ไม่เคยรู้ตัวว่าน้ำแข็งของตัวเองนั้นปั่นไม่ละเอียดครับ

การเตรียมตัวของ Man Utd ในยุค Sir Alex Ferguson

เมื่อคืนผมได้ดู UEFA Champions League รอบชิงชนะเลิศระหว่าง Liverpool และ Real Madrid

แม้ลิเวอร์พูลจะโอกาสยิงมากกว่า แต่ Thibaut Courtois นายทวารเรอัลมาดริดเหนียวมาก สุดท้ายเรอัลมาดริดจึงเฉือนเอาชนะไป 1-0

แม้รูปเกมจะเป็นรอง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการ์โล อันเชลอตตี ผู้จัดการทีมของเรอัลมาดริดเตรียมตัวมาดี วางแผนมาแบบรัดกุม และใช้โอกาสอย่างคุ้มค่าที่สุด

ผมเองเชียร์แมนยูมาตั้งแต่สมัยคันโตน่า หลังจากเฟอร์กี้วางมือแมนยูก็ย่ำแย่ลงเรื่อยๆ และฤดูกาลที่ผ่านมาน่าจะถือเป็นฤดูกาลที่ย่ำแย่ที่สุด ยิงประตูกับเสียประตูเท่ากัน เจอทีมท้ายตารางก็ยังแพ้ได้ เจอทีมหัวตารางก็โดนยำเละไปไม่น้อย มีแค่เดเคอากับโรนัลโด้ที่เป็นเดอะแบกของทีม

วันนี้เผอิญเหลือบไปเห็นหนังสือชื่อ Leading: Learning from Life and My Years at Manchester United ที่ เฟอร์กี้เขียนร่วมกับ Michael Moritz ที่ผมซื้อมาเมื่อนานมาแล้ว เลยหยิบมาพลิกดูเล่นๆ

เฟอร์กี้เล่าให้ฟังถึงความสำคัญของการเตรียมตัวก่อนเกม อ่านแล้วน่าสนใจดีเลยนำมาฝากแฟนผีที่น่าจะกำลังรู้สึกเหมือนคนแก่เพราะได้แต่ระลึกถึงความรุ่งเรืองในอดีตครับ

  • ก่อนจะมาเริ่มงานคุมแมนยู เฟอร์กี้ขอให้ทีมงานทำรายงานของทีมทุกทีมและผู้เล่นทุกคนในลีกมาให้เฟอร์กี้อ่านเพื่อจะทำความรู้จักและทำความเข้าใจของความเป็นไปในลีกนี้
  • เฟอร์กี้บอกว่า เขาโดนข้อครหาว่ากรรมการเข้าข้างมานับไม่ถ้วน โดยเฉพาะเรื่องต่อเวลานานเป็นพิเศษจนทีมแมนยูได้ยิงประตูในนาทีท้ายๆ แต่เฟอร์กี้ก็ยืนยันว่าแน่นอนว่าหลายครั้งเขาก็โชคดี แต่จริงๆ แล้วการเตรียมตัวมาอย่างดีนั้นส่งผลกว่ามาก
  • ก่อนเกม เฟอร์กูสันจะเอาเทปการแข่งของทีมคู่แข่งมาให้ลูกทีมดู โดยจะไม่เน้นว่าฝั่งตรงข้ามมีจุดแข็งอะไรบ้าง เพราะถ้าดูจุดแข็งเยอะๆ นักเตะอาจจะกังวลและเกิดกลัวขึ้นมาได้ เขาจะเน้นว่าคู่แข่งมีจุดอ่อนอะไรบ้าง จะได้วางแผนว่าจะเจาะจุดอ่อนได้ยังไง
  • ช่วงที่ Carlos Queiroz เข้ามาคุมการฝึกใหม่ๆ นักเตะบ่นกันระนาว บอกว่าการซ้อม drill ซ้ำๆ นี้มันน่าเบื่อเกินไป เฟอร์กี้ก็เลยตอบกลับไปว่า ถ้าสมัยเขายังเป็นนักฟุตบอลอยู่ เขาอยากได้โค้ชแบบเควรอซ เพราะการซ้อม drill อย่างนี้มันจำเป็นอย่างมากที่จะช่วยให้เราตัดสินใจทำสิ่งที่ถูกต้องในเกมได้โดยไม่ต้องคิด
  • ก่อนเกมนัดชิงชนะเลิศกับบาเยิร์นมิวนิคในปี 1999 ทีมทำการบ้านมาจนรู้ว่าบาเยิร์นมักจะเปลี่ยนตัวจ่ายบอลขั้นเทพอย่าง Alexander Zickler และ Mario Basler ในครึ่งหลัง ซึ่งในเกมนัดชิงก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ซิคเลอร์ถูกเปลี่ยนตัวนาทีที่ 71 และบาสเลอร์ถูกเปลี่ยนตัวนาทีที่ 87 พอสองคนนี้ออก ก็ทำให้ประสิทธิภาพการทะลุทะลวงของบาเยิร์นลดลง เฟอร์กี้จึงไม่กลัวที่จะสั่งให้นักเตะบุกขึ้นทั้งแผง
  • ก่อนนัดรองชนะเลิศกับบาร์ซาในปี 2008 เควรอซวางเสื่อไว้ตรงสนามบอลเพื่อระบุว่านักเตะควรจะยืนอยู่ตรงไหนในสนาม โดยเสื่อของสโคลส์กับคาริคแทบจะซ้อนกันเพราะต้องการป้องกันการบุกของบาร์ซาในแดนกลาง ผลก็คือบาร์ซายิงแมนยูไม่ได้ทั้งเหย้าแหละเยือน
  • ในวันที่มีการแข่งขัน นอกจากจะกำชับเรื่องแทคติกที่จะใช้แล้ว ยังมีอีกสองอย่างที่เฟอร์กี้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ หนึ่งคือเฟอร์กี้จะดูว่าฝั่งตรงข้ามนั้นมีใครที่เพิ่งได้มาเตะที่โอลด์แทรฟฟอร์ดเป็นครั้งแรกรึเปล่า ถ้ามีเฟอร์กี้ก็จะระบุให้ “รับน้อง” นักเตะเหล่านี้เป็นพิเศษ
  • อีกประเด็นที่เฟอร์กี้ให้ความสำคัญ คือดูว่าทีมคู่แข่งมีนักเตะที่ “ไม่ค่อยขยัน” อยู่รึเปล่า เนื่องจากตลอดเกมนักเตะจำพวกนี้ไม่ค่อยได้วิ่ง ในช่วง 20 นาทีสุดท้ายจึงมักจะมีแรงเหลือมากกว่านักเตะส่วนใหญ่ในสนาม ตัวอย่างนักเตะแบบนี้ก็คือ Matthew Le Tissier ที่เหมือนลงมาเดินเล่น แต่มักจะมีทีเด็ดช่วงท้ายเกมเสมอ เฟอร์กี้จึงจะเน้นย้ำว่าหากในทีมคู่แข่งมีนักเตะแบบนี้ ต้องห้ามประมาทและมีสมาธิจนกว่ากรรมการจะเป่านกหวีด
  • หลายคนมองว่าลูกยิงจากครึ่งสนามของเบ็คแฮมในปี 1996 ที่ยิงวิมเบิลดันนั้นเป็นช็อตปาฏิหาริย์ เฟอร์กี้บอกว่าเปล่าเลย เบ็คแฮมต้องได้ฝึกยิงจากครึ่งสนามมาแล้วเป็นร้อยครั้ง และพอสถานการณ์เป็นใจเบ็คแฮมก็แค่คว้าโอกาสไว้เท่านั้นเอง
  • ในทีมแมนยูนั้น นักเตะที่เก่งที่สุดมักจะเป็นนักเตะที่ซ้อมหนักที่สุด เบ็คแฮม กิ๊กส์ โรนัลโด หรือรูนีย์นั้นจะอยู่ต่อหลังซ้อมเสร็จเพื่อจะได้ซ้อมลูกฟรีคิก พวกเขาไม่เหมือนนักเตะคนอื่นๆ ที่จะไปนอนแช่อ่างหรือเข้าห้องนวด หรือหนักกว่านั้นคือรีบออกจากสนามซ้อมเพื่อไปเอารถที่จองไว้กับโชว์รูม ทั้งสี่คนนี้จะเคร่งครัดกับการซ้อมเพิ่มอีกอย่างน้อย 30 นาทีเพื่อซ้อมยิงลูกไซด์โค้งอ้อมหุ่นแผงกองหลัง

“นั่นคือเหตุผลที่เบ็คแฮมเป็นเจ้าพ่อฟรีคิกระยะ 25-30 หลา กิ๊กส์จะถนัดระยะ 18-23 หลา รูนีย์จะเชี่ยวระยะที่ใกล้กับกรอบเขตโทษ ส่วนโรนัลโดก็สามารถฟรีคิกเข้าประตูได้ต่อให้ยิงจากหลังดวงจันทร์ก็ตาม” (“As for Ronaldo, he’d be able to score from free kicks if he took them from behind the moon.”)


ขอบคุณข้อมูลจาก Leading: Learning from Life and My Years at Manchester United by Alex Ferguson and Michael Moritz