วัยสี่สิบกว่าคือนาทีทอง (เคล็ดวิชาชีวิตจากพี่อ้น IMET MAX ตอนที่ 1)

ตามที่เคยได้เล่าลงในบล็อกนี้ว่าผมได้รับโอกาสเข้าร่วมโครงการ IMET MAX ครั้งที่ 5

IMET MAX เป็น mentoring program ที่มุ่งหมายจะสร้าง “อุทยานผู้นำ” โดยแต่ละรุ่นจะมี mentor 12 ท่าน และ mentee 36 คน

Mentee จะได้รับการจัดเป็นกลุ่มละ 3 คน ผมได้อยู่กลุ่มเดียวกับ “อ้อ” ผู้บริหารของ SCB Digital Banking และ “เอ็ม” ผู้ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของ ARINCARE 

อ้อ เอ็ม และผมได้ “พี่อ้น” เป็นเมนทอร์

พี่อ้น หรือคุณวรรณิภา ภักดีบุตร ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน)

พี่อ้นเคยทำงานอยู่ยูนิลีเวอร์มา 30 ปี ก่อนที่จะได้รับการทาบทามมาช่วยนำโอสถสภาเข้าตลาดหุ้น โดยใช้เวลา 2 ปีก็สามารถ IPO ได้สำเร็จ

นัดครั้งแรกของเราเกิดขึ้นเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ที่ร้านฉันท์ แอนด์ ยุพา ซอยสุขุมวิท 12 ทุกคนใส่เสื้อยืดสีขาวโดยไม่ได้นัดหมาย เราสั่งเมนูชื่อไม่คุ้นหูอย่าง “ประทัดลม” “ผัดผักเย็น” และ “ปลาเบญจรส” และคุยกันอย่างออกรสออกชาติ

ใช้เวลาด้วยกันสามชั่วโมงกว่า ได้อะไรมากมายกลับมาคิดต่อ ต้องขอบคุณเอ็มกับอ้อที่ช่วยกันจดโน้ต

พวกเราจะได้เจอกันเดือนละครั้งไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน ผมจึงมีความตั้งใจว่าจะนำบทเรียนบางส่วนที่ได้จากพี่อ้นมาบันทึกไว้ในบล็อกนี้จนถึงสิ้นปีเช่นกันครับ

1.ไม่รู้ (บางทีก็) ดีที่สุด

ตาม career path ของพี่อ้นนั้น สามารถอยู่ที่ยูนิลีเวอร์จนเกษียณได้เลย แต่พี่อ้นก็เลือกที่จะย้ายมาโอสถสภา

ที่ตัดสินใจย้าย เพราะพี่อ้นทำงานบริษัทข้ามชาติมาทั้งชีวิต ก่อนเกษียณเลยอยากลองทำงานองค์กรไทยดูบ้าง

แถมโอสถสภาก็ไม่ใช่องค์กรไทยธรรมดา แต่เป็นองค์กรไทยที่มีอายุถึง 130 ปี โดยมีจุดกำเนิดในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นร้านขายของเบ็ดเตล็ดย่านสำเพ็งชื่อว่า “เต๊กเฮงหยู” (ป้ายร้านเขียนว่า “เต๊กเฮ้งหยุ”)

เมื่อพี่อ้นมาถึง ก็มีเรื่องต้องปรับมากมาย โดยใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการปรับทีมและวัฒนธรรมการทำงาน แถมยังมีเดดไลน์จ่อคออยู่คือต้องเอาบริษัทเข้าตลาดหุ้น

พี่อ้นบอกว่า ถ้าก่อนมาเขารู้ว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง พี่อ้นอาจจะไม่รับงานนี้ก็ได้

บางทีการไม่รู้จึงเป็นเรื่องดีที่สุด เพราะรู้แล้วอาจจะคิดมากจนเราไม่กล้าออกจาก comfort zone

.

2. 10=20

ก่อนจะรับงานที่โอสถสภา พี่อ้นโทรไปหาแม่เพื่อแจ้งข่าว ตอนแรกแม่ทักท้วงว่าจะหาเรื่องให้ตัวเองทำไม เพราะหากพี่อ้นอยู่ต่อที่ยูนิลีเวอร์จนเกษียณ พี่อ้นจะได้รับ package ก้อนใหญ่

แต่ก่อนวางสาย แม่พี่อ้นก็บอกว่า พออายุ 80 จะมีเงิน 10 ล้านหรือ 20 ล้านก็ไม่ต่างกัน สำคัญคือควรจะมีเงินเก็บพอที่จะดูแลตัวเองได้ ไม่ต้องรบกวนลูกหลาน เลยจากนั้นจะมีเท่าไหร่ก็ไม่สำคัญแล้ว ถึงมีมากก็ไม่มีปัญญาใช้ ดังนั้นจงเลือกทางเดินที่เราจะไม่เสียดายทีหลัง

.

3. จุดแข็งคานจุดอ่อน

พี่อ้นถามพวกเราว่าเคยทำแบบทดสอบ StrengthsFinder แล้วหรือยัง เอ็มยังไม่เคยทำ ส่วนผมกับอ้อเคยทำแต่ก็นานมาแล้ว

พี่อ้นแนะนำว่าควรทำอีกรอบ และควรมีที่ปรึกษาที่เข้าใจศาสตร์นี้มานั่งอธิบายให้เราฟัง แล้วเราจะเก็บเกี่ยวอะไรได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยกว่า

StrengthsFinder เป็นแบบทดสอบที่ออกแบบโดย Gallup ใช้เวลาทำประมาณ 30-45 นาที เพื่อดูว่าใน 34 “ธีม” มีด้านไหนที่เราโดดเด่นที่สุด

ธีมของพี่อ้น 5 ข้อแรกคือ – Arranger, Relator, Developer, Maximizer และ Responsibility

พี่อ้นบอกว่า เราควรรู้จุดแข็งตัวเองเพื่อที่จะได้พัฒนามันไปให้ถึงที่สุด

ข้อดีอีกอย่าง คือเราสามารถใช้จุดแข็งมา “คาน” กับจุดอ่อนของเราได้

ยกตัวอย่างเช่น พี่อ้นเป็นคนคิดเยอะและคิดนาน พี่อ้นเลยเลือกใช้หนึ่งในจุดแข็งของตัวเองคือ Responsibility ด้วยการตั้งเดดไลน์ว่าจะตัดสินใจเรื่องนี้ภายในเมื่อไหร่

แม้จะเป็นคนคิดเยอะ แต่เมื่อมีเส้นตายชัดเจน ความเป็นคนรับผิดชอบของพี่อ้นเลยช่วยให้สามารถตัดจบได้

.

4. เรื่องคนต้องคิดให้จบ

ในช่วง 2 ปีแรกของการทำงานที่โอสถสภา พี่อ้นใช้เวลาเรื่องคนเยอะที่สุด เพราะหากไม่จัดการเรื่องนี้ก็จะไม่สามารถ IPO ได้

ผู้บริหารหลายคนอยู่มาหลายสิบปี บางคนพร้อมจะไปต่อ แต่บางคนก็ไม่

ด้วยความที่พี่อ้นมี Developer เป็นหนึ่งในจุดแข็ง พี่อ้นจึงใช้การโค้ช ซึ่งมีอยู่สองแบบคือ coach in กับ coach out

Coach in คือชวนคุยให้คนคนนี้พร้อมเดินและเติบโตไปกับเรา

Coach out คือชวนคุยให้เขาเห็นว่าเขาน่าจะเหมาะกับที่อื่นมากกว่า

สิ่งสำคัญสำหรับการ coach out คือเราต้องให้เกียรติเขา ทุกบทสนทนาเกิดขึ้นแบบตัวต่อตัว และเมื่อถึงวันที่เขาตัดสินใจที่จะไป เขาควรเดินออกไปอย่างมี dignity

พี่อ้นเน้นว่าการดีลกับคนต้องทำในช่วงเวลาที่เรา “นิ่ง” ที่สุด ถ้าเร่งจะพลาด

ดังนั้น ก่อนการพูดคุย เราควรคิดมาอย่างละเอียด ว่าหากอีกฝ่ายตอบว่าอย่างนี้ เราจะไปอย่างไรต่อ มี mindmap และ decision tree ในหัวอย่างชัดเจน

เรื่องคนต้องคิดให้จบ ถ้ายังคิดไม่จบอย่าเพิ่งคุย

.

5. โมโหคือแพ้

แม้จะเตรียมตัวมาดีเพียงใด การพูดคุยก็ใช่ว่าจะไร้อุปสรรค เพราะบางคนอาจจะมีวิธีคิดที่ไม่เหมือนกับเรา หรือบางคนอาจจะมีอารมณ์เข้ามาเกี่ยวพันด้วยมากเป็นพิเศษ

พี่อ้นบอกว่าสิ่งสำคัญคือห้ามโมโห โมโหคือแพ้

.

6. Live One Level Below

พ่อสอนพี่อ้นตั้งแต่เด็กว่า ถ้าอยากมีชีวิตที่เป็นอิสระ จงอย่าเป็นหนี้ใคร

พี่อ้นจึงเป็นคนไม่มีหนี้ อยากซื้ออะไรก็จะเก็บเงินก่อนเสมอ แม้กระทั่งคอนโดก็ซื้อด้วยเงินสด

พี่อ้นมีลูกสองคน ลูกชายเรียนจบแล้ว ส่วนลูกสาวกำลังเรียนอยู่ปี 4

ตอนแรกลูกชายพี่อ้นเรียนโรงเรียนอินเตอร์ แต่พอเห็นว่าลูกไม่ยอมกินก๋วยเตี๋ยวข้างทาง บ่นว่าร้อน คุณพ่อจึงตัดสินใจให้ไปเข้าโรงเรียนไทย ให้หัดไปต่อคิวซื้อข้าวในโรงอาหาร

“การเลือกโรงเรียนคือการเลือกไลฟ์สไตล์ให้ลูก” พี่อ้นกล่าว

พี่อ้นเป็นคนไม่ใช้ของแบรนด์เนม ลูกสาวพี่อ้นจึงไม่ติดของแบรนด์เนมเช่นกัน

“Live one level below what you can afford.” แล้วเราจะรู้สึกว่ามีเงินพอใช้ตลอด

คนไม่น้อยชอบทำตรงกันข้าม คือ Live one level above.

.

7. วัยสี่สิบกว่าคือนาทีทอง

ผมถามพี่อ้นว่า พวกเรา mentee ทั้งสามคนอยู่ในวัยสี่สิบต้นๆ มีอะไรที่พวกเราควรระวังเป็นพิเศษรึเปล่า

พี่อ้นบอกว่าวัยสี่สิบคือช่วงที่ดี เพราะเรามีประสบการณ์มากพอ ยังมีกำลังวังชา ลูกยังฟังเราอยู่ คนรอบตัวยังไม่เจ็บไม่ตาย นี่คือช่วงชีวิตที่เราสามารถทำอะไรได้อย่างเต็มที่

ในวัยนี้เราจึงควรมีเวลาได้คุยกับตัวเอง ตอบตัวเองให้ได้ว่าแท้จริงแล้วเราต้องการอะไร อะไรคือสิ่งสำคัญสำหรับเรา

พี่อ้นยังบอกอีกว่า แต่ละวันที่เริ่มทำงาน เราควรรู้ว่าภาพใหญ่คืออะไร สิ่งที่เราทำในวันนี้มันจะไปต่อจิ๊กซอว์ตัวไหน

เพราะหากเราทำงานโดยไม่เห็นภาพใหญ่ ชีวิตจะเหนื่อยมาก


Reflections

– ใน StrengthsFinder ธีมที่พี่อ้นได้คะแนนรั้งท้ายคือ Command และ Significance ซึ่งโดยปกติเรามองว่าน่าจะจำเป็นสำหรับ CEO แต่พี่อ้นก็แสดงให้เห็นว่าผู้นำมีได้หลายแบบ ดอกไม้มีได้หลายสี เราสามารถเป็นผู้นำในสไตล์ของเราได้ ไม่จำเป็นต้องเลียนแบบใคร

– “เรื่องคนต้องคิดให้จบ” – ผมทำงานส่วนของ HR เมื่อมองย้อนกลับไป หลายครั้งผมยังเตรียมตัวไม่ดีพอ ไปด้นเอาหน้างานเสียเยอะ เป็นเรื่องที่ต้องปรับปรุงและคิดให้รอบคอบกว่านี้

– “วัยสี่สิบกว่าคือนาทีทอง” ผมไม่เคยคิดมุมนี้มาก่อน แต่เมื่อพี่อ้นสะกิดก็เห็นจริงดังว่า อะไรที่อยากทำจึงควรลงมือทำเสียตอนนี้ เมื่อมองย้อนกลับมาจะได้ไม่เสียดายทีหลัง

– ในวันแรกของโครงการ IMET MAX เราได้ “พี่ใหญ่” ซึ่งเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีและอดีต mentor ของ IMET MAX มาแชร์ประสบการณ์ เมื่อมีคนในห้องถามว่า ถ้าตอนนี้พี่ใหญ่อายุเท่าพวกเรา พี่ใหญ่น่าจะกำลังทำอะไรอยู่

พี่ใหญ่ตอบว่า “คงกำลังโลดแล่นในทุกทาง”

วัยสี่สิบกว่าคือนาทีทอง เราจึงควรหาให้เจอว่าอะไรสำคัญ พัฒนาจุดแข็งเพื่อปิดจุดอ่อน แล้วออกไปโลดแล่นในทุกทาง

ขอบคุณ IMET MAX พี่อ้น อ้อ เอ็ม สำหรับบทสนทนาที่เต็มไปด้วยมิตรภาพและความปรารถนาดี

แล้วพบกันใหม่เร็วๆ นี้ครับ


บทความที่เกี่ยวข้อง: 3 วันแรกกับ IMET MAX รุ่นที่ 5