เหตุผลที่ผู้ชายควรวิดพื้นให้ได้ 40 ครั้ง

เมื่อต้นปี 2019 ฮาร์วาร์ดได้ตีพิมพ์ผลการวิจัยที่มีผู้เข้าร่วมเป็นนักดับเพลิง 1,104 คน อายุเฉลี่ย 40 ปี และยังไม่มีใครเป็นโรคหัวใจ

ทุกคนต้องวิดพื้นให้ได้มากที่สุดใน 1 นาที รวมถึงวัดความฟิตบนลู่วิ่งไฟฟ้าด้วย

หลังจากเวลาผ่านไป 10 ปี นักวิจัยก็พบว่าคนที่วิดพื้นได้มากที่สุดมีความเสี่ยงเป็นโรคหัวใจน้อยที่สุด

ถ้าดูข้อมูลให้ลึกลงไปอีก คนที่วิดพื้นได้ไม่น้อยกว่า 40 ครั้งมีโอกาสเป็นโรคหัวใจน้อยกว่าคนที่วิดพื้นได้ไม่ถึง 10 ครั้งถึง 96%!

คนที่วิดพื้นได้ 11 ครั้งขึ้นไปก็มีโอกาสเป็นโรคหัวใจน้อยลงเช่นกัน และยิ่งวิดพื้นได้มากเท่าไหร่ โอกาสเป็นโรคหัวใจก็น้อยลงเท่านั้น

หากดูผลวัดความฟิตบนลู่วิ่งไฟฟ้าก็สามารถบอกโอกาสการเป็นโรคหัวใจได้เช่นกัน โดยมีความแม่นยำพอๆ กับความสามารถในการวิดพื้น

คงต้องขอจบบทความแต่เพียงเท่านี้ เพราะจะรีบไปวิดพื้นครับ


ขอบคุณเนื้อหาจาก Harvard Health Publishing: More push-ups may mean less risk of heart problems

เมื่อ IQ แปรผันตามเงินในกระเป๋า

เมื่อ IQ แปรผันตามเงินในกระเป๋า

ผมอ่านเจอประเด็นหนึ่งในหนังสือ Stolen Focus – Why You Can’t Pay Attention ที่เขียนโดย Johann Hari เห็นว่าน่าสนใจดีเลยนำมาเล่าสู่กันฟังครับ

ประชาชน 60% ในสหรัฐอเมริกามีเงินฝากในบัญชีน้อยกว่า $500 (17,000 บาท) ดังนั้นหากเจอสถานการณ์ที่ไม่เป็นไปตามแผน เช่นถูกให้ออกจากงาน หรือรถเสียโดยไม่มีประกัน พวกเขาจะตกที่นั่งลำบากทันที

Hari อยากเข้าใจว่าการที่เรามีความกังวลเรื่องการเงินนั้นมันส่งผลต่อความสามารถในการคิดวิเคราะห์ได้อย่างชัดเจนรึเปล่า – what happens to your ability to think clearly when you become more financially stressed?

เขาได้พบงานวิจัยของศาสตราจารย์ Sendhil Mullainathan ที่สอนวิชา computational science ในมหาวิทยาลัยชิคาโก ซึ่งได้ไปศึกษาคนงานตัดอ้อยในอินเดียในฤดูเก็บเกี่ยว

ทีมวิจัยทดสอบ IQ ของคนงานก่อนตัดอ้อย (ซึ่งตอนนั้นกำลังถังแตก) แล้วพอพวกเขาตัดอ้อยเสร็จ ได้เงินค่าจ้างมาแล้ว ก็ทำการทดสอบ IQ กันอีกรอบ

ผลปรากฎว่า IQ ของคนงานตัดอ้อยหลังจากที่มีเงินในกระเป๋านั้น มีค่าเฉลี่ยสูงกว่า IQ ที่วัดได้ก่อนตัดอ้อยถึง 13 คะแนน ซึ่งเป็นความแตกต่างที่เยอะพอสมควร

ใครหลายคนที่เคยผ่านช่วงเวลาที่ขัดสนด้านการเงิน คงจะพอนึกออกว่าสภาพจิตใจของเราตอนนั้นเป็นเช่นไร กังวล หงุดหงิดง่าย เจอปัญหาอะไรหน่อยก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ไปเสียหมด จะให้คิดอะไรได้อย่างมีสติสัมปชัญญะตอนที่เราเครียดเรื่องเงินๆ ทองๆ นั้นเป็นเรื่องท้าทายมาก

พูดแบบกำปั้นทุบดินก็คือ เวลาที่เราถังแตก เรามักจะโง่ลงนั่นเอง

ถ้ามองในภาพใหญ่กว่านั้น สังคมไหนที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ประชาชนชักหน้าไม่ถึงหลัง ก็อาจอนุมานได้ว่า IQ โดยรวมของคนในสังคมนั้นอาจต่ำกว่าที่ควรจะเป็นครับ


ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ Stolen Focus – Why You Can’t Pay Attention by Johann Hari

Motivation ที่ดีที่สุดในการทำงาน

20160101_Motivation

ก่อนอื่นต้องขออภัยก่อนที่ใช้ “ไทยคำอังกฤษคำ” ในหัวข้อ

เนื่องจากเรื่องที่จะมาคุยในวันนี้จากบทความของ Harvard Business Review ที่ว่าด้วยเรื่อง motivation เป็นหลัก

ผมไม่รู้จะแปลคำว่า motivation เป็นคำไทยว่าอย่างไรดี

ถ้าเปิดดิกชันนารี เขาจะแปลว่า แรงกระตุ้น แรงบันดาลใจ แรงจูงใจ

แต่ผมรู้สึกว่าคำว่า “แรงกระตุ้นที่ดีที่สุดในการทำงาน” มันดูแข็งๆ และไร้มิติไปหน่อย

แรงบันดาลใจก็ไม่น่าจะใช่เพราะนั่นคือ inspiration

ส่วนแรงจูงใจ ก็ไม่ใช่อีกเพราะเราไม่ได้คุยกันเรื่อง incentive

จึงขอเลือกใช้คำเดิมว่า motivation ซึ่งในบริบทนี้ผมขอแปลว่า “แรกผลักดันในด้านบวกที่ทำให้เรามีฉันทะและวิริยะในงานของเรา”

—-

หลายท่านที่อ่าน Anontawong’s Musings อยู่อาจจะมีตำแหน่งเป็นหัวหน้าหรือผู้จัดการ และหนึ่งในงานที่สำคัญที่สุดของหัวหน้าก็คือการสร้าง motivation ให้ลูกน้อง

ทาง HBR (Harvard Business Review) ได้ทำการสำรวจความเห็นของพนักงานระดับผู้จัดการ 669 คนจากหลายบริษัททั่วโลกว่า ให้ลองจัดอันดับปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ดูซิว่า อะไรมีผลต่อ motivation ของลูกน้องมากที่สุด?

Clear goals – เป้าหมายที่ชัดเจน
Incentives – ผลตอบแทน เช่นเงินโบนัสและค่า commission
Interpersonal support – การช่วยสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน
Recognition for good work – การกล่าวชื่นชมและให้เครดิตเวลาที่งานออกมาดี
Support for making progress – การสนับสนุนให้งานเดินหน้าต่อไปได้

ผมขอชวนทุกคนใช้เวลาซักสองนาทีจัดลำดับความสำคัญของปัจจัยห้าข้อนี้ดูนะครับว่า ข้อใดสำคัญที่สุด ข้อใดสำคัญน้อยที่สุด

—–

ผู้จัดการที่ตอบแบบสอบถาม ส่วนใหญ่จัดอันดับเรื่อง Recognition ว่าเป็น motivator ที่สำคัญที่สุด และ Support for making progress เป็นอันดับสุดท้าย

แต่โลกแห่งความจริงไม่ใช่อย่างนั้นครับ!

ขอยกประโยคหนึ่งในบทความเรื่อง The Power of Small Wins ของ HBR มาไว้ตรงนี้ครับ:

Through exhaustive analysis of diaries kept by knowledge workers, we discovered the progress principle: Of all the things that can boost emotions, motivation, and perceptions during a workday, the single most important is making progress in meaningful work.

HBR บอกว่า สำหรับงานที่ต้องใช้ความคิด (knowledge work) สิ่งที่จะเป็น motivation ที่ดีที่สุดในการทำงานคือความรู้สึกว่างานของเขามีความคืบหน้า

ข้อสรุปนี้เกิดจากการทำวิจัยด้วยการเก็บข้อมูลจากพนักงาน 238 คนใน 7 องค์กร โดยพนักงานเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ทำโปรเจ็คอะไรบางอย่าง เช่นคิดค้นอุปกรณ์ในห้องครัว จัดการโปรดักชั่นไลน์ของอุปกรณ์ทำความสะอาด และแก้ไขระบบ IT ให้กับโรงแรม

ทุกเย็น HBR จะส่งอีเมล์หาพนักงานพร้อมด้วยชุดคำถามที่ว่า วันนี้ทำอะไรไปบ้าง มีอะไรที่เป็นไฮไลท์ (ไม่ว่าจะด้านบวกหรือด้านลบ) อารมณ์ตอนนี้เป็นยังไง motivation อยู่ในระดับไหน และมีทัศนคติต่องานและองค์กรอย่างไร

HBR เก็บคำตอบมาได้ทั้งหมดประมาณ 12,000 ชุด และวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจะหาความสัมพันธ์ระหว่างความรู้สึกของพนักงานและสิ่งที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน

HBR พบว่าในวันที่พนักงาน “รู้สึกดี” (inner worklife เป็นบวก) กว่าสามในสี่ของวันเหล่านั้นเป็นวันที่พนักงานเห็นว่างานตัวเองมีความคืบหน้าหรือมี progress

และในทางกลับกัน วันที่พนักงานรู้สึกแย่ และตอบว่ามี motivation ต่ำ กว่าสองในสามของวันเหล่านั้นคือวันที่เขาเห็นว่างานตัวเองไม่คืบหน้าหรือถอยหลังลงคลอง (setback)

HBR จึงสรุปว่า Progress คือปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้พนักงานเกิด motivation ครับ

อีกสองปัจจัยที่ HBR ในการสร้าง motivation เช่นกันก็คือ Catalysts และ Nourishers ครับ

Catalysts คือตัวช่วยให้งานเดินหน้าได้ราบรื่นยิ่งขึ้น ส่วน Nourishers คือคำพูดดีๆ และความเคารพที่พนักงานได้รับ เหมือนดอกไม้ได้น้ำนั่นเอง

ดังน้้น ในฐานะหัวหน้า เราสามารถช่วยให้พนักงานมี motivation ได้ด้วยการสร้างโอกาสให้เขารู้สึกว่างานของเขามีความคืบหน้าขึ้นทุกวัน ด้วยการ “กรุยทาง” ให้เขาทำงานได้ราบรื่นที่สุด

หากเจอปัจจัยอะไรที่กีดขวางให้งานไม่เดิน เช่นระบบมีปัญหา อีกฝ่ายหนึ่งคุยไม่รู้เรื่องหรือทำอะไรล่าช้า เราก็ควรจะลงไปหาทางออกให้ครับ

นอกจากนี้เราก็ควรจะพูดให้กำลังใจเขาและปฏิบัติต่อเขาด้วยความเคารพครับ

อ้อ และที่สำคัญ งานที่เรามอบหมายให้ลูกน้องในทีม ควรจะเป็น meaningful work ด้วย ซึ่งก็คืองานที่เขามองเห็นว่ามีประโยชน์อย่างแท้จริงครับ

ขอยกประโยคด้านบนมาย้ำตรงนี้อีกครั้ง

Through exhaustive analysis of diaries kept by knowledge workers, we discovered the progress principle: Of all the things that can boost emotions, motivation, and perceptions during a workday, the single most important is making progress in meaningful work.

สำหรับคนที่ไม่ได้เป็นหัวหน้า เราก็ยังสามารถนำหลัก progress principle มาประยุกต์ใช้ได้ ด้วยการสร้าง mini milestones ให้กับโปรเจ็คตัวเอง เพื่อให้แต่ละวันเรารู้สึกว่าได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันครับ

ใครลองแล้ว ได้ผลยังไง มาเล่าสู่กันฟังด้วยนะครับ

—–

อ่านตอนเก่าๆ ได้ที่ https://anontawong.com/archives/

อ่านตอนใหม่ๆ ได้ทุกวันที่ Facebook Page Anontawong’s Musings (ถ้ากด Get Notifications ใต้ปุ่ม Like หรือเลือก Show First ใต้ปุ่ม Following ก็จะไม่พลาดตอนใหม่ครับ)

ดาวน์โหลดอีบุ๊ค “เกิดใหม่

—–
ขอบคุณข้อมูลจาก Harvard Business Review: The Power of Small Wins by Teresa Amabile and Steven J. Kramer

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com