เมื่อวันที่ 2 มกราคม 2019 ผมตั้งเป้าหมายประจำปีเอาไว้ 5 ข้อด้วยกัน
เจริญสติ 1 นาที
อ่านหนังสือ 1 นาที
ออกกำลังกาย 1 นาที
วางแผนประจำวัน 1 นาที
เขียนบล็อก 1 นาที
แล้วทำทุกวัน
ผมรีวิวเป้าหมายตอนครบ 3 เดือน แต่หลังจากนั้นก็ไม่ได้รีวิวอีกเลย วันนี้วันสิ้นปีแล้วเลยต้องสบตากับความจริงแล้วนำมาเล่าให้ฟังเสียหน่อย
เจริญสติ 1 นาที
ถือว่าปีนี้มีโอกาสเจริญสติมากกว่าปี 2018 อาจเป็นเพราะลูกโตขึ้น เลยมีเวลาส่วนตัวมากกว่าเดิมนิดหน่อย
รูปแบบการเจริญสติเปลี่ยนไป นั่งสมาธิน้อยลงแต่เน้นการเดินจงกรมและการขยับมือตามแนวหลวงพ่อเทียน รู้สึกว่าสมาธิแบบเคลื่อนไหวนั้นเหมาะกับจริตตนเองมากกว่า
ปีนี้ได้อ่านหนังสือธรรมะที่ดีที่สุดเล่มหนึ่งในชีวิตคือหนังสือดวงตาแห่งชีวิตของท่านเขมานันทะ และได้ฟังหลวงพ่อปราโมทย์ผ่าน Spotify ตอนขับรถกลับบ้านเกือบทุกวันทำงาน
อ่านหนังสือ 1 นาที
ไม่ได้เก็บหลักฐานเอาไว้แต่เชื่อว่าปี 2019 น่าจะอ่านหนังสือจบได้มากกว่าปี 2018 หลักการคือให้เอาหนังสือเข้าห้องน้ำ ส่วนมือถือให้เอาไว้ที่อื่น หนังสือที่ดีที่สุดที่ได้อ่านในปีนี้คือ Why We Sleep ของ Matthew Walker ส่วนเล่มรองชนะเลิศคือ Brave New Work ของ Aaron Dignan
ผมเริ่มฟังหนังสือเสียงผ่าน Storytel ซึ่งถูกกว่า Audible ของ Amazaon เพราะจ่ายเหมาแค่เดือนละ 10 เหรียญแล้วจะฟังกี่เล่มก็ได้ แล้วก็ได้พบว่าการฟังหนังสือนี่ซึมซับอะไรไม่ค่อยได้มาก กลับไปรีวิวก็ไม่ได้ แต่ก็เหมาะกับหนังสือ Memoir เล่มหนาๆ ที่ถือไม่ไหวและอาจไม่มีกำลังใจอ่านจนจบ หนังสือสองเล่มหนาเตอะที่ผมฟังจบไปคือ Becoming ของ Michelle Obama และ Einstein ของ Walter Isaacson
ออกกำลังกาย 1 นาที
ช่วงครึ่งปีแรกสนุกสนานกับการออกกำลังกายวันละ 7 นาทีเกือบทุกเช้า ซึ่งเป็นไอเดียมากจากหนังสือ Make Time ของอดีตพนักงาน Google (แปลไทยชื่อหนังสือ “ยุ่งจริง! หรือแค่คิดไปเอง”) ส่วนครึ่งปีหลังใส่ใจการวิ่งมากขึ้นและจบมาราธอนแรกในชีวิตที่บางแสน
ได้ค้นพบว่าสิ่งสำคัญที่สุดของการวิ่งของผมคือการ “สร้างความสัมพันธ์ที่ถูกต้อง” กับการวิ่งเสียก่อน วิ่งไปเรื่อยๆ สบายๆ ไม่ต้องเร่งฝีเท้า ไม่ต้องเข้มงวดกับตารางซ้อม เมื่อเรามีความสัมพันธ์ที่ถูกต้อง มันจะอยากออกมาซ้อมวิ่งเองโดยธรรมชาติ เพราะการวิ่งจะเป็นเพื่อนเรา มิใช่ยอดเขาให้พิชิต
วางแผนประจำวัน 1 นาที
วันไหนวางแผน วันนั้นจะไม่สะเปะสะปะ เวลาจะถูกใช้ไปอย่างมีสัมปชัญญะ ไม่เลี้ยวเข้า social media บ่อยเสียจนเรารังเกียจตัวเอง อีกอันหนึ่งที่เริ่มทำคือการเขียนบันทึกประจำวันลง notepad แล้วนานๆ ทีก็ส่งเข้าเมลตัวเองเพื่อเป็นการแบ็คอัพ วิธีนี้น่าจะทำให้เราเขียนได้อย่างต่อเนื่องและเก็บไว้ได้หลายสิบปีเพราะ notepad และอีเมลคงไม่หายไปไหนง่ายๆ
เขียนบล็อก 1 นาที
ความรู้สึกว่าจะต้องเขียนบล็อกทุกวันนั้นคลี่คลายลง ตอนไปญี่ปุ่นผมก็ไม่ได้เขียนบล็อก วันไหนไม่สบายหรือเหนื่อยมาทั้งวันก็อาจไม่ได้เขียนบล็อกเพราะให้ความสำคัญกับการนอนมากกว่า มีบางคราวที่ไปเขียนชดเชยเอาวันหลัง สำหรับปีนี้ถ้านับรวมบทความนี้ก็เขียนได้ 350 บทความ ไม่เพอร์เฟกต์แต่ก็พอใจ
บทความบางตอนได้เข้ามาอยู่ในหนังสือช้างกูอยู่ไหนที่วางแผงไปตอนคริสต์มาส หนังสือเล่มนี้อ่านยากกว่า Thank God It’s Mondayฯ แต่ก็ชวนให้ผู้อ่านได้ถามคำถามที่ลึกซึ้งกว่าเดิม แอบลุ้นเหมือนกันว่าปีหน้าเราจะพาข้อเขียนและมุมมองไปได้ลึกกว่านี้มั้ย
ปี 2020 ผมคงจะไม่มีเป้าหมาย แต่น่าจะมี “ธีม” ประจำปี ซึ่งผมจะมาเล่าให้ฟังในวันพรุ่งนี้ครับ
—–
“Elephant in the Room ช้างกูอยู่ไหน” หนังสือเล่มใหม่ของผมเดินทางถึงนายอินทร์ ซีเอ็ด และ B2S แล้ว อ่านรายละเอียดได้ที่ bit.ly/eitrfacebook และอ่านรีวิวได้ที่นี่ครับ markpeak.net/elephant-in-the-room