ชีวิตดีด้วยกฎ FPM

20180430_fpm

เมื่อเกือบสามปีที่แล้ว ผมเขียนเรื่องกฎ 2 นาที* ที่บอกว่า อะไรก็ตามที่ใช้เวลาไม่เกิน 2 นาทีให้ทำไปเลย ไม่ต้องรอ

กฎนี้ตอนฟังครั้งแรกอาจรู้สึกเฉยๆ แต่ถ้าได้ลองนำไปใช้ดูจะรู้เลยว่ามันมีประโยชน์มาก เพราะมันมีโอกาสได้ใช้ตลอดทั้งวัน รู้เลยว่าที่ผ่านมาเรามักง่ายบ่อยแค่ไหน

สัปดาห์ที่ผ่านมาตอนออกไปวิ่ง ก็คิดกฎขึ้นมาได้อีกข้อหนึ่ง ซึ่งน่าจะมีโอกาสได้ใช้บ่อยเหมือนกัน

กฎนี้มีหลักการง่ายๆ ว่า จงทำให้ตัวเองในอนาคตเหนื่อยน้อยที่สุด – minimize the pain of your future self.

ผมยังคิดชื่อไทยแบบกระชับไม่ออก เลยขอเรียกว่ากฎ FPM ไปพลางๆ (Future Pain Minimization)

กฎ FPM นั้นใช้ได้กับทั้งเรื่องเล็ก-เรื่องใหญ่ ทั้งเรื่องงาน-เรื่องส่วนตัว

ยกตัวอย่างเช่นเราเพิ่งประชุมเสร็จ เราเลือกได้ว่าจะเขียนสรุปการประชุมวันนี้ จะเขียนวันหลัง หรือจะไม่เขียนสรุปการประชุมเลย

ถ้าเขียนวันนี้ เราอาจจะใช้เวลาแค่ 10 นาที เพราะทุกอย่างยังสดใหม่อยู่ในสมองของเรา

แต่ถ้าเขียนพรุ่งนี้ เราอาจต้องใช้เวลาถึง 20 นาที เพราะต้องใช้พลังมากขึ้นในการรื้อฟื้น แถมรายละเอียดอาจตกหล่น

และถ้าไม่เขียนเลย งานต่างๆ อาจไม่เดิน สัปดาห์หน้าต้องมานั่งนับหนึ่งใหม่แถมโดนหัวหน้าตำหนิอีกต่างหาก

ดังนั้น ถ้าเราอยาก minimize ความเจ็บปวดของตัวเราในอนาคต เราควรจะเขียนสรุปการประชุมเสียตั้งแต่วันนี้

อีกตัวอย่างหนึ่ง

การเขียนบทความวันละตอนบน Anontawong’s Musings เป็นเรื่องท้าทายมาก และผมจะเครียดทุกครั้งหากจะหมดวันแล้วยังไม่มีเรื่องเขียน

ดังนั้นถ้าจะทำตามกฎ FPM ผมก็ควรจะมีบทความล่วงหน้าอย่างน้อยหนึ่งวัน ซึ่งบทความ FPM นี้ก็เขียนในวันอาทิตย์เพื่อจะนำปล่อยวันจันทร์ และจะเขียนเพิ่มอีกสองบทความเพื่อจะได้มีบทความในสต็อคให้ไม่ต้องกังวลใจ

อีกตัวอย่างหนึ่ง

เวลาทะเลาะกับแฟน เราเลือกได้ว่าจะยึดมั่นว่าเราไม่ผิด แต่ก็ต้องเผชิญกับความอึดอัดและความกดดันไปอีกหลายวัน หรือเราจะขอโทษและพยายามปรับความเข้าใจ

ถ้าเรานำ FPM มาใช้ เราก็จะเลือกทางหลัง

มีคนมากมายที่ดำรงชีวิตสอดคล้องกับกฎ FPM

คนที่ประหยัดและหัดลงทุน เพื่อที่จะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องการเงินในอนาคต

คนที่ยอมเหน็ดเหนื่อยออกกำลังกายในตอนนี้ ก็เพื่อที่จะมีร่างกายที่แข็งแรง ไม่ต้องเจ็บปวดกับการเจ็บป่วย และเจ็บปวดกับการเสียเงินรักษาพยาบาล

หรือแม้กระทั่งคนที่ปฏิบัติภาวนา ก็เป็น FPM ขั้นสุด เพราะเขามุ่งหวังว่าจะลดความทุกข์ที่มีค่าเป็นอนันต์ในสังสารวัฎให้เหลือศูนย์โดยเร็วที่สุด

ดังนั้น ในแต่ละวัน เมื่อต้องเผชิญกับการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ ลองถามตัวเองว่า สิ่งที่เรากำลังจะทำมันจะช่วย minimize pain สำหรับตัวเราเองในอนาคตรึเปล่า

เพราะทุกคนรักตัวเองและไม่มีใครชอบความทุกข์

ใช้ชีวิตด้วยกฎ FPM น่าจะช่วยให้เราถอยห่างจากความทุกข์ได้มากขึ้นเรื่อยๆ ครับ

—–

กฎ 2 นาทีหรือ The 2-minute rule มาจาก David Allen ผู้เขียน Getting things done

หนังสือ Thank God It’s Monday ขอบคุณโลกนี้ที่มีงานประจำ พิมพ์ครั้งที่ 3 แล้วนะครับ! หาซื้อได้ที่ซีเอ็ด นายอินทร์ B2S ศูนย์หนังสือจุฬา คิโนะคุนิยะ เอเชียบุ๊คส์ และร้านหนังสือทั่วไปครับ

ชั่วโมงหัวแตก

20180430_pieces

ใครเคยได้ยินคำว่า “เบี้ยหัวแตก” บ้างมั้ยครับ?

ผมเพิ่งรู้จักกับคำนี้ก็ตอนเรียนมหาลัยแล้ว เพื่อนเล่าให้ฟังว่า ที่คนชอบเล่นแชร์เพราะมันได้เงินหลักหมื่น ซึ่งเป็นเงินก้อนไปลงทุนทำอะไรให้งอกเงยได้ ต่างจากเงินหลักร้อย หลักพัน เป็นเบี้ยหัวแตก ที่เอาไปทำอะไรมากไม่ค่อยได้ มันจึงมักถูกจับจ่ายใช้สอยไปกับสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคต

ผมว่าคอนเซ็ปต์เบี้ยหัวแตกนี่ก็เอามาใช้กับเวลาได้เหมือนกันนะครับ

ถ้าเราสามารถกันเวลาวันละ 1-2 ชั่วโมงเพื่อจดจ่อกับงานใดงานหนึ่งได้ (Cal Newport เรียกมันว่า Deep Work) งานชิ้นนั้นมันจะเป็นการลงทุนที่กลับมาส่งผลดีกับเราในภายหลัง

ยกตัวอย่างที่ผมเขียนบทความซีรี่ส์ Sapiens 20 ตอน ที่แต่ละตอนใช้เวลาเขียนไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมง เขียนเสร็จไปเป็นปีแล้วก็ยังมีคนเข้ามาอ่านอยู่ตลอด

แต่ถ้าแต่ละวันเรามีแต่ “ชั่วโมงหัวแตก” เราจะทำงานเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้เลย

ยกตัวอย่างเช่นวันที่เรามีประชุมเยอะๆ ติดๆ กันจนเหลือเวลาว่างนั่งโต๊ะแค่คราวละ 10-15 นาที สิ่งที่เราทำได้คือจับจ่ายมันไปกับการเช็คอีเมลและเล่นเฟซบุ๊ค

ดังนั้น เราควรจะหลีกเลี่ยงชั่วโมงหัวแตกให้มากที่สุด เช่นนัดประชุมแค่ช่วงบ่ายเท่านั้น เพื่อจะได้มีเวลาช่วงเช้าไว้ทำงาน Deep Work

ส่วนถ้าวันไหนไม่สามารถหลีกเลี่ยงการประชุมเยอะๆ ได้จริงๆ เราก็ควรจะวางแผนว่าจะเอางานไร้สมองขึ้นมาทำให้เสร็จมากที่สุดในวันนี้ เพื่อที่วันอื่นๆ จะได้ไม่ต้องมากังวลกับงานเล็กน้อยเหล่านี้อีก

เบี้ยหัวแตกยังพอเก็บเข้าธนาคารให้กลายเป็นเงินก้อนได้

แต่ชั่วโมงหัวแตกนั้นผ่านแล้วผ่านเลย จึงต้องบริหารให้ดีๆ ครับ

คิดแล้วให้ใจร้อน

20180429_hotheaded

ทำแล้วให้ใจเย็น

คิดแล้วให้ใจร้อน หมายความว่า ถ้าคิดอะไรดีๆ ขึ้นมาได้ เราควรใจร้อนที่จะลงมือทำ

ทำแล้วให้ใจเย็น หมายความว่า เมื่อได้เริ่มลงมือทำแล้ว เราควรทำอย่างใจเย็นๆ ไม่ต้องเร่งรีบ รวมถึงเราควรใจเย็นพอที่จะดูผลลัพธ์

แต่คนจำนวนไม่น้อยทำตรงกันข้าม คือคิดแล้วใจเย็น ทำแล้วใจร้อน

คิดอะไรได้แล้ว จึงยังไม่ลงมือทำซักที รอให้พร้อมก่อน รอให้มีอารมณ์ก่อน รอให้มีเวลาก่อน

ผ่านไปหนึ่งปี เราก็ยังอยู่ที่เดิม

แถมพอถึงคราวที่ลงมือทำแล้ว ก็ใจร้อนอยากเห็นผลไวๆ ด้วย

ออกกำลังกายมาสามวันแล้วทำไมน้ำหนักไม่ลดซักที?

เขียนบล็อกมาห้าตอนแล้ว ทำไมไม่ถึงพันแชร์ซักที?

เปิดเพจมาหนึ่งเดือนแล้วทำไมไม่ถึงหมื่นไลค์ซักที?

ซึ่งธรรมชาติมันไม่ได้ทำงานอย่างนั้น

ของดีทุกอย่างต้องใช้เวลาที่จะออกผล

สิ่งเดียวที่เราร่นระยะเวลาได้จริงๆ คือช่องว่างระหว่างการคิดและลงมือทำครับ