Top 10 New Year Resolutions ที่คนชอบตั้งแต่ทำไม่ได้

20191229

ณ ช่วงเวลานี้ของปีเป็นธรรมเนียมของใครหลายคนที่จะตั้งเป้าหมายสำหรับปีใหม่

แต่ปีแล้วปีเล่าเราก็จะมักจะตั้งเป้าเพื่อจะผิดคำพูดกับตัวเองอยู่ร่ำไป

นิตยสาร TIME เคยจัดอันดับ New Year Resolutions ที่แท้งกลางคัน 10 อันดับแรก

– ลดน้ำหนัก
– เลิกบุหรี่
– ลงเรียนอะไรใหม่ๆ
– กินของที่มีประโยชน์ให้มากขึ้น
– ปลดหนี้และออมเงิน
– ใช้เวลากับครอบครัวให้มากขึ้น
– ไปเที่ยวที่ใหม่ๆ
– เครียดให้น้อยลง
– ทำงานจิตอาสา
– ดื่มเหล้าให้น้อยลง

สมมติว่าผู้หญิงคนหนึ่งอยากลดน้ำหนัก สิ่งที่เธอมักจะทำคือ

– เขียนเป้าหมายที่ชัดเจนลงในกระดาษ เช่นฉันจะลดน้ำหนักลงเหลือ 48 กิโลกรัมภายใน 31 ธันวาคม 2563!
– แปะกระดาษนั้นไว้ในบริเวณที่จะเห็นได้ทุกวัน
– สมัครสมาชิกฟิตเนส
– ซื้อชุดและอุปกรณ์
– เดือนแรกไปฟิตเนสสัปดาห์ละ 4 วัน และเริ่มสั่งอาหารคลีนมากิน งดของหวานทุกอย่าง
– เดือนถัดไปเหลือสัปดาห์ละ 2 วัน กินคลีนบ้างไม่คลีนบ้าง
– เดือนที่สามเข้าฟิตเนสสัปดาห์ละครั้ง ก็งานมันยุ่ง
– เดือนที่สี่ชีวิตกลับเข้าหลูปเดิมของปี 2562
– เดือนที่ 5 6 7 8 9 10…ผ่านไปอย่างรวดเร็ว
– รู้ตัวอีกทีก็ใกล้จะสิ้นปี 2563 แล้ว
– ตั้งเป้าหมายปีใหม่ 2564 ว่าฉันจะลดน้ำหนัก!

ไอนสไตน์บอกว่าการทำอย่างเดิมแล้วคาดหวังผลลัพธ์ที่แตกต่างออกไปนับเป็นความบ้าคลั่งอย่างหนึ่ง

ถ้ารอบนี้ไม่อยากให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย เราอาจต้องเปลี่ยนยุทธศาตร์นิดหน่อย

แทนที่จะโฟกัสไปที่ผล เราควรจะโฟกัสไปที่มรรค

เพราะจริงๆ แล้วเป้าหมายเปลี่ยนชีวิตเราไม่ได้ สิ่งที่จะเปลี่ยนชีวิตเราได้จริงๆ คืออุปนิสัยและวิธีการใช้ชีวิตต่างหาก

“New goals don’t deliver new results. New lifestyles do. And a lifestyle is not an outcome, it is a process. For this reason, all of your energy should go into building better habits, not chasing better results.”
-James Clear

แทนที่จะตั้งเป้าว่าอยากลดน้ำหนักเหลือเท่านั้นเท่านี้ ลองตั้งเป้าว่าเราจะปรับวิถีชีวิตและอุปนิสัยที่เอื้อให้เรามีหุ่นที่ดี โดยเดือนนึงจะโฟกัสแค่การเปลี่ยนนิสัยเพียง 1 อย่าง อาทิเช่น

เดือนที่ 1 ลดการดูเน็ตฟลิกซ์เพื่อจะได้นอนก่อน 5 ทุ่ม ตื่นก่อน 6 โมงเช้า

เดือนที่ 2 ดื่มน้ำให้มากขึ้น มีขวดน้ำวางไว้ที่โต๊ะให้จิบได้ตลอดวัน โละขนมชวนอ้วนออกจากตู้เย็น

เดือนที่ 3 นอนก่อน 4 ทุ่ม ตื่นตี 5 เพื่อจะได้มีเวลาวิ่งให้ได้ครั้งละ 1 กิโลเมตร สัปดาห์ละ 3 ครั้ง ส่วนเน็ตฟลิกซ์คงต้องเก็บไว้ดูวันหยุด

เดือนที่ 4 วิ่ง 2 กิโล สัปดาห์ละ 3 ครั้ง วันที่ไม่ได้วิ่งอาจจะทำ 7-minute exercise

เดือนที่ 5 เปลี่ยนอาหารเย็นเป็นสลัดผัก ยังวิ่ง 2 กิโลเหมือนเดิม

เดือนที่ 6 วิ่ง 3 กิโล

เดือนที่ 7 เริ่มไปออกกำลังกายที่ฟิตเนส เพราะเข้าหน้าฝนแล้ว อย่าให้ฝนเป็นข้ออ้างให้เราไม่ได้ออกกำลังกาย

เดือนที่เหลือน่าจะพอนึกภาพออกนะครับว่าควรทำอะไรบ้าง

สำคัญที่สุดคืออย่าใจร้อน อย่าพยายามเปลี่ยนนิสัยหลายอย่างพร้อมๆ กัน เพราถ้านิสัยใหม่แต่ละอย่างมีโอกาสทำสำเร็จแค่ 60% การเปลี่ยนนิสัย 4 อย่างพร้อมกันจะเหลือโอกาสสำเร็จเพียง 0.6^4 = 13% เท่านั้น

สำคัญที่สองคืออย่าหวังพึ่ง willpower หรือแรงใจแต่เพียงอย่างเดียว แต่ให้สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เราทำสิ่งนั้นได้ง่ายขึ้น เช่นถ้าจะวิ่งตอนเช้า ก็ลองใส่ชุดวิ่งเป็นชุดนอนและขอให้เพื่อนที่วิ่งตอนเช้าอยู่แล้วโทร.มาปลุกเป็นต้น

สำคัญที่สามคือให้ระลึกเสมอว่านี่คือเกมยาว การมีน้ำหนัก 48 กิโลตอนสิ้นปีเป็นเพียงหมุดหมายแต่ไม่ใช่ปลายทาง การไปถึงปลายทางไม่ใช่ประเด็นหลัก การอยู่บนวิถีทางต่างหากที่สำคัญที่สุด

ขอเป็นกำลังใจให้ปี 2563 แตกต่างจากทุกๆ ปีที่ผ่านมาครับ

—–

“Elephant in the Room ช้างกูอยู่ไหน” หนังสือเล่มใหม่ของผมเดินทางถึงนายอินทร์ ซีเอ็ด และ B2S แล้ว อ่านรายละเอียดได้ที่ bit.ly/eitrfacebook และอ่านรีวิวได้ที่นี่ครับ markpeak.net/elephant-in-the-room