Broken Window Theory และเหตุผลที่เราควรมีโต๊ะทำงานที่เรียบร้อย

หนึ่งสิ่งที่ผมได้ทำในช่วงหยุดยาว คือเคลียร์โต๊ะทำงานให้สะอาดเรียบร้อยขึ้น

ก่อนหน้านี้ซัก 2 สัปดาห์ โต๊ะทำงานจองผมดูไม่ค่อยได้เท่าไหร่ มีหนังสือที่อ่านจบครึ่งๆ กลางๆ อยู่ 3-4 เล่ม บิลที่ยังไม่ได้จ่าย บทความที่ปริ๊นท์มาอ่าน อุปกรณ์มายากลที่ลูกเอามาให้ช่วยสอนเล่น ฯลฯ

การมีโต๊ะทำงานที่ยุ่งเหยิง เป็นภาพสะท้อนความยุ่งเหยิงของชีวิตภายนอกและชีวิตภายใน


สมัยมหาวิทยาลัย ผมได้เรียนเรื่อง Broken Window Theory ซึ่งมีต้นทางมาจากอเมริกา

ทฤษฎีนี้บอกว่าถ้าละแวกไหนมีบ้านหรือตึกที่มีกระจกแตก แล้วกระจกนั้นไม่ได้รับการซ่อมแซม อีกไม่นานก็จะมีกระจกแตกเพิ่มอีก

เพราะการที่กระจกบานแรกไม่ได้รับการซ่อมแซมนั้น เป็นการส่งสัญญาณว่าคนในเขตนี้ไม่ได้สนใจหรือใส่ใจความเป็นระเบียบเรียบร้อย พวกวัยคะนองจึงรู้สึกว่าถ้าจะทำกระจกแตกอีกสักบานสองบานก็คงไม่มีใครถือเป็นธุระ

Broken Window Theory มีผลในการวางนโยบายของตำรวจในหลายพื้นที่ของอเมริกาในยุค 90’s โดยพวกเขาเชื่อว่าหากจัดการอาชญากรรมเล็กน้อยให้อยู่หมัด เช่นขึ้นรถไฟแบบไม่ซื้อตั๋ว ไม่ข้ามถนนตรงทางม้าลาย ทิ้งขยะในที่สาธารณะ ฯลฯ อาชญากรรมใหญ่ๆ อย่างการปล้นชิงทรัพย์หรือการทำร้ายร่างกายก็จะลดน้อยลงเช่นกัน

ทำให้ผมนึกถึงเพื่อนคนหนึ่งที่เคยบอกว่า “ถ้าเรื่องเล็กๆ ยังทำให้ถูกต้องไม่ได้ จะทำเรื่องใหญ่ๆ ให้ถูกต้องได้ไง”


ใครที่เคยไปเที่ยวญี่ปุ่นย่อมจะรู้ดีว่าบ้านเมืองเขาเป็นระเบียบมาก แทบไม่มีการทิ้งขยะบนท้องถนน ห้องน้ำห้องท่าก็มักจะสะอาดเรียบร้อยแม้จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีคนหนาแน่นก็ตาม

อาจเป็นเพราะประเทศญี่ปุ่นขึ้นชื่อเรื่องนี้ และเราเองไปเที่ยวบ้านเมืองเขาแล้วเห็นเขารักษาความสะอาดเอาไว้ดี เราก็เลยรู้สึกว่าเข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตามด้วยเช่นกัน

เมื่อญี่ปุ่นไม่มี “broken window” ให้เห็น นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่จึงระมัดระวังเป็นพิเศษ


กลับมาที่เรื่องการจัดโต๊ะ

หากเราปล่อยให้โต๊ะไร้ระเบียบ มันก็เหมือนการที่เรามีกระจกแตกไปแล้วหนึ่งบาน พอมีของอะไรมาเพิ่ม เราก็ไม่รู้สึกว่าการทำให้โต๊ะรกขึ้นอีกหน่อยจะเป็นปัญหาอะไร

แน่นอนว่าการประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานไม่ได้ขึ้นอยู่กับโต๊ะสะอาดเพียงอย่างเดียว แต่การมีโต๊ะที่เป็นระเบียบเรียบร้อยก็น่าจะช่วยลด “แรงเสียดทาน” ในการทำงานให้มีประสิทธิภาพได้ไม่มากก็น้อย

ดังนั้น จึงอยากเชิญชวนให้ทุกคนจัดโต๊ะให้เป็นระเบียบกันดู

อย่าปล่อยให้กระจกบานแรกแตก จนเป็นตัวเหนี่ยวนำให้กระจกบานอื่นๆ แตกตามไปด้วยครับ

66 ข้อคิดต้อนรับปี 2566

  1. มนุษย์ชอบดูบรรทัดสุดท้าย พระเจ้าชอบดูทีละบรรทัด
  2. อย่าทุกข์ใจไปกับปัญหาที่มโนขึ้นมาเอง
  3. คนที่ทำให้เราหงุดหงิด ป่านนี้เขานั่งกินไอติมสบายใจเฉิบไปแล้ว!
  4. วันที่เราอ่อนแออย่าเพิ่งรีบเข้มแข็ง เดี๋ยวแผลจะใหญ่กว่าเดิม -พี่อ้อย
  5. ถ้าเราชอบตัวเองมากพอ เราจะไม่ขอให้คนอื่นมาชอบเรา
  6. ถ้าเราโกรธ แสดงว่ามันมีความจริงอยู่บางส่วน
  7. ยกโทษให้คนอื่นที่เขาเป็นคนแบบนี้ ยกโทษให้ตัวเองที่แอบหวังว่าเขาจะเป็นแบบอื่น
  8. สู้ไม่ได้ก็ให้หนี
  9. อย่าใช้ชีวิตเหมือนเพลงรักที่ไม่มีท่อนฮุค
  10. เอาช่วงเช้าให้อยู่หมัด – own the morning.
  11. การดูเป็นคนเก่งกับการเป็นคนเก่งนั้นไม่เหมือนกัน เลือกให้ดีว่าจะเอาดีด้านไหน
  12. จงเป็นคนใจเย็นที่ทำงานเร็ว จงเป็นคนใจดีที่เด็ดขาด
  13. ไม่มีทีมงานที่ไม่ดี มีแต่หัวหน้าที่ไม่ดี
  14. “พี่พลาดเอง” คือประโยคที่หัวหน้าควรพูดให้บ่อยกว่านี้
  15. ถ้าความคาดหวังของเราเติบโตเร็วกว่ารายได้ เราจะไม่มีวันมีความสุขกับเงิน
  16. ถึงจุดหนึ่งเงินเดือนจะไม่สำคัญเท่าเพื่อนร่วมงาน
  17. บริษัทหนึ่งมีผู้บริหารได้หลายคน เด็กหนึ่งคนมีพ่อได้คนเดียว
  18. อย่ารู้สึกผิดต่อการใช้ชีวิตให้สนุก
  19. บางที เรื่องสนุกของชีวิตก็เป็นเรื่องเดียวกับที่เรากลัวที่สุดนั่นแหละ -นิ้วกลม
  20. ง่ายที่สุดคือพูด ยากที่สุดคือทำ
  21. ลมจะดับเปลวเทียน แต่จะโหมกองไฟ
  22. มองให้ไกลกว่าหนึ่งช็อต
  23. เมื่อทำสิ่งถูกมันจะยากที่สุดแค่ตอนแรก เมื่อทำสิ่งที่ผิดมันจะง่ายที่สุดแค่ตอนแรก
  24. สิ่งใดทำให้เรารำคาญใจทุกวัน จงจัดการมันให้เรียบร้อย
  25. สิ่งไหนสำคัญกับเรา จงทำมันให้เป็นกิจวัตร
  26. ทำเล่นๆ แต่เป็นประจำดีกว่าทำจริงจังแต่ไม่ต่อเนื่อง
  27. จงสม่ำเสมอแล้วผลลัพธ์จะปรากฏ ไม่มีเส้นทางไหนไกลเกินความสม่ำเสมอของเรา -นิ้วกลม
  28. ความเร็วไม่สำคัญเท่ากับการไม่ล้มเลิก
  29. ปัจจัยสำคัญที่สุดของความสำเร็จคือ network หรือคนที่รายล้อมตัวเรา เพราะเราจะเลียนแบบคนใกล้ตัวโดยไม่ตั้งใจ -ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร
  30. ถ้าอยากได้ไอเดียใหม่ๆ ให้อ่านหนังสือเก่าๆ
  31. ทุกอย่างมีราคา ขึ้นอยู่กับว่าเราจะจ่ายตอนนี้หรือจะจ่ายทีหลัง
  32. “You cannot get away with anything, ever.” -Jordan Peterson
  33. อย่า Copy & Paste ชีวิตในฝันของคนอื่น
  34. ถามตัวเองให้ดีว่ามันคือความฝันหรือการชดเชยปมด้อย
  35. อย่าลืมว่าโชคชะตานั้นเอาแต่ใจ
  36. โลกนี้มันโหดร้ายหรือเราเองที่เปราะบาง
  37. พายุบางลูกก็มาเพื่อเคลียร์เส้นทาง
  38. เราไม่ได้มีเวลาอันจำกัด เราคือเวลาอันจำกัด –Four Thousand Weeks
  39. เมื่อพยายามมากเกินไปที่จะใช้เวลาให้คุ้มค่า เราอาจพลาดที่จะใช้ชีวิตไปเสียสิ้น
  40. จะมีเวลามากมายไปทำไม ถ้าไม่ได้ใช้ร่วมกับคนที่เรารัก
  41. เป้าหมายคือมีเรื่องเสียดายให้น้อยที่สุด
  42. สำเร็จเพราะมั่นใจ มั่นใจเพราะเตรียมตัว
  43. ประโยชน์ของถ้วยชาอยู่ที่ความว่างเปล่าของมัน
  44. ถ้าข้างในเราถูก ข้างนอกจะถูกเอง
  45. ครึ่งหลังของชีวิตจะเป็นอย่างไร ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราทำเอาไว้ในครึ่งแรก
  46. หากไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง จงอย่าทำ ถ้าไม่ใช่ความจริง จงอย่าพูด -มาร์คัส ออเรเลียส
  47. เมื่อเรารู้ว่าเรากำลังไปไหน เราจะไม่กลัว
  48. ถ้าประตูมันไม่เปิด มันอาจไม่ใช่ประตูของเรา
  49. ถ้าอยากตัดสินใจผิดพลาด ให้ถามความเห็นของทุกคน
  50. BURL – Buy Utility, Rent Luxury – ซื้อประโยชน์ใช้สอย เช่าความหรูหรา
  51. ไม่ว่าเรื่องราวจะแย่แค่ไหน เราทำให้มันเลวร้ายกว่านี้ได้เสมอ
  52. บางสิ่งบางอย่างอาจจะสายเกินไป แต่ก็มีอีกมากมายที่เราเริ่มได้ตอนนี้
  53. อย่าให้ในสิ่งที่เราไม่มี อย่าขอในสิ่งที่เราเองก็ยังทำไม่ได้ -โน้ต อุดม
  54. เมื่อเราอยากเป็นคนพิเศษ เราจะเป็นแค่คนธรรมดา เมื่อเราพร้อมเป็นคนธรรรมดา เราจะกลายเป็นคนพิเศษ -พศิน อินทรวงค์
  55. ชีวิตที่ดีคือรางวัลของการทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์
  56. สิ่งหนึ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติคือหยิน-หยางหรือความสมดุล ถ้าสิ่งใดมีปัญหาแสดงว่าสิ่งนั้นยังขาดสมดุลอยู่ -ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร
  57. ดีเกินดีคือไม่ดี
  58. วิธีแก้น้ำขุ่นคือปล่อยมันไว้เฉยๆ
  59. วันเวลาเป็นฝ่ายชนะเสมอ -พงศ์พรหม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
  60. สิ่งที่เราขาดไปไม่ใช่โอกาส แต่เป็นการเตรียมพร้อมที่จะคว้ามันไว้
  61. สิ่งที่เราควรเรียนรู้จากประวัติศาสตร์ก็คืออดีตนั้นไม่ได้หอมหวานอย่างที่เราระลึกถึง ปัจจุบันไม่ได้แย่อย่างที่เราคิด และอนาคตนั้นจะดีกว่าที่เราคาดการณ์ -Morgan Housel
  62. ถึงโลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหนแต่มนุษย์ก็ยังเหมือนเดิม
  63. คนเราเปลี่ยนกันได้ ที่ยังไม่เปลี่ยนเพราะว่ายังเจ็บไม่พอ
  64. สู้ทีละวัน รอดทีละวัน เดี๋ยวก็รอดทุกวัน -พี่อ้อย
  65. ถ้าอยากยอมแพ้ ให้รอวันพรุ่งนี้
  66. อุปสรรคคือมรรคา – อัตตาคือศัตรู

เส้นแบ่งของงานที่ชอบและไม่ชอบ

จากช่วงหนึ่งของบทสัมภาษณ์ มิ้นท์ – I Roam Alone โดย ใบพัด นบน้อม เมื่อปี 2560:

“การเดินทางมันเป็นชีวิตไปแล้ว วันที่เราไม่ได้เที่ยวหรือทำงาน เราก็พักผ่อนเหมือนคนทั่วไปแหละ นอนอยู่บ้าน ดู Netflix แต่จริงๆ เราเดินทางกันตลอดเวลาอยู่แล้ว เราเดินทางผ่านสิ่งอื่น ผ่านเพลง หนัง หนังสือ ถึงใบพัดไม่ได้เขียนหนังสือ ใบพัดก็เขียนผ่านสิ่งอื่น เขียนในหัว เขียนบทสนทนาเวลาไปจิบกาแฟ ใบพัดเขียนตลอดเวลาใช่ไหม”

เธอหยุดคิดก่อนจะพูดต่อ “มันจะมีเส้นแบ่งระหว่างงานที่เราชอบกับไม่ชอบ ถ้าไม่ชอบ ตื่นมาจะเซ็ง แค่คิดว่าต้องไปทำสิ่งนั้นก็มีความทุกข์แล้ว เราจะรู้สึกว่ามันเป็นงานที่ไม่สร้างคุณค่าให้กับชีวิต เป็นงานที่ไม่ตอบโจทย์อะไรเลย แต่ถ้าเป็นงานที่ชอบ เราจะอยากลุกขึ้นจากเตียงแต่เช้าเพื่อไปเจอสิ่งนั้น เพราะรู้ว่าเราทำมันไปทำไม มันเป็นงานที่ให้พลังเรา ทำให้เราอยากพัฒนาตัวเอง ยิ่งถ้ามันทำให้สังคมดีขึ้นมันยิ่งมีความหมาย แรกๆ เราก็เที่ยวเพื่อสนองความต้องการของตัวเอง แต่หลังๆ เที่ยวจากประเด็น อยากให้คนได้อะไรจากการไปเที่ยวของเราด้วย”


คุณมิ้นท์พูดถึงสองประเด็นที่น่าสนใจ

หนึ่ง เมื่อเราสนใจสิ่งใด เราจะทำมันตลอดเวลา

สอง เมื่อได้ทำงานที่ใช่ สัญญาณมันจะชัดมาก

วันก่อนเพื่อนที่เป็น Youtuber แวะมาทักทาย ผมถามเขาเรื่องการทำ video content ส่วนเขาก็ถามผมเรื่องการเขียนบล็อก สิ่งหนึ่งที่คุยแล้วเหมือนกันคือพอเจออะไรที่ดูท่าจะเป็นเนื้อหาในวีดีโอหรือบทความถัดไปได้ เราจะมองออกและหาทางจดมันไว้ทันที

ในมุมหนึ่งมันก็อาจทำให้เราไม่ได้ซึมซับกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้ามากนัก แต่ในอีกมุมหนึ่งมันก็แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่แท้จริงของกฎแรงดึงดูด – ที่พอเราสนใจสิ่งใด เราจะเห็นสิ่งนั้นมากขึ้นในชีวิต เหมือนคนที่คิดจะซื้อรถฮอนด้าซีวิคก็จะเริ่มมองเห็นซีวิคบนท้องถนนมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

ส่วนเรื่องงานที่ใช่ ก็ต้องนับว่าตัวผมเองโชคดีที่ขยับเข้างานที่ใช่มากขึ้นเรื่อยๆ เริ่มจากซ่อมเครื่องฉีดรองเท้าในโรงงาน มาเป็น software engineer ก่อนไปทำ technical support แล้วผันตัวเองมาดูสื่อสารองค์กร จนได้มาทำงานสาย HR อย่างทุกวันนี้

แต่จะบอกว่าโชคดีอย่างเดียวก็คงไม่ได้ ก็ต้องตบไหล่ตัวเองด้วยที่หลายครั้งก็กล้า take a leap of faith – กลั้นใจแล้วลองกระโดดเข้าหาสิ่งที่เรายังไม่รู้จัก

งานที่ใช่ประกอบด้วยหลายอย่าง ปัจจัยหลักคงหนีไม่พ้นวงกลมสามอันที่ซ้อนกัน คือสิ่งที่เราชอบ สิ่งที่เราทำได้ดี และสิ่งที่มีประโยชน์ต่อผู้อื่น ปัจจัยรองแต่ก็สำคัญมากเช่นกันคือหัวหน้า เพื่อนร่วมงาน และพลังงานที่ไหลเวียนอยู่ในองค์กรว่ามันสอดคล้องกับพลังงานที่ไหลเวียนในตัวเรารึเปล่า

ถ้าเจองานที่ใช่ มันก็จะมีสัญญาณอย่างที่คุณมิ้นท์บอก คือเราตื่นเต้นที่จะเจองานนั้น เราอยากเก่งขึ้นเรื่อยๆ และเรารู้ว่างานของเรามีคุณค่าอย่างไร

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะรู้สึกอยากตื่นขึ้นมาทำงานทุกวัน เพราะในช่วงที่งานมันยากๆ หรือสถานการณ์ไม่ปกติ เราก็อยากซุกตัวบนเตียง ไม่อยากออกมาเผชิญปัญหาเหมือนกัน แต่ถ้าวันเหล่านี้เป็นส่วนน้อยในชีวิตการทำงาน ก็ต้องถือว่าเราโชคดีกว่าใครหลายคน และควรระลึกไว้เสมอว่า 30% ของเงินเดือนคือค่าอดทน

ใกล้จะสิ้นปีแล้ว วันไหนแดดร่มลมตก ก็น่าจะเป็นการดีที่เราจะได้นั่งทบทวนว่างานที่เรากำลังทำอยู่มันทำให้เรามีชีวิตชีวาและคิดถึงมันตลอดเวลามากพอหรือไม่นะครับ


ขอบคุณบทสัมภาษณ์จากหนังสือ In Conversation ใบพัด นบน้อม สัมภาษณ์และเรียบเรียง

ปราบมังกรตั้งแต่ตอนที่มันยังแบเบาะ

มังกรนั้นมีความหมายที่แตกต่างไปในแต่ละวัฒนธรรม

สำหรับคนจีน มังกรเป็นสัญลักษณ์ที่นำมาซึ่งความสุขและความอุดมสมบูรณ์

แต่สำหรับฝรั่ง มังกรมักเป็นสัญลักษณ์ของสัตว์ดุร้ายที่คอยเฝ้าองค์หญิงหรือสมบัติไม่ยอมให้ใครมากล้ำกราย มีเพียงอัศวินผู้กล้าหาญเท่านั้นที่จะปราบมังกรที่ดุร้ายนี้ได้

ในบทความนี้จะมองมังกรตามความหมายของฝรั่ง

ชีวิตเรามีมังกรอยู่เต็มไปหมด ขึ้นอยู่กับว่าเราจะออกไปตามหามันถึงในถ้ำแล้วปราบมันหรือไม่ ซึ่งถ้าโชคดี เราอาจจะไปเจอตอนมังกรตอนที่มันยังเล็กและไม่มีพิษสงมากมายนัก เราจึงสามารถจัดการมันได้โดยง่ายดาย

แต่ถ้าเรามัวแต่กลัวมังกร ไม่กล้าเข้าไปในถ้ำ แล้วหวังลมๆ แล้งๆ ว่ามังกรจะจากไปเอง วันหนึ่งมันอาจจะกลับมาไล่ล่าเราก็ได้

คอเลสเตอรอลที่สูงเกิน 200 ความสัมพันธ์ที่เริ่มมีรอยร้าว หนี้บัตรเครดิต เหล่านี้ล้วนเป็นมังกรวัยกระเตาะที่รอให้เราเข้าไปจัดการ

แต่ถ้าเราไม่ใส่ใจหรือขาดความกล้า รีรอจนมังกรเหล่านี้โตเต็มวัยจนบินได้-พ่นไฟได้ วันหนึ่งเราอาจจะไขมันพอกตับ เราอาจมองหน้าไม่ติดกับคนที่สำคัญที่สุด หรือเราอาจต้องจ่ายดอกเบี้ยบัตรเครดิตแพงกว่าเงินต้นเสียอีก

จงปราบมังกรตั้งแต่ตอนที่มันยังแบเบาะกันดีกว่าครับ

การเลือกทางที่ถูกนั้นง่ายมาก

สิ่งที่ยากคือการเลือกทางที่ถูกอย่างต่อเนื่องยาวนาน

ธรรมดาคนเรารู้ดีอยู่แล้วว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ

ใครก็รู้ว่ากินผักผลไม้นั้นมีประโยชน์ แต่มีเพียงไม่กี่คนที่กินผักผลไม้จนเป็นนิสัย

ใครก็รู้ว่าออกกำลังกายนั้นมีประโยชน์ แต่มีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ใครก็รู้ว่าการเจริญสตินั้นมีประโยชน์ แต่คนที่แบ่งเวลาเจริญสติเป็นประจำนั้นมีเพียงหยิบมือ

ที่คนไม่ค่อยทำ เพราะสิ่งเหล่านี้มันไม่เห็นผลในทันที ต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือหลายปี

เช่นเดียวกับเรื่องร้ายๆ อย่างการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ หรือกินของมัน-ของหวาน ที่กว่าจะส่งผลให้เห็นแบบจับต้องได้ก็ต้องเลยวัยกลางคนมาแล้ว

เพราะอะไรที่เราทำซ้ำๆ ล้วนตกอยู่ใต้กฎของการทบต้น (compounding) ที่จะเนิบนาบในช่วงแรกแต่จะพุ่งในตอนปลาย

ดีขึ้นเพียงสัปดาห์ละ 1% ภายใน 3 ปีเราจะดีขึ้นถึง 4.7 เท่า

แย่ลงเพียงสัปดาห์ละ 1% ภายใน 3 ปีเราจะแย่ลงถึง 4.8 เท่า

“Choosing something once is easy. Choosing it repeatedly makes a difference. Ordinary choices compound into extraordinary results.”
-Shane Parrish

ความมหัศจรรย์จึงมักเกิดจากคนธรรมดาที่ทำเรื่องธรรมดามายาวนานมากพอ

และความล้มเหลวก็มักเกิดจากคนธรรมดาที่ทำผิดเล็กน้อยมายาวนานมากพอเช่นกัน

การเลือกทางที่ถูกนั้นง่ายมาก สิ่งที่ยากคือการเลือกทางที่ถูกอย่างต่อเนื่อง

การเลี่ยงทางที่ผิดนั้นง่ายมาก สิ่งที่ยากคือการเลี่ยงทางที่ผิดอย่างต่อเนื่อง

ยาก – แต่ไม่เกินวิสัย ขอแค่มีสติและความสม่ำเสมอ

เลือกทางถูกในเรื่องเดิมให้ครบร้อยครั้ง-พันครั้ง แล้วชีวิตเราจะดีขึ้นได้อย่างแน่นอนครับ