เมื่อวันหยุดสุดสัปดาห์ ผมกับแฟนพาลูกๆ ไปเที่ยวที่สนามเด็กเล่นแห่งหนึ่งที่มีของเล่นหลากหลาย ทั้งไม้กระดก สะพานเชือก รอก ชิงช้า สไลเดอร์ ปีนหน้าผา ฯลฯ
เมื่อเล่นเสร็จแล้วก็มากินข้าวเย็นกัน แฟนรู้ใจ สั่ง Mango Smoothie มาให้กิน รสชาติโอเคดับกระหายได้เป็นอย่างดี แต่เสียอารมณ์นิดหน่อยตรงที่ปั่นไม่ละเอียด มีน้ำแข็งขนาดก้อนกรวดเต็มไปหมด
อันนี้อาจจะนับได้ว่าเป็นปัญหาคลาสสิค เมื่อเครื่องปั่นน้ำผลไม้ใช้ไปนานๆ ใบมีดก็อาจจะหายคม สมูธตี้จึงไม่ค่อยมีความสมูธเท่าไหร่นัก
แล้วผมก็อดคิดไม่ได้ว่า แม่ครัว/พ่อครัวนั้นเขาได้กินสมูธตี้ที่ตัวเองทำบ้างรึเปล่า
ผมเดาว่าอาจจะไม่ได้กิน พอไม่ได้กินก็เลยไม่รู้ และดูด้วยตาเปล่าก็เลยไม่อาจมองเห็นปัญหา
ส่วนลูกค้าส่วนใหญ่ก็น่าจะเป็นอย่างผม คือเห็นเป็นเรื่องเล็กน้อยกว่าจะเดินไปบอกให้รู้ตัว
ในการทำงานหลายๆ อย่างก็เป็นเช่นนั้น ถ้าเราไม่ได้ใช้ “โปรดักท์” ที่ตัวเองสร้างขึ้นมา ก็เป็นการยากที่จะสร้างของที่มีคุณภาพได้
ยกตัวเองอย่างง่ายๆ แบบฟอร์มบางใบที่ต้องกรอกด้วยมือมีพื้นที่ว่างสำหรับบางหัวข้อน้อยเกินไป แม้จะเขียนตัวเล็กๆ แล้วก็ยังไม่วายไปเกยข้อความส่วนอื่นอยู่ดี ถ้าคนที่ออกแบบฟอร์มพวกนี้ได้ลองกรอกด้วยตัวเองเสียก่อน ปัญหาขั้นพื้นฐานเหล่านี้จะไม่เกิดเลย
หรือการออกแบบไฟล์ Excel บางไฟล์จากส่วนกลางเช่นแผนกบัญชีหรือแผนก HR ก็ไม่ได้ให้คนในทีมได้ทดลองกรอกเองเสียก่อน ทำให้ข้อมูลที่แต่ละทีมกรอกกลับมานั้นสับสนและอาจเป็นคนละฟอร์แมตกัน ลำบากคนที่ต้องมานั่งรวมไฟล์ทีหลังอีก
ช่วงนี้เห็นคุณชัชชาติ ว่าที่ผู้ว่ากทม.คนใหม่ขยันลงพื้นที่ ส่วนตัวผมคิดว่าอาจจะถี่ไปนิดนึง แต่ก็ยังดีกว่าคนที่ไม่ได้ลงพื้นที่เลย เพราะดูจากปัญหาที่หมักหมมในกทม. มันชวนให้คิดได้ว่าผู้ที่ต้องรับผิดชอบปัญหาเหล่านี้เขาอาจจะไม่ได้มีบ้านอยู่ในพื้นที่ตรงนั้น ถึงเขาจะไม่แก้ปัญหา ตัวเขาและครอบครัวเขาก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไร มันคือการขาด skin in the game ในภาษาของ Nassim Taleb ผู้เขียนหนังสือ The Black Swan
ดังนั้น ในฐานะคนทำงาน ถ้าเราอยากให้งานออกมาดีและให้คนชื่นชม (หรืออย่างน้อยก็คือให้คนด่าน้อยที่สุด) เราต้อง put skin in the game บ้าง ด้วยการลงพื้นที่ ด้วยการเป็นหนึ่งในผู้ที่ต้องได้รับผลกระทบจากผลงานตัวเอง
อย่าเป็นคนขายสมูธตี้ที่ไม่เคยรู้ตัวว่าน้ำแข็งของตัวเองนั้นปั่นไม่ละเอียดครับ