เราอาจหลงลืมไปว่าเราโชคดีแค่ไหนแล้ว

Jimmy Carr นักแสดงตลกชื่อดังชาวอังกฤษวัย 51 ปี เพิ่งให้สัมภาษณ์กับ Steven Barlett วัย 31 ปีในพ็อดแคสต์ The Diary of a CEO ไว้ว่า

“หลังจากไตร่ตรองอยู่นาน ผมก็ได้ข้อสรุปว่า ‘การรู้คุณค่า’ (gratitude) น่าจะเป็นคุณธรรมตัวแม่ของคุณธรรมทั้งมวล

และผมขอเดาว่า คุณน่าจะยอมแลกทุกอย่างที่คุณจะมีในครอบครองในอีก 30 ปีข้างหน้า เพื่อให้คุณได้กลับมาอายุเท่าตอนนี้ และมีสุขภาพแข็งแรงเหมือนตอนนี้

ผมว่ามันเป็นการทดลองทางความคิดที่น่าสนใจดีนะ

ลองจินตนาการถึงตัวเองในอีก 30 ปีข้างหน้า และถ้าตอนนั้นคุณมีของวิเศษที่สามารถเสกให้คุณกลับมามีสุขภาพแข็งแรงเท่าตอนนี้ รู้สึกดีขนาดนี้ และมีอายุเท่าตอนนี้ ผมว่าคุณน่าจะยอมสละสมบัติทางวัตถุทั้งหมดที่คุณมี เพื่อจะได้กลับมานั่งอยู่ตรงนี้

ลองหยุดคิดดูสักครู่ แล้วมันอาจเปลี่ยนความรู้สึกและการกระทำของคุณในวันนี้ก็ได้

ผมคิดว่าพวกเราในโลกตะวันตกกำลังเจ็บป่วยด้วยภาวะ “การมองชีวิตที่ผิดเพี้ยน” (life dysmorphia)

คนไม่น้อยคิดว่าชีวิตของตนนั้นแย่มาก เพราะมนุษย์เราคุ้นชินกับชีวิตดีๆ ได้อย่างง่ายดายเหลือเกิน

ลองคิดดูนะ คนส่วนใหญ่ไม่มีเครื่องทำน้ำอุ่นจนกระทั่งเมื่อ 50 ปีที่แล้ว

เพื่อนคนนึงเคยบอกผมว่า ตอนที่คุณกำลังอาบน้ำอุ่นจากฝักบัว ให้ลองหยุดนึกดูสักครู่ ว่าไม่มีบุคคลใดที่มีชีวิตอยู่ 100 ปีก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะร่ำรวยหรือมีชีวิตน่าอิจฉาแค่ไหน ไม่มีใครเคยได้รับความสุขอันแสนธรรมดาอย่างการอาบน้ำอุ่นจากฝักบัวเลย

โลกใบนี้เคยมีมนุษย์เกิดขึ้นมาแล้วทั้งหมด 1 แสนล้านคน คนในยุคปัจจุบันจัดอยู่ใน Top 1% ในแง่ของคุณภาพชีวิต เรามีอาหารให้กินโดยแทบไม่เคยต้องกังวล ลูกหลานของเราไม่เสียชีวิตในขวบปีแรก เรามีการแพทย์สมัยใหม่ เรามีความบันเทิงให้เลือกเสพมากมาย

เรามีชีวิตที่สุขสบายยิ่งกว่าเจ้าหญิงและเจ้าชาย และแม้ว่าคุณภาพชีวิตของเราจะดีกว่ายุคก่อนอย่างไม่มีใครปฏิเสธได้ แต่ความรู้สึกทางจิตใจของเรากลับย่ำแย่”


Jimmy Carr พูดถึงความโชคดีในสองระดับ

หนึ่งคือความโชคดีทางอายุ สองคือความโชคดีของยุคสมัย

เริ่มจากความโชคดีทางอายุก่อน

เราเองถูกสังคมคาดหวังให้ “สร้างอนาคต” ให้อดเปรี้ยวไว้กินหวาน ให้พัฒนาตนเองเพื่อที่จะสุขสบายในวันข้างหน้า

แต่เมื่อเลยวัย 40 มาแล้ว ผมเริ่มคิดว่า “ภาพฝันของอนาคต” มันเป็นเหมือนมิราจกลางทะเลทราย ที่ล่อหลอกให้เราเดินไปเรื่อยๆ แต่ไม่เคยมีอยู่จริง

ผมเคยเขียนบทความ “วัยสี่สิบกว่าคือนาทีทอง” หลังจากได้นั่งพูดคุยกับ “พี่อ้น” วรรณิภา ภักดีบุตร mentor ของผมในโครงการ IMET MAX

พี่อ้นบอกว่าวัยสี่สิบคือช่วงที่ดี เพราะเรามีประสบการณ์มากพอ ยังมีกำลังวังชา ลูกยังฟังเราอยู่ คนรอบตัวยังไม่เจ็บไม่ตาย นี่คือช่วงชีวิตที่เราสามารถทำอะไรได้อย่างเต็มที่

จะว่าไป วัยสี่สิบกว่านี่อาจจะเป็น “ช่วงพีคสุด” ของชีวิตแล้วก็ได้ เพราะแม้ร่างกายจะเริ่มโรยราแต่ก็ยังดูแลตัวเองและคนรอบข้างไหว หน้าที่การงานก็ยังมีความก้าวหน้าและมีความหวังว่ามันจะยังไปต่อได้อีก

ถ้าเราไม่หัดพอใจในปัจจุบัน เพียงเพราะภาพฝันในอนาคตมันดีกว่าตอนนี้ เราก็อาจจะผ่านพ้นช่วงที่ดีที่สุดไปโดยได้แต่กลับมานั่งเสียดายภายหลัง

อีก 30 ปีข้างหน้า คงยังไม่มีของวิเศษชิ้นใดที่จะพาเรากลับมาอยู่ในร่างกายแบบตอนนี้ได้ ดังนั้นจงเห็นคุณค่าของวัยหนุ่มสาวและใช้มันให้เต็มที่ในการสร้างอนาคตโดยไม่ละเลยที่จะมีความสุขในวันนี้ด้วย


ส่วนความโชคดีของยุคสมัย Jimmy Carr ยกตัวอย่างการมีน้ำอุ่นให้ใช้ ซึ่งอากาศร้อนแบบนี้คนไทยคงไม่อิน ผมเลยลองไปค้นข้อมูลว่าคนไทยเริ่มมีแอร์ใช้เมื่อไหร่ ก็พบว่าเมื่อประมาณ 40-50 ปีที่แล้วนี้เอง

แค่เทียบกับสมัยที่รุ่นพ่อรุ่นแม่เรายังหนุ่มสาว ชีวิตเราก็สุขสบายกว่าในหลายมิติแล้ว อยากหาข้อมูลก็ไม่ต้องเข้าห้องสมุด อยากเดินทางไปไหนก็ไม่ต้องกลัวหลง ทำงานได้จากทุกที่ ทางเลือกในการหาเลี้ยงชีพก็เปิดกว้าง ขนาดมีโรคระบาดหนักไปทั่วโลก มนุษยชาติก็ยังผ่านมันมาได้ไวกว่าที่คิด ถ้าเกิดโรคระบาดระดับเดียวกันเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ผมว่า Homo Sapiens อาจถึงขั้นสูญพันธุ์เลยด้วยซ้ำ

ยิ่งถ้าย้อนกลับไปเทียบกับชีวิตเจ้าหญิงเจ้าชายเมื่อ 200 ปีที่แล้ว ต่อให้ภาพจำจากในหนังจะสวยงามเพียงใด เพียงแค่คิดว่าสมัยนั้นเขาไม่มีส้วมและน้ำประปาให้ใช้เหมือนตอนนี้ ก็รู้สึกว่าอยู่ยากแล้ว

แน่นอนว่ายุคนี้ก็มีปัญหาที่คนยุคก่อนไม่เคยต้องเจอ ทั้งเรื่องโลกร้อนและภูมิรัฐศาสตร์อันผันผวน แต่ในเมื่อเรามีชีวิตอยู่ในยุคนี้แล้วก็ต้องปรับตัวและเดินหน้ากันต่อไป

การตระหนักว่าเราโชคดีแค่ไหน ทั้งในแง่อายุและยุคสมัย จึงไม่ใช่การปลอบประโลมหรือหลอกตัวเอง แต่เป็นการมองให้เห็นคุณค่าในสิ่งที่เราเคยมองข้ามมาโดยตลอด เพื่อจะได้ตระหนักว่าเรามีทรัพยากรอะไรให้หยิบใช้บ้าง

ชีวิตตอนนี้คือชีวิตที่ดีที่สุด และสิ่งเดียวที่เราทำได้ คือทำมันให้ดีที่สุดตามกำลังที่เรามีครับ

เมื่อถึงจุดหนึ่ง Self-Improvement จะไม่สำคัญเท่า Self-Acceptance

เมื่อถึงจุดหนึ่ง Self-Improvement จะไม่สำคัญเท่า Self-Acceptance

เวลาเดินเข้าร้านหนังสือ มุมหนึ่งที่ผมไปเยือนบ่อยที่สุดคือมุม Self-Improvement หรือ Self-Help

มีหนังสือมากมายที่สอนว่าเราจะทำงานเก่งกว่านี้ได้อย่างไร จัดการตัวเองให้ดีขึ้นได้อย่างไร ดูแลร่างกายให้แข็งแรงขึ้นได้อย่างไร

พ็อดแคสต์ชื่อดังหลายรายการที่ผมฟังก็จะโคจรรอบหัวข้อประมาณนี้

ดูเหมือนมนุษย์ทุกคนอยากเป็นคนที่เก่งขึ้น หรือถ้าให้ตรงประเด็นยิ่งกว่านั้นก็คือ ทุกคนอยากมีชีวิตที่ดี

แต่สมการชีวิตที่ “ดี” ก็มีส่วนประกอบสองอย่าง คือความจริงของโลกภายนอก กับความคาดหวังของโลกภายใน

ที่ผ่านมาเราพยายาม “พัฒนา” ความจริงของโลกภายนอก เพื่อให้ทำงานได้มากขึ้น หาเงินได้มากขึ้น ดูดีขึ้น

แต่ไม่ว่าเราจะพัฒนาไปเท่าไหร่ ความคาดหวังของโลกภายในมักจะตามทันเสมอ

เพราะในโลกโซเชียลนั้น เรื่องมหัศจรรย์ถูกทำให้เป็นเรื่องธรรมดา

ในความหมายที่ว่า เรื่องราวของคนระดับ Top 1% หรือแม้กระทั่ง Top 0.01% จะถูกแชร์ให้เราเห็นอยู่ทุกวัน จนรู้สึกว่ามันเป็น “เรื่องปกติ” ทั้งที่จริงแล้วมันไม่มีอะไรปกติเลย

เมื่อเห็นคนที่เก่งกว่า รวยกว่า ดูดีกว่า เราก็อาจจะมีปฏิกิริยาหนึ่งในสามอย่างนี้

หนึ่ง คือเราฮึกเหิม เกิดแรงบันดาลใจ และเราก็ออกไป “วิ่ง” เพื่อไขว่คว้า

สอง คือเรารู้สึกด้อยค่า ว่าทำไมเราถึงยังไม่ดีเท่าเขา

สาม คือปฏิเสธเส้นทางของคนเหล่านั้น อารมณ์หมาจิ้งจอกกับองุ่นเปรี้ยว

แต่มันอาจจะมีทางที่สี่ก็ได้

กลับมาที่สมการนี้

ชีวิตที่ดี = ความเป็นจริงของโลกภายนอก – ความคาดหวังของโลกภายใน

สำหรับคนที่ชีวิตเพิ่งเริ่มต้น แน่นอนว่าเราต้องทำความจริงของโลกภายนอกให้ดีขึ้นก่อน อย่างน้อยให้ถึงจุดที่เราสามารถเลี้ยงดูตัวเองและคนที่เรารักได้

แต่มีงานวิจัยมากมาย ที่ระบุว่าเมื่อเรามีรายได้ถึงจุดหนึ่ง การมีรายได้เพิ่มขึ้นไม่ได้นำพามาซึ่งความสุขที่เพิ่มขึ้นในอัตราเดียวกันอีกต่อไป

คำถามสำคัญก็คือเรามาถึงจุดนั้นแล้วหรือยัง ไม่ใช่แค่เรื่องรายได้ แต่ยังหมายถึงมิติอื่นๆ ด้วยเช่นความแข็งแรงหรือความดูดี

เพราะถ้าเราคิดแต่จะ beat yesterday เราก็กำลังหลบตาความจริงที่ว่า สังขารทั้งหลายย่อมมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา

เมื่อถึงจุดที่โลกภายนอกดีพอแล้ว เราจึงควรกลับมาจัดการโลกภายในให้พอดี

ในการ์ตูนเรื่อง One Piece มีตัวละครหนึ่งเคยพูดเอาไว้ทำนองว่า

“สัญญาณของการเติบโต คือการยอมรับในข้อจำกัดของตัวเอง”

พี่อ้น วรรณิภา ภักดีบุตร mentor ของผม เคยบอกไว้ว่า

“เราสามารถชื่นชมคนอื่นได้ โดยไม่ต้องอยากเป็นอย่างเขา”

เมื่อเราเรียนรู้ที่จะสงบศึกกับตัวเอง รู้ตัวว่าเราเหมาะกับอะไร ไม่เหมาะกับอะไร และยอมรับว่าต่อให้เราพยายามกว่านี้ มันก็จะได้ประมาณนี้แหละ

เราก็อาจโล่งอกที่ไม่ต้อง “วิ่ง” ไปตลอด และไม่รู้สึกผิดกับการอยู่เฉยๆ

เมื่อถึงจุดหนึ่งในชีวิต การพัฒนาตัวเองจะไม่สำคัญเท่ากับการยอมรับตัวเองครับ

ก่อนจะทำอะไร ถามตัวเองว่ายืนระยะได้รึเปล่า

ผมเคยได้รับเชิญไปพูดเรื่อง Time Management ให้กับองค์กรใหญ่แห่งหนึ่ง ซึ่งผมเลือกตั้งชื่อหัวข้อว่า “52 Things I Know About Time Management”

1 ใน 52 ข้อที่ผมพูดถึง คือ The best routine is the one you can keep doing – รูทีนที่ดีที่สุดคือรูทีนที่เราทำได้เรื่อยๆ

ฟังดูเป็นเรื่องธรรมดาแต่ผมว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก

เพราะคนที่สนใจเรื่อง routine – ซึ่งมักจะเป็นคนที่สนใจเรื่อง productivity – มักจะหวังผลเลิศจากสิ่งที่เพิ่งได้เรียนรู้มา เช่น

การตื่นนอนตั้งแต่ตี 5 ตามหนังสือ The 5AM Club

การเขียน gratitude journal เพื่อจดสิ่งที่เราขอบคุณ

การจดโน้ตแบบ Zettelkasten ที่ลิงค์คลังความรู้ของเราไว้ด้วยกัน ช่วยให้เราเชื่อมโยงความคิดที่หลากหลายได้

การกินคลีน

การออกกำลังกายตามอินฟลูชื่อดังในยูทูบ

การวิ่งให้ได้เพซห้าต้นๆ หรือวิ่งจบมาราธอนแบบ sub-4

เมื่อเราเห็นคนอื่นทำแล้วดี ทำแล้วมีคนชื่นชม เราก็อยากทำได้บ้าง ซึ่งบังคับให้ต้องปรับเปลี่ยนหรือฝืนตัวเองพอสมควร

และบ่อยครั้งที่เราตั้งเป้าสูงเกินไป เร่งรัดเกินไป หรือเคร่งครัดเกินไป จนเราอาจจะทำได้แค่ไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์แล้วก็ต้องล้มเลิกด้วยความรู้สึกเฟลๆ

ดังนั้น ก่อนที่เราจะอยากทำให้ได้อย่างเขา ต้องประเมินตัวเองด้วยว่ามันเหมาะกับเรารึเปล่า

ถ้าการตื่นตี 5 มันไม่ได้เหมาะกับบริบทชีวิตเรา ก็ตื่นสายหน่อยก็ได้

ถ้าการจดโน้ตแบบ Zettelkasten มันไม่ได้ถูกจริตคนชิลๆ อย่างเรา ก็อย่าไปฝืน

ถ้ากินคลีนแล้วไม่มีความสุข และทำให้คนรอบข้างลำบาก ก็ควรกินแบบผสมผสานรึเปล่า

ถ้าวิ่งเพซห้ากว่าแล้วทำให้เราไม่สนุกกับการวิ่ง การวิ่งเพซหกเพซเจ็ดก็ไม่ผิดอะไร

คล้ายกับสิ่งที่ Morgan Housel เขียนไว้ในหนังสือ The Psychology of Money ว่าปัจจัยสำคัญที่สุดในการลงทุนคือ “เวลา” ที่เราอยู่ในตลาด

95% ของมูลค่าทรัพย์สินทั้งหมดของ Warren Buffett นั้นเพิ่งงอกเงยหลังจากบัฟเฟตต์พ้นวัยเกษียณมาแล้ว

มีนักลงทุนหลายคนที่ทำผลตอบแทนปีต่อปีสูงกว่าบัฟเฟตต์เสียอีก แต่เขาก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่เท่าบัฟเฟต์ เพราะไม่ได้ลงทุนมายาวนานเท่า

เพราะ “เวลา” หรือ “t” นั้นคือ “ตัวเลขยกกำลัง” ในสมการผลตอบแทนการลงทุน

ผลตอบแทนต่อปีจะเยอะเท่าไหร่ จึงไม่สำคัญเท่าเราอยู่กับมันยาวนานแค่ไหน

ดังนั้นเราไม่จำเป็นต้องทำ routine ที่ “ผลตอบแทน” เยอะก็ได้ เอาที่ผลตอบแทนพอประมาณ แต่เราสามารถทำได้เป็นปีๆ หรือบางทีก็ทำได้ทั้งชีวิต

“I’m not interested in anything that’s not sustainable. Friendships, investing, careers, podcasts, reading habits, exercise habits. If I can’t keep it going, I’m not interested in it.”
Morgan Housel

ก่อนจะทำอะไร ถามตัวเองว่ายืนระยะได้รึเปล่าครับ

ครึ่งหนึ่งของความสำเร็จคือการประเมินตัวเองให้ถูกต้อง

เวลาเราเข้า Google Maps ค้นหาจุดหมายปลายทางเรียบร้อย มันจะถามเราก่อนว่าเราจะออกเดินทางจากที่ไหน ใช่ current location หรือไม่

การรู้ว่าตัวอยู่ตรงจุดไหนจึงเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้ในการไปให้ถึงเป้าหมาย

หากประเมินตัวเองต่ำเกินจริง เราจะกลัว เราจะไม่กล้าเสี่ยง เราจะล้มเลิกตั้งแต่ยังไม่เริ่มต้น

หากประเมินตัวเองสูงเกินจริง เราอาจประมาท เราอาจชะล่าใจ เราอาจไม่ฟังคำคนอื่นจนหมดคนคอยเตือน

เราจึงจำเป็นต้องรู้จุดแข็ง-จุดอ่อนของเราให้ดี อะไรที่เก่งก็หยิบขึ้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อะไรที่ไม่ถนัดก็จงยอมรับและขอความช่วยเหลือ

ครึ่งหนึ่งของความสำเร็จคือการประเมินตัวเองให้ถูกต้อง

และครึ่งหนึ่งของล้มเหลวคือการประเมินตัวเองที่ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงครับ

ผู้ชายวัย 40 ควรเลิกสั่ง “พิเศษชามนึง”

ผมเพิ่งมาสังเกตตัวเองไม่นานมานี้ว่า เวลาสั่งก๋วยเตี๋ยวหรือข้าวมันไก่ ผมมักจะสั่ง “พิเศษ” เสมอ

พอลองทบทวนว่าเริ่มสั่งพิเศษมาตั้งแต่เมื่อไหร่ ก็จำได้ว่าน่าจะตั้งแต่สมัยมัธยม

ช่วงนั้นคือช่วงที่เรากำลังตื่นเต้นกับการเติบโตของร่างกาย เริ่มสูงแซงหน้าเพื่อนผู้หญิง เริ่มดื่มนมจริงจัง เริ่มหัดเล่นบาสเพราะเชื่อว่ามันจะช่วยให้เราตัวสูงขึ้นไปอีก เป็นช่วงที่เรากินข้าวกินปลาได้มากกว่าวัยประถมอย่างเห็นได้ชัด

เมื่ออยากกินเยอะๆ จะได้โตไวๆ ก็เลยติดนิสัยสั่งอาหารแล้วตามด้วยช้อยส์ “พิเศษ”

เด็กผู้ชายจะหยุดโตตอนอายุ 18 ดังนั้นผมก็หยุดโตมา 25 ปีแล้ว แต่ผมกลับไม่หยุดสั่งพิเศษ คงเพราะเป็นความเคยชิน และคงเพราะกลัวว่าถ้าสั่งธรรมดาแล้วจะไม่อิ่มท้อง

แต่พอผมเริ่มทดลองสั่งแบบธรรมดาดู ก็พบว่าชีวิตไม่ได้เดือดร้อนอะไร แม้มันจะไม่ได้อิ่มแปล้ แต่ก็อิ่มแบบสบายๆ เพราะร่างกายของวัยกลางคนที่ทำงานออฟฟิศและไม่ได้เตะบอลทุกวันไม่ได้ต้องการแคลอรี่เท่าวัยหนุ่มอีกต่อไป

เอาที่จริงปัญหาของคนเราทุกวันนี้มักไม่ได้เกิดจากความขาดแคลน แต่เกิดจากความล้นเกิน

กินเยอะเกินไป เล่นมือถือเยอะเกินไป ทำงานเยอะเกินไป คิดเยอะเกินไป

ดังนั้นถ้าอยากจะมีความบาลานซ์ เราต้องพยายามทำให้น้อยไปนิดนึง แล้วมันจะพอดี

เหมือนที่พระท่านว่า กินอาหารสี่ส่วน ดื่มน้ำอีกหนึ่งส่วน แล้วมันจะอิ่มกำลังดี

และถึงแม้กินไม่เยอะแล้วหิวเร็ว ก็เป็นโอกาสที่จะได้หัดเป็นเพื่อนกับความหิว เพราะเมื่อไหร่ที่ร่างกายเราหิว มันจะสร้าง growth hormone ที่ช่วยคงความหนุ่มสาวเอาไว้ด้วยเช่นกัน

ใครที่รู้ตัวว่าสั่ง “พิเศษชามนึง” มานาน ลองสั่งธรรมดาดูบ้างก็น่าจะดีนะครับ