มันจะไม่ยอมจากไปไหน

20170201_nothinggoesaway

จนกว่ามันจะได้สอนสิ่งที่เราต้องเรียนรู้

Nothing ever goes away until it teaches us what we need to know.

– Pema Chödrön


ปัญหาบางอย่าง ต่อให้เราวิ่งหนีมันมาไกลสุดขอบโลก เราก็ยังจะเจอมันอยู่ดี เพียงแต่อาจจะอยู่ในบริบทที่ต่างออกไปหรือมีชื่อเรียกที่ต่างออกไป

ถ้าเรารู้สึกว่าน้ำหนักเกินมานาน เราก็ต้องอยู่กับความรู้สึกนี้ไปจนกว่าเราจะเรียนรู้ว่าวิธีการลดน้ำหนักที่ถูกต้องเป็นอย่างไร หรือไม่ก็เรียนรู้ที่จะพอใจกับร่างกายของตัวเอง (ไม่ว่าจะหนักเท่าไร)

ถ้าเราชักหน้าไม่ถึงหลังอยู่ทุกเดือน ปัญหานั้นก็จะอยู่กับเราจนกว่าเราจะวางแผนการเงินได้ดีขึ้น หรือต้องการสิ่งต่างๆ ให้น้อยลง

ถ้าเราผิดหวังเรื่องความรักมาโดยตลอด เราก็จะผิดหวังต่อไปจนกว่าเราจะมองออกว่าใครที่เหมาะกับเราจริงๆ และเราควรจะทำตัวอย่างไรเพื่อให้เหมาะกับเขาด้วย

ทุกปัญหาที่ค้างคา คือปริศนาให้เราขบคิด

ตีโจทย์แตกเมื่อไหร่ ปัญหาก็จบเมื่อนั้นครับ


ตอนใหม่ facebook.com/anontawongblog
ตอนเก่า anontawong.com/archives
ดาวน์โหลด eBook – เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pexels.com

ถ้าไม่มีเวลาห้านาที

20170130_fivemins

คุณก็ไม่มีชีวิตแล้วล่ะ

If you don’t have five minutes, you don’t have a life.

-Tony Robbins

ลองมาคิดเล่นๆ เวลาเพียงห้านาที สามารถเอาไปทำอะไรดีๆ ได้ไม่น้อย

เขียนไดอารี่ 

ทำแพลงก์ให้หุ่นเฟิร์ม

เก็บที่นอนให้เรียบร้อย

เรียนภาษาด้วย Duolingo

วางแผนว่าวันนี้จะทำอะไรบ้าง

ลุกไปเข้าห้องน้ำเวลาปวด

โทรศัพท์หาแม่

อ่านนิทานให้ลูกฟัง

สวดมนต์ก่อนนอน

ยังมีอีกหลายอย่างที่สามารถทำได้โดยใช้เวลาแค่ 5 นาที ซึ่งล้วนแต่เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ต่อชีวิตของเราและคนที่เรารัก

ถ้าแค่ 5 นาที เรายังจัดเวลาให้ไม่ได้

ก็คงต้องถามตัวเองแล้วล่ะ ว่าเราทำชีวิตหล่นหายไปตอนไหน


ตอนใหม่ facebook.com/anontawongblog
ตอนเก่า anontawong.com/archives
ดาวน์โหลด eBook – เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pexels.com

Sapiens ตอนที่ 7 – ความเหลื่อมล้ำ

20170129_inequality

ทำไมอินเดียถึงมีแบ่งชั้นวรรณะ?
ทำไมในอเมริกาคนผิวขาวถึงเหยียดคนผิวดำ?
ทำไมผู้ชายถึงเป็นใหญ่กว่าผู้หญิงในทุกสังคม?

บทความนี้จะอธิบายปรากฎการณ์ดังกล่าว (แม้จะแค่บางส่วนก็ตามที)

วรรณะในอินเดีย
เมื่อประมาณ 3,000 ปีที่แล้ว ชาวอารยัน (ที่มาจากเปอร์เซีย-ประเทศอิหร่านในปัจจุบัน) ได้ย้ายถิ่นฐานลงมาทางบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดีย ทำการสู้รบและเอาชนะคนท้องถิ่นได้ จึงยึดครองพื้นที่และทำการแบ่งชนชั้นให้เสร็จสรรพ โดยคนในท้องที่เดิมถูกจัดให้เป็นวรรณะศูทร (กรรมกร) ในขณะที่ชาวอารยันเองนั้นครอบครองวรรณะพราหมณ์ (นักบวช) กษัตริย์ (นักรบ) และแพศย์ (พ่อค้า)

และเพื่อป้องกันการแข็งขืนของคนท้องถิ่น (ซึ่งมีจำนวนมากกว่า) ชาวอารยันก็ได้แต่งคัมภีร์พระเวทมามาอธิบายการแบ่งชนชั้นวรรณะว่าเป็น “เรื่องธรรมชาติ” โดยคัมภีร์ระบุว่าโลกและทุกสิ่งในจักรวาลนี้ล้วนเกิดจากปฐมธาตุที่ชื่อ “ปุรุษะ” โดยพระอาทิตย์ถือกำเนิดจากตาของปุรุษะ พระจันทร์เกิดจากสมอง พราหมณ์เกิดจากปาก กษัตริย์เกิดจากแขน ส่วนพวกศูทรนั้นเกิดจากเท้าของปุรุษะ

Common Myth หรือเรื่องเล่านี้ทำให้ผู้คนเชื่อว่าพวกศูทรถูกสร้างมาให้เป็นเท้าที่คอยแบกรับวรรณะอื่นๆ อยู่แล้ว และทำให้การแบ่งชนชั้นวรรณะฝังรากลึกในวัฒนธรรมของคนอินเดียมาจนถึงปัจจุบัน

ยิ่งไปกว่านั้น การ “ผสมวรรณะ” ก็เป็นเรื่องต้องห้ามเพราะจะทำให้วรรณะนั้นๆ แปดเปื้อน ใครก็ตามที่ละเมิดกฎเหล็กข้อนี้ ลูกที่เกิดมาจะเป็นจัณฑาลที่ถูกทุกคนรังเกียจ (ภาษาอังกฤษเรียกจัณฑาลว่า Untouchables หรือคนที่ไม่มีใครอยากจะแตะต้องร่างกาย)

การเหยียดผิวในอเมริกา
ในช่วงคริสตศตวรรษที่ 16-18 ชาวยุโรปที่ไปตั้งรกรากอยู่ในอเมริกาได้นำเข้าทาสจากแอฟริกาหลายล้านคนเพื่อมาช่วยทำเหมืองและทำไร่

เหตุผลที่แรงงานทาสส่วนใหญ่มาจากแอฟริกาก็เพราะว่าอยู่ใกล้กว่าเอเชีย แถมแอฟริกาก็มีตลาดซื้อขายแรงงานทาสรองรับอยู่แล้ว แต่เหตุผลที่สำคัญที่สุดก็คือ ในหลายพื้นที่ที่ทำไร่นั้นมีโรคมาเลเรียและไข้เหลืองระบาด โรคเหล่านี้ถือกำเนิดในแอฟริกา ชาวแอฟริกาจึงพอจะมีภูมิคุ้มกันอยู่บ้างแล้ว ในขณะที่คนยุโรปไม่มีภูมิคุ้มกันโรคเหล่านี้เลย

นี่คือตลกร้าย คนแอฟริกาที่มีภูมิคุ้มกันเหนือกว่าคนยุโรป (biological superiority) กลับถูกขายมาเป็นแรงงานชั้นต่ำที่ต้องคอยทำงานรับใช้คนยุโรป (social inferiority)

จากนั้นเป็นต้นมา คนผิวขาวก็รู้สึกว่าตัวเองเหนือกว่าคนผิวดำอยู่เสมอ

ตอนที่อเมริกาประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ ประโยคทองที่ว่า All men are created equal คนที่ลงชื่อท้ายคำประกาศอย่างจอร์จวอชิงตัน*หรือเบนจามินแฟรงคลินต่างก็ล้วนแล้วแต่มีทาสในครอบครอง และเขาก็ไม่ได้มองว่านี่เป็นเรื่องมือถือสากปากถือศีลด้วย เพราะสำหรับเขาแล้ว “มนุษย์” (men) กับ “คนดำ” (Negroes) เป็นคนละพวกกัน

ในสมัยนั้นมีความพยายามสร้างความชอบธรรมสำหรับการแบ่งแยกนี้ โดยนักเทววิทยาอ้างว่าชาวแอฟริกันนั้นสืบสายพันธุ์มาจากลูกของโนอาห์ (Noah) ที่ชื่อว่าแฮม (Ham) ซึ่งถูกพ่อตัวเองสาปแช่งเอาไว้ว่าลูกหลานที่เกิดมาจะเป็นทาส ส่วนนักชีววิทยาก็บอกว่าคนดำนั้นฉลาดน้อยกว่าและมีศีลธรรมน้อยกว่าคนขาว และแม้กระทั่งหมอก็บอกว่าคนดำนั้นสกปรกและเป็นพาหะนำโรค

แม้ว่าการค้าทาสจะถูกยกเลิกไปนานแล้ว แต่ความเชื่อที่ว่าคนดำนั้นต่ำต้อยกว่าคนขาวก็ยังคง.ฝังรากลึก แม้กระทั่งคนดำเองก็ถูกทำให้เชื่อไปแล้วว่าพวกของตัวเองขี้เกียจกว่าและสกปรกว่าคนขาว ยิ่งตำแหน่งหน้าที่การงานที่มีเกียรติต่างๆ ล้วนแล้วแต่ถูกครอบครองโดยคนผิวขาว คนก็ยิ่งเชื่อขึ้นไปอีกว่าคนผิวดำนั้นด้อยกว่า โดยใช้ตรรกะที่ว่า “ดูสิ นี่ขนาดเลิกทาสมาตั้งนานแล้ว คนดำก็ยังไม่เห็นเจริญขึ้นเลย” ทั้งที่จริงๆ แล้วกฎหมายและอคตินั้นมีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้โอกาสเจริญก้าวหน้าของคนดำนั้นต่ำกว่าคนขาวอย่างเทียบไม่ติด ยกตัวอย่างเช่นในปี 1938 ที่นาย Clennon King นักเรียนผิวดำถูกบังคับให้เข้ารับรักษาในโรงพยาบาลบ้า เหตุผลเพียงเพราะว่าไปสมัครเรียนมหาวิทยาลัย University of Mississippi โดยผู้พิพากษาได้ตัดสินไว้ว่านักศึกษาผิวดำคนนี้ต้องวิกลจริตไปแล้วแน่ๆ ที่คิดว่าตัวเองจะมีโอกาสได้เรียนมหาลัยชั้นนำแห่งนี้!

หญิงชายไม่เท่ากัน
ความไม่เท่าเทียมกันที่เกิดจากเรื่องสีผิวหรือวรรณะนั้นเกิดแค่ในบางประเทศเท่านั้น แต่ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศนั้นมีให้เห็นในทุกสังคม โดยเกือบทั้งหมดนั้นผู้ชายจะได้เปรียบกว่าผู้หญิงเสมอ

ในหลายสังคมผู้หญิงยังถูกมองเป็นเพียงแค่ทรัพย์สมบัติของพ่อ ของสามี หรือของพี่ชาย การทำผิดอย่างการข่มขืนนั้นจึงถูกจัดว่าเป็นการ “ละเมิดทรัพย์สินส่วนบุคคล” โดย “ผู้เสียหาย” ไม่ใช่ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนแต่เป็นผู้ชายที่เป็นเจ้าของผู้หญิงคนนั้นต่างหาก ส่วนการข่มขืนผู้หญิงที่ไม่ได้เป็นสมบัติของชายใดนั้นไม่ถือว่าเป็นอาชญากรรมเลยด้วยซ้ำ อุปมาเหมือนการที่เราเก็บเหรียญที่ตกอยู่บนถนนได้ก็ไม่ถือว่าเป็นการลักทรัพย์

แต่ละสังคมได้สร้างวาทกรรม “ความเป็นชาย” (masculinity) และ “ความเป็นหญิง” (femininity) เพื่อเป็นกรอบในการประพฤติตนในสังคมนั้นๆ

ยกตัวอย่าง หนึ่งในคุณลักษณะความเป็นชายของหลายสังคม คือเขาจะต้องรู้สึกดึงดูดกับเพศตรงข้าม ถ้าชายคนนั้นชอบพอเพศเดียวกันถือเป็นเรื่อง “ผิดปกติ” หรือ “ผิดธรรมชาติ”แต่จริงๆ แล้วการที่คนคนหนึ่งจะชอบเพศเดียวกันไม่ใช่เรื่องผิดธรรมชาติแต่อย่างใด เพราะอะไรก็ตามที่ชีววิทยาเปิดทางให้ทำได้ เรื่องนั้นต้องถือเป็น “เรื่องธรรมชาติ” (natural) โดยตัวมันเอง

เรื่องที่ “ผิดธรรมชาติ” อย่างแท้จริงย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้และไม่จำเป็นต้องให้ใครมาห้าม ไม่เคยมีสังคมไหนที่ต้องมานั่งห้ามผู้ชายสังเคราะห์แสง หรือห้ามผู้หญิงวิ่งเร็วกว่าแสง หรือห้ามอิเลคตรอนประจุลบดึงดูดกันเอง

เวลาที่สังคมฝรั่งบอกว่าเรื่องอะไรคือเรื่องธรรมชาติ เราจึงไม่ได้พูดถึงธรรมชาติในเชิงชีววิทยา แต่เรากำลังพูดถึงธรรมชาติในเชิงความเชื่อทางศาสนาคริสต์ที่ว่ามนุษย์ถูกสร้างจากพระเจ้า หากเราปฏิบัติตนสอดคล้องกับความต้องการของพระเจ้า เราก็จะบอกว่านั่นเป็นเรื่องที่เป็นธรรมชาติ แต่ถ้าเราทำอะไรไม่สอดคล้องกับความต้องการของพระองค์ เราก็กำลังทำอะไรที่ผิดธรรมชาติ

ทำไมผู้ชายถึงเป็นใหญ่กว่าเรื่อยไป
สังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่หรือที่เรียกว่า patriarchy นั้นมีมาอย่างช้านาน

นักวิชาการพยายามอธิบายเหตุปัจจัยที่น่าจะส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางเพศในทุกยุคทุกสมัย แต่คำอธิบายเหล่านี้ก็มักจะมีหลักฐานอื่นมาหักล้างเสมอ

บางคนเชื่อว่าผู้ชายเป็นใหญ่เพราะแข็งแรงกว่า เพราะสมัยก่อนการผลิตอาหารต้องใช้แรงงาน และเมื่อผู้ชายแข็งแรงกว่าจึงเป็นกำลังหลักในการผลิตอาหารให้กับสังคม ผู้ชายจึงเป็นกลุ่มคนที่กุมอำนาจมากที่สุดเสมอ

แต่ถ้าใช้ความแข็งแรงเป็นตัวตั้ง เราจะอธิบายได้อย่างไรว่าทำไมตำแหน่งอื่นๆ ที่แทบไม่ต้องใช้แรงอะไรเลยเช่นนักบวช นักกฎหมาย หรือนักการเมือง ถึงตกอยู่ในมือเพศชายแต่เพียงฝ่ายเดียว?

อีกทฤษฎีหนึ่งบอกว่าเพราะผู้ชายมีความก้าวร้าวกว่า จึงมักเป็นผู้เริ่มต้นสงครามและเป็นผู้คุมเกมสงคราม ทำให้ขึ้นมามีอำนาจมากกว่าผู้หญิง

แต่ก็มีคำถามหักล้างอีกว่า แม้ผู้ชายจะก้าวร้าวกว่า เป็นนักรบที่มีประสิทธิภาพกว่า แต่นั่นหมายความว่าคนที่คุมทัพต้องเป็นผู้ชายด้วยเหรอ? ถ้าคนที่ทำไร่ข้าวโพดเป็นคนผิวดำทั้งหมด คนที่คุมคนงานต้องเป็นคนผิวดำด้วยรึเปล่า? ก็เปล่าเสียหน่อย แล้วเหตุใดผู้หญิงจึงไม่เคยได้รับโอกาสคุมกองทัพบ้าง?

ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งบอกว่าเพราะผู้หญิงต้องอุ้มท้องและดูแลลูก ผู้หญิงจึงจำเป็นต้องพึ่งพาผู้ชายให้ช่วยดูแลลูก คอยปกป้องและหาอาหารมาเลี้ยงครอบครัว

แต่ทำไมผู้หญิงต้องพึ่งพาแต่เพศชายด้วย? ในสังคมอย่างช้างหรือชิมแปนซีโบโนโบ การพึ่งพาคนอื่นให้ช่วยเลี้ยงดูลูกนำพามาซึ่งสังคมที่เพศเมียเป็นใหญ่ด้วยซ้ำ (matriarchy) เพราะเมื่อตัวเมียรู้ตัวว่ามันจำเป็นต้องมีคน(ลิง)คอยช่วยเหลือ มันจึงพัฒนาทักษะในการเข้าสังคมและอยู่ร่วมกับลิงตัวอื่น ลิงกลุ่มนี้จึงสร้างเครือข่าย “มนุษย์แม่” ที่แข็งแกร่ง ในขณะที่ลิงตัวผู้เอาแต่สู้กับตัวอื่นจนไม่มีเวลามาพัฒนาทักษะทางสังคมเลย

จะด้วยเหตุผลอะไรก็ตามแต่ เพศหญิงนั้นตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบมาโดยตลอด แม้ในศตวรรษที่ 21 สถานการณ์จะดีขึ้นกว่าเมื่อ 100 ปีที่แล้วมาก แต่หลายสังคมก็ยังอยู่ห่างไกล “ความเท่าเทียมกัน”  อย่างที่เราฝันถึง


ขอบคุณข้อมูลจาก Sapiens: A Brief History of Humankind by Yuval Noah Harrari

* เรื่องของจอร์จ วอชิงตันนั้น รุ่นน้องคนหนึ่งทักท้วงมาว่า “จากประวัติของ จอร์ช วอชิงตัน เค้ามีแนวคิดว่า Negros ไม่ควรได้รับการปฏิบัติเหมือนไม่ใช่คน นะครับ แต่ในสมัยของเขาที่เป็นยุคเริ่มต้นของสหรัฐอเมริกา เขาไม่สามารถทำอะไรได้มากนัก และทาสที่เขามีอยู่ก็ได้รับการปฎิบัติเป็นอย่างดี” อ่านประวัติใน Wikipedia ได้ที่นี่ครับ

ตอนใหม่ facebook.com/anontawongblog
ตอนเก่า anontawong.com/archives
ดาวน์โหลด eBook – เกิดใหม่

ขอบคุณภาพจาก Pixabay.com

Sapiens ตอนที่ 1 – กำเนิด Homo Sapiens
Sapiens ตอนที่ 2 – สิ่งที่ทำให้เราครองโลก
Sapiens ตอนที่ 3 – สมัยของการล่าสัตว์เก็บพืชผล
Sapiens ตอนที่ 4 – การหลอกลวงครั้งยิ่งใหญ่
Sapiens ตอนที่ 5 – คุกที่มองไม่เห็น
Sapiens ตอนที่ 6 – กำเนิดภาษาเขียน

เมื่อเขาบอกว่าเราทำให้เขาเจ็บ

20170128_hurt

เราไม่มีสิทธิ์บอกว่าเราไม่ได้ทำ

When a person tells you that you hurt them, you don’t get to decide that you didn’t.
-Louis C.K.


อ่านประโยคข้างบนนี้แล้วลองทบทวน ก็รู้ตัวว่าผมเองนี่ก็ทำร้ายคนอื่นมาไม่น้อย

ส่วนใหญ่เป็นการทำร้ายโดยไม่ได้เจตนา

เราอาจจะแค่พูดเล่นๆ แต่เขาเก็บเอาไปคิด

หรือเราอาจจะทำอะไรบางอย่างที่ทำให้เขาตีความไปในทางนึง แต่เราเองก็ไม่ได้อธิบายการกระทำของเราเพราะคิดว่ามันเป็นเรื่องเล็ก ไม่เห็นต้องคิดมากเลย

เราอาจจะลืมไปว่า เรื่องเล็กของเราอาจเป็นเรื่องใหญ่ของเขาก็ได้

และเมื่อเขารู้สึกเจ็บขึ้นมาแล้ว เราก็ไม่ควรปฏิเสธความรับผิดชอบ โดยเฉพาะถ้าเรายังให้คุณค่าความสัมพันธ์นี้อยู่

เมื่อเราทำให้เขาเจ็บ ก็ควรขอโทษ และปรับตัว เพื่อให้ไม่เกิดอุบัติเหตุทางความรู้สึกซ้ำเดิมอีก


ตอนใหม่ facebook.com/anontawongblog
ตอนเก่า anontawong.com/archives
ดาวน์โหลด eBook – เกิดใหม่

นิทานน้ำกับทิฐิ

20170127_water

วันนี้วันศุกร์ มาฟังนิทานกันนะครับ

นานมาแล้วมีชายคนหนึ่งชื่อว่า ทิฐิ เขาเป็นคนที่มีนิสัยอวดดื้อถือดีไม่ต่างจากชื่อ เพราะเมื่อได้ลองเชื่อมั่นในสิ่งใดแล้ว ทิฐิคนนี้ก็จะยึดมั่นถือมั่นในสิ่งนั้นไม่เปลี่ยน และจะไม่ยอมรับฟังข้อคิดเห็นที่ผิดไปจากความเชื่อเดิมโดยเด็ดขาด

แม้ว่านี่จะแสดงให้เห็นถึงความเป็นคนเอาจริงเอาจัง และเคร่งครัดกับชีวิต แต่บางครั้งเขาก็ดื้อรั้นมากเกินไปจนขาดเหตุผล และทำให้สูญเสียสิ่งดี ๆ ในชีวิตไปมากมาย โดยที่เขาเองก็ไม่เคยรู้มาก่อน

กล่าวสำหรับทิฐิ เขาไม่ใช่คนร่ำรวย ดังนั้นจึงต้องทำงานหนักเพื่อหาเงินมาใช้จ่าย กระทั่งมีฐานะขึ้นมาในระดับหนึ่ง ทิฐิจึงคิดที่จะหยุดพักตัวเองจากการงาน แล้วเดินทางไปเรื่อย ๆ เพื่อเที่ยวชมโลกกว้าง เมื่อตัดสินใจได้ดังนั้น ทิฐิจึงจัดการฝากบ้านไว้กับญาติพี่น้อง แล้วเก็บสัมภาระออกเดินทางทันที

ทิฐิเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ชมนั่นแลนี่ และพูดคุยกับผู้คนที่อยู่ในที่เหล่านั้นมากมาย การท่องโลกกว้างของทิฐิน่าจะทำให้เขามีความรู้ดี ๆ หรือเกิดทัศนคติใหม่ ๆ ขึ้นมาบ้าง แต่เมื่อไรก็ตามที่มีคนกล่าวคำซึ่งผิดไปจากความรู้หรือความเชื่อมั่นเดิมของเขา ทิฐิก็จะรีบกล่าวแก่คน ๆ นั้นทันทีว่า

“นั่นไม่ถูกเลยนะ ที่จริงแล้วมันต้องเป็นดังที่ข้ารู้มาต่างหาก”

สิ่งนี้เองทำให้การเดินทางไปทั่วโลกของเขา แทบจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใดขึ้นในชีวิตของเขาเลย

กระทั่งวันหนึ่งทิฐิได้พลัดหลงเข้าไปในดินแดนแห่งทะเลทรายอันแสนแห้งแล้ง และไร้ผู้คนสัญจร เขาหลงทางอยู่ในดินแดนแห่งนั้นสามวันสามคืน จนกระทั่งอาหาร และน้ำดื่มร่อยหรอและหมดลงในที่สุด ทิฐิจึงเดินต่อไปไม่ไหว เขาล้มลงนอนบนผืนทรายอย่างคนสิ้นเรี่ยวแรง

แต่ทิฐิยังไม่อยากตายตอนนี้ ดังนั้นแม้ร่างกายจะอ่อนระโหยโรยแรงขนาดไหน แต่เขาก็รวบรวมพลังใจของตนเฝ้ากล่าวคำภาวนาขอความเมตตาจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยเหลือเขาด้วย

“ข้าแต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ได้โปรดเมตตาข้า ผู้ซึ่งไม่เคยเบียดเบียนใคร ขอทรงประทานน้ำมาให้ข้าได้รักษาชีวิตของตนเองไว้ แม้เพียงหนึ่งหยดก็ยังดี” แล้วในตอนนั้นเอง ทิฐิก็เห็นชายแปลกหน้าชาวเยอรมันคนหนึ่งเดินตรงมาหาเขา ทิฐิดีใจสุดจะกล่าว แล้วรีบพูดขึ้นทันทีว่า

“โอ…ท่านผู้เป็นความหวังของข้า โปรดแบ่งน้ำของท่านให้ข้าดื่มด้วยเถิด”

ชายคนนั้นยื่นถุงหนังสีน้ำตาลในมือให้แก่ทิฐิ แล้วกล่าวว่า

“นี่คือ วาสซ่าร์ จงดื่มเสียสิ”

แต่ทิฐิไม่อยากได้วาสซ่าร์ เขาอยากได้น้ำ ดังนั้นเขาจึงปฏิเสธที่จะรับถุงหนังสีน้ำตาลจากชายแปลกหน้าคนนั้น ชายคนนั้นจึงเดินจากไป

ทิฐิภาวนาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกครั้ง คราวนี้มีชายชาวจีนคนหนึ่งเดินถือถุงหนังสีแดงเข้ามายื่นให้แก่ทิฐิ

“นี่คือ น้ำ ใช่หรือไม่” ทิฐิถามชายชาวจีน

“นี่คือ ซือจุ้ย จงดื่มเสียสิ” ชายชาวจีนตอบ

ทิฐิรู้สึกไม่พอใจ ตอนนี้เขากระหายน้ำมากเหลือเกินแล้ว แต่ทำไมชายผู้นี้จึงนำซือจุ้ย มามอบให้แก่เขาเล่า ทิฐิจึงปฏิเสธถุงหนังสีแดงของชายชาวจีน ชายชาวจีนจึงเดินจากไป

ทิฐิเริ่มภาวนาถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีก และครั้งนี้มีผู้หญิงชาวอินเดียคนหนึ่งมาปรากฏกายตรงหน้าของเขาในแทบจะทันที

“เธอผู้มีใจเมตตา ขอน้ำให้ข้าดื่มหน่อยเถิด” ทิฐิพึมพำคำอ้อนวอนออกจากริมฝีปากที่แห้งผาก

“นี่คือ ปานี จงดื่มเสียสิ” หญิงชาวอินเดียกล่าวพร้อมกับยื่นถุงหนังสีเขียวให้กับทิฐิ แต่นั่นทำให้ทิฐิโกรธมาก เขารวบรวมเรี่ยวแรงทั้งหมดที่มี ยกแขนปัดถุงหนังสีเขียวให้พ้นหน้า แล้วพูดอย่างโกรธเคืองว่า

“ข้าไม่เอาของ ๆ เจ้า ข้าจะตายเพราะขาดน้ำอยู่แล้ว ข้าต้องการน้ำเท่านั้น!”

หญิงอินเดียเมื่อได้ฟังดังนั้นก็เดินจากไปอีกคน ทิฐิเฝ้าอ้อนวอนขอสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกครั้ง แต่คราวนี้ไม่มีใครนำอะไรมายื่นให้เขาอีกแล้ว

จิตของทิฐิกำลังหลุดลอยออกจากร่างที่ใกล้แตกดับ แล้วในตอนนั้นเอง เสียง ๆ หนึ่งก็ดังแว่ว ๆ ให้ได้ยินว่า

“ทิฐิคนถือดีเอ๋ย เราช่วยเจ้าแล้ว แต่เจ้ากลับไม่เคยให้โอกาสตนเองเลย หากเจ้าเปิดใจให้กว้าง และยอมรับในข้อดีของสิ่งที่ไม่คุ้นเคยเสียบ้าง เจ้าก็คงรู้ว่าสิ่งที่อยู่ในถุงหนังทั้งสามนั้น ต่างก็เป็นน้ำดื่มบริสุทธิ์ทั้งสิ้น”

เมื่อสิ้นเสียงแว่วนั้น ทิฐิคนถือดีก็สิ้นลมหายใจทันที


ขอบคุณนิทานน้ำกับทิฐิจากหนังสือนิทานสีขาวโดยดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา

ตอนใหม่ facebook.com/anontawongblog
ตอนเก่า anontawong.com/archives
ดาวน์โหลด eBook – เกิดใหม่