ทำมากได้น้อย-ทำน้อยได้มาก

ช่วงนี้ผมได้ใช้เวลาคิดทบทวนเรื่อง The Law of Diminishing Returns พอสมควร

บางคนแปลชื่อเป็นไทยว่า “กฎแห่งผลตอบแทนที่ลดลง”

ใครที่ไม่เคยได้ยินกฎนี้ สามารถดูภาพประกอบที่มีน้องเพนกวินเป็นผู้สอน

แกนนอนคือ input หรือแรงที่เราลงไป

แกนตั้งคือ output หรือผลลัพธ์ที่เราได้กลับมา

ในช่วงแรกจะเห็นว่ากราฟค่อนข้างชัน เราลงแรงไปหนึ่งหน่วย แต่ได้รับผลตอนแทนมากกว่าหนึ่งหน่วย (increasing returns)

แต่พอถึงจุดหนึ่ง ความชันของกราฟจะน้อยลง การเพิ่ม input ไม่ได้สร้าง output มากเท่ากับก่อนหน้านี้ (diminishing returns)

และยิ่งเราเพิ่ม input เข้าไปเรื่อยๆ กราฟกลับทิ่มหัวลง กลายเป็นว่ายิ่งทำผลลัพธ์ยิ่งแย่ (negative returns)

ลองนึกถึงการกินพิซซ่า

เวลาที่เราหิวโซ แล้วมีพิซซ่าถาดใหญ่มาส่ง การได้กินหยิบพิซซ่าชิ้นแรกขึ้นมากินนั้นจะทำให้เรามีความสุขมาก (increasing returns)

แน่นอนว่าพิซซ่าชิ้นเดียวยังไม่อิ่มท้อง เราก็เลยกินชิ้นที่สอง ชิ้นที่สาม ชิ้นที่สี่ ซึ่งมันก็ทำให้เรามีความสุขมากขึ้นไปอีก แต่พิซซ่าชิ้นที่สี่ไม่ได้ทำให้ความสุขของเราเพิ่มมากขึ้นเท่ากับพิซซ่าชิ้นแรก นั่นแปลว่าเราอยู่ในโซนของ diminishing returns เรียบร้อยแล้ว

และถ้าเราโดนบังคับให้กินพิซซ่าจนหมดถาด พอถึงชิ้นที่ 6 เราจะเริ่มรู้สึกหนืดๆ และเมื่อถึงชิ้นที่ 8 เราอาจจะรู้สึกผะอืดผะอม (negative returns)

The Law of Diminishing Returns นี้เอามาปรับใช้ในชีวิตจริงได้ในหลายสถานการณ์และในหลากหลายแง่มุม

.

หนึ่ง เรื่องการเรียน

ตอนที่ผมเรียนปริญญาตรี ผมจบด้วยเกรดเฉลี่ยค่อนข้างดีเยี่ยม

แต่ระหว่างที่เรียนผมก็ทำกิจกรรมนักศึกษาค่อนข้างเยอะมาก เป็นสี่ปีที่ชีวิตเต็มไปด้วยสีสัน

ถามว่าผมสามารถทำกิจกรรมให้น้อยกว่านี้ได้มั้ย เพื่อจะได้มีเวลาทบทวนตำรามากขึ้น

คำตอบคือทำได้ แต่ต่อให้ผมไม่ทำกิจกรรมเลย และเอาเวลาทั้งหมดมาทุ่มให้กับการเรียน เกรดเฉลี่ยของผมก็คงดีขึ้นประมาณ 0.1 หรือ 0.2 เท่านั้น เพราะเมื่อเกรดเราสูงอยู่แล้ว การพยายามเพิ่มเกรดเฉลี่ยให้สูงขึ้นไปอีกมันคือการทำงานในโซนของ diminishing returns ที่ลงแรงไปมาก แต่ได้ผลตอบแทนกลับมาไม่คุ้มค่าเท่าไหร่

เมื่อมองย้อนกลับไป คิดว่าตัวเองตัดสินใจถูกที่เอาเวลาที่เราควรจะได้อ่านหนังสือไปทำกิจกรรม เพราะมันคือสิ่งที่เราจดจำได้และมีประโยชน์กว่าเนื้อหาในตำราไหนๆ

.

สอง เรื่องการทำงาน

สิ่งหนึ่งที่หัวหน้าผมมักจะบอก คือ Done is better than perfect

งานหลายๆ อย่างไม่จำเป็นต้องทำให้เรียบร้อยไร้ที่ติ ทำได้ซัก 80-90% ก็โอเคแล้ว

ยกตัวอย่างเช่นการทำสไลด์ให้ดูดีประมาณ 80% อาจใช้เวลา 2 ชั่วโมง แต่ถ้าจะทำให้เพอร์เฟ็คต้องใช้เวลาเพิ่มอีก 2 ชั่วโมง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ควรทำหากสไลด์นั้นถูกใช้เพื่อการพูดคุยกันภายในบริษัทแค่ครั้งเดียว สู้เอาเวลาสองชั่วโมงนั้นไปทำงานชิ้นอื่นจะดีกว่า

แต่ถ้าเราจะทำอะไรที่ออกไปพรีเซนต์ลูกค้า หรือต้องส่งให้พนักงานทั้งองค์กรได้ใช้ 80-90% อาจยังไม่พอ ต้องทำให้ใกล้เคียง 100% ให้มากที่สุด

.

สาม เรื่องเวลาที่มีให้ลูก

ผมเคยเขียนบทความ “10% ของงาน = 50% ของลูก”

เพราะหนึ่งชั่วโมงของงาน กับหนึ่งชั่วโมงของลูกไม่เท่ากัน

สมมติว่าเราทำงานนอกบ้าน และลูกเข้านอนตอนสามทุ่ม

ถ้าเราทำงานถึงหกโมงเย็น และกลับถึงบ้านตอนหนึ่งทุ่ม ลูกจะได้อยู่กับเราสองชั่วโมง

ถ้าเราทำงานถึงหนึ่งทุ่ม และกลับถึงบ้านตอนสองทุ่ม ลูกจะมีเวลาอยู่กับเราแค่ชั่วโมงเดียว

เราได้ทำงานมากขึ้น 1 ชั่วโมง ซึ่งคิดเป็นประมาณ 10% ที่เราจะได้งานเยอะขึ้น

แต่ลูกได้อยู่กับเราน้อยลง 1 ชั่วโมง ซึ่งเท่ากับ 50% ของเวลาทั้งหมดที่เขาจะได้อยู่กับเราในวันนั้น

1 ชั่วโมงของการที่ลูกได้อยู่กับเรา อยู่ในโซนของ increasing returns

1 ชั่วโมงของการทำงานเพิ่มขึ้น อยู่ในโซนของ diminishing returns

ดังนั้น 1 ชั่วโมงจึงมีค่าไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้มันไปกับโซนไหน

.

สี่ ผลตอบแทนมหาศาลของการเป็น Elite

โดยเฉลี่ยแล้วนักเตะใน Premier League ได้ค่าตอบแทน 60,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์หรือเดือนละ 10.5 ล้านบาท*

ส่วนเงินเดือนของนักเตะที่อยู่ลีกต่ำกว่านั้นได้แก่

EFL Championship เดือนละ 1.2 ล้านบาท (7,000 GBP/week)
EFL League One เดือนละ 8 แสนบาท (4,753 GBP/week)
EFL League Two เดือนละ 3.5 แสนบาท (2,000 GBP/week)

ทั้ง 4 ลีกรวมกันมีทั้งหมด 92 ทีม (20+24+24+24) สมมติว่าทีมชุดใหญ่มีทีมละ 25 คน แสดงว่ามีนักเตะทั้งหมด 2300 คน

ในอังกฤษมีคนเตะบอลได้ 11 ล้านคน*

ถ้าเราเก่งพอที่จะเป็นนักเตะ League Two แสดงว่าเราเก่งระดับ 2300 คนแรกใน 11 ล้านคน คิดเป็น 99.98th percentile ได้ค่าเหนื่อยเดือนละสามแสนห้า

แต่ถ้าเราอยากเก่งพอที่จะค้าแข้งในพรีเมียร์ลีก ซึ่งมี 20 ทีม เราต้องเป็น 500 คนที่เก่งที่สุดใน 11 ล้านคน คิดเป็น 99.9955th percentile ได้ค่าเหนื่อยเดือนละ 10.5 ล้านบาท

Percentile ต่างกันนิดเดียว แต่ผลตอบแทนต่างกัน 30 เท่า

บทเรียนก็คือการไปให้ถึงระดับ elite ในแต่ละวงการหรือแต่ละวิชาชีพนั้นยากมาก เพราะการแข่งขันนี้อยู่ในโซน diminishing returns ล้วนๆ มีไม่กี่คนที่จะมีทั้งพรสวรรค์และพรแสวงจนไปถึงระดับท็อปของวงการได้ แต่คนที่ทำได้ก็จะได้รับผลตอบแทนที่มากกว่าเป็นสิบเท่า โดยที่เราไม่ได้เก่งกว่าคนอื่นเป็นสิบเท่า

นักวิ่ง 100 เมตรที่เร็วที่สุดในโลกอาจจะเร็วกว่าคนอื่นเพียงเสี้ยววินาที แต่นั่นก็เพียงพอแล้วที่เขาจะมีรายได้มากกว่านักวิ่งคนอื่นเป็นสิบหรือเป็นร้อยเท่า

ดังนั้น ถ้าคิดจะเอาจริงเอาจังในด้านใด ก็ลองตั้งเป้าที่จะไปให้สุดทาง แม้ระหว่างทางจะแห้งแล้งและไม่ค่อยมีอะไรให้เก็บเกี่ยวในเชิงผลตอบแทน (diminishing returns) แต่หากเราไปถึงปลายทางได้ก็จะมีรางวัลใหญ่รออยู่

.

ห้า ทำมากได้น้อย -> ทำน้อยได้มาก

ลองสำรวจตัวเองว่าเราใช้เวลาอยู่ในโซน diminishing returns กับเรื่องใดบ้าง

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงาน การหาเงิน การแสวงหาความยอมรับ การเสพสื่อต่างๆ

และเรากำลังละเลยเรื่องอะไรบ้าง

การออกกำลังกาย การใช้เวลากับคนที่เรารัก การมีเวลานั่งคุยกับตัวเอง

สมมติว่าเราทำงานวันละ 10 ชั่วโมง แต่เราลดเวลาทำงานเหลือแค่ 9 ชั่วโมง แล้วเอา 1 ชั่วโมงที่ได้คืนมานั้นไปออกกำลังกาย 20 นาที โทรหาพ่อแม่ 20 นาที นั่งคุยกับตัวเองอีก 20 นาที ผลตอบแทนจะคุ้มค่ามาก มันคือ “พิซซ่าชิ้นแรก” ที่อยู่ในโซน increasing returns

มองดูว่าเราใช้เวลาไปกับเรื่องอะไรที่ทำมากแต่ได้น้อย แล้วแบ่งเวลาส่วนนั้นไปทำในสิ่งที่เราไม่ค่อยได้ทำ แล้วมันจะเป็นการทำน้อยแต่ได้มากครับ


* ขอบคุณข้อมูลจากเว็บ MansionBet และ The FA

แค่ 1 ครั้งก็ยังดี

แค่ 1 ครั้งก็ยังดี

เมื่อมีสิ่งที่เราอยากทำให้เป็นนิสัย แต่ยังทำได้ไม่สม่ำเสมอ สิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้คือบอกตัวเองว่า “แค่ 1 ครั้งก็ยังดี”

ผมชอบการวิดพื้น เพราะใช้เวลาน้อยและทำเมื่อไหร่ก็ได้ โดยผมมักจะวิดพื้นก่อนอาบน้ำ

แต่ก็มีหลายครั้งที่ผมเพิ่งอิ่มจากข้าวเช้า หรือเพิ่งไปวิ่งมาเหนื่อยๆ ทำให้ไม่พร้อมวิดพื้น เพราะรู้สึกว่าถ้าวิดไปก็คงทำได้ไม่กี่ครั้ง

แต่ผมก็ตระหนักได้ว่า เราไม่จำเป็นต้องวิดพื้นให้มากเท่าที่ปกติเราวิดได้

สิ่งสำคัญยิ่งกว่าจำนวนหรือสถิติ คือการ “กรุยทาง” ในหัวสมองของเรา มันคือการสร้าง neural pathway ที่จะทำให้กิจกรรมนี้มีแรงต้านน้อยลงเรื่อยๆ

ยิ่ง neural pathway นี้ถูกใช้บ่อยเท่าไหร่ กิจกรรมนี้ก็จะยิ่งกลายมาเป็นธรรมชาติของเรามากขึ้นเท่านั้น พูดง่ายๆ ก็คือมันจะกลายเป็นอุปนิสัยหรือ habit นั่นเอง

เวลาที่ผมรู้สึกไม่อยากวิดพื้นเพราะร่างกายไม่พร้อม ผมจะบอกตัวเองว่า “แค่ 1 ครั้งก็ยังดี” เพื่อให้ตัวเองได้ลงไปวิดพื้น บางครั้งก็วิดแค่ครั้งเดียวจริงๆ แต่หลายครั้งก็ทำได้มากกว่านั้น

ยังมีอีกหลายนิสัยที่เราใช้แนวคิด “แค่ 1 ครั้งก็ยังดี” ได้

เขียนไดอารี่แค่ 1 บรรทัดก็ยังดี

อ่านหนังสือแค่ 1 ย่อหน้าก็ยังดี

เขียน To Do List แค่ 1 ข้อก็ยังดี

เรียนภาษาจีนด้วยแอปแค่ 1 นาทีก็ยังดี

นั่งสมาธิแค่ 1 นาทีก็ยังดี

วิ่งแค่ 1 กิโลเมตรก็ยังดี – ถ้าวิ่งไม่ไหว แค่เดินก็ยังดี

แรกๆ อาจจะฝืนหน่อย เพราะการทำแค่หนึ่งครั้งหรือหนึ่งนาทีมันดูเหมือน “ความล้มเหลว” เพราะมันต่ำกว่ามาตรฐานที่เราควรทำได้ไปเยอะ

แต่เราไม่ควรเทียบกับตัวเองในวันที่ดีที่สุด เราไม่ควรแม้กระทั่งเทียบกับตัวเองในวันธรรมดา

เราควรเทียบกับตัวเองในวันที่เรา “เท” สิ่งนั้น

เมื่อเทียบกับ 0 อย่างไร 1 ก็ย่อมมากกว่า

ให้ระลึกเสมอว่า เป้าหมายหลักคือการทำซ้ำ เพื่อให้มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรา แล้วเราจะเก็บเกี่ยวสิ่งดีๆ จากมันได้เมื่อเวลาผ่านไปนานเพียงพอ

แค่ 1 ครั้งก็ยังดี

ลองเอาไปปรับใช้ดูนะครับ

‘Dailyish’ – ศิลปะของการทำอะไร ‘เกือบทุกวัน’

เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2015 ผมเขียนบทความชื่อ “ทำก่อน เชื่อทีหลัง” ที่เล่าให้ฟังว่าผมเขียนบล็อกครบ 100 ตอนได้อย่างไร พร้อมกับประกาศในบรรทัดสุดท้ายว่า Anontawong’s Musings จะมีบทความใหม่ไปทุกวัน

และผมก็ตั้งใจเขียนบทความทุกวันจริงๆ แม้กระทั่งช่วงปลายปี 2015 ที่มีลูกสาวคนแรก ได้นอนวันละ 4 ชั่วโมง ก็ยังเขียนบทความทุกวันอยู่แม้จะต้องเขียนตอนตี 3 ก็ตาม

เพราะผมเคยได้ยินเทคนิค Don’t Break The Chain ของ Jerry Seinfeld

Jerry Seinfeld เป็น standup comedian และนักแสดงนำใน Seinfeld ซึ่งเป็นซีรี่ส์ซิทคอมที่โด่งมากในยุค 90’s

สมัยที่ยังไม่โด่งดัง เจอรี่ตั้งปณิธานไว้ว่าจะคิดมุกทุกวัน วันละ 1 มุก

เจอรี่จะมีปฏิทินติดผนัง ทุกครั้งที่เขาเขียนมุกเสร็จ เขาจะกาปฏิทินเอาไว้ พอนานวันเข้าเครื่องหมายกากบาทติดๆ กันก็ทอดยาวราวกับห่วงโซ่ที่บ่งบอกว่าเขาเขียนมุกวันละ 1 ตอนมานานแค่ไหน

แล้วเขาก็เลยเล่าเรื่องนี้ให้เพื่อนร่วมน้องที่เป็นนักแสดงตลกด้วยกันว่า

“Don’t break the chain!” – อย่าให้โซ่ขาด!

ผมก็เลยอยากจะเขียนบล็อก Anontawong’s Musings แบบไม่ให้โซ่ขาดบ้าง

ถึงกระนั้น ก็ยังไม่มีปีไหนที่ผมเขียนได้ครบ 365 ตอน มีหลุด มีคิดไม่ออก มีไม่สบาย ซึ่งก็รู้สึกเสียดายและรู้สึกผิดอยู่เหมือนกัน

การแบกความรู้สึกผิดที่ตัวเองไม่สามารถเขียนบล็อกได้ทุกวันเริ่มคลี่คลายเมื่อผมได้อ่านบทความชื่อ Why you should aim to do new habits ‘dailyish’ ของ Oliver Burkeman ผู้เขียน Four Thousand Weeks

เขาเคยสัมภาษณ์ Jerry Seinfeld เรื่องเทคนิคดูแลโซ่ไม่ให้ขาดที่กลายเป็นตำนานในแวดวง productivity แล้วโอลิเวอร์ก็ได้พบว่าเจอรี่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับเทคนิคนี้อย่างที่เราคิด

นี่คือคำพูดของเจอรี่:

“มันเป็นเรื่องเบสิกมากจนผมไม่อยากจะพูดถึงมันด้วยซ้ำ ถ้าคุณเป็นนักวิ่งและอยากจะวิ่งให้ดีขึ้น คุณก็แค่บอกตัวเองว่าคุณจะวิ่งทุกวันแล้วก็เขียน X ลงในปฏิทินทุกวันที่คุณวิ่ง ผมไม่เห็นว่ามันจะเป็นไอเดียที่ลึกซึ้งตรงไหนเลย จะมีใครคิดจริงๆ เหรอว่าถ้านั่งเฉยๆ แล้วจะเก่งขึ้น?”

ในโลกของชาว productive เทคนิคของเจอรี่มีนัยว่า “ให้ทำสิ่งที่มีคุณค่ากับเราทุกวันโดยห้ามพลาดโดยเด็ดขาด”

แต่สำหรับตัวเจอรี่เอง เขาแค่ต้องการจะสื่อว่าเราต้องลงทุนลงแรงติดต่อกันเป็นเวลายาวนานเท่านั้นเอง

ความมุ่งมาดปรารถนาที่จะทำอะไรให้ได้ทุกวันนั้นเป็นการตั้งมาตรฐานที่ขาดความยืดหยุ่น เต็มที่ก็ได้แค่เสมอตัว โอกาสพลาดพลั้งก็สูง แถมการทำอะไรให้ได้ perfect score นั้นไม่ใช่ธรรมชาติของมนุษย์ แต่เป็นธรรมชาติของหุ่นยนต์

ชีวิตมีเรื่องไม่คาดฝันเสมอ และสำหรับคนไม่น้อยที่ตั้งเป้าแบบนี้ เมื่อพลาดไปหนึ่งหรือสองครั้ง เขาก็อาจสูญเสียกำลังใจจนล้มเลิกไปเลยก็ได้

แนวคิดที่โอลิเวอร์คิดว่าเมคเซนส์มากกว่ามาจาก Sam Harris เจ้าของแอป Waking Up สำหรับคนที่อยากฝึกนั่งสมาธิ

เขาใช้คำว่า ‘Dailyish’

เวลาเติม ‘ish’ ลงไปท้ายคำไหน จะหมายความว่า “โดยประมาณ”

Dailyish ก็คือการทำทุกวันโดยประมาณ หรือทำเกือบทุกวันนั่นเอง

ความดีงามของการทำอะไร ‘เกือบ’ ทุกวัน คือมันบอกให้เรายังจริงจังกับเรื่องที่เราให้ความสำคัญโดยที่ยังเปิดพื้นที่ให้เรื่องไม่คาดฝันในชีวิต

ถ้าสัปดาห์หนึ่งทำสัก 2 วันก็คงอาจไม่เรียกได้ว่า dailyish แต่ถ้าทำสัปดาห์ละ 5 วัน อันนั้นก็น่าจะพอเรียกได้ว่า dailyish ส่วนถ้าสัปดาห์ไหนจะทำได้ครบทั้ง 7 วันเลยก็เรียกว่า dailyish ได้เหมือนกัน

จริงๆ ผมควรจะเขียนบทความนี้ตั้งแต่เมื่อวาน แต่ผมไปข้างนอกมาและคุยกับคนค่อนข้างเยอะ กลับถึงบ้านก็หมดแรง เลยเลือกที่จะพักผ่อนให้เต็มที่แล้วตื่นมาเขียนเช้าวันนี้แทน

การประกาศว่าจะเขียนบล็อกทุกวันของผมเมื่อ 8 ปีที่แล้วอาจดูเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แต่ถ้ามองลึกลงไปกว่านั้นเป้าหมายนี้ก็ดูเห็นแก่ตัวอยู่เหมือนกัน เพราะผมอาจจะยอมเขียนบทความที่ไม่ได้มาตรฐานเพียงเพื่อจะให้ได้รับความยอมรับว่าเป็นคนเขียนบล็อกทุกวันก็ได้

ผมจึงขอถอนคำพูดเดิมที่ว่าจะเขียนบล็อก Anontawong’s Musings ทุกวัน และตั้งปณิธานใหม่เป็นการเขียนบล็อก ‘เกือบทุกวัน’ แทน จะได้ไม่เบียดเบียนตัวเองจนเกินไป และหวังว่าจะรักษามาตรฐานเนื้อหาที่ดีเอาไว้ ส่วนผู้ติดตามอาจจะได้อ่านบทความบ้างในบางวัน และได้พักบ้างในบางวันให้พอคิดถึง

แต่โดยรวมแล้วผมคิดว่ามันจะทำให้บล็อกนี้แข็งแรงขึ้นและยืนระยะได้ดีกว่าเดิมครับ

คำถามร้อยบาทกับคำถามล้านบาท

“Save a little money each month and at the end of the year you’ll be surprised at how little you have.”

― Ernest Haskins

เก็บเงินให้ได้เดือนละนิดหน่อยแล้วตอนสิ้นปีคุณจะแปลกใจที่คุณมีเงินเก็บแค่นิดหน่อย

Ramit Sethi ผู้เขียนหนังสือ I Will Teach You To Be Rich บอกว่าคนส่วนใหญ่ชอบถามคำถามร้อยบาท (จะซื้อกาแฟแก้วนี้ดีมั้ย) ทั้งที่จริงแล้วสิ่งสำคัญสำหรับความสำเร็จด้านการเงินคือคำถามล้านบาท เช่นจะให้ลูกเรียนที่ไหน (โรงเรียนอินเตอร์ในเมืองไทยมีค่าเทอมตั้งแต่แสนกว่าบาทถึงล้านกว่าบาท)

นักประวัติศาสตร์นาม Cyril Parkinson ได้ตั้งกฎที่ชื่อว่า Parkinson’s Law of Triviality – กฎพาร์คินสันแห่งเรื่องไม่เป็นเรื่อง

กฎนี้ระบุว่า “ความใส่ใจต่อปัญหาจะแปรผกผันกับความสำคัญของปัญหานั้น” (The amount of attention a problem gets is the inverse of its importance.)

เพื่อให้เห็นภาพ พาร์คินสันให้เราจินตนาการถึงคณะกรรมการที่มีงบประมาณสามโปรเจ็กต์ให้พิจารณา

ตู้ปฏิกรณ์นิวเคลียร์งบ 300 ล้านบาท

ซุ้มจอดรถจักรยานของพนักงานงบ 10,000 บาท

ขนมกับเครื่องดื่มสำหรับพนักงานงบ 1,000 บาท

คณะกรรมการอนุมัติตู้ปฏิกรณ์นิวเคลียร์แทบจะทันที เพราะตัวเลขสูงเกินกว่าจะรู้ว่าแพงหรือไม่แพง ตัวเลือกอื่นก็ไม่อยากนึกถึง และไม่มีใครในคณะกรรมการที่เชี่ยวชาญเรื่องพลังงานนิวเคลียร์

โปรเจ็กต์ซุ้มจักรยานนั้นใช้เวลาคุยนานกว่า พวกเขาเถียงกันว่าแค่ตั้งรางจอดจักรยานก็พอแล้วหรือไม่ หรือถ้าจะทำหลังคาควรจะใช้ไม้หรือใช้อลูมินัมดี

ส่วนขนมและเครื่องดื่มนั้นใช้เวลาคุยนานที่สุด เพราะคณะกรรมการทุกคนต่างมีความเห็นที่แน่วแน่ของตัวเองว่าควรใช้กาแฟยี่ห้อไหน คุ้กกี้รสอะไร ฯลฯ

เวลาที่เราคุยกับคนในครอบครัว เราก็มักจะใช้เวลาส่วนใหญ่ถกเถียงในเรื่องที่ไม่ค่อยสำคัญเช่นกัน


ข้อความด้านบนนี้ผมเรียบเรียงและดัดแปลงมาจากบทความชื่อ The Art and Science of Spending Money ของ Morgan Housel

มีทั้งหมด 13 ข้อ แต่ผมชอบข้อ 6 เป็นพิเศษ – Asking $3 questions when $30,000 questions are all that matter

เราจะคุ้นเคยกับคำสอนของ financial guru ที่บอกว่า ถ้าไม่กินกาแฟยี่ห้อ XX เป็นเวลากี่สิบปี เราจะมีเงินเก็บ YY บาท

จริงอยู่ว่าเรื่องเล็กน้อยนั้นก็ใช่ว่าจะไม่สำคัญเลย เพราะ how you do anything is how you do everything.

แต่การใส่ใจเรื่องเล็กน้อยจะแทบไม่มีความหมาย ถ้าเราไม่จัดการเรื่องใหญ่ๆ ให้ถูกต้อง เพราะโลกใบนี้ถูกขับเคลื่อนด้วย Pareto Principle หรือกฎ 80/20

จะเลือกกินกาแฟแบรนด์ไหน จึงไม่สำคัญเท่ากับเราเลือกซื้อรถยี่ห้ออะไร

หรืออย่างการเลือกที่ทำงาน A กับ B – บริษัท A อาจให้เงินเดือนมากกว่า 10% แต่ถ้าบริษัท B มีปัจจัยอื่นๆ เช่นใช้เวลาเดินทางน้อยกว่า ให้ทำงานที่บ้านได้บ้าง อยู่ในเซ็กเตอร์ที่กำลังเติบโต ปัจจัยเหล่านี้รวมกันแล้วน่าจะมีน้ำหนักมากกว่าฐานเงินเดือนที่น้อยกว่าบริษัท A

คนบางคนซื้อของกับแม่ค้าแล้วต่อราคาแล้วต่อราคาอีก แต่คนคนเดียวกันนี้กลับพร้อมลงทุนในเรื่องที่ตัวเองไม่มีความรู้เป็นเงินหลักแสนได้หน้าตาเฉย

เราใช้เวลากับคำถามร้อยบาทมากไปหรือไม่

เราใช้เวลากับคำถามล้านบาทน้อยไปหรือเปล่า

เป็นเรื่องน่าคิด และอาจเปลี่ยนทิศทางชีวิตเราได้ครับ

ทำให้ได้ทั้ง Go! และ No Go!

เมื่อนานมาแล้วผมเคยอ่านหนังสือ The Game ของ Neil Strauss ที่พูดถึงวงการ Pickup Artists (PUA) หรือเหล่าผู้ชายที่เข้าวงการจีบสาวด้วยการเรียนรู้จากเหล่ากูรู

หนึ่งในกฎสำคัญของ PUA ก็คือ 3-second rule – หากเจอสาวคนไหนที่คุณสนใจ คุณมีเวลาแค่ 3 วินาทีเท่านั้นในการเข้าไปหาและพูดคุย

เพราะเมื่อคุณลงมือเร็วขนาดนั้น สมองของคุณจะไม่มีเวลาคิดเยอะ ยังไม่ต้องคิดด้วยซ้ำว่าจะคุยเรื่องอะไร แค่ทักทายแล้วก็ปล่อยไหลตามธรรมชาติ ถ้าพังก็ไม่เป็นไร ยังมีโอกาสเข้าหาสาวคนอื่นได้อีก สุดท้ายคุณจะเก่งขึ้นแน่นอน

แต่ถ้าคุณรอเวลาให้เกิน 3 วินาที สมองของคุณจะมีเวลามากพอให้คิดข้ออ้างต่างๆ นานา คุณกลัวและลังเล และสุดท้ายก็จะไม่ได้คุยกับใครเลย


Mel Robbins เป็นอีกคนที่โด่งดังจากกฎคล้ายๆ กัน นั่นคือ 5-Second Rule

หากเราคิดจะทำอะไรซักอย่างที่เราไม่อยากทำ ให้นับถอยหลัง 5 4 3 2 1 0

เมื่อ 0 เมื่อไหร่ให้ทำทันที

เช้าแล้ว อยากนอนต่อ แต่รู้ว่าต้องลุก ก็นับ 5 4 3 2 1 0 แล้วลุกขึ้นมาทันที

หรือนอนไถเฟซอย่างเพลิดเพลิน แต่รู้ว่าควรหยุด ก็นับ 5 4 3 2 1 0 แล้วเลิกเล่นทันที

การนับถอยหลังจะมีความรู้สึกเหมือนจรวดกำลังจะปล่อยตัว หรือนักวิ่ง 100 เมตรกำลังรอสัญญาณปืน ดังนั้นมันจึงกระตุ้นให้เรารู้สึกว่าเราต้องลงมือทำ


เมื่อปี 2014 พลเรือเอก William H. McRaven ของสหรัฐอเมริกา ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ในพิธีจบการศึกษาของ University of Texas

ประโยคทองของแม็คเรเวนก็คือ “If you want to change the world, start off by making your bed.” – หากคุณอยากเปลี่ยนโลก จงเริ่มต้นด้วยการเก็บเตียง

เมื่อเราเก็บเตียงได้สำเร็จเสียหนึ่งอย่าง เราจะมีกำลังใจและโมเมนตัมในการทำอะไรสำเร็จได้อีกหลายอย่างในวันนั้น และหากเราเก็บเตียงได้เป็นอย่างดีและไร้ที่ติ มันก็จะเป็นการฝึกให้เราทำสิ่งอื่นๆ อย่างเต็มความสามารถด้วยเช่นกัน


ทั้งกฎ 3 วินาทีของหนุ่มที่อยากจีบสาว กฎ 5 วินาทีของคนที่อยากบังคับตัวเองให้ทำในสิ่งที่มีแรงต้าน และการเก็บเตียงทุกเช้า คือเทคนิคที่จะช่วยให้เราเป็นคนที่กล้าลงมือทำมากขึ้น

มันคือการบอกสมองให้ “Go!” ลงมือทำไปเลย ไม่ต้องคิดเยอะ ไม่ต้องหาข้ออ้าง ทำ ทำ ทำ เดี๋ยวก็ดีเอง

แต่ดีเกินดีคือไม่ดี เหรียญย่อมมีสองด้าน และความสมดุลนั้นเป็นสิ่งสำคัญ

สำหรับคนที่ทำงานในองค์กรที่เป็น fast-paced environment ต้อง Go Go Go มาตลอดทั้งวันหรือทั้งสัปดาห์ เราอาจจะเสพติดการ Go มากเกินไปก็ได้

ใครที่ติดเช็ค Slack / Email / LINE คือแค่มีความอยากเกิดขึ้นเมื่อไหร่ หรือเห็น noti เมื่อไหร่ ก็อดไม่ได้ที่จะหยิบมือถือขึ้นมาเช็คและพิมพ์ตอบ พอได้ทำแล้วโดพามีนมันหลั่ง ทำให้เรามีความสุข

เหล่า Social Media ทั้งหลายก็รู้ถึงความจริงข้อนี้ จึงออกแบบโปรดักท์ของตัวเองให้เราติดงอมแงม

ดังนั้น ถ้าเราติดความเป็นคน “Go!” มากเกินไป เราควรจะฝึกความเป็น “No Go!” ด้วยเช่นกัน

เมื่อมีคนทัก Slack มา ให้กลั้นใจเอาไว้ แล้วกลับมาจดจ่อกับงานตรงหน้า

เมื่ออยากกินขนม ให้รออีกซัก 5 นาทีแล้วดูว่ายังอยากกินอยู่มั้ย

เมื่อใครมาพูดจาไม่ดีแล้วรู้สึกว่าอยากจะโต้ตอบเสียเหลือเกิน ก็ห้ามตัวเองไม่ให้ทำแล้วหันกลับไปสนใจงานอื่นแทน

เราเสียเวลา เงิน และสุขภาพไปไม่น้อยเพราะขาดความสามารถที่จะบอกตัวเองให้ No Go กับสิ่งเหล่านี้

การลับดาบควรให้คมทั้งสองฝั่งฉันใด การลับสมองให้คมทั้งสองฝั่งก็สำคัญฉันนั้น

ขอให้เป็นคนที่พร้อม Go กับสิ่งที่มีแรงต้าน และมีสติพอที่จะ No Go กับสิ่งเย้ายวนครับ


ขอบคุณประกายความคิดจาก Andrew Huberman | Farnam Street (The Knowledge Project Podcast) | How to Control Your Impulses So You Don’t Ruin Your Life