เมื่อตอนหัวค่ำที่ผ่านมา ผมได้รับต้นฉบับหนังสือของผมที่ผ่านการทำอาร์ตเวิร์คเสร็จเรียบร้อยแล้ว
(ใช่ครับ ผมกำลังจะออกหนังสือ! ไว้จะเล่ารายละเอียดให้ฟังเร็วๆ นี้นะครับ)
ในต้นฉบับมีบทความเก่าๆ ที่ผมเคยเขียนเอาไว้ แฟนผมพลิกดูแล้วก็เปรยขึ้นมาว่า “แต่ก่อนรุตม์เขียนบทความได้ยาวเหมือนกันเนอะ”
เหมือนจะเป็นการบอกกลายๆ ว่าเดี๋ยวนี้ผมเขียนสั้นจังเลย
ซึ่งก็จริงของเขา และผมก็ใช้เวลาขบคิดอยู่ซักพักนึงว่าเหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น
เหตุผลแรกที่คิดออกก็คือ พอเปลี่ยนที่ทำงานใหม่เมื่อเดือนกันยายน ก็ใช้เวลากับงานมากขึ้นจนไม่ค่อยเหลือแรงเขียนอะไรยาวๆ
เหตุผลที่สองที่พอจะคิดได้ คือผม “หมดก๊อก” แล้ว เพราะของดีๆ ความคิดต่างๆ ที่เคยมีอยู่ในหัวก็ถูกถ่ายทอดลงบล็อกไปเกือบหมดตั้งแต่ช่วงปีแรกแล้ว
แต่ผมว่าน่าจะมีเหตุผลที่ลึกกว่านั้น นั่นคือที่เขียนสั้นเพราะไม่มีเรื่องอะไรให้เล่า เลยต้องพึ่งพา “คำคม” ซะเยอะ แล้วเขียนความคิดประดับเข้าไป จึงไม่มีเนื้อหาอะไรที่จับต้องได้มากนัก
แล้วเหตุใดถึงไม่มีอะไรให้เล่า?
ผมคิดว่าคำตอบที่ดีที่สุดก็คือ แต่ก่อนผมกับแฟนจะทำงานอยู่ใกล้กัน ผมจะเป็นคนขับรถไปส่งแฟนถึงออฟฟิศแล้วปั่นจักรยานปันปั่นมาที่ทำงานผม พอเย็นก็ปั่นจักรยานไปรับแฟนที่ออฟฟิศแล้วขับรถกลับบ้าน
ช่วงที่นั่งในรถทั้งขาไปขากลับนี่แหละคือช่วงเวลาที่ได้คุยโน่นคุยนี่จนเกิดเป็นประเด็นโน้นประเด็นนี้ขึ้นมา
แต่พอย้ายงาน ต่างคนต่างขับรถไปทำงานเอง ผมก็เลยเสียโอกาสในการคุยเรื่องสัพเพเหระไป พอไปถึงที่งานก็ได้คุยแต่เรื่องงานแล้ว
ใครจะไปนึกว่าการพูดคุยกับแฟนเล็กๆ น้อยๆ ระหว่างอยู่ในรถ คือแหล่งเชื้อเพลงชั้นดีสำหรับงานเขียนของผม
มันทำให้ผมนึกถึงอีกประเด็นหนึ่งที่ผมขบคิดมานาน ว่าคำพูดของคนเรานั้นอาจมีผลกระทบอย่างที่เรานึกไม่ถึง
ถ้าใครตามอ่านบล็อก Anontawong’s Musings จะรู้ดีว่าช่วงนี้ทุกวันอาทิตย์ผมจะเขียนถึง Sapiens ซึ่งเป็นหนังสือที่ว่าด้วยความเป็นมาของมนุษยชาติ
Sapiens แต่ละตอนใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 ชั่วโมงเพื่อจะอ่านแต่ละบทซ้ำอีกครั้งแล้วนำมาเรียบเรียงตามความเข้าใจของเราอีกรอบ แต่บทความเรื่อง Sapiens นี้กลับถูกแชร์น้อยกว่าบทความอื่นๆ อยู่หลายช่วงตัวเลยทีเดียว
กระนั้นก็ตาม เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้คุยกับ “เบียร์” น้องที่เคยทำงานทีมเดียวกันเมื่อสิบกว่าปีก่อน เขาบอกว่าตอนนี้เขากำลังอ่านหนังสือ Sapiens อยู่ หลังจากได้รับแรงบันดาลใจจากบทความของผม
ส่วน”ทอม” น้องอีกคนนึงที่มาเยี่ยมบ้านเมื่อวันอาทิตย์ ก็มาถามผมด้วยความสนอกสนใจว่าหนังสือ Sapiens อ่านยากมั้ย เพราะเขาอ่านบล็อกแล้วรู้สึกว่ามันสนุกมาก อยากจะลองซื้อมาอ่านดูบ้าง (ผมเลยหยิบหนังสือให้ พอทอมเปิดดูได้สักพักก็ยิ้มแห้งๆ “ผมรอพี่สรุปให้อ่านดีกว่าครับ”)
สัปดาห์ที่แล้วอีกเช่นกัน ผมนัดกินส้มตำกับ “พี่นก” เพื่อถามความรู้เรื่อง HR
ระหว่างทานอยู่ก็เห็น “เหมียว” เดินเข้ามาในร้านคนเดียว ผมกินข้าวกับพี่นกเสร็จก็เลยมานั่งคุยกับเหมียวต่อหลังจากไม่ได้คุยกันมานานหลายปี
เหมียวเล่าให้ฟังว่า ตอนนี้เขากำลังอินกับการวิ่งมาก มีจัดทริปไปวิ่งในที่แปลกๆ ด้วย ทริปต่อไปเหมือนจะไปวิ่งที่กำแพงเมืองจีน
แล้วเหมียวก็พูดกับผมว่า เหตุผลหนึ่งที่ทำให้เขาออกกำลังกายจนเป็นนิสัยก็เพราะประโยคหนึ่งที่ผมเคยบอกเขาไว้เมื่อหลายปีที่แล้ว
พอเห็นผมทำหน้างง ก็รู้ว่าผมจำไม่ได้ชัวร์ เขาเลยเท้าความว่าผมเคยอธิบายว่าในสมองเราจะมีต่อมอยู่ต่อมหนึ่งที่เรียกว่าอะมิกดะลา (amygdala) ที่มันจะทำงานทันทีในเวลาที่เราพยายามจะเปลี่ยนแปลงอะไรกะทันหัน และมันนี่แหละที่เป็นตัวขัดขวางให้เราสร้างนิสัยใหม่ไม่สำเร็จซักที ดังนั้นถ้าอยากจะเปลี่ยนนิสัยอะไร ก็ต้องค่อยๆ ทำ อย่ารีบร้อน
ตอนแรกเหมียวก็ไม่ได้คิดอะไร แต่พอผ่านไปสองสามเดือนประโยคนี้ก็แล่นเข้ามาในหัว เขาก็เลยเริ่มไปที่สนามกีฬาทุกวันโดยไม่บังคับตัวเองว่าต้องออกกำลังกาย แค่พาตัวไปอยู่ตรงนั้นให้คุ้นเคยกับสถานที่ จากนั้นจึงค่อยๆ เริ่มเดิน แล้วจึงค่อยๆ เริ่มวิ่ง จนตอนนี้เขาวิ่งมาราธอนมาไม่รู้กี่รายการแล้ว
เมื่อปี 2009 ผมทำงานเป็น support team leader อยู่ที่ทอมสันรอยเตอร์
วันดีคืนดี internal communication manager ที่บริษัทก็ลาออก ผ่านไปหลายสัปดาห์ก็ยังไม่เห็นประกาศคนใหม่ พอผมเจอหน้าพี่นก (คนเดียวกับที่ผมกินส้มตำด้วยเมื่อองก์ที่แล้ว) ก็เลยถามว่าได้คนใหม่รึยัง พี่นกตอบว่ายังเลย และแถมด้วยคำพูดทีเล่นทีจริงว่า “บันไม่ลองสมัครดูล่ะ” (HR ที่นั่นจะเรียกผมว่า “บัน”)
ผมตอบปฏิเสธแทบจะทันทีเพราะผมรู้สึกว่าตำแหน่งนี้ไม่ค่อยมี career path เท่าไหร่ แถมเราก็ทำงานด้าน technical มาตลอด จะให้ข้ามสายไปทำด้าน marketing & communication ก็ไม่รู้ว่าจะทำได้ดีรึเปล่า
แต่พอกลับไปนั่งคิดนอนคิดช่วงสุดสัปดาห์ ก็ค้นพบว่าจริงๆ เราน่าจะเหมาะกับงานนี้ ก็เลยกลับไปบอกพี่นกว่าขอลองสมัครดู และสุดท้ายก็ได้ทำตำแหน่งนี้จริงๆ
และ career path ของผมก็เปลี่ยนไปตลอดกาล
ถ้าวันนั้นพี่นกไม่ชวนเล่นๆ ผมก็คงไม่ได้ทำงานด้านการสื่อสาร และอาจไม่ได้สร้างบล็อก anontawong.com นี้ขึ้นมา
ถ้าวันนั้นผมไม่ได้เล่าให้เหมียวฟังเรื่องการทำงานของต่อม amygdala เหมียวอาจจะไม่ได้จัดทริปไปวิ่งที่กำแพงเมืองจีน
และถ้าคืนนี้แฟนผมไม่ได้เปรยว่า “แต่ก่อนรุตม์เขียนบทความได้ยาวเหมือนกันเนอะ” ผมก็คงไม่มีเรื่องมาเล่าได้ยาวขนาดนี้
คำพูดเล็กๆ บางคำ อาจมีพลังขนาดเปลี่ยนทิศทางชีวิตของคนคนหนึ่งได้
จึงเป็นเหตุผลที่ดีที่เราต้องระมัดระวังคำพูดของตัวเอง
และเป็นเหตุผลที่ดีที่จะเขียนบล็อกนี้ต่อไป ตราบใดที่ยังไม่หมดก๊อกครับ
ตอนใหม่ facebook.com/anontawongblog
ตอนเก่า anontawong.com/archives
ดาวน์โหลด eBook – เกิดใหม่
ขอบคุณภาพจาก Pexels.com
ตลกดีที่ผมเองก็อ่านของท่านเล็กๆน้อยๆ ไปๆมาๆ ก็อ่านเรื่อย มันเริ่ม จาก 9 บทเรียน 3 วันที่ผ่านมาครับ
LikeLike
ผมชอบนะครับ
LikeLike
ชอบเขียนต่อไปเรื่อยๆนะ เพราะมีหลายอย่างที่เราเปลี่ยนเพราะบทความในนี้
LikeLike
มีประโยชน์และเผื่อแผ่ประโยชน์เป็นทานจริงๆค่ะ ขอบพระคุณอีกครั้ง
LikeLike
ขอบคุณบล็อกดีๆค่ะ สั้นหรือยาวก็อ่านเสมอนะคะ แชร์ Sapiens ทุกครั้ง และไปตามซื้อหนังสือมาอ่านด้วย เพราะอยากอ่านเองไม่อยากอ่านย่อย อ่านไปครึ่งนึงก็รู้ว่า ย่อยได้ดีมากเลยค่ะ เก่งจริงๆ
LikeLike