ไม้กระดกของคนทำงาน

ช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่พาลูกๆ ไปสนามเด็กเล่น หนึ่งในเครื่องเล่นที่ไม่ได้เห็นมานานแล้วคือไม้กระดก (ภาษาอังกฤษเรียกว่า seesaw)

วิธีเล่นนั้นง่ายมาก แค่ต่างฝ่ายต่างเข้าประจำที่คนละฝั่ง แล้วก็ผลัดกันถีบตัวขึ้นจากพื้น “ปรายฝน” ลูกสาววัยหกขวบครึ่งกับ “ใกล้รุ่ง” ลูกชายวัยสี่ขวบครึ่ง เล่นกันอย่างหัวเราะชอบใจ

เล่นไปครู่นึงปรายฝนเกิดครึ้มอกครึ้มใจ พอถึงคราวที่ตัวเองขาแตะพื้นก็นั่งแช่อยู่อย่างนั้น ใกล้รุ่งเลยลอยอยู่กลางอากาศ พยายามจะขย่มตัวเองลงมาก็ไม่เป็นผลเพราะน้ำหนักห่างกับพี่สาวอยู่หลายกิโล

เมื่อค้างอยู่ได้หลายวินาที ใกล้รุ่งเริ่มไม่สนุก ก็เลยตัดพ้อกับเจ่เจ้ ผมเองก็เลยต้องบอกปรายฝนว่าปล่อยน้องให้ลงมาได้แล้ว

อดคิดไม่ได้ว่าพลวัตหรือ dynamics ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง หรือระหว่างผู้บริหารกับพนักงานก็มีความคล้ายคลึงกับไม้กระดก ที่ต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายในการกระดกขึ้นและลงเพื่อให้การกระดกไม้นี้ยังคงอยู่ต่อไป

แต่หากผู้บริหารครึ้มอกครึ้มใจ นั่งแช่ (“ยืนกราน”) ที่จะเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อีกฝ่ายนั้นแทบจะไม่มีกำลัง (powerless) ที่จะทำอะไรได้เลย เพราะน้ำหนักของคำพูดและน้ำหนักของอำนาจนั้นต่างกันอยู่หลายกิโล หากลูกน้องแข็งขืนก็คงได้แต่ลอยค้างอยู่อย่างนั้น

ดังนั้น ในฐานะ “ผู้ใหญ่ที่ตัวหนักกว่า” เราต้องมีน้ำใจนักกีฬา ต้องยอมถีบตัวเองให้ตัวเบา ลูกน้องของเราจะได้มีน้ำหนักบ้าง เกมการทำงานจะได้ดำเนินต่อไปได้

เพราะหากเราเคยชินกับการนั่งแช่ ปล่อยให้อีกฝ่ายค้างเติ่งบ่อยๆ

สุดท้ายจะไม่มีใครอยากเล่นไม้กระดกกับเราครับ