พรสวรรค์คือความชอบ

20170601_talent

[ถาม]: เท่าที่รู้มาคือคุณเข้าวงการโดยเริ่มจากศูนย์ ไม่รู้จักใครเลย แล้วตอนนั้น
คิดว่าต้นทุนที่สำคัญของคุณคืออะไร

[ตอบ]:จริงๆ ผมรู้สึกว่ามันเริ่มจากโอกาส เราต้องวิ่งเข้าหาโอกาส บางครั้งจะมานั่งรอโอกาสอย่างเดียวก็ไม่ได้ ตั้งแต่เด็กเลยนะ สมมติถ้าผมฝึกเล่นดนตรี แล้วรอวันหนึ่งให้โปรดิวเซอร์มาเห็น เอานามบัตรมาให้เหมือนอย่างในละครหรือในหนัง สำหรับผมมันช้าไป เพราะก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เขาจะมาเห็น เพราะฉะนั้นอยากได้อะไรก็ต้องหามาให้ตัวเอง ถ้ารู้ว่าจะไม่มีใครแต่งเพลงให้ ก็ฝึกแต่งเพลงสิ อยากเล่นกีตาร์เป็น แต่ไม่มีใครสอน ก็ต้องฝึกเล่นเองสิ บางคนเล่นกีตาร์อยู่ดีๆ ก็มีเพื่อนมาชวนไปเล่นที่ร้าน แต่ผมไม่มี ผมก็ต้องเดินไปหาร้านของใครก็ไม่รู้ อย่างตอนที่ไปอยู่ภูเก็ตผมก็ไม่มีเพื่อนสักคน ก็ต้องเสิร์ชหาข้อมูลทุกอย่างเอาเอง สุดท้ายแล้วต้นทุนที่สำคัญมันอาจจะเป็นความชอบที่ผมอยากจะทำ มันพาผมขับเคลื่อนไปข้างหน้า

หลายคน มักจะพูดถึงพรสวรรค์ ผมก็เคยคิดเหมือนกันว่าพรสวรรค์คืออะไร สุดท้ายผมคิดว่าพรสวรรค์ก็คือความชอบนี่แหละ สมมติมีเด็กคนหนึ่งเรียนภาษาอังกฤษเก่งมาก หลายคนก็บอกว่าน้องคนนี้เขามีพรสวรรค์ด้านภาษาอังกฤษ แต่เขาอาจไม่รู้ว่าจริงๆ แล้วน้องมันแค่ชอบภาษาอังกฤษมาก เจออะไรเป็นภาษาอังกฤษก็หยิบมาอ่าน เพราะเขาชอบไง แต่เราไม่เห็นกระบวนการทำงานของเขา ก็ไปคิดว่าเขามีพรสวรรค์ ไปตัดสินว่าเขาคงนั่งเฉยๆ เหมือนเรา แล้วอยู่ๆ ก็มีพรสวรรค์งอกขึ้นมาเอง แต่จริงๆ แล้วมันเริ่มจากความที่เขาชอบ หรือเห็นเพื่อนเล่นกีตาร์เป็นได้เร็ว เราก็ไปตัดสินเขาอีกว่าเขาคงนั่งอยู่เฉยๆ เหมือนเรา แต่ไม่รู้เลยว่าตอนอยู่บ้านเขาแทบจะไม่ได้ทำอะไรอย่างอื่นเลยนอกจากเล่นกีตาร์ ถ้าเล่นไม่เก่งก็บ้าแล้ว เพราะฉะนั้นผมยังพิสูจน์ไม่ได้หรอกว่าพรสวรรค์คืออะไร เพราะผมเองก็ไม่ได้เก่งมากหรือเป็นเทพ แต่อยากทำอะไรได้ก็แค่ไปฝึก อยากแต่งเพลงก็ฝึกแต่งเพลง ไม่กล้าบอกหรอกว่าตัวเองแต่งเพลงเก่ง ผมก็เหมือนคุณนี่แหละ ไม่ได้อัจฉริยะอะไรเลย ต้องกลับบ้านไปนั่งใช้เวลาแต่ง เหมือนๆ กัน บางครั้งก็คิดออก บางครั้งก็คิดไม่ออก

– สิงโต นำโชค
a day BULLETIN Issue 380 2-8 November 2015
เรื่อง : วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม, เอกพล บรรลือ
ภาพ : ภาสกร ธวัชธาตรี

—–

วันก่อนที่ผมเขียนเรื่องนาฬิกาแดดที่อยู่ในร่ม เพื่อนคนนึงก็เข้ามาคุยกับผมว่าไม่รู้ว่าพรสวรรค์ของตัวเองคืออะไร

ผมตอบไปว่าจริงๆ เธอน่าจะรู้ตัวเองดีอยู่แล้ว มันคือสิ่งที่เราชอบทำและขยันฝึกจนเราทำได้ดีนี่เอง (เธอชอบเล่นโยคะมาก)

เวลาเราเห็นคนเก่งมากๆ เรามักจะบอกว่าคนนั้นคนนี้มีพรสวรรค์ หรือถ้าเทพขึ้นไปอีกก็จะยกย่องว่าเขาเป็นอัจฉริยะ

แต่แม้กระทั่งอัจฉริยะที่เรายกย่องอย่างไอน์สไตน์ก็เคยพูดว่าเขาไม่ได้ฉลาดอะไรมากมาย เขาแค่พร้อมที่จะขลุกอยู่กับปัญหานานกว่าคนอื่นเท่านั้นเอง

“It’s not that I’m so smart, it’s just that I stay with problems longer.”

เวลาที่เราบอกว่าตัวเองไม่มีพรสวรรค์เหมือนคนอื่น จริงๆ แล้วมันเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อกลบเกลื่อนความเหยาะแหยะหรือความกลัวของเรารึเปล่า?

พรสวรรค์ที่ติดตัวมาแต่เกิดคงจะพอเป็นเรื่องจริงอยู่บ้าง ซึ่งน่าจะใช้ได้กับคนที่เป็นอันดับต้นๆ ของโลกอย่างเมสซี่หรือโรนัลโด

แต่สำหรับคนเก่งอีก 99.9999% สิ่งที่เรียกว่าพรสวรรค์นั้นจริงๆ แล้วอาจเป็นเพียงแค่ความชอบที่มากพอจนเขาลงแรงและฝึกฝนมากกว่าคนอื่นเท่านั้นเอง

ความสามารถอย่างหนึ่งของผมคือเล่นกีตาร์ได้โดยไม่ต้องดูคอร์ด ขอแค่ร้องได้ก็เล่นได้แล้ว (เฉพาะเพลงไทยนะ) น้องบางคนก็ชอบนึกว่าผมจำคอร์ดแม่น แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย

ช่วงปีแรกของการหัดกีตาร์นั้น ผมอยู่นิวซีแลนด์ แถมตอนนั้นไม่มีอินเตอร์เน็ต จึงไม่สามารถหาหนังสือเพลงหรือหาคอร์ดจากเน็ตมาเล่นได้ มันจึงบังคับให้ผมต้องแกะเพลงที่อยากเล่นไปโดยปริยาย พอแกะเพลงมากเข้าๆ ก็พอจะจับทางคอร์ดออก โดยเฉพาะเพลงไทยที่ทำนองไม่ซับซ้อน ไปๆ มาๆ จึงรู้ได้เลยว่าท่อนต่อไปควรจะเล่นคอร์ดอะไรโดยไม่ต้องใช้ความจำ

การเล่นกีตาร์ได้โดยไม่ต้องดูคอร์ด ดูเผินๆ เป็นพรสวรรค์หรือความสามารถพิเศษ แต่จริงๆ แล้วมันเป็นแค่ผลของการฝึกฝนเท่านั้นเอง

ดังนั้น สำหรับคนที่จะเริ่มทำอะไรอะไร ลืมคำว่าพรสวรรค์ไปก่อนเลย ลองทำดู แล้วถามตัวเองว่าชอบหรือไม่ชอบ ถ้าชอบก็ให้เวลากับมันมากๆ ฝึกฝนเยอะๆ และสุดท้ายก็จะเหมือนที่พี่สิงโตบอก…คนที่ทำได้อย่างนี้ ถ้าไม่เก่งก็บ้าแล้ว


ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก a day BULLETIN Issue 380 2-8 November 2015

อ่านบทความใหม่ทุกวันที่เพจ Anontawong’s Musings: facebook.com/anontawongblog

อ่านบทความทั้งหมด anontawong.com/archives

ดาวน์โหลดหนังสือ “เกิดใหม่” anontawong.com/subscribe/

ไม่มีใครอยากทำเลว

20170408_doright

“สุดท้ายแล้วสามัญสำนึกของเราเป็นคนดีเสมอ ผมไม่เชื่อว่าคนที่ทำเลวเพราะเขาอยากทำเลว แต่เป็นเพราะเขาเชื่อว่าการทำเลวของเขามันถูกต้อง มันจะมีเหตุผลสนับสนุนในจิตใต้สำนึกของตัวเองเสมอ คนเราไม่ได้ตั้งต้นด้วยความเลว”

– กันต์ กันตถาวร

a day BULLETIN issue 478 | 27 March 2017
เรื่อง ปริญญา ก้อนรัมย์, กมลวรรณ ส่งสมบูรณ์
ภาพ: มณีนุช บุญเรือง
สไตลิสต์: Hotcake


คำพูดของคุณกันต์ กันตถาวร พิธีกรรายการ The Mask Singer ทำให้ผมนึกถึงข้อเขียนของผู้บริหารคนหนึ่งของ Workpoint เจ้าของรายการที่ฮอตฮิตที่สุดในชั่วโมงนี้

ผู้บริหารคนนั้นคือพี่จิก ประภาส ชลศรานนท์ ที่เล่าพฤติกรรมการดูละครไทยของนักโทษในเรือนจำ

คนเหล่านี้ถูกสังคมหรือศาลตัดสินแล้วว่าเป็น “ผู้ร้าย” แต่เวลาดูละคร พวกเขาก็ยังเชียร์พระเอก-นางเอกอยู่ดี ไม่เห็นจะมีใครเชียร์ตัวโกงซักคน

นั่นแสดงว่า สำนึกผิดชอบชั่วดีของนักโทษเหล่านี้ยังทำงานปกติดีอยู่


Stephen Covey บอกว่า ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีนั้น เป็นหนึ่งในต้นทุน 4 อย่างของมนุษย์ที่สัตว์ชนิดอื่นไม่มี

ความรู้สึกผิดชอบชั่วดีเปรียบเหมือนเข็มทิศที่ชี้ไปทางทิศเหนือเสมอ

การที่คนๆ หนึ่งจะลงมือทำเรื่องที่ผิด จึงอาจไม่ใช่เพราะเข็มทิศของเขาเสีย แต่เป็นเพราะว่าชีวิตของเขามี “แม่เหล็ก” ชิ้นอื่นๆ มารายล้อม

เราถึงได้ยินเรื่องเด็กที่ขโมยยาไปช่วยแม่ที่ป่วย

เราถึงได้ยินเรื่องของคุณยายที่ทุบเขื่อนทำลายทรัพย์สินทางราชการ

เราถึงได้ยินเรื่องท่อน้ำเลี้ยงในพรรคการเมืองเพราะมีคนในสังกัดต้องดูแลและมีภาษีสังคมที่ต้องจ่าย

การที่คนๆ หนึ่งจะทำผิดต่อส่วนรวมหรือทำผิดต่อใครบางคน จึงไม่ใช่เพราะว่าเขาอยากทำเลว แต่เพราะเขาเชื่อว่าเขากำลังทำสิ่งที่ถูกต้องยิ่งกว่าต่างหาก

ผมไม่ได้จะให้ท้ายคนทำผิดนะครับ แค่จะบอกว่า ถ้าเราตั้งต้นด้วยความเชื่อที่ว่าไม่มีใครอยากทำเลวอย่างที่คุณกันต์บอก เราก็ยังพอมีหวังอยู่บ้าง

มีหวังที่จะเข้าใจหรือยอมรับเรื่องราวต่างๆ อย่างที่มันเป็น มากกว่าด่วนตัดสินด้วยข้อมูลที่อาจหมดอายุหรือจากอคติที่ซ่อนอยู่ในใจ

และหลังจากที่เราเข้าใจหรือยอมรับได้แล้วเท่านั้น เราถึงจะพอมีโอกาสเปลี่ยนแปลงมันให้ดีขึ้นได้


ขอบคุณรูปภาพและข้อมูลจาก a day BULLETIN issue 478 | 27 March 2017

facebook.com/anontawongblog
anontawong.com/archives

ด่วนด่า

20170403_judge.png

Q.เวลาที่เราพูดถึงเรื่องความดี บางทีมันขึ้นอยู่กับดีของใคร เอาอะไรมาวัด
A. อืม… ไม่นะ จริงๆ มันน่าจะต้องเป็นหลักเดียวกัน แต่คุณอ้างเหตุผลในการเปลี่ยนมันเท่านั้นเอง คุณเปลี่ยนให้เข้าข้างตัวเองแค่นั้นเอง มันหลักเดิม เหมือนยกตัวอย่างง่ายๆ การเขียนคอมเมนต์ด่าคน หรือเขียนคอมเมนต์นินทา ไม่มีส่วนไหนของโลกบอกว่าการทำแบบนี้ถูกต้อง คุณรวมตัวกันตั้งฉายาให้คนอื่นเป็นอย่างโน้นอย่างนี้ ผมคิดว่าไม่มีในสื่อมวลชนในสังคมไหนถือว่านี่คือสิ่งถูกต้อง แต่เรากลับอะลุ่มอล่วยกับอะไรแบบนี้

Q. ที่ผ่านมา เจอเหตุการณ์ไหนหรือไปโดนอะไรมากับตัวหรือเปล่า
A. เปล่าๆ ผมไม่ค่อยโดนอะไรแบบนี้หรอก แต่เอาเข้าจริงๆ ผมว่าผมเข้าใจเขานะ คือเมื่อก่อนอาจจะไม่พอใจ เพราะไม่ชอบคนจิตใจไม่ดี จิตสำนึกไม่ดี ผมไม่ชอบ แต่ตอนนี้ผมก็เริ่มเข้าใจเขา ความจริงแล้ว ถ้ามีคนทำอะไรผิดขึ้นมา เราก็ชอบไปรุมด่าเขาใช่ไหม นี่ไม่เกิด ประโยชน์นะ เพราะมันไม่ทำให้เขาดีขึ้น ด่าเฉยๆ ใครก็ด่าได้ แต่จะเป็นประโยชน์ถ้าหาทางแก้ปัญหาหรือทำให้อะไรๆ ดีขึ้นได้ แต่บอกว่าไอ้นี่คือคนเลวระยำตำบอนก็แค่ด่า ไม่เกิดประโยชน์

– ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์
a day BULLETIN issue 459 20 JANUARY 2017 
เรื่อง : วรัญญู อินทรกำแหง, มิ่งขวัญ รัตนคช,กมลวรรณ ส่งสมบูรณ์
ภาพ : วงศกร ยี่ดวง
สไตลิสต์ : Hotcake


อ่านคำตอบของซันนี่แล้วทำให้ผมนึกถึงข่าวข่าวหนึ่งที่เป็นประเด็นร้อนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

ข่าวที่รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาถูกตำรวจญี่ปุ่นควบคุมตัวเพราะขโมยภาพวาดในโรงแรมไปสามภาพ

ถ้าให้ผมเดา ประเด็นข่าวอย่างนี้แหละที่นักข่าวชอบ เพราะมันมีองค์ประกอบแห่งความไวรัลอยู่

องค์ประกอบแรกคือตำแหน่งหน้าที่การงานซึ่งขัดแย้งกับการกระทำผิดสุดๆ

องค์ประกอบที่สองคือสถานที่เกิดเหตุ เพราะญี่ปุ่นเป็นประเทศที่คนไทยรู้จักและมีแบรนด์ที่ชัดเจนเรื่องความซื่อสัตย์สุจริต

ผมเองไม่ได้ติดตามข่าวนี้อย่างใกล้ชิด แต่ก็รับรู้ความคืบหน้าเป็นระยะๆ ผ่านทาง social networks

จำได้ว่าวันถัดมาก็มีการส่งต่อข้อความทางไลน์ บอกว่าหนึ่งในภาพที่ท่านรองฯ (ซึ่งเป็นผู้ชาย) คนนั้นขโมยไปคือภาพผู้หญิงญี่ปุ่นทรงโตโชว์ร่องอก

จากนั้นผมก็เห็นข่าวในเฟซบุ๊คฟีดว่า ทางการไทยจะเจรจากับญี่ปุ่นให้ส่งตัวกลับมาโดยไม่ต้องขึ้นศาลญี่ปุ่น

จากนั้นก็เห็นในฟีดอีกว่า ข้าราชการคนนี้โดนแค่ภาคทัณฑ์ ตัดเงินเดือน ไม่ได้โดนลงโทษทางวินัยแต่อย่างใด

ประเด็นเหล่านี้ล้วนเชิญชวนให้แชร์ต่อและก่นด่าความเป็นอภสิทธิ์ชนของผู้ใหญ่ในเมืองไทย


วันก่อนผมนั่งฟังพ็อดคาสท์ The Tim Ferriss Show  มีแขกคนหนึ่งทิ้งไว้น่าสนใจ

เขาบอกว่า เวลาคนเห็นข่าวอะไรแล้วโกรธหรือไม่เข้าใจ เขามักจะบ่นหรือพูดกับตัวเองว่า That doesn’t make any sense – มันไม่เมคเซ้นส์เลยซักนิด

แต่เขาก็บอกอีกว่า จริงๆ แล้วทุกอย่างนั้นเมคเซ้นส์เสมอ Everything always makes sense

ถ้าเราคิดว่ามันไม่เมคเซ้นส์ นั่นเป็นเพราะว่าเรายังมีข้อมูลไม่ครบถ้วนต่างหาก

เป็นถึงรองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญามาโขมยภาพเสียเองได้ยังไง

เมื่อทำผิดขนาดนี้ ทำไมไม่ปล่อยให้ญี่ปุ่นสั่งฟ้อง ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือทำไม

คดีความเสียหายต่อชื่อเสียงประเทศขนาดนี้ จะลงโทษแค่ภาคทัณฑ์และตัดเงินเดือนแค่นั้นเองเหรอ?

ไม่เมคเซ้นส์เลยซักนิด (จึงขอแชร์ขอบ่นหน่อยเถอะ)

แต่ถ้าเราลองตั้งสมมติฐานว่าทุกอย่างเมคเซ้นส์ล่ะ?

ผมเลยลองกลับไปนั่งย้อนอ่านข่าวดู จึงได้พบข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้

1. รองอธิบดีฯ ได้ออกจดหมายขอโทษและชี้แจงถึงเหตุการณ์

เมื่อเสร็จภารกิจในการเดินทางไปราชการที่ประเทศญี่ปุ่น กระผมได้มีโอกาสสังสรรค์กับเพื่อนชาวญี่ปุ่น ที่เป็นเพื่อนสมัยที่ผมไปศึกษาที่ญี่ปุ่น ได้สนุกสนานกันเต็มที่ จนเผลอตัวดื่มสุรามากเกินไป เป็นเหตุให้เมามายจนขาดสติโดยไม่รู้ตัว และกระทำในสิ่งที่ไม่ควรกระทำ…เมื่อมีเหตุที่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียดังกล่าว กระผมย่อมต้องแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำของตนตามแนวทางความคิดปกติในสังคมญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่กระผมได้เติบโตเล่าเรียนมาว่าการลาออกจากตำแหน่งหน้าที่เป็นการแสดงความรับผิดชอบที่พึงปฏิบัติ ดังนั้น กระผมขอแสดงเจตจำนงผ่านคำแถลงนี้ว่าจะขอลาออกจากตำแหน่งราชการ โดยจะยื่นใบลาออกให้ถูกต้องเป็นทางการต่อไป

ผมจึงเชื่อว่าที่เขาทำไปเพราะเมาเหล้าและคึกคะนอง ไม่ใช่ทำเพราะมีนิสัยขี้ขโมย เนื่องจากจุดที่ภาพโดนขโมยนั้นอยู่ในพื้นที่ส่วนกลางที่มีกล้องวงจรปิด แถมภาพก็ไม่ได้มีมูลค่าอะไรมากมาย ถ้ามีสติสัมปชัญญะครบถ้วนคงไม่มีใครเอาตัวเองมาเสี่ยง

ส่วนข่าวภาพวาดผู้หญิงโชว์ร่องอกที่ถูกอ้างว่าโดนขโมยนั้นเป็นการให้ข่าวที่ผิดพลาด เพราะภาพวาดที่ถูกขโมยจริงๆ นั้นเป็นเพียงภาพวิว

2. เรื่องที่ว่าทางการญี่ปุ่นไม่ส่งขึ้นศาลเพราะทางการไทยเข้าไปแทรกแซงช่วยเหลือ เขาก็มีคำอธิบายชัดเจนว่าญี่ปุ่นมีกฎหมายชะลอการฟ้อง หากอัยการพิจารณาแล้วเห็นว่าการฟ้องคดีต่อศาลไม่มีความจำเป็น อัยการมีอำนาจสั่งไม่ฟ้องคดีได้ ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีอาชญาวิทยาสมัยใหม่ ที่ไม่ต้องการลงโทษผู้กระทำความผิดทุกคน แต่ต้องการให้โอกาสผู้กระทำความผิดที่ไม่ใช่ผู้กระทำผิดโดยสันดานได้ปรับปรุงแก้ไขความประพฤติของตนเพื่อกลับคืนเข้าสู่สังคม โดยไม่ต้องถูกสังคมตีตราว่าเป็นนักโทษที่ต้องคำพิพากษาให้จำคุกในเรือนจำมาก่อน

3. ส่วนข่าวที่ระบุว่าทางการไทยจะลงโทษแค่ภาคทัณฑ์และตัดเงินเดือนนั้นก็เป็นข่าวที่ไม่มีมูลความจริง เพราะปลัดพาณิชย์ก็ออกมาแถลงว่ากำลังสอบสวนอยู่ มีโทษอยู่แค่ 2 โทษ คือ ปลดออก กับ ไล่ออก


ดูเหมือนว่าจะมีหลายประเด็นที่เกิดขึ้นเพราะความบกพร่องของสื่อเอง

แต่ก่อนที่เราจะไปต่อว่าสื่อว่าไม่มีจรรยาบรรณ ก็ต้องพยายามเข้าใจเขาก่อนเช่นกัน

เมื่อคนทำข่าวเองก็มีความกดดันให้สร้างเนื้อหาที่โดนและมีคนอ่านเยอะๆ จึงเป็นเรื่องธรรมดาที่ต้องการโหนกระแสและโหมกระแส เพื่อให้มีคนเข้ามาอ่านเว็บของตัวเองมากๆ เรื่องคุณภาพและความถูกต้องจึงมักจะตามมาทีหลัง

และจริงๆ แล้ว เราทุกคนที่เสพข่าวและส่งข่าวผ่านเฟซและไลน์ ก็ทำหน้าที่ “สื่อ” เหมือนกันไม่ใช่เหรอ?

ถ้าจะมีการส่งต่อข้อมูลผิดๆ เราเองในฐานะคนกดไลค์กดแชร์ก็มีส่วนร่วมในกระบวนการนี้เหมือนกัน

แล้วผมเองมีข้อเสนอแนะอย่างไรบ้าง?

1.ไม่ต้องรีบด่าได้ไหม?
อย่างที่ซันนี่บอก เรื่องด่าใครก็ทำได้ ยิ่งกระแสดราม่าแรงๆ เรายิ่งคันไม้คันมือที่จะขอเป็นผู้พิพากษาสมทบ แต่ยิ่งกระแสแรงเท่าไหร่ เราเองก็ยิ่งมีสิทธิ์ที่จะตกเป็น “เหยื่อ” และเป็น “ผู้ร่วมกระทำผิด” ในการส่งต่อข้อมูลที่คลาดเคลื่อนมากเท่านั้น

บางคนอาจจะแย้งว่า เราไม่มีเวลาว่างมากพอที่จะมานั่งอ่านข้อมูลทั้งหมดซักหน่อย จะให้นั่งเฉยๆ ไม่ทำอะไรเมื่อเห็นเรื่องไม่ถูกต้องเหรอ?

ผมเลยมีอีกข้อเสนอนึง

2.ไม้ล้มข้ามได้ คนล้มอย่าข้าม
โดย “ไม้” ในที่นี้คือองค์กร เป็นเพียงสิ่งสมมติที่สังคมสร้างขึ้นมา เพราะฉะนั้นคุณจะด่าจะว่าอย่างไรมันก็ไม่เจ็บ ดังนั้นถ้าอยากด่ารัฐบาลก็ด่าไปเถอะ อยากด่าบริษัทหน้าเลือดก็ด่าไปเถอะ เพราะมันเป็นสิ่งหนึ่งที่เขาต้องรับสภาพอยู่แล้ว

แต่ถ้าจำเลยสังคมเป็นคนๆ หนึ่ง ที่มีเลือดมีเนื้อ มีลูกมีเมีย มีพ่อมีแม่ ผมคิดว่าการไปรุมกระทืบเขาให้จมดินเป็นเรื่องที่ใจร้ายไปหน่อย

ผมคงจะรู้สึกผิดไม่น้อยถ้าผมเป็นคนหนึ่งที่ไปรุมกระทืบเขา แล้วมารู้ตัวทีหลังว่าเราเข้าใจข้อมูลคลาดเคลื่อนหรือข้อมูลด้านเดียว จะไปขอโทษก็ไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้นมา เพราะเราได้มีส่วนร่วมทำลายชีวิตคนๆ หนึ่งด้วยอคติและการด่วนตัดสินของเราไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ข้อเสนอของผมก็มีเพียงเท่านี้ คืออย่าเพิ่งด่วนตัดสิน และถ้าจะตัดสินจริงๆ ก็ขอให้นึกถึงผลกระทบที่จะตามมากับเขาและครอบครัวของเขาด้วยครับ

ผมเชื่อว่าวันนึง ถ้าเราต้องตกเป็นจำเลยสังคมเสียเอง เราก็คงมีความปรารถนานี้เหมือนกัน


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก a day BULLETIN issue 459 20 JANUARY 2017 

ตอนใหม่ facebook.com/anontawongblog
ตอนเก่า anontawong.com/archives
ดาวน์โหลด eBook – เกิดใหม่

ใช้กรรมด้วยความสนุก

20160923_joeyboy

ผมคิดว่าตัวเองอยู่ตรงนี้เพื่อใช้กรรมให้มันสนุกที่สุด เคยนั่งคิดนะว่ามนุษย์เกิดมาใช้กรรม แถมเป็นสัตว์ขี้เบื่อ มนุษย์ก็เลยเบื่อกรรมที่ตัวเองต้องผจญอยู่ทุกวัน เลยเสาะแสวงหากรรมใหม่ๆ ไปเรื่อยๆ แล้วก็เรียกมันว่าความสุขเท่านั้นเอง แค่เข้าใจสิ่งต่างๆ แล้วก็ทำไป

– อภิสิทธิ์ โอภาสเอี่ยมลิขิต
a day BULLETIN issue 426: 19-25 September 2016
สัมภาษณ์: วรรณวนัช ท้วมสมบูรณ์, ปริญญา ก้อนรัมย์
ถ่ายภาพ: ภาสกร ธวัชธาตรี
สไตลิสต์: Hotcake


ถ้าใครได้ดู The Voice Thailand สัปดาห์ที่แล้ว อาจจะถึงกับอึ้งที่เห็นพี่ก้องขึ้นไปโซโล่กีตาร์ขั้นเทพเพลง Black in Black

มาสัปดาห์นี้ผมก็ได้อึ้งกับโค้ชอีกคนหนึ่งคือพี่โจอี้บอย ที่มาให้สัมภาษณ์ลง a day BULLETIN

อึ้งเพราะได้เห็นมุมมองเกี่ยวกับธรรมะที่ลึกซึ้งมาก ซึ่งขัดกับภาพลักษณ์ของพี่เขาไม่น้อย

ผมคิดว่าตัวเองอยู่ตรงนี้เพื่อใช้กรรมให้มันสนุกที่สุด

เป็นการตีความธรรมะในรูปแบบที่ผมไม่เคยเจอมาก่อน

แต่จริงๆ แล้วมันก็คือแก่นเดียวกับที่พระท่านสอน ว่าถ้าหากมีความทุกข์ จงใช้ความทุกข์นั้นให้เป็นประโยชน์สำหรับการภาวนา

แต่ภาษาพี่โจอี้น่าจะเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ดีกว่า

คือในเมื่อเราเกิดมาแล้ว และต้องมาเจอกับผลลัพธ์ (วิบาก) ของการกระทำของเราในอดีต (กรรม) แทนที่จะไปตีโพยตีพายว่าโลกนี้มันไม่แฟร์ สู้สนุกกับมันไปเลยไม่ดีกว่าหรือ?

เพราะเวลาของเรามีน้อย และพลังงานของเราก็มีจำกัด จึงไม่ควรสูญเสียมันไปกับการฟูมฟายหรือกระวนกระวายใจ

เพราะสุดท้ายแล้ว ทุกอย่างจะโอเคเสมอครับ


ขอบคุณข้อมูลและภาพจาก a day BULLETIN issue 426: 19-25 September 2016

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (กดไลค์แล้วเลือก See First หรือ Get Notifications ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

ตัดสิน

20160903_judge

Q: หลายคนบอกว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่เหนื่อย แล้วคุณคิดว่าความเหนื่อยของวัยรุ่นยุคนี้คืออะไร

A: ผมว่าเหนื่อยที่ต้องมานั่งเล่นโทรศัพท์นี่แหละ เหนื่อยที่ต้องมารับรู้อะไรที่มันตื้นๆ แต่ก็เข้าใจว่าตัวเองรับรู้อะไรได้เยอะและเร็ว ผมรู้สึกว่าความง่ายของการรับรู้ข่าวสารมันเป็นปัญหามากเลยนะครับ เพราะพอมันง่ายปุ๊ป ความยากที่ตามมาก็คือ เราจะแยกความจริงออกจากของปลอมที่มีอยู่มากมายได้ยังไง อย่างเมื่อก่อนเราอ่านหนังสือพิมพ์ได้ไม่เกิน 3 ฉบับ มีข่าวสารประมาณนี้ แต่ค่อนข้างถูกกรองมาแล้ว แต่ทุกวันนี้มีทั้งทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก อ่านกันเข้าไป อ่านไปพันหัวข้อ แต่มีเรื่องจริงถึง 10 หัวข้อหรือเปล่าก็ไม่รู้ ซึ่งตัวเองผมเองก็จะไม่ค่อยเล่นเลย ไม่อ่านหนังสือพิมพ์ ไม่รู้อะไรเลย ซึ่งอันนี้ก็คงสุดโต่งไปในด้านที่ไม่ถูกต้อง เพราะผมคิดว่าอะไรก็ตามที่อยู่ตรงกลางน่าจะดีที่สุด เพราะฉะนั้นผมมองว่าปัญหาของวัยรุ่นทุกวันนี้คือการไม่รู้ แล้วไปตัดสินสิ่งที่ตัวเองไม่รู้นั่นแหละ

a day BULLETIN issue 360: 15-21 June 2015
สัมภาษณ์: เอกพล บรรลือ, ปริญญา ก้อนรัมย์
ภาพ: ภาสกร ธวัชธาตรี


ช่วงสี่ห้าปีที่ผ่านมา ผมมีความมั่นใจในตัวเองน้อยลงไปมาก

โดยเฉพาะกับเรื่องเหตุการณ์ที่เป็นข่าวคราวครึกโครม

พระธัมมชโยผิดจริงรึเปล่า? รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะสร้างปัญหาอะไรบ้าง? ใครจะเป็นนายกคนต่อไป?

เรื่องพวกนี้ผมไม่เคยประกาศจุดยืน แถมบางเรื่องไม่มีจุดยืนเลยด้วยซ้ำ เพราะรู้สึกว่าไม่ได้ติดตามข่าวเพียงพอ ข้อมูลที่มีจึงเป็นข้อมูลที่ตื้นเขินเกินกว่าจะฟันธงเรื่องใดๆ

แต่ก่อนผมก็ชอบตามข่าวดาราและข่าวการเมือง เพราะว่ามันสนุกดีที่ได้ตัดสินและวิจารณ์คนนั้นคนนี้ว่าเป็นยังไง

แต่ผมก็ได้พบว่าข่าวกว่า 99% ที่ผมตามอยู่นั้น ไม่มีผลกระทบอะไรต่อชีวิตผมเลย

ส่วนอีก 1% ที่เหลือ ที่มีผลกระทบกับชีวิตผมอย่างมีนัยสำคัญ ยังไงผมก็จะรู้มันได้จากคนรอบข้างอยู่ดี

ดังนั้น การตามข่าว (และคอยตัดสิน) คนอื่นนั้นจึงไม่มีประโยชน์เท่าไหร่

ผมเชื่อว่าข่าวสารต่างๆ มันจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อเราเอามันมาช่วยตัดสินการกระทำของตัวเอง

พระธัมมชโยจะผิดไหม จึงไม่สำคัญเท่ากับว่าผมเองได้ดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนรึยัง

รัฐธรรมนูญจะสร้างปัญหาอะไรบ้าง จึงไม่สำคัญเท่ากับว่าผมจะออกไปใช้สิทธิ์ประชามติรึเปล่า

และใครจะเป็นนายกคนต่อไป ก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าผมจะช่วยสังคมไทยอย่างไรได้บ้าง (หนึ่งในคำตอบคือการเขียนบล็อกนี้)

เขาถึงมีคำพูดว่า ดูหนัง ดูละคร แล้วย้อนดูตัว

ถ้ามัวแต่ดูคนอื่น วิพากษ์วิจารณ์คนอื่นโดยไม่หันมาวิพากษ์ตัวเองบ้างเลย

ก็นับได้ว่าเป็นการเสียโอกาสอย่างร้ายกาจเลยทีเดียว


ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก a day BULLETIN issue 360: 15-21 June 2015 

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (กดไลค์แล้วเลือก See First หรือ Get Notifications ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com